ชวนรู้จัก ‘ตั๋วแลกเงิน หรือ Bill of Exchange’ อีกทางเลือกในยามที่กู้เงินจากแบงก์ไม่ได้

ข่าวใหญ่ที่เราเห็นกันเต็มหน้าสื่อในสัปดาห์นี้ ก็คงจะหนีไม่พ้นข่าวของบริษัทในตลาดหุ้นที่ขอเลื่อนเวลาชำระตั๋ว BE ซึ่งในช่วงหลัง ๆ มานี้น้อยครั้งที่เราจะเห็นข่าวที่เกี่ยวกับตั๋วนี้ เพราะข่าวของบริษัทที่มีปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นในรูปของการผิดชำระหุ้นกู้เสียมากกว่า 

วันนี้เลยจะพาไปเจาะลึกตั๋ว BE แบบ 101 กันว่าตั๋วนี้คืออะไร? และทำงานอย่างไร?

ตั๋วแลกเงิน BE หรือ Bill of Exchange เป็นตราสารหนี้รูปแบบหนึ่งที่ถูกเอามาใช้เป็นเครื่องมือทางการเงินที่มีความสำคัญในการทำธุรกิจ และถือว่าเป็นหนึ่งในการระดมทุนของบริษัทเช่นเดียวกันกับหุ้นกู้

แต่อดีตตั๋วแลกเงินเป็นผลิตภัณฑ์ที่ธนาคารใช้เพื่อปล่อยกู้ให้กับบริษัทเอกชน และธนาคารนำไปขายต่อให้กับนักลงทุนอีกทอดหนึ่ง โดยธนาคารจะมีการเก็บค่าธรรมเนียมเพื่อเป็นการค้ำประกันตั๋วแลกเงินหรือที่เรียกว่า ‘การอาวัลตั๋ว’ โดยธนาคารจะร่วมรับผิดชอบหากผู้กู้เงินไม่สามารถชำระเงินคืนได้ แต่หลัง ๆ มาก็มีการปรับเปลี่ยนมาเป็นบริษัทเอกชนออกตั๋วแลกเงินเพื่อกู้กับนักลงทุนโดยตรง โดยไม่ผ่านตัวกลางอย่างธนาคารค่ะ

การระดมทุนรูปแบบนี้เป็นไปเพราะบริษัทเอกชนต้องการเงินทุนในการดำเนินงานและต้นทุนในการกู้เงินที่ต่ำกว่าการกู้ธนาคาร หรือไม่สามารถกู้เงินจากธนาคารได้ โดยผู้ให้กู้หรือเจ้าหนี้ก็จะได้รับผลตอบแทนการจากให้กู้ค่ะ แต่ความต่างระหว่างหุ้นกู้และตั๋วแลกเงินจะอยู่ที่ระยะเวลาอายุของตราสารหนี้นั้น ๆ กล่าวคือ ถ้าตราสารหนี้นั้นมีอายุมากกว่า 1 ปี เราจะเรียกว่าตราสารหนี้ระยะยาว ซึ่งมาในรูปแบบของหุ้นกู้ แต่ถ้าตราสารหนี้ไหนที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี หรือเป็นตราสารหนี้ระยะสั้น ซึ่งแบ่งย่อยออกได้เป็น ตั๋วแลกเงิน (BE), หุ้นกู้ระยะสั้น (Short-Term Debenture) หรือ ตั๋วสัญญาใช้เงิน (Permission Note: P/N)

ซึ่งตั๋ว BE เองก็ถูกจัดอันดับความน่าเชื่อถือเช่นเดียวกับหุ้นกู้ หรือที่เรียกว่า Credit-Rating และไม่ใช่ทุกบริษัทที่จะนำเอาหุ้นกู้ของตนเองไปทำ Credit-Rating ค่ะ เพราะมันถือเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องให้บริษัทจัดอันดับเข้ามาประเมินสถานะบริษัท หรือถ้าบริษัทไหนที่มีสถานะทางการเงินที่มีความเสี่ยงก็จะต้องชดเชยการถูกจัดอันดับนั้นด้วยผลตอบแทนที่สูงกว่าเพื่อจูงใจนักลงทุนค่ะ ซึ่งการจัดอันดับจะมีทั้งระดับที่ลงทุนได้และระดับที่เสี่ยง หรือแบบ Non-rated BE ซึ่งแบบหลังนี้ก็จะมีกฎตามมาด้วยว่าจะขายให้ได้เฉพาะสถาบันหรือนักลงทุนรายใหญ่เท่านั้นค่ะ

และเพราะตั๋ว BE มีอายุสั้น ผลตอบแทนที่ได้รับจากอยู่ในรูปของส่วนลด (Discount) แทนที่จะเป็นดอกเบี้ยอย่างหุ้นกู้ระยะยาว อย่างเช่น ตั๋วแลกเงินมูลค่า 1,000,000 บาท ส่วนลด 10% ระยะเวลา 1 ปี เพราะฉะนั้นผู้ซื้อตั๋วแลกเงินหรือผู้ให้กู้ก็จะให้เงินเพียงแค่ 900,000 บาท โดยมีส่วนลด 100,000 บาท และตอนคืนเงินผู้กู้ก็จะต้องคืนเงินจำนวน 1,000,000 บาทค่ะ

ข้อดีของตั๋วแลกเงินอีกอย่างที่นอกเหนือจากระยะเวลาถือครองสั้นแล้วที่ทำให้ตั๋วแลกเงินเป็นที่นิยม คือการเปลี่ยนมือได้ ผู้ให้กู้อาจขายตั๋วที่ได้รับ ไปให้ผู้อื่น และผู้ที่ซื้อตั๋วหรือผู้ถือตั๋วเงินมีสิทธิรับเงินโดยตรงจากผู้ออกตั๋วหรือผู้จ่ายเงินได้ แต่ถ้าผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ คนที่ซื้อตั๋วต่อไปจะไม่สามารถไปตามเอากับคนที่มีชื่ออยู่บนหลังตั๋วหรือคนที่ขายให้ได้

ข้ามมาดูในด้านความเสี่ยงกันบ้าง การลงทุนในตั๋วแลกเงินจะมีความเสี่ยงในด้านการผิดนัดชำระหนี้หรือว่าเกิด Default ก็คือการที่ผู้ออกตั๋วไม่สามารถชำระเงินได้เนื่องจากปัญหาจากตัวธุรกิจเองหรือปัญหาอื่น ๆ หรือความเสี่ยงด้านราคา

ในกรณีที่ผู้ให้กู้อยากขายก่อนครบกำหนด อาจจะทำให้ต้องขายในราคาที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น รวมไปถึงความเสี่ยงทางด้านสภาพคล่อง เพราะเนื่องจากตลาดรองในการขายตั๋วแลกมีสภาพคล่องไม่มากทำให้ผู้ให้กู้อาจจะไม่สามารถขายได้ในทันทีค่ะ 

นอกจากกรณีของ EA แล้ว ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีหลายบริษัทจดทะเบียนที่เกิดปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงินตามที่เราเห็นได้จากข่าวค่ะ ดังนั้นก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ใด ๆ เราจึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์นั้นอย่างละเอียด และดูไปถึงความสามารถในการรับความเสี่ยงของตัวเราด้วยค่ะ


เรื่อง: อรวดี ศิริผดุงธรรม, IP