24 ธันวาคม 2483 ไทยประกาศให้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ ตามสากล
24 ธันวาคม พ.ศ. 2483 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ประกาศให้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ของประเทศไทย แทนวันที่ 1 เมษายน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
ก่อนหน้าการเปลี่ยนแปลงนี้ ประเทศไทยเคยกำหนดวันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย ซึ่งในปฏิทินจันทรคติไทยมักเริ่มต้นในเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการเปลี่ยนแปลงให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ก่อนที่จะปรับมาใช้วันที่ 1 มกราคม ตามประกาศของรัฐบาลในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม
รัฐบาลระบุเหตุผล 4 ประการที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงนี้ ได้แก่ 1.สอดคล้องกับหลักพุทธศาสนา การนับวันเดือนและการเฉลิมฉลองปีใหม่ด้วยการทำบุญไม่ขัดกับหลักธรรมทางศาสนา 2. ลดอิทธิพลลัทธิพราหมณ์ เลิกการใช้คติพราหมณ์ที่เคยมีบทบาทในการกำหนดวันสำคัญของชาติ 3. มาตรฐานสากล ให้ประเทศไทยใช้ปฏิทินเดียวกับประเทศอื่นทั่วโลก เพื่อความสะดวกในการติดต่อระหว่างประเทศ 4. ฟื้นฟูวัฒนธรรมไทย สอดคล้องกับคตินิยมและจารีตประเพณีดั้งเดิมของชาติ
ประกาศระบุว่า “นานาอารยประเทศตลอดจนประเทศใหญ่ ๆ ทางตะวันออก ได้ใช้งานวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นต้นปีมานานกว่า 2,000 ปี การเปลี่ยนแปลงนี้มิได้เกี่ยวข้องกับลัทธิศาสนา จารีตประเพณี หรือการเมืองของชาติใด แต่เป็นผลจากการคำนวณทางดาราศาสตร์ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่นานาประเทศยอมรับ”
นับตั้งแต่การประกาศดังกล่าว ประเทศไทยได้ถือเอาวันที่ 1 มกราคม ของทุกปีเป็นวันเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่เรื่อยมา จนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สำคัญในสังคมไทย