Tuesday, 22 April 2025
ภัยพิบัติ

‘ชิลี’ ประกาศภาวะฉุกเฉิน หลังยังไม่สามารถควบคุมเหตุไฟป่าได้ ถือเป็นภัยพิบัติร้ายแรงที่สุด นับตั้งแต่เหตุแผ่นดินไหวเมื่อปี 2010

(4 ก.พ.67) สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานสถานการณ์ไฟป่าในประเทศชิลี ที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ โดยสำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า ทางการชิลีแจ้งเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากไฟป่าที่เกิดขึ้นหลายพื้นที่ของประเทศชิลี ทั้งตอนกลางและตอนใต้ ได้เพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างน้อย 51 รายแล้ว และคาดว่ายอดผู้เสียชีวิตจะเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ขณะที่ไฟป่าเริ่มลุกลามเข้าพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นแล้ว

วันเดียวกัน ประธานาธิบดี ‘กาเบรียล บอริก’ แห่งชิลี ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินขึ้น ในภูมิภาคตอนกลางและตอนใต้ของประเทศ เนื่องจากสถานการณ์ไฟป่าที่ลุกลามและยังควบคุมไม่ได้ ท่ามกลางสภาพอากาศที่แห้ง และอุณหภูมิที่สูงขึ้นเป็น 40 องศาเซลเซียส ยิ่งส่งผลให้สถานการณ์ไฟป่าในชิลีย่ำแย่ลงไปอีก

ข่าวระบุว่า พื้นที่โดยรอบของเมืองริมชายหาดอย่าง ‘วินา เดล มาร์’ ซึ่งเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบหนักสุดจากเหตุไฟป่า ซึ่งเจ้าหน้าที่กู้ภัยเร่งเข้าไปช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนแล้ว

โดยก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีบอริก แจ้งว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุไฟป่าแล้ว 46 ราย ก่อนที่จะมีการปรับยอดเพิ่มขึ้นเป็น 51 ราย ซึ่ง ‘นางคาริลินา โทฮา’ รัฐมนตรีมหาดไทยของชิลี เปิดเผยว่า ยอดผู้เสียชีวิตได้เพิ่มขึ้น หลังจากมีการพบร่างผู้เสียชีวิตบนท้องถนนเพิ่มขึ้นอีก 5 ราย และคาดว่า จะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะที่เมืองวาลปาไรโซ ที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์เปราะบางมากที่สุด โดยนางโทฮายังกล่าวด้วยว่า ชิลี กำลังเผชิญกับภัยพิบัติที่ร้ายแรงที่สุด นับตั้งแต่เหตุแผ่นดินไหวรุนแรงเมื่อปี 2010 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 500 ราย

‘ดร.ธรณ์’ ชี้!! ‘ไต้ฝุ่นยางิ’ เป็นสัญญาณความหย่อนยานลดก๊าซเรือนกระจก ลั่น!! จากนี้ 'โลกจะยิ่งแปรปรวน-น้ำท่วม-ระบบนิเวศพัง' นี่ไม่ใช่คำขู่

(10 ก.ย. 67) ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Thon Thamrongnawasawat’ เตือนภัยถึงสถานการณ์ของซูเปอร์ไต้ฝุ่น ‘ยางิ’ ระบุว่า…

ไต้ฝุ่นยางิคือ พายุรุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปีที่ขึ้นฝั่งทางตอนเหนือของเวียดนาม สร้างความเสียหายเหลือคณานับ

ทุกคนทราบว่าไต้ฝุ่นกำลังมา แต่ไม่คาดคิดว่าจะแรงถึงเพียงนี้ นั่นคือสิ่งที่เกิดในยุคโลกร้อน เพราะเราไม่เคยชินกับภัยพิบัติในยามที่โลกโกรธ

ความแปรปรวนของโลกจะเพิ่มมากขึ้น จะไม่หยุด จะต่อเนื่องไปอีกหลายสิบปี ตราบใดที่มนุษย์ยังไม่บรรลุเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจก

นี่ไม่ใช่คำขู่ ไม่ใช่คำทำนาย นี่คือเรื่องจริงที่นักวิทยาศาสตร์บอกมานานแล้ว แต่มันน่ากลัว มันไม่สนุก เราไม่อยากฟัง

จนเมื่อโลกคำรามดังลั่น เราถึงได้ยิน เราถึงตัวสั่นด้วยความกลัว

แม้โอกาสที่ไต้ฝุ่นเข้าเมืองไทยโดยตรงจะมีน้อยมาก แต่ผลกระทบด้านอื่นยังมี เราเป็นประเทศเสี่ยงต่อน้ำท่วมรุนแรง ทะเลยังปั่นป่วนจนระบบนิเวศเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว

ความเสี่ยงสูงสุดของโลกในยุคนี้และยุคต่อไปคือโลกร้อน เราต้องตั้งหลัก หันมาทุ่มเทสุดๆ ในการเรียนรู้และเข้าใจ ทุ่มเทให้กับการรับมือและปรับตัวชีวิตความเป็นอยู่

ทุ่มเทกับการรักษาธรรมชาติให้ถึงที่สุด !

โลกยุคที่ใช้ GDP และเศรษฐกิจแบบเดิมเป็นตัววัดจากไปแล้ว การคิดแบบเดิมๆ ทำแบบเดิมๆ จากไปเช่นกัน

ตัวอย่างมีมากมายใน 5-6 ปีที่ผ่านมา หวังว่าเราคงเลิกปิดหูปิดตาแล้วหันมายอมรับความจริง

ความกลัวเป็นนายที่เลว แต่เป็นทาสที่ดี เมื่อใดที่เรากลัว แต่คุมสติไว้ได้ เตรียมการรับมือกับสิ่งที่เรากลัว เราจะมีหวัง

ขอแสดงความเสียใจกับชาวเวียดนามทุกท่าน เมื่อใดที่มีช่องทางการช่วยเหลือ เชื่อว่าน้ำใจจากคนไทยจะไปถึงเพื่อนๆ ของเราครับ

'ศปช.' ยัน!! ไม่มีพายุใหญ่ถล่มไทย ทำน้ำท่วมหนักซ้ำปี 54 เผย!! หลายพื้นที่ของไทย เตรียมเข้าปลายฝนต้นหนาวแล้ว

(27 ก.ย. 67) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) กล่าวว่า ตามที่มีข่าวลือผ่านสื่อสังคมออนไลน์ว่า อีก 5 วันจะเกิดพายุไต้ฝุ่นขนาดใหญ่ที่รุนแรงกว่า ‘ยางิ’ และจะเคลื่อนตัวเข้าเวียดนาม ผ่านลาว เข้าไทย และจะส่งผลให้กรุงเทพฯ จะเจอน้ำท่วมหนักกว่าปี 54 ถึงสองเท่านั้น

ศปช. ได้ตรวจสอบข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา และส่วนราชการอื่น ๆ ใน ศปช.แล้ว ยืนยันว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีพายุขนาดใหญ่ที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย มีเพียงพายุโซนร้อน ชื่อ ‘ซีมารอน’ (CIMARON) ก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งคาดว่าจะเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่นและอ่อนกำลังลง ไม่มาถึงประเทศไทยอย่างแน่นอน โดยฝนที่เกิดขึ้นในประเทศไทยช่วงนี้เกิดจากมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุม จะมีฝนเพิ่มขึ้นในระยะแรก ๆ จากนั้นจะลดลงและเข้าสู่ปลายฝนต้นหนาวในประเทศไทย

ส่วนกรณีการแก้ไขปัญหาและเยียวยาพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยนั้น นายกรัฐมนตรีได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาให้กับประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยให้รวดเร็ว ลดขั้นตอน โดยได้รับรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า จะสามารถจ่ายเงินเยียวยาเบื้องต้นให้กับผู้ประสบภัยในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย และ จ.ลำปาง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประสบภัยลำดับต้น ๆ ได้ในช่วงสัปดาห์นี้ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนก่อน ซึ่งหากมีความเสียหายอื่น ๆ ก็จะเร่งรัดจ่ายเงินช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ เช่น กรณีบ้านพังเสียหายทั้งหลัง จะได้รับเงินช่วยเหลือ 230,000 บาทต่อหลัง และในกรณีเสียชีวิตจะได้รับเงินช่วยเหลือ 50,000 บาท

“ที่ประชุม ศปช.ได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจ่ายเงินเยียวยาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ภายใต้ระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งความช่วยเหลือที่รวดเร็วเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญสูงสุด” นายจิรายุ ระบุ

ทั่วโลกรับมือภัยพิบัติธรรมชาติถ้วนหน้า สเปนอ่วม!! ภาวะน้ำท่วมทำตาย 95

(31 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในขณะนี้ทั่วโลกอยู่ระหว่างการเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดย THE STATES TIMES รวบรวมมานำเสนอ ดังนี้

>>>ประเทศญี่ปุ่น
สื่อในประเทศญี่ปุ่นอย่าง Asahi ได้รายงานว่า ‘ภูเขาไฟฟูจิ’ หนึ่งในแลนด์มาร์กสำคัญของประเทศญี่ปุ่น ไม่มีหิมะปกคลุมเมื่อเริ่มเข้าสู่เดือนพฤศจิกายน นับเป็นครั้งแรกในรอบ 130 ปีที่เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น 

>>>ประเทศสเปน
สื่อดังประเทศเยอรมันอย่าง DW ได้รายงานว่า แคว้นบาเลนเซีย(Valencia) ประเทศสเปน ได้ประสบอุทกภัยอย่างหนัก เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 92 ราย จากจำนวนผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วม 95 รายในประเทศสเปน ล่าสุดทางสหภาพยุโรป(EU) ได้เสนอความช่วยเหลือแล้ว 

>>>ไต้หวัน
สำนักข่าว CNN รายงานว่า เกาะไต้หวันกำลังเผชิญหน้ากับพายุไต้ฝุ่นที่มีความรุนแรงระดับสูง โดยมีผู้เสียชีวิตแล้ว 4 ราย นอกจากนี้ทางรัฐบาลไต้หวันได้เตรียมความพร้อมกำลังพลถึง 36,000 นายเพื่อให้การช่วยเหลือและฟื้นฟูเกาะ

อีกหนึ่งอุปกรณ์ส่งข่าวสารที่ ‘ลุงตู่’ เคยเอ่ยถึง แถมทุกคนสามารถเข้าถึงได้ แม้ไม่ใช่เทคโนโลยีล้ำสมัย แต่มีประโยชน์อย่างยิ่งยามเกิดภัยพิบัติ

เหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมา เมื่อวานนี้ (28 มี.ค. 68) เกิดแรงสั่นสะเทือนจนกระทบมาถึงฝั่งไทย ทำให้หลายพื้นที่ได้รับความเสียหาย เช่น บ้านเรือน ตึก อาคาร คอนโด มีรอยแตกร้าว หน้าต่างแตกเสียหาย สร้างความกังวลใจอย่างมาก และหวั่นเกิดเหตุซ้ำอีกระลอก

นอกจากนี้ เหตุการณ์อาคารกำลังก่อสร้างของ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ถล่มลงมา ก็สร้างความสะเทือนใจให้แก่ผู้พบเห็นและได้รับฟังข่าวไม่น้อย

คำถามที่เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเริ่มคลี่คลายคือ เหตุใดจึงไม่มีการแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์ หลังจากเกิดแผ่นดินไหวในเมียนมา เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนเตรียมตัวอพยพได้ทัน

พอมานึก ๆ ดู นี่ก็ไม่ใช่คำถามที่แปลกใหม่อะไร เพราะเคยมีคนถามคำถามคล้าย ๆ แบบนี้มาแล้ว ในช่วงเกิดภัยพิบัติอื่น ๆ เช่น น้ำท่วม เมื่อปี 65

ย้อนกลับไปตอนที่เกิดน้ำท่วมปี 65 หากใครยังจำกันได้ ตอนนั้นประเด็นเรื่อง ‘ทรานซิสเตอร์’ กลายเป็นสิ่งที่ผู้คนพูดถึงอย่างมาก โดยจุดเริ่มต้นก็มาจาก ‘พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ หรือ ‘ลุงตู่’ นั่นเอง

โดยเรื่องมีอยู่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในขณะนั้น ได้กล่าวช่วงหนึ่งในการประชุมการบริหารจัดการสถานการณ์อุทกภัยและให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบผ่านระบบเทเลคอนเฟอเรนซ์เมื่อ 3 ต.ค. 65

โดยกล่าวถึงการกำหนดพื้นที่เป้าหมายเศรษฐกิจ พื้นที่สุขภาพที่เกี่ยวกับโรงพยาบาลด้านสาธารณสุข ก็ต้องดูแลให้สามารถเข้าบริการได้ ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงการให้บริการไฟฟ้า ประปา และโทรศัพท์ ก็ต้องให้ใช้ได้นานที่สุด ถ้าระบบมันล่มไปทั้งหมด การสื่อสารแจ้งข้อมูลจะทำได้ลำบาก อาจจะต้องไปใช้ ‘วิทยุทรานซิสเตอร์’ ในการออกอากาศแจ้งเตือนประชาชนได้อีกทาง ซึ่งเคยใช้กันเมื่อปี 2554 เพราะตอนนั้นไฟฟ้าดับหมด ดังนั้นเราต้องเตรียมแผนตรงนี้ไว้ด้วยในกรณีที่อาจจะเกิดปัญหา

พลันที่มีคำว่า ‘วิทยุทรานซิสเตอร์’ หลุดออกมา ก็มีคนไทยกลุ่มหนึ่งจับตาและกล่าวว่านี่คือ ‘ความล้าหลัง’ และขำขันกันอย่างสนุก 

แต่กลับกันภายใต้ความขบขันนี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในปัญหาแบบผู้มีองค์ความรู้รอบด้านของผู้นำกับสถานการณ์ที่เป็นจริงได้อย่างสอดคล้องมากกว่า

แน่นอนว่าในบ้านเราตอนนี้ คนอาจจะติดภาพทรานซิสเตอร์ว่าโบราณ บ้านนอก แต่จริง ๆ แล้ว วิทยุพกพาที่รับสัญญาณจากอากาศที่ไม่ได้ใช้สัญญาณดาวเทียมหรืออินเทอร์เน็ต ซึ่งมีขายในท้องตลาด ก็ล้วนแล้วแต่ใช้เทคโนโลยีทรานซิสเตอร์ทั้งหมดในการรับสัญญาณ AM/FM

โดยวิทยุทรานซิสเตอร์นั้นใช้ระบบคลื่นสั้น AM ลักษณะเดียวกับที่ใช้ในวิทยุสื่อสารทหาร การรับส่งสัญญาณทำได้มีประสิทธิภาพมากกว่าคลื่น FM ไม่ว่าจะอยู่ไกลแค่ไหน ลึกเข้าไปในป่าเขาก็รับสัญญาณได้หมด จึงเหมาะแก่การแจ้งเตือนภัยพิบัติ เพราะด้วยความที่สามารถใช้พลังงานถ่านไฟฉาย ซึ่งเป็นกระแสตรง (DC) โวลท์เตจต่ำ ไม่ต้องพะวงเรื่องการช็อตเมื่อเปียกน้ำ และเปลี่ยนถ่านทีหนึ่งก็อยู่ได้เป็นครึ่ง ๆ เดือน จึงเหมาะแก่การมีติดบ้าน ไว้รับข่าวสารยามน้ำท่วมหรือเกิดเหตุภัยพิบัติที่สุด

โชคดีของคนไทย ที่ระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหวครั้งนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ที่รับมือได้ และคลี่คลายไปอย่างรวดเร็ว แต่ก็ใช่ว่า ผ่านแล้วก็ผ่านไป แต่ควรต้องนำกลับมาทบทวนและหารับมือดียิ่งขึ้น เพื่อรักษาชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

และแน่นอนว่าประเด็น ‘ทรานซิสเตอร์’ ที่เกิดขึ้นในสมัยของลุงตู่ ก็ไม่ควรเป็นเพียงแค่ความขบขัน เอามาหัวเราะกันสนุกปาก เพราะนี่คือหนึ่งในช่องทางกระจายข่าว เพื่อให้ประชาชนได้เตรียมตัวรับมือภัยพิบัติ ในกรณีที่เกิดเหตุร้ายแรง อินเทอร์เน็ตล่ม หรือสัญญาณโทรศัพท์ไม่มีนั่นเอง

ชาวเน็ตแห่แชร์คำทำนาย 2 หมอดูชื่อดัง เคยคำนาย ปี 68 จะเกิด ‘แผ่นดินไหว’

(29 มี.ค. 68) นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก หลังเหตุแผ่นดินไหวเมื่อ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยระบุว่า…

“Fact
47 สึนามิ = ไอ้แม้ว
54 น้ำท่วมใหญ่ = อิปู
68 แผ่นดินไหว = อุ้งอึ้ง”

แน่นอนว่าทำให้หลายคนตีความไปว่าทุกสมัยที่มีคนจากตระกูล ‘ชินวัตร’ ขึ้นมานั่งตำแหน่งผู้นำประเทศ ก็จะเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติน่าสลดใจ

โดยในปี 2547 นายทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็เกิดเหตุการณ์สึนามิครั้งใหญ่ คร่าชีวิตและมีผู้สูญหายจำนวนมาก

ต่อมาปี 2554 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ หรือที่คนไทยจดจำในชื่อ ‘น้ำท่วม 54’ ซึ่งก็สร้างความเสียหายไม่น้อย

มาจนถึงปี 2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หรือก็คือลูกสาวคนเล็กของนายทักษิณ ก็ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งนั่งเก้าอี้ได้ไม่นานก็เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและมีตึกถล่ม

ชาวเน็ตได้นำประเด็นนี้ไปเชื่อมโยงกับคำทำนายของหมอดูหลาย ๆ คน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ‘หมอปลาย พรายกระซิบ’ ที่เคยกล่าวคำทำนายดวงเมืองประเทศไทย ปี 68 ไว้เมื่อปลายปี 67 ซึ่งขณะนี้กลายเป็นคลิปที่ถูกแชร์ต่อในโซเชียลอย่างมาก

โดย ‘หมอปลาย พรายกระซิบ’ ได้เปิดเผยคำทำนายไว้ในรายการ คุยเล่นเน้นจริง EP.7 เผยแพร่เมื่อ 27 ธ.ค.67 ทางช่องยูทูบ Golfbenjaphon TV โดยหมอปลาย ระบุว่า…

“อีกเรื่องหนึ่งที่อยู่ประมาณช่วงครึ่งปีแรกเหมือนกันก็คือ เรื่องของแผ่นดินไหว ประเทศเมียนมา เพราะฉะนั้นจังหวัดที่ใกล้ก็เตรียมตัว กรุงเทพฯ รู้สึกถึงการสั่นสะเทือน เพราะว่าท่านก็ให้เห็นมานานแล้ว เพียงแต่ว่าเราไม่กล้าพูดตรงอื่น เห็นอันนี้มาตั้งแต่ 2-3 เดือนที่ผ่านมา” 

ซึ่งหมอปลาย และกอล์ฟ เบญจพล ก็ย้ำว่าที่พูดเพราะหวังดี อยากให้มองที่เจตนา อยากมีการป้องกัน เฝ้าระวัง หมอปลายเผยอีกว่า “อยากให้เก็บเงินเข้าที่สูง เก็บเงินเข้าธนาคาร ไม่อยากให้มันถูกน้ำพัดไป ไม่อยากให้อาคารมันพัง แล้วก็ทับบ้านทับ”

โดยเหตุจะเกิดช่วงประมาณกลางของกลางปี ประมาณเดือนที่ 3 หรือเดือนที่ 4

นอกจากนี้ยังมีคำทำนายของนอสตราดามุสเมืองไทย หรือ ‘อ.โสรัจจะ นวลอยู่’ ที่เคยเอ่ยถึงดวงเมืองประเทศไทยปี 68 ไว้ในรายการ THAIRATH TALK ช่วงปลายเดือน พ.ย. ปี 67 โดยระบุว่า…

“จะมีแผ่นดินไหวใจกลางกรุงเทพ จริง ๆ ปีนี้มันหนักกว่าปีที่แล้ว ถ้าถามว่า ความร้ายแรงหนักกว่าปี 2567 แค่ไหน หนักกว่า 10 เท่า เนื่องจากมันมีโรคระบาด มีภัยพิบัติ แค่ 2 เรื่องนี้ คนก็ตายไปเยอะ อาจจะมีโรคร้ายที่ไม่เคยเกิดขึ้นด้วย ปี 68-69-70 ก็ยังหนักอยู่ กับดินฟ้าอากาศไม่เป็นใจ 3 ปีนี้”

ต่อมาพิธีกรรายการได้ถามถึงเหตุแผ่นดินไหว ที่จะไม่ได้เกิดในประเทศไทย แต่จะเกิดรอบ ๆ แรงสั่นสะเทือนที่กรุงเทพมากขึ้นเรื่อย ๆ กรุงเทพเสี่ยงต่อรอยเลื่อนที่มีพลัง และตึกของเราไม่ได้ดีไซน์มาเพื่อป้องกันแผ่นดินไหว

ด้าน ‘โหรโสรัจจะ’ ตอบชัดว่า “ใช่ มันจะเกิดขึ้น”

อย่างไรก็ตาม เรื่องการดูดวงหรือการทำนายล่วงหน้า เป็นเรื่องความเชื่อส่วนบุคคล ควรใช้วิจารณญาณ

ญี่ปุ่นทุ่มงบ 20 ล้านล้านเยน เสริมโครงสร้างสู้ภัยพิบัติใหญ่ใน 5 ปี พร้อมรับมือภัยเงียบใต้ดิน ‘รอยเลื่อนนังไก’ ที่อาจรุนแรงถึง 9 แมกนิจูด

(1 เม.ย. 68) รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศแผนลงทุนกว่า 20 ล้านล้านเยน (ราว 4.564 ล้านล้านบาท) ภายในระยะเวลา 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2569 เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยเฉพาะ แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่อาจเกิดจากรอยเลื่อนนังไก (Nankai Trough Earthquake)

ตามรายงานของสำนักข่าวท้องถิ่น มาตรการที่รัฐบาลเตรียมดำเนินการประกอบด้วย การเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การปรับปรุงตึกสูง โรงพยาบาล และสะพานให้มีความทนทานต่อแรงสั่นสะเทือนมากขึ้น พัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้า เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่แม่นยำและสามารถอพยพได้ทันเวลา เสริมศักยภาพหน่วยกู้ภัยและเครือข่ายฉุกเฉิน เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อภัยพิบัติได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

นายกรัฐมนตรี ชิเงรุ อิชิบะ เน้นย้ำความสำคัญของมาตรการลดความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ระหว่างการประชุมของสำนักงานส่งเสริมความสามารถในการรับมือภัยพิบัติแห่งชาติ โดยกล่าวว่า “เราจำเป็นต้องดำเนินมาตรการเพื่อลดความเสียหายอย่างต่อเนื่อง”

นายอิชิบะยังกล่าวถึง ความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นจากรอยเลื่อนนังไก (Nankai Trough) ซึ่งคาดการณ์ว่าอาจทำให้มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 298,000 คน นอกจากนี้ยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับ โครงสร้างพื้นฐานที่เสื่อมสภาพ โดยเฉพาะระบบท่อระบายน้ำใต้ดิน ซึ่งเป็นสาเหตุของเหตุการณ์ หลุมยุบในเมืองยะชิโอ จังหวัดไซตามะ ที่ทำให้รถบรรทุกพร้อมคนขับตกลงไปเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา

สำหรับ รอยเลื่อนนังไกถือเป็นหนึ่งในเขตที่มีความเสี่ยงสูงต่อแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดสึนามิรุนแรงและสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลต่อเมืองชายฝั่งของญี่ปุ่น โดยนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า หากเกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.0 แมกนิจูด ในบริเวณนี้ อาจมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และเศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบอย่างหนัก

ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการป้องกันและลดความเสียหายจากภัยพิบัติเป็นลำดับแรก และหวังว่าการลงทุนครั้งนี้จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชน พร้อมทั้งลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top