Monday, 21 April 2025
กระทรวงแรงงาน

‘รัฐบาล’ ตั้งเป้า ปี 67 เป็นปีแห่งการขับเคลื่อน ‘งานประกันสังคม’ เพิ่มประสิทธิภาพการบริการ ตอกย้ำความเชื่อมั่นแก่ผู้ประกันตน

(6 ต.ค. 66) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานภายใต้แนวคิด ‘ทักษะดี มีงานทำ หลักประกันทางสังคมเด่น เน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ’ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เป็นปีแห่งการขับเคลื่อนงานประกันสังคมให้เข้มแข็ง ให้เป็นที่ยอมรับ เชื่อมั่น และไว้วางใจจากลูกจ้าง ผู้ประกันตนและสังคมโดยรวม

นายคารม กล่าวว่า รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงาน เดินหน้าปฏิบัติภารกิจของสำนักงานประกันสังคม เพื่อความคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของลูกจ้าง ผู้ประกันตน ดังนี้

1.) ‘Micro Finance’ ลดหนี้ เติมทุน สร้างสุข เพื่อพัฒนาและยกระดับให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

2.) กองทุนมั่นคง แรงงานมั่งคั่ง ประกันสังคมยั่งยืน โดยต้องบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และมีความยั่งยืน

3.) ‘Best e-Service’ ประกันสังคมยุคใหม่ สร้างความมั่นคง เพิ่มความมั่นใจ ยกระดับการให้บริการของสำนักงานประกันสังคม ผ่าน e-Service โดยการนำระบบ e-Claim มาใช้ในการให้บริการเบิก-จ่ายเงิน และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกันตน

4.) สร้างรากฐานเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการคุ้มครองแรงงาน ปรับปรุงและพัฒนากฎหมายให้มีความเหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล

5.) การเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการทางการแพทย์ ยกระดับการให้บริการทางการแพทย์และการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค แก่ลูกจ้าง ผู้ประกันตนโดยผู้ประกันตนต้องได้รับการบริการทางด้านสุขภาพอนามัย การรักษาพยาบาลที่ดีขึ้นกว่าเดิม

6.) จัดทำสิทธิประโยชน์ Package Premium สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 40 เช่น เพิ่มสิทธิกรณีเจ็บป่วย ชดเชยรายได้ตามค่าแรงขั้นต่ำ ค่าตอบแทนกรณีนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล โดยอาจยกระดับให้เท่ากับผู้ประกันตนมาตรา 39 รวมทั้งการจูงใจให้ผู้ประกันตนมาตรา 40 ส่งเงินสมทบอย่างต่อเนื่อง

“รัฐบาลมุ่งยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีของพี่น้องผู้ใช้แรงงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมเดินหน้าผลักดันนโยบายให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว ผ่านการทำงานอย่างบูรณาการเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติ เพื่อผลักดันนโยบายรัฐบาลและนโยบายกระทรวงแรงงานให้เป็นเกิดผลสำเร็จ โดยยึดประโยชน์สูงสุดของลูกจ้างผู้ประกันตนเป็นหลัก” นายคารม กล่าว

‘พิพัฒน์’ กำชับทูตฯ ดูแลแรงงานไทยในอิสราเอลใกล้ชิด หลังเกิดภาวะสงคราม เผย คนไทยถูกยิงบาดเจ็บ 1 ราย-ถูกจับตัวไว้ 2 ราย เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง

เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 66 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีเกิดเหตุจรวดโจมตีจากฉนวนกาซาไปยังหลายพื้นที่ในอิสราเอลเมื่อช่วงเช้าตรู่วันนี้ว่า ตามที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้ประกาศเตือนคนไทยในอิสราเอลให้อยู่ในที่ปลอดภัย เนื่องจากเกิดการโจมตีด้วยจรวดจากฉนวนกาซานั้น ทันทีที่ทราบข่าวผมมีความห่วงใยต่อแรงงานไทยที่ไปทำงานอยู่ในประเทศอิสราเอลจากผลกระทบของเหตุการณ์ดังกล่าว จึงได้สั่งการให้อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอลเร่งตรวจสอบและดูแลแรงงานอย่างใกล้ชิดทันที

จากรายงานของนายกิตติ์ธนา ศรีสุริยะ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ เบื้องต้นพบว่า มีแรงงานไทยถูกยิงที่ขาได้รับบาดเจ็บแล้ว 1 ราย ทราบชื่อคือ นายชาตรี ชาศรี อายุ 38 ปี เดินทางโดยกรมการจัดหางานจัดส่งไปทำงานเกษตรมีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่จังหวัดนครพนม จากการตรวจสอบของกรมการจัดหางาน พบว่า เป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศด้วย

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีแรงงานไทยอีก 2 ราย ซึ่งเป็นสามีภรรยาถูกจับตัวไว้ ทราบชื่อคือ นายบุญถม พันธ์ฆ้อง อายุ 39 ปี และ น.ส.ศศิวรรณ พันธ์ฆ้อง อายุ 36 ปี ทั้งคู่มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี ส่วนรายละเอียดอื่นๆ อยู่ระหว่างการตรวจสอบ

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของการดำเนินการที่ประเทศไทยผมได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดนครพนม และจังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เป็นภูมิลำเนาของแรงงานไทยที่บาดเจ็บ 1 ราย และแรงงานไทยที่ถูกจับตัวไว้ 2 ราย ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเพื่อแจ้งข้อมูลข่าวสารสร้างขวัญกำลังใจพร้อมชี้แจงการให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับตามกฎหมายให้แก่ญาติทราบในทันที อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในประเทศอิสราเอลรวมทั้งสิ้นประมาณ 29,900 คน โดยเป็นแรงงานที่อยู่อาศัยบริเวณเมือง Netivot , Sderot, Ashkelo และพื้นที่ใกล้เคียง ประมาณ 5,000 คน

“ขอให้ญาติของแรงงานไทยที่ไปทำงานในประเทศอิสราเอล อย่าเพิ่งตื่นตระหนก ขอให้มั่นใจว่า รัฐบาลไทยทั้งสถานทูตและกระทรวงแรงงานจะให้การคุ้มครอง ดูแล อย่างดีที่สุด และจะเร่งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และขอให้แรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในอิสราเอลที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว ปฏิบัติตามมาตรการของทางการอิสราเอลอย่างเคร่งครัด และแจ้งข้อมูลมายังฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ เพื่อจะได้วางแผนในการให้ความช่วยเหลือต่อไป” นายพิพัฒน์ กล่าวท้ายสุด

ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้ออกประกาศเตือนคนไทยในอิสราเอล โดยขอให้คนไทยเข้าห้องหลบภัยทันทีที่ได้ยินเสียงไซเรน หากไม่ทัน ให้หมอบราบลงกับพื้น ไม่ถ่ายรูป ไม่วิ่งไปที่โล่ง ปฏิบัติตามมาตรการของทางการอิสราเอลอย่างเคร่งครัด และขอให้ทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อาศัยในเขตภาคใต้ใกล้เคียงฉนวนกาซา และภาคกลาง รวมถึงกรุงเทลอาวีฟ ไม่ออกจากที่พักอาศัย

สำหรับคนไทยที่ได้รับผลกระทบโปรดติดต่อได้ที่สถานเอกอัครราชทูตฯ หมายเลขโทรศัพท์ (+972) 5 4636 8150 กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ หมายเลข 0 2575 1047-51 ฝ่ายแรงงานไทย ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ โทร : +972 544693476 What app ID : 0544693476 Line ID : 0544693476 (ตลอด 24 ชั่วโมง)

“พิพัฒน์” เผย ข่าวดี แรงงานล็อตแรกจากอิสราเอลกลับถึงไทย 12 ต.ค. นี้ พร้อมสั่งการทูตแรงงาน เยี่ยมให้กำลังใจพี่น้องแรงงานชาวไทย ณ ศูนย์อพยพ ณ ประเทศอิสราเอล

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในนาม รัฐบาลไทย ภายใต้การนำของท่านนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน มีความยินดีที่แจ้งข่าวดีสำหรับพี่น้องแรงงานชาวไทย ที่ภายหลังสถานการณ์ความรุนแรงในประเทศอิสราเอลตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม ที่ผ่านมา

กระทรวงต่างประเทศ และ กระทรวงแรงงาน ได้ร่วมทำงานอย่างหนักเพื่อดำเนินการอพยพพี่น้องแรงงานไทยไปยังจากพื้นที่สู้รบไปยังพื้นปลอดภัย พร้อมวางแผนในการดำเนินการอพยพพี่น้องแรงงานชาวไทยกลับสู่ประเทศไทย

โดยในวันที่ 9 ตุลาคม ทางรัฐบาลไทยได้รับข่าวดี และ ยืนยันในการนำพี่น้องแรงงานไทยกลุ่มแรก จำนวน 15 คน กลับสู่ประเทศไทยโดยแบ่งเป็น 2 เที่ยวบิน โดยเที่ยวบินแรก LY081 จำนวน 5 คน และ เที่ยวบินที่สอง LY083 จำนวน 10 คน โดยพี่น้องแรงงานชาวไทย จะเดินทางถึง สนามบินสุวรรณภูมิ ในวันที่ 12 ตุลาคม โดยเที่ยวบินแรกจะถึงในเวลา 10.35 น. และ เที่ยวบินที่สองเวลาในเวลา 12.35 น.

และ นายพิพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมาย อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำสถานเอกอัครราชฑูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ในการเดินทางเยี่ยม และ ให้กำลังใจ พี่น้องแรงงานที่อพยพมาจากเขตสู้รบ มายัง ศูนย์หลบภัยแรงงาน ของประเทศอิสราเอล ซึ่งมีพี่น้องแรงงานไทยที่อพยพมาพำนักประมาณ 256 คน

‘รมว.แรงงาน’ ชูนโยบายเร่งด่วน แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานท่องเที่ยว พร้อมอัดฉีดงบอัปสกิล ‘ภาษา-การบริการ’ มั่นใจ!! มีงานทำ-รายได้สูง

(10 ต.ค. 66) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นโยบายด้านพัฒนาทักษะแรงงานในระยะเร่งด่วนตอนนี้ คือการ Upskill แรงงานภาคการท่องเที่ยว เพราะขาดแคลนแรงงานทางด้านนี้มาก จึงต้องเร่งฝึกทักษะและอบรมในสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับภาคการท่องเที่ยวและบริการ

อีกทั้ง ในช่วงที่ผ่านมานายกรัฐมนตรี ท่านเศรษฐา ทวีสิน ได้ไปต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวบินแรก หลังการประกาศนโยบาย ‘วีซ่าฟรี’ แสดงความพร้อมของไทยในการเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยว มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยรัฐบาลคาดการณ์รายได้ที่จะเข้าประเทศกว่า 2.38 ล้านล้านบาท โดยกระทรวงแรงงานในฐานะหน่วยงานหลักในการดูแลกำลังแรงงานของประเทศ ได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในการผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพแรงงาน ส่งเสริมให้แรงงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นแรงงานที่มีผลิตภาพสูง มีทักษะสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อไปว่า การ Upskill และ Reskill ให้แรงงานมีทักษะที่จำเป็นในการทำงาน โดยเติมเต็มทักษะด้านภาษาต่างประเทศ และส่งเสริมนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ หลักสูตรฝึกอบรม เช่นภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีน เพื่อการทำงาน, การสร้างสื่อมัลติมีเดียเพื่อการท่องเที่ยว, นวดแผนไทย สปา, งานบริการอาหารและเครื่องดื่ม นักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม, สปาตะวันตก, การจัดการด้านอาหารและโภชนาการบนเรือ, การบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวอย่างมืออาชีพ

โดยบูรณาการกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยวและบริการ เพื่อสำรวจความต้องการแรงงานและการพัฒนาทักษะฝีมือในส่วนที่แรงงานยังขาดแคลน เพื่อพัฒนากำลังแรงงานภาคท่องเที่ยวให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบกิจการ ในปี 2566 กำลังแรงงานภาคการท่องเที่ยวและบริการเข้ารับการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ทั้งในส่วนที่ภาครัฐและภาคเอกชนดำเนินการรวมจำนวน 288,438 คน เป็นผู้มีงานทำร้อยละ 93.20 ผู้ผ่านการพัฒนาฝีมือแรงงาน สามารถรักษาฐานรายได้คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 51,450.19 ล้านบาท/ปี

สำหรับในปีนี้ ได้สั่งการให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เร่งผลิตและเพิ่มทักษะแรงงานภาคท่องเที่ยวและบริการ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างรายได้ให้ประเทศอย่างเร่งด่วน

ทางด้านของนางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนที่กรมดำเนินการเอง ได้วางเป้าหมายและงบประมาณไปยังหน่วยฝึกที่มีทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาทักษะให้แก่แรงงานภาคการท่องเที่ยว รวมกว่า30,000 คน โดยเฉพาะกลุ่มจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น กระบี่ ภูเก็ต พังงา พัทยา เชียงใหม่ เชียงราย กรุงเทพฯเป็นต้น

พร้อมได้กำชับให้หน่วยฝึกคัดเลือกหลักสูตรที่มีความจำเป็นต้องใช้ในการให้บริการ อาทิ การฝึกด้านภาษาต่างประเทศ กรณีที่เป็นแรงงานที่อยู่ในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ต้องรองรับนักท่องเที่ยว มีการจัดหลักสูตรเกี่ยวกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์ของชุมชน การออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อเป็นฝากของที่ระลึก ส่วนหนึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับตัวสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในชุมชน เพื่อให้แรงงานในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้ตั้งแต่ระดับชุมชน

ทั้งนี้ ได้แจ้งให้หน่วยฝึกไปสำรวจความต้องการแรงงานจากผู้ประกอบกิจการในพื้นที่ด้วย สำหรับผู้ที่สนในเข้าฝึกอบรมในหลักสูตรต่างๆ ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว สามารถสมัครได้ที่สถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 1506 กด 4

‘เศรษฐา’ ยินดี!! อพยพคนไทยกลับถึงประเทศลุล่วง พร้อมสั่ง ‘ก.แรงงาน’ หางานเหมาะสมรองรับ

(6 ต.ค. 66) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ให้สัมภาษณ์ก่อนเป็นประธานการประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 11/2566 หลังเครื่องบินกองทัพอากาศอพยพคนไทยในอิสราเอลจำนวน 130 คน ถึงยังท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 ดอนเมือง เมื่อช่วงเช้าวันนี้ ว่า ก็ดีใจที่คนไทยได้เดินทางกลับประเทศ หลังจากนี้ให้กระทรวงแรงงานช่วยหางานที่เหมาะสมให้ประกอบอาชีพ ส่วนเรื่องการอพยพคนไทยที่เหลือก็พยายามทำอย่างเต็มที่และจะดำเนินการให้เร็วที่สุด

ส่วนเที่ยวบินที่รับคนไทยเดินทางกลับยังยืนยันว่าเป็น 32 เที่ยวใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า อย่างน้อย ต้องมี 32 เที่ยวบิน และจะต้องเพิ่มขึ้น

ก.แรงงาน รับแรงงานชุดที่ 5 จากอิสราเอลกลับถึงไทยแล้ว พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ตั้งโต๊ะอำนวยความสะดวกรับสิทธิประโยชน์จากกองทุนฯ

วันที่ 16 ตุลาคม 2566 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน รับแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในอิสราเอลกลับถึงประเทศไทย จำนวน 244 คน โดยมี ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศที่ได้มาตั้งโต๊ะอำนวยความสะดวกให้คำแนะนำการยื่นคำร้องขอรับสิทธิประโยชน์จากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ ณ บริเวณชั้น 2 ประตู 10 อาคารผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ท่านพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มีความห่วงใยแรงงานไทยทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบในอิสราเอลในครั้งนี้และท่านได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด ในวันนี้ผมจึงได้มอบหมายให้ นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ไปรับแรงงานไทย จำนวน 244 คน ที่เดินทางกลับมาด้วยสายการบินอิสราเอลแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ LY 085 โดยแรงงานไทยกลุ่มนี้ถือเป็นแรงงานชุดที่ 5 ที่ได้แจ้งความประสงค์ไว้กับสถานทูตฯ และเดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเมื่อเวลา 21.15 น.ของวันนี้ ทันทีที่มาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ กระทรวงแรงงานได้จัดเจ้าหน้าที่ตั้งโต๊ะให้บริการคำแนะนำเกี่ยวกับการยื่นคำร้องขอรับสิทธิประโยชน์จากกองทุนเพื่อช่วยเหลือแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ เพื่อให้แรงงานไทยได้รับเงินสิทธิประโยชน์ดังกล่าวโดยเร็วที่สุด

“แรงงานไทยที่เป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ และอยู่ในความคุ้มครอง มั่นใจได้เลยว่าเบื้องต้นมีสิทธิ์รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนฯ กรณีประสบปัญหาต้องเดินทางกลับประเทศไทยเนื่องจากภัยสงคราม รายละ 15,000 บาท อย่างแน่นอน หรือกรณีที่มีการรับรองจากแพทย์ว่าทุพพลภาพ จะได้รับการสงเคราะห์  เป็นจำนวน 30,000 บาท หรือกรณีเสียชีวิตในต่างประเทศ จะสงเคราะห์จำนวน 40,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการจัดการศพในต่าง ประเทศเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 40,000 บาทด้วย นอกจากนี้ประเทศอิสราเอลยังมีสวัสดิการตามกฎหมาย (ประกันการทำงาน + นายจ้างจ่าย) กรณีบาดเจ็บ/ พิการตามการรับรองของแพทย์ แบ่งเป็น บาดเจ็บ 10-19% ได้รับเงินก้อนเดียว ประมาณ 1,440,000 บาท บาดเจ็บเกิน 20% ได้รับเงินเดือนทุกเดือน จนกว่าจะเสียชีวิต โดยประเมินจากความสูญเสีย กรณีเสียชีวิต ภรรยาและบุตร ได้รับเงินเดือนทุกเดือน จนกว่าภรรยาจะแต่งงานใหม่ และบุตรอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ (ภรรยาเป็นเงิน 34,560 บาทต่อเดือน /บุตร เป็นเงิน 5,760-11,520 บาทต่อเดือน)” ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว 

ด้าน นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าสถานการณ์
การให้ความช่วยเหลือพี่น้องแรงงานไทยในประเทศอิสราเอล เพิ่มเติมว่า ล่าสุดได้รับรายงานว่ามี แรงงานไทยที่ถูกจับไปเป็นตัวประกัน จำนวน 17 ราย เสียชีวิต จำนวน 29 ราย (รอยืนยัน) บาดเจ็บ 16 ราย (ยังไม่สามารถระบุชื่อได้ 1 ราย) มีผู้ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เดินทางกลับประเทศไทยกับทางสถานทูตฯ จำนวน 7,696 ราย จำแนกเป็น ผู้ที่ขอเดินทางกลับประเทศไทย จำนวน 7,596 ราย และ ไม่ประสงค์กลับ จำนวน 100 ราย ขณะนี้ เดินทางกลับถึงประเทศไทยแล้วกว่า 500 ราย

ก.แรงงาน ส่งเจ้าหน้าที่ชุดที่ 2 เพิ่มอีก 5 คน ขึ้นเครื่องกองทัพอากาศ ปฏิบัติภารกิจอพยพแรงงานจากอิสราเอลกลับไทย

วันที่ 18 ตุลาคม 2566 เวลา 09.00 น. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายภุชงค์ วรศรี ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ส่งทีมเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน เพิ่มเติมอีกจำนวน 5 คน จากชุดแรกที่ได้เดินทางไปเมื่อวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา มุ่งหน้าสู่อิสราเอลด้วยเที่ยวบินพิเศษจากกองทัพอากาศ เพื่อสมทบการปฏิบัติภารกิจอพยพแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอลกลับประเทศไทย ณ ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 พร้อมด้วยเครื่องอุปโภคบริโภค ได้แก่ ข้าวสาร อาหารแห้ง ซึ่งผู้ประกอบการภาคเอกชนบริจาคสมทบให้กระทรวงแรงงานนำไปช่วยเหลือพี่น้องแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบในอิสราเอลและไม่สามารถออกมาทำงานได้ เนื่องจากต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่หลบภัย โดยมี พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ ให้การต้อนรับ

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร  ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า หลังจากที่กระทรวงแรงงาน ได้ส่งเจ้าหน้าที่ชุดแรกเดินทางไปปฏิบัติภารกิจรับพี่น้องแรงงานไทยกลับบ้านที่อิสราเอลร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ และกองทัพอากาศ นั้น เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานได้เริ่มปฏิบัติภารกิจการอพยพ ช่วยเหลือแรงงานไทยในทันทีที่เดินทางถึงสนามบินนานาชาติ Ben Gurion อิสราเอล ซึ่งขณะนี้สามารถอพยพแรงงานไทยในจุดต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่อันตรายมาอยู่ในที่ที่ปลอดภัยแล้ว แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากปัจจุบันมีผู้แจ้งความประสงค์ขอกลับประเทศไทยเข้ามาจำนวนมากเกือบ 8,000 คน จึงทำให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ยังต้องการเจ้าหน้าที่สนับสนุนภารกิจ และเป็นกำลังเสริม ดังนั้นเพื่อให้การช่วยเหลือแรงงานไทยเป็นไปด้วยความรวดเร็ว และคล่องตัวมากยิ่งขึ้น กระทรวงแรงงานจึงส่งเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานในสังกัดเพิ่มเติมอีก 5 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่เหล่านี้เป็นผู้มีจิตอาสาและสมัครใจไปปฏิบัติภารกิจ ที่มีเจตนารมย์เดียวกันที่ต้องการให้แรงงานไทยที่ต้องการกลับบ้านได้เดินทางกลับอย่างปลอดภัยและสามารถดำเนินการอพยพให้เร็วที่สุด

นายไพโรจน์ ยังกล่าวต่อว่า เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานชุดที่ 2 นี้ จะไปสมทบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานชุดแรกจำนวน 5 คน รวมเป็น 10 คน ซึ่งปฏิบัติงานในพื้นที่จุดอพยพต่างๆ รวมทั้งที่สนามบิน เพื่อทำหน้าที่ในการประสาน อำนวยความสะดวกด้านเอกสาร รวมถึงการรวบรวมแรงงานไทย นอกจากนี้ ยังได้นำเครื่องอุปโภคบริโภคไปเพิ่มเติม ได้แก่ ข้าวสาร อาหารแห้ง ที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ประกอบการ ภาคเอกชน สมาคม ตลอดจนห้างร้านต่างๆ ไปพร้อมกับเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานครั้งนี้ด้วย เพื่อมอบให้กับทูตแรงงานที่อิสราเอล นำไปแจกจ่ายให้กับแรงงานไทยที่พักพิงอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น 

“ ท่านพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมีความห่วงใยแรงงานไทยที่ไปทำงานที่อิสราเอลทุกคน และให้ความสำคัญกับภารกิจการช่วยเหลือพี่น้องแรงงานไทยในครั้งนี้  ผมและเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานทุกคนจะดำเนินการช่วยเหลืออย่างเต็มความสามารถและขอให้เชื่อมั่นว่าพวกเราจะสามารถพาแรงงานไทยทั้งหมดกลับมาได้อย่างปลอดภัย” นายไพโรจน์ กล่าวท้ายสุด

สำหรับรายชื่อทีมเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานชุดที่ 2 จำนวน 5 คน ที่เข้าร่วมปฏิบัติภารกิจในการอพยพแรงงานไทยที่อิสราเอลกลับประเทศไทยในครั้งนี้ ได้แก่1) จ่าเอก พันธ์ชิต กิจหวัง ผู้อำนวยการกลุ่มงานช่วยอำนวยการ กองกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน 2) นายธีระศักดิ์ อยู่เพชร นักวิชาการแรงงานชำนาญการพิเศษ กองพัฒนามาตรฐานและทดสอบฝีมือแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 3) นายธนัตถ์ ช่างสาน นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการพิเศษ กองการเจ้าหน้าที่ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 4) นายเบญจรงค์ ว่องจรรยากุล หัวหน้าสำนักงานประกันสังคมจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง สำนักงานประกันสังคมและ 5) นางสาวบุษบัญชลี ภู่แก้วเผือก นักวิชาการแรงงานชำนาญการ สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน

รมว.แรงงาน “พิพัฒน์” ห่วงใย ลงพื้นที่เมืองคอน มอบสิ่งของเยี่ยมให้กำลังใจผู้ประกันตนทุพพลภาพ

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2566 เวลา 14.30 น.นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพ พร้อมพูดคุยและมอบสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภค ตลอดจนเครื่องใช้ที่จำเป็น เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ผู้ประกันตนจำนวน 3 ราย โดยมี นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วม ณ บ้านของผู้ประกันตนบริเวณพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งผู้ประกันตนทั้งสามรายอยู่ในความดูแลของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครศรีธรรมราช คือ รายแรกชื่อ นางสาวธนิตา ไชยฤกษ์ อายุ 51 ปี เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ เดือนละ 3,229.50 บาท ตลอดชีวิต รายที่ 2 นางสาวสมิตา จินดาแน่ อายุ 45 ปี เป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ เดือนละ 2,400 บาท ตลอดชีวิต และรายที่ 3 นายธีระพงษ์ เอี้ยวสกุล อายุ 59 ปี เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ เดือนละ 1,000 บาท เป็นเวลา 15 ปี    

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม พร้อมดูแลผู้ประกันตนทุกคนให้มีหลักประกันความมั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะผู้ประกันตนทุกคนคือครอบครัวประกันสังคม

ปลัดแรงงาน เปิดงานวันนิคม จันทรวิทุร พร้อมปาฐกถาพิเศษ 30 ปี กระทรวงแรงงานกับการพัฒนาที่ยั่งยืน

วันที่ 31 ตุลาคม 2566 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกล่าวเปิดงานเนื่องในวันนิคม จันทรวิทุร ครั้งที่ 21 ประจำปี 2566 และกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “30 ปี กระทรวงแรงงานกับการพัฒนาที่ยั่งยืน : เป้าหมายของสหประชาชาติกับความพยายาม ผลงานที่ผ่านมา และนโยบายของกระทรวงแรงงานในรัฐบาลชุดใหม่” โดยมี นายฐาปบุตร ชมเสวี ประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธินิคม จันทรวิทุร กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองปลัดกระทรวงแรงงาน นายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน นางสาวกรจิรัฏฐ์ พงจันทร์ศธร ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วม ณ ห้องประชุมกระทรวงแรงงาน ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน    

นายไพโรจน์ กล่าวว่า ท่านพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เน้นย้ำเป็นพิเศษถึงนโยบายของรัฐบาลและนโยบายของกระทรวงแรงงาน ซึ่งนโยบายของรัฐบาลมีกรอบนโยบายในการบริหารและพัฒนาประเทศตามกรอบความเร่งด่วน ได้แก่ กรอบระยะสั้น เป็นการกระตุ้นการใช้จ่าย จุดประกายให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจกลับมาเติบโต ประกอบกับการเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของประชาชนอย่างเร่งด่วนและรวดเร็ว กรอบระยะกลางและระยะยาว ด้านการเสริมขีดความสามารถให้กับประชาชน ผ่านการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชนทุกคน ในส่วนนโยบายของกระทรวงแรงงาน โดยท่านพิพัฒน์ รัชกิจประการ ได้มีนโยบายเพื่อขับเคลื่อนภารกิจกระทรวงแรงงาน 3 ด้าน 8 นโยบาย เพื่อมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานภายใต้แนวคิด “ทักษะดี มีงานทำ หลักประกันทางสังคมเด่น เน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ”  

นายไพโรจน์ กล่าวต่อว่า ตลอดห้วงระยะเวลา 30 ปี ของการดำเนินงานของกระทรวงแรงงานได้มีการขับเคลื่อนการพัฒนาแรงงานของประเทศให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และช่วยเหลือตนเองและครอบครัวได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ภายใต้เป้าหมาย “มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน” และเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายรัฐบาลปัจจุบัน ตลอดจนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติที่กระทรวงแรงงานมีบทบาทเป็นหน่วยงานหลักด้านการพัฒนาแรงงานในเป้าหมายที่ 8 การส่งเสริมงานที่มีคุณค่า สำหรับทุกคน และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยในปี 2566 มีผลงานสำคัญในหลายด้าน อาทิ ส่งเสริมการมีงานทำให้ประชาชนทุกกลุ่มมีรายได้ที่เหมาะสมรฝึกอบรมเพื่อยกระดับทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ป้องกันและแก้ไขการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการทางการแพทย์ เพื่อให้ผู้ประกันตนได้สิทธิประโยชน์ตามกฎหมายประกันสังคม เป็นต้น กระทรวงแรงงานมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาแรงงาน เพื่อให้ แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี และเป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

ด้าน นายฐาปบุตร ชมเสวี ประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธินิคม จันทรวิทุร กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้บริหารทุกระดับ ผู้ปฏิบัติงาน นักวิชาการ นักวิจัย ผู้ทรงคุณวุฒิจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานด้านแรงงาน ร่วมกันกำหนดทิศทางและเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนงานด้านแรงงานให้สอดคล้องกับความจำเป็นแห่งยุคสมัยและในอนาคต ตลอดจนสร้างข้อเสนอแนะร่วมกันทั้งในเชิงนโยบายและปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

‘รมว.พิพัฒน์’ ถก ‘สมาคมจัดหางานฯ’ รุกขยายตลาดส่งออกแรงงานใหม่ พร้อมเสริมความปลอดภัย-ดูแลหนี้สินให้แรงงานไทยที่ไปทำงาน ตปท.

(2 ต.ค. 66) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ นายชินวัฒน์ ใจกุศลสูงยิ่ง นายกสมาคมการจัดหางานไทยไปต่างประเทศ และคณะ ในโอกาสเข้าพบเพื่อแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง รวมทั้งหารือข้อราชการเกี่ยวกับการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ โดยมี นายภุชงค์ วรศรี ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วม ณ ห้องจัตุมงคล ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า “ในวันนี้ผมขอขอบคุณท่านนายกสมาคมการจัดหางานไทยไปต่างประเทศ ที่ได้นำคณะผู้บริหารสมาคมฯ มาเข้าพบผมเพื่อแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสการเข้ารับตำแหน่ง พร้อมทั้งหารือเกี่ยวกับการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งกระทรวงแรงงานขอขอบคุณสมาคมฯ ที่ได้หารือในประเด็นต่างๆ ทั้งในเรื่องการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้การจัดส่งแรงงานทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งในเรื่องนี้ต้องใช้ระยะเวลา

ในส่วนของการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศนั้น ในปี 2566 ผมมีนโยบายที่จะเพิ่มโควตาการจัดส่งอีก 100,000 อัตรา ซึ่งขณะนี้เราเตรียมที่จะส่งออกแรงงานไทยไปหลายประเทศ อาทิ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น รวมทั้งส่งแรงงานฝีมือในสาขาช่างเชื่อมไปประเทศซาอุดีอาระเบีย เป็นการสานต่อนโยบายเดิมที่ดีอยู่แล้วให้ไปเกิดผลมากขึ้น

รวมทั้งการป้องกันการถูกหลอกลวงไปทำงานในต่างประเทศ โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ที่เข้าถึงได้ง่าย ในเรื่องนี้ต้องรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับการไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้อง นอกจากนี้ ผมขอฝากให้สมาคมฯ ซึ่งมีความถนัดในการส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ ให้ช่วยดูแลเรื่องภาระหนี้สินและคำนึงถึงความปลอดภัยของแรงงาน ที่ไปทำงานในแต่ละประเทศเป็นสำคัญ”

ด้าน นายชินวัฒน์ ใจกุศลสูงยิ่ง นายกสมาคมการจัดหางานไทยไปต่างประเทศ กล่าวว่า ในนามผู้บริหารสมาคมการจัดหางานไทยไปต่างประเทศ ขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีพิพัฒน์ฯ เป็นอย่างยิ่งที่เปิดโอกาสให้เข้าพบเพื่อแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง และรับทราบนโยบายการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศในวันนี้

ในส่วนของสมาคมฯ ต้องการให้มีการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนงานหางาน ที่ปัจจุบันยังเป็นอุปสรรคต่อการจัดส่งแรงงานให้สามารถอำนวยความสะดวกขึ้น ร่วมมือกับสมาคมฯ ในการขยายตลาดแรงงานเก่าและตลาดแรงงานใหม่ในประเทศต่างๆ ให้มีเป้าหมายชัดเจนและเป็นรูปธรรม ยกระดับทักษะภาษาและฝืมือแรงงาน โดยให้ศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือยกระดับช่างไทยให้มีฝีมือ เพื่อให้สามารถไปทำงานในต่างประเทศได้มากขึ้น ให้เข้มงวดตรวจสอบกลุ่มมิจฉาชีพเพื่อป้องกันหลอกลวงคนหางานทางสื่อออนไลน์รูปแบบต่างๆ

รวมทั้งเร่งเจรจาขยายตลาดกับท้องถิ่นเมืองต่างๆ ในเกาหลีใต้ที่ประสงค์จะจ้างแรงงานไทยไปทำงานภาคเกษตร เพื่อรองรับให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยที่กลับจากประเทศอิสราเอลได้ เนื่องจากอัตราค่าจ้างใกล้เคียงกัน ซึ่งผลจากการหารือทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การยกระดับความร่วมมือระหว่างกันอย่างใกล้ชิดต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top