Sunday, 20 April 2025
ข่าวปลอม

‘ดีอีเอส’ เตือน หยุดปล่อยข่าวปลอม ‘นายกฯ’ ไฟเขียวตั้ง ‘กาสิโน-เปิดเว็บพนัน’ หวังดึงภาษีเข้ารัฐบาล 30% เพื่อสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้เข้าประเทศ

(20 ก.ย. 66) นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกกระทรวงดีอี กล่าวถึงการส่งต่อข้อมูลในประเด็น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมแผนอนุมัติบ่อนคาสิโนเว็บพนันถูกกฎหมาย เสียภาษีให้รัฐบาล 30% เพื่อสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้เข้าประเทศนั้น ว่าดีอีโดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ไปยังกรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี พบว่าประเด็นดังกล่าวไม่เป็นความจริง เป็นข้อมูลเท็จ ปัจจุบันรัฐบาลยังไม่ได้มีการเตรียมแผนอนุมัติ หรือการดำเนินนโยบายเปิดบ่อนกาสิโน หรือเว็บพนันถูกกฎหมาย เสียภาษี 30% ตามที่ถูกกล่าวอ้างแต่อย่างใด

นายเวทางค์กล่าวต่อว่า หากพี่น้องประชาชนพบเบาะแสการกระทำความผิด สามารถแจ้งผ่าน 4 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com, เฟซบุ๊ก ANTI-FAKE NEWS CENTER, ทวิตเตอร์ @AFNCThailand, ไลน์ @antifakenewscenter และช่องทางโทรศัพท์ โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 ได้ ตลอด 24 ชั่วโมง

‘พวงเพ็ชร’ ชี้!! นายกฯ เยือนจีนผลงานเพียบ หวังมุ่งมั่นพัฒนาประเทศ กลับถูกผู้ไม่หวังดีปั่นกระแสจนเกิดความเข้าใจผิด วอน ปชช.อย่าหลงเชื่อ

(20 ต.ค. 66) นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวปลุกปั่น สร้างความเข้าใจผิดในตัว นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ว่า ปัจจุบันประชาชนสามารถรับข้อมูลข่าวสารได้ง่ายผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ทำให้มีกลุ่มคนผู้ไม่หวังดีเห็นเป็นช่องทางในการปลุกปั่น สร้างข่าวเท็จ และสร้างความเข้าใจผิดโดยไร้การตรวจสอบที่มา เนื้อหา และความถูกต้อง บางข่าวถูกสร้างขึ้นเพื่อพยายามทำให้เกิดกระแส จนสร้างความเสื่อมเสียแก่ผู้อื่น อย่างเช่นกรณีของ นายกรัฐมนตรี ขณะที่เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเข้าร่วมการประชุมข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Forum for International Cooperation: BRF) ครั้งที่ 3 ซึ่งได้พบปะนักธุรกิจ นักลงทุน รวมถึงกระชับความสัมพันธ์อีกหลายมิติ อันน่าจะเป็นผลงานที่นายกฯทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถ แต่กลับมีผู้เห็นต่างเสียดสี โจมตี อีกทั้งสร้างข่าวปลอมทำให้เกิดความเสื่อมเสีย

“ขอให้ประชาชนผู้รับข้อมูลข่าวสารใช้วิจารณญาณให้ดีก่อนส่งต่อ หรือโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย โดยต้องมีสติ รู้เท่าทันเจตนาของผู้สร้างข่าว อย่าตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มคนเพียงไม่กี่คน ขอให้เชื่อมั่นว่า ท่านนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมีความตั้งใจจริงในการทำหน้าที่ เพื่อพัฒนาประเทศ ให้พี่น้องประชาชนมีความกินดีอยู่ดียิ่งขึ้น” นางพวงเพ็ชร กล่าว

'อดีตทูตนริศโรจน์' เตือน!! อย่าหลงเชื่อบทความปลอมอ้างชื่อ ปธ.JETRO หลังพวกชังชาติ 'เขียนเอง-แชร์เอง' เพื่อดิสเครดิตไทย แนะ!! อย่าส่งต่อ

(4 ก.ค. 67) นายนริศโรจน์ เฟื่องระบิล อดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ได้โพสต์ข้อความเตือนผ่านเฟซบุ๊ก 'Fuangrabil Narisroj' ระบุว่า…

ช่วงนี้บทความ fake เรื่องประธาน JETRO เขียนตำหนิคนไทย เวียนกลับมาอีกแล้ว หลังจากออกมาหลายปีก่อน 

ทาง JETRO ได้เคยออกมาแถลงการณ์ปฏิเสธอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2557 แล้วว่า อดีตประธาน JETRO ไม่เคยเขียน

เบื้องหลังคือ บทความนั้นเป็นคนไทยเขียนขึ้นเองเพื่อด่าคนไทยกันเอง แต่เอาชื่อและตำแหน่งของอดีตประธาน JETRO มาสวมรอยแอบอ้าง

แบบนี้เจตนาไม่ดี ไม่สมควรครับ อย่าแชร์!!

'รัดเกล้า' เตือน!! ข่าวโปรโมชัน ปตท.เติมน้ำมัน 245 บาท เป็นเฟกนิวส์ แนะ!! ควรตรวจสอบแหล่งที่มาให้แน่ชัด ก่อนเชื่อหรือส่งต่อ

(9 ส.ค. 67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่พบว่ามีการนำเสนอโปรโมชันเติมน้ำมัน 245 ฟรี 245 บาท ผ่านข้อความ SMS และให้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์เพื่อรับสิทธิ์ โดยมีการใช้ชื่อ ปตท. นั้น บริษัท ปตท. น้ำมัน และการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) กระทรวงพลังงาน ชี้แจงว่า ปตท. ไม่ได้จัดทำประชาสัมพันธ์หรือโปรโมชัน และไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการดังกล่าวนี้แต่อย่างใด

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอให้ตรวจสอบข้อมูลข่าวสารจากแหล่งที่เชื่อถือได้ โดยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ และบริการจากบริษัท ปตท. น้ำมัน และการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) กระทรวงพลังงาน สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.pttor.com หรือ โทร. 02-196-5959

ทั้งนี้ รัฐบาล โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) มีความห่วงใยประชาชนถึงข่าวปลอม (fake news) ที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ และโซเชียลมีเดีย ซึ่งหากขาดความรู้ และมีการส่งต่ออาจทำให้ได้รับข้อมูลที่ผิด และส่งผลกระทบกับประชาชนที่หลงเชื่อ โดยประชาชนสามารถติดตามข่าวสาร และชี้แจงเบาะแสข่าวปลอมได้ที่เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/ หรือโทรสายด่วนศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม GCC 1111 ต่อ 87 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

‘รมว.ดีอี’ เดินหน้า ปิดแพลตฟอร์ม ‘ทางรัฐปลอม’ 290 บัญชี แจ้งเตือนพี่น้องประชาชน อย่าเชื่อ-อย่าแชร์ ‘ข่าวปลอม’ ยุติโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

วันที่ 20 สิงหาคม 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย (Anti Fake New Center หรือ AFNC) สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) และ เครือข่าย ได้ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินสถานการณ์การกระทำที่เข้าข่ายการก่ออาชญากรรมออนไลน์ พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1-20 สิงหาคม 2567 ทีมปฏิบัติการได้ดำเนินการประสานปิดกั้นแพลตฟอร์ม ‘ทางรัฐ’ ปลอม 290 เพจ  โดยแบ่งเป็น แฟนเพจ Facebook จำนวน 284 เพจ และบัญชี Tiktok จำนวน 6 บัญชี  พร้อมเฝ้าระวังการกระทำความผิดอย่างต่อเนื่อง 

นายประเสริฐ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังพบมิจฉาชีพ ใช้วิธีการหลอกลวงประชาชน ส่งข่าวปลอม และข้อมูลบิดเบือน โดยแอบอ้างโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital Wallet หรือ โครงการ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ อยู่อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด พบกรณีการส่งข้อมูลต่อกันว่า ‘ผู้ที่ลงทะเบียนแอปทางรัฐ มีสิทธิ์ที่ข้อมูลจะตกไปอยู่กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์’ และ ‘ยุติโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ขายข้อมูลให้มิจฉาชีพ’

ทั้งนี้ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA พบว่าประเด็นเรื่อง “ผู้ที่ลงทะเบียนแอปทางรัฐ มีสิทธิ์ที่ข้อมูลจะตกไปอยู่กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์” เป็นข้อมูลเท็จ โดยแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” และระบบงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องนั้นมีการดำเนินการตามมาตรการป้องกันการโจรกรรมข้อมูลอย่างรัดกุม มีความปลอดภัยสูง ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 27001:2013 ระบบการบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ (Information Security Management Systems – ISMS) จึงมั่นใจได้ว่า ข้อมูลจะไม่ถูกเปิดเผยไปสู่ภายนอกได้

สำหรับ ‘แอปฯ ทางรัฐ’ เป็นเพียงช่องทางในการเชื่อมโยงข้อมูลและบริการจากหน่วยงานต้นทางให้แก่ผู้ใช้บริการเท่านั้น ไม่ได้มีการเก็บข้อมูลประชาชนจากหน่วยงานต้นทาง หรือของประชาชนที่ลงทะเบียนมาไว้ที่ แอปฯ ทางรัฐ แต่อย่างใด โดยข้อมูลส่วนบุคคลที่แสดงใน แอปฯ ทางรัฐ นั้น สามารถเข้าถึงได้เฉพาะเจ้าของข้อมูลและผู้มีอำนาจตามกฎหมายในการเข้าถึงข้อมูลเท่านั้น โดยสามารถดาวน์โหลดแอปฯ ‘ทางรัฐ’ ได้โดยตรงจากแอปฯ ‘App Store’ สำหรับระบบปฏิบัติการไอโอเอส (iOS) และแอปฯ ‘Google Play’ ในระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) เท่านั้น

ในส่วนของ ข่าวปลอม ‘ยุติโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ขายข้อมูลให้มิจฉาชีพ’ จากการตรวจสอบข้อมูลร่วมกับ สำนักงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการดิจิทัล (Digital wallet) กระทรวง ดีอี พบว่า เป็นข้อมูลเท็จ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการประกาศยุติโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (ข้อมูล ณ วันที่ 20 ส.ค. 2567) และข้อมูลการลงทะเบียนในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมีการควบคุมกำกับดูแลที่มีความมั่นคงปลอดภัยสูง มั่นใจได้ว่า ข้อมูลจะไม่ถูกเปิดเผยออกไปภายนอก ซึ่งการขายข้อมูลหรือส่งต่อข้อมูลให้กับมิจฉาชีพเป็นความผิดตามกฎหมาย รัฐบาลไม่สามารถทำได้แต่อย่างใด 

“ดังนั้นจึงขอแจ้งเตือนไปยังพี่น้องประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมืออย่าเชื่อ อย่าแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในทุกช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยประชาชนสามารถรับข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับ “แอปฯทางรัฐ” ได้จากสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.dga.or.th หรือ โทร. 02-612-6060 และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเตรียมการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ได้ที่เว็บไซต์ www.digitalwallet.go.th หรือพิมพ์เป็นภาษาไทยว่า www.กระเป๋าเงินดิจิทัล.รัฐบาล ไทย หรือสามารถสอบถามผ่านศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน (Call Center) สายด่วน โทร. 1111 ซึ่งกระทรวงดีอี มีความห่วงใยประชาชน ต่ออันตรายที่เกิดขึ้นจากภัยไซเบอร์ โดยโจรออนไลน์ได้อาศัยการเผยแพร่ข่าวปลอมและข้อมูลบิดเบือนเกี่ยวข้องกับโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต และการลงทะเบียนผ่านแอปฯ ‘ทางรัฐ’ ซึ่งขณะนี้กระทรวงดีอีได้ทำการปิดกั้นแพลตฟอร์มปลอมแล้ว 290 บัญชี พร้อมกับการตรวจสอบข่าวปลอม และข้อมูลบิดเบือนที่เกี่ยวข้อง โดยถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรง และจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างถึงที่สุด เนื่องจากส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง และขอให้ประชาชน ยึด ‘หลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน’ พร้อมกับไม่แชร์ข้อมูลที่บิดเบือนในทุกช่องทางสังคมออนไลน์” นายประเสริฐ กล่าวย้ำ 

หากประชาชนโดนหลอกออนไลน์ โทรแจ้งดำเนินการ ระงับ อายัดบัญชี AOC 1441 สอบถามข้อมูลข่าวสารโครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” โทรสายด่วน Digital Wallet 1111 (24 ชั่วโมง) แจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชั่วโมง) , Line ID: @antifakenewscenter และเว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com

ข่าวปลอม!! มวลน้ำจากสุโขทัยใกล้ ถึง กทม. สทนช. ยัน!! มวลน้ำยังสามารถควบคุมได้

(4 ก.ย.67) 'Anti-Fake News Center Thailand' ได้แจ้งข่าวว่า ตามที่มีการประกาศเตือนเกี่ยวกับเรื่อง มวลน้ำจากสุโขทัยใกล้ถึง กทม. แล้ว ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

จากกรณีการโพสต์ระบุข้อความว่า เตรียมรับมือมวลน้ำจากสุโขทัย ถึง กทม. ในวันที่ 2 ก.ย. 67 ทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) สำนักนายกรัฐมนตรี ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง มวลน้ำจากจังหวัดสุโขทัย ได้ไหลผ่านจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งมีการผันน้ำเข้าสู่ทุ่งบางระกำ ในส่วนของปริมาณน้ำที่เหลือซึ่งไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในขณะนี้ ยังอยู่ในปริมาณที่สามารถควบคุมได้

ดังนั้นขอเตือนให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.onwr.go.th หรือ โทร. 02-554-1800

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : มวลน้ำจากจังหวัดสุโขทัย จะไหลผ่านจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งมีการผันน้ำเข้าสู่ทุ่งบางระกำ ในส่วนของปริมาณน้ำที่เหลือจะไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งยังอยู่ในปริมาณที่สามารถควบคุมได้

สำนักงานตำรวจแห่งชาติเตือนข่าวปลอม 'เพจอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ช่วยคืนเงินคดีดัง' อย่าหลงเชื่อ อย่าแชร์ส่งต่อ แนะไม่กดลิงก์ ไม่แชต ไม่คุย ไม่กรอกข้อมูลใดๆ หากสงสัยติดต่อสอบถาม 1599 ตลอด 24 ชั่วโมง

(17 ต.ค.67) พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีเพจปลอม อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ จะคืนเงินผู้เสียหาย หรือใช้ภาพบุคคลสำคัญอ้างช่วยเหลือคดีออนไลน์ เพื่อให้ได้เงินคืน โดยหลอกให้กดลิงก์กรอกข้อมูลทางสื่อโชเชียลนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติขอเรียนแจ้งว่า ไม่เป็นความจริง เป็นข่าวปลอมที่มิจฉาชีพใช้กลอุบายหลอกหลวง โปรดอย่าหลงเชื่อ ไม่กดลิงก์ ไม่แชต ไม่คุย ไม่กรอกข้อมูลใดๆ ซึ่งอาจทำให้เราตกเป็นเหยื่อสูญเสียทรัพย์สินได้ รวมทั้งไม่แชร์ ส่งต่อข้อความดังกล่าว ซึ่งอาจจะเป็นความผิดในการส่งข่าวปลอม ข้อมูลเท็จ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 ได้ 

ขณะนี้คดีที่ปรากฎตามข่าว ยังอยู่ในขั้นตอนการสอบสวนรวบรวมหลักฐาน หากมีความคืบหน้าทางคดี หรือขั้นตอนกระบวนการใดๆ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะแจ้งให้ทราบเป็นระยะ

ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ที่หมายเลข 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

หนึ่งในความเลวทรามสกปรกของนักการเมืองรุ่นใหม่ คือการสร้าง “ข่าวปลอม” (Fake News) ออกสู่สังคม

(18 มี.ค. 68) หากย้อนกลับไป 30 - 40 ปีก่อน สมัยที่ยังไม่มีโซเชียลมีเดีย นักการเมืองถ้าจะสร้าง “ข่าวปลอม” หรือ “Fake News” เพื่อมาดิสเครดิตฝ่ายตรงข้าม ก็จะอาศัยช่องทางสื่อต่าง ๆ ที่พรรคการเมืองของตนเองสนิทสนม หรือแอบมีส่วนในการ “เป็นเจ้าของ” ทั้งสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ จะใช้ช่องทางที่ตนเองควบคุมบังคับได้เหล่านี้นำเสนอข่าวเท็จ ประเด็น และเรื่องราวที่ไม่จริงของฝ่ายตรงข้ามมาตีแผ่ออกสู่สังคม เพื่อให้ผู้คนเข้าใจผิด เกลียดชัง จนลดความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้ามลง 

เหยื่อที่เจ็บปวด เสียหาย ถ้าไม่แข็งแรงมากพอก็จะเดินก้มหน้าออกจาก “สนามการเมือง” ไปทันที แต่ที่เป็นขาใหญ่จริง ๆ ก็จะไม่ปล่อยให้ใครมาเหยียบหัวสิงห์ได้ง่าย ๆ ถ้าสิ่งที่ได้ยินเป็นเรื่องถูกใส่ร้ายป้ายความผิด ก็มักจะเล่นกลับแรง ๆ ซึ่งไม่ใช่แค่การฟ้องร้องดำเนินคดีอย่างที่ “คนยุคนี้” นิยมเลือกมาจัดการคู่กรณี 

แต่คือการใช้ “ลูกปืน” ย่นเวลาทุกอย่างให้จบง่ายขึ้น 

นักการเมืองยุคเก่า แม้จะไม่บริสุทธิ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ดี ๆ ชั่ว ๆ ความรักในชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ยังมีในจำนวนที่มากกว่านักการเมืองยุคสมัยนี้ และคำว่า “คนใจนักเลง” ยังใช้ได้กับนักการเมืองรุ่นเก่าจำนวนมาก เรียกว่าขอกันได้ แค่แสดงความนอบน้อม นับถือ รักษาสัจจะ ไม่ข้ามหัว ไม่ตีกิน หรือแอบแทงกันลับ ๆ ด้วยการ “สร้างข่าวปลอม” มาทำให้อีกฝ่ายต้องพังพินาศ ถือเป็นเรื่องที่ “คนรุ่นเก่า” ไม่นิยมทำกัน เพราะเป็นเรื่องของ “สวะ” ทั้งเหม็น และน่ารังเกียจ

“ข่าวปลอม” ยุคสมัยก่อน นาน ๆ จะโผล่มาสักเรื่องหนึ่ง ถ้าสังคมจับได้ไล่ทันก็จะไม่คุ้ม เพราะคนปล่อยข่าว รวมถึงตัวการก็จะไร้ที่ยืน ด้วยเป็นเรื่องที่ไม่ใช่วิถีลูกผู้ชาย ไม่แน่ก็อาจจะไร้ลมหายใจ จึงมักสู้กันแบบลูกผู้ชาย ซึ่งนักการเมืองรุ่นใหม่ที่นิยม “หนีการเกณฑ์ทหาร” ยากที่จะสะกดคำว่า “คนใจนักเลง” เป็น เราจึงมักเห็น “นักการเมืองรุ่นใหม่ขี้หมา” จงใจสร้างข่าวปลอม พอถูกจับได้ก็หายศีรษะไปเงียบ ๆ หนีหน้าไม่มีออกมาขอโทษสังคม หรือสำนึกผิด แล้วก็รอปั้นแต่ง “ข่าวปลอมเรื่องใหม่” มาทำร้ายผู้คนดังเดิม 

ขึ้นชื่อว่าเป็น “นักการเมืองไทย” การที่ไร้ความสามารถ ไร้วิสัยทัศน์ และไร้การเป็นแบบอย่างในทางที่ดีให้สังคมเดินตามก็ดูแย่มากแล้ว แต่การที่วัน ๆ สาละวนอยู่กับการ “คิดข่าวปลอม” เพื่อให้สังคมไทยวนอยู่ในวงจรน้ำเน่า คำว่า “เลวทรามต่ำช้า” ก็ถือว่ายังน้อยเกินไป 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top