Monday, 21 April 2025
กระทรวงพาณิชย์

'พิชัย' ถกเข้ม 10 นโยบายเร่งด่วนพาณิชย์ ยกระดับเศรษฐกิจ เพิ่มโอกาสเกษตรกรส่งออกข้าวเสรี ดันราคามันสำปะหลัง เตรียมบิน UAE เจรจาการค้าการลงทุน กุมภาฯนี้ 

(10 ม.ค.68) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงภายหลังการประชุมติดตามและขับเคลื่อนนโยบายสำคัญเร่งด่วนของกระทรวงพาณิชย์ ณ ห้องประชุม 20610 ชั้น 6 กรมการค้าภายใน โดยมีนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพาณิชย์เข้าร่วม

นายพิชัย กล่าวว่า วันนี้ได้มีการประชุมกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ ในการติดตามผลงานและขับเคลื่อนนโยบายสำคัญเร่งด่วนของกระทรวงพาณิชย์ตามแนวทางของรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในการประชุมได้มีประเด็นสั่งการสำคัญดังนี้ 

(1) ให้เร่งติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจการค้า สื่อสารประชาชนให้ทราบแนวทางของกระทรวงฯและแนวทางเศรษฐกิจของรัฐบาล 

(2) เรื่อง FTA ถ้าเราปิดจบได้มาก การค้าการลงทุนเราจะเพิ่มขึ้น ซึ่งเราพยายามจี้ให้สำเร็จ มีเรื่องของ FTA ไทย-UAE ที่เราอยากดำเนินการให้สำเร็จ ซึ่งจะมีการลงทุนขนาดใหญ่จาก UAE เข้ามาอีกหลายเรื่อง โดยจะมีการร่วมมือกันในหลายระดับและตนจะเดินทางไป UAE เพื่อจะได้มีความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งในเรื่อง ของ FTA Data Center และ Food Security

(3) เตรียมการประชุม World Economic Forum (WEF) ที่ดาวอส จะไปเซ็นสัญญา FTA กับเอฟตา และจะมีประเด็นต่างๆเข้าไปร่วมเจรจาด้วย 

(4)เรื่อง Food Storage เพื่อแก้ปัญหา Food Security คลังอาหารของโลกให้กับประเทศต่างๆ เป็นทิศทางที่กระทรวงเร่งดำเนินการ 

(5) เรื่องเปิดเสรีข้าว ปลดล็อก/
ปรับลด เพื่อเพิ่มโอกาสให้เกษตรกร และผู้ประกอบการรายย่อย เป็นนโยบายหลักของท่านนายกรัฐมนตรีที่อยากให้เปิดเสรี เพื่อให้มีการแข่งขันมากขึ้น ไทยจะได้สามารถส่งออกข้าวได้มากขึ้น มีการลดปริมาณสต๊อกและยกเว้นธรรมเนียมให้รายย่อย โดยหลังจากนี้จะมีการประชุมและแถลงอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 17 มกราคมนี้

(6) เรื่องการดูแลราคาสินค้าเกษตร ในเรื่องมันสำปะหลังปีนี้ทางจีนมีการซื้อช้าหน่อย แต่ตอนนี้เริ่มกลับมาซื้อแล้วทำให้การส่งออกมันสำปะหลังไปจีนเริ่มดีขึ้น และจะมีการเร่งรัดเพื่อนำไปทำอาหารสัตว์เพิ่มเติมให้ราคามันสำปะหลังเพิ่มขึ้น และจะมีการดำเนินการอีกหลายโครงการ ซึ่งกรมการค้าภายในได้เชิญชวนผู้ซื้อมันสำปะหลังจากจีนผ่านสถานทูตจีนประจำประเทศไทย จะมีการซื้อขายมันเส้นอีกประมาณ 300,000 ตัน จะช่วยพยุงราคามันสำปะหลังให้ดีขึ้น และจะช่วยดันราคาสินค้าเกษตรอย่างต่อเนื่อง ให้เป็นปีทองของสินค้าเกษตรต่อไป 

(7) เรื่องการปรับโฉม Thai SELECT ให้เทียบชั้น MICHELIN Star ยกระดับให้มีมาตรฐาน

(8) แก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย และสินค้าด้อยคุณภาพจากต่างประเทศ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและผู้บริโภคของไทย ซึ่งที่ผ่านมามีสินค้าไหลเข้ามาในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่องมีการจับนอมมินีมากขึ้น 
(9) ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลดิจิทัล APP กระทรวงพาณิชย์ ครอบคลุมทุกกรมฯให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการ เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์เกี่ยวข้องกับประชาชนในวงกว้างให้สะดวกและครอบคลุม เป็นตัวอย่างให้กับกระทรวงอื่นในการดำเนินการต่อไป
(10) เรื่อง Thailandbrand ให้มี SME ใหม่ๆเกิดขึ้น โดยใช้สัญลักษณ์ Thailand brand มอบให้ท่านปลัดจะเป็นผู้รับผิดชอบ ให้สินค้าไทยเป็นที่ยอมรับ ซึ่งคนในอาเซียนมองสินค้าไทยเป็นสินค้าพรีเมียม อยากให้คนไทยมองสินค้าไทยเป็นพรีเมียมด้วย สินค้าเรามีคุณภาพสูงอยากให้ส่งเสริมใช้สินค้าไทยกันเยอะๆ ทั้งอาหาร เสื้อผ้า ของไทยให้ได้รับการยอมรับอย่างสูง

“และจากนี้ตนจะเดินทางไปตรวจเยี่ยมกรมต่าง ๆ ซึ่งคนกระทรวงพาณิชย์มีความสามารถดีเยี่ยมอยู่แล้ว จะได้ไปกระตุ้นให้มีงานออกมาเยอะขึ้น ให้ประชาชนมีความสุขมากขึ้น  เราต้องการให้คนตัวเล็กเกษตรกรสามารถส่งออกข้าวได้มากขึ้น โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมและลดสต๊อกส่วนผู้ประกอบการค้าข้าว ซึ่งจะมีการติดตามและประเมินผลต่อไป และเฟสต่อไปจะอำนวยความสะดวกให้มาจดทะเบียนที่เดียว สามารถเป็นทั้งผู้ประกอบการค้าข้าวและผู้ส่งออกข้าว เป็นความร่วมมือระหว่างกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมการค้าภายในและกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อำนวยความสะดวกผู้ประสงค์ประกอบธุรกิจค้าข้าวและการส่งออกข้าว จะได้ข้อสรุปภายในมีนาคมนี้ในเฟสแรก และถ้าเป็นไปด้วยดีจะเปิดเสรีเลยในอนาคต ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรี อยากเห็นการทำลายการผูกขาดและเปิดเสรีในทุกด้าน“ นายพิชัย กล่าว

‘สุชาติ’ เร่งเครื่อง! แพลตฟอร์ม 'ITD Expert Anywhere' ตั้งเป้าพา SMEs ไทยฝ่าอุปสรรค สู่ความสำเร็จระดับโลก

(14 ม.ค.68) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณย์ เปิดเผยว่า “กระทรวงพาณิชย์ โดยสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD เตรียมจัดงานสัมมนา 'เสริมแกร่ง SMEs ในยุคดิจิทัล ผ่านแพลตฟอร์ม ITD Expert Anywhere' ภายใต้แนวคิด “เติบใหญ่ ไปไกลกว่าเดิม Grow Thrive” ในวันที่ 22 มกราคม 2568 ณ โรงแรมกราฟ โฮลเทล กรุงเทพฯ ซึ่งจะจัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทยเข้าถึงคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ได้รับการพัฒนาต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ซึ่งจะเป็นการขยายผลจากความสำเร็จของการให้คำปรึกษาผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มุ่งเน้นการช่วยผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะในด้านการส่งออก การพัฒนา และการปรับตัวหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและระบบออนไลน์ เพื่อให้ SMEs ไทยสามารถเติบโตและพัฒนาธุรกิจได้ในยุคดิจิทัลอย่างยั่งยืน”

นายสุชาติ กล่าวต่ออีกว่า “ทาง ITD ได้ให้ความสำคัญและมุ่งมั่นพัฒนาเครื่องมือนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะยกระดับศักยภาพของ SMEs ไทย โดยในการขยายธุรกิจไปสู่ตลาดสากล ช่วยเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาองค์ความรู้ให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญระดับภูมิภาคและระดับโลกได้ โดยสำหรับปีที่ 2 นี้ มีการพัฒนาให้ครอบคลุมความต้องการที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ระบบ Metaverse เพื่อจำลองการดำเนินธุรกิจในโลกเสมือนจริง และจัดกิจกรรมออนไลน์ ให้คำปรึกษาที่เข้าถึงง่ายและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ผู้ประกอบการจะสามารถเข้าถึงคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆได้  โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่น่าสนใจมาก” 

“และนอกจากนี้ แพลตฟอร์ม ยังได้รับการสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ การสัมมนาครั้งนี้จึงถือเป็นก้าวสำคัญในการเสริมแกร่งให้กับ SMEs ไทยให้สามารถเติบโตและแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน จึงขอเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว เพื่อเป็นการเสริมประสิทธิภาพให้กับตนเองและธุรกิจให้มีความพัฒนาอย่างยั่งยืน” นายสุชาติ กล่าวทิ้งท้าย

‘สุชาติ ชมกลิ่น’ เดินหน้าผลักดันโครงการ ITD ส่ง SMEs เกษตรไทยสู่โลกยั่งยืน พร้อมเปิดโอกาสศึกษาดูงานที่ญี่ปุ่น

เมื่อวันที่ (16 ม.ค.68) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าในการผลักดันโครงการ 'Smart AgriTech to the Sustainability Business' เพื่อยกระดับ SMEs เกษตรไทย ให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกอย่างยั่งยืน โดยสนับสนุนให้สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา หรือ ITD ซึ่งโครงการนี้มุ่งเน้นการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการเกษตร ที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์ การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตรรวมถึงเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน

โดยในโครงการได้คัดเลือกผู้ประกอบการภาคเกษตรที่มีศักยภาพสูงจาก 4 ภูมิภาคของประเทศไทย ได้แก่ ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และ ภาคกลาง รวมทั้งหมด 8 ราย ที่จะได้รับโอกาสพิเศษในการศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 14-17 มกราคม 2568 เพื่อเรียนรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร ที่ทันสมัยจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรและการรักษาสิ่งแวดล้อม ให้ผู้ประกอบการได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงและนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในการพัฒนาธุรกิจของตนเองให้เติบโตและสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งช่วยขยายตลาดสินค้าเกษตรไทยไปสู่ประเทศคู่ค้าที่สำคัญทั่วโลก 

นายสุชาติ กล่าวว่า “ความสำคัญของการศึกษาดูงานครั้งนี้ว่า จะเป็นโอกาสทองสำหรับผู้ประกอบการทั้ง 8 ราย ในการเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรที่ทันสมัยจากญี่ปุ่น พร้อมทั้งนำความรู้ที่ได้กลับมาปรับใช้ในการพัฒนาธุรกิจของตนเองให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยขยายตลาดสินค้าเกษตรไทยไปยังประเทศคู่ค้าที่สำคัญทั่วโลก

โดยโครงการนี้ไม่เพียงแค่ยกระดับ SMEs เกษตรไทยให้แข่งขันในตลาดโลกได้ แต่ยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจเกษตรและขยายตลาดสินค้าเกษตรไทยไปยังประเทศต่างๆ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนและสร้างความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจในระยะยาว”

“โดยโครงการ 'Smart AgriTech to the Sustainability Business' นอกจากจะช่วยยกระดับ SMEs เกษตรไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มจากธุรกิจเกษตรและการขยายตลาดสินค้าเกษตรไทยไปสู่ประเทศคู่ค้าทั่วโลก โดยถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาและสนับสนุนธุรกิจเกษตรไทยเพื่อให้สามารถยืนหยัดได้ในตลาดโลกและสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจในระดับชาติอย่างยั่งยืน” นายสุชาติ กล่าว

‘สุชาติ’ เผย!! 'อาเซียน - แคนาดา’ เร่งขับเคลื่อนเจรจา FTA ตั้งเป้า!! ปิดดีล ขยายโอกาสทางการค้า ภายในปี 2568

(18 ม.ค. 68) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า แคนาดาเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการเจรจาความตกลงการค้าเสรี อาเซียน-แคนาดา (ACAFTA TNC) รอบที่ 11 ระหว่างวันที่ 15-17 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ณ กรุงเทพฯ เพื่อขับเคลื่อนการเจรจาในประเด็นต่างๆ โดยมีเป้าหมายที่จะสรุปผลการเจรจาอย่างมีนัยสำคัญภายในปี 2568 สำหรับการประชุม ACAFTA TNC ในรอบนี้ยังได้มีการจัดการประชุมของคณะทำงานเจรจาอีก 7 กลุ่ม ได้แก่ มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า แนวปฏิบัติที่ดีด้านการออกกฎ การค้าบริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา และกฎหมายและสถาบันควบคู่ไปด้วย  

"ไทยพร้อมสนับสนุน FTA อาเซียน-แคนาดา ให้บรรลุผลสำเร็จในปี 2568 ซึ่งจะเป็น FTA แรกของไทยกับประเทศในภูมิภาคอเมริกาเหนือ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่ภาคธุรกิจ รวมถึงขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนที่เชื่อมโยงทั้งสองภูมิภาคให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน แคนาดาก็ให้ความสำคัญกับการสรุปผลการเจรจา ACAFTA โดยเร็ว เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญระหว่างสองฝ่าย โดยเฉพาะการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มพูนโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน" นายสุชาติ กล่าว 

ด้านนางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการประชุมครั้งนี้ว่า ที่ประชุมให้ความสำคัญกับการติดตามความคืบหน้าการเจรจาของคณะทำงานภายใต้ ACAFTA ทั้ง 19 กลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังมีความล่าช้าและไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งรวมถึงเรื่องการค้าสินค้าที่จะต้องเร่งเจรจารูปแบบการลดภาษี (modality) ระหว่างประเทศสมาชิก การค้าบริการและการลงทุนที่จะต้องเร่งสรุปเรื่องโครงสร้างของข้อบทและรูปแบบการเปิดตลาด และเรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้า ซึ่งอาเซียนจะต้องพิจารณาให้ความเห็นเกี่ยวกับกฎถิ่นกำเนิดสินค้าแบบเฉพาะ (Product Specific Rule: PSR) ที่แคนาดาเสนอมาทั้งหมด 5,612 รายการ รวมทั้งเรื่องการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืนที่อาเซียนจะต้องเร่งสรุปร่างข้อเสนอของอาเซียนให้แคนาดาพิจารณาเพื่อจัดทำร่างข้อบทร่วมในการเจรจาต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ให้แนวทางขับเคลื่อนการเจรจากับคณะทำงานกลุ่มต่างๆ อาทิ เร่งหาข้อสรุปในประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นที่คล้ายคลึงกัน สำหรับประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นที่แตกต่างกันมาก ให้เน้นการหารืออย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันและแสดงความยืดหยุ่นเพื่อหาแนวทางที่ยอมรับร่วมกันได้ และหยิบยกประเด็นที่ติดขัดให้คณะกรรมการ TNC ให้แนวทางแก้ไข พร้อมทั้งผลักดันให้มีการประชุมทั้งในรูปแบบออนไลน์ และ in-person เพื่อให้สามารถสรุปผลการเจรจาได้ทันตามเป้าที่กำหนดไว้ 

สำหรับในปี 2566 การค้ารวมของไทยและแคนาดา มีมูลค่า 2,933.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2565 ร้อยละ 10.41 โดยไทยส่งออกไปยังแคนาดา มูลค่า 1,903.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2565 ร้อยละ 10.07 สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ข้าว ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขณะที่ไทยนำเข้าจากแคนาดา มูลค่า 1,030.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2565 ร้อยละ 11.03 สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ

ทั้งนี้ ในช่วง 11 เดือน (ม.ค. –พ.ย.) ของปี 2567 การค้ารวมของไทยและแคนาดา มีมูลค่า 2,955.90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการส่งออก 1,946.92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นการนำเข้า 1,008.98 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้า 937.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

กระทรวงพาณิชย์ จัดงานแสดงและจำหน่ายสินค้า “อีสาน ไอคอน อัตลักษณ์วิถี สู่ของดีลุ่มน้ำโขง” หนุนเศรษฐกิจฐานรากของไทย เติบโตได้อย่างยั่งยืน

(27 ก.พ. 68) กระทรวงพาณิชย์ โดย สำนักงานพาณิชย์จังหวัดกาฬสินธุ์ จัดงานแสดงและจำหน่ายสินค้า “อีสาน ไอคอน อัตลักษณ์วิถี สู่ของดีลุ่มน้ำโขง” ส่งเสริมการขยายตัวของเศรษฐกิจฐานราก ภายใต้ “โครงการยกระดับความร่วมมือทางการค้าภาคอีสาน สู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำโขง” ชูของดี 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กระจายรายได้สู่ชุมชน พร้อมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ ต่อยอดสินค้าสู่การส่งออก หนุนเศรษฐกิจการค้าไทยเข้มแข็ง เป็นธรรม เติบโต อย่างยั่งยืน ระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม 2568 ณ ศูนย์การค้าเจเจมอลล์ กรุงเทพฯ

ร้อยตรี จักรา ยอดมณี รองปลัดกระทรวงพาณิชย์  เปิดเผยว่ากระทรวงพาณิชย์มีนโยบายในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ สร้างรายได้เพิ่มให้แก่ชุมชนและผู้ประกอบการ SMEs และได้ดำเนินมาตรการต่างๆ ภายใต้นโยบายของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายพิชัย นริพทะพันธุ์) ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาสทางการค้า โดยมีแนวทางการพัฒนาส่งเสริมช่องทางการตลาดที่หลากหลายให้แก่ สินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยใช้หลักการตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ผลักดันการใช้ Soft Power และอัตลักษณ์ของไทย ในการเพิ่มมูลค่าสินค้า พัฒนาคุณภาพสินค้าและผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาด 

ดังนั้น เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศมั่งคั่งยั่งยืน สอดรับกับแผนพัฒนายุทธศาสตร์ชาติ กระทรวงพาณิชย์ โดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนในระดับภูมิภาค จึงได้จัดทำ "โครงการยกระดับความร่วมมือทางการค้าภาคอีสานสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำโขง ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568" เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้มีความเข้มแข็ง ผ่านการพัฒนาองค์ความรู้ ส่งเสริมการตลาดสินค้าภาคอีสาน ส่งเสริมการค้าชายแดน และเชื่อมโยงสินค้าเกษตรสมัยใหม่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

การจัดงานในครั้งนี้มีทั้งผู้ประกอบการ เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ผลิตสินค้าชุมชน/OTOP ผู้ประกอบการ SME ของ 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 40 ราย และกิจกรรมส่งเสริมการจำหน่าย อาทิ คูปองเงินสดใช้เป็นส่วนลดในการซื้อสินค้า กิจกรรมกรรมนาทีทองซื้อสินค้าในราคาพิเศษ และกิจกรรมสุ่มลุ้นรับโชค วันละ 10,000 บาท  ตลอดจนการเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) กับผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศ คาดการณ์มูลค่าการค้ากว่า 50 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถหนุนเศรษฐกิจฐานรากของไทย เติบโตได้อย่างยั่งยืน

จึงขอเชิญผู้ที่สนใจร่วมสนับสนุนผลิตภัณฑ์แห่งความภาคภูมิใจจากท้องถิ่นอีสาน ขยายเศรษฐกิจฐานราก หนุนเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน ภายในงาน “อีสาน ไอคอนอัตลักษณ์วิถี สู่ของดีลุ่มน้ำโขง” ระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม 2568 ณ ลานโปรโมชั่น ศูนย์การค้าเจเจมอลล์ จตุจักร กรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา 10.00 - 19.00 น.


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top