Tuesday, 22 April 2025
ซอฟต์พาวเวอร์

‘อุ๊งอิ๊ง’ จุดพลุ!! THACCA SPLASH Soft Power Forum งาน Soft Power ระดับนานาชาติครั้งแรกในเมืองไทย

(24 พ.ค. 67) ที่ห้องวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ มีการประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 5 ประจำปี 2567 โดยมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เป็นประธานการประชุม ร่วมด้วยพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ที่ปรึกษาและกรรมการคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ, นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ รวมถึง คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ด้านต่าง ๆ คณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 11 สาขา ร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง

จากนั้น น.ส.แพทองธาร ได้แถลงผลการประชุม ร่วมกับ หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนด้านภาพยนตร์-ซีรีส์ และ อินทิรา ทัพวงศ์ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนด้านแฟชั่น

โดย น.ส.แพทองธาร กล่าวถึง ความคืบหน้าตามแผนที่วางเอาไว้ ทั้งในส่วนหลักสูตรของ OFOS ของทั้งอุตสาหกรรมแฟชั่น และ ภาพยนตร์ รวมถึงงานใหญ่ที่คณะซอฟต์พาวเวอร์ใช้เวลาเตรียมงานกันมา นั่นคืองาน THACCA SPLASH : Soft Power Forum งาน Soft Power Forum ระดับนานาชาติครั้งแรกของประเทศไทย

“เราจะปักหมุดประเทศไทยลงบนแผนที่โลก ให้ชาวโลกได้รู้ว่า ประเทศไทยพร้อมแล้วที่จะเป็นหนึ่งในผู้นำ ด้านการพัฒนา Soft Power ไทยจะเป็นพื้นที่ของนักสร้างสรรค์ทั่วโลก มาร่วมทำงานกัน ซึ่งขณะนี้ วัฒนธรรมไทยมีความพร้อมที่กระจายออกไปทั่วโลกให้ได้หลงเสน่ห์ และคนไทยพร้อมแล้วที่จะสร้าง Soft Power ไทยให้แข็งแรง” น.ส.แพทองธาร กล่าว

น.ส.แพรทองธาร กล่าวถึงการจัดงาน SPLASH ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 28-30 กรกฎาคม 2567 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และจะมีการรวบรวมทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับ Soft Power ทั้งจากในประเทศ และทั่วโลก โดยประกอบด้วย 4 ส่วนคือ SPLASH Visionary zone, SPLASH Creative Culture Pavilion, SPLASH Master Class และ SPLASH Activation Lounge

น.ส.แพทองธาร เปิดเผยต่ออีกว่า สำหรับ SPLASH Visionary Zone มี 4 เวที ประกอบด้วย Vision Stage : เวทีวิสัยทัศน์รัฐบาล วิสัยทัศน์ของผู้เชี่ยวชาญระดับโลก นโยบายที่เราขับเคลื่อน ทิศทางที่เราเลือกไป ประเทศไทยจะอยู่ตรงไหนในโลก ปฏิญญาและความร่วมมือที่จะเกิดขึ้น ทุกท่านจะได้ทราบในเวทีนี้ค่ะ, Pathway Stage : เวทีของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยจะนำความสำเร็จของทั่วโลกมาถอดบทเรียน มาวิเคราะห์ถึงวิธีการ แนวคิด เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ และแรงบันดาลใจให้อุตสาหกรรมที่สร้าง Soft Power, Performance Stage : เวทีสำหรับคนรุ่นใหม่ให้ได้แสดงความสามารถโดยมีการแสดงจากหลายอุตสาหกรรม ทั้ง ศิลปะการแสดง ภาพยนตร์ ดนตรี และ Podcast Studio : เวที Podcast ที่สัมภาษณ์กันสดๆ ในงาน เจาะลึกมุมมองแนวคิด ของผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก ที่จะมาแชร์ประสบการณ์ในงาน

น.ส.แพทองธาร กล่าวต่อถึงอีกส่วนของงานคือ SPLASH Creative Culture Pavilion ซึ่งโซนนี้จะเป็นนิทรรศการเรื่อง Soft Power ทั้งของประเทศไทย และต่างประเทศ โดยมี 3 นิทรรศการ อาทิ THACCA Pavilion นิทรรศการของทักก้า อยากให้ทุกคนมารู้จักทักก้ากันที่งานนี้กันนะคะ ว่าเรากำลังจะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยด้วย Soft Power ได้อย่างไร นิทรรศการของทั้ง 11 กลุ่มอุตสาหกรรมค่ะ ส่วนนี้เราจะมาทำความรู้จัก Soft Power ในประเทศไทยให้มากขึ้น ว่าศักยภาพในตอนนี้ของแต่ละอุตสาหกรรมเป็นอย่างไร และภาพที่เรามองเห็นในอนาคตเป็นอย่างไร และ international Pavilion นอกจากนิทรรศการจากไทย ยังได้รับความร่วมมือจากหลายประเทศที่มาเข้าร่วมให้ข้อมูลผ่านนิทรรศการในงาน

น.ส.แพทองธาร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมี SPLASH Masterclass : ห้องเรียน Reskill Upskill ให้พี่น้องประชาชนที่สนใจโดยจะมีห้องเรียนจากทั้ง อุตสาหกรรม หน่วยงานภาครัฐ และยังมีพื้นที่สำหรับการ Hackathon เพื่อทดลองแข่งขันไอเดียกันอีกด้วย และสุดท้าย SPLASH Activation Lounge : พื้นที่สำหรับคุยแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อสร้างความร่วมมือในการสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้น เพราะงาน SPLASH จะรวมเอานักสร้างสรรค์ภาคเอกชน ที่น่าสนใจไว้ในงานนี้ ซึ่งจะทำให้เกิดการ Matching ทางธุรกิจเกิดขึ้น

“ฝากพี่น้องประชาชนที่สนใจนะคะ มาเรียนรู้มารู้จัก Soft Power ให้มากขึ้น เพราะซอฟต์พาวเวอร์ไม่ได้มีแค่นิยาม เรายังมีกระบวนการอีกมากมาย มางาน THACCA SPLASH Soft Power Forum ในวันที่ 28-30 กรกฎาคม 2567 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิต์ ซึ่งคาดว่าจะมีคนสนใจเข้าร่วมงานกว่า 2 แสนคน” น.ส.แพทองธาร กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 5 ยังมีวาระที่น่าสนใจ อาทิ ในส่วนหลักสูตรของ OFOS ของทั้งอุตสาหกรรมแฟชั่น และภาพยนตร์-ซีรีส์ โดยในด้านแฟชั่นมีการอบรมและพัฒนาบุคลากร ภายใต้กิมมิก ‘Soft Power แฟชั่น Thailand Only’ 4 สาขา คือ Apparel, Jewelry, Beauty และ Craft โดยจะจัดอบรมในระดับบุคคลทั่วไป นิสิตนักศึกษา ทายาทปราชญ์ชาวบ้าน และ ในระดับโรงงานอุตสาหกรรม OEM โดยในระยะยาว จะเป็นการ พัฒนาทักษะเดิม และ สร้างทักษะขึ้นมาใหม่ โดยเน้นกระบวนการทำงานในการสร้างคนที่เป็นพื้นฐานสำคัญในการผลิตผลงานและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อนำมาต่อยอดในการสร้างสรรค์ผลงานให้มีคุณภาพเทียบเท่าระดับสากล ผ่านการสร้างคน สร้างธุรกิจ และสร้างการรับรู้ ในแบบ Thailand Only เพื่อปักหมุดแฟชั่นไทยเป็นหนึ่งในใจกลางตลาดโลกส่งต่อที่สุดของความคราฟต์ ผสมผสานความสร้างสรรค์ที่ไร้ขีดจำกัดแบบ Thailand Only เพื่อยกระดับเรื่องราวความคราฟต์และความสร้างสรรค์ของวงการแฟชั่นสู่ระดับสากล ผ่านการสร้างการรับรู้ที่เพิ่มขึ้นตั้งค่านิยมที่เพิ่มขึ้นรวมไปถึงการสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพ

ส่วนในด้านของภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์ นั้นจะมีการจัด OFOS ในสาขาดังกล่าว เพื่อสร้างโครงสร้างของระบบการเรียนรู้ของภาพยนตร์และซีรีส์ให้เป็นระบบ สร้างคนเข้าอุตสาหกรรมให้ได้ทุกปีและเพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อระบบนี้เสถียรก็จะสามารถช่วยหน่วยงานอื่น ๆ ในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์องค์ความรู้ ในการทำภาพยนตร์ และซีรีส์ได้ โดยมี 10 หลักสูตรเบื้องต้นในการ Upskill Reskill ของภาพยนตร์ ละคร และ ซีรีส์ อาทิ ผู้ประกอบการ Production House, นักเขียนบท Screenwriter, ผู้กำกับภาพยนตร์, ผู้ช่วยผู้กำกับภาพยนตร์, โปรดิวเซอร์, ผู้กำกับภาพ, นักแสดง, Post Production, Production Designer และ Content Creator ซึ่งมีระยะดำเนินงาน ตั้งแต่ปี 2557-2568 ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าอบรมในเร็ว ๆ นี้

‘อ.เดชา’ ยก ‘หลานม่า’ สะท้อนคุณค่าวัตถุดิบชั้นดีที่มีอยู่เกลื่อนเมืองไทย แถมตอกย้ำให้เห็นมิติดีๆ จากการทำงานร่วมกัน ระหว่างคนต่างรุ่น

เมื่อวานนี้ (10 ก.ย. 67) นายเดชา ศิริภัทร เจ้าของสูตรน้ำมันกัญชา (ตำรับหมอเดชา) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Deycha Siripatra’ กล่าวถึงภาพยนตร์ไทยเรื่อง ‘หลานม่า’ ที่ประสบความสำเร็จทำรายได้รวมทั่วโลกกว่า 1,800 ล้านบาท ระบุว่า…

วันนี้ ขอเขียนถึงภาพยนตร์ไทยเรื่องหนึ่ง ซึ่งได้ตำแหน่ง ภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้สูงสุด

นั่นคือภาพยนตร์เรื่อง 'หลานม่า' ที่ทำรายได้รวมทั่วโลก กว่า1,800 ล้านบาทแล้ว

นับเฉพาะประเทศจีน (ที่ยังฉายอยู่ตอนนี้) ประเทศเดียว ก็ทำรายได้เกิน 500 ล้านบาท

ในประเทศไทย 'หลานม่า' ทำรายได้รวม 300 กว่าล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าประเทศจีน

และในประเทศอินโดนีเซีย ก็ทำรายได้รวม มากกว่าในประเทศไทย (กว่า 400 ล้านบาท)

ต่อจากนี้ จะมีโปรแกรมเข้าฉายในทวีปยุโรป และประเทศสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

รวมถึงเข้าฉายใน เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) เร็วๆ นี้ ผู้ชมคงกระจายไป กว้างขวางทั่วโลก

สิ่งที่อยากตั้งข้อสังเกต เกี่ยวกับ 'หลานม่า' ก็คือ คนดูส่วนใหญ่ร้องไห้กันอย่างหนัก

โดยเฉพาะในประเทศจีน แม้ทางโรงภาพยนตร์แจกทิชชูให้ผู้ชมทุกคน ก็ยังไม่พอซับน้ำตา

เพราะเนื้อเรื่องชีวิตช่วงสุดท้ายของ 'อาม่า' (ยาย) กับหลานชายนั้น กระทบจิตใจมาก

เป็นความสัมพันธ์ในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน ซึ่งยังมีอิทธิพลของวัฒนธรรมจีนอยู่

แม้ยายกับหลานชาย จะเป็นคนที่อยู่ต่างรุ่นกัน มีวิถีชีวิตต่างกัน แต่ยังมีสายใยเชื่อมโยง

คนเชื้อสายจีน (ที่มีอยู่ทั่วโลก) จะรู้สึกซาบซึ้งกับ 'หลานม่า' เป็นพิเศษ เพราะเข้าใจได้ดี

แม้คนที่อยู่ต่างวัฒนธรรม ก็เข้าใจสิ่งที่สื่อออกมาได้ไม่ยาก แม้จะไม่ลึกซึ้งเท่าคนเชื้อจีน

จึงนับได้ว่า เนื้อเรื่องของ 'หลานม่า' เป็น 'ซอฟต์พาวเวอร์' ที่มีผลเป็นรายได้ ชัดเจนยิ่ง

ดังนั้น ภาพยนตร์หรือซีรี่ส์ จากประเทศไทย จึงมีศักยภาพเป็น 'ซอฟต์พาวเวอร์' ที่ดี

เพราะคนไทยมีวัตถุดิบในประเทศ ที่นำมาเป็นเนื้อเรื่อง (Story) เสนอชาวโลกได้อีกมาก

เช่นภาพยนตร์เรื่อง 'วิมานหนาม' ที่นำเสนอเรื่อง 'ทุเรียน' ก็กำลังได้รับความนิยม

เพราะ 'ทุเรียน' เป็นผลไม้ที่มีชื่อเสียงระดับโลกแล้ว โดยเฉพาะทุเรียนจากประเทศไทย

ประเทศไทยยังมี อาหารไทย มวยไทย วัดไทย วัฒนธรรมไทยด้านต่างๆ อีกมากมาย

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ล้วนเป็น 'ซอฟต์พาวเวอร์' ชั้นดี รอให้คนไทยที่มีฝีมือ นำมาเสนอชาวโลก

ดังเช่น การนำชิวิตในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน มาเสนอในภาพยนต์เรื่อง 'หลานม่า'

ต้องยอมรับว่า ผู้เขียนบทฯ ผู้กำกับฯ และผู้แสดงภาพยนตร์เรื่อง 'หลานม่า' เป็นคน 'มีฝีมือ'

หวังว่า คนไทยที่ 'มีฝีมือ' จะช่วยกันนำสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ในประเทศ ออกมานำเสนอต่อชาวโลก

โดยเรียนรู้จากความสำเร็จของ 'หลานม่า' เป็นตัวอย่างของการทำงานต่อไป ให้ดียิ่งขึ้น

และสิ่งหนึ่งที่เรียนรู้ได้จาก 'หลานม่า' ก็คือ การทำงานร่วมกัน ระหว่างคนต่างรุ่น

ระหว่างคนรุ่นเก่า คุณอุษา เสมคำ (ยายแต๋ว) และคุณ พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล (บิวกิ้น)

ภาพของทั้งสองคน ในภาพยนตร์เรื่อง 'หลานม่า' คงอธิบายทุกสิ่งได้ดีกว่าคำพูดใดๆ

‘เอกนัฏ’ ล่องใต้เยือน ‘ตรัง-พัทลุง’ ผลักดันอุตสาหกรรมท้องถิ่น เน้น!! ชุมชนเข้มแข็ง เข้าถึงแหล่งเงินทุน รุกตลาดออนไลน์

(14 ต.ค. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ลงพื้นที่เยี่ยมชมสถานประกอบการ SME จังหวัดตรังและจังหวัดพัทลุง เพื่อสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมท้องถิ่น ต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน และพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค ยกระดับให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ มุ่งเน้นด้านอาหารและหัตถกรรม พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับการ ‘ปฏิรูปอุตสาหกรรม’ ให้ความสำคัญ ‘Save อุตสาหกรรมไทย’ เพื่อส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมท้องถิ่นและต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เน้นย้ำถึงบทบาทของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) โดยร่วมกับกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ที่สนับสนุนให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนแก่ผู้ประกอบการ SME โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เงื่อนไขผ่อนปรน ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น สินเชื่อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจ (เสือติดปีก) และ สินเชื่อเสริมสภาพคล่องธุรกิจ (คงกระพัน) วงเงินกู้รวม 1,900 ล้านบาท เพื่อให้ SMEs เข้าถึงแหล่งทุนและพัฒนาธุรกิจได้อย่างยั่งยืน

สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้คณะฯ ได้เยี่ยมชมร้าน กวนนิโตพาทิสเซอรี (KUANITO Patisserie) ในจังหวัดตรัง ซึ่งเป็นตัวอย่างของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในการผสมผสานวัตถุดิบท้องถิ่นกับเทคนิคการทำขนมแบบฝรั่งเศส โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ผ่านโครงการสินเชื่อเอสเอ็มอีคนตัวเล็ก ให้สามารถขยายธุรกิจได้อย่างรวดเร็วและดึงดูดลูกค้าจากทั่วประเทศ นับเป็นตัวอย่างที่ดีของการนำวัฒนธรรมและวัตถุดิบท้องถิ่นมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์และสามารถแข่งขันในตลาดระดับสากลได้ จากนั้น ได้เยี่ยมชมโรงงานแปรรูปไก่ของ บริษัท เบทาโกรเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด ในจังหวัดพัทลุง เป็นบริษัทอาหารชั้นนำระดับสากล มีการส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อไก่แช่แข็งไปยังหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป และมีการใช้แนวคิดตามหลัก ESG (Environment Social and Governance) ที่ครอบคลุมด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยวางหลักการทำงานว่าธุรกิจจะเติบโตอย่างยั่งยืนได้ ต้องพัฒนาชุมชนและสังคมให้เติบโตไปพร้อมกัน เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Sustainable Development Goals: SDGs) และยังได้เยี่ยมชมหัตถกรรมกระจูดวรรณี & โฮมสเตย์ จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตงานหัตถกรรมกระจูดที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ โดยได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการขยายตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ และได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนเพื่อใช้ในการจัดหาเครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ทันสมัย 

"การสนับสนุนให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน เสริมสภาพคล่องทางธุรกิจให้สามารถต่อยอดธุรกิจและสามารถแข่งขันได้ ถือเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของประเทศ ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ระดับภูมิภาคโดยการนำเอกลักษณ์ท้องถิ่นไปสู่ระดับสากล เป็นการสร้างงานสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับชุมชนสู่เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืน กระทรวงอุตสาหกรรม ยินดีให้การสนับสนุนในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้แข็งแกร่งและยั่งยืน ผ่านความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน เสริมและเพิ่มศักยภาพให้อุตสาหกรรมท้องถิ่น การแปรรูปอาหาร การท่องเที่ยวเชิงอุตสาหกรรม ผลักดันไปสู่ซอฟต์พาวเวอร์ในพื้นที่ภาคใต้ ตามนโยบาย ‘ปฏิรูปอุตสาหกรรม’ ที่ให้ความสำคัญ ‘Save อุตสาหกรรมไทย’ อย่างยั่งยืน และสอดรับกับนโยบายรัฐบาลในการสนับสนุนการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เติบโตอย่างมั่นคงต่อไป" นายเอกนัฏกล่าวทิ้งท้าย

‘ลอรี่ พงศ์พล’ เปิดงานสุราชุมชน จ.แพร่ เน้น!! ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ สานต่อภูมิปัญญา

(10 พ.ย. 67) นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดกิจกรรมผลิตภัณฑ์ Soft Power แพร่ ‘แพร่ แข็ง จ๊ด ครั้งที่ 3’ พร้อมกล่าวมอบนโยบายการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชน ณ ลานเพลินอีซูซุแพร่ บริษัท อีซูซุแพร่ จำกัด อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ 

เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมฯ กล่าวว่า ปัจจุบันการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการแปรรูปเกษตรกรรมให้มีมูลค่าสูง เพื่อการเซฟ SME ไทย ตามแนวทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์) โดยเฉพาะสินค้าเกษตรในท้องถิ่นจังหวัดแพร่อย่างข้าวเหนียว ข้าวโพด สับปะรด เมื่อนำไปแปรรูปเป็นสุรากลั่นชุมชนอย่างถูกต้องตามประกาศและระเบียบที่ใช้บังคับ มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากสินค้าเกษตรกรรมเดิมให้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนมากขึ้นกว่า 10 เท่า  และยังเป็นการสร้างมูลค่าเชิงอัตลักษณ์ ที่โดดเด่นไม่มีใครเหมือน สานต่อภูมิปัญญาดั้งเดิมของจังหวัดแพร่ที่มาอย่างยาวนาน

โดยทางกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น ได้ขานรับนโยบายดังกล่าว ผ่านโครงการ ‘ส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์’ โครงการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อผลักดันให้สามารถส่งเสริมและพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ใน 2 สาขา ได้แก่ แฟชั่น และอาหาร ซึ่งการจัดงานในวันนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมภายใต้การดำเนินงานโครงการฯ ที่กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในพื้นที่ จัดขึ้นเพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับอาหารพื้นถิ่น และผลิตภัณฑ์อาหารชุมชน และที่เกี่ยวข้องของจังหวัดแพร่ให้เป็นที่รู้จักและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนเพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอาหารพื้นถิ่น และผลิตภัณฑ์อาหารชุมชนของจังหวัดแพร่ สู่การเป็น Soft Power ไทย รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่เป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมา อาทิ เฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์ไม้สัก ผลิตภัณฑ์ผ้าหม้อห้อม ผลิตภัณฑ์จากการตีเหล็ก และสุรากลั่นพื้นบ้านจากพืชผลทางการเกษตร ที่มีการพัฒนาจากรุ่นสู่รุ่น มีอัตลักษณ์โดดเด่น ดังนั้นจึงควรมีการฟื้นฟู สืบสาน และสร้างสรรค์พัฒนาสู่การผลิตสินค้า และบริการที่มีมูลค่า มีศักยภาพในการพัฒนาเชิงเทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อให้จังหวัดแพร่ เป็นฐานการผลิตหัตถอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์โดยใช้ฐานความรู้ เทคโนโลยี ศิลปวัฒนธรรม และการออกแบบร่วมสมัย เพื่อตอบสนองต่อกระแสความต้องการของตลาด ต่อยอดสู่การเป็น Soft Power ของประเทศไทยในอนาคต

เดินหน้าร่วมมือจีน!! ‘แพทองธาร’ กระชับ!! มิตรภาพสองชาติ เปิดบทใหม่ สร้างสายสัมพันธ์อันดี

(8 ก.พ. 68) "จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่สวยงาม คนไทยไม่น้อยอยากมาเที่ยว ตัวดิฉันเคยมาปักกิ่งหลายครั้งและชอบที่นี่เช่นกัน นอกจากรู้สึกเหมือนบ้านแล้วยังสัมผัสได้ถึงมิตรไมตรี" 

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย ซึ่งอยู่ระหว่างเยือนจีนอย่างเป็นทางการ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันพฤหัสบดี (6 ก.พ.) ที่ผ่านมา

ปี 2025 ตรงกับวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ซึ่งระหว่างการสัมภาษณ์ แพทองธารได้แสดงเข็มกลัดที่ระลึกเนื่องในวาระดังกล่าว พร้อมเอ่ยวลี "จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน" หลายครั้ง เน้นย้ำหลายหนว่าไทยให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์กับจีน และกล่าวถึงความเป็นมาการแลกเปลี่ยนฉันมิตรระหว่างสองฝ่ายหลายครั้ง

แพทองธารกล่าวว่าการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนชาวไทยกับชาวจีนมีประวัติศาสตร์ยาวนาน และมิตรภาพระหว่างสองประเทศก้าวสู่ 50 ปีทอง โดยทั้งสองฝ่ายร่วมจัดกิจกรรมเฉลิมฉลอง อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากกรุงปักกิ่งมาประดิษฐานในไทย ซึ่งชาวไทยสนใจอย่างมาก และมีการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองอย่างต่อเนื่อง เพื่อสานต่อมิตรภาพดั้งเดิมระหว่างสองประเทศ

สำหรับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า แพทองธารเริ่มต้นด้วยการชื่นชมการพัฒนาอันรวดเร็วของจีนและผลการดำเนินงานอันโดดเด่นของกลุ่มบริษัทจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยการพัฒนาอันรวดเร็วของจีนดึงดูดความสนใจจากทั่วโลก และหลายแนวคิดที่เสนอโดยผู้นำจีนเป็นที่จับตามองกันอย่างมาก

เมื่อวันที่ 4 ม.ค. แพทองธารได้เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีและอนุมัติโครงการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 2 พร้อมระบุว่าจะเดินหน้าส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานและความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าภายใต้กรอบการทำงานตามแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ต่อไป

นอกจากนั้นไทยจะส่งเสริมการก่อสร้างทางรถไฟไทย-จีน เพื่อให้ทางรถไฟสายนี้ที่เชื่อมต่อไทย ลาว และจีน กลายเป็นเส้นทางขนส่งข้ามชาติที่สำคัญสำหรับการขนส่งผู้คนและสินค้าโดยเร็วที่สุด โดยแพทองธารแสดงความเชื่อมั่นว่าการเชื่อมโครงสร้างพื้นฐานจะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศและประชาชนยิ่งขึ้น

แพทองธารยังกล่าวถึงความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวชาวจีนในไทย ระบุว่าปี 2024 มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเยือนไทยราว 6.7 ล้านคน แม้ยังไม่แตะระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโรคระบาดใหญ่ แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยไทยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวชาวจีนทุกคนเป็นอย่างยิ่ง และเธอได้หารือกับตำรวจท่องเที่ยวและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอื่น ๆ อยู่หลายครั้งเกี่ยวกับการปกป้องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวชาวจีน

ขณะเดียวกันแพทองธารในฐานะนายกรัฐมนตรีแสดงความจริงจังในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามพรมแดน เช่น การพนันออนไลน์และการฉ้อโกงทางโทรคมนาคม กล่าวว่าไทยได้ตัดกระแสไฟฟ้าที่จ่ายแก่เมียนมาตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ. ซึ่งทราบว่าช่วยลดจำนวนสายโทรศัพท์หลอกลวงลง และจะประเมินผลลัพธ์ของการตัดไฟหลังจากครบหนึ่งสัปดาห์

แพทองธารกล่าวว่าไทยจะทำงานร่วมกับจีนในอนาคต เพื่อศึกษาการจัดตั้งกลไกคณะทำงาน แลกเปลี่ยนข้อมูล ปฏิบัติงานร่วมกัน และร่วมแก้ไขปัญหานี้

สำหรับการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ฤดูหนาว ครั้งที่ 9 ในเมืองฮาร์บิน มณฑลเฮยหลงเจียงทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน แพทองธารกล่าวว่าแม้ไทยไม่มีหิมะ แต่ชาวไทยสนใจกีฬาน้ำแข็งและหิมะอยู่ไม่น้อย โดยเธอจะเข้าร่วมพิธีเปิดการแข่งขันครั้งนี้ พร้อมส่งกำลังใจแก่นักกีฬาไทยและนักกีฬาจากประเทศอื่น ๆ ที่เข้าร่วมด้วย

แพทองธารกล่าวว่ากีฬาเป็นองค์ประกอบสำคัญของวัฒนธรรม เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ (soft power) ของประเทศ และเป็นส่วนสำคัญของมิตรภาพระหว่างไทยกับจีน ซึ่งเธอวางแผนจะประชาสัมพันธ์กีฬาไทยเดิมอย่างมวยไทยระหว่างเดินทางเยือนเมืองฮาร์บินด้วย

ทั้งนี้ แพทองธารทิ้งท้ายว่าชาวไทยและชาวจีนเปรียบเสมือนคนในครอบครัวเดียวกัน มีการไปมาหาสู่และติดต่อสื่อสารใกล้ชิด วัฒนธรรมประเพณีคล้ายคลึงกัน การช่วยเหลือสนับสนุนซึ่งกันและกัน สามารถเข้าใจและไว้วางใจกันและกันเสมอมา โดยไทยพร้อมทำงานร่วมกับจีนเพื่อเปิดบทใหม่ของความสัมพันธ์ไทย-จีน

‘ทักษิณ’ ดึง ‘นาโอมิ’ ที่ปรึกษาทีมซอฟต์พาวเวอร์ ขับเคลื่อนอุตฯแฟชั่น - ปั้นนางแบบไทยสู่เวทีโลก

เมื่อวันที่ (9 ก.พ.68) นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กรณีจดหมายเปิดผนึกกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม คัดค้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ว่า ยังไม่เห็นเนื้อหาที่ชัดเจน แต่รู้สึกว่าจะมีการตำหนิผู้นำ เท่าที่ได้สอบถามนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรื่องการตั้งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ คาดว่าอีก 2 วันคงจะลงตัว ซึ่งเป็นกลไกที่แบงก์ชาติ และกระทรวงการคลังเสนอ และให้คณะกรรมการสรรหาไปเลือก การเป็นประธานต้องมีความสัมพันธ์ที่ดี และมีความรู้ จึงไม่ทราบเหมือนกันว่านายพิชัยเสนอใคร

เมื่อถามว่า มองว่าใครเหมาะสมกับตำแหน่งนี้ นายทักษิณ กล่าวว่า พูดตรงๆ คนจะมาทำงานให้กับประเทศโดยส่วนรวมหายาก เพราะต้องมีความพร้อม และต้องมีความเสียสละ บางคนอาจจะพร้อม แต่ไม่เสียสละ บางคนอยากเสียสละ แต่ไม่พร้อมมาช่วยกันทำงานให้บ้านเมือง หรืออาจเพราะตนแก่ไปแล้ว ไม่รู้จักคน เพราะหายไป 17 ปี แต่ก็ช่วยกันมองอยู่

นายทักษิณ กล่าวกรณีเชิญ นาโอมิ แคมป์เบลล์ นางแบบระดับโลก หารือว่า เมื่อคืนวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ได้พูดคุยเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ กับ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองที่ปรึกษานโยบายของนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ มี น.ส.จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะกำกับดูแลเรื่องการพัฒนาชุมชนและกองทุนหมู่บ้าน จะให้เด็กรุ่นใหม่อยู่ในชนบท หรือครอบครัวคนที่ไม่ค่อยมีฐานะในการเปลี่ยนแปลง หรือไปศัลยกรรมได้มีโอกาสเข้ามา เท่าที่คุย นาโอมิเห็นด้วย เพราะเขาเองก็มาจากครอบครัวจาไมก้า และได้พูดคุยกันถึงแนวทางการจะคัดคนให้นางแบบประเทศไทยเทรนก่อน แล้วจะส่งไปเรียนต่างประเทศ เพื่อให้มีโอกาสมากขึ้น

“ส่วนจะเชิญนาโอมิมาเป็นทูตวัฒนธรรม หรือเป็นแค่ที่ปรึกษานั้น ผมเชิญมาเป็นที่ปรึกษาในฐานะที่รู้จัก และเขามีประสบการณ์เยอะ อยู่ในวงการนี้มานาน มีสายสัมพันธ์มาก เลยขอคำปรึกษา คำแนะนำ” นายทักษิณกล่าว

ทั้งนี้ มีรายงานว่า นาโอมิมีกำหนดการเข้าพบหารือนายกฯ เรื่องแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแฟชั่น ในโอกาสเยือนประเทศไทยด้วย ที่ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 10 กุมภาพันธ์ เวลา 15.00 น.

รัฐ 'ทุ่มงบ 220 ล้าน' ส่งเสริมภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ สารคดี แอนิเมชันไทย ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ - ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทย 

เมื่อวันที่ (10 เม.ย.68) นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า THACCA ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์ สนับสนุนงบฯ 220 ล้านบาท ส่งเสริมการผลิตภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ สารคดี แอนิเมชันไทย ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและส่งเสริมการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ไทย เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ รวมถึงผู้ผลิตสื่อสร้างสรรค์ ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเปิดรับการยื่นเอกสารโครงการเพื่อขอรับเงินอุดหนุน ระหว่างวันที่ 6 ม.ค. - 7 ก.พ. 2568 ที่ผ่านมา 

นางสาวสุดาวรรณ กล่าวต่อว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อการพิจารณาจัดสรรงบฯ ดังกล่าว จำนวน 3 ชุด ดังนี้  1.คณะกรรมการจัดทำหลักเกณฑ์การขอรับเงินอุดหนุนประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 2.คณะกรรมการกลั่นกรองและคัดเลือกโครงการที่ขอรับการจัดสรรเงินอุดหนุนประระจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และ 3.คณะกรรมการพิจารณาจัดสรรเงินอุดหนุนประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 

รมว.วัฒนธรรม  กล่าวว่า ได้รับรายงานว่า ขณะนี้มีโครงการได้ผ่านกระบวนการที่คณะกรรมการพิจารณาจัดสรรงบฯ เรียบร้อยแล้ว 88 โครงการ ครอบคลุมโครงการ 3 หมวดใหญ่ ได้แก่ 1.การสนับสนุนการผลิตภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ สารคดี แอนิเมชันไทย จำนวน 200 ล้านบาท 2.การสนับสนุน Development Funding ภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์ (สร้างIP) จำนวน 10 ล้านบาท และ 3.สนับสนุนทุนหนังสันเจาะตลาดโลก จำนวน 10 ล้านบาท โดยได้มีการสนับสนุนงบประมาณในการผลิตให้กับผู้ประกอบการที่สร้างสรรคผลงานที่มีคุณภาพและมีเนื้อหาที่หลากหลาย รายละเอียดการพิจารณาผลฯ ตามประกาศกรมส่งเสริมวัฒนธรรม https://www.culture.go.th/culture_th/download/Newfile/image3530.pdf

“กระทรวงวัฒนธรรมเชื่อมั่นว่าการสนับสนุนครั้งนี้จะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เสริมศักยภาพซอฟต์พาวเวอร์ไทย และยกระดับประเทศให้เป็นศูนย์กลางการผลิตภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ สารคดี และแอนิชันในภูมิภาค พร้อมทั้งส่งเสริมอัตลักษณ์ไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในระดับโลก” นางสาวสุดาวรรณ กล่าว

ชาวเน็ตโยง!! ‘มหกรรมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่สากลฯ - World Expo’ จัดได้เงียบมาก!! ทั้งที่ใช้งบประมาณมหาศาล แต่ผลงาน กลับว่างเปล่า

(20 เม.ย. 68) อดีตบรรณาธิการนิตยสารสาละวินโพสต์ วันดี สันติวุฒิเมธี ได้ออกมาโพสต์ข้อความสุดเศร้าลงในเฟซบุ๊ก หลังเจ้าตัวมาออกบูธร่วมกับอีก 200 ผู้ประกอบการ ที่มาออกบูธขายของในงาน ‘มหกรรมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่สากลและการเจรจาธุรกิจ’ ภายใต้โครงการนโยบาย ‘หนึ่งครอบครัว หนึ่งพลังสร้างสรรค์’ ในวันที่ 18-22 เม.ย. แต่แล้วกลับไร้การโปรโมต แถมไม่มีพิธีกร อีกทั้งคนยังเงียบ เมื่อมาเปิดถ่ายรูปเสร็จแล้วก็กลับ นับว่าทำเอาผู้ประกอบการถึงกับเครียดกันเลยทีเดียว โดยผู้โพสต์ได้ระบุข้อความถึงบรรยากาศที่ไม่คึกคัก โดยระบุว่าในช่วงพิธีเปิดงาน มีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงวัฒนธรรมมาเป็นประธาน มีช่างภาพ และผู้ร่วมงานจำนวนหนึ่ง แต่หลังจากนั้นบรรยากาศกลับเงียบสนิท ราวกับป่าช้า ทั้งที่บริเวณห้างสรรพสินค้าด้านล่างยังคงมีผู้คนเดินสัญจรไปมาอย่างคึกคัก

ผู้ประกอบการกว่า 200 ครอบครัว ต่างตั้งใจเดินทางมาจากทั่วประเทศ โดยไม่ได้มีการสนับสนุนเรื่องที่พักหรือค่าเดินทาง ด้วยความหวังว่าจะได้รับโอกาสทางธุรกิจตามที่เจ้าภาพได้กล่าวไว้ว่าเป้าหมายของงานนี้คือการสร้าง Business Matching

อย่างไรก็ตาม หลังจากวันแรกผ่านไป ผู้ประกอบการต่างเกิดความสงสัยว่าเหตุใดจึงไม่มีผู้คนเดินขึ้นมาชมนิทรรศการ พวกเขาตั้งคำถามถึงการประชาสัมพันธ์งานของเจ้าภาพ ว่ามีการดำเนินการมากน้อยเพียงใด และมีสิ่งใดเป็นแรงจูงใจให้ผู้คนที่เดินอยู่ในห้างสรรพสินค้าด้านล่างขึ้นมาเยี่ยมชมงาน

ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต่างนำผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจและมีศักยภาพมาจัดแสดงและจำหน่าย โดยหวังว่าจะได้รับการโปรโมทให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่กลับไม่มีกิจกรรมใดๆ จากผู้จัดงานที่สร้างแรงจูงใจให้ผู้คนเข้าร่วมงาน พิธีกรหายเงียบ เวทีแสดงว่างเปล่า ไร้ผู้ชม แม้กระทั่งบูธที่นำนักศึกษาต่างชาติมาแสดงยังรู้สึกเศร้าใจที่ไม่มีใครให้ความสนใจ

ชาวเน็ตเริ่มตั้งคำถาม วิจารณ์ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ของ ‘รัฐบาลแพทองธาร’ 

จัดอะไรก็ ‘แป้ก’ 

ไม่เหมือนยุครัฐบาล ‘ลุงตู่’

รมว.ดีอี ที่ชื่อ ‘ชัยวุฒิ’ โชว์ผลงานอย่างยิ่งใหญ่ ให้ทั่วโลกได้ประจักษ์ ถึงฝีมือของคนไทย 

สร้างความยิ่งใหญ่ ในงาน ‘World Expo’ 

นี่สิ!! คนจริง ของจริง

แต่คนจัดงาน ของรัฐบาลชุดนี้ ที่ตั้งใจจะปั้น ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ กลับทำ ‘งานกร่อย’

มีหลากหลายความคิดเห็นของชาวโซเชียล อาทิเช่น …

“พอๆ กับข่าวงาน Soft Power ที่พารากอน?
งบเยอะ แต่ออกแนวตลาดนัดสินค้าโอท็อป สุดท้ายก็กร่อย”

“เราไม่ทราบรายละเอียดแต่หัวเรือใหญ่เปลี่ยนจากกระทรวงดีอีในยุคประยุทธซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูง แต่แพทองธารเปลี่ยนหัวเรือใหญ่จาก ก.ท ดี อี เป็น ก.ท สาธารณสุข ผลที่ได้คืองานที่ต่ำกว่ามาตรฐาน อาจเป็นเพราะเอากระทรวงหมอมาทำงานผิดประเภท หรืออาจเป็นเพราะบริหารงบประมาณไม่เต็มประสิทธิภาพ เราก็ไม่อาจทราบได้”

“ไปมอบให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นแม่งานได้อย่างไร นายสมศักดิ์ รัฐมนตรีหลายสมัยทุกรัฐบาล เขาเป็นคนเก่าคนแก่ที่หมดไฟในการทำงานแล้ว ที่ได้เป็นรัฐมนตรีทุกสมัยไม่ใช่เพราะความรู้ความสามารถแต่เป็นเด็กในคาถาของนายใหญ่เท่านั่นเอง”

“แค่งานนิทรรศการ ยังห่วยเลย ไหนคุยนักหนาว่า ทำงานเป็น”

“ตรวจสอบเถอะ ใช้เงินทำอะไรไปบ้าง”

นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่ง จากหลากหลายคำติชม หากอยากจะอ่านเพิ่มเติม เชิญได้ที่ 

https://www.facebook.com/thestatestimes/posts/pfbid02N2mYxtxW4pu5gDa3cGKaG1iSr5T36XpKQZQ9rz3euskZtZCQuU6usbBACK23njzyl

หรือท่านใด อยากจะแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม กับ THE STATES TIMES เชิญพูดคุยกันได้ ที่คอมเมนต์ด้านล่าง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top