Tuesday, 22 April 2025
ค่าไฟฟ้าแพง

ปตท. ‘ยืดหนี้ - ไม่คิดดอก’ กฟผ. หวังช่วยแบ่งเบาต้นทุนค่าไฟ

ปตท .ร่วมแบ่งเบาต้นทุนค่าไฟฟ้าให้ประชาชน ยืดระยะเวลาชำระหนี้ให้ กฟผ. มูลค่ากว่า 13,000 ล้านบาท และไม่เรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยล่าช้า

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้แบกรับภาระค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนในการช่วยตรึงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (FT) ตามนโยบายของภาครัฐตั้งแต่ปลายปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์พลังงานโลกที่มีความผันผวนสูง ส่งผลให้ต้นทุนเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติในการผลิตกระแสไฟฟ้ามีต้นทุนสูงขึ้นมาก ประกอบกับประชาชนยังคงได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 

ดังนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท. เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 จึงมีมติอนุมัติให้ ปตท. ร่วมช่วยบรรเทาภาระต้นทุนผลิตไฟฟ้าให้กับประชาชน โดยการเลื่อนกำหนดชำระเงินค่าก๊าซฯ งวดเดือนพฤษภาคม 2565 มูลค่าประมาณ 13,000 ล้านบาท ออกไปเป็นระยะเวลา 4 เดือน โดยไม่เรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยมูลค่าประมาณ 340 ล้านบาทที่จะเกิดขึ้น เพื่อมีส่วนช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับ กฟผ. ในการแบกรับต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับประชาชน

“ปตท. และ กฟผ. ต่างเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน และจากวิกฤตการณ์พลังงานดังกล่าว ทั้งสององค์กรได้หารือร่วมกันกับหน่วยงานภาครัฐ ทั้งจากกระทรวงพลังงานและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อพิจารณาการจัดหาเชื้อเพลิงสำหรับใช้ในการผลิตไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายเพื่อลดกระทบต่อประชาชนให้มากที่สุด และคำนึงถึงความมั่นคงทางพลังงานของประเทศตาม พันธกิจหลักของทั้งสององค์กร” นายอรรถพล กล่าว


 ที่มา: https://www.thaipost.net/economy-news/145507/

'สร้างอนาคตไทย' กระทุ้ง 'รัฐบาล' บริหารดูแลความเดือดร้อน ปชช. เปิด นโยบาย 4 โซลาร์ แก้วิกฤตค่าไฟฟ้าแพง สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ทวงถามใครแตะเบรกโรงไฟฟ้าชุมชน

วันนี้ (22 ก.ย. 65) ที่พรรคสร้างอนาคตไทย นำโดย ดร.อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค ดร.สันติ กีระนันทน์ รองหัวหน้าพรรค และประธานนโยบาย  และนายนริศ เชยกลิ่น รองหัวหน้าพรรค และโฆษกพรรค ร่วมแถลงข่าว “ชำแหละประเด็น ค่าไฟแพง แก๊สแพง ใครทำร้ายประชาชน” 

โดยดร.อุตตม กล่าวว่า สถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา และมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับต้นทุนราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น สาเหตุทั้งที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย ยูเครนที่ยืดเยื้อ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้คนไทยทั่วประเทศเดือดร้อนอย่างหนัก ขณะที่ภาครัฐควรต้องดูแลช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนดังกล่าว พร้อม จัดเตรียมมาตรการเพื่อให้ประเทศสามารถพลิกฟื้นได้ในช่วงเวลาต่อไป อย่างไรก็ตามมาตรการดูแลประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรดำเนินการในระยะแรกอย่างเร่งด่วนนั้น กลับยังไม่มีให้เห็นอย่างชัดเจน เช่น กรณีราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ติดต่อกันหลายเดือน กระทบกับประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ทั้งที่รัฐบาลสามารถช่วยเหลือได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

“นโยบายจะไปในทิศทางไหน รวมถึงมาตรการระยะสั้นจะดูแลอย่างไร นี่ถือเป็นโอกาสที่จะนำเรื่องพลังงานมาทบทวนกันใหม่ รื้อโครงสร้างใหม่ เพราะต้องเอาประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง และต้องทำอย่างจริงจัง เพราะพลังงานเกี่ยวข้องกับเรื่องต้นทุนการผลิต การบริการ ต้องดูแลอย่างต่อเนื่อง และยึดโยง สุดท้ายแล้วหนีไม่พ้นว่าภาครัฐต้องเป็นผู้ที่กำหนดนโยบายให้ส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องทำงานสอดคล้องกันในช่วงวิกฤติเช่นนี้ หวังว่ายังไม่ช้าเกินไปที่เราทั้งภาคประชาชน และภาครัฐจะมาช่วยกันปรับเปลี่ยนดูแลให้ประเทศผ่านวิกฤติช่วงนี้ไปให้ได้” ดร.อุตตม กล่าว

ด้านนายสนธิรัตน์ กล่าวว่า พรรคมีความจำเป็นต้องแถลงเรื่องนี้ เราจะปล่อยให้สถานการณ์ค่าครองชีพ เป็นแบบนี้ต่อไปไม่ได้ อีก 6-7 เดือนจะเลือกตั้ง คิดว่าประชาชนจะลำบาก วันนี้ประชาชนแบกภาระค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น เรามีไฟฟ้าส่วนเกินเกือบครึ่งที่ประชาชนต้องแบกภาระบางส่วน และการเปลี่ยนผ่านสัมปทานการผลิตก๊าซที่ทำให้ปริมาณลดลงกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงาน

“ปัจจุบันกำลังการผลิตแก๊สในอ่าวไทยลดลงตามลำดับ ผมเคยส่งสัญญานเตือนแล้วว่าแก๊สในอ่าวไทยจะมีปัญหาจากการเปลี่ยนผ่านที่ไม่ราบรื่น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาแก๊สที่สูงขึ้น เพราะการบริหารการเปลี่ยนผ่านที่ล้มเหลว ทำให้เราต้องนำเข้าแอลเอ็นจีจากต่างประเทศ ซึ่งแอลเอ็นจีในตลาดโลกมีราคาสูงมาก” นายสนธิรัตน์ กล่าว

นายสนธิรัตน์ กล่าวต่อไปว่า ด้านอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากราคาแก๊สที่แพงขึ้นมา 33 เปอร์เซ็นต์ สถานการณ์แบบนี้จะยังไม่หยุดจนถึงมีนาคมปีหน้า ที่ประชาชนต้องมาแบกรับภาระจากนโยบายพลังงาน และการบริหารที่ผิดพลาด กำลังการผลิตไฟฟ้าส่วนเกินที่เกิดขึ้น ใครได้ประโยชน์ ธุรกิจแอลเอ็นจีวันนี้ใครได้ประโยชน์สูงสุด เอกชนหรือรัฐ หรือค่าการกลั่นที่สูงมากและไม่ได้รับการแก้ไข พรรคเราเรียกร้องตลอดว่าเมื่อเกิดวิกฤติให้เอาต้นทุนจริงออกมาดู หากพรรคสร้างอนาคตไทยเข้าไปบริหารเราจะเอาประชาชนเป็นตัวตั้งในการแก้ปัญหา คำถามคือวันนี้รัฐบาลทำอะไรอยู่ น้ำมัน แก๊ส ค่าไฟฟ้า เคยพิจารณาต้นทุนจริงหรือไม่ ภายใต้ต้นทุนที่แท้จริงมีอะไรทับซ้อนอยู่ วันนี้คือวิกฤต ในสมัยที่พวกตนบริหารกระทรวงการคลัง และกระทรวงพลังงาน ในช่วงสถานการณ์โควิด เรามีมาตรการช่วยเหลือประชาชนเร่งด่วนทันที เช่น มาตรการลดค่าไฟฟ้าทันที ซึ่งวันนี้ก็ยังคงเป็นแนวคิดการแก้ปัญหาที่พรรคสร้างอนาคตไทยพร้อมที่จะทำ 

“ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประชาชนจะมีส่วนเป็นเจ้าของพลังงาน หรือที่เรียกว่า Energy for all วันนี้โรงไฟฟ้าชุมชนที่ผมริเริ่มไว้เป็นเวลา 2 ปีแล้ว วันนี้ผมอยากถามว่าใครแตะเบรกโรงไฟฟ้าชุมชน และทำเพื่ออะไร ทั้งที่โรงไฟฟ้าชุมชนสามารถช่วยทั้งพี่น้องประชาชน และเกษตรกรที่เป็นเศรษฐกิจฐานราก แต่กลับไม่ได้รับการสานต่อเพื่อประโยชน์ของประชาชน ถึงเวลารื้อโครงสร้างพลังงานครั้งใหญ่ เราจะไม่ปล่อยให้ปตท.ทำงานแบบใช้โอกาสเกื้อกูล เติบโต และข่มเหงประชาชน” นายสนธิรัตน์ กล่าว

‘กรณ์’ ซัด!! ลดค่าไฟแค่ 2 สตางค์ น้อยจนน่าเกลียด ชี้!! ต้องยกเลิกค่าเอฟที 3 เดือนสุดร้อนเพื่อประชาชน

หัวหน้า ชพก. จวก ลดค่าไฟแค่ 2 สตางค์ อย่าอ้างว่าช่วย ยันต้องยกเลิกค่าเอฟที 3 เดือนสุดร้อน เพื่อประชาชน อีกแก้ปัญหาแบบขอไปที ลั่นต้องเลือกพรรคชนกับทุนผูกขาด

(23 เม.ย.66) จากกรณีมีข่าวว่า คณะอนุกรรมการค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) มีมติเห็นชอบตามที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เสนอขอรับภาระยืดหนี้การชำระค่าไฟฟ้าวงเงิน 130,000 ล้านบาท แทนประชาชนจาก 5 งวด ที่มีการเรียกเก็บค่าเอฟทีทุก 4 เดือน หรือ 20 เดือน จากงวดละ 27,000 ล้านบาท เป็น 6 งวด หรือ 24 เดือน เป็นเหลือเพียงงวดละ 22,000 ล้านบาท จึงทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยงวดที่ 2 ของปีนี้ (พ.ค.- ส.ค.) ลดลง 7 สตางค์ ต่อหน่วย จากเดิมที่ประกาศจัดเก็บ 4.77 บาท เหลือเพียง 4.70 บาทต่อหน่วย

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า จากกระแสค่าไฟแพงที่ตนออกมาเรียกร้องเมื่อเดือนมีนาคม จนตอนนี้ปัญหาค่าไฟแพง กลายเป็นประเด็นรุนแรงทั่วโซเชียล จนคณะนุกรรมการเอฟทีชงบอร์ด กกพ. ให้ลดค่าไฟ แต่ตัวเลขที่ลดมันน้อยจนน่าเกลียด

รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (20) : ‘รองพีร์’ กับการแก้ปัญหา ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ #3 เดินหน้าฝ่าทุกอุปสรรคหวังกำหนดค่าไฟฟ้าที่ถูกต้องเป็นธรรมมาก

เมื่อ 15 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ‘รองพีร์’ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ประกาศว่า การลดค่าไฟฟ้าลง 40 สตางค์นั้นสามารถทำได้ แต่ต้องมีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงให้ดีก่อน ด้วยการปรับพอร์ต Pool Gas ให้เป็นสัดส่วนที่มีความชัดเจนระหว่างการนำก๊าซธรรมชาติไปใช้ผลิตไฟฟ้าและใช้ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเรียกเสียงฮือฮาจากทั้งประชาชน และผู้ปฏิบัติงาน โดยที่ก่อนหน้านี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้ระบุว่า สามารถลดค่าไฟลงได้ 17 สตางค์ จากมติการที่ประชุม กกพ. ซึ่งให้สำนักงาน กกพ. นำเสนอทางเลือกให้ภาคนโยบายทบทวนและปรับปรุงเงื่อนไขการสนับสนุนทั้งในรูปแบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) รวมถึง Feed in Tariff (FiT) หรืออัตรารับซื้อไฟฟ้าคงที่ตลอดอายุโครงการผ่านการอุดหนุนราคารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) เพื่อให้การอุดหนุน Adder และ Feed in Tariff (FiT) สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง 

ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะทำให้สามารถปรับลดค่าไฟฟ้าลงได้ทันทีประมาณหน่วยละ 17 สตางค์ จากค่าไฟฟ้าในปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่หน่วยละ 4.15 บาท ลดลงเหลือหน่วยละ 3.98 บาท ทั้งนี้ ในช่วงวิกฤตการณ์ราคาพลังงาน 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ต้นทุนเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้ามีราคาที่สูงขึ้นและส่งผลกระทบต่อการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยที่ กกพ. ได้รับมอบหมายจากภาคนโยบายให้ทำการศึกษาทบทวนมาตรการบรรเทาผลกระทบค่าไฟฟ้าเพื่อลดค่าครองชีพให้ประชาชน ประกอบด้วยมาตรการหลาย ๆ ทางเลือกเพื่อเป็นการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้า และมาตรการทางเลือกหนึ่งก็คือ การทบทวนและปรับปรุงเงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้าจากกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้า SPP และ VSPP พลังงานหมุนเวียน เพราะที่ผ่านมาเมื่อครบกำหนดอายุสัญญารับซื้อจากกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าดังกล่าวก็ได้รับการต่อสัญญาในเงื่อนไขเดิมและทำให้ได้รับการอุดหนุนราคารับซื้อมาอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายเดิมที่ต้องการสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก และรองรับปริมาณความต้องการเพิ่มปริมาณไฟฟ้าสะอาดเข้ามาในระบบให้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง มีความพร้อมจนสามารถรับมือกับการแข่งขันในธุรกิจไฟฟ้าได้ดีแล้ว ท่ามกลางการแข่งขันและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่ทำให้เกิดการลดต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าลงอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเสนอให้ทบทวนเงื่อนไขการรับซื้อดังกล่าว

สำหรับแนวทางการปรับลดค่าไฟสามารถทำได้จากการบริหารจัดการเชื้อเพลิงนั้น ‘รองพีร์’ ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟจาก 3 แหล่งใหญ่คือ อ่าวไทย เมียนมา และนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะตะวันออกกลางที่นำเข้ามาเป็นก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG  ซึ่งมีราคาแพง และอิงราคาตลาดโลกที่ผันผวนตลอดเวลา  แต่ถ้าหากสามารถปรับพอร์ต Pool Gas ให้มีความเป็นสัดส่วนระหว่างการนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าและการนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมได้อย่างชัดเจน (เพราะต้นทุนราคาก๊าซจากทั้ง 3 แหล่งนั้นมีราคาที่แตกต่างกัน) ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้อีกถึงเกือบ 40 สตางค์ โดย ‘รองพีร์’ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อให้ทันค่าไฟงวดต่อไปของปี พ.ศ. 2568 นี้ โดย ‘รองพีร์’ ระบุด้วยว่า ปัญหาเรื่องค่าไฟฟ้านั้นแตกต่างกับปัญหาเรื่องน้ำมันมากและมีประเด็นที่ต้องจัดการแก้ไขเยอะมากด้วย โดยน้ำมันก็คือน้ำมัน แต่ค่าไฟฟ้าไม่ใช่แค่ค่าไฟฟ้า มีปัจจัย เงื่อนไขต่าง ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย ทั้ง ค่าก๊าซ ค่าถ่านหิน ค่าขนส่ง ฯลฯ ที่ถูกบวกไว้ในสัญญา ค่าบริหารจัดการเงินกู้ของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะดอกเบี้ยของหนี้ที่กฟผ. ต้องรับผิดชอบจากการตรึงราคาค่าไฟฟ้าในช่วงที่ผ่านมา 

ทั้งนี้ ‘รองพีร์’ มองว่า ต้องทำให้ กฟผ. กลับมาแข็งแรงและเป็นหลักให้กับประชาชนในเรื่องของการผลิตไฟฟ้า แล้วกําหนดค่าไฟฟ้าที่ถูกต้องเป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งในขณะนี้ ด้วยกฎหมายและระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ ของ กฟผ. ทำให้ขาดความคล่องตัวในการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพในการดำเนินงานของ กฟผ. ให้ดียิ่งขึ้น ในการสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศชาติและประชาชนคนไทยต่อไป โดย ‘รองพีร์’ ย้ำว่า ในส่วนของการปรับลดค่าไฟนั้น ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อหาแนวทางปรับลดค่าไฟมาตั้งแต่ข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนกันยายน ปี 2567 ที่ผ่านมา เพื่อหาทางปรับลดค่าไฟฟ้าให้ได้ต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วย ซึ่งมีแนวโน้มที่จะทำได้ แต่ต้องปรับปรุงแก้ไขโครงสร้างและหลักเกณฑ์หลาย ๆ อย่าง โดยเฉพาะการปรับระบบ Pool Gas แต่เนื่องจากต้นปี 2568 เกิดมีประเด็นเพิ่มเติมในเรื่องที่จะให้ลดค่าไฟฟ้าลงมาเหลือ 3.70 บาทต่อหน่วย และ กกพ. ซึ่งกำกับดูแลเรื่องค่าไฟก็บอกว่าสามารถลดได้ ซึ่ง ‘รองพีร์’ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะตลอดปี 2567 ที่ผ่านมา ‘รองพีร์’ ต้องพยายามบริหารจัดการทุก ๆ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้มีการขึ้นค่าไฟฟ้าทุก 4 เดือน และสามารถตรึงค่าไฟฟ้าไว้ได้ที่ 4.18 บาทต่อหน่วยไว้ได้ตลอดปี 

จากการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยสำนักงาน กกพ. กรณีค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดเดือนมกราคม - เมษายน 2568 ระบุว่า ค่าใช้จ่ายภาครัฐ (Policy Expense) จากการรับซื้อไฟฟ้าในกลุ่ม Adder และ FiT รวมอยู่ในค่าไฟฟ้าหน่วยละ 17 สตางค์ ดังนั้น หากคณะรัฐมนตรี หรือ คณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้กำหนดนโยบายปรับค่าไฟฟ้ารับซื้อในส่วนนี้ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง จะสามารถลดค่าไฟฟ้าได้ทันที 17 สตางค์ อย่างเช่น ค่าไฟฟ้าปัจจุบันที่หน่วยละ 4.15 บาท ก็จะลดลงเหลือหน่วยละ 3.98 บาท และจากประมาณการใช้ไฟฟ้าของประเทศตลอดทั้งปี 2568 คาดว่าจะมีการใช้ไฟฟ้าสูงถึง 195,000 ล้านหน่วย หากสามารถลดค่าไฟฟ้าได้หน่วยละ 17 สตางค์แล้ว ผู้ใช้ไฟฟ้าจะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้ารวมทั้งประเทศได้ถึง 33,150 ล้านบาทเลยทีเดียว จึงขอให้พี่น้องประชาชนคนไทยช่วยกันให้กำลังใจและเอาใจช่วย ‘รองพีร์’ ให้สามารถฝ่าฟันทุก ๆ อุปสรรคและปัญหาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการทำค่าไฟฟ้าให้ถูกกว่าหน่วยละ 4 บาทได้สำเร็จ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top