อีกหนึ่งอุปกรณ์ส่งข่าวสารที่ ‘ลุงตู่’ เคยเอ่ยถึง แถมทุกคนสามารถเข้าถึงได้ แม้ไม่ใช่เทคโนโลยีล้ำสมัย แต่มีประโยชน์อย่างยิ่งยามเกิดภัยพิบัติ
เหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมา เมื่อวานนี้ (28 มี.ค. 68) เกิดแรงสั่นสะเทือนจนกระทบมาถึงฝั่งไทย ทำให้หลายพื้นที่ได้รับความเสียหาย เช่น บ้านเรือน ตึก อาคาร คอนโด มีรอยแตกร้าว หน้าต่างแตกเสียหาย สร้างความกังวลใจอย่างมาก และหวั่นเกิดเหตุซ้ำอีกระลอก
นอกจากนี้ เหตุการณ์อาคารกำลังก่อสร้างของ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ถล่มลงมา ก็สร้างความสะเทือนใจให้แก่ผู้พบเห็นและได้รับฟังข่าวไม่น้อย
คำถามที่เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเริ่มคลี่คลายคือ เหตุใดจึงไม่มีการแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์ หลังจากเกิดแผ่นดินไหวในเมียนมา เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนเตรียมตัวอพยพได้ทัน
พอมานึก ๆ ดู นี่ก็ไม่ใช่คำถามที่แปลกใหม่อะไร เพราะเคยมีคนถามคำถามคล้าย ๆ แบบนี้มาแล้ว ในช่วงเกิดภัยพิบัติอื่น ๆ เช่น น้ำท่วม เมื่อปี 65
ย้อนกลับไปตอนที่เกิดน้ำท่วมปี 65 หากใครยังจำกันได้ ตอนนั้นประเด็นเรื่อง ‘ทรานซิสเตอร์’ กลายเป็นสิ่งที่ผู้คนพูดถึงอย่างมาก โดยจุดเริ่มต้นก็มาจาก ‘พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ หรือ ‘ลุงตู่’ นั่นเอง
โดยเรื่องมีอยู่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในขณะนั้น ได้กล่าวช่วงหนึ่งในการประชุมการบริหารจัดการสถานการณ์อุทกภัยและให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบผ่านระบบเทเลคอนเฟอเรนซ์เมื่อ 3 ต.ค. 65
โดยกล่าวถึงการกำหนดพื้นที่เป้าหมายเศรษฐกิจ พื้นที่สุขภาพที่เกี่ยวกับโรงพยาบาลด้านสาธารณสุข ก็ต้องดูแลให้สามารถเข้าบริการได้ ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงการให้บริการไฟฟ้า ประปา และโทรศัพท์ ก็ต้องให้ใช้ได้นานที่สุด ถ้าระบบมันล่มไปทั้งหมด การสื่อสารแจ้งข้อมูลจะทำได้ลำบาก อาจจะต้องไปใช้ ‘วิทยุทรานซิสเตอร์’ ในการออกอากาศแจ้งเตือนประชาชนได้อีกทาง ซึ่งเคยใช้กันเมื่อปี 2554 เพราะตอนนั้นไฟฟ้าดับหมด ดังนั้นเราต้องเตรียมแผนตรงนี้ไว้ด้วยในกรณีที่อาจจะเกิดปัญหา
พลันที่มีคำว่า ‘วิทยุทรานซิสเตอร์’ หลุดออกมา ก็มีคนไทยกลุ่มหนึ่งจับตาและกล่าวว่านี่คือ ‘ความล้าหลัง’ และขำขันกันอย่างสนุก
แต่กลับกันภายใต้ความขบขันนี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในปัญหาแบบผู้มีองค์ความรู้รอบด้านของผู้นำกับสถานการณ์ที่เป็นจริงได้อย่างสอดคล้องมากกว่า
แน่นอนว่าในบ้านเราตอนนี้ คนอาจจะติดภาพทรานซิสเตอร์ว่าโบราณ บ้านนอก แต่จริง ๆ แล้ว วิทยุพกพาที่รับสัญญาณจากอากาศที่ไม่ได้ใช้สัญญาณดาวเทียมหรืออินเทอร์เน็ต ซึ่งมีขายในท้องตลาด ก็ล้วนแล้วแต่ใช้เทคโนโลยีทรานซิสเตอร์ทั้งหมดในการรับสัญญาณ AM/FM
โดยวิทยุทรานซิสเตอร์นั้นใช้ระบบคลื่นสั้น AM ลักษณะเดียวกับที่ใช้ในวิทยุสื่อสารทหาร การรับส่งสัญญาณทำได้มีประสิทธิภาพมากกว่าคลื่น FM ไม่ว่าจะอยู่ไกลแค่ไหน ลึกเข้าไปในป่าเขาก็รับสัญญาณได้หมด จึงเหมาะแก่การแจ้งเตือนภัยพิบัติ เพราะด้วยความที่สามารถใช้พลังงานถ่านไฟฉาย ซึ่งเป็นกระแสตรง (DC) โวลท์เตจต่ำ ไม่ต้องพะวงเรื่องการช็อตเมื่อเปียกน้ำ และเปลี่ยนถ่านทีหนึ่งก็อยู่ได้เป็นครึ่ง ๆ เดือน จึงเหมาะแก่การมีติดบ้าน ไว้รับข่าวสารยามน้ำท่วมหรือเกิดเหตุภัยพิบัติที่สุด
โชคดีของคนไทย ที่ระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหวครั้งนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ที่รับมือได้ และคลี่คลายไปอย่างรวดเร็ว แต่ก็ใช่ว่า ผ่านแล้วก็ผ่านไป แต่ควรต้องนำกลับมาทบทวนและหารับมือดียิ่งขึ้น เพื่อรักษาชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
และแน่นอนว่าประเด็น ‘ทรานซิสเตอร์’ ที่เกิดขึ้นในสมัยของลุงตู่ ก็ไม่ควรเป็นเพียงแค่ความขบขัน เอามาหัวเราะกันสนุกปาก เพราะนี่คือหนึ่งในช่องทางกระจายข่าว เพื่อให้ประชาชนได้เตรียมตัวรับมือภัยพิบัติ ในกรณีที่เกิดเหตุร้ายแรง อินเทอร์เน็ตล่ม หรือสัญญาณโทรศัพท์ไม่มีนั่นเอง