มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#19 'Saigon, the Last Day' 30 เมษายน 1975 วันสุดท้าย 'กรุงไซ่ง่อนและสาธารณรัฐเวียตนาม'

วันนี้ ย้อนหลังไป 50 ปีก่อนเป็นวันล่มสลายของสาธารณรัฐเวียตนามหรือเวียตนามใต้ รำลึกนึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยบทความที่แปลจากบันทึกของคุณ Loren Jenkins อดีตบรรณาธิการอาวุโสฝ่ายต่างประเทศของสำนักข่าว NPR ขณะเป็นนักข่าวของ Newsweek ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ขณะกรุงไซ่ง่อนล่มสลายจากการยึดครองของกองทัพเวียตนามเหนือ และกองกำลังเวียตกงในปลายเดือนเมษายน 1975 เขาเล่าให้ฟังถึงชั่วโมงสุดท้ายที่สุดวุ่นวายในสถานเอกอัครรัฐทูตสหรัฐฯ ซึ่งเขาเขียนและเผยแพร่ในขณะที่ยังเป็นบรรณาธิการอาวุโสฝ่ายต่างประเทศของสำนักข่าว NPR

สิ่งที่ผมจำได้เกี่ยวกับวันสุดท้ายในเวียตนาม ผมตื่นขึ้นมาก่อนรุ่งสางจากเสียงและแรงระเบิด ในช่วงครึ่งหลับครึ่งเคลิ้มผมกลิ้งไปบนพื้น ดึงที่นอนที่อยู่ด้านบนแล้วนอนหลับต่อ ปฏิกิริยานั้นเป็นสัญชาตญาณ Pavlovian Reflex เพื่อหลีกเลี่ยงเศษกระจกที่แตกกระจายหากมีการระเบิดใกล้ ๆ แต่แล้วผมก็ตื่นขึ้น และตระหนักว่า การระเบิดนั้นเป็นการระดมยิงด้วยปืนใหญ่ไปยังสนามบิน Ton Son Nhut กองกำลังเวียตนามเหนือเคลื่อนที่ไปทางใต้เป็นเวลาหลายสัปดาห์แล้ว โดยก่อนหน้านั้นคลื่นขนาดยักษ์ของผู้ลี้ภัย ซึ่งในที่สุดพวกเขาก็มาถึงกรุงไซ่ง่อน หลังจากเวลาผ่านไปสิบปีสงครามก็กำลังจะสิ้นสุดลง

เมื่อฝ่ายเวียตนามเหนือกำลังเข้ายังมีนักข่าวมากมายที่พูดคุยกันไม่หยุดหย่อนในลานของโรงแรม Continental Palace ซึ่งเป็นที่พักของนักข่าวต่างประเทศ เราควรจะอยู่เพื่อบันทึกการเข้ายึดครองกรุงไซ่ง่อนที่เราอยู่มานานของกองทัพเวียตนามเหนือเป็นครั้งสุดท้ายแล้วหรือไม่? หรือเราควรปฏิบัติตามแผนการของสถานทูตสหรัฐฯ ที่จะส่งรถบัสมารับไปยังสนามบิน Ton Son Nhut เพื่อขึ้นเครื่องบินอพยพไปยังเกาะกวมซึ่งบินมารอแล้วหลายสัปดาห์หรือไม่? แผนการอพยพของสหรัฐฯ นั้นเป็นเรื่องที่น่ากลัวเหมือนการผจญภัยในสหรัฐอเมริกา แต่เกิดขึ้นในเวียตนาม เมื่อมีการตัดสินใจที่จะดึงปลั๊กปฏิบัติการในเวียตนามใต้เป็นครั้งสุดท้าย เพลง "White Christmas" จะถูกเปิดโดยสถานีวิทยุของกองทัพสหรัฐฯ นั่นจะเป็นสัญญาณให้คนอเมริกันหลายพันคนที่ยังคงอยู่ในกรุงไซ่ง่อนรีบเดินทางไปยังสถานที่ที่ได้รับการเตรียมการทั่วเมืองเพื่อรอรถบัสที่จะมารับและพาไปยังสนามบิน Ton Son Nhut

แต่ในฐานะผู้สื่อข่าวของ Newsweek ซึ่งติดตามปฏิบัติการครั้งสุดท้ายของอเมริกาในเวียตนาม การไปสนามบินเป็นความคิดที่ตัดทิ้งไปเลย ขณะที่กรุงไซ่ง่อนล่มสลายสิ่งสุดท้ายที่ผมอยากทำ เมื่อประธานาธิบดี ฟอร์ดสั่งให้การอพยพของชาวอเมริกันในกรุงไซ่ง่อนเริ่มต้น เนื่องจากการโจมตีสนามบินผมเลือกที่จะบันทึกนาทีสุดท้ายของปฏิบัติการของสหรัฐฯในเวียตนามที่สถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงไซ่ง่อนแทน สถานทูตฯ ล้อมรอบด้วยกำแพงคอนกรีตสีขาวยาว 15 ฟุต เสริมด้วยขดลวดหนาม อาคารสถานทูตหกชั้นเป็นป้อมปราการที่ทันสมัยตั้งตระหง่านอยู่เหนืออาคารทรงเตี้ยที่ล้อมรอบ ที่นั่นนโยบายของสหรัฐฯ ถูกนำมาปฏิบัติมายาวนาน และที่นี่ในที่สุด Graham Martin เอกอัครรัฐทูตประจำสาธารณรัฐเวียตนาม ผู้ซึ่งต้องปฏิบัติตามนโยบายฯ เป็นคนสุดท้าย

ผมจำได้ว่า เมื่อเช้านั้นได้พบกับ David Greenway แห่ง The Washington Post ที่แผนกต้อนรับของ Continental Palace เขาค่อย ๆ ควักเงินเวียตนามที่กำลังจะหมดค่าออกมาจ่ายค่าโรงแรม โดยพูดว่า ไม่มีสุภาพบุรุษคนไหนออกจากโรงแรมโดยไม่จ่ายบิล และเราขับรถไปที่สถานทูตฯ ด้วยรถยนต์โตโยต้าของ The Washington Post ไปตามถนนที่ไม่มีการจราจรซึ่งผิดปกติ บนถนนเกลื่อนไปด้วยเครื่องแบบและรองเท้าบู๊ทของทหารเวียตนามใต้ถอดทิ้งเอาไว้ เมื่อเรามาถึงสถานทูตฯ ประตูปิดอยู่ และนาวิกโยธินติดอาวุธยืนเฝ้าอยู่เหนือกำแพงคอนกรีต เมื่อชาวเวียตนามนับพันเริ่มร้องขอให้นำอพยพออกมาพร้อมกับชาวอเมริกัน เราทั้งผลักทั้งดันกลุ่มคนเวียตนาม แสดงหนังสือเดินทางของสหรัฐฯ และกดบัตรที่ประตู แล้วมีคนมาเปิดและให้พวกเราเข้าไปในสถานทูตฯ

ภายในมีความวุ่นวาย ไร้ระเบียบ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยนาวิกโยธิน เจ้าหน้าที่ซีไอเอ และอาสาสมัครของกระทรวงการต่างประเทศเดินไปมาทั่วบริเวณ และจัดวางกำลังพร้อมอาวุธหลากหลายประเภท ตั้งแต่ปืนกลมือทอมสันโบราณไปจนถึงมีดล่าสัตว์ติดกับเข็มขัด ชาวเวียตนามหลายพันคนที่กำลังสิ้นหวัง กรีดร้อง และกำลังพยายามปีนกำแพง และมุดผ่านขดลวดหนาม ซึ่งก็ถูกผลักกลับเข้าไปในถนนด้วยปืน M16 อย่างไร้ความปราณี ต้นมะขามขนาดใหญ่ที่บังเงาให้รถของเอกอัครรัฐทูตพึ่งถูกตัดและลากไปไว้ด้านข้างเพื่อเปลี่ยนลานจอดรถให้เป็นจุดลงจอดของเฮลิคอปเตอร์ ยิ่งไปกว่านั้นมีคนหลายร้อยถูกปล่อยให้เข้ามา เพราะทำงานร่วมกับชาวอเมริกันรวมตัวกันอยู่กลางกองกระเป๋าเดินทาง กล่องกระดาษแข็งและเสื้อผ้า มีนายพลเวียตนามใต้อย่างน้อยสามคนในชุดเครื่องแบบกับครอบครัว นักการเมืองเวียตนามใต้ อดีตนายกเทศมนตรีกรุงไซ่ง่อน หัวหน้าหน่วยดับเพลิงและคนของเขาอีกสิบคนยังคงสวมหมวกเหล็ก ชาวเวียตนามคนอื่น ๆ บุกเข้าไปในโรงอาหารของสถานทูตเพื่อค้นหาเครื่องดื่ม และอาหารเท่าที่พวกเขาสามารถหาได้

ชั้นบนสุดของอาคารซึ่งจัดเก็บเอกสารลับสุดยอดไว้ เอกสารที่ถูกฉีกเป็นชิ้น ๆ เรียงซ้อน และทิ้งออกนอกหน้าต่างออก มีควันจากสำนักงานบางแห่งที่มีการเผาเอกสารอื่น ๆ และจนถึงจุดหนึ่งเจ้าหน้าที่ซีไอเอสามคนในเสื้อแจ็กเก็ตเลื่อนรถเข็นที่เต็มไปด้วยธนบัตรร้อยดอลลาร์จากตู้เซฟ และทิ้งลงในเตาเผาขยะด้านนอก จากนั้นก็มีเสียงของใบพัดเฮลิคอปเตอร์ที่บินลงมาจากท้องฟ้าสีคราม เฮลิคอปเตอร์ CH-46 ขนาดใหญ่บินจากเรือรบของกองเรือที่ 7 แห่งกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่ลอยลำอยู่ในทะเลจีนใต้ ความวุ่นวายเป็นกิจวัตรเช่นนี้ตลอดทั้งวันทั้งคืน เฮลิคอปเตอร์บินเข้ามาและบินจากไป ในที่สุดเวลา 18 ชั่วโมงหลังจากการอพยพเริ่มขึ้น ประธานาธิบดีฟอร์ดได้สั่งให้ยุติการอพยพโดยทีมเฮลิคอปเตอร์ 80 ลำที่บินแล้วจนหมดแรงแล้ว 495 เที่ยว มีการบอกกล่าวอย่างเงียบ ๆ กระจายออกไปว่าจะมีเพียงชาวอเมริกันที่เหลือเท่านั้นที่จะได้รับการอพยพ ทหารนาวิกโยธินบนกำแพงถอยกลับเข้าไปในอาคารสถานทูตฯ ประตูถูกปิดและพวกเราข้างในก็ขยับขึ้นไปบนหลังคา

ในที่สุดประมาณตี 4 ทูต Graham Martin ปรากฏตัวเงียบ ๆ พร้อมกับทีมงานบนหลังคาอาคารอย่างเงียบ ๆ ด้วยความเหน็ดเหนื่อยและอิดโรย มีธงชาติสหรัฐฯ ของสถานทูตฯ ที่พับแล้วอยู่ใต้วงแขนของเขา ผมเข้าไปร่วมกับเลขานุการส่วนตัวของเขาและ Nitnoy สุนัขพุดเดิ้ลสีดำสัตว์เลี้ยงของเขา (น่าจะเป็นชื่อไทยว่า “นิดหน่อย” ด้วยตัวทูต Graham Martin เคยเป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย) ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ CH-46 ลำหนึ่งบนหลังคา ในขณะที่เฮลิคอปเตอร์ CH-46 ยกตัวออกมา มุมมองสุดท้ายต่อประเทศที่เขาเป็นดั่งอุปราชอเมริกันคือ ภาพของพลุดอกไม้ไฟขนาดยักษ์ที่เกิดจากบรรดากระสุนที่ทิ้งไว้ในค่าย Bien Hoa ทางทิศเหนือเกิดระเบิดขึ้น และแสงไฟจากรถบรรทุกที่ยาวเหยียดไกลสุดสายตา ซึ่งสามารถเห็นได้ว่า ขบวนรถของกองทัพเวียตนามเหนือมุ่งลงไปทางใต้เพื่อชัยชนะ

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518


เรื่อง: ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล 

👉ติดตามผลงาน อาจารย์ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.ปุณกฤษ%20ลลิตธนมงคล