ถอดรหัส ‘ปูติน’ ปฏิเสธพบ ‘เซเลนสกี’ ที่อิสตันบูล เหตุเพราะรัสเซียมองยูเครนเป็น 'รัฐหุ่นเชิด' ของตะวันตก

นับตั้งแต่การรุกรานยูเครนโดยสหพันธรัฐรัสเซียในปี ค.ศ. 2022 เป็นต้นมา กระบวนการเจรจาสันติภาพยังคงไม่สามารถบรรลุผลในระดับสูงสุดได้ หนึ่งในจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือการปฏิเสธของประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูตินที่จะพบกับประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกีแห่งยูเครน ณ กรุงอิสตันบูลซึ่งเสนอโดยตุรกีในฐานะตัวกลางแต่คำตอบจากมอสโกกลับชัดเจน "ไม่มีเหตุผลที่ต้องพบ" ประธานาธิบดีเซเลนสกีเคยกล่าวไว้ในการให้สัมภาษณ์กับ The Economist ว่า ผมพร้อมเจรจากับปูติน ผมพร้อมมานานสองปีแล้วและผมเชื่อว่า หากไม่เจรจากันเราจะไม่สามารถยุติสงครามนี้ได้ ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ประธานาธิบดีปูตินตอบโต้ผ่านการให้สัมภาษณ์กับสื่อรัสเซียในช่วงปี 2022 ว่า 

“ไม่มีอะไรต้องพูดคุยกับคนที่อยู่ภายใต้การควบคุมของวอชิงตัน หากยูเครนอยากเจรจาพวกเขาต้องแสดงให้เห็นก่อนว่ามีอำนาจตัดสินใจเป็นของตนเอง” การปฏิเสธครั้งนั้นไม่เพียงเป็นการปิดประตูเจรจา หากยังเผยให้เห็นภาพใหญ่ของสงครามที่ใหญ่กว่ายูเครน — สงครามเพื่อกำหนดระเบียบโลกใหม่ (global order) สงครามแห่งอัตลักษณ์ (identity war) และสงครามของการรับรองความชอบธรรม (legitimacy war) การตัดสินใจของปูตินไม่ใช่เพียงการคำนวณทางยุทธศาสตร์ในสนามรบ หากยังเป็นคำประกาศเชิงอุดมการณ์ว่า รัสเซียจะไม่ยอมเจรจากับสิ่งที่ตนมองว่าเป็น “รัฐหุ่นเชิด” ของตะวันตก บทความนี้จึงมุ่งวิเคราะห์การปฏิเสธครั้งประวัติศาสตร์ของผู้นำรัสเซียผ่านกรอบภูมิรัฐศาสตร์ อำนาจเชิงสัญลักษณ์และจิตวิทยาผู้นำ พร้อมผนวกบทวิเคราะห์จาก Pyotr Kozlov ผู้สื่อข่าวรุ่นใหญ่แห่ง The Moscow Times ที่ชี้ให้เห็นว่าเครมลินใช้การเจรจาเป็นเพียง 'กลยุทธ์ซื้อเวลา' (playing for time) มากกว่าความตั้งใจจริงในการหาทางออกทางการทูตแล้วเราจะเข้าใจว่า "ไม่พบ" นั้น หมายถึงอะไรที่ลึกซึ้งกว่าคำว่า "ไม่พร้อม"

1) เมื่อวิเคราะห์ด้วยกรอบทางภูมิรัฐศาสตร์จะพบว่ารัสเซียกับยูเครนอยู่บนภูมิรัฐศาสตร์ของความไม่เท่าเทียม รัสเซียไม่มองยูเครนเป็นรัฐอิสระสมบูรณ์ ในสายตาของมอสโกยูเครนไม่ใช่รัฐเอกราชหากเป็น “ดินแดนหลงทาง” ที่เคยอยู่ในครรลองของจักรวรรดิรัสเซียและยังคงถูกผูกโยงกับโครงสร้างอำนาจและอัตลักษณ์เชิงประวัติศาสตร์ของรัสเซียอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แนวคิดนี้ฝังลึกในจิตสำนึกภูมิรัฐศาสตร์ของเครมลิน โดยเฉพาะในยุคของวลาดิมีร์ ปูติน ผู้ซึ่งเคยกล่าวไว้ว่าชาวยูเครนและชาวรัสเซียคือประชาชนชาติเดียวกัน... ยูเครนคือรัฐที่ถูกสร้างขึ้นเทียม ๆ ประโยคนี้ไม่ใช่คำพูดเล่น ๆ หากเป็นการกำหนด “ฐานคิด” ทางภูมิรัฐศาสตร์ของรัสเซียที่มองความสัมพันธ์กับยูเครนผ่านกรอบของอารยธรรมร่วม (civilizational unity) มากกว่าจะยอมรับความเป็น “เพื่อนบ้านอธิปไตย” นี่คือรากเหง้าของแนวคิดความไม่เท่าเทียม (asymmetric geopolitics) ที่ทำให้การเจรจาระหว่างรัสเซียกับยูเครนแทบจะเป็นไปไม่ได้เพราะมันไม่ใช่การพูดคุยระหว่างสองรัฐที่เท่าเทียมกัน แต่เป็นการ “กำหนดชะตา” ของดินแดนที่ถูกเครมลินมองว่ายังอยู่ภายใต้อิทธิพลที่ชอบธรรมของรัสเซีย ในสายตาของปูตินการนั่งเจรจากับเซเลนสกีจึงเป็นเรื่อง “น่าอับอาย” พอ ๆ กับการยอมรับว่ารัสเซียต้องขอความเห็นชอบจากใครสักคนก่อนจะจัดระเบียบ “พื้นที่หลังบ้าน” ของตนเอง ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นการเปิดช่องให้ยอมรับอัตลักษณ์ของยูเครนในฐานะ “ชาติแยกขาด” ซึ่งเป็นสิ่งที่สวนทางกับแนวคิดจักรวรรดิใหม่ของรัสเซียอย่างรุนแรง

ภูมิรัฐศาสตร์ของรัสเซียในศตวรรษที่ 21 ถูกขับเคลื่อนด้วยความพยายามฟื้นฟู “อิทธิพลเหนือพื้นที่หลังโซเวียต” (post-Soviet space) โดยมียูเครนเป็นเสาหลักของอัตลักษณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์นี้ หากยูเครนหลุดพ้นจากแรงโน้มถ่วงของรัสเซียไปอย่างสิ้นเชิงและกลายเป็นสมาชิกของ NATO หรือสหภาพยุโรปเมื่อไร—โครงสร้างอำนาจแบบ “โลกหลายขั้ว” ที่รัสเซียพยายามสถาปนาก็จะพังทลายลงในทันที การพบกับเซเลนสกีในฐานะ “ผู้นำที่เท่าเทียม” จึงเท่ากับการรับรองความชอบธรรมของรัฐบาลเคียฟ ซึ่งสวนทางกับกรอบความคิดหลักของรัสเซียว่ารัฐยูเครนปัจจุบันคือ puppet regime หรือรัฐบาลหุ่นเชิด ความลังเลในการยอมรับเซเลนสกีจึงเป็นผลโดยตรงจากกรอบความคิดแบบจักรวรรดินิยมใหม่ (neo-imperialism) ที่ยังฝังรากในอุดมการณ์ของผู้นำรัสเซีย โดยเฉพาะในยุทธศาสตร์ “Russian World” (Russkiy Mir) ซึ่งมองว่าดินแดนยูเครนเป็นพื้นที่ที่ควรถูกดึงกลับเข้าสู่อิทธิพลของมอสโกอีกครั้ง กล่าวโดยสรุป การปฏิเสธของปูตินที่จะนั่งโต๊ะเจรจากับเซเลนสกีจึงไม่ใช่เพียงการปฏิเสธข้อเสนอเพื่อสันติภาพแต่เป็นการยืนยันอย่างแข็งกร้าวว่า รัสเซียไม่เคยและจะไม่ยอมรับว่ายูเครนคือ “รัฐเอกราชที่มีอำนาจเทียบเท่า” หากเป็นเพียงภูมิภาคหนึ่งของโลกที่ต้องอยู่ภายใต้ร่มเงาของจักรวรรดิรัสเซียใหม่เท่านั้น

2) เป็นกลยุทธ์การถ่วงเวลา การไม่พบเพื่อซื้อเวลาและปรับแต้มต่อให้กับทางรัสเซีย ในโลกของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ “การเจรจา” อาจไม่ใช่การเดินหน้าเพื่อหาทางออกแต่อาจเป็น “การถ่วงเวลา” เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเกมที่ใหญ่กว่า สำหรับรัสเซียภายใต้การนำของวลาดิมีร์ ปูติน โต๊ะเจรจาไม่ใช่ที่สำหรับสร้างสันติภาพ แต่เป็นสนามประลองเชิงจิตวิทยาที่สามารถใช้เปลี่ยนจังหวะรุกให้เป็นจังหวะตั้งรับ ตั้งรับเพื่อเก็บข้อมูล ตั้งรับเพื่อพักฟื้นยุทธศาสตร์ และตั้งรับเพื่อรุกกลับอย่างทรงพลังในจังหวะถัดไป การปฏิเสธจะพบกับเซเลนสกีในกรุงอิสตันบู ไม่ใช่การปฏิเสธเพราะไร้เหตุผล แต่เป็น “การปฏิเสธเชิงยุทธศาสตร์” ที่มาพร้อมกับการคำนวณอย่างแม่นยำ หากพบกันตอนนี้รัสเซียยังไม่อยู่ในตำแหน่งที่จะได้เปรียบเพียงพอ ดังนั้นจึงยังไม่ควรเล่นไพ่ใบนี้แนวคิดนี้คือการเล่นกับเวลา (strategic temporality) ซึ่งเป็นกลยุทธ์คลาสสิกในสงครามและการทูตแบบมหาอำนาจ โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายหนึ่งต้องการเปลี่ยน “สภาพแวดล้อมเชิงอำนาจ” (power environment) ให้เป็นประโยชน์ต่อฝั่งตนเองมากขึ้นเสียก่อน เช่น การรอให้อาวุธจากตะวันตกส่งไปถึงยูเครนล่าช้า การสร้างความแตกแยกในกลุ่ม NATO หรือแม้แต่การผลักความเหนื่อยล้าเข้าสู่ฝ่ายประชาชนยูเครนผ่านสงครามที่ยืดเยื้อ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ปูตินอาจไม่ได้ปฏิเสธการเจรจาโดยสิ้นเชิง แต่เขาปฏิเสธ “จังหวะนี้” เพราะยังไม่ใช่เวลาที่เขาได้เปรียบมากพอ 

นี่คือสิ่งที่ Pyotr Kozlov เรียกว่า “the diplomacy of delay” การทูตที่ไม่ได้หวังข้อตกลง แต่หวังให้เวลาทำงานแทน การไม่พบจึงไม่ใช่ความล้มเหลวของการทูต แต่มันคือ “การใช้การทูตเป็นเครื่องมือในการทำสงครามแบบไม่ใช้กระสุน” หรืออีกนัยหนึ่งคือ โต๊ะเจรจากลายเป็นสนามเพาะกล้าแห่งความสับสน ที่จะเบ่งบานเป็นความได้เปรียบในสนามรบ ดังนั้นถ้าเซเลนสกีเรียกร้องให้พบหน้า ปูตินอาจไม่ได้หวั่น แต่เขาจะถามกลับว่า—"ทำไมต้องรีบ? ในเมื่อเวลาทำงานให้รัสเซียอยู่แล้ว"

3) การเมืองภายใน การแสดงถึงความเข้มแข็งของผู้นำกับความชอบธรรมในสายตาประชาชน สำหรับวลาดิมีร์ ปูตินการเมืองระหว่างประเทศไม่เคยแยกขาดจากการเมืองภายในประเทศหากแต่เป็นกระจกสะท้อน “ภาพลักษณ์ของผู้นำ” ที่ต้องแกร่ง แน่น และแน่วแน่ “ไม่มีวันอ่อนข้อ ไม่มีวันอ่อนแอ” โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่ระบอบการปกครองของเขากำลังเผชิญความท้าทายจากแรงต้านภายใน ทั้งเศรษฐกิจที่บีบคั้นจากมาตรการคว่ำบาตรและความล้าจากสงครามที่ยืดเยื้อยาวนานเกินกว่าที่โฆษณาชวนเชื่อของรัฐจะกลบได้ทั้งหมด การพบกับเซเลนสกีในโต๊ะเจรจา ณ กรุงอิสตันบูล จึงไม่ใช่แค่เรื่องนโยบายต่างประเทศแต่คือเกมเดิมพันภาพลักษณ์ของผู้นำสูงสุดที่ต้อง “แข็งกร้าวพอที่จะไม่ต่อรองกับศัตรูที่ด้อยกว่า” ในสายตาของรัฐเครมลิน “ถ้าจะคุยก็ต้องคุยกับวอชิงตัน ไม่ใช่กับหุ่นเชิดในเคียฟ” 

ซึ่งเป็นคำกล่าวไม่เป็นทางการของเจ้าหน้าที่รัสเซียรายหนึ่งที่หลุดออกมาทางสื่อ ซึ่งสะท้อนจุดยืนว่า เซเลนสกีไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะได้ “เกียรติ” มานั่งโต๊ะกับปูตินในจิตสำนึกของระบอบอำนาจนิยมแบบรัสเซีย ความชอบธรรม (legitimacy) ไม่ได้มาจากกระบวนการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว แต่มาจากการ “แสดงให้เห็นว่าผู้นำคือผู้ปกป้องชาติ” โดยไม่ยอมก้มหัวต่อแรงกดดันใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นตะวันตกหรือตัวแทนจากยูเครน เพราะการที่ปูตินจะ “พบหน้า” กับเซเลนสกี หมายถึงการยอมรับอีกฝ่ายว่าอยู่ในสถานะเท่าเทียม และนั่นคือภาพที่อาจทลายความชอบธรรมที่เขาสร้างมาตลอดกว่า 20 ปี ยิ่งไปกว่านั้นในบริบทของรัสเซียหลังปี ค.ศ. 2022 ความเข้มแข็งของปูตินไม่ได้ถูกวัดจากผลลัพธ์ของสงครามเท่านั้นแต่ยังวัดจากท่าทีเชิงสัญลักษณ์ เช่น การปฏิเสธไม่พบ การไม่เดินทางไปเจรจา หรือแม้แต่การปล่อยข่าวลือเรื่องการเจรจาที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง เพื่อรักษาอำนาจเชิงวาทกรรมไว้กับเครมลินเพียงฝ่ายเดียว ในโลกของเครมลิน “การไม่พูด” อาจดังกว่า “การพูด” และการ “ไม่พบ” ก็อาจทรงพลังยิ่งกว่าการ “พบแล้วแพ้”

4) รัสเซียมองว่าอิสตันบูลเป็นพื้นที่กึ่งกลางที่ไม่เป็นกลาง ในทางภูมิรัฐศาสตร์ “เมือง” ไม่ได้เป็นเพียงจุดบนแผนที่ หากแต่คือ “สัญลักษณ์” ของอำนาจ วาระ และตำแหน่งทางการเมือง อิสตันบูลเป็นเมืองแห่งสองทวีปและอดีตศูนย์กลางของจักรวรรดิออตโตมัน แม้ดูเหมือนจะเป็นพื้นที่เจรจาที่ “กึ่งกลาง” ระหว่างตะวันตกกับตะวันออก แต่สำหรับรัสเซียแล้วอิสตันบูลไม่เคยเป็นกลางและไม่เคย “ว่างเปล่าจากความหมายทางอำนาจ” ทำไมปูตินจึงไม่อยากเจรจาในอิสตันบูล? คำตอบอยู่ในประวัติศาสตร์ ความรู้สึกและกลยุทธ์ที่ซ่อนอยู่ใต้โต๊ะเจรจา ในสายตาของเครมลินอิสตันบูลคือเวทีของตะวันตกในคราบตะวันออกเป็นพันธมิตร NATO ที่แฝงความไม่ไว้ใจ เป็นประเทศที่แม้จะ “ไม่คว่ำบาตรรัสเซียแบบเปิดหน้า” แต่กลับเปิดประตูให้อาวุธตะวันตกเดินทางเข้าสู่ยูเครนทางอ้อม และที่สำคัญคือ ผู้ที่สนับสนุน Bayraktar TB2 โดรนรบที่ยูเครนใช้โจมตีเป้าหมายของรัสเซีย อย่างได้ผลในช่วงต้นสงคราม นอกจากนี้ตุรกีเองก็เล่นเกมสองหน้าในแบบ “เออร์โดกันสไตล์” ที่พร้อมจะเจรจากับทุกฝ่ายเพื่อประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ของตน ไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงธัญพืชยูเครน (Black Sea Grain Deal) หรือการเสนอเป็นคนกลางในการปล่อยเชลยศึก 

ซึ่งรัสเซียมองว่าตุรกีไม่ได้เป็นกลาง แต่คือผู้หวังผลจากการสวมบทกลาง “To sit in Istanbul is to play Erdogan’s game.” นี่คือคำพูดที่นักวิเคราะห์การเมืองรัสเซียคนหนึ่งกล่าวไว้แบบตรงไปตรงมา อิสตันบูลจึงกลายเป็น “พื้นที่ที่ดูเหมือนกลาง แต่ไม่เคยกลางจริง” เป็นเหมือนสนามแข่งขันที่วางกับระเบิดทางการเมืองไว้ใต้โต๊ะ สำหรับปูตินการเลือกสถานที่เจรจาคือการเลือก “สัญญะของอำนาจ” และเขาไม่มีวันยอมเสียแต้มด้วยการไปปรากฏตัวในสถานที่ซึ่งอาจถูกตีความว่าเป็น “สนามของอีกฝ่าย” ไม่ว่าจะโดยภาพถ่าย การแถลงข่าว หรือข่าวกรองที่เล็ดลอดออกมา เพราะแค่ปรากฏตัวก็อาจตีความได้ว่าอ่อนข้ และในสงครามที่เดิมพันด้วยศักดิ์ศรีชาติ เรื่องแบบนี้คือสิ่งที่เครมลินรับไม่ได้ อิสตันบูลจึงไม่ใช่พื้นที่แห่งความหวังในสายตาของรัสเซีย แต่มันคือเวทีที่ “ข้างหนึ่งหวังจะเจรจา ขณะที่อีกฝ่ายหวังจะซื้อเวลา” และนั่นทำให้โต๊ะเจรจาไม่มีวันเกิดขึ้นจริงแม้จะปูพรมไว้พร้อมแล้วก็ตาม

5) สงครามที่ใหญ่กว่ายูเครน การประลองเชิงอารยธรรมและโครงสร้างโลก สงครามในยูเครนไม่ใช่แค่การยึดดินแดน ไม่ใช่แค่การแย่งเมือง ไม่ใช่แค่สงคราม “ชายแดน” แต่มันคือสงคราม “ชายขอบของระเบียบโลก” สงครามที่เปิดฉากขึ้นเพื่อท้าทายโครงสร้างโลกเสรีนิยมตะวันตกที่ปกครองโลกมานับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็น ในมุมมองของเครมลิน ยูเครนไม่ใช่เพียงประเทศเพื่อนบ้าน แต่คือ “แนวหน้า” ของสงครามอารยธรรม  การต่อสู้ระหว่างอารยธรรมรัสเซียแบบยูเรเชีย (Eurasianism) กับอารยธรรมตะวันตกแบบแองโกล-แซกซัน การเมืองของวลาดิมีร์ ปูตินไม่ใช่แค่เรื่องผลประโยชน์แห่งรัฐ แต่คือการฟื้นฟู “อารยธรรมรัสเซีย” ที่เขาเชื่อว่าตะวันตกพยายามจะบดขยี้ให้เหลือเพียงรอยจารึกในพิพิธภัณฑ์ “ยูเครนไม่ใช่เป้าหมายสุดท้าย แต่คือเวทีแรกของการรบที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น” เป็นวาทกรรมที่สะท้อนออกมาจากทั้งสื่อรัฐและนักคิดสายภูมิรัฐศาสตร์ในรัสเซียอย่างชัดเจน การปฏิเสธที่จะพบกับเซเลนสกีจึงไม่ใช่แค่การดูแคลนเชิงบุคคลหรือการชะลอการเจรจาแต่มันคือการปฏิเสธที่จะ “ลดสงครามเชิงอารยธรรม” ให้กลายเป็นแค่ข้อพิพาทระดับทวิภาคีเพราะในสายตาของปูตินและวงการนโยบายรัสเซีย ยูเครนไม่ใช่ผู้เล่นที่แท้จริงแต่อเมริกาต่างหากคือศัตรูที่เขากำลังประจันหน้า และในเกมระดับนี้การนั่งโต๊ะกับเซเลนสกีเท่ากับลดระดับการต่อสู้ครั้งนี้ลงเป็นแค่ “ความขัดแย้งชายแดน” เท่านั้น 

ขณะเดียวกันโลกก็กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของระเบียบอำนาจ — จากโลกแบบขั้วเดียว (unipolarity) ที่อเมริกาครองอำนาจนำมาเป็นโลกแบบหลายขั้ว (multipolarity) ที่จีน รัสเซีย อินเดีย อิหร่า และกลุ่มประเทศโลกใต้เริ่มโผล่หัวขึ้นมาเรียกร้อง “อธิปไตยเชิงอารยธรรม” ของตนเอง รัสเซียไม่ใช่แค่พยายามเอาชนะยูเครน แต่กำลังขยับบทบาทตนในฐานะ “ทัพหน้าแห่งการต่อต้านโลกาภิวัตน์แบบตะวันตก”ดังนั้นโต๊ะเจรจาที่มีแค่เซเลนสกีจึงไม่ใหญ่พอสำหรับปูติน และไม่เพียงพอสำหรับ “โครงการฟื้นฟูรัสเซียในฐานะขั้วอำนาจโลก” ที่เขาหวังจะจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ สงครามนี้จึงไม่ได้เกี่ยวกับแผนที่ แต่เกี่ยวกับแบบแผนโลกไม่ใช่แค่เรื่องดินแดน แต่เป็นเรื่อง “ความหมายของการมีอยู่” ของอารยธรรมตะวันออกท่ามกลางโลกที่ตะวันตกเขียนบทมาตลอดศตวรรษ

ปีเตอร์ โคซลอฟ (Pyotr Kozlov) นักวิเคราะห์การเมืองอาวุโสแห่งหนังสือพิมพ์ The Moscow Times ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่าไม่ได้มองการเจรจาระหว่างรัสเซียกับยูเครนว่าเป็นความพยายามทางสันติภาพอย่างแท้จริง หากแต่เขาขยี้ให้เห็นชัดว่านี่คือ “สงครามอีกรูปแบบหนึ่งที่เงียบกว่า แต่อันตรายไม่แพ้สนามรบจริง” โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายรัสเซียเป็นผู้ถือไพ่ในเกมนี้ Kozlov ชี้ว่าตั้งแต่ต้นสงครามรัสเซียไม่เคยตั้งใจเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งอย่างแท้จริงแต่กลับใช้ “การเจรจา” เป็นเครื่องมือในการเบี่ยงเบนความสนใจของฝ่ายตะวันตกและเป็นการซื้อเวลาให้กับกองทัพในการจัดระเบียบยุทธศาสตร์ใหม่ อีกทั้งยังใช้โต๊ะเจรจาเป็นพื้นที่ปฏิบัติการเชิงจิตวิทยาเพื่อปลูกฝังความหวังลม ๆ แล้ง ๆ ให้ยูเครนและชาติตะวันตกตายใจ 

สำหรับเครมลิน การเจรจาไม่เคยเป็นของจริง มันคือฉากบังหน้าเพื่อเบี่ยงแรงกดดันในขณะที่รัสเซียปรับยุทธศาสตร์ใหม่ การทูตที่แท้จริงได้ตายไปแล้ว สิ่งที่เหลืออยู่คือการแสดงสำหรับผู้ชมจากต่างประเทศ เขายังชี้ว่าเหตุผลที่ปูตินปฏิเสธจะพบเซเลนสกีไม่ใช่เพราะไม่สามารถพูดคุยกันได้ แต่เป็นเพราะ “การไม่พบ” นั้นทรงพลังกว่า “การพบ” หลายเท่า เพราะมันทำให้ยูเครนตกอยู่ในภาวะคลุมเครือ (strategic ambiguity) ไม่สามารถวางแผนระยะยาวได้ และบั่นทอนความชอบธรรมของเซเลนสกีในฐานะผู้นำที่มีสิทธิเจรจาโดยตรงกับรัสเซีย ยิ่งไปกว่านั้น Kozlov ยังชี้ให้เห็นว่า เครมลินไม่ได้มองเซเลนสกีในฐานะ “คู่เจรจา” แต่เป็นเพียง “ตัวแทน” ของตะวันตกเท่านั้น จึงไม่มีเหตุผลใดที่ปูตินจะต้องลดตัวลงไปนั่งโต๊ะเดียวกันกับผู้นำที่ถูกมองว่า “ไร้อำนาจตัดสินใจจริง” ในสายตาของมอสโก สิ่งที่ชัดเจนในบทวิเคราะห์ของโคซลอฟคือภาพของ “โต๊ะเจรจา” ในบริบทของรัสเซีย คือสนามที่รบด้วยถ้อยคำ บิดเบือนด้วยเวลา และสั่นคลอนด้วยการเล่นกับความหวังของฝ่ายตรงข้าม ยิ่งเครมลินลากเกมออกไปนานเท่าไร พันธมิตรของยูเครนก็จะเริ่มเหนื่อยล้า แตกแถว และหมดความอดทน นี่คือสงครามแห่งความอึดและจิตวิทยา ที่ปูตินรู้ดีว่าตนได้เปรียบในเกมยืดเยื้อ

บทสรุป การที่วลาดิมีร์ ปูตินปฏิเสธที่จะพบกับโวโลดีมีร์ เซเลนสกีในอิสตันบูลไม่ใช่การปฏิเสธเจรจาเฉพาะหน้า แต่คือการปฏิเสธ 'กรอบการรับรู้' ที่ตะวันตกพยายามจะวาดภาพสงครามให้กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างสองรัฐ ทว่าในมุมมองของรัสเซียมันคือศึกชี้ชะตาแห่งอารยธรรมการต่อสู้เพื่อยึดคืนสมดุลของโลกที่เปลี่ยนผ่านไปอย่างรวดเร็วและรุนแรง ภายใต้ฉากหน้าของการทูต ยังมีเกมที่ใหญ่กว่า การซื้อเวลา การกำหนดพื้นที่ต่อรองและการรักษาภาพผู้นำล้วนเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ระยะยาวที่มองเกินกว่ายูเครน มองทะลุไปถึงความพยายามในการจัดระเบียบโลกใหม่ที่ไม่ขึ้นกับอำนาจตะวันตก โต๊ะเจรจาในอิสตันบูลจึงไม่ใช่จุดหมายแต่มันเป็น “สนามทดลอง” ที่รัสเซียเลือกจะเดินหนีเพื่อไปยังสมรภูมิอื่นที่เดิมพันสูงกว่าและหากความขัดแย้งครั้งนี้คือสงครามเพื่ออารยธรรมการเจรจากับผู้นำที่รัสเซียไม่ยอมรับความชอบธรรมก็ย่อมไม่ต่างจากการประกาศยอมแพ้โดยไม่จำเป็น สงครามในยูเครนจึงยังไม่จบ ไม่ใช่เพราะขาดข้อตกลงแต่เพราะขาด 'ความเข้าใจร่วม' ว่าเรากำลังต่อสู้อยู่ในสงครามแบบไหนและเพื่ออะไร


เรื่อง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กฤษฎา พรหมเวค คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง