ทรัมป์จัดทัพ ‘เบสเซนต์-กรีเออร์’ ลุยเจนีวา ถก ‘เหอ หลี่เฟิง’ ฟื้นสัมพันธ์เศรษฐกิจ ‘สหรัฐ-จีน’ หนแรกในรอบเดือน
(7 พ.ค. 68) สก็อตต์ เบสเซนต์ (Scott Bessent) รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับรายการ The Ingraham Angle ของ Fox News เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ย้ำว่าการพบเจ้าหน้าที่จีนในสวิตเซอร์แลนด์ที่กำลังจะเกิดขึ้น “ไม่ใช่ข้อตกลงการค้าครั้งใหญ่” แต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการคลี่คลายความตึงเครียด พร้อมระบุว่า รัฐบาลทรัมป์ไม่ต้องการแยกตัวทางการค้าจากจีน ยกเว้นในบางอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ ยา และเหล็กกล้า
เบสเซนต์และจามิสัน กรีเออร์ (Jamieson Greer) ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ มีกำหนดเดินทางไปเจนีวาในวันที่ 8 พฤษภาคม เพื่อพบกับคารีน เคลเลอร์-ซัทเทอร์ ประธานาธิบดีสวิตเซอร์แลนด์ และเจรจากับเหอ หลี่เฟิง (He Lifeng) รองนายกรัฐมนตรีจีน ซึ่งดูแลด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ โดยถือเป็นจุดเริ่มต้นของความพยายามในการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาระหว่างสองมหาอำนาจ
เหอ หลี่เฟิง วัย 70 ปี มีบทบาทโดดเด่นในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา โดยมีรายงานว่าเขาจัดการประชุมกับชาวต่างชาติมากถึง 60 ครั้งในรอบปี เพิ่มขึ้นจาก 45 ครั้งก่อนหน้านั้น เขาถูกมองว่าเป็นบุคคลที่สามารถ “ทำให้สิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นได้” และได้รับคำชื่นชมจากนักธุรกิจต่างชาติที่พบปะกับเขาในกรุงปักกิ่ง
กระทรวงพาณิชย์จีนออกแถลงการณ์ยืนยันว่า จีนตกลงกลับเข้าสู่การเจรจากับสหรัฐอีกครั้ง โดยอิงจาก “ผลประโยชน์ของจีน ความคาดหวังจากทั่วโลก และความต้องการของอุตสาหกรรมกับผู้บริโภคในสหรัฐฯ” พร้อมเตือนว่า จีนจะไม่ยอมให้การเจรจาถูกใช้เป็นเครื่องมือกดดันหรือข่มขู่ โดยอ้างสุภาษิตจีนว่า “จงฟังสิ่งที่พูด และเฝ้าดูการกระทำ”
เบสเซนต์กล่าวเพิ่มเติมต่อสภาคองเกรสว่าสหรัฐกำลังเจรจาการค้ากับพันธมิตร 17 ประเทศ โดยการเจรจากับจีนยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น และอาจมีการประกาศข้อตกลงกับบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ภายในสัปดาห์นี้ ขณะที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าการหารือกับจีนครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเจรจาอย่างเป็นทางการหรือไม่
สถานการณ์ปัจจุบันระหว่างสหรัฐและจีนยังเปรียบได้กับ “เกมแมวไล่จับหนู” ที่ทั้งสองฝ่ายพยายามรักษาท่าทีของตน ไม่ยอมเป็นฝ่ายถอยก่อนในสงครามภาษีที่สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อเศรษฐกิจโลกและห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศ