Wednesday, 23 April 2025
กฟผ

กฟผ. น้อมสำนึกพระมหากรุณาธิคุณ กรมสมเด็จพระเทพฯ เตรียมจัด '70 พรรษา 7 โครงการเฉลิมพระเกียรติ'

(3 ม.ค.68) กฟผ. น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดทำโครงการ '70 พรรษา 7 โครงการเฉลิมพระเกียรติ' มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิต ส่งเสริมการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ในปี 2568 ถือเป็นปีมหามงคลที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 70 พรรษา ในวันที่ 2 เมษายน 2568 กฟผ. จึงจัดทำโครงการ '70 พรรษา 7 โครงการเฉลิมพระเกียรติ' เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ดังนี้

1) โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยจัดหาและปลูกรักษาพืชหายากสมุนไพรท้องถิ่น รวมถึงเพาะขยายพันธุ์แจกจ่ายกล้าไม้และเมล็ดพันธุ์พืชท้องถิ่น เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพรอบเขื่อนและโรงไฟฟ้าของ กฟผ. 17 แห่ง 

2) โครงการแว่นแก้วเฉลิมพระเกียรติ ออกหน่วยให้บริการตรวจวัดสายตา ประกอบแว่นตารวม 35,000 อัน 

3) โครงการติดตั้งระบบไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เบอร์ 5 กำลังผลิตรวม 70 กิโลวัตต์ ให้แก่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ในพื้นที่ห่างไกล 

4) โครงการเพิ่มคุณภาพอากาศในโรงพยาบาล โดยติดตั้งนวัตกรรมระบบหมุนเวียนและบำบัดอากาศ (City Tree) ภายในโรงพยาบาล 7 แห่ง เพื่อลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และกำจัดเชื้อโรค ไวรัส แบคทีเรีย 

5) โครงการส่งเสริมประสิทธิภาพพลังงาน โดย กฟผ. จะดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงานใน 3 ระบบ ได้แก่ ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบปรับอากาศ และระบบทำความร้อนของมูลนิธิสายใจไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และโรงพยาบาลภายใต้มูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล รวม 3 แห่ง 

6) โครงการสนับสนุนชุดนักเรียนเบอร์ 5 ให้แก่โรงเรียนในพระราชูปถัมภ์ฯ โรงเรียน ตชด. และโรงเรียนในโครงการด้วยรักและห่วงใย จำนวนทั้งสิ้น 7,000 ชุด 

7) กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ณ เขื่อนสิรินธร ระหว่างวันที่ 28 – 30 มีนาคม 2568 

โครงการเฉลิมพระเกียรติฯ ทั้ง 7 โครงการ มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข ส่งเสริมการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสนองพระราชปณิธานและถวายความจงรักภักดี 'เจ้าฟ้านักพัฒนา' ของปวงชนชาวไทย

‘พล.ต.ท.เรวัช’ เร่งสางปมประมูลขุด-ขนถ่านหินแม่เมาะ ย้ำชัด! ไม่มีธง ถูก-ผิดว่าตามข้อเท็จจริง คาดสรุปได้ภายใน ม.ค.นี้

(8 ม.ค.68) จากกรณีที่ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีงานจ้างเหมาขุด-ขนถ่านหิน ที่เหมืองแม่เมาะ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หลังจากมีการร้องเรียนเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง งานจ้างเหมาขุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะของกฟผ. วงเงินงบประมาณ 7,250 ล้านบาท ว่ามีการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบหลักเกณฑ์ ฯลฯ นั้น เพื่อให้เกิดความถูกต้อง โปร่งใส โดยมี พลตำรวจโท เรวัช กลิ่นเกษร เป็นประธานกรรมการ

ล่าสุด พลตำรวจโท เรวัช ได้ออกมาเปิดเผยถึงความคืบหน้าการสอบสวนว่า หลังจากที่ท่านรองนายกฯ พีระพันธุ์ ได้แต่งตั้งตนเป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงการจ้างเหมาขุดถ่านหิน เหมืองแม่เมาะ เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2567 ที่ผ่านมา  หลังจากนั้น ช่วงบ่ายของวันที่ 26 ธ.ค. ก็เรียกประชุมคณะกรรมการทันที พร้อมกับได้ตั้ง พลตำรวจโท ไตรรงค์ ผิวพรรณ เป็นประธานคณะอนุกรรมการสอบสวนฯ เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ ทางคณะอนุกรรมการฯ ได้เริ่มทำการสอบปากคำผู้ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค. ก่อนที่จะหยุดไปในช่วงปีใหม่ จากนั้นในวันที่ 2 ม.ค. 2568 ได้เริ่มทำการสอบปากคำอีกครั้ง โดยได้เรียกมาสอบอีกจำนวน 17 ปาก ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ของ กฟผ. แม่เมาะ 

นอกจากนี้ ยังได้เรียกบริษัทที่ประมูลชนะ รวมถึงบริษัทที่ร้องเรียนมาให้ข้อมูลแล้วเช่นกัน 

พลตำรวจโท เรวัช ย้ำว่า ทางคณะกรรมการสอบสวน จะเร่งทำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้งานที่ได้รับมอบหมายเสร็จโดยเร็ว และหากได้เอกสารครบถ้วน คาดว่าจะสามารถสรุปสำนวนการสอบสวนได้ภายในเดือนมกราคมนี้ 

“ทางคณะกรรมการสอบสวน ได้รับฟังข้อมูลของทั้งสองฝ่ายอย่างครบถ้วน เพื่อนำไปพิจารณาเหตุผลตามข้อกฎหมาย ส่วนใครทําถูกหรือทําผิด ก็จะดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา เพราะการทำงานในครั้งนี้เราไม่มีธงว่า ใครจะถูกจะผิด ถ้าถูกก็บอกถูก ถ้าผิดก็บอกผิด และผมขอยืนยันว่า ไม่มีใครโทรมาขออะไรทั้งสิ้น และหลังจากนี้ เมื่อได้ผลสรุปข้อเท็จจริงแล้ว จะมีการนำเสนอต่อรองนายกฯ พีระพันธุ์ต่อไป”

กฟผ. ผนึกกำลัง ททท. ชวนสัมผัสที่พัก 8 เขื่อนทั่วไทย ตอบโจทย์เทรนด์การทำงานรูปแบบใหม่ - กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน

กฟผ. จับมือ ททท. สานต่อโครงการ Workation Paradise Throughout Thailand Season 2 สนับสนุนเทรนด์การทำงานรูปแบบใหม่ที่ผสานการทำงานและการท่องเที่ยวเข้าด้วยกัน ชวนสัมผัสบรรยากาศธรรมชาติที่เขื่อน 8 แห่งของ กฟผ. ทั่วประเทศ พร้อมมอบส่วนลดที่พัก 30% ตั้งเป้ากระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนและสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการพักผ่อนอย่างยั่งยืน

(17 ม.ค.68) นายชวลิต กันคำ ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า เทรนด์ Workation หรือการทำงานพร้อมการพักผ่อนท่ามกลางธรรมชาติได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหลังการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานจาก Work from Home สู่ Work from Anywhere ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์โควิด-19 กฟผ. จึงร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เดินหน้าสานต่อโครงการ Workation Paradise Throughout Thailand Season 2 เพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยได้สัมผัสประสบการณ์การทำงานในบรรยากาศอันเงียบสงบและงดงามที่เขื่อน 8 แห่งทั่วประเทศ ของ กฟผ. ได้แก่ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี และเขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ และเขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม - 30 มีนาคม 2568

นายชวลิต กันคำ กล่าวเพิ่มเติมว่า กฟผ. ได้ร่วมสนับสนุนโครงการ Workation ของ ททท. มาตั้งแต่ปี 2563 โดยเริ่มจากการมอบส่วนลดค่าที่พัก และยกระดับคุณภาพบ้านพักรับรองด้วยมาตรฐาน SHA Plus ในพื้นที่เขื่อนและโรงไฟฟ้าเพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยว รวมทั้งมีการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวที่หลากหลาย โครงการ Workation Paradise Throughout Thailand Season 2 สะท้อนถึงความตั้งใจของ กฟผ. ในการเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งของ ททท. เพื่อผลักดันการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยมีหัวใจสำคัญคือชุมชนและธรรมชาติ ทุกการเดินทางไม่เพียงแต่สร้างความสุข แต่ยังช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจไทยให้เติบโตไปพร้อมกันอย่างมั่นคงและยั่งยืน

“เขื่อนของ กฟผ. ไม่ได้เป็นเพียงแหล่งผลิตไฟฟ้าสำคัญของประเทศ แต่ยังเป็นจุดหมายปลายทางที่งดงาม ลองมาสัมผัสทิวทัศน์อันตระการตาของเขื่อนทั้ง 8 แห่ง ซึ่งมีเอกลักษณ์และเสน่ห์เฉพาะตัว พร้อมเติมเต็มพลังชีวิต และดื่มด่ำกับความสวยงามของธรรมชาติที่เงียบสงบ การท่องเที่ยวในพื้นที่เขื่อนของ กฟผ. จะไม่เพียงเปลี่ยนบรรยากาศการทํางาน แต่ยังช่วยเติมเต็มเศรษฐกิจชุมชนให้เติบโตไปด้วยกัน กฟผ. ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง และพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกท่าน” นายชวลิต กล่าวเชิญชวน

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมและจองสิทธิ์ได้ที่ www.tourismthailand.org/workationthailand โดยใส่คำค้นหา 'บ้านพักรับรองเขื่อน'

กฟผ. ยันไม่ใช่ต้นตอก่อปัญหาฝุ่น PM2.5 ย้ำ คุมเข้มปล่อยฝุ่น โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ - ใต้

กฟผ. ตระหนักถึงความสำคัญการดูแลคุณภาพอากาศ เผยควบคุมการปล่อยมลสารจากโรงไฟฟ้า กฟผ. ค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนดไว้ พร้อมร่วมมือกับชุมชนบรรเทาปัญหาลดฝุ่น ย้ำมีมาตรการลดฝุ่น โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ - ใต้

(30 ม.ค.68) นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ในช่วงนี้สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 โดยรวมของประเทศสะสมเกินค่ามาตรฐานอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ในส่วนของการดำเนินงานของ กฟผ. ควบคุมดูแลคุณภาพอากาศอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นน้ำของการผลิตไฟฟ้า โดยเลือกใช้เทคโนโลยีในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง ควบคุมการเผาไหม้ของโรงไฟฟ้าให้สมบูรณ์เพื่อลดการเกิดฝุ่น โดยใช้ระบบควบคุมปริมาณการระบายก๊าซออกไซด์ไนโตรเจน (Dry Low NOx Burner) ร่วมกับการฉีดน้ำเข้าไปยังห้องเผาไหม้ (Water Injection) เพื่อควบคุมอุณหภูมิในการเผาไหม้ ลดปริมาณการเกิดออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) ติดตั้งอุปกรณ์ชุดกรองฝุ่น (Inlet Air Filter System) เพื่อกรองฝุ่นที่ปนมากับอากาศที่ใช้ในการเผาไหม้ และติดตั้งระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศแบบต่อเนื่อง (Continuous Emission Monitoring System) ที่ปล่องของโรงไฟฟ้า เพื่อตรวจวัดอัตราการระบายอย่างต่อเนื่อง 

สำหรับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมของ กฟผ. ดังเช่นโรงไฟฟ้าพระนครเหนือและโรงไฟฟ้าพระนครใต้ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งถือเป็นเชื้อเพลิงที่ปล่อยมลสารน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงฟอสซิลประเภทอื่น โดยพบว่าโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ทุกแห่งควบคุมการปล่อยมลสารได้ดีกว่าค่าควบคุมตามที่กำหนดไว้ในรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ก่อนการพัฒนาโครงการ ซึ่งเป็นค่าที่เข้มงวดกว่าค่ามาตรฐานตามประกาศของกรมโรงงานอุตสาหกรรม 

อีกทั้ง กฟผ. ยังใส่ใจในเรื่องวิกฤต PM2.5 ได้ศึกษาวิจัยร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำรวจมลสารทางอากาศ และจำแนกแหล่งกำเนิดของฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ 

ผศ.ดร.สุดจิต ครุจิต อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ที่ปรึกษาของโครงการวิจัยเผยผลวิจัยว่า ฝุ่นจากปล่องของโรงไฟฟ้าพระนครเหนือไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณฝุ่นในบรรยากาศทั่วไปของชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงโรงไฟฟ้าพระนครเหนือที่พุ่งสูงขึ้น โดยพบว่า สัดส่วนขององค์ประกอบทางเคมีของฝุ่น (DNA) จากปล่องโรงไฟฟ้าพระนครเหนือแตกต่างจาก DNA ของฝุ่นในบรรยากาศในพื้นที่ชุมชน นอกจากนี้ ผลการศึกษาการปล่อยฝุ่น PM2.5 จากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ ในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าพระนครเหนือในรัศมี 5 กิโลเมตร พบว่าฝุ่น PM2.5 มาจากการสัญจรบนถนนสายหลักและถนนสายรองมากถึง 73.5% รองลงมาเป็นโรงงานอุตสาหกรรม 13.4% และที่พักอาศัย 5.4% โดยเป็นฝุ่นจากโรงไฟฟ้าพระนครเหนือคิดเป็นสัดส่วนเพียง 1.8% เท่านั้น ส่วนการปล่อยสาร NOx คิดเป็นเพียง 11% ของแหล่งกำเนิดทุกประเภท

นอกจากนี้โรงไฟฟ้า กฟผ. กำลังพิจารณาแนวทางเพื่อช่วยลดปริมาณฝุ่นในพื้นที่ โดยการเพิ่มอุณหภูมิปากปล่องโรงไฟฟ้า (Stack Temperature) ให้สูงขึ้นในบางช่วงเวลา เพื่อช่วยระบายฝุ่นในชั้นบรรยากาศออกไปด้วย 

ในขณะเดียวกันโรงไฟฟ้าและเขื่อน ของ กฟผ. ทั่วประเทศยังดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยคลี่คลายปัญหาฝุ่นให้กับชุมชนโดยรอบพื้นที่ กฟผ. อาทิ ผลักดันการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ภายในประเทศ ติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบ Real Time ผ่านแอปพลิเคชัน Sensor for All กว่า 1,250 จุดทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนเฝ้าระวังและสามารถวางแผน การใช้ชีวิตประจำวันได้ รวมถึงสนับสนุนภารกิจป้องกันไฟป่าและหมอกควันตามที่ได้รับการร้องขอจากหน่วยงานต่าง ๆ

กฟผ ผุดแคมเปญ 'เปลี่ยนฤดูร้อน เป็นฤดูรัก(ษ์)' มอบส่วนลดค่าล้างแอร์ 15,000 สิทธิ์ทั่วประเทศ เริ่ม 15 มี.ค. นี้

กฟผ. ชวนลดค่าไฟฟ้าและลดโลกร้อน จับมือห้างสรรพสินค้าและร้านค้าออนไลน์ มอบส่วนลดค่าล้างเครื่องปรับอากาศ 200 บาท แก่ผู้ใช้เครื่องปรับอากาศติดฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 จำนวน 15,000 สิทธิ์ เริ่มลงทะเบียน 15 มีนาคม - 15 มิถุนายน 2568 ณ จุดขายห้างสรรพสินค้าและร้านค้าออนไลน์รวม 12 แห่ง

(5 มี.ค. 68) นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการล้างเครื่องปรับอากาศเบอร์ 5 ภายใต้แคมเปญ 'เปลี่ยนฤดูร้อน เป็นฤดูรัก(ษ์)' กับผู้แทนจากห้างสรรพสินค้าและร้านค้าออนไลน์ชั้นนำ มอบส่วนลดค่าล้างเครื่องปรับอากาศ 200 บาท จากค่าบริการล้างเครื่องปรับอากาศขนาดไม่เกิน 24,000 บีทียู สำหรับประชาชนที่ใช้เครื่องปรับอากาศติดฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 จำนวน 15,000 สิทธิ์ ณ ห้อง Press Conference อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ กฟผ. อ.บางกรวย จ.นนทบุรี

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. เปิดเผยว่า ภาวะโลกร้อนและอากาศร้อนส่งผลให้เครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานหนักขึ้น โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศซึ่งใช้พลังงานสูงติดอันดับต้น ๆ ทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กฟผ. จึงร่วมมือกับห้างสรรพสินค้าและผู้จำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง จัดแคมเปญ 'เปลี่ยนฤดูร้อน เป็นฤดูรัก(ษ์)' โดยเริ่มต้นจากการรณรงค์ใช้เครื่องปรับอากาศติดฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ตามด้วยการบำรุงรักษาให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าแล้ว ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน ทั้งยังยืดอายุการใช้งานตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และส่งเสริมให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการล้างเครื่องปรับอากาศทุก 6 เดือน จะช่วยประหยัดไฟฟ้าได้กว่า 23 หน่วย/เครื่อง/เดือน ซึ่งตลอดโครงการนี้จะช่วยประหยัดไฟฟ้าได้ 2.14 ล้านหน่วย คิดเป็นค่าไฟฟ้าที่ประหยัดได้ประมาณ 9 ล้านบาท และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 1,119 ตันคาร์บอนไดออกไซด์/1 รอบการล้าง หรือ 6 เดือน

ประชาชนที่สนใจ สามารถยื่นเอกสารโดยใช้บัตรประชาชนและบิลค่าไฟฟ้าเดือนใดเดือนหนึ่งของปี 2568 ณ ห้างสรรพสินค้าและร้านค้าทั้ง 12 แห่ง ได้แก่ โฮมโปร เมกาโฮม เพาเวอร์บาย ไทวัสดุ บีเอ็นบีโฮม ดูโฮม โกลบอลเฮ้าส์ เดอะมอลล์ เอ็มโพเรียม สยามพารากอน ฮาร์ดแวร์เฮาส์ และร้านค้าออนไลน์นอคนอค ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม - 15 มิถุนายน 2568 หรือจนกว่าสิทธิ์จะครบ โดยจะต้องเป็นเครื่องปรับอากาศติดฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ขนาดไม่เกิน 24,000 บีทียู (จำกัด 1 คน/สิทธิ์/1 ครัวเรือน) ติดตามรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ กฟผ. www.egat.co.th และหน่วยงานพันธมิตรทั้ง 12 แห่ง

‘พีระพันธุ์’ ยันทำตามหน้าที่ ปมเบรกประมูลขุด-ขนถ่านหินแม่เมาะ ชี้ชัด เพิกเฉยไม่ได้หลังมีผู้ร้องให้ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างที่หละหลวม

‘พีระพันธุ์’ สั่ง กฟผ.เคลียร์ประมูลขนถ่านหินเหมืองแม่เมาะให้ถูกต้อง ชี้จัดซื้อจัดจ้างหละหลวม ไม่มีความจำเป็นต้องประมูลด้วยวิธีการพิเศษ 

(13 มี.ค. 68) นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ทำหนังสือถึงผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ้ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงวันที่ 7 มี.ค.2568 เรื่องการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีงานจ้างเหมาชุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะของ กฟผ.พร้อมกับส่งสรุปรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีงานจ้างเหมาขุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะ ของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีงานจ้างเหมาชุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะของ กฟผ.เพื่อให้พิจารณาดำเนินการตามความถูกต้องเหมาะสมและตามอำนาจหน้าที่ต่อไป 

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะกำกับดูแลการไฟฟ้าฝ้ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีงานจ้างเหมาชุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะของ กฟผ.เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2567 นั้น บัดนี้ คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นแล้ว 

รวมทั้งในหนังสือดังกล่าวได้ขอให้ผู้ว่า กฟผ.พิจารณาดำเนินการตามความถูกต้องเหมาะสมและตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ตรวจสอบรายงานของคณะกรรมการฯ ประกอบข้อเท็จจริงต่างๆ แล้ว เห็นว่ามีประเด็นที่เป็นข้อสังเกตโดยสรุป ดังนี้

1.กรณีความจำเป็นเร่งด่วนของการจัดจ้าง ปรากฏสาเหตุที่ กฟผ.อ้างว่าต้องดำเนินการจ้างเหมาขุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะตามสัญญาโดยเร่งด่วน เพราะมติจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2567 ซึ่งเมื่อตรวจสอบมติ กพช.ดังกล่าว พบว่ามีสาเหตุมาจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2565 พิจารณาการเลื่อนแผนการปลดเครื่องโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะ เครื่องที่ 8-11 ถึงวันที่ 31 ธ.ค.2568 เนื่องจากคาดการณ์ราคาก๊าชธรรมชาติเหลว (LNG) มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงจนถึงปี 2568 หรือปี 2569 เพราะเหตุสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนยังไม่ข้อยุติ รวมทั้งหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย โดยอุปทานเพิ่มเติมจากโครงการผลิต LNG ยังคงจำกัด เพราะการลงทุนก่อสร้างโครงการผลิตใหม่ลดลง 

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการตามมติ กพช.ดังกล่าวจะส่งผลให้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น 2 ล้านตัน ซึ่งไม่เป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 จากเหตุดังกล่าวเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของ กฟผ.จึงเสนอให้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างชุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะโดยวิธีพิเศษ เป็นสัญญาที่ 8/1 แต่มีข้อขัดข้องหลายประการจึงทำให้ล่าช้า

โดยเฉพาะประเด็นใช้วิธีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาเดิม (สัญญาที่ 4 และสัญญาที่ 9) หรือต้องดำเนินการจัดจ้างใหม่ รวมทั้งหากต้องจัดจ้างใหม่จะดำเนินการโดยวิธีใด และเป็นกรณีเช่นใด 

อย่างไรก็ตามจากความล่าช้าในการดำเนินการดังกล่าวทำให้ปรากฎข้อเท็จจริงว่าสถานการณ์ฉุกเฉินเกี่ยวกับราคาและการขาดแคลนก๊าซที่จะนำมาใช้ผลิตไฟฟ้าตามการคาดการณ์ของ กบง.ในการประชุมเมื่อวันที่ ๑๕ มิ.ย.2565 ที่ให้เสนอต่อ กพช.เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2565 นั้น ไม่เกิดขึ้นจริง

ดังนั้น เหตุฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วนตามข้อเสนอของ กบง.จึงผ่านพ้นไปแล้ว เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างขุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะโดยวิธีพิเศษจึงหมดสิ้นไปแล้ว ซึ่งควรเสนอ กพช.ให้ทราบสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อที่ กพช.จะพิจารณามีมตีในเรื่องนี้ใหม่ แต่กลับไม่มีการดำเนินการเช่นนั้น

อีกทั้งมีข้อมูลน่าเชื่อได้ว่า กฟผ.ยังคงมีสต๊อกสำรองถ่านหินปริมาณมากพอสมควร

นอกจากกรณีข้างต้นแล้วปรากฏว่า ในการประชุม กพช.เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2565 มีมติเห็นชอบให้ กฟผ.นำโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะ เครื่องที่ 4 กลับมาผลิตไฟฟ้าในช่วงปี 2565-2568 ซึ่งหากนับระยะเวลาที่คณะกรรมการ กฟผ.จะอนุมัติให้ว่าจ้างชุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะเมื่อปลายปี 2567 แล้ว ก็เหลือเวลาเพียง 1 ปี ต้องยกเลิกการผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าถ่านหินดังกล่าว

รวมทั้งหากพิจารณาตาม PDP 2018 Revision 1 กำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญามีอัตราสูงกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของระบบอยู่แล้ว ดังนั้น ปริมาณงานที่จะว่าจ้างให้ชุด-ขนถ่านหินตามสัญญาที่ 8/1 ดังกล่าว ย่อมมีปริมาณที่มากเกินความจำเป็นอีกด้วย ดังนั้น จึงไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการว่าจ้างโดยวิธีพิเศษอีกต่อไป

2.การว่าจ้างชุด-ขนถ่านหินแม่เมาะสามารถดำเนินการได้ โดยการเปิดประมูลตามปกติ กฟผ.มีสายงานที่รับผิดชอบในส่วนเหมืองแม่เมาะเป็นการเฉพาะอยู่แล้ว จึงอยู่ในวิสัยที่ กฟผ.จะทราบความจำเป็นที่จะต้องว่าจ้างชุด-ขนถ่านหินได้ล่วงหน้า ซึ่งทำให้วางแผนและเตรียมการเปิดประมูลขุด-ขนถ่านหินแบบกรณีปกติได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีพิเศษ เพราะตามเงื่อนไขสัญญาที่ 4 จะสิ้นลงช่วงสิ้นปี  2568 

ทั้งนี้ หาก กฟผ.จำเป็นต้องใช้ถ่านหินเพิ่มเติม กฟผ.ก็เตรียมการล่วงหน้าที่จะเปิดประมูลขุด-ขนถ่านหินเพิ่มเติมได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีพิเศษ แต่กรณีที่ กฟผ.กล่าวอ้างมติ กพช.เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2565 ว่ามีกรณีจำเป็นเร่งด่วนจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน จึงเป็นเหตุที่นำมาใช้ดำเนินการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ แต่เมื่อสถานการณ์ที่คาดการณ์ไว้ไม่เกิดขึ้นก็อยู่ในวิสัยที่ กฟผ.จะปรับแก้การดำเนินการดังกล่าวให้เหมาะสมและถูกต้องตาม PDP 2018 Revision 1 ได้

3.การพิจารณาการดำเนินการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ กรณีนี้แม้มีข้อโต้แย้งจากผู้เกี่ยวข้องก็ตาม แต่โดยรูปคณะกรรมการฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเห็นว่าเป็นข้อโต้แย้งในด้านการดำเนินการในการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งอยู่ในถ้อยความรู้ของคู่กรณีที่ไม่อาจหาข้อยุติได้สืบเนื่องจากกฎระเบียบของ กฟผ.ในกรณีการจัดซื้อจัดจ้างมีความหละหลวมหลายประการ จึงเป็นเรื่องที่คู่กรณีพึงใช้สิทธิตามกฎหมายดำเนินการต่อไปเอง

‘เสธ.หิ’ ออกโรงแจง 3 ประเด็น ปมตรวจสอบจ้างขุด-ขนถ่านหินแม่เมาะ ชี้ เป็นสิ่งควรทำเพื่อให้การประมูลโปร่งใส และเป็นประโยชน์ต่อ กฟผ.

(13 มี.ค. 68) ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ผู้อำนวยการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...การตรวจสอบอย่างยุติธรรม เป็นสิ่งที่ควรกระทำ

วันนี้ผมได้ฟังสื่อใหญ่พร้อมพิธีกรผู้มีชื่อเสียงในวงการสื่อมวลชน ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ผลการตรวจสอบ การจ้างขุดถ่านหินเมืองแม่เมาะ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ซึ่งผลการออกตรวจสอบ ก็ออกมาทันเวลา ไม่ได้เกิดความเสียหายต่อกระบวนการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแต่อย่างใด ปฐมบทในเรื่องนี้ เกิดจากการร้องเรียนของผู้เข้าร่วมประมูลถึงความโปร่งใสของขั้นตอนต่างๆ ดังนั้นการที่ท่านพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สั่งตรวจสอบความถูกต้อง จึงเป็นเรื่องที่พึงควรจะทำ หลังจากการตรวจสอบแล้ว เมื่อไม่พบการกระทำที่ผิดระเบียบและกฎหมาย ก็แจ้งให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้งสามารถตอบคำถามให้ผู้ร้องเรียนเข้าใจในข้อสงสัยต่าง ๆ ได้

การตรวจสอบดังกล่าวจึงเป็นไปอย่างบริสุทธิ์และยุติธรรม ไม่ได้มีเจตนาจะทำให้ผู้ใดหรือผลประโยชน์ของส่วนรวมต้องเสียหาย ทั้ง 3 ข้อสังเกต ที่ส่งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตไปพิจารณานั้น ก็เป็นหน้าที่ของกรรมการผู้บริหารของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต จะเป็นผู้พิจารณาปรับปรุงแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยต่อการประมูลครั้งต่อไป ว่าได้คำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของรัฐและส่วนรวมแล้วหรือยัง

ผมขออาศัยพื้นที่ตรงนี้ ชี้แจงข้อสังเกต 3 ข้อ ที่ได้ส่งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ได้พิจารณาเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติได้

1.การขุด-ขนถ่านหิน ไม่จำเป็นต้องเร่งด่วน เรื่องนี้มีการกล่าวหาว่าท่านพีระพันธุ์ฯ จะเป็นต้นเหตุของค่าไฟแพง เนื่องจากหากไม่รีบดำเนินการจะต้องไปใช้ก๊าซ ซึ่งมีราคาแพงกว่าถ่านหินมาก 
มุมมองที่ว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนนั้น ผมคงไม่ต้องชี้แจงมาก เพราะทาง กฟผ.ได้โหมสื่อประชาสัมพันธ์ในเรื่องนี้ไปอย่างมากแล้ว แต่มาดูมุมมองที่ว่าไม่เร่งด่วนนั้น เป็นเพราะวิกฤตการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ไม่ได้ขยายตัวและส่งผลกระทบในวงกว้างอย่างที่วิตกกังวลในตอนแรกแต่อย่างใด รวมทั้งการขุด-ขน ตามสัญญาที่ผ่านมาก็สามารถทำได้เกินเป้า ทำให้มีปริมาณถ่านหินสำรองไว้ใช้สำหรับการผลิตได้ถึงประมาณ 3-4 เดือน 

ข้อสังเกตที่ 2.ควรเปิดประมูลตามปกติ และ 

3.ไม่จำเป็นต้องจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ อันนี้เป็นเหตุผลต่อเนื่องมาจากข้อสังเกตที่ 1 ซึ่งตรงไปตรงมาอยู่แล้ว แต่ผมอยากชี้แจงมุมความคิดอีกด้านซึ่งอาจตรงกันข้ามกับท่านพิธีกรดังนี้นะครับ 

ปัจจุบันเหมืองแม่เมาะมีผู้รับเหมาที่รับจ้าง ขุด-ขนดินและถ่าน อยู่จำนวน 2 รายใหญ่ 2 สัญญา คือ 

1.สัญญา 8 ผู้ได้สัญญาคือ บ.สหกล อิควิปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) SQ เริ่มสัญญา 1 ม.ค. 2559 ครบ สัญญา เม.ย.2569

2.สัญญา 9 ผู้ได้รับสัญญา บ.อิตาเลียนไทย ดีเวลเมนท์ จำกัด (มหาชน) ITD เริ่ม สัญญา 1 ม.ค.2562 ครบ สัญญา 31 ธ.ค.2571

ผมอยากให้ท่านดูเวลาที่ประมูลนะครับ สัญญาที่ 8 เริ่มสัญญา 1 ม.ค.2559 แสดงว่าขั้นตอนการประมูลอยู่ในปี 2558 ปีนี้ 2568 ก็คือ 10 ปี มาแล้วนะครับ สัญญาที่ 9 เริ่มสัญญา 1 ม.ค.2562 แสดงว่าขั้นตอนการประมูลอยู่ในปี 2561 ปีนี้ 2568 ก็คือ 7 ปี มาแล้วครับ ผมคิดแบบโง่ๆนะครับ เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีก้าวหน้าเร็วมาก ในปี 2558 กับปี 2561 อาจจะมีบริษัทที่มีเทคโนโลยี สามารถรับงานนี้ได้อยู่จำนวนหนึ่ง หากเราเปิดกว้างให้ประมูลตามปกติไม่เฉพาะเจาะจง ผมเชื่อว่าจะมีบริษัทที่มีเทคโนโลยีสามารถรับงานนี้ได้มากกว่าปี 2558 กับปี 2561 อย่างแน่นอน อีกข้อหนึ่งในเรื่องของเงินทุน เวลาที่ต่างกันมาถึง 10 ปี เนื่องจากความก้าวหน้าทางการเคลื่อนย้ายทุนของโลก ผมเชื่อว่าบริษัทที่มีเงินทุนที่สามารถจะทำงานนี้ได้ก็มีจำนวนมากกว่าในปี 2558 กับปี 2561 เช่นกัน

เนื่องจากระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเป็นระเบียบของตัวเอง ไม่ได้ใช้ระเบียบของทางราชการซึ่งมีความรัดกุมและโปร่งใส จากกรณีที่เกิดขึ้นนี้ ถึงเวลาแล้วหรือยังครับ ที่คณะผู้บริหารของ กฟผ. จะพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างให้โปร่งใสและเป็นธรรมมากขึ้น อาจจะใช้ระเบียบของทางราชการมาใช้เลยก็ได้ เพื่อลดดุลย์พินิจของเจ้าหน้าที่และมีมาตรฐานมากขึ้น เช่นในการประมูลลักษณะนี้ ควรแยกซองเทคนิคกับซองราคา ออกจากกันหรือไม่ ควรประกาศผลซองเทคนิคก่อนหรือไม่ เพื่อให้ผู้ร่วมประมูลสามารถอุทธรณ์ โต้แย้ง และชี้แจงกับคณะกรรมการได้ เมื่อได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ว่าบริษัทใดผ่านทางด้านเทคนิค และสามารถทำงานได้ จึงค่อยเปิดซองราคาต่อไป เหมือนที่หน่วยราชการทั่วไปเขาทำ ก็น่าจะลดข้อกังวลสงสัยของบริษัทผู้ร่วมประมูลได้

มุมมองของผมที่นำเสนอมานี้ อาจจะแตกต่างจากความคิดของท่านพิธีกรทั้ง 2 ท่าน ตามที่กล่าวมานะครับ ผมมีความเห็นว่า การตรวจสอบของท่านพีรพันธุ์สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการทรงพลังงาน ในกรณีนี้เป็นสิ่งที่พึงกระทำ และเมื่อไม่พบความผิดตามระเบียบและกฎหมายก็รีบแจ้งให้ทาง กฟผ.ทราบ เพื่อรีบดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งผมยังไม่เห็นว่าการตรวจสอบนี้จะทำให้เกิดความเสียหายแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม น่าจะเป็นประโยชน์ ต่อผู้บริหาร กฟผ. ได้ไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไข ระเบียบปฏิบัติต่างๆให้ดียิ่งๆขึ้นไป เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน

‘กฟผ.’ ชวนอัพเดท!! เทรนด์เทคโนโลยี โอกาสทางธุรกิจ ‘สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า’

(23 มี.ค. 68) นายสายัณห์ ปานซัง ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นประธานเปิดงาน EGAT EV : Charge Up Your Business งานสัมมนาสำหรับผู้สนใจในธุรกิจสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า โดยนำเสนอข้อมูลทางธุรกิจ แนวคิด เทคโนโลยี และโอกาสความร่วมมือที่จะสามารถต่อยอดให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าสู่การให้บริการในธุรกิจสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เช่น การขายเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า การติดตั้ง ดูแล บำรุงรักษา ตลอดจนผู้ประกอบการที่ต้องการติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านทางการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงเพื่อสร้างรายได้เพิ่มต่อยอดจากธุรกิจเดิมที่มีอยู่ โดยมีผู้ประกอบการให้ความสนใจเข้าร่วมกว่า 300 คน ณ อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี 

นายสายัณห์ ปานซัง ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารธุรกิจ กฟผ. เผยว่า ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา กฟผ. ได้ร่วมขับเคลื่อนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการให้บริการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า EleX by EGAT การให้บริการแอปพลิเคชัน EleXA เพื่ออำนวยความสะดวกและตอบสนองความต้องการผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนการพัฒนาระบบบริหารจัดการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า BackEN EV เพื่อร่วมสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem) ของประเทศ ผ่านการนำเสนอข้อมูล แนวคิด เทคโนโลยี และแนวทางความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน รวมถึงสนับสนุนภาคธุรกิจที่มองหาโอกาสในการลงทุนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน 

ด้านนางณิศรา ธัมมะปาละ ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการธุรกิจนวัตกรรมพลังงาน กฟผ. เสริมว่า กฟผ. มีความตั้งใจที่จะส่งมอบความรู้ ข้อมูล และประสบการณ์ รวมถึงขยายผลนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ได้พัฒนาขึ้นเพื่อให้บริการ EGAT EV Business Solutions โดยเฉพาะระบบ BackEN EV ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร ผู้ใช้งานสามารถค้นหาสถานีและใช้ผ่านแอปพลิเคชัน EleXA เจ้าของสถานีสามารถควบคุมและตรวจสอบการทำงานของสถานีชาร์จแบบเรียลไทม์ รองรับเครื่องชาร์จได้หลากหลายยี่ห้อและการใช้งานพร้อมกันได้จำนวนมาก ชาญฉลาดด้วยระบบแสดงผลและวิเคราะห์ข้อมูลอัจฉริยะ พร้อมรายงานข้อมูลการใช้งานและรายงานทางบัญชี ทำให้ผู้ประกอบการสามารถปรับกลยุทธ์และดำเนินธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ถูกต้อง สร้างรายได้และการเติบโตอย่างยั่งยืน ปัจจุบันจึงมีผู้ประกอบกิจการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เข้ามาใช้บริการ BackEN EV มากกว่า 110 ราย และตั้งเป้ารุกขยายตลาดไปยังกลุ่มบริษัท องค์กร ผู้ประกอบกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจติดตั้งโซลาร์เซลล์ สถานีบริการน้ำมัน และบริษัทที่ติดตั้งระบบไฟฟ้า

นอกจากนี้ กฟผ. ยังเตรียมเปิดตัวโครงการ EGAT Academy เพิ่มขีดความสามารถบุคลากรในธุรกิจสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า โดยร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพเพื่อออกใบรับรองมาตรฐานอาชีพสาขาวิชาชีพบริการยานยนต์ สาขายานยนต์ไฟฟ้า อาชีพช่างเทคนิคติดตั้งและซ่อมบำรุงสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยและความมั่นคงเชื่อถือได้ให้กับระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า 

สำหรับผู้สนใจธุรกิจในการประกอบธุรกิจสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในด้านต่าง ๆ สามารถติดต่อรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ EGAT EV Business Solutions กฟผ. โดยไม่มีค่าใช้จ่าย 

หรือติดตามรายละเอียดได้ที่ Facebook Page: EGAT EV เว็บไซต์ egatev.egat.co.th และ Line OA: @BackenEV

กฟผ. จับมือ ทัพเรือภาคที่ 1 จัดกิจกรรมฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทางทะเล พร้อมสนับสนุนการปรับปรุงซ่อมแซม ท่าเทียบเรือและสะพานทางเดินศึกษาธรรมชาติ เทิดพระเกียรติ รอบเกาะขาม

(27 มี.ค. 68) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับทัพเรือภาคที่ 1 จัดกิจกรรมฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทางทะเล พร้อมสนับสนุนการปรับปรุงซ่อมแซมท่าเทียบเรือและสะพานทางเดินศึกษาธรรมชาติเทิดพระเกียรติ รอบเกาะขาม โดยมีนาวาเอก ธวัชชัย สอนซี รองเสนาธิการทัพเรือภาคที่ 1 เป็นประธาน พร้อมด้วย นายรณภูมิ แสงทอง ผู้อำนวยการโครงการปรับปรุงและขยายระบบส่งไฟฟ้าที่เสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน (อค-ปส.) และผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. รวมทั้งกำลังพลทัพเรือภาคที่ 1 หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชนในพื้นที่อำเภอสัตหีบ เข้าร่วมกิจกรรม ณ อุทยานใต้ทะเลเกาะขาม อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี นาวาเอก ธวัชชัย สอนซี รองเสนาธิการทัพเรือภาคที่ 1 ประธานในพิธี กล่าวว่า อุทยานใต้ทะเล เกาะขาม อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบดูแลโดยทัพเรือภาคที่ 1 ซึ่งการจัดกิจกรรมพัฒนาฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทางทะเลครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อร่วมกันพัฒนาสภาพแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง คืนความอุดมสมบูรณ์ รักษาสมดุลของระบบนิเวศน์ให้เหมาะสมต่อการดํารงชีวิตของสัตว์ทะเล รวมทั้งสร้างรากฐานที่มั่นคง ปลูกจิตสำนึกให้กับเยาวชนและประชาชนทั่วไป มีความรัก หวงแหนและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ขอขอบคุณ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่สนับสนุนงบประมาณฯ และอุปกรณ์ที่เป็นประโยชน์ในการอนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเล รวมทั้งเข้าร่วมกิจกรรมในภาคประชาชนและเยาวชนในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ กิจการท่องเที่ยว ทัพเรือภาคที่ 1 จะนำสิ่งต่างๆ ที่ได้รับมอบไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ต่อไป

นายรณภูมิ แสงทอง ผู้อำนวยการโครงการปรับปรุงและขยายระบบส่งไฟฟ้าที่เสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน (อค-ปส.) กฟผ. กล่าวว่า เกาะขาม เป็นหนึ่งในเกาะที่อยู่ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ที่มีความสมบูรณ์ของแนวปะการัง และยังเป็นแหล่งพักอาศัยของสัตว์ทะเล รวมทั้งพื้นที่บนบกยังมีพันธุ์ไม้หายากนานาชนิด ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินเท้าเยี่ยมชมความสวยงามและศึกษาธรรมชาติบนเกาะ เป็นจำนวนมาก เพื่อความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว จึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงซ่อมแซม สะพานท่าเรือเกาะขาม สะพานทางเดินและทางเดินขึ้นจุดชมวิวเกาะขาม ให้มีความแข็งแรงปลอดภัยอยู่ตลอด ซึ่ง กฟผ. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและร่วมดำเนินกิจกรรม สนับสนุนการอนุรักษ์อุทยานใต้ทะเลเกาะขามมาโดยตลอดระยะเวลา กว่า 7 ปีแล้ว

การจัดกิจกรรมครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ กฟผ. ให้ความสำคัญมาโดยตลอดและยังช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีกับกำลังพลทัพเรือภาคที่ 1 และประชาชนในพื้นที่สัตหีบ รวมถึงการสร้างจิตสํานึกและทัศนคติที่ดี ในการช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมของทุกภาคส่วนและสนับสนุนส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเล ในพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับชุมชนต่อไป

โดยกิจกรรมในวันนี้ ประกอบด้วย การมอบงบประมาณและเสื้อชูชีพ สนับสนุนกิจการท่องเที่ยวทัพเรือภาคที่ 1 ฟังบรรยายจากอาจารย์ ประสาน แสงไพบูร ประธานมูลนิธิกิจกรรมวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์ ร่วมปลูกปะการังและปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำสู่ท้องทะเล และร่วมเก็บขยะชายหาดบนเกาะขาม 

นิราช/พิชญ์ฐญา ทิพย์ศรี ชลบุรี 0909535645

กฟผ. ยืนยันเขื่อนใหญ่ทั่วประเทศปลอดภัยจากแผ่นดินไหว มีเทคโนโลยี ICOLD ตรวจสอบล้ำสมัย เฝ้าระวังพฤติกรรมเขื่อนแบบเรียลไทม์

(18 เม.ย. 68) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยืนยันเขื่อนขนาดใหญ่ภายใต้การดูแลมีความมั่นคงแข็งแรงและปลอดภัยสูงสุด โดยได้รับการออกแบบให้รองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว พร้อมดำเนินการเฝ้าระวังและตรวจสอบพฤติกรรมเขื่อนตามมาตรฐานสากลอย่างเคร่งครัด ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อนได้ผ่านแอปพลิเคชัน 'EGAT ONE'

นายชวลิต กันคำ ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน กฟผ. เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ในประเทศเมียนมา และส่งผลกระทบต่ออาคารบ้านเรือนในหลายจังหวัดของไทย ทำให้ประชาชนบางส่วนเกิดความกังวลต่อความมั่นคงของเขื่อนขนาดใหญ่ในประเทศ ซึ่ง กฟผ. ขอยืนยันว่าเขื่อนทุกแห่งได้รับการออกแบบให้รองรับแผ่นดินไหวไว้ล่วงหน้าแล้ว อีกทั้งมีระบบเฝ้าระวัง ตรวจสอบ และติดตามพฤติกรรมเขื่อนด้วยเครื่องมือวัดเฉพาะทางตามมาตรฐานสากลขององค์การเขื่อนใหญ่ระหว่างประเทศ (ICOLD)

จากการตรวจวัดของเครื่องมือวัดอัตราเร่งพบว่า เขื่อนขนาดใหญ่ของ กฟผ. ไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้ โดยมีค่าที่ตรวจวัดได้อยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับค่าที่ออกแบบไว้ ตัวอย่างเช่น

เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ (ห่างศูนย์กลางแผ่นดินไหว 546.36 กม.) ตรวจวัดได้ 0.00074g 

เขื่อนภูมิพล จ.ตาก (ห่าง 482.82 กม.) ตรวจวัดได้ 0.00457g 

เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี (ห่าง 820 กม.) ตรวจวัดได้ 0.00473g 

เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี (ห่าง 809.8 กม.) ตรวจวัดได้ 0.02590g

ในขณะที่เขื่อนทุกแห่งของ กฟผ. ได้รับการออกแบบให้สามารถรองรับแผ่นดินไหวที่มีอัตราเร่งถึง 0.1–0.2g ซึ่งถือว่าสูงกว่าค่าที่เกิดขึ้นจริงหลายเท่า

ด้านมาตรการดูแลความปลอดภัย เขื่อนและอ่างเก็บน้ำของ กฟผ. ได้ดำเนินการตรวจสอบอย่างเข้มงวดใน 3 ระดับ ได้แก่

ตรวจสอบแบบประจำ – ดำเนินการทุกสัปดาห์ โดยเจ้าหน้าที่เฉพาะทางติดตามข้อมูลจากเครื่องมือ

ตรวจวัด ตรวจสอบแบบเป็นทางการ – ทุก 2 ปี โดยคณะกรรมการประเมินความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อน 

ตรวจสอบกรณีพิเศษ – เมื่อเกิดเหตุการณ์ผิดปกติ เช่น แผ่นดินไหวรุนแรง น้ำหลาก หรือฝนตกหนัก

ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลด้านความปลอดภัยได้อย่างรวดเร็ว กฟผ. ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน EGAT ONE รองรับทั้งระบบ iOS และ Android สำหรับติดตามสถานการณ์น้ำ ข้อมูลเขื่อน และการแจ้งเตือนต่าง ๆ โดยตรงจาก กฟผ. ได้ตลอด 24 ชั่วโมง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top