มาม่าเผย เศรษฐกิจจะดีหรือไม่ ก็ยังขายดี เหตุลูกค้าหลักมาม่าไม่ได้รวยขึ้น

(22 พ.ย.67) บนเวทีเสวนา 'THAILAND 2025 โอกาส-ความหวัง-ความจริง' ที่จัดโดยประชาชาติธุรกิจ นาย นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 'มาม่า' กล่าวในตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในไทยมีอายุถึง 50 ปีแล้ว และยังคงเป็นเทรนด์อย่างต่อเนื่อง แม้ยอดบริโภคต่อคนจะเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ

โดยเมื่อ 2 ปีก่อน คนไทยบริโภคเฉลี่ย 52 ซองต่อปี ปัจจุบันเพิ่มเป็น 55 ซองต่อปี แม้ว่าธุรกิจนี้ยังจะไม่อยู่ในช่วงขาลง แต่ก็ต้องมีการพัฒนาโปรดักส์ใหม่ ๆ ควบคู่ไปกับการโฟกัสผลิตภัณฑ์หลัก ทั้งนี้ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปถูกจำกัดเรื่องราคา โดยในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา มีการปรับราคาขายเพียง 3 ครั้ง ครั้งละ 1 บาท ในปี 2541, 2551 และล่าสุดในปี 2565  

นายพันธ์กล่าวว่า ช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากต่างประเทศ โดยเฉพาะเกาหลี เริ่มเข้ามาทำตลาดในไทย ขายในราคาสูงถึง 35-45 บาท ทำให้แบ่งส่วนตลาดไปมาก แต่ในทางกลับกัน กลับเป็นโอกาสให้ 'มาม่า' ปรับกลยุทธ์ใหม่ โดยรีแบรนด์สินค้า เช่น 'มาม่าโอเค' ในราคาซองละ 15 บาท ซึ่งได้รับความนิยมสูงจนมีส่วนแบ่งตลาดกว่า 10%  

“มาม่าโอเคไม่ได้เป็นสินค้าราคาแพง แต่เป็นสินค้าที่คุณภาพเทียบเท่าต่างประเทศ คนรุ่นใหม่ชื่นชอบ และยังเข้าถึงกลุ่มคนอายุ 30 ปีขึ้นไปได้ดี รวมถึงการเปิดร้าน ‘มาม่าสเตชั่น’ ที่อาร์ซีเอ ซึ่งมียอดขายดีมาก” นายพันธ์กล่าว  

ปัจจุบัน มาม่ายังครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดในธุรกิจที่มีผู้เล่นไม่กี่ราย เพราะสามารถบริหารต้นทุนได้ดี แม้กำไรจะน้อย ถือเป็นจุดแข็งในการดำเนินธุรกิจ  

เมื่อถามถึงผลกระทบหากเศรษฐกิจดีขึ้น นายพันธ์ระบุว่า “ผมไม่กังวล เพราะกลุ่มลูกค้าหลักของมาม่ายังมีรายได้จำกัด และต้องเผชิญกับภาระรายจ่าย แม้รายได้จะเพิ่มขึ้นก็มีโอกาสสร้างหนี้มากขึ้น รัฐควรแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ พร้อมให้ความรู้เรื่องการออม”  

อย่างไรก็ตาม นายพันธ์ยอมรับว่าปัญหาใหญ่ของมาม่าคือการสร้างบุคลากรใหม่ “เด็กยุคนี้ไม่สนใจทำงานในบริษัท เราต้องสร้างบรรยากาศที่น่าทำงานให้มากขึ้น เพราะปัจจุบันมาม่าไม่ติด 1 ใน 50 บริษัทที่คนรุ่นใหม่อยากทำงาน”


ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ