Tuesday, 22 April 2025
กระทรวงพม

พม.มอบรางวัลผู้เสียสละเพื่อสังคม "กัมพล ตันสัจจา ประธานสวนนงนุช" หลังทำประโยชน์ด้านมอบมรดกทางธรรมชาติเยาวชนรุ่นหลัง

วันที่ 21 มีนาคม 2566 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดพิธีมอบรางวัลผู้เสียสละเพื่อสังคม กระทรวง พม. ครั้งที่ 11 ขึ้น โดยนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นผู้มอบให้


ซึ่งมีคนดีและคนดัง ในสังคมทุกระดับที่ได้รับการประกาศคุณความดี 10 คน 10 ด้าน นายกัมพล สัจจา ประธานสวนนงนุช ได้รับรางวัลผู้เสียสละเพื่อสังคมด้านผู้มีปณิธานอันแน่วแน่ ที่จะมอบมรดกทางธรรมชาติให้เป็นมรดกทางการศึกษาแก่เยาวชนรุ่นหลังได้มาเรียนรู้และพัฒนาสืบต่อไป

‘วราวุธ’ ย้ำ!! เร่งช่วยเหลือครอบครัว 23 เหยื่อโรงงานพลุระเบิด พร้อมดูแลด้าน ‘กาย-จิตใจ-การศึกษา-รายได้และความเป็นอยู่’

เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 67 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ให้สัมภาษณ์กรณีได้รับรายงานความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุโรงงานพลุระเบิด ที่ตำบลศาลาขาว อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ว่า ถือเป็นพระมหากรุณาที่คุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี ร่วมกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เชิญสิ่งของพระราชทานมอบแก่ประชาชนผู้ประสบอัคคีภัย องคมนตรีได้เยี่ยมเยียน สอบถามความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ประสบภัย ซึ่งถือเป็นขวัญและกำลังใจ นอกจากผู้ได้รับผลกระทบแล้ว ยังเป็นขวัญและกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ด้วย

นายวราวุธ กล่าวว่า ขณะนี้สำหรับผู้เสียชีวิต 23 ราย เราได้รายละเอียดครบทุกคนแล้ว โดยทราบว่ามีใครเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องบ้าง เกี่ยวข้องอย่างไร เพราะบางคนผู้ได้รับผลกระทบที่สุดคือหลาน โดยมีลูกมีอาชีพรับจ้างรายได้ไม่แน่นอน ฉะนั้น คนที่เสียชีวิตจะเป็นเสาหลัก แต่บางบ้านผู้เสียชีวิตไม่ใช่เสาหลัก ดังนั้นจึงจะพิจารณาเป็นรายๆ ไป

นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า รายละเอียดทั้งหมด แบ่งเป็น 4 มิติ ได้แก่ สุขภาพกาย, สุขภาพจิต, เรื่องการศึกษา, รายได้และความเป็นอยู่ โดยในแต่ละมิติจะมีหลายหน่วยงานเข้ามา อาทิ เรื่องสุขภาพกายและสุขภาพจิต จะเป็นเรื่องของกระทรวงพม. กับกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการศึกษาก็จะมีทั้งเงินช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ เข้ามา ด้านรายได้ก็จะมีเงินประกันสังคม จากกระทรวงแรงงาน ส่วนเรื่องความเป็นอยู่ก็จะมีกระทรวงมหาดไทย และภาคเอกชนเข้ามาช่วย

อย่างไรก็ตาม ตนย้ำกับทีม พม.หนึ่งเดียวแล้วว่า ขณะที่ พม.มีวอร์รูมแล้ว ขอให้มีการประสานงานที่ดีกับหน่วยงานอื่น เพราะจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่สับสน

นายวราวุธ กล่าวอีกว่า ตอนนี้เคสที่หนัก คือ 3 ครอบครัว เด็กเยาวชนที่สูญเสียทั้งพ่อและแม่พร้อมกัน เนื่องจากเป็นเด็กเล็ก ยังเรียนหนังสือ ซึ่งขณะนี้มีหลายฝ่ายเข้าช่วยเหลือเรื่องทุนการศึกษา ทุกคนจะต้องได้เรียนต่ออย่างแน่นอน และต้องขอขอบคุณ ทุกหน่วยงาน ภาคเอกชนทุกราย และอีกหลายฝ่ายที่ยื่นมือเข้ามาช่วยสนับสนุน

“นักสหวิชาชีพ และนักจิตวิทยา รายงานกรณีเข้าประกบดูแลเคส ระบุว่า ตอนนี้ทุกคนอยู่ในภาวะเครียด เศร้าและซึม จิตใจย่ำแย่ ซึ่งในช่วง 7-10 วันแรกนี้ นักสหวิชาชีพ และนักจิตวิทยาจะประกบอยู่ทุกวันตลอดเวลา มีการประเมินสภาพจิตใจกันทุกวัน สถานการณ์หลังพูดคุยแล้วจิตใจเป็นอย่างไร และมีทีมแพทย์ ทีมนักจิตวิทยาจากโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จ.สุพรรณบุรี กระทรวงสาธารณสุข เข้ามาร่วมงานกันด้วย เราต้องตามติดกันทุกวัน เพราะในเบื้องต้น สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การดูแลสภาพจิตใจกันก่อน” นายวราวุธ กล่าว

‘วราวุธ’ ส่งทีม ‘ศรส.-พมจ.นนทบุรี’ เร่งช่วยชายสูงวัยตาบอด เตรียมพาตรวจสุขภาพ หลังอาศัยในบ้านกองขยะ-ไร้น้ำไร้ไฟ

(17 ก.พ. 67) ที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยถึงกรณีกระทรวง พม.ให้การช่วยเหลือชายสูงวัย อายุ 65 ปี พิการตาบอดข้างหนึ่ง ส่วนตาอีกข้างมองเห็นลางๆ อาศัยเพียงลำพังในบ้านเก่าสภาพผุพังทรุดโทรม ภายในบ้าน และรอบบ้านเต็มไปด้วยขยะ และไม่มีน้ำประปา-ไฟฟ้า ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ว่า ขณะนี้ หน่วยงานของกระทรวงพม. ทั้งทีมพม.หนึ่งเดียว และ พม.จังหวัดนนทบุรี ได้ลงพื้นที่เข้าไปช่วยเหลือดูแลคุณตาคนดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการซ่อมแซม ปรับปรุงสภาพของบ้านที่พักอาศัย สำหรับผู้สูงอายุและคนพิการ การติดตั้งน้ำประปา-ไฟฟ้า การติดต่อญาติพี่น้องว่ามีบุตรหลาน หรือว่าคนรู้จักเป็นญาติอยู่ที่ไหน ในการที่จะช่วยดูแล และเรื่องกรรมสิทธิ์โฉนดที่ดินที่คุณตาอาศัยอยู่ และการมอบเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้สูงอายุ ซึ่งขณะนี้ คุณตาได้รับเบี้ยความพิการ และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ อีกทั้งจะหาเจ้าหน้าที่เข้าดูแลรายเคส เข้าไปดูแลอย่างสม่ำเสมอ ในเบื้องต้นนี้ก่อน ส่วนเรื่องการที่จะย้ายคุณตาไปอยู่ที่ไหน คงจะต้องดูในระยะต่อไป

ทั้งนี้ วันที่ 19 ก.พ. 67 ทางเทศบาลนครนนทบุรี จะเข้าไปช่วยทำความสะอาดภายในบ้านและบริเวณโดยรอบ และวันที่ 20 ก.พ. 67 ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน หรือ ‘ศรส.จ.นนทบุรี’ ของกระทรวงพม. จะพาคุณตาไปตรวจสุขภาพ นอกจากนี้ ศรส.จ.นนทบุรี และเทศบาลนครนนทบุรี จะช่วยกันติดตามช่วยเหลือดูแลคุณตาเป็นระยะๆ อีกด้วย

นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า ต้องขอขอบคุณสื่อมวลชนที่ได้แจ้งข่าว จนทำให้ทางกระทรวง พม. หรือแม้แต่ทีมงานเจ้าหน้าที่ของกระทรวง พม. สามารถเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องกลุ่มเปราะบางได้ ซึ่งต้องเรียนว่าในประเทศไทยยังมีพี่น้องกลุ่มเปราะบางอีกจำนวนมากในทุกๆ จังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดที่มีความเป็นอยู่ที่หนาแน่น มีปริมาณประชากรที่เยอะ ทำให้บางครั้งจะทำให้การเข้าไปถึงในแต่ละครอบครัวนั้น อาจจะไม่ละเอียดเท่าที่ควร

ดังนั้น การบูรณาการการทำงาน การพูดคุยกัน ข้ามหน่วยงานของทุกๆฝ่ายนั้น เป็นหัวใจสำคัญ คงจะไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หรืออาสาสมัครของกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง แต่เป็นการทำงานร่วมกัน การแชร์ข้อมูลกัน การบอกต่อซึ่งกันและกัน เพราะว่าบางครั้ง เมื่อเราไปทำงาน จะไปพบปะกับเหตุการณ์ต่างๆ แล้วนำมาบอกเล่ากันว่า เกิดปัญหาตรงนั้นตรงนี้ ซึ่งการแชร์ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นหนทางในการที่ทำให้ทุกหน่วยงานเรียกว่ารัฐบาล สามารถเข้า ไปแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างทันท่วงที

ซึ่งแน่นอน อาจจะมีตกหล่นบ้าง ต้องกราบขออภัยจริงๆ แต่ในบริบทของกระทรวง พม. นั้น เรามีแนวทางในการที่จะเข้าไปเยียวยา สนับสนุน ดูแล แก้ไขปัญหาในทุกๆ บริบท เพียงแต่ว่าบางครั้ง ถ้าหากมีคนแจ้งเหตุเข้ามาแล้ว กระทรวง พม. จะรีบส่งทีมปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วของศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน หรือ ศรส. เข้าไปแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น และหลังจากนั้น เราจะดูว่าการช่วยเหลือในระยะกลางและระยะยาว จะสามารถแก้ไขให้คุณภาพชีวิตของบุคคลนั้นดีขึ้นได้อย่างไร

นอกจากนี้ นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากพบเห็นผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อน สามารถโทรแจ้งมาที่ ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน หรือ ศรส. ผ่านฮอตไลน์ 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งกระทรวง พม. มีทีมปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว พร้อมลงพื้นที่ช่วยเหลือทันที

‘วราวุธ’ ชี้!! ไทยเผชิญวิกฤตประชากร หลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเต็มตัว ชวนร่วมถกหาทางออก 7 มี.ค.นี้ ก่อนชง ครม.-เสนอรายงานต่อ UN

(18 ก.พ. 67) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยถึงการเตรียมการจัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ ‘พัฒนาความมั่นคงครอบครัวไทย ผ่านพ้นภัยวิกฤตประชากร’ ในวันที่ 7 มีนาคม 2567 ว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันประเทศไทย เข้าสู่สภาวะสังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งปัญหาโครงสร้างประชากรกำลังเป็นปัญหา ที่จะทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตนี้ในอนาคตอันใกล้ เมื่อปี 2566 มีปริมาณผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี กว่า 13 ล้านคน ในขณะที่มีเด็กแรกเกิดไม่ถึง 5 แสนคน โดยช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2565 – 2566) ประชากรของประเทศไทยลดลงไปถึง 35,000 คน ถ้าหากว่าเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ คาดว่าประชากรของประเทศไทยที่มีอยู่ 66 ล้านคน นั้น อีกไม่เกิน 50 ปี จะลงไปเหลือประมาณ 30 ล้านคน

นายวราวุธ กล่าวว่า กระทรวง พม. จึงได้จัดโครงการประชุมในรูปแบบเวิร์คช็อปสำหรับการสัมมนาเกี่ยวกับการพัฒนาความมั่นคงของครอบครัวไทย เพื่อให้พ้นภัยวิกฤตประชากร ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม 2567 ณ ห้องเพลนารีฮอลล์ 1 (Plenary Hall 1) ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ และที่สำคัญ งานนี้ จะมีผู้แทนจากทุกๆ วงการ ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน NGOs และหน่วยงานอื่นๆ ที่ต้องเผชิญกับปัญหานี้มาร่วมแลกเปลี่ยนและหาแนวทางวิธีการที่จะเพิ่มจำนวนประชากร ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเพียงแค่ให้คน 2 คนมาอยู่ด้วยกัน แต่ต้องสร้างสังคมที่มีความสุข ต้องสร้างหนทาง สร้างความอบอุ่น สร้างความมั่นคงให้กับคนรุ่นใหม่ จนกระทั่งทำให้เขารู้สึกว่าอยากจะมีครอบครัว อยากจะมีคนสืบสกุล และมีเด็กเกิดใหม่เพิ่มมากขึ้น

นายวราวุธ กล่าวว่า จากรายงาน กระทรวง พม.ได้เริ่มต้นหารือตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2567 ได้เริ่มมีการพูดคุย และมีการเชิญสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และธนาคารโลก (World bank) มาพูดคุยหารือกันก่อนที่วันที่ 7 มีนาคมที่จะถึงนี้ เราจะร่วมกันเวิร์คช็อป จะมีการหารือกันในหลายๆ กลุ่ม และเมื่อได้ผลการพูดคุยกันแล้วจะมีนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีภายในต้นเดือนเมษายนที่จะถึงนี้

และในปลายเดือนเมษายนนี้ กระทรวง พม. จะนำข้อมูลทั้งหมดที่ได้ ไปนำเสนอต่อที่ประชุมสหประชาชาติ เพื่อให้คนทั้งโลกได้รับรู้ว่าวันนี้ ประเทศไทยของเรานั้นกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเรื่องโครงสร้างประชากรที่ทุกๆ ประเทศในโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้กันได้อย่างไร ดังนั้นวันที่ 7 มีนาคมนี้ ขอเชิญชวนทุกๆคน ทุกๆ หน่วยงานเกี่ยวข้องกับปัญหาโครงสร้างประชากร มาร่วมกันแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนความรู้กันได้ที่ห้องเพลนารีฮอลล์ 1 (Plenary Hall 1) ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ

‘วราวุธ’ นำทีม พม.ผนึก ‘AIS’ เดินหน้าเสริมสร้างพลเมืองดิจิทัล หนุนคนไทยท่องโลกออนไลน์อย่างปลอดภัย-รู้ทันภัยไซเบอร์

(25 ก.พ.67) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า อาชญากรรมทางไซเบอร์ถือเป็นภัยคุกคาม ที่สร้างความเสียหายให้กับประชาชนอย่างมาก ทุกฝ่ายจึงจำเป็นต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้กับคนไทย พร้อมบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ในการส่งเสริมความรู้และทักษะที่จำเป็น ต่อการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนใช้งานโลกออนไลน์อย่างปลอดภัย

โดยครั้งนี้เป็นความร่วมมือกับ AIS ในการนำหลักสูตร ‘อุ่นใจไซเบอร์’ ให้บุคลากรของเรากว่า 11,000 คน ได้เรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะทางดิจิทัล ตลอดจนการขยายผลองค์ความรู้ไปยังประชาชนคนทุกช่วงวัย อาทิ ผู้สูงอายุ เด็ก คนพิการ สตรี และอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย และไม่ตกเป็นเหยื่อจากมิจฉาชีพที่แฝงตัวมาในโลกออนไลน์

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS กล่าวว่า AIS ในฐานะผู้ให้บริการด้านดิจิทัลเราไม่เพียงเดินหน้าเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่แข็งแกร่งเพื่อคนไทยเพียงเท่านั้น แต่เรายังให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในด้านการยกระดับทักษะดิจิทัลของคนไทยที่เราเชื่อว่าการเสริมสร้างองค์ความรู้คือหัวใจสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาด้านภัยไซเบอร์ได้อย่างยั่งยืน

ซึ่งทำให้ที่ผ่านมาเราได้พัฒนาการเรียนรู้ด้านทักษะดิจิทัลอย่าง หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ที่มีเนื้อหาแกนหลักสำคัญที่ถูกแบ่งออกเป็น 4P / 4ป ประกอบไปด้วย Practice ปลูกฝังให้มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้องและเหมาะสม, Personality ปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์, Protection เรียนรู้การป้องกันภัยไซเบอร์บนโลกออนไลน์ และ Participation รู้จักการปฏิสัมพันธ์ด้วยทักษะและพฤติกรรมการสื่อสารบนออนไลน์อย่างเหมาะสม ซึ่งหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ถูกขยายผลไปยังบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นิสิต นักศึกษา ผ่านความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่วันนี้ได้เรียนรู้หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์นี้แล้วกว่า 320,000 คน”

“โดยครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือครั้งสำคัญกับหน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพและความมั่นคงในชีวิตของประชาชนอย่าง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการนำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มุ่งเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ที่ครอบคลุมทุกทักษะในโลกดิจิทัลอย่างแท้จริง เข้าไปให้บุคลากรของกระทรวงฯ ได้ศึกษาเรียนรู้ และส่งต่อไปยังประชาชนคนไทยทุกช่วงวัยที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของกระทรวงฯ ได้เสริมทักษะดิจิทัล รู้เท่าทันภัยไซเบอร์ สามารถใช้งานออนไลน์ได้อย่างถูกต้องปลอดภัยและสร้างสรรค์” นายสมชัย กล่าวทิ้งท้าย

โดยการทำงานร่วมกันครั้งนี้ได้ปรับเนื้อหาของหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ให้สอดคล้องกับทักษะที่มีความจำเป็นต่อการเป็นพลเมืองดิจิทัลสำหรับผู้เรียนแต่ละกลุ่มให้มีความเหมาะสม เช่น การเพิ่มองค์ความรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ในหลักสูตรสำหรับผู้ปฏิบัติงานในองค์กร เป็นต้น

โดยสามารถเข้าไปเรียนรู้หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ได้ที่ www.learndiaunjaicyber.ais.co.th, แอปพลิเคชัน อุ่นใจ CYBER, www.m-society.go.th, www.dop.go.th และแอปพลิเคชัน Gold by DOP

‘วราวุธ’ ส่งทีม ‘ศรส.- พม.’ รุดเยี่ยมคุณยายป่วยร่างกายผิดรูป พร้อมเร่งประสานหน่วยงานเข้าช่วยเหลือ ให้ได้สิทธิคนพิการ

(26 ก.พ.67) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการเผยแพร่คลิป วอนช่วยเหลือ คุณยายป่วยร่างกายผิดรูป เดินคล้ายคนคอหัก หันหน้าไม่ได้ ย่านอารีย์ กทม. ล่าสุด วันนี้ (26 ก.พ. 67) เวลา 11.00 น. เจ้าหน้าที่หน่วยปฏิการเคลื่อนที่เร็ว ศรส. หรือ ‘ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน’ กระทรวง พม. พร้อมด้วยศูนย์คุ้มครองคนไทยที่พึ่งกรุงเทพมหานคร ได้ลงพื้นที่บริเวณชุมชนวัดมะกอกกลางสวน เขตพญาไท กรุงเทพฯ พบ คุณยายตามที่รับแจ้ง อายุ 69 ปี มีสภาพร่างกายคอผิดรูป ป่วยด้วยโรคพาร์กินสัน อาศัยอยู่ที่บ้านกับสามีอายุ 73 ปี บุตรสาวอายุ 44 ปี และหลานอายุ 15 ปี

นายวราวุธ กล่าวว่า จากข้อมูลทราบว่า คุณยายป่วยด้วยโรคพาร์กินสันตั้งแต่ปี 2561 และมีอาการคอผิดรูปในช่วงปี 2564 และป่วยติดเตียงมาตลอด จนกระทั่งปี 2566 มีอาการดีขึ้น จึงสามารถเดินได้ ปัจจุบันรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลในพื้นที่ แต่แพทย์ยังไม่ออกใบรับรองความพิการ โดยปกติคุณยายมักจะออกไปเก็บของเก่าย่านอารีย์ มีรายได้ประมาณวันละ 100 บาท ซึ่งจะเดินออกไปประมาณ 3 ชั่วโมง แล้วกลับบ้านเพื่อมาทานยาตามเวลา จนกระทั่งเมื่อ 2 วันที่แล้ว ได้หายออกไปและไม่ได้กลับบ้านตามเวลา ทำให้ไม่ได้กินยา ไม่มีแรง ซึ่งมีคนพบคุณยายไปนอนอยู่หน้าร้านสะดวกซื้อ จึงแจ้งสามีให้ไปรับ สำหรับรายได้ของครอบครัวมาจากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขายข้าวโพดปิ้ง และเก็บของเก่า

นายวราวุธ กล่าวว่า สำหรับแนวทางการช่วยเหลือ ทางศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานคร ได้มอบถุงยังชีพเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น และจะดำเนินการสอบข้อเท็จจริงเพื่อให้การช่วยเหลือบุตรสาวผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวที่มีรายได้น้อย อีกทั้ง ทาง ศรส. ได้ประสานกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) และกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) ให้การช่วยเหลือตามสิทธิสวัสดิการคนพิการและผู้สูงอายุ โดยนัดลงพื้นที่เยี่ยมคุณยายร่วมกันอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ (27 ก.พ. 67) และประสานโรงพยาบาลเพื่อประเมินความพิการ สำหรับการรับสิทธิสวัสดิการคนพิการต่อไป

นายวราวุธ กล่าวว่า หากพบเห็นผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อนทางสังคม ขอให้โทรแจ้งมาที่ ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) กระทรวง พม. ผ่านฮอตไลน์ 1300 บริการตลอด 24 ชั่วโมง โดยหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว ศรส. พร้อมลงพื้นที่ช่วยเหลืออย่างรวดเร็วทันที


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top