‘อ.อุ๋ย’ ยัน!! ‘ชาวยิว’ ที่ปาย มีสิทธินับถือ ประกอบพิธีศาสนา อันเป็นสิทธิตาม ‘รธน.’ แต่ต้อง!! เคารพกฎหมาย และวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม ของประเทศไทยด้วย

(22 ก.พ. 68) นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นว่า “กรณีข่าวชุมชนชาวยิวที่ปาย ซึ่งมีชาวบ้านออกมาร้องเรียนว่ามีจำนวนมากและก่อความเดือดร้อนรำคาญให้กับชุมชนนั้น ผมเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 31 บัญญัติว่า ‘บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนาและย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตน แต่ต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน’

อีกทั้งในมาตรา 67 วรรคหนึ่ง ก็บัญญัติอีกว่า ‘รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น’ และมาตรา 27 วรรคสาม กำหนดว่า ‘การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกําเนิด เชื้อชาติภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือเหตุอื่นใด จะกระทํามิได้’

ดังนั้นไม่ว่าชนชาติใด ศาสนาใด จึงมีสิทธิในการอยู่อาศัย พำนัก และนับถือศาสนาของตนโดยเสรีบนผืนแผ่นดินไทย ตราบใดที่เคารพต่อกฎหมายไทย ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อคนไทย ไม่เป็นอันตรายต่อความมั่นคง และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งกรณีปัญหาชุมชนชาวยิวที่ปาย จึงต้องแยกปลาออกจากน้ำเสียก่อน กล่าวคือ ชาวยิวคนไหนที่เข้ามาท่องเที่ยวตามปกติ อยู่ไม่เกินอายุวีซ่า ก็ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชน ต้องปฏิบัติต่อเขาเยี่ยงนักท่องเที่ยวทั่วไป 

ส่วนกลุ่มใดที่เข้ามาโดยเจตนาไม่บริสุทธิ์ ซ่องซุม อยู่เกินอายุวีซ่า ลักลอบทำงาน ทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพล ไม่เคารพกฎหมายและประเพณีอันดีงามของไทย ก็ต้องบังคับใช้กฎหมาย ลงโทษอย่างเด็ดขาด ส่งกลับประเทศและแบล็กลิสท์ไม่ให้เข้าประเทศไทยอีก รวมถึงพัฒนาระบบไบโอเมตริกซ์ เชื่อมโยงฐานข้อมูลตำรวจตรวจคนเข้าเมืองกับตำรวจสากล เพื่อคัดกรองผู้มีประวัติอาชญากรรม หรือมีประวัติที่เป็นภัยต่อความมั่นคง เพื่อสกัดไม่ให้เข้าประเทศไทยได้ตั้งแต่ต้นทาง  

หรือหากต้องการให้ปายกลับมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สงบและรักษาประเพณีอันดีงามไว้ในระยะยาว ก็ต้องกำหนดโควตาหรือจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว ให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนไว้ และเก็บค่าธรรมเนียมท่องเที่ยวในอัตราสูง เช่น ประเทศภูฏานเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวถึงเกือบสี่พันกว่าบาทต่อคืน เพื่อคัดเลือกนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ และนำเงินตรงนี้มาพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวในระยะยาวต่อไป ก็ขอฝากผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาครับ ด้วยความปรารถนาดี”