ญี่ปุ่นเล็งใช้รถรางไฮโดรเจนจากจีน ขึ้นภูเขาฟูจิ เมินบริษัทในประเทศ หวั่นกระทบสิ่งแวดล้อม

(19 พ.ย.67) รัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดยามานาชิ เปิดเผยว่า กำลังพิจารณาใช้ระบบขนส่งพลังงานไฮโดรเจนจากบริษัท ซีอาร์อาร์ซี ฉางชุน เรลเวย์ วีฮิเคิลส์ ซึ่งเป็นบริษัทของรัฐจากจีน เพื่อพัฒนาระบบขนส่งแทนการเดินเท้าขึ้นภูเขาไฟฟูจิ แทนการใช้ระบบรถรางจากบรรดาบริษัทในท้องถิ่นของญี่ปุ่น เนื่องจากบริษัทผู้วางระบบรถรางในญี่ปุ่นยังไม่สามารถตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากการให้บริการของรถรางบนภูเขาไฟฟูจิได้เท่ากับระบบของทางจีน

ระบบขนส่งรถไฟอัจฉริยะไร้รางของจีน หรือ Autonomous Rail Rapid Transit (เออาร์ที) มีลักษณะคล้ายกับรถรางและรถบัส โดยเคลื่อนที่ด้วยล้อยางและวิ่งบนถนนแทนการใช้ราง ขับเคลื่อนด้วยการใช้พลังไฮโดรเจนเป็นหลัก ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบทั้งในช่วงการวางระบบ และการให้บริการ ต่างจากบรรดาผู้พัฒนารถรางญี่ปุ่นที่ส่วนใหญ่เสนอให้ใช้รถรางระบบไฟฟ้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบในช่วงการก่อสร้างและระหว่างการให้บริการ

นายโคทาโร นางาซากิ ผู้ว่าราชการจังหวัดยามานาชิ กล่าวว่า 'โครงการรถรางฟูจิ' จะช่วยลดต้นทุนในการก่อสร้างได้มาก และยังสามารถช่วยลดความแออัดในช่วงฤดูร้อน รวมถึงลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน

แม้ว่าโครงการนี้จะได้รับการสนับสนุนจากจีน แต่เขาหวังว่า บริษัทญี่ปุ่นจะเข้ามามีส่วนร่วมและรับผิดชอบโครงการนี้ พร้อมเสริมว่า การตั้งฐานการผลิตของบริษัทที่ได้รับสัมปทานในจังหวัดยามานาชิจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

ทางการจังหวัดยามานาชิได้ประกาศแผนการสร้างระบบขนส่งรางเบาไปยังสถานีที่ 5 บนภูเขาฟูจิซึ่งอยู่ที่ระดับความสูง 2,305 เมตร ตั้งแต่ปี 2021 โดยปัจจุบัน นักท่องเที่ยวสามารถขับรถขึ้นทางด่วนไปยังจุดดังกล่าวแล้วเดินเท้าต่อไปยังยอดภูเขาฟูจิที่อยู่สูง 3,776 เมตร

มีการประเมินว่าต้นทุนการก่อสร้างอาจอยู่ที่ 140,000 ล้านเยน (ราว 31,000 ล้านบาท) ในขณะที่รายงานระหว่างกาลเมื่อเดือนที่แล้วได้เน้นย้ำถึงความท้าทายทางเทคนิคต่าง ๆ รวมถึงเบรกและแบตเตอรี่ที่ทำงานได้ในสภาพอากาศหนาวเย็น หากมีการเลือกใช้ระบบรถรางไฟฟ้าจากผู้ผลิตในประเทศ

โครงการนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จและเริ่มใช้งานได้ในปี 2034 โดยรถรางจะเชื่อมต่อภูเขาฟูจิกับสถานีระดับภูมิภาค และในระหว่างนี้จะมีการศึกษาความเป็นไปได้ในทุกมิติ รวมถึงการทำประชาพิจารณ์เกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม