‘Munira Abdulla’ บุคคลที่ฟื้นจากโคม่านานที่สุดในโลก หลังประสบอุบัติเหตุทำหลับไหลกว่า 27 ปี

Munira Abdulla บุคคลที่ฟื้นจากอาการโคม่านานที่สุดในโลก

เมื่อ Munira Abdulla หญิงชาวสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์รู้สึกตัวเป็นครั้งสุดท้ายในปี 1991 ขณะนั้น George Bush (ผู้พ่อ) ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียตก็กำลังใกล้ที่จะล่มสลายเต็มที และเป็นปีที่สงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรกยุติลง ขณะอายุ 32 ปี นาง Munira ชาวเมือง Al Ain ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งทำให้เธอหมดสติ และอยู่ในสภาพผักเกือบตลอดสามทศวรรษต่อมา โดยผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะหมดสติจะถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ กลุ่มที่มีอาการไม่รู้สึกตัวเต็มที่ ผู้ป่วยจะไม่แสดงอาการตื่นตัว ตาปิด และไม่ตอบสนองต่อสภาพแวดล้อม กลุ่มที่สองคือ กลุ่มที่รู้สึกตัวแต่ไม่มีอาการรู้ตัว ส่วนกลุ่มที่รู้สึกตัวน้อยมากอาจรวมถึงช่วงที่ผู้ป่วยตอบสนองบางอย่าง เช่น ขยับนิ้วเมื่อถูกถาม ซึ่งโดยทั่วไปแล้วกลุ่มที่สามนี้มักเรียกกันว่า ‘โคม่า’ (Comas) และ Munira ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่สามนี้

หลังจากประสบอุบัติเหตุ Munira ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล และต่อมาก็ถูกส่งตัวไปยังกรุงลอนดอน ที่นั่น เธอถูกวินิจฉัยว่าอยู่ในอาการไม่ตอบสนอง แต่สามารถรับรู้ความเจ็บปวดได้ จากนั้นเธอถูกส่งตัวกลับไปที่เมืองอัลไอน์ ซึ่งเป็นเมืองในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่อยู่ติดชายแดนโอมาน ซึ่งเธออาศัยอยู่ และถูกย้ายไปยังสถานพยาบาลต่าง ๆ ตามแต่ความเห็นชอบของบริษัทประกันภัย และ NMC ProVita International Medical Centre เธออยู่ที่นั่นเป็นเวลาหลายปี (2011-2015) โดยต้องให้อาหารผ่านทางสายยางและยังคงมีชีวิตอยู่ต่อไป เธอเข้ารับการกายภาพบำบัดเพื่อให้แน่ใจว่า กล้ามเนื้อของเธอจะไม่อ่อนแรงลงจากการขาดการเคลื่อนไหว

Munira Abdulla กับ Omar Webair ลูกชาย

ในปี 2017 ครอบครัวของ Munira Abdulla ได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนของมกุฏราชกุมารแห่งนครรัฐอาบูดาบี (the Crown Prince Court Abu Dhabi) เพื่อย้ายเธอไปทำการรักษายังประเทศเยอรมนี ซึ่งที่นั่น เธอได้เข้ารับการผ่าตัดหลายครั้งเพื่อแก้ไขกล้ามเนื้อแขนและขาที่สั้นลงอย่างมาก และเธอได้รับยาเพื่อให้อาการของเธอดีขึ้นที่ Schön โรงพยาบาลเอกชนในเมือง Bad Aibling ใกล้นครมิวนิก ทางตอนใต้ของประเทศเยอรมนี ซึ่งแพทย์ได้ทำการรักษาภาวะแทรกซ้อนจากอาการเจ็บป่วยที่ยาวนานของ Munira ด้วยการใช้แนวทางแบบองค์รวมในการรักษา โดยใช้ “การกายภาพบำบัด ยา การผ่าตัด และการกระตุ้นประสาทสัมผัส” 

หลังจากผ่านไป 27 ปี เธอก็ได้ตื่นขึ้นมาในเดือนมิถุนายน ปี 2018 Omar Webair ลูกชายวัย 32 ปีของเธอ ซึ่งอายุเพียง 4 ขวบเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เล่าว่า ไม่กี่นาทีขณะเดินทางจากโรงเรียนเพื่อกลับบ้าน รถของเขากับแม่นั่งก็ชนเข้ากับรถโรงเรียน ทำให้ Munira วัย 32 ปีในขณะนั้นได้รับบาดเจ็บที่สมองอย่างรุนแรง Omar ซึ่งอยู่ในอ้อมแขนของแม่ซึ่งพยายามกอดเขาไว้ก่อนที่ก่อนจะเกิดการชน ทำให้เขารอดชีวิตมาได้ โดยมีรอยฟกช้ำบริเวณศีรษะ “แม่ของผมนั่งอยู่ที่เบาะหลังกับผม เมื่อแม่เห็นว่ารถจะชน แม่ก็กอดผมไว้เพื่อปกป้องผมจากผลของแรงกระแทก” เขากล่าว “สำหรับผม เธอเปรียบเสมือนทองคำ ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไร เธอก็ยิ่งมีค่ามากขึ้นเท่านั้น” 

นพ. Friedemann Müller

นพ. Friedemann Müller ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาท หัวหน้าแพทย์ประจำ Schön โรงพยาบาลเอกชนที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศเยอรมนี กล่าวว่า Munira อยู่ในภาวะหมดสติกลุ่มที่ 3 เขาบอกว่า มีเพียงไม่กี่กรณีที่เหมือนกับเธอ ที่ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวหลังจากหมดสติเป็นเวลานาน โดยสัญญาณที่บ่งบอกว่า Munira กำลังฟื้นตัวเริ่มปรากฏให้เห็นเมื่อปี 2017 เมื่อเธอเริ่มเรียกชื่อลูกชายของเธอ สองสามสัปดาห์ต่อมา เธอเริ่มท่องบทต่าง ๆ ในคัมภีร์อัลกุรอานที่เธอเคยเรียนรู้เมื่อหลายสิบปีก่อน “ตอนแรกเราเองก็ไม่เชื่อ” นพ. Müller กล่าว “แต่ในที่สุดก็ชัดเจนมากว่าเธอเรียกชื่อลูกชายของเธอ” นพ. Müller เองก็ไม่ได้คาดหวังว่า Munira จะฟื้นตัวได้เร็วขนาดนี้ เธอเข้ารับการรักษาอาการชักและกล้ามเนื้อบิดเบี้ยวที่คลินิกในประเทศเยอรมนี ซึ่งทำให้ร่างกายของเธอเคลื่อนไหวได้ยาก และทำให้เธอไม่สามารถนั่งรถเข็นได้อย่างปลอดภัย ส่วนหนึ่งของการรักษาคือ การติดตั้งอุปกรณ์ที่ส่งยาโดยตรงไปยังกระดูกสันหลังของเธอ ซึ่ง นพ. Müller กล่าวว่า ปัจจัยนี้อาจเป็นสิ่งที่ทำให้เธอฟื้นตัวได้

Schön โรงพยาบาลเอกชนในเมือง Bad Aibling ใกล้นครมิวนิก ทางตอนใต้ของประเทศเยอรมนี

Terry Wallis ฟื้นจากโคม่านานถึง 19 ปี มีชีวิตอยู่อีก 19 ปี และเสียชีวิตในปี 2022

มีเพียงไม่กี่คนที่ทราบกันดีว่าสามารถฟื้นตัวได้ในลักษณะเดียวกัน อาทิ Terry Wallis ชาวเมือง Ozark Mountains มลรัฐ Arkansas สหรัฐอเมริกา บาดเจ็บสาหัสและหมดสติเมื่อรถของเขาลื่นไถลลงจากสะพาน ในวันที่ 13 กรกฎาคม 1984 และหมดสตินานถึง 19 ปี การฟื้นตัวเมื่อ 11 มิถุนายน 2003 ของเขาค่อนข้างผิดปกติมาก จนนักวิทยาศาสตร์ใช้โอกาสนี้ในการศึกษาการทำงานของสมองเพื่อช่วยในการพิจารณาว่า ผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายทางสมองอย่างรุนแรงอย่างไรจึงจะมีโอกาสฟื้นตัวได้ดีที่สุด เนื่องจากเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันมากในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกถึงสิทธิของบุคคลที่จะเลือกการมีชีวิตอยู่หรือตาย ด้วยการดูแลทางการแพทย์ในปัจจุบันผู้ป่วยบางรายอาจอยู่ในสภาวะที่หมดสติไปนานหลายทศวรรษ เช่นกรณีของ Aruna Shanbaug พยาบาลชาวอินเดีย อยู่ในสภาวะดังกล่าวเป็นเวลานานกว่า 40 ปี จนกระทั่งเสียชีวิตในวัย 66 ปี ในปี 2015 เธออยู่ในสภาพผักถาวรหลังจากถูกรัดคอด้วยโซ่โลหะระหว่างที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ

Munira Abdulla ในวัย 65 ปีได้กลับมาใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จนทุกวันนี้

ผู้ป่วยที่ฟื้นตัวจากภาวะที่รู้สึกตัวในระดับต่ำเป็นเวลานาน (ซึ่งพบได้บ่อยในช่วงไม่กี่ปีแรก) มีแนวโน้มที่จะมีความบกพร่องทางร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรงและถาวร พวกเขายังคงต้องพึ่งพาผู้อื่นในการดูแลในแต่ละวัน และขาดความสามารถในการตัดสินใจที่สำคัญเกี่ยวกับชีวิตของตนเอง พวกเขาอาจมีอาการมึนงง จำไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อไม่กี่นาทีที่ผ่านมา และสามารถสนทนาได้เพียงเล็กน้อยเมื่อได้รับคำพูดกระตุ้น กรณีของ Munira Abdulla นั้น เกิดขึ้นได้ยากมาก ๆ มีเพียงไม่กี่กรณีที่คนจะฟื้นคืนสติได้หลังจากผ่านไปหลายปี และแม้จะเป็นเช่นนั้น การฟื้นตัวก็ยังต้องยืดเยื้อต่อไป ระบบบริการสุขภาพแห่งชาติของสหราชอาณาจักรกล่าวว่า ไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าโอกาสที่ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะหมดสติจะดีขึ้นจะเป็นอย่างไร ผู้ที่ฟื้นคืนสติส่วนใหญ่มักมีอาการพิการร้ายแรงเนื่องมาจากสมองได้รับความเสียหาย หลังจากเธอฟื้นคืนสติขึ้นมาแล้ว สามารถตอบสนองได้ดี และมีความรู้สึกเจ็บปวดและสนทนาได้บ้างแล้ว เธอจึงได้เดินทางกลับมาที่นครรัฐอาบูดาบี ซึ่งเธอได้รับการกายภาพบำบัดและการฟื้นฟูเพิ่มเติม โดยส่วนใหญ่แล้วเพื่อปรับปรุงท่าทางการนั่งของเธอและป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อหดตัว และ Munira Abdulla ในวัย 65 ปีได้กลับมาใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จนทุกวันนี้


เรื่อง: ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล 

👍 ติดตามผลงาน อาจารย์ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.ปุณกฤษ%20ลลิตธนมงคล