Sunday, 20 April 2025
มาม่า

รู้ไหม? ชื่อเดิมของ 'มาม่า' คือ 'เพรซิเดนท์'

'ยำมาม่า, มาม่าผัด, ลาบมาม่า หรือแม้แต่การต้มมาม่า' นั้น คงเป็นเมนูติดใจของใครหลายคนมานานจากซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อ 'มาม่า'

แต่ทราบหรือไม่ว่าเดิมที 'มาม่า' นั้นชื่อว่า 'เพรซิเดนท์' ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับบริษัทไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบันที่เป็นผู้ผลิต 'มาม่า'

แล้วชื่อ 'มาม่า' เกิดขึ้นมาได้อย่างไร? 

ย้อนไปเมื่อ ช่วงปี 2500 – 2510 ซึ่งเป็นยุคที่สังคมไทยมีความเป็นเมืองมากขึ้น รสนิยมและวิถีชีวิตด้านการรับประทานอาหารของคนไทยเริ่มเปลี่ยนไปมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น

โดยในช่วงเริ่มต้น 'มาม่า' เป็นสินค้าที่มีราคาใกล้เคียงกันกับอาหารหรือก๋วยเตี๋ยวในช่วงเวลานั้น

'กลุ่มสหพัฒน์' เร่งหารือกรมการค้าภายใน ขอขึ้นราคา 'มาม่า-ผงซักฟอก' เหตุต้นทุนสูง

สถานการณ์ของแพง กำลังสร้างผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนอย่างหนัก เพราะสินค้าทยอยปรับขึ้นราคาไม่หยุด ล่าสุดทาง "กลุ่มสหพัฒน์" ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ ออกมายอมรับกำลังเร่งเจรจากับกรมการค้าภายใน ขอขึ้นราคา "มาม่า-ผงซักฟอก" หวั่นสินค้าขาดตลาด และยอมรับว่าวิกฤตต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน หนักกว่า 26 ปีก่อน ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง

นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ ยอมรับว่า ราคาต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตสินค้าปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก หลังจากเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยเฉพาะราคาข้าวสาลี และน้ำมันปาล์ม ที่ราคาพุ่งสูงขึ้น กระทบต่อต้นทุนการผลิต

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของบริษัท คือ มาม่า ซึ่งบริษัทแบกรับภาระต้นทุนมาช่วงหนึ่งแล้ว เพราะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นสินค้าควบคุมของกระทรวงพาณิชย์ โดยขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับกรมการค้าภายในเพื่อขอปรับขึ้นราคาขายสินค้าบางรายการให้สอดคล้องกับต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้น โดยเริ่มจากมาม่า ส่วนสินค้าถัดไปคาดว่าจะเป็นผงซักฟอก ที่จะต้องมีการปรับเพิ่มราคาขายขึ้นเช่นเดียวกัน

'จุรินทร์' เบรกขึ้นราคา 'บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป' ยึด 'วิน-วิน โมเดล' ให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้

‘จุรินทร์’ ยังไม่อนุญาตให้ปรับราคา ‘บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป’ รับสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำต้นทุนพุ่ง แต่ขอความร่วมมือผู้ประกอบการตรึงราคาไว้ให้นานที่สุด ยึดวิน-วิน โมเดล ให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้

นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีเครือสหพัฒน์ ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ ขอปรับขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหรือมาม่า ว่า ขณะนี้ กระทรวงพาณิชย์ ยังไม่อนุญาตให้ปรับขึ้นราคา แม้ว่าจะมีการร้องขอปรับราคามาหลายเดือนแล้ว โดยปัจจุบันบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขายซองละ 6 บาท ซึ่งการปรับราคาก่อนหน้านี้เป็นการปรับราคาจากการบริหารจัดการภายในเป็นทอดๆ เช่น จากโรงงานไประบบค้าส่งไประบบค้าปลีก เป็นต้น แต่ปลายทางยังราคาซองละ 6 บาท สำหรับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปพื้นฐานทั่วไป

รู้จัก 'มาม่า' เมนูเปี่ยมโภชนาการประจำวันที่ 1 และ 16 และสโลแกนที่ไม่เคยเปลี่ยนตลอด 50 กว่าปี

พุทธศักราช 2515 ผู้บริหารบริษัทในเครือ 'สหพัฒนพิบูล' มองเห็นโอกาสสร้างแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศไทย โดยตกลงร่วมทุนกับ 'ยูนิ - เพรสซิเดนท์' จากไต้หวัน ตั้ง 'ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์' ขึ้นเพื่อผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขึ้นมา โดยใช้ชื่อผลิตภัณฑ์ตั้งต้นนั้นว่า 'มาม่า'

โดยชื่อ ‘มาม่า’ มีต้นกำเนิดจากคำว่า ‘แม่’ ด้วยเพียงสองเหตุผล คือ เป็นคำแรกที่เด็กเริ่มพูด (ในแทบทุกชาติ ทุกภาษา) และ 'แม่' คือคนทำอาหารอร่อย ๆ ให้เรากิน

ส่วนที่เรียกว่า 'บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป' ก็เพราะผู้บริโภคต้อง 'ปรุง' อีกนิดก็กินได้

แม้ 'มาม่า' จะมีแป้งและไขมันเป็นส่วนประกอบหลัก และหากรับประทานติดต่อกันป็นเวลานาน อาจขาดสารอาหารหลักได้ หรือเมื่อบริโภคติดต่อกันในปริมาณที่มากก็เสี่ยงต่อไตจะเป็นอันตราย เนื่องจากมีสารโซเดียมค่อนข้างสูง ยิ่งในผู้แพ้ผงชูรสยิ่งต้องระมัดระวัง จึงมักมีคำแนะนำให้ใส่ไข่ ผัก หรือเนื้อสัตว์เพิ่มลงไปด้วย เพื่อเพิ่มสารอาหาร และป้องกันไม่ให้ร่างกายได้รับโซเดียมมากจนเกินไป

แต่สำหรับสภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองชั่วคราว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทุกวันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือน 'มาม่า' จึงมักเป็นชื่อที่ผู้คนโหยหากัน ด้วยราคาอันเป็นมิตรที่น่าคบหาได้ในยามยาก แถมเพียบพร้อมด้วยคุณค่าทางโภชนาการ เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซองขนาด 60 กรัม จะให้พลังงานประมาณ 300 กว่าแคลอรี เพียงพอสำหรับหนึ่งมื้อ เพราะพลังงานที่คนต้องการคือ 2000 - 2500 แคลอรีต่อวัน โดยได้รับสารอาหารทั้งคาร์โบไฮเดรท โปรตีน ไขมัน วิตามินเอ ธาตุเหล็ก และไอโอดีน

ชื่อ 'มาม่า' นั้น ถือได้ว่าประสบความสำเร็จในการสื่อสารกับลูกค้าอย่างสูง จนกลายมาเป็นชื่อเรียกแทนประเภทสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หรือ Generic Name ที่เราเรียก ‘มาม่า’ แทนบะหมี่กึ่งทุกยี่ห้อ และคำถามที่ต้องเจอต่อก็คือ “เอามาม่ายี่ห้อไหน?”

จับคู่รสชาติบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เขาว่าผสมกันแล้วแซ่บขนาด

(2 พ.ค.67) เพจเฟซบุ๊ก ‘มึง’ ได้โพสต์รูปเกี่ยวกับ ‘มาม่า’ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่เรามักนิยมรับประทานกัน เพราะรับประทานง่ายและสามารถเลือกสรรวัตถุดิบหรือสูตรต่าง ๆ มาปรุงได้ตามใจชอบ ซึ่งทางเพจก็ได้แนะนำสูตรสำหรับ ‘ผสมมาม่า’ ให้อร่อยและแซ่บคูณสองยิ่งขึ้น ดังนี้…

- มาม่า รสเป็ดพะโล้ คู่กับ มาม่า รสต้มยำกุ้ง
- ไวไว รสหมูสับต้มยํา คู่กับ มาม่า รสน้ำตกหมู
- ยำยำ รสต้มยำทะเลน้ำข้น คู่กับ ยำยำ รสสุกี้
- มาม่า รสเย็นตาโฟต้มยำหม้อไฟ คู่กับ ควิก รสต้มยำมันกุ้ง
- คนอร์ พาสต้า คาโบนาร่า รสเบคอนและแฮม คู่กับ มาม่ารสหมูสับ
- ยำยำ รสต้มยำมันกุ้งน้ำข้น คู่กับ ควิก รสต้มโคล้ง

ทั้งนี้ หลังจากโพสต์ได้ถูกเผยแพร่ออกไป ก็มีชาวเน็ตจำนวนมากเข้ามาแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าจะเป็นทั้งคนที่เคยลองกินแบบผสมสูตร รวมถึงคนที่ไม่เคยและอยากจะลิ้มลองอีกด้วย 

‘มาม่า’ ไร้ปัญหา หากขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท เชื่อ!! ปรับตัวได้อยู่แล้ว ห่วงก็แต่ผู้ประกอบการรายเล็ก

(15 พ.ค.67) นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า เปิดเผยถึง กรณีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศว่า ผู้ประกอบการรายใหญ่ไม่น่าห่วงเท่ากับผู้ประกอบการรายเล็ก หรือ เอสเอ็มอี เนื่องจากเชื่อว่ามีการปรับตัวได้อยู่แล้ว

ในส่วนของบริษัทถือว่ามีผลต่อการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปน้อยมากประมาณ 1% ไม่เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การขอปรับขึ้นราคาต่อกรมการค้าภายใน

ขณะเดียวกันในการปรับขึ้น ทางรัฐบาลมีการทยอยประกาศออกมา จึงทำให้ผู้ประกอบการยังมีเวลาในการปรับตัว ทั้งนี้บริษัทมีการปรับขึ้นค่าแรงให้กับพนักงานในเดือนมกราคมของทุกปีอยู่แล้ว โดยเฉลี่ยปีละ 5-6 บาท

ค่าแรงขั้นต่ำที่จะปรับขึ้น มองว่าการขึ้นค่าแรงจะช่วยให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น กระทบกับบริษัทเพียงเล็กน้อย เพราะปัจจุบันค่าแรงเป็นต้นทุนทางตรงในการผลิตของบริษัทเพียง 10% หากปรับค่าแรงขึ้น 10-15% จะกระทบต้นทุนบริษัทแค่ 1% เราต้องเพิ่มสปีดการผลิต ลดการสูญเสีย เช่น ปัจจุบันเราผลิตบะหมี่แบบซองและถ้วยอยู่ที่วันละ 7 ล้าน จะเพิ่มเป็นวันละ 8 ล้าน โดยที่คนไม่ได้เพิ่ม, เท่ากับค่าแรงต่อการผลิตไม่มีผลแต่อย่างใด

มาม่าเผย เศรษฐกิจจะดีหรือไม่ ก็ยังขายดี เหตุลูกค้าหลักมาม่าไม่ได้รวยขึ้น

(22 พ.ย.67) บนเวทีเสวนา 'THAILAND 2025 โอกาส-ความหวัง-ความจริง' ที่จัดโดยประชาชาติธุรกิจ นาย นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 'มาม่า' กล่าวในตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในไทยมีอายุถึง 50 ปีแล้ว และยังคงเป็นเทรนด์อย่างต่อเนื่อง แม้ยอดบริโภคต่อคนจะเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ

โดยเมื่อ 2 ปีก่อน คนไทยบริโภคเฉลี่ย 52 ซองต่อปี ปัจจุบันเพิ่มเป็น 55 ซองต่อปี แม้ว่าธุรกิจนี้ยังจะไม่อยู่ในช่วงขาลง แต่ก็ต้องมีการพัฒนาโปรดักส์ใหม่ ๆ ควบคู่ไปกับการโฟกัสผลิตภัณฑ์หลัก ทั้งนี้ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปถูกจำกัดเรื่องราคา โดยในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา มีการปรับราคาขายเพียง 3 ครั้ง ครั้งละ 1 บาท ในปี 2541, 2551 และล่าสุดในปี 2565  

นายพันธ์กล่าวว่า ช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากต่างประเทศ โดยเฉพาะเกาหลี เริ่มเข้ามาทำตลาดในไทย ขายในราคาสูงถึง 35-45 บาท ทำให้แบ่งส่วนตลาดไปมาก แต่ในทางกลับกัน กลับเป็นโอกาสให้ 'มาม่า' ปรับกลยุทธ์ใหม่ โดยรีแบรนด์สินค้า เช่น 'มาม่าโอเค' ในราคาซองละ 15 บาท ซึ่งได้รับความนิยมสูงจนมีส่วนแบ่งตลาดกว่า 10%  

“มาม่าโอเคไม่ได้เป็นสินค้าราคาแพง แต่เป็นสินค้าที่คุณภาพเทียบเท่าต่างประเทศ คนรุ่นใหม่ชื่นชอบ และยังเข้าถึงกลุ่มคนอายุ 30 ปีขึ้นไปได้ดี รวมถึงการเปิดร้าน ‘มาม่าสเตชั่น’ ที่อาร์ซีเอ ซึ่งมียอดขายดีมาก” นายพันธ์กล่าว  

ปัจจุบัน มาม่ายังครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดในธุรกิจที่มีผู้เล่นไม่กี่ราย เพราะสามารถบริหารต้นทุนได้ดี แม้กำไรจะน้อย ถือเป็นจุดแข็งในการดำเนินธุรกิจ  

เมื่อถามถึงผลกระทบหากเศรษฐกิจดีขึ้น นายพันธ์ระบุว่า “ผมไม่กังวล เพราะกลุ่มลูกค้าหลักของมาม่ายังมีรายได้จำกัด และต้องเผชิญกับภาระรายจ่าย แม้รายได้จะเพิ่มขึ้นก็มีโอกาสสร้างหนี้มากขึ้น รัฐควรแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ พร้อมให้ความรู้เรื่องการออม”  

อย่างไรก็ตาม นายพันธ์ยอมรับว่าปัญหาใหญ่ของมาม่าคือการสร้างบุคลากรใหม่ “เด็กยุคนี้ไม่สนใจทำงานในบริษัท เราต้องสร้างบรรยากาศที่น่าทำงานให้มากขึ้น เพราะปัจจุบันมาม่าไม่ติด 1 ใน 50 บริษัทที่คนรุ่นใหม่อยากทำงาน”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top