ประชากรรัสเซียในภาวะวิกฤต หลังอัตราการเกิดลดลงต่อเนื่อง ท่ามกลางความท้าทายในบริบทเศรษฐกิจ สงคราม และภูมิรัฐศาสตร์
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมารัสเซียกำลังเผชิญกับวิกฤตประชากรที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ซึ่งเป็นวิกฤติประชากรที่ลึกซึ้งและต่อเนื่อง หลายฝ่ายมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติในระยะยาว อัตราการเกิดที่ลดลง สัดส่วนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น และอัตราการอพยพของแรงงานฝีมือสูงล้วนบ่งชี้ถึงปัญหาที่ฝังรากลึกและยังหาทางแก้ไม่ได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี ค.ศ. 2023 ที่อัตราการเกิดลดลงถึงระดับต่ำสุดในรอบ 200 ปี ปรากฏการณ์นี้ไม่เพียงสะท้อนถึงปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศ แต่ยังเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น สงครามในยูเครน และการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของสังคมรัสเซีย
โดยในปี ค.ศ. 2023 มีเด็กเกิดใหม่ในรัสเซียเพียงประมาณ 1.2 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำที่สุดนับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ มีเด็กเกิดเพียง 616,200 คน เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี ค.ศ. 2022 ที่มีมากกว่า 635,000 คน หรือมากกว่านั้นในช่วงก่อนโควิด สื่ออิสระและนักวิชาการบางส่วนได้ชี้ว่า จำนวนการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่องนี้เป็นผลมาจาก 1) สถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน 2) ความวิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคต 3) ความไม่มั่นคงทางสังคมและการเมืองจากสงครามในยูเครน 4) ค่านิยมใหม่ที่ไม่เน้นการสร้างครอบครัวในคนรุ่นใหม่
ถึงแม้จะผ่านพ้นช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ไปแล้ว แต่จำนวนผู้เสียชีวิตในรัสเซียยังคงอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้สงครามในยูเครนยังได้คร่าชีวิตประชาชนและทหารรัสเซียจำนวนมาก (ตัวเลขไม่เป็นทางการระบุหลักแสนราย) ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อโครงสร้างประชากรโดยเฉพาะในกลุ่มชายหนุ่มวัยแรงงาน นอกจากนี้หลังการประกาศระดมพลบางส่วนในเดือนกันยายน ค.ศ. 2022 (partial mobilization) มีชายชาวรัสเซียหลายแสนคนอพยพออกนอกประเทศ โดยเฉพาะผู้มีการศึกษาและทักษะสูง เช่น โปรแกรมเมอร์ วิศวกร นักวิจัย ฯลฯ ทำให้รัสเซียสูญเสียทรัพยากรมนุษย์สำคัญ ซึ่งอาจกระทบต่ออัตราการเกิดในระยะยาว นักประชากรศาสตร์ชี้ว่า หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง รัสเซียอาจเห็นจำนวนประชากรลดลงจากราว 143 ล้านคนในปัจจุบัน เหลือเพียง 130 ล้านคนในปี ค.ศ. 2050 หรืออาจต่ำกว่านั้นในสถานการณ์เลวร้าย สถาบันเพื่อการวิเคราะห์และคาดการณ์เชิงยุทธศาสตร์ «ИСАП» ของรัสเซียรายงานว่า รัสเซียกำลังเข้าสู่ “ยุคประชากรหดตัว” «эпоха демографического сжатия» ซึ่งเป็นผลจากทั้งการเกิดที่น้อยเกินไป การเสียชีวิตที่มาก และการย้ายถิ่นออก
แม้รัฐบาลรัสเซียจะพยายามส่งเสริมการเกิดอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการสวัสดิการต่าง ๆ เช่น เงินอุดหนุน “ทุนมารดา” «материнский капитал» แต่แนวโน้มอัตราการเกิดกลับยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง สาเหตุหลักมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้างในมิติ เศรษฐกิจ และ สังคม ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1) ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่สูงขึ้น เงินเฟ้อ ค่าอาหารและที่อยู่อาศัยพุ่งสูง โดยเฉพาะหลังจากรัสเซียเผชิญกับการคว่ำบาตรระหว่างประเทศจากกรณีสงครามในยูเครนรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนไม่เพียงพอในการดูแลลูกมากกว่าหนึ่งคนโดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่อย่างมอสโกหรือเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจครอบครัวต้องเผชิญกับภาระที่หนักกว่าภูมิภาคอื่น ๆ หลายเท่า ค่าเช่าหรือค่าผ่อนชำระอพาร์ตเมนต์มีราคาเฉลี่ยสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศถึง 2–3 เท่า ค่าเลี้ยงดูเด็กในศูนย์รับเลี้ยงหรือโรงเรียนอนุบาลเอกชนสูงจนครอบครัวรายได้ปานกลางเข้าไม่ถึง ค่าจ้างพี่เลี้ยงเด็กในมอสโกเฉลี่ยอยู่ที่ 60,000–80,000 รูเบิล/เดือน (ราว 700–900 ดอลลาร์) ซึ่งเทียบเท่าหรือสูงกว่าค่าแรงเฉลี่ยในหลายภูมิภาคของประเทศ รายงานจาก Институт демографии НИУ ВШЭ ระบุว่า “ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการเลี้ยงดูเด็กหนึ่งคนในมอสโกตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ 18 ปีสูงกว่า 11 ล้านรูเบิล (ประมาณ 125,000 ดอลลาร์)” ซึ่งเป็นอัตราที่ “ไม่สอดคล้องกับรายได้ของชนชั้นกลางทั่วไป”นักประชากรศาสตร์อย่างเอเลนา ซาคาโรวา «Елена Захарова» จาก Russian Academy of Sciences ชี้ว่า“ในระบบเศรษฐกิจที่เสี่ยงและมีต้นทุนการดำรงชีวิตสูงเช่นนี้ ครอบครัวจำนวนมากไม่สามารถ ‘แบกรับ’ ค่าใช้จ่ายของเด็กแม้แต่หนึ่งคนได้” จากข้อมูลของธนาคารกลางรัสเซีย «Банк России» ปี ค.ศ. 2023 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ประมาณ 7.4% แต่ในหมวดสินค้าเด็กเพิ่มขึ้นมากกว่า 10–15% ในบางเขตเมืองราคานม ผ้าอ้อม ของใช้เด็ก และบริการทางการแพทย์พุ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาและสาธารณสุขที่เพิ่มสูงส่งผลให้ครอบครัวรุ่นใหม่ลังเลในการมีลูกหรือมีลูกเพิ่ม รายงานของ РАНХиГС (Russian Presidential Academy of National Economy and Public Administration) ชี้ว่า “ระดับรายได้ต่ำและความรู้สึกถึงความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่เลื่อนการแต่งงานและการมีบุตร” ปัจจัยข้างต้นนำไปสู่การเลื่อนหรือยกเลิกแผนการมีบุตร โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นกลางที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง การลดขนาดครอบครัวลงเหลือลูกคนเดียว หรือไม่แต่งงานเลย และภาวะ “urban childfree” ที่กำลังขยายตัวในหมู่คนหนุ่มสาวในเขตเมืองที่เลือกเส้นทางการงาน ความมั่นคง และเสรีภาพ มากกว่าการมีบุตร
2) การเปลี่ยนแปลงของค่านิยมและโครงสร้างครอบครัว การแต่งงานล่าช้าและการเลือกที่จะอยู่คนเดียว (Singlehood) กลายเป็นเรื่องปกติในหมู่คนรุ่นใหม่โดยเฉพาะในเขตเมือง การให้ความสำคัญกับอาชีพและความมั่นคงส่วนบุคคลมากกว่าการมีครอบครัวและลูกหลาน รวมถึงอัตราการหย่าร้างสูงโดยรัสเซียมีอัตราการหย่าร้างสูงติดอันดับต้น ๆ ของโลก ส่งผลต่อทัศนคติของคนรุ่นใหม่ที่มองว่าครอบครัวไม่มั่นคง อเล็กซานเดอร์ ซินเนลนิโคฟ «Александр Синельников» นักสังคมวิทยาชาวรัสเซียชี้ว่า“ความคิดเรื่องครอบครัวในรัสเซียเปลี่ยนจาก ‘การมีลูกเพื่ออนาคตชาติ’ เป็น ‘จะมีลูกเมื่อรู้สึกว่าตัวเองมั่นคงเพียงพอ’ ซึ่งในเงื่อนไขปัจจุบัน แทบไม่มีใครรู้สึกเช่นนั้น”
3) การขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานสำหรับครอบครัว พบว่าในรัสเซียสถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาลไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในเขตเมืองชั้นนอกและในภูมิภาคห่างไกล ชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่นมีน้อยทำให้พ่อแม่โดยเฉพาะผู้หญิงทำงานลำบากเมื่อมีลูก การสนับสนุนทางรัฐจำกัด แม้จะมีนโยบายให้ “ทุนมารดา” «Материнский капитал» ที่ให้เงินสนับสนุนแก่ครอบครัวที่มีลูกคนที่สองหรือสาม และถูกขยายเพิ่มเติมในยุคของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แต่ผลลัพธ์ยังไม่ยั่งยืนแต่ระบบสนับสนุนอื่น ๆ เช่น ค่าดูแลเด็กหรือการลางานเพื่อเลี้ยงดูบุตรยังไม่เพียงพอในทางปฏิบัติ รวมถึงมีการเสนอสิทธิพิเศษด้านที่อยู่อาศัย เงินสนับสนุนการศึกษา และลดภาษีสำหรับครอบครัวที่มีลูกหลายคนซึ่งถึงแม้จะมีนโยบายเหล่านี้ แต่ปัญหาในระดับโครงสร้างยังไม่สามารถแก้ได้ เช่น ความไม่มั่นคง การอพยพแรงงาน และการขาดความเชื่อมั่นในอนาคต
สงครามในยูเครนกับวิกฤติประชากรของรัสเซีย สงครามในยูเครนมีผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อประชากรทั้งในยูเครนและรัสเซียรวมถึงในระดับภูมิภาคและโลก มันส่งผลทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงประชากรและอัตราการเกิดในรัสเซียและยูเครนอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในแง่ของการย้ายถิ่นฐาน การสูญเสียชีวิต และการแยกครอบครัว โดยมีผลดังนี้
1) ผลกระทบทางเศรษฐกิจ สงครามทำให้ประเทศสูญเสียการผลิตในระยะยาวส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ในรัสเซีย เช่น มอสโก เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สงครามทำให้ราคาสินค้าพื้นฐานเพิ่มขึ้น และรัสเซียต้องเผชิญกับการคว่ำบาตรจากประเทศตะวันตกส่งผลให้มีปัญหาภายในเรื่องห่วงโซ่อุปทานของสินค้าและบริการ ประชาชนได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนสินค้าและบริการบางประการ
2) ผลกระทบต่อประชากรในด้านการย้ายถิ่นฐาน หลังจากการประกาศสงครามและมาตรการคว่ำบาตรหลายครั้ง ทำให้จำนวนประชากรรัสเซียเริ่มลดลง เนื่องจากการย้ายถิ่นฐานของผู้เชี่ยวชาญทางการงานและเยาวชนที่มองหาความมั่นคงทางการเงินและอาชีพในประเทศที่มีสภาพเศรษฐกิจที่ดีกว่า
3) ผลกระทบทางสังคม สงครามในยูเครนทำให้มีการสูญเสียชีวิตของพลเรือนและทหารจำนวนมาก ซึ่งส่งผลให้มีการสูญเสียครอบครัวและมีผลกระทบทางอารมณ์ต่อผู้ที่รอดชีวิต หลายครอบครัวต้องแยกจากกันเนื่องจากสงคราม ทำให้เกิดการสูญเสียในหลายมิติ ทั้งด้านอารมณ์และการทำงาน การขาดแคลนทรัพยากรสำหรับครอบครัวที่ยังคงอยู่ในเขตสงคราม เด็กจำนวนมากต้องเผชิญกับความทรงจำที่รุนแรงจากสงคราม รวมถึงการสูญเสียทั้งครอบครัวและทรัพย์สิน ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาทางจิตใจในระยะยาว
4) การลดลงของอัตราการเกิดในยูเครนและรัสเซีย การที่ประชากรจำนวนมากในทั้งสองประเทศต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ การสูญเสียชีวิต และการย้ายถิ่นฐานส่งผลต่อการตัดสินใจที่จะมีบุตรในอนาคต อัตราการเกิดลดลงในทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ของรัสเซีย ในแง่สังคมและเศรษฐกิจการมีบุตรในประเทศที่ประสบปัญหาทางการเงินและสงครามกลายเป็นเรื่องยากมากขึ้น การมีบุตรไม่ได้ถูกมองว่าเป็นทางเลือกหลักสำหรับเยาวชนในประเทศเหล่านี้
5) ผลกระทบทางการเมืองและภูมิรัฐศาสตร์ สงครามนี้ได้ผลักดันให้ประชาชนในทั้งสองประเทศมีอัตลักษณ์และความภักดีทางการเมืองที่แตกต่างกัน โดยมีบางกลุ่มที่สนับสนุนการบูรณภาพของอาณาเขตในขณะที่บางกลุ่มเรียกร้องให้เกิดความเป็นอิสระ ก่อให้เกิดความตึงเครียดทางการเมืองในรัสเซียและยูเครนและการแทรกแซงจากต่างประเทศและการปฏิรูปโครงสร้าง โดยประเทศตะวันตกได้มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนยูเครนทั้งทางการเงินและทางการทหาร ซึ่งมีผลกระทบต่ออำนาจทางภูมิรัฐศาสตร์ของรัสเซีย
6) ความขัดแย้งในเชิงอารยธรรม สงครามทำให้เกิดการต่อสู้ระหว่างอารยธรรมตะวันตกและอารยธรรมรัสเซีย-ยูเครน การสนับสนุนจากโลกตะวันตกให้แก่ยูเครนทำให้เกิดการแบ่งแยกระหว่าง "อารยธรรมตะวันตก" และ "อารยธรรมรัสเซีย" ซึ่งส่งผลกระทบต่อการตีความอัตลักษณ์ของทั้งสองชาติ
แนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลรัสเซีย
รัฐบาลรัสเซียพยายามรับมือกับวิกฤตประชากร โดยเฉพาะอัตราการเกิดที่ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ได้นำไปสู่การกำหนดนโยบายส่งเสริมครอบครัวในหลากหลายมิติ โดยหนึ่งในนโยบายหลักที่มีบทบาทชัดเจนที่สุดคือ นโยบาย "Mother Capital" «Материнский капитал» "Mother Capital"ถูกนำมาใช้ในปี ค.ศ. 2007 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อัตราการเกิดของรัสเซียตกต่ำหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ภายใต้การนำของประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้ครอบครัวมีลูกคนที่สองและสาม หลักการคือ ครอบครัวที่มีลูกคนที่สองขึ้นไปจะได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐซึ่งสามารถนำไปใช้ในวัตถุประสงค์เฉพาะ เช่น ซื้อที่อยู่อาศัย ชำระค่าเล่าเรียนของบุตร นำไปสะสมในกองทุนบำนาญของมารดา ในปี ค.ศ. 2020 ได้มีการขยายสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม เริ่มให้สิทธิตั้งแต่ลูกคนแรก เพิ่มจำนวนเงินสนับสนุน และเพิ่มทางเลือกในการใช้เงินทุน เช่น การสร้างบ้านในเขตชนบท อย่างไรก็ตามนโยบายนี้มีข้อจำกัด แม้ช่วงแรกมีผลกระตุ้นอัตราการเกิดในระดับหนึ่ง (ช่วงปี 2007–2015) แต่ไม่สามารถรักษาผลลัพธ์ระยะยาวได้ การมีบุตรยังคงถูกมองว่าเป็นภาระทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่ค่าครองชีพสูง นักวิชาการบางรายชี้ว่า นโยบายนี้มีลักษณะ "เงินจูงใจชั่วคราว" ที่ไม่สามารถแก้ไขโครงสร้างทางสังคมที่ลึกซึ้งได้ เช่น ความไม่มั่นคงในการจ้างงาน หรือปัญหาที่อยู่อาศัยในระยะยาว นอกจากนี้รัฐบาลยังมีมาตรการจูงใจเพิ่มเติมด้านที่อยู่อาศัย การศึกษา และภาษี เช่นโครงการจำนองพิเศษสำหรับครอบครัวที่มีลูก «семейная ипотека» อัตราดอกเบี้ยต่ำสุดเพียง 5% การสนับสนุนให้ครอบครัวสามารถกู้เงินเพื่อซื้อหรือสร้างบ้านโดยมีรัฐช่วยประกัน บางส่วนของ Mother Capital สามารถนำไปใช้เพื่อชำระค่าเล่าเรียนในระดับก่อนและหลังมหาวิทยาลัย สนับสนุนการศึกษาในมหาวิทยาลัยของรัฐ โดยมีทุนการศึกษาสำหรับครอบครัวที่มีบุตรหลายคนลดหย่อนภาษีรายได้บุคคลธรรมดาสำหรับครอบครัวที่มีลูกหลายคน บางภูมิภาคมีการมอบ สถานะ “ครอบครัวใหญ่” «многодетная семья» ซึ่งจะได้รับสิทธิพิเศษในเรื่อง ค่าขนส่ง อาหารกลางวันในโรงเรียน รวมถึงการเข้าสถานพยาบาลหรือศูนย์เด็กก่อนวัยเรียน
สรุป วิกฤตประชากรของรัสเซียเป็น “สัญญาณอันตราย” ต่อเสถียรภาพของรัฐ การพัฒนาเศรษฐกิจ และความมั่นคงทางภูมิรัฐศาสตร์ในระยะยาว การลดลงของประชากรกำลังท้าทายอุดมการณ์ “รัสเซียที่เข้มแข็ง” ที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินพยายามสร้างขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตลอดสองทศวรรษ
ซึ่งวิกฤตประชากรในรัสเซียไม่สามารถอธิบายได้เพียงจากปัจจัยเชิงประชากรศาสตร์เท่านั้น หากแต่เป็นผลพวงจากแรงกดดันทางเศรษฐกิจ โครงสร้างสังคม และค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างลึกซึ้ง ความไม่มั่นคงในชีวิตประจำวัน ค่าครองชีพที่พุ่งสูง และการขาดระบบสนับสนุนจากรัฐล้วนหล่อหลอมให้คนรุ่นใหม่ลังเลที่จะสร้างครอบครัว หลายฝ่ายมองว่าการแก้ไขวิกฤตประชากรของรัสเซียไม่สามารถพึ่งนโยบายการเงินเพียงอย่างเดียวได้ แต่ต้องดำเนินควบคู่ไปกับการปฏิรูประบบสวัสดิการและโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะยาวด้วย
