‘อ.เดชา’ ยก ‘หลานม่า’ สะท้อนคุณค่าวัตถุดิบชั้นดีที่มีอยู่เกลื่อนเมืองไทย แถมตอกย้ำให้เห็นมิติดีๆ จากการทำงานร่วมกัน ระหว่างคนต่างรุ่น

เมื่อวานนี้ (10 ก.ย. 67) นายเดชา ศิริภัทร เจ้าของสูตรน้ำมันกัญชา (ตำรับหมอเดชา) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Deycha Siripatra’ กล่าวถึงภาพยนตร์ไทยเรื่อง ‘หลานม่า’ ที่ประสบความสำเร็จทำรายได้รวมทั่วโลกกว่า 1,800 ล้านบาท ระบุว่า…

วันนี้ ขอเขียนถึงภาพยนตร์ไทยเรื่องหนึ่ง ซึ่งได้ตำแหน่ง ภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้สูงสุด

นั่นคือภาพยนตร์เรื่อง 'หลานม่า' ที่ทำรายได้รวมทั่วโลก กว่า1,800 ล้านบาทแล้ว

นับเฉพาะประเทศจีน (ที่ยังฉายอยู่ตอนนี้) ประเทศเดียว ก็ทำรายได้เกิน 500 ล้านบาท

ในประเทศไทย 'หลานม่า' ทำรายได้รวม 300 กว่าล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าประเทศจีน

และในประเทศอินโดนีเซีย ก็ทำรายได้รวม มากกว่าในประเทศไทย (กว่า 400 ล้านบาท)

ต่อจากนี้ จะมีโปรแกรมเข้าฉายในทวีปยุโรป และประเทศสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

รวมถึงเข้าฉายใน เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) เร็วๆ นี้ ผู้ชมคงกระจายไป กว้างขวางทั่วโลก

สิ่งที่อยากตั้งข้อสังเกต เกี่ยวกับ 'หลานม่า' ก็คือ คนดูส่วนใหญ่ร้องไห้กันอย่างหนัก

โดยเฉพาะในประเทศจีน แม้ทางโรงภาพยนตร์แจกทิชชูให้ผู้ชมทุกคน ก็ยังไม่พอซับน้ำตา

เพราะเนื้อเรื่องชีวิตช่วงสุดท้ายของ 'อาม่า' (ยาย) กับหลานชายนั้น กระทบจิตใจมาก

เป็นความสัมพันธ์ในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน ซึ่งยังมีอิทธิพลของวัฒนธรรมจีนอยู่

แม้ยายกับหลานชาย จะเป็นคนที่อยู่ต่างรุ่นกัน มีวิถีชีวิตต่างกัน แต่ยังมีสายใยเชื่อมโยง

คนเชื้อสายจีน (ที่มีอยู่ทั่วโลก) จะรู้สึกซาบซึ้งกับ 'หลานม่า' เป็นพิเศษ เพราะเข้าใจได้ดี

แม้คนที่อยู่ต่างวัฒนธรรม ก็เข้าใจสิ่งที่สื่อออกมาได้ไม่ยาก แม้จะไม่ลึกซึ้งเท่าคนเชื้อจีน

จึงนับได้ว่า เนื้อเรื่องของ 'หลานม่า' เป็น 'ซอฟต์พาวเวอร์' ที่มีผลเป็นรายได้ ชัดเจนยิ่ง

ดังนั้น ภาพยนตร์หรือซีรี่ส์ จากประเทศไทย จึงมีศักยภาพเป็น 'ซอฟต์พาวเวอร์' ที่ดี

เพราะคนไทยมีวัตถุดิบในประเทศ ที่นำมาเป็นเนื้อเรื่อง (Story) เสนอชาวโลกได้อีกมาก

เช่นภาพยนตร์เรื่อง 'วิมานหนาม' ที่นำเสนอเรื่อง 'ทุเรียน' ก็กำลังได้รับความนิยม

เพราะ 'ทุเรียน' เป็นผลไม้ที่มีชื่อเสียงระดับโลกแล้ว โดยเฉพาะทุเรียนจากประเทศไทย

ประเทศไทยยังมี อาหารไทย มวยไทย วัดไทย วัฒนธรรมไทยด้านต่างๆ อีกมากมาย

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ล้วนเป็น 'ซอฟต์พาวเวอร์' ชั้นดี รอให้คนไทยที่มีฝีมือ นำมาเสนอชาวโลก

ดังเช่น การนำชิวิตในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน มาเสนอในภาพยนต์เรื่อง 'หลานม่า'

ต้องยอมรับว่า ผู้เขียนบทฯ ผู้กำกับฯ และผู้แสดงภาพยนตร์เรื่อง 'หลานม่า' เป็นคน 'มีฝีมือ'

หวังว่า คนไทยที่ 'มีฝีมือ' จะช่วยกันนำสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ในประเทศ ออกมานำเสนอต่อชาวโลก

โดยเรียนรู้จากความสำเร็จของ 'หลานม่า' เป็นตัวอย่างของการทำงานต่อไป ให้ดียิ่งขึ้น

และสิ่งหนึ่งที่เรียนรู้ได้จาก 'หลานม่า' ก็คือ การทำงานร่วมกัน ระหว่างคนต่างรุ่น

ระหว่างคนรุ่นเก่า คุณอุษา เสมคำ (ยายแต๋ว) และคุณ พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล (บิวกิ้น)

ภาพของทั้งสองคน ในภาพยนตร์เรื่อง 'หลานม่า' คงอธิบายทุกสิ่งได้ดีกว่าคำพูดใดๆ