Tuesday, 22 April 2025
ค้ามนุษย์

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เยือนสิงคโปร์ ประชุมร่วมตำรวจสากล ประสานข้อมูล จัดทำแผนปฏิบัติการ พร้อมเตรียมจัดตั้งศูนย์ประสานงานปราบปรามค้ามนุษย์ในไทย เพื่อยกระดับแสวงหาความร่วมมือในการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์สู่ระดับสากล

เมื่อวันที่ 29 พ.ค.66 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ในฐานะ ผอ.ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง (ศพดส.ตร.) พร้อมด้วย พ.ต.อ.ทรงเอก พัชรวิชญ์ รอง ผบก.กองการต่างประเทศ และ พ.ต.อ.พงษ์ธร พงศ์รัชตนันทน์ ผกก.ตม.จว.สงขลา/ สมาชิกชุดปฏิบัติการนานาชาติเพื่อการปราบปรามการกระทำความรุนแรงต่อเด็ก FBI ได้เข้าร่วมการประชุมความร่วมมือในการป้องกันปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศเด็กและการค้ามนุษย์ระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และองค์การตำรวจสากล ณ อาคารสำนักงานนวัตกรรมองค์การตำรวจสากล (Interpol Global Complex for Innovation: IGCI) สาธารณรัฐสิงคโปร์ โดยมีคุณสมิตา มิตรา และ คุณกอร์ดาน่า วูจิซิส ผู้แทนจากองค์กรตำรวจสากล แผนกอาชญากรรมเกี่ยวกับเด็กเข้าร่วมด้วย

ในที่ประชุม พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้นำเสนอเกี่ยวกับผลการปฏิบัติของ ศพดส.ตร. ในด้านการบังคับใช้กฎหมายและจับกุมคดีค้ามนุษย์และคดีแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศต่อเด็กทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีผลการปฏิบัติมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งความก้าวหน้าในการพัฒนากระบวนการช่วยเหลือเยียวยาเหยื่อจากการค้ามนุษย์ ซึ่งได้มีการนำเสนอต่อผู้แทนรัฐบาลสหรัฐอเมริกาจนได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี ขยับให้ประเทศไทยเป็นเทียร์ 2 

มีการหารือการแสวงหาความร่วมมือร่วมกันในการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์และการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก สถานการณ์การกระทำผิดกฎหมายประเภท Online Scam ที่ประเทศเป้าหมายคือประเทศไทย พม่า ลาว กัมพูชา และฟิลิปปินส์  โดยเฉพาะเหยื่อการค้ามนุษย์ใน Online Scam ที่เพิ่มขึ้นในประเทศพม่า และเหยื่อเหล่านั้นยากต่อการช่วยเหลือ เพราะมีสถานการณ์การสู้รบในประเทศพม่า แต่ตำรวจสากลก็ยังสามารถช่วยเหลือเหยื่อได้บางส่วนจากการประสานงานกับตำรวจสากลในประเทศไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติไทย โดยมีเคสที่อยู่ระหว่างการดำเนินการอยู่ 9 เคส และดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว 12 เคส และสามารถช่วยเหลือเหยื่อได้ 88 คน จากหลากหลายสัญชาติ  โดยในปีนี้ทางตำรวจสากลจะจัดการประชุมในประเทศไทยในประเด็นดังกล่าว

ตำรวจสากลต้องการจัดทำแผนปฏิบัติการและต้องการตั้งศูนย์ประสานงานในประเทศไทยเพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ในฐานะ ผอ.ศพดส.ตร. ได้เห็นด้วย พร้อมแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์อาชญากรรรมปัจจุบันจะรวมกันอยู่ทั้งหมด เช่น กลุ่มแก็งค์ กลุ่มขบวนการยาเสพติดก็จะทำผิดในความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ และเชื่อมโยงกับกลุ่มประมงผิดกฎหมาย ซึ่งจะสังเกตตุได้ว่าเป็นขบวนการเดียวกัน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องอาศัยความร่วมมือทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการในการทำงานร่วมกันของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งในสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ฯ ก็ได้ไปประชุมทวิภาคีเพื่อป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์กับประเทศพม่า

และที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับเบาะแสการล่วงละเมิดทางเพศเด็กจาก NCMEC และจาก Interpol  สิ่งที่ทำเพิ่มเติมที่แตกต่างจากอดีตคือการขยายผลหาตัวเหยื่อในทุกคดี เพื่อปกป้องและเยียวยาเด็กส่งคืนสู่สังคม และดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดในทุกมิติ ทุกข้อหาที่กระทำความผิด รวมถึงการยึดทรัพย์และดำเนินคดีในความผิดฐานฟอกเงิน
 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ฯ ได้ขอความร่วมมือให้ Interpol ส่งข้อมูลเบาะแสการกระทำความผิดที่มากกว่านี้ เหมือนกับที่ได้รับข้อมูลมาจาก NCMEC ซี่งที่ผ่านมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับข้อมูลจาก Interpol มาจำนวน 5 กรณี ซึ่งได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด และช่วยเหลือเหยื่อเด็กออกมาได้ทุกกรณี

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เรียกประชุมเตรียมความพร้อมจัดตั้งศูนย์ประสานงานช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์จากเมียวดี

วันนี้ (7 ก.ค.66) เวลา 15.30 น. พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ในฐานะ ผอ.ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง (ศพดส.ตร.) เป็นประธานในการประชุมหารือเรื่องการจัดตั้งศูนย์ประสานงานเฉพาะกิจไตรภาคี เพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ในพื้นที่จังหวัดเมียวดี สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ณ ห้องประชุมตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตาก ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมหลายหน่วยงานเช่น คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 

สืบเนื่องจากผลการประชุมหารือไตรภาคีว่าด้วยการค้ามนุษย์ ระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติไทย กระทรวงความมั่นคงสาธารณะแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และสำนักงานตำรวจแห่งชาติสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 – 24 มี.ค.66 ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีมติให้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานเฉพาะกิจไตรภาคีฯ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสามประเทศ ในการช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ซึ่งถูกหลอกไปในพื้นที่จังหวัดเมียวดี ประเทศเมียนมา โดยให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวที่ชายแดนไทย-เมียนมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้มีคำสั่งจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจดังกล่าวขึ้น โดยมี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์ดังกล่าว โดยเตรียมการในการจัดตั้งศูนย์ประสานงานที่ ตม.จว.ตาก 

วันนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือในการกำหนดแนวทางการจัดกำลังในการปฏิบัติหน้าที่ภายในศูนย์ประสานงาน รวมทั้งอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ รวมไปถึงแนวทางการปฏิบัติในการประสานงานช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ที่จะทำให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดภายใต้ทรัพยากรที่มี นอกจากนี้ยังมีการติดตามความคืบหน้าผลการปฏิบัติของหน่วยงานต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์สืบเนื่องจากการประชุมไตรภาคีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เมื่อกำหนดแนวทางในการปฏิบัติและการจัดตั้งศูนย์แล้ว จะได้นำผลการประชุมเสนอผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาดำเนินการโดยเร็ว

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า จากการประชุมไตรภาคีร่วมกันของทั้งสามประเทศ เพื่อประสานความร่วมมือกันในการช่วยเหลือเหยื่อจากการค้ามนุษย์ ซึ่งมีความเห็นตรงกันว่า ในห้วงเวลาที่ผ่านมา พบการหลอกลวงผู้เสียหายไปทำงานที่จังหวัดเมียวดี ประเทศเมียนมาเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ดังนั้นจึงมีแนวทางในการจัดตั้งศูนย์ประสานงานดังกล่าวขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประสานความช่วยเหลือผู้เสียหายให้สามารถเดินทางกลับมาตุภูมิของตนเองได้อย่างปลอดภัย โดยหลังจากวันนี้ จะได้มีสรุปแนวทางการจัดศูนย์ประสานงาน เพื่อนำเสนอผู้บังคับบัญชา เพื่อเร่งรัดการจัดตั้งศูนย์ให้สามารถเริ่มการปฏิบัติให้ได้โดยเร็ว

ก.แรงงาน ติวเข้มเจ้าหน้าที่คัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ร่วมทีมสหวิชาชีพ มุ่งไทยสู่เทียร์ 1

วันที่ 24 กรกฎาคม 2566 เวลา 09.00 น. นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นางดรุณี นิธิทวีกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ร่วมกับทีมสหวิชาชีพ รุ่นที่ 6 และบรรยายหัวข้อ “นโยบายการป้องกันและแก้ไขการบังคับใช้แรงงานหรือการบริการและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน”ณ โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร และอบรมทางไกลผ่านระบบ Zoom Meeting โดยมี นางสาวโสภณา บุญ – หลง ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการศูนย์บัญชาการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน กล่าวรายงานวัตถุประสงค์โครงการ

นางดรุณี กล่าวว่า ตามที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2566 (TIP Report 2023) เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยประเทศไทยได้รับการจัดระดับให้อยู่ใน Tier 2 ติดต่อเป็นปีที่ 2 ซึ่งรายงานดังกล่าวยังคงมีข้อเสนอแนะให้มีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้สามารถนำแนวปฏิบัติตามมาตรา 6/1 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ไปใช้ในการคัดแยกผู้เสียหายอย่างมีประสิทธิภาพ กำหนดให้ทีมสหวิชาชีพประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฝึกอบรมและมีประสบการณ์เพียงพอในการปฏิบัติงานด้านการค้ามนุษย์ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการคัดแยกผู้เสียหาย และเสริมสร้างความตระหนักรู้ให้แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจข้อบ่งชี้ของการค้ามนุษย์ เช่น การบังคับทำงานใช้หนี้ การทำงานเกินเวลามากเกินจำเป็น การยึดเอกสารของลูกจ้างและการทำงานโดยไม่จ่ายผลตอบแทน

นางดรุณี กล่าวต่อไปว่า กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานสำคัญและเป็นหน่วยงานหลักในการต่อต้านการค้ามนุษย์ ภายใต้ยุทธศาสตร์ 20 ปี ด้านความมั่นคง โดยรับผิดชอบเป็นเจ้าภาพหลักในการป้องกันการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ได้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ในการยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองดูแลและป้องกันไม่ให้แรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์

ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้หน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคนำมาตรฐานการปฏิบัติงาน (SOP) ในการคัดกรองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงานและการบังคับใช้แรงงาน และการนำแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติฯ (NRM) นำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการบังคับใช้แรงงานหรือบริการและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคัดแยกผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ด้านแรงงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพ ซึ่งเป็นการยกระดับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทยให้เทียบเท่ากับมาตรฐานขั้นต่ำในกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ค.ศ. 2000 (TVPA) ของประเทศสหรัฐอเมริกา

“กระทรวงแรงงาน พร้อมผนึกกำลังกับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้เข้าร่วมการอบรมจากหน่วยงานทีมสหวิชาชีพจากส่วนกลาง ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กรมการปกครอง และเจ้าหน้าที่สำนักงานแรงงานจังหวัด สำนักงานจัดหางานจังหวัด และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทั้ง 19 จังหวัด รวมจำนวนทั้งสิ้น 64 คน อบรมระหว่างวันที่ 24 - 26 กรกฎาคม 2566 เพื่อให้ผู้อบรมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ การขับเคลื่อนการต่อต้านการค้ามนุษย์ ขจัดการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ในประเทศไทย เพื่อให้ประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของสหรัฐฯ และได้รับการจัดอันดับในรายงานการค้ามนุษย์ให้อยู่ในระดับ Tier 1 ต่อไป”นางดรุณี กล่าวท้ายสุด

'ปวีณา' พาเหยื่อค้ามนุษย์ไปพบ รอง ผบ.ตร.

รายที่  1.สาวไทย 4 ราย ถูกหลอกไปค้าประเวณีที่ดูไบ 3 ราย -บาห์เรน 1 ราย ขอช่วยดำเนินคดีกับขบวนการค้ามนุษย์ รายที่ 2.ตัวแทนญาติเหยื่อ 24 ราย ถูกหลอกไปบังคับให้ทำงานคอลเซ็นเตอร์ หลอกคนไทยให้ลงทุน ถูกกักขัง ทำร้าย ที่เมืองเล้าไก่ ประเทศเมียนมา ขอช่วยลูกหลานและคนที่รักกลับไทย รายที่ 3.แม่ของสาวไทยวัย 23 ปี ไปญี่ปุ่น 2 วัน ตกตึกเสียชีวิตขอช่วยคลี่ปมสาเหตุการตาย วันนี้เเม่นำโทรศัพท์มือถือลูกสาว ให้ ปวีณา มอบบิ๊กโจ๊ก เพื่อกู้ข้อมูลหาหลักฐาน ใคร? พูดกับลูกเป็นคนสุดท้ายก่อนตกตึกตาย

พร้อมกันนี้ “ปวีณา” ยังได้พา นรต. ปี 3 รุ่น 78 จำนวน 30 นาย ที่ศึกษาดูงานมูลนิธิปวีณาฯ ไปศึกษาดูงานกับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. อีกด้วย   

วันที่ 12 ก.ย.66 เวลา 10.00 น. ที่สโมสรตำรวจ เคสที่ 1. นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี พา 4 สาวไทยซึ่งถูกหลอกไปค้าประเวณีที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 3 ราย และประเทศบาห์เรน 1 ราย ไปพบ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เพื่อขอความช่วยเหลือดำเนินคดีกับขบวนการค้ามนุษย์ หลังบางรายเกือบเอาชีวิตไม่รอดในต่างแดน ต้องสูญเงินจำนวนมากเพื่อไถ่ตัว บางรายหลังกลับมาไทยยังถูกขู่ฆ่าทำร้าย ซึ่งเคสทั้ง 4 ราย ร้องทุกข์มูลนิธิปวีณาฯ และได้รับการช่วยเหลือกลับไทย   

ผู้เสียหายทั้ง 4 คน ให้ข้อมูลว่า ถูกคนรู้จักชักชวนไปทำงานนวดแผนไทยที่ดูไบ และบาห์เรน บอกว่ารายได้ดี เดือนละ 4-5 หมื่นบาท มีที่พัก อาหารฟรี โดยทุกคนหวังว่าจะได้มีเงินส่งมาให้ครอบครัวไม่ลำบาก แต่เมื่อไปถึงที่ร้านกลับถูกยึดพลาสปอร์ต และบังคับให้ค้าประเวณีใช้หนี้นับแสนบาท ถูกกักขังทำร้ายเหมือนตกนรกทั้งเป็น ทั้งหมดจึงได้ร้องทุกข์มายังมูลนิธิปวีณาฯ โดยนางปวีณา ได้ประสาน นายรุธ ธรรมมงคล อธิบดีกรมการกงสุล ประสานช่วยเหลือกลับไทย ซึ่งแต่ละคนถูกขบวนการค้ามนุษย์ข่มขู่ฆ่าเกรงจะไม่ปลอดภัย

เคสที่ 2. นางปวีณา พาญาติเหยื่อถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกไปทำงานที่เมืองเล้าไก่ ประเทศเมียนมา ไปพบ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. พร้อมนำข้อมูลคนไทยที่ถูกหลอกไปทำงานที่ดังกล่าวรวม 24 คน ซึ่งร้องทุกข์ขอความช่วยเหลือมายังมูลนิธิปวีณาฯ ไปมอบให้ เพื่อขอความช่วยเหลือให้ช่วยกลับไทย เนื่องจากแต่ละคนถูกบังคับให้ทำงานหลอกคนไทยลงทุน ถูกกักขังพร้อมคนไทยอีก 200-300 คนอยู่ในตึกที่มีชายฉกรรจ?เเต่งตัวคล้ายทหารถือปืนคอยคุม ถ้าทำยอดไม่ได้ก็จะถูกเรียกค่าไถ่และขายต่อไปที่อื่น    

เคสที่ 3. นางปวีณา พา นางสาวสมพร ศิริโสภณ อายุ 48 ปี เเม่นำโทรศัพท์มือถือของนางสาวธนพร ลูกสาว อายุ 23 ปี ที่เสียชีวิตที่ประเทศญี่ปุ่น ให้ปวีณา มอบให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เพื่อขอให้ช่วยตรวจสอบข้อมูลการใช้โทรศัพท์ว่ามีการติดต่อพูดคุยกับใครบ้างหลังเดินทางไปทำงานถึงประเทศญี่ปุ่นวันที่ 23 ก.ค.66 ใคร? พูดกับลูกเป็นคนสุดท้ายก่อนกลายเป็นศพเสียชีวิตอยู่ในซอกตึกอาคารที่พัก ในพื้นที่เขตอ.อิเซซากิ จ.คานากาวะ 

ซึ่งตำรวจญี่ปุ่นแจ้งสาเหตุการเสียชีวิตกับแม่ว่า ตกจากที่สูงชั้น 8 จากการฆ่าตัวตาย เนื่องจากตรวจสอบบริเวณช่องสุดทางเดินชั้น 8 ไม่พบร่องรอยการต่อสู้และไม่พบลายนิ้วมือหรือรอยเท้าผู้อื่นนอกจากผู้เสียชีวิตคนเดียว แต่แม่ยังไม่ปักใจเชื่อเพราะไม่มีสาเหตุหรือแรงจูงใจที่จะให้ลูกสาวคิดสั้นฆ่าตัวตาย จึงขอให้พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ช่วยตรวจสอบหาความจริงให้ด้วย  

ขณะที่วันนี้ นางปวีณา ได้พานักเรียนนายร้อยตำรวจ ชั้นปีที่ 3 รุ่นที่ 78 จำนวน 30 นาย ที่เข้าศึกษาดูงานมูลนิธิปวีณาฯ ระหว่างวันที่ 29 ส.ค. – 12 ก.ย.66 ตามโครงการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ หลักสูตรสัมผัสปัญหาชุมชน รุ่นที่ 27 ปีการศึกษา 2566 ไปศึกษาดูงานกับพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เพื่อเก็บประสบการณ์นำไปปรับใช้หลังเรียนจบไปเป็นตำรวจรับใช้ประชาชนต่อไป 

นางปวีณา กล่าวว่า ขอขอบคุณ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ที่ประสานการช่วยเหลือร่วมกับมูลนิธิปวีณาฯ ด้วยดีเสมอมา ที่ผ่านมา พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ร่วมกับมูลนิธิปวีณาฯ ช่วยเหลือเหยื่อและผู้เสียหายได้จำนวนมาก พร้อมจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้อยากฝากเตือนคนไทยอย่าหลงเชื่ออะไรง่ายๆ หากจะเดินทางไปทำงานต่างประเทศควรตรวจสอบกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศให้ดี เพราะอาจตกเป็นเหยื่อได้ และเจ้าหน้าที่ก็อาจจะช่วยไม่ได้ทุกคน

สถิติรับเรื่องราวร้องทุกข์ มูลนิธิปวีณาฯ ประจำปี 2565 ตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค. – 23 ธ.ค. 2565 รวมทั้งสิ้น  6,745 ราย เป็นเรื่องค้ามนุษย์/ค้าประเวณี จำนวน 255 ราย สถิติรับเรื่องราวร้องทุกข์ มูลนิธิปวีณาฯ ประจำปี 2566 ตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค. – 8 ก.ย. 2566 รวมทั้งสิ้น  4,491 ราย เป็นเรื่องค้ามนุษย์/ค้าประเวณี จำนวน 181 ราย

ประชุมเพื่อหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้กับคณะทำงานด้านการค้ามนุษย์จาก (J/TIP)

​พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้แทนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ให้การต้อนรับและร่วมประชุมหารือการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศไทย กับคณะผู้แทนจาก สำนักงานต่อต้านการค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ((J/TIP)

​วันพฤหัสบดีที่ 12 ตุลาคม 2566 เวลา 13.30 น.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์  หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย พล.ต.ท.สันติ์ สุขวัจน์ ที่ปรึกษา ศพดส.ตร.,พล.ต.ต.เขมรินทร์ หัสศิริ ที่ปรึกษา ศพดส.ตร.,พล.ต.ต.ศุภเศรษฐ์ โชคชัย รอง ผบช.ทท.,พล.ต.ต.ฐิตวัฒน์  สุริยฉาย ผบก.สอท.4 และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) โดย พ.ต.ต.สิริวชญ์ ชาญเตชะสิทธิ์กุล ผู้อำนวยการกองคดีการค้ามนุษย์,นายสุวัฒน์ ณ นคร ผู้อำนวยการส่วนอำนวยการคดีพิเศษ กองคดีการค้ามนุษย์,นายยศสันธ์ เรืองสรรงามศิริ รองผู้อำนวยการกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ และ น.ส.กรรณิการ์ สุขสมนิล ผู้อำนวยการส่วนคดีละเมิดทางเพศเด็ก ให้การต้อนรับ Ms. Alexandria Boling Reports and Political Affairs, J/TIP และ Mr.Greg Borgstede Deputy Senior Coordinator in the Reports and Political Affairs, J/TIP คณะผู้แทนจาก สำนักงานต่อต้านการค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ((J/TIP) เพื่อร่วมประชุมหารือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ เกี่ยวกับปัญหาการค้ามนุษย์ที่มีผู้เสียหายเป็นเด็ก การป้องกันปราบปรามการร่วมละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเตอร์เน็ต (TICAC) ณ ห้องประชุม ชั้น 7 ศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาบุคคลากร และสวัสดิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ศูนย์พิทักษเ์ด็ก สตรีครอบครัว ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล กล่าวว่า จากการประชุม คณะผู้แทนจาก สํานักงานต่อต้านการค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา (J/TIP) รับทราบสภาพปัญหาและการดำเนินการแก้ไขปัญหาการ ค้ามนุษย์ของศูนย์ พิทักษเเด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สํานักงานตํารวจแห่งชาติ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)ที่มีการดำเนินการอย่างจริงจังมีผลปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง สร้างความพึงพอใจและได้รับคำชื่นชมจากคณะผู้แทนจาก สํานักงานต่อต้านการค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา (J/TIP) จากนั้น พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล ได้นำ คณะผู้แทนจาก สํานักงานต่อต้านการค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา (J/TIP) เยี่ยมชม ศูนย์ พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และภาคประมง  สํานักงานตํารวจแห่งชาติ ชั้น ๗ อาคาร ๑ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้ คณะผู้แทนจาก สํานักงานต่อต้านการค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา (J/TIP) รับทราบว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความพร้อมและมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศไทย อย่างจริงจัง

บิ๊กโจ๊ก นำคณะปราบปรามการค้ามนุษย์ พบ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกัมพูชา ส่ง 22 หมายจับสำคัญ ให้ช่วยเร่งรัดจับกุม

เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาพลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้นำคณะ ศูนย์พิทักษ์เด็กสตรีครอบครัวป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เข้าพบผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกัมพูชา เพื่อพบปะ แลกเปลี่ยนความสัมพันธ์อันดีที่มีต่อกันมายาวนานในการป้องกันและปราบปรามตามแนวชายแดน และมีกำหนดการจะนัดประชุมหารือในวันพรุ่งนี้ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกัมพูชา

รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเปิดเผยว่าประเด็นสำคัญที่จะมาติดตามในวันนี้ก็คือขอให้ทางการกัมพูชาเร่งรัดติดตามความคืบหน้ากรณีหมายจับในคดีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ การหลอกลวงลงทุน และการค้ามนุษย์ โดยในครั้งนี้ได้นำเอกสารสำคัญเกี่ยวกับหมายจับ ผู้ต้องหา 22 คนสำคัญ หรือ เรดโนติส มาส่งมอบให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกัมพูชาเพื่อขอให้เร่งรัดดำเนินการจับกุมผู้ต้องหาสำคัญให้กับประเทศไทยเพื่อจะนำไปขยายผลในการดำเนินคดี 

สตม. รวบแม่เล้าลวงหญิงไทยค้ามนุษย์ต่างแดน

ตม.จว.สงขลา ร่วมกับ กก.ปอพ.บก.สส.สตม. และ กก.สส.บก.ตม.4 จับกุม มาดามฟา (นามสมมติ) อายุ 49 ปี สัญชาติไทย ตามหมายจับศาลจังหวัดนาทวี ที่ 102/2567 ลงวันที่ 28 มี.ค.2567 ต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน ร่วมกันเป็นธุระจัดหา ล่อไปหรือพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งหญิงโดยใช้กลอุบายหลอกลวง ขู่เข็ญเพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณี สมคบกันค้ามนุษย์โดยแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยการบังคับค้าประเวณี โดยร่วมกันเป็นธุระจัดหา พามาจาก จัดให้พักอาศัย โดยข่มขู่ ใช้กำลังบังคับหลอกลวงใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมายและข่มขืนใจให้ผู้กระทำการใด ไม่กระทำการใดหรือยอมหรือจำยอมต่อสิ่งใดอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย นำตัวส่ง พนักงานสอบสวน สภ.ปาดังเบซาร์ จว.สงขลา ดำเนินคดีตามกฎหมาย สถานที่จับกุม บริเวณหน้าบ้านพักในพื้นที่ ต.โพธิ์ชัย อ.โคกโพธิ์ชัย จว.ขอนแก่น

กรณีนี้สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน ตม.จว.สงขลา เข้าช่วยเหลือหญิงไทยเดินทางมาจากประเทศมาเลเซียแล้วแจ้งว่าถูกหลอกไปค้าประเวณีที่ประเทศมาเลเซีย จึงรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบพร้อมทั้งประสานสหวิชาชีพสัมภาษณ์คัดกรองตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ (NRM) ได้ความว่าผู้เสียหายต้องการไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย จึงติดต่อผ่านนายหน้าทางสื่อออนไลน์ แต่เมื่อไปถึงประเทศมาเลเซียกลับถูกแม่เล้าแจ้งว่าต้องพักอาศัย ในคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งในเมืองกัวลาลัมเปอร์ เพื่อทำงานค้าประเวณีชดใช้หนี้ค่าเดินทางหรือค่าแทก จำนวน 4,500 ริงกิต (ประมาณ 35,000 บาท) ขณะอยู่ต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมง และถูกกักขังไม่สามารถออกไปไหนได้โดยลำพังจนกว่าจะใช้หนี้หมด แต่เมื่ออยู่ได้ประมาณ 5 วัน จึงตัดสินใจหลบหนีกลับมาประเทศไทย แล้วเข้าขอความช่วยเหลือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องจากแม่เล้าขู่ว่าจะมีคนมาดักรอที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย เพื่อจับไปขายต่อ ทีมสหวิชาชีพ ได้ลงความเห็นว่าเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนจนทราบว่า มาดามฟา ทำหน้าที่เป็นแม่เล้า ล่อลวง กักขัง บังคับขู่เข็ญให้ผู้เสียหายค้าประเวณี จึงรวบรวมพยานหลักฐานและจัดทำรายงานการสืบสวนส่งให้พนักงานสอบสวน สภ.ปาดังเบซาร์ จนกระทั่งศาลจังหวัดนาทวีได้อนุมัติหมายจับตามข้อกล่าวหาข้างต้น ต่อมาจากการสืบสวนทราบว่ามาดามฟาพักอาศัยอยู่ในพื้นที่ ต.โพธิ์ชัย อ.โคกโพธิ์ชัย จว.ขอนแก่น จึงไปติดตามจับกุม ในชั้นจับกุม มาดามฟาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา แต่รับว่า ขณะอยู่ที่ประเทศมาเลเซียทำหน้าที่เป็นธุระจัดหาหญิงไทยเพื่อค้าประเวณีแต่เป็นไปด้วยความสมัครใจ มีเด็กในสังกัดเพียง 5 - 6 คน ติดต่อลูกค้าผ่านแอปพลิเคชันวอตส์แอปป์ได้ค่าประสานงาน 10 เปอร์เซ็นต์จากเงินที่เก็บได้จากเด็กในสังกัด
สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองขอประชาสัมพันธ์ให้คนไทยที่ต้องการไปทำงานต่างประเทศ ติดต่อบริษัทจัดหางานที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายเพื่อจะได้ไม่ถูกหลอกลวงไปทำงานที่ผิดกฎหมายหรืออาจถูกหลอกไปเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์

สตม. ขอเรียนให้ท่านทราบว่า สตม. มีมาตรการในการตรวจสอบ กวดขัน และปราบปรามการกระทำความผิด ในด้านต่าง ๆ รวมถึงการเฝ้าระวังบุคคลทั้งสัญชาติไทยและสัญชาติอื่น ๆ ที่มีหมายจับ และการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทย หากประชาชนท่านใดพบเห็นเบาะแสการกระทำความผิด กรุณาแจ้งมายัง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง อาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระชนมพรรษา 60 พรรษา เลขที่ 904 หมู่ที่ 6 ต.บ้านใหม่ อ.ปากเกร็ด จว.นนทบุรี 11120 หรือติดต่อตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดในพื้นที่ หรือที่ www.immigration.go.th จักขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง

ดาราจีน พาเหรดแฉขบวนการค้ามนุษย์จับตัวเรียกค่าไถ่ ชี้ กรณี ‘ซิงซิง’ ไม่ใช่ครั้งแรก ก่อนหน้ามีเหยื่อแล้ว 3 คน

(7 ม.ค. 68) หลังจากมีการเผยแพร่ข่าวของ “ซิงซิง” นักแสดงหนุ่มชาวจีน ที่หายตัวไปบริเวณชายแดนไทย-พม่า ซึ่งมีพฤติการณ์คล้ายกับขบวนการค้ามนุษย์ ก็มีนักแสดงหลายคนออกมาเปิดเผยว่าตนเองก็ตกเป็นเหยื่อในลักษณะเดียวกัน!

โดยนักแสดงที่ชื่อ "เติ้งโหย่ว"ได้โพสต์ว่า เขาก็ถูกชักชวนจากบุคคลที่ใช้ชื่อวีแชตว่า "GMMGrammy~十六" ติดต่อให้มาทำงานที่ไทยเช่นเดียวกันกับซิงซิง แต่เขารู้สึกแปลกๆ และได้เตือนนักแสดงคนอื่นๆ ให้ระวังคนคนนี้เอาไว้ด้วย

ด้านนักแสดงที่ชื่อ "ฟ่านหู่" ก็ออกมาเปิดเผยประสบการณ์โดนแก๊งหลอกลวงระดับมืออาชีพ หลอกมาไทยพร้อมกับนักแสดงอีกหลายคน ทว่าโชคดีที่เขาพบพฤติกรรมที่ไม่น่าไว้วางใจ และทำการส่งข้อความไปหาผู้กำกับชาวไทยที่ถูกนำชื่อมาแอบอ้าง ก่อนที่จะได้รู้ความจริงว่าตนเองกำลังโดนหลอก และวางแผนหลบหนีมาได้สำเร็จ

ขณะที่นักแสดงอีกคน ที่ชื่อ "สี่ว์ต้าจิ่ว" ได้โพสต์ว่า เขาถูกหลอกเหมือนกัน และได้นั่งเครื่องบินมาที่ไทยด้วย แต่เขาเอาตัวรอดมาได้และเดินทางกลับจีนแล้ว โดยซิงซิงน่าจะอยู่ในล็อตที่ 3 ส่วนเขาเป็นล็อตที่ 2 หรือกล่าวคือ ขณะนี้มีคนอย่างน้อย 3 กลุ่มที่ถูกหลอกลวง โดยมีเหยื่อมากกว่า 1 ราย

รายงานระบุว่า นี่เป็นวิธีการตกเหยื่อของแก๊งมิจฉาชีพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะมีการแทรกซึมเข้าไปตามกลุ่มเพื่อน หรือกลุ่มหางานในวีแชต ชักจูงและหว่านล้อมให้ผู้คนหลงเชื่อ พร้อมกับเสนอค่าตอบแทนที่ค่อนข้างสูง เพื่อดึงดูดความสนใจ ซึ่งคล้ายกับกรณีของ "สี่ว์ป๋อชุน" ในปี 2023 ที่เขาเห็นประกาศรับสมัครนักแสดงในกลุ่มพาร์ทไทม์ โดยบอกว่าเป็นโปรเจกต์ฟอร์มยักษ์ ต้องเก็บเป็นความลับ

หลังจากพูดคุยและตกลงกันเรียบร้อย สี่ว์ป๋อชุนก็เดินทางไปยังแคว้นปกครองตนเองสิบสองปันนา กลุ่มชาติพันธุ์ไท มณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) จากนั้นก็ถูกพาตัวไปยังพม่า และถูกกักตัวไว้ เพื่อเรียกเงินค่าไถ่จากครอบครัว ถึง 620,000 หยวน (ประมาณ 3.1 ล้านบาท) และถึงแม้จะได้เงินไปแล้วแต่เขาก็ต้องรออีก 100 กว่าวันถึงจะถูกปล่อยตัวกลับจีน

จีนให้คำมั่นลุยปราบแก๊งมิจฉาชีพข้ามชาติ หลังพบเหยื่อชาวจีนถูกขังในเมียนมา

กระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีนได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันพุธ (15 ม.ค.68) ระบุว่า จีนจะยกระดับความพยายามในการช่วยเหลือพลเมืองจีนที่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ซึ่งหลอกลวงพวกเขาไปยังประเทศต่าง ๆ รวมถึงเมียนมา ตามรายงานจากสำนักข่าว CCTV ซึ่งเปิดเผยว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในต่างประเทศได้หลอกลวงชาวจีนด้วยข้อเสนอการทำงานที่มีรายได้สูง พร้อมที่พัก อาหาร และค่าโดยสารเครื่องบิน ก่อนที่ผู้ถูกหลอกจะถูกกักขังในศูนย์หลอกลวงทางโทรคมนาคมในเมืองต่าง ๆ เช่น เมียวดี ซึ่งตั้งอยู่ที่ชายแดนเมียนมากับไทย

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า แถลงการณ์นี้ออกมาในช่วงที่เกิดกรณีการหายตัวไปของนักแสดงจีนในจังหวัดตากของไทย ซึ่งตำรวจไทยคาดว่าเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์

จีนกล่าวว่าจะเพิ่มความร่วมมือกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในประเทศอื่น ๆ เพื่อช่วยเหลือพลเมืองที่ถูกกักขัง และจะดำเนินการอย่างจริงจังในการกวาดล้างศูนย์หลอกลวงด้านโทรคมนาคมและแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ดำเนินการในต่างประเทศ

รายงานยังเผยถึงการร่วมมือกับทางการเมียนมาในปี 2566 เพื่อล้มล้างกลุ่มมาเฟียเชื้อสายจีน 'กลุ่มสี่ตระกูลโกก้าง' ที่มีการดำเนินการในบริเวณชายแดนเมียนมากับมณฑลยูนนานของจีน

นอกจากนี้ เมื่อปีที่แล้ว ไทยได้ให้ความช่วยเหลือในการส่งตัวชาวจีนกว่า 900 คน ที่ถูกกักขังในศูนย์หลอกลวงที่เมืองเมียวดีกลับประเทศ ขณะที่เมียนมาในปี 2566 ได้ส่งตัวผู้ต้องสงสัยเกี่ยวกับการหลอกลวงทางโทรคมนาคมมากกว่า 31,000 คนกลับจีน

ตามข้อมูลจากสื่อของรัฐบาลจีน ช่วงนั้นพบว่ามีศูนย์หลอกลวงทางโทรคมนาคมในเมียนมามากกว่า 1,000 แห่ง และมีผู้คนกว่า 100,000 คนที่ถูกหลอกลวงในแต่ละวัน

นายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียงของจีนได้พบปะกับผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยเรียกร้องให้มีการร่วมมือกันในด้านการปราบปรามอาชญากรรมข้ามพรมแดน รวมถึงการพนันออนไลน์และการหลอกลวงทางโทรคมนาคม

จเรตำรวจแห่งชาติประชุมแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ค้ามนุษย์ และสกัดกั้นการลักลอบเข้าเมือง ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตาก เพื่อวางมาตรการควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่อย่างได้ผล

(17 ม.ค.68) เวลา 14.00 น. พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (จตช./ผอ.ศพดส.ตร.) เป็นประธานการประชุมป้องกันปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ณ ด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตาก อ.แม่สอด จ.ตาก โดยมี นายชูขีพ พงษ์ไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก , พล.ต.ท.กิติศักดิ์ ดุรงควิบูลย์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 , พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี , พล.ต.ต.พงษ์สยาม มีขันทอง รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว , พ.ต.อ.ทรงกลด เกริกกฤตยา รองผู้บังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจสันติบาล รักษาราชการแทนผู้บังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ พร้อมด้วย นายสวนิต สุริยกุล ณ อยุธยา รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก นายอำเภอ ผู้กำกับการ สภ.ต่างๆ เจ้าหน้าที่ทหาร และผู้แทนหน่วยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 5 ด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตาก อ.แม่สอด

พล.ต.อ.ธัชชัยฯ กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมร่วมกันเพื่อวางแนวทางมาตรการในการดูแลนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก และหารือแนวทางการปฏิบัติในการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และการสกัดกั้นคนต่างชาติลักลอบเข้าเมือง ว่าจะควบคุมกํากับดูแลอย่างไรตั้งแต่การเข้ามาในพื้นที่บริเวณขอบ อ.แม่สอด จนกระทั่งเข้าสู่แนวชายแดนรวมทั้งบริเวณพื้นที่ภายในทั้งหมด โดยมาตรการจะเริ่มต้นตั้งแต่การด่านต่าง ๆ ที่ประชาชนจะเข้ามาในพื้นที่ อ.แม่สอด จะต้องมีการตรวจสอบซักถามนักท่องเที่ยวทุกคนที่เดินทางเข้ามา ว่าเดินทางเข้ามามีแผนการท่องเที่ยวอย่างไร มีใครเป็นคนพามา และพักที่ไหน เป็นต้น จากนั้นจะมีการบันทึกไว้ในระบบเพื่อนําไปสู่การตรวจสอบในภายหลัง หากพบว่ามีความไม่ชัดเจนเกี่ยวเรื่องแผนการท่องเที่ยวต่างๆ ก็จะมีการติดต่อสถานทูตและจะมีการดําเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป 

การควบคุมการดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยวมีความสําคัญเป็นอย่างยิ่ง คาดว่ามาตรการดังกล่าวน่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่ได้ และจากนี้จะมีการประเมินผลการปฏิบัติทุกเดือน ซึ่งนอกจากจะป้องกันปราบปรามอาชญากรรม แก๊งคอลเซ็นเตอร์ แล้ว ยังเป็นการรักษาภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของไทย เพื่อให้นักท่องเที่ยวมั่นใจว่ามาเที่ยวเมืองไทยปลอดภัยตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีอีกด้วย

นอกจากนี้ พล.ต.อ.ธัชชัยฯ กล่าวว่า กรณีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มีการแจ้งความว่าหายตัวไปหรือติดต่อไม่ได้นั้น ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีการสืบสวนขยายผลทุกกรณี ในกรณีชาวจีนเช่นกัน ได้มีการพูดคุยกับทางสถานทูตจีนโดยเสนอว่าเมื่อพบนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไปในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ไทยเราจะมีการประสานกับไปทางสถานทูต เพื่อให้สถานทูตช่วยตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งแนวทางนี้ทางสถานทูตก็เห็นด้วย อย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้วตำรวจไทยมีการประสานทํางานร่วมกับสถานทูตต่าง ๆ อยู่แล้ว ในการช่วยเหลือติดตามในกรณีที่เกี่ยวข้องกับคนของชาตินั้น ๆ 

สำหรับกรณีนายแบบจีนนั้นจากการตรวจสอบล่าสุดกับทางสถานทูตจีน ได้รับการยืนยันว่าขณะนี้นายแบบดังกล่าวกลับประเทศจีนโดยปลอดภัยแล้ว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top