Tuesday, 22 April 2025
น้ำท่วมภาคใต้

‘เอกนัฏ’ เร่งช่วย ‘น้ำท่วมใต้’ สั่งด่วน!! กระทรวงอุตฯ รีบส่ง!! ‘ถุงยังชีพ’ ให้ชาวบ้าน พร้อมมาตรการช่วยเหลือ

(30 พ.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงการติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ว่า ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานในสังกัดติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อม วัสดุ อุปกรณ์ บุคลากร และประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งดูแลอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยด่วน รัฐมนตรีฯ พร้อมลงไปช่วยเหลือพี่น้องภาคใต้ด้วยตัวเอง หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นในเร็ววัน นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม จะดำเนินมาตรการ ‘อุตสาหกรรมรวมใจ ช่วยพี่น้องชาวไทย’ โดยจัดตั้งศูนย์ประสานงานกระจายความช่วยเหลือที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 จังหวัดสงขลา เพื่อจัดส่งถุงยังชีพเครื่องอุปโภคบริโภคไปบรรเทาความเดือดร้อนและเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องประชาชน

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา ได้ลงพื้นที่มอบของอุปโภคบริโภคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดสงขลาแล้ว ได้แก่ ตำบลพังลา ตำบลคลองแงะ ตำบลพะตง จังหวัดสงขลา เพื่อแบ่งปันน้ำใจช่วยผู้ประสบน้ำท่วมภาคใต้

“ขอร่วมส่งกำลังใจให้กับพี่น้องชาวใต้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในครั้งนี้ ขอให้ทุกท่านผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้และกลับมาดำเนินชีวิตในรูปแบบปกติได้โดยเร็ว กระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมเดินเคียงข้างพี่น้องประชาชนให้ก้าวข้ามช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้” นายเอกนัฏ กล่าวทิ้งท้าย

'พิชัย' เผย 'นายกฯ' กำชับแต่แรก ให้ดูแลสินค้าอุปโภคบริโภคภาคใต้ ห้ามขาด ห้ามแพง! เร่งจัดส่งถุงยังชีพให้ ปชช. สั่งพาณิชย์จังหวัดลุยฟื้นฟูหลังน้ำลด 

(4 ธ.ค.67) ที่สำนักงานชั่งตวงวัด กระทรวงพาณิชย์ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวภายหลัง นำกระทรวงพาณิชย์ปล่อย 'คาราวานถุงยังชีพช่วยเหลือน้ำท่วมภาคใต้' ตามข้อสั่งการของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ทุกหน่วยงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ทันที และเตรียมมาตรการดูแลหลังน้ำลด ขณะนี้มีจังหวัดที่ประสบอุทกภัยหนัก รวมทั้งสิ้น 6 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี  ยะลา นราธิวาส และจังหวัดอื่นๆในภาคใต้

นายพิชัย กล่าวว่า ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรี (นางสาวแพทองธาร ชินวัตร) ได้สั่งการให้ทุกกระทรวงช่วยเหลือประชาชนตั้งแต่ตอนที่อยู่เชียงใหม่ ตอนที่ทราบว่าน้ำท่วมภาคใต้ให้ทุกคนเร่งช่วยกัน สำหรับกระทรวงพาณิชย์ได้มีการแพ็คถุงยังชีพเพื่อส่งไปที่ภาคใต้อย่างเร่งด่วน โดยถุงยังชีพในวันนี้จะถูกส่งไปถึงสงขลาประมาณเที่ยงคืนวันนี้ และจะกระจายไปในจังหวัดภาคใต้ในช่วงเที่ยงของอีกวันนึง ส่วนมาตรการอื่นคือ ของห้ามขาดห้ามแพง ไม่ให้ประชาชนเดือดร้อนเพื่อแก้ปัญหาให้ผ่านพ้นไปได้ 

ถ้าพบว่ามีการกักตุนสินค้าหรือพบว่าราคาแพงผิดปกติให้แจ้งมาที่สายด่วน 1569 กระทรวงพาณิชย์จะรีบเข้าไปแก้ไขให้อย่างเต็มที่และหลังจากนี้ขอความร่วมมือห้างสรรพสินค้าต่างๆ ทั้งห้างค้าส่ง-ค้าปลีก สำหรับการเตรียมการในช่วงหลังน้ำลดให้มั่นใจว่าของไม่ขาด และหลังน้ำลดจะมีมาตรการฟื้นฟูจัดธงฟ้าขายสินค้าในราคาถูก โดยเฉพาะสินค้าที่จำเป็นในการทำความสะอาด ถ้าจังหวัดไหนเดือดร้อนเราจะเข้าไปดูแลอย่างแน่นอน ก่อนหน้านี้ทางภาคเหนือประสบภัยน้ำท่วมหลังน้ำลดก็มีการจัดธงฟ้าจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคราคาถูก และสินค้าทำความสะอาดบ้านเรือนที่เสียหาย เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้กลับมาฟื้นได้ตามปกติ

“ท่านนายกได้สั่งการตั้งแต่ที่เชียงใหม่เชียงราย ทันทีที่เกิดเหตุให้ทุกหน่วยงานเร่งช่วยเหลือและฟื้นฟูดูแลประชาชน โดยกระทรวงพาณิชย์มีการตั้งศูนย์เฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมกระทรวงพาณิชย์ และร่วมมือกับภาคเอกชนจัดส่งถุงยังชีพช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วมและภายหลังน้ำลดก็มีการจัดโครงการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง ขอความร่วมมือห้างท้องถิ่นลดราคาสินค้าและจัดธงฟ้าจัดจำหน่ายสินค้าอุปกรณ์ซ่อมแซมที่จำเป็นในราคาถูกลดภาระค่าครองชีพในยามวิกฤต”นายพิชัย กล่าว

กมธ.ทหารและความมั่นคงของรัฐ วุฒิสภา ลงพื้นที่ติดตามปัญหาและช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดปัตตานี

เมื่อวานนี้ (4 ธ.ค.67) เวลา 13.30 นาฬิกา ณ โรงครัวเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ประสบอุทกภัย จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ณ บริเวณที่ทำการศาลากลางจังหวัดปัตตานี นายสมบูรณ์ หนูนวล รองประธานคณะกรรมาธิการการทหารและความมั่นคงของรัฐ วุฒิสภา คนที่หนึ่ง พร้อมด้วกรรมาธิการ อนุกรรมาธิการทางทหารด้านความมั่นคงแบบองค์รวม โดยนายสนั่น สนธิเมือง รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นำคณะตรวจเยี่ยมโรงครัวดังกล่าวด้วย 

ในการนี้ ผู้แทนคณะกรรมาธิการการทหารนำโดยนายสมบูรณ์ หนูนวล นางนวลนิจ หงษ์วิวัฒน์ นายนิฟาริด ระเด่นอาหมัด ว่าที่พันตรี กรพด รุ่งหิรัญวัฒน์ นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล ได้ร่วมบริจาคเงินสมทบสำหรับการจัดปรุงอาหารเพื่อนำไปแจกจ่ายให้ผู้ประสบอุทกภัยของโรงครัวฯ จังหวัดปัตตานีด้วยส่วนหนึ่งเพื่อให้ทุกคนได้ผ่านพ้นเหตุการณ์อุทกภัยในครั้งนี้

‘รองนายกฯ ประเสริฐ’ ลงพื้นที่ภาคใต้ ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม-ช่วยเหลือประชาชน ย้ำทุกหน่วยงานเร่งคลี่คลายสถานการณ์โดยเร็วที่สุด เผย ‘นายกรัฐมนตรี’ ห่วงใยผู้ได้รับผลกระทบ 

(6 ธ.ค.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นางสาวธีรรัตน์ สําเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย , ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) , พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) , นายอำพล พงศ์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจราชการในพื้นที่อุทกภัยภาคใต้ ณ จังหวัดยะลา  โดยได้รับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์อุทกภัย และแผนการแก้ไขปัญหาพร้อมกล่าวมอบนโยบาย ณ อาคารศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ อำเภอเมืองยะลา ก่อนเดินทางต่อไปยังอาคารศรีนิบง ศูนย์เยาวชนเทศบาลนครยะลา อำเภอเมืองยะลา เพื่อพบปะประชาชนและมอบถุงยังชีพให้ผู้แทนประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

นายประเสริฐ กล่าวว่า ขณะนี้ได้เกิดอุทกภัยขึ้นในหลายแห่งของพื้นที่ภาคใต้ ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำจะเคลื่อนผ่านอ่าวไทย ทำให้ภาคใต้มีความเสี่ยงฝนตกหนักและฝนตกหนักมากบางแห่ง รัฐบาลโดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงประชาชนที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก จึงได้มอบหมายให้ลงพื้นที่ในครั้งนี้เพื่อเร่งให้ความช่วยเหลือดูแลประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และพื้นที่ใกล้เคียงที่ได้รับความเดือดร้อน เพื่อคลี่คลายโดยเร็วที่สุด 

นายประเสริฐ กล่าวว่า วันนี้ได้เน้นย้ำกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระดมสรรพกำลังเพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาอุทกภัยอย่างต่อเนื่องเพื่อลดปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยมอบจังหวัด ศอ.บต. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย และจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ ให้พร้อมต่อสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น และมอบ สทนช. ประสานกรมชลประทาน จังหวัด ปภ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำในพื้นที่ที่เกิดอุทกภัย เพื่อแก้ไขสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว พร้อมกันนี้ สทนช. จังหวัด การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ต้องประสานการทำงานอย่างใกล้ชิดตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2567 และป้องกันสถานการณ์ไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนบางลาง และการจัดการน้ำในพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่เปราะบาง และเมื่อมีผลกระทบกับประชาชน ต้องเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด

“นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำกับ สทนช. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กรมประชาสัมพันธ์ และจังหวัด ประชาสัมพันธ์สถานการณ์อุทกภัยและแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า เพื่อลดผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ พร้อมมอบหมายศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ ประสานและบูรณาการการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลให้ความสำคัญต่อสถานการณ์น้ำ ทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง ที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของประชาชนเป็นอย่างมาก และจะดูแลให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มกำลังเพื่อทุกครัวเรือนผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้โดยเร็ว” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี กล่าว 

ด้าน ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ รวม 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช 7 อำเภอ จังหวัดพัทลุง 5 อำเภอ จังหวัดสงขลา 4 อำเภอ จังหวัดปัตตานี 4 อำเภอ จังหวัดนราธิวาส 3 อำเภอ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งระบายน้ำท่วมขังในพื้นที่เพื่อบรรเทาผลกระทบให้ประชาชน โดยเฉพาะในระยะนี้ที่ปริมาณฝนจะลดลง รวมทั้งได้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ในช่วงหลังจากนี้ตามที่รองนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยา และ สสน. คาดการณ์ว่าจะกลับมามีฝนตกหนักถึงหนักมากอีกครั้งในช่วงวันที่ 13 – 16 ธ.ค. 67 บริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จากนั้นแนวโน้มฝนจะลดลงตามลำดับ สำหรับเขื่อนบางลางจะยังคงอัตราการระบายน้ำที่ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) ต่อวัน ซึ่งจะต้องมีการติดตามประเมินสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดเพื่อปรับแผนการระบายให้เหมาะสม โดยจะต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับระดับน้ำทะเลด้วย 

โดยขณะนี้การระบายน้ำของเขื่อนบางลางยังไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำบริเวณหน้าเขื่อนปัตตานี โดยเขื่อนปัตตานีได้มีการหน่วงน้ำไว้ตั้งแต่วันที่ 2 ธ.ค. 67 ส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนลดลงตามลำดับ โดยเฉพะเขตตัวเมืองปัตตานี จ.ปัตตานี ระดับน้ำลดลงต่ำกว่าตลิ่งแล้ว และในการบริหารจัดการน้ำ ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลความมั่นคงแข็งแรงและปลอดภัยของเขื่อนทุกแห่ง ทั้งนี้ ศูนย์ฯ ส่วนหน้าจะบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประเมินวิเคราะห์สถานการณ์ประกอบการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่และระดมสรรพกำลังเพื่อเร่งคลี่คลายสถานการณ์อุทกภัย รวมทั้งฟื้นฟูเยียวยาความเสียหายให้ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตตามปกติได้โดยเร็วที่สุด

'เอกนัฏ' สั่ง!! สส. ‘รวมไทยสร้างชาติ’ เร่ง!! ช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้

(15 ธ.ค. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เปิดเผยถึงกรณีให้ความช่วยเหลือน้ำท่วมภาคใต้ เนื่องจากมีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันว่า 

"จากเหตุการณ์น้ำท่วมภาคใต้ ทั้ง ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง สส.ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ลงพื้นที่เร่งให้ความช่วยเหลือบรรเทาความทุกข์ร้อน จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือน้ำท่วม โรงครัวอาหารและลำเลียงข้าวของเพื่อส่งต่อช่วยเหลือในพื้นที่ประสบภัย ผมขอให้กำลังใจพี่น้องผู้ประสบภัยและผู้ปฏิบัติงานทุกท่าน" นายเอกนัฏ กล่าว

เมืองนครศรีธรรมราช ท่วมสูง 20-40 ซม. ปิดจราจร ลานสกา-ถึงคีรีวง เตือนปชช.เร่งอพยพขนของขึ้นที่สูง

(16 ธ.ค. 67) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ โดยมี 4 จังหวัดได้รับผลกระทบ ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช รวม 27 อำเภอ 137 ตำบล 814 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบรวม 43,595 ครัวเรือน และมีผู้เสียชีวิต 3 ราย

โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครศรีธรรมราช รายงานเมื่อเวลา 00.20 น. ของวันที่ 16 ธันวาคม 2567 รายงานว่า น้ำป่าจากคีรีวงไหลลงสู่พื้นที่ลานสกา ระดับน้ำบริเวณสะพานคีรีวงใกล้ถึงใต้สะพานแล้ว เทศบาลนครนครศรีธรรมราชเตรียมรับมือขั้นสูงสุด

ทั้งนี้ปริมาณน้ำป่าที่ไหลบ่าทะลักเชี่ยวกรากผ่านน้ำตกหนานหินท่าหา บ้านคีรีวง ต.กำโลน อ.ลานสกา ลงคลองท่าดี เข้าสู่อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ใช้ระยะเวลาประมาณ 7 - 8 ชั่วโมง 

โดยเมื่อเวลา 22.30 น. ของวันที่ 15 ธ.ค. เทศบาลนครนครศรีธรรมราชประกาศระดับน้ำที่สถานีท่าใหญ่สูงถึง 650 ซม. (ขั้นสูงสุด) ขอให้ประชาชนในพื้นที่เตรียมเคลื่อนย้ายทรัพย์สินขึ้นที่สูง

เวลา 23.11 น. มีการแจ้งเตือนประชาชนใน 4 โซน จำนวน 20 ชุมชน ให้เตรียมขนย้ายทรัพย์สินและอพยพผู้เปราะบางไปยังพื้นที่ปลอดภัย เนื่องจากคาดว่าน้ำจะท่วมพื้นที่ในเวลาประมาณ 16.00 น. ของวันที่ 16 ธันวาคม 2567

ณ เวลา 06.19 น. ของวันที่ 16 ธันวาคม 2567 สถานการณ์การจราจรในจังหวัดนครศรีธรรมราชมีดังนี้

- ถนนสาย 403 ท้ายสำเภา-มหาวิทยาลัยรามคำแหง: น้ำท่วมสูง รถทุกชนิดไม่สามารถผ่านได้
- ทางเข้าศูนย์ราชการนาสาร: รถเล็กไม่สามารถผ่านได้
- เส้นทางนาพรุ-เบญจม: รถผ่านไม่ได้
- ถนนกะโรม-เบญจม: ผ่านได้เพียงฝั่งเดียว

เมื่อเวลา 07.50 น. เจ้าหน้าที่ประกาศปิดเส้นทางฝั่งขาออก ตั้งแต่หน้า ธ.ก.ส. ลานสกา จนถึงทางเข้าคีรีวง จนถึงขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดนครศรีธรรมราชครอบคลุม 11 อำเภอ 51 ตำบล 289 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบรวม 32,608 ครัวเรือน และมีผู้เสียชีวิต 3 ราย

กรมชลประทานรายงานปริมาณฝนสะสมในพื้นที่นครศรีธรรมราชตลอด 48 ชั่วโมงที่ผ่านมา (14-15 ธันวาคม 2567) วัดได้ 299.0 มิลลิเมตร โดยมีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 63 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำ 19 เครื่อง ในพื้นที่เสี่ยงต่าง ๆ เพื่อลดผลกระทบจากน้ำท่วม ซึ่งระดับน้ำในคลองท่าดี ณ สถานี X.285 ยังคงสูงกว่าตลิ่งประมาณ 0.66 เมตร และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สส.พิมพ์ภัทราเปิดบ้านตั้งครัวช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม เผยสถานการณ์ น้ำท่วมนครศรีธรรมราช ยังวางใจไม่ได้

(16 ธ.ค. 67) พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรค รวมไทยสร้างชาติ กล่าวถึงสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ว่าสถานการณ์ยังคงน่าเป็นห่วง เนื่องจากมรสุมตะวันออกยังไม่แน่นอน

“ตั้งแต่เมื่อวานซืน ปุ้ยยังลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และวันนี้ได้เปิดบ้านตั้งครัวช่วยเหลือผู้ประสบภัย เราจะอยู่เคียงข้างกันท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังไม่ปกติ” เธอกล่าว พร้อมย้ำว่าสภาพอากาศยังมีฝนตกต่อเนื่อง ส่งผลให้น้ำในคลองท่าทนและคลองท่าเชี่ยวระบายลงสู่อ่าวไทยได้ยาก เนื่องจากระดับน้ำทะเลหนุนสูงและมีสิ่งกีดขวางทางน้ำ ซึ่งทุกหน่วยงานท้องถิ่นกำลังเร่งแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่

พิมพ์ภัทรา กล่าวเพิ่มเติมว่า เช้าวันนี้ น้ำล้นตลิ่งในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง จึงได้เปิดบ้านเพื่อจัดตั้งโรงครัวช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย

เธอเตือนว่า สภาพอากาศยังคงไม่น่าไว้วางใจ เนื่องจากแนวร่องมรสุมขยับขึ้นลงผ่านพื้นที่ภาคใต้อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ชุมพรจนถึงชายแดนภาคใต้ ทำให้ดินในหลายพื้นที่อิ่มตัวจากฝนตกสะสมหลายวัน เสี่ยงต่อเหตุดินถล่ม โดยเฉพาะพื้นที่เทือกเขาหลวงตั้งแต่ขนอมจนถึงทุ่งสง ซึ่งมีความเสี่ยงสูง

“พื้นที่บ้านเราที่สิชล ขนอม ท่าศาลา และนบพิตำ ซึ่งมีพื้นที่เกษตรกรรมบนเนินเขาจำนวนมาก ต้องเพิ่มความระมัดระวังสูงสุด หากเกิดเหตุฉุกเฉิน ขอให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที” เธอกล่าวปิดท้ายด้วยความหวังว่า “เราจะผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกันค่ะ”

ฝนสะสม 3 วัน มวลน้ำจากเทือกเขาหลวงทะลัก สุราษฎร์ธานีอ่วมประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ บางจุดสูง 1 เมตร

(16 ธ.ค. 67) จังหวัดสุราษฎร์ธานีประกาศพื้นที่ภัยพิบัติเพิ่มเป็น 8 อำเภอ หลังชาวบ้านประสบความเดือดร้อนหนักจากน้ำท่วม รักษาการผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมเจ้าหน้าที่ ปภ. และฝ่ายปกครอง นำถุงยังชีพเยี่ยมชาวบ้าน โดยมีราษฎรได้รับความเดือดร้อน 14,319 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 3 ราย  ขณะที่สถานการณ์ล่าสุดยังมีฝนตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่

พื้นที่บ้านดอนหลวง ม.1 ต.ท่าอุแท อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นจุดรับน้ำก่อนลงทะเล ประสบปัญหาน้ำท่วมสูงกว่า 80 เซนติเมตร บางจุดสูงถึง 1 เมตร โดยมวลน้ำจากเทือกเขาหลวง จ.นครศรีธรรมราช และมวลน้ำฝนที่ตกหนักต่อเนื่องมากกว่า 3 วัน ไหลมาสมทบ สร้างความยากลำบากในการใช้ชีวิตของชาวบ้าน

นายธีรุตม์ ศุภวิบูลย์ผล รักษาการผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมเจ้าหน้าที่จาก ปภ. และฝ่ายปกครอง ได้นำถุงยังชีพมาเยี่ยมชาวบ้านในพื้นที่ และประเมินสถานการณ์ในช่วงกลางคืน พบว่าชาวบ้านสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังคงประสบความยากลำบากในการดำรงชีวิต โดยล่าสุดประกาศพื้นที่ภัยพิบัติแล้ว 8 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองสุราษฎร์ธานี อ.กาญจนดิษฐ์ อ.ดอนสัก อ.ท่าชนะ อ.ท่าฉาง อ.เกาะสมุย อ.เกาะพะงัน และ อ.บ้านนาสาร

สำหรับสถานการณ์ในพื้นที่ อ.กาญจนดิษฐ์ มีผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมแล้ว 8 ตำบล 47 หมู่บ้าน 2,208 ครัวเรือน รวม 5,247 คน ส่วนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้มี 2 ราย โดยล่าสุดคือ นายวรกิตต์ อายุ 15 ปี ซึ่งเสียชีวิตจากดินถล่มในพื้นที่ อ.เมืองสุราษฎร์ธานี เมื่อเช้าวันนี้ (16 ธ.ค.)

ในส่วนของเขตเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี ฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลานานกว่า 3 ชั่วโมง ทำให้ถนนหลายสายถูกน้ำท่วมขังและเกิดการจราจรติดขัดจากถนนกาญจนวิถีไปจนถึงหน้าโรงพยาบาลทักษิณ ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มที่รับน้ำจากถนนอื่นๆ น้ำจึงท่วมสูงและการสัญจรเป็นไปอย่างยากลำบาก ล่าสุดรักษาการผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้สั่งปิดการจราจรบนถนนเส้นดังกล่าวชั่วคราว และจัดการสูบน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่ด้วยรถสูบน้ำของ ปภ.สุราษฎร์ธานี

นอกจากนี้โรงเรียนในเขตเทศบาลได้ประกาศปิดเรียนหลายแห่ง และปรับแผนมาเรียนออนไลน์เพื่อความปลอดภัยของนักเรียน ขณะเดียวกัน สายการบินหลายแห่งที่มีกำหนดการถึงสนามบินสุราษฎร์ธานีในช่วง 19.00-19.30 น. ต้องเปลี่ยนเส้นทางไปยังสนามบินภูเก็ตจนกว่าสภาพอากาศจะดีขึ้น ก่อนจะบินกลับมายังสนามบินสุราษฎร์ธานีในช่วง 20.00-21.00 น.

‘เปิ้ล นาคร’ โพสต์เฟซ!! เหตุการณ์ประทับใจ ใครไม่รู้มาเลี้ยงข้าว ตอนอยู่ใต้ เพิ่งเฉลยภายหลัง!! ที่แท้เป็นคนดัง อดีต สว. ปัตตานี เจ้าของ ‘โรงแรมซีเอส’

(25 ม.ค. 68) นายนาคร ศิลาชัย หรือ ‘เปิ้ล’ นักแสดง และพิธีกรชื่อดัง ดาราจิตอาสา ได้โพสต์เฟซบุ๊ก เกี่ยวกับเรื่องราวที่น่าประทับใจ โดยมีใจความว่า ...

ผู้ชายคนนี้..ใครก็ไม่รู้..จู่ๆ ก็มาขอจ่ายตังค์เลี้ยงข้าวเรากับออก้า..“ขอบใจนะน้องที่มาช่วยชาวบ้าน”..แล้วเขาก็เดินจากไปอย่างที่เห็น…..(มีแบบนี้อีกหลายมื้อ ถ่ายไว้ไม่ทัน)..อีกทั้งขอบคุณพี่ป๋องโรงแรมcs ปัตตานีที่ดูแลเราและทีมงานกว่า20ชีวิต…..#คนใต้ใจดีน่ารักทุกคน# น้ำท่วมภาคใต้2567


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top