Monday, 21 April 2025
ภาพยนตร์ไทย

‘อ.เดชา’ ยก ‘หลานม่า’ สะท้อนคุณค่าวัตถุดิบชั้นดีที่มีอยู่เกลื่อนเมืองไทย แถมตอกย้ำให้เห็นมิติดีๆ จากการทำงานร่วมกัน ระหว่างคนต่างรุ่น

เมื่อวานนี้ (10 ก.ย. 67) นายเดชา ศิริภัทร เจ้าของสูตรน้ำมันกัญชา (ตำรับหมอเดชา) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Deycha Siripatra’ กล่าวถึงภาพยนตร์ไทยเรื่อง ‘หลานม่า’ ที่ประสบความสำเร็จทำรายได้รวมทั่วโลกกว่า 1,800 ล้านบาท ระบุว่า…

วันนี้ ขอเขียนถึงภาพยนตร์ไทยเรื่องหนึ่ง ซึ่งได้ตำแหน่ง ภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้สูงสุด

นั่นคือภาพยนตร์เรื่อง 'หลานม่า' ที่ทำรายได้รวมทั่วโลก กว่า1,800 ล้านบาทแล้ว

นับเฉพาะประเทศจีน (ที่ยังฉายอยู่ตอนนี้) ประเทศเดียว ก็ทำรายได้เกิน 500 ล้านบาท

ในประเทศไทย 'หลานม่า' ทำรายได้รวม 300 กว่าล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าประเทศจีน

และในประเทศอินโดนีเซีย ก็ทำรายได้รวม มากกว่าในประเทศไทย (กว่า 400 ล้านบาท)

ต่อจากนี้ จะมีโปรแกรมเข้าฉายในทวีปยุโรป และประเทศสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

รวมถึงเข้าฉายใน เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) เร็วๆ นี้ ผู้ชมคงกระจายไป กว้างขวางทั่วโลก

สิ่งที่อยากตั้งข้อสังเกต เกี่ยวกับ 'หลานม่า' ก็คือ คนดูส่วนใหญ่ร้องไห้กันอย่างหนัก

โดยเฉพาะในประเทศจีน แม้ทางโรงภาพยนตร์แจกทิชชูให้ผู้ชมทุกคน ก็ยังไม่พอซับน้ำตา

เพราะเนื้อเรื่องชีวิตช่วงสุดท้ายของ 'อาม่า' (ยาย) กับหลานชายนั้น กระทบจิตใจมาก

เป็นความสัมพันธ์ในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน ซึ่งยังมีอิทธิพลของวัฒนธรรมจีนอยู่

แม้ยายกับหลานชาย จะเป็นคนที่อยู่ต่างรุ่นกัน มีวิถีชีวิตต่างกัน แต่ยังมีสายใยเชื่อมโยง

คนเชื้อสายจีน (ที่มีอยู่ทั่วโลก) จะรู้สึกซาบซึ้งกับ 'หลานม่า' เป็นพิเศษ เพราะเข้าใจได้ดี

แม้คนที่อยู่ต่างวัฒนธรรม ก็เข้าใจสิ่งที่สื่อออกมาได้ไม่ยาก แม้จะไม่ลึกซึ้งเท่าคนเชื้อจีน

จึงนับได้ว่า เนื้อเรื่องของ 'หลานม่า' เป็น 'ซอฟต์พาวเวอร์' ที่มีผลเป็นรายได้ ชัดเจนยิ่ง

ดังนั้น ภาพยนตร์หรือซีรี่ส์ จากประเทศไทย จึงมีศักยภาพเป็น 'ซอฟต์พาวเวอร์' ที่ดี

เพราะคนไทยมีวัตถุดิบในประเทศ ที่นำมาเป็นเนื้อเรื่อง (Story) เสนอชาวโลกได้อีกมาก

เช่นภาพยนตร์เรื่อง 'วิมานหนาม' ที่นำเสนอเรื่อง 'ทุเรียน' ก็กำลังได้รับความนิยม

เพราะ 'ทุเรียน' เป็นผลไม้ที่มีชื่อเสียงระดับโลกแล้ว โดยเฉพาะทุเรียนจากประเทศไทย

ประเทศไทยยังมี อาหารไทย มวยไทย วัดไทย วัฒนธรรมไทยด้านต่างๆ อีกมากมาย

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ล้วนเป็น 'ซอฟต์พาวเวอร์' ชั้นดี รอให้คนไทยที่มีฝีมือ นำมาเสนอชาวโลก

ดังเช่น การนำชิวิตในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน มาเสนอในภาพยนต์เรื่อง 'หลานม่า'

ต้องยอมรับว่า ผู้เขียนบทฯ ผู้กำกับฯ และผู้แสดงภาพยนตร์เรื่อง 'หลานม่า' เป็นคน 'มีฝีมือ'

หวังว่า คนไทยที่ 'มีฝีมือ' จะช่วยกันนำสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ในประเทศ ออกมานำเสนอต่อชาวโลก

โดยเรียนรู้จากความสำเร็จของ 'หลานม่า' เป็นตัวอย่างของการทำงานต่อไป ให้ดียิ่งขึ้น

และสิ่งหนึ่งที่เรียนรู้ได้จาก 'หลานม่า' ก็คือ การทำงานร่วมกัน ระหว่างคนต่างรุ่น

ระหว่างคนรุ่นเก่า คุณอุษา เสมคำ (ยายแต๋ว) และคุณ พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล (บิวกิ้น)

ภาพของทั้งสองคน ในภาพยนตร์เรื่อง 'หลานม่า' คงอธิบายทุกสิ่งได้ดีกว่าคำพูดใดๆ

‘หลานม่า’ หนังครอบครัวน้ำตาซึม สะท้อนภาพวัฒนธรรมไทย-จีน ครองใจผู้ชมทั่วเอเชีย ขึ้นแท่นหนังทำเงินสูงของไทย ปี 2024

(18 ก.ย. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ‘หลานม่า’ ภาพยนตร์ไทยเนื้อหาสุดซึ้งกินใจผู้คนจนมีชื่อเสียงโด่งดังและกวาดรายได้มหาศาลตั้งแต่เข้าฉายในแผ่นดินใหญ่ของจีนเมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยสามารถทำรายได้มากกว่า 100 ล้านหยวน (หรอืประมาณ 500 ล้านบาท) และมีเรตติงอยู่ที่ 8.9 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนนจากผู้ชมภาพยนตร์กว่า 140,000 คนบนเว็บไซต์โต้วป้าน (Douban) แหล่งรวมรีวิวและคำวิจารณ์ภาพยนตร์สัญชาติจีน

นอกจากจะประสบความสำเร็จในจีนแล้ว ภาพยนตร์เรื่องหลานม่ายังได้รับความนิยมไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยขึ้นแท่นภาพยนตร์ที่ทำเงินสูงที่สุดของไทยในปี 2024 และเป็นภาพยนตร์ไทยที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

‘หลานม่า’ ภาพยนตร์ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของเด็กหนุ่มที่อาสาขอดูแลยาย (อาม่า) ของตนที่ป่วยหนักในฐานะ ‘หลานชายที่แสนกตัญญู’ เพื่อหวังที่จะเป็นผู้ได้รับมรดกของยาย ทว่าสุดท้ายกลับพบคุณค่าที่แท้จริงของความสัมพันธ์ในครอบครัว

ผู้ชมชาวจีนส่วนมากพบว่าครอบครัวชาวจีนโพ้นทะเลแต้จิ๋วที่ปรากฏในหนังเรื่องนี้มีความคล้ายคลึงกับครอบครัวของตน ทำให้พวกเขามีอารมณ์ร่วมไปกับภาพยนตร์จนน้ำตาซึม และนำมาสู่การถกเถียงเกี่ยวกับจริยธรรมของครอบครัวและปัญหาทางสังคมในวงกว้าง

‘พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์’ ผู้กำกับและผู้ร่วมเขียนบทของภาพยนตร์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่าภาพยนตร์เรื่องนี้พูดถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวที่เราทุกคนคุ้นเคยเป็นอย่างดี สิ่งนี้อาจเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ ‘หลานม่า’ ได้รับความนิยมและเข้าถึงผู้คน

‘หลานม่า’ เป็นผลงานภาพยนตร์เกี่ยวกับครอบครัวชิ้นแรกของพัฒน์ โดยในตอนเริ่มแรกบทภาพยนตร์นี้เขียนขึ้นโดยอิงจากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนบทอีกหนึ่งคนที่ต้องดูแลย่าที่ป่วยในตอนที่ตนยังเป็นเด็ก ซึ่งผู้เขียนบททั้งสองคนได้ใช้เวลาถึง 2 ปีในการขัดเกลาบทภาพยนตร์ พร้อมเพิ่มรายละเอียดที่อ้างอิงจากผู้คนและเหตุการณ์จริงมากขึ้น

สำหรับพัฒน์ ผู้กำกับซึ่งเป็นลูกครึ่งไทย-จีน เปิดเผยว่าการสร้างภาพยนตร์โดยอิงจากองค์ประกอบทางวัฒนธรรมที่สั่งสมมาตั้งแต่รุ่นยายของเขา และสามารถนำภาพยนตร์มาเข้าฉายในจีนที่ซึ่งผลตอบรับของผู้ชม ‘เกินความคาดหมาย’ นั้นล้วนเป็นประสบการณ์ที่แสนพิเศษสำหรับเขา

ด้านทรงพล วงษ์คนดี ผู้อำนวยการฝ่ายขายและธุรกิจต่างประเทศของจีดีเอช 559 (GDH 559) ซึ่งเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ชื่อดังเรื่องนี้ ระบุว่าการที่หลานม่าได้รับความนิยมในจีน เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความสำเร็จในการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมของไทย โดยตลาดพลู ซึ่งเป็นตลาดในเขตธนบุรีของกรุงเทพฯ และเป็นสถานที่ถ่ายทำหลักของภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้กลายมาเป็นจุดเช็กอินยอดนิยมของนักท่องเที่ยวแล้วในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ทรงพลยังหวังว่าผู้บริโภคชาวจีนจะเข้าใจภาพยนตร์ไทยมากขึ้นผ่านโอกาสในครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นใบเบิกทางให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในตลาดวัฒนธรรมที่กว้างกว่าเดิม

หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านภาพยนตร์และซีรีส์ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติของไทย เปิดเผยว่าไทยเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ต่างชาติที่ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนาน เนื่องจากมีทัศนียภาพทางธรรมชาติที่งดงาม อาทิ ชายทะเลและเกาะต่าง ๆ

หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรีเผยว่าไทยและจีนมีความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านภาพยนตร์และวัฒนธรรมอื่น ๆ อย่างใกล้ชิดมากขึ้น โดยมีทีมงานภาพยนตร์ชาวจีนเดินทางมาถ่ายทำที่ไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะภาพยนตร์และซีรีส์บางเรื่องที่มีกลิ่นอายของไทยได้รับความนิยมในตลาดขนาดใหญ่ของจีนเช่นกัน พร้อมเสริมว่าภาพยนตร์มีบทบาทสำคัญในการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และเราให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือกับจีนในด้านอุตสาหกรรมนี้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top