Wednesday, 3 July 2024
วิชาหุ้น101

เสน่ห์ใดที่ซ่อนอยู่ในหุ้นสายประกัน จนทำให้ปู่ Warren Buffett ชอบเหลือเกิน

ถ้าใครได้ตามข่าวการเปิดพอร์ตการลงทุนล่าสุดของนักลงทุนแนวเน้นคุณค่า หรือ VI อย่าง Warren Buffett จะเห็นได้ว่าเขาเองได้เข้าไปเก็บหุ้นบริษัทประกันอย่าง Chubb โดยการเข้าไปซื้อหุ้น Chubb จำนวนเกือบ 26 ล้านหุ้น ซึ่งเป็นสัดส่วนถึง 2% ของหุ้นทั้งหมดของพอร์ตการลงทุน เป็นเงินถึง 6.7 พันล้านดอลลาร์หรือราว ๆ 2.4 แสนล้านบาท แล้วหุ้นประกันดีอย่างไรวันนี้จะมาเล่าให้ฟังค่ะ 

ก่อนอื่นเราต้องมาดูกันก่อนว่ารายได้หลักของบริษัทประกันมาจากอะไรบ้าง รายได้หลักก็คงหนีไม่พ้นเบี้ยประกันภัยรับสุทธิ ตามมาด้วยผลตอบแทนจากการนำเงินไปลงทุน และค่าจ้างค่าธรรมเนียมจากการให้บริการ โดยเงินที่เราจ่ายให้กับบริษัทประกันนี้เราจะเรียกว่า 'Float' และในทางบัญชีบริษัทจะบันทึกเงินก้อนนี้เป็นหนี้สิน ซึ่งเงินก้อนนี้ส่วนหนึ่งบริษัทประกันจะเก็บไว้เป็นทุนสำรองในกรณีที่ลูกค้าเคลมประกันเข้ามา ส่วนอีกส่วนหนึ่งบริษัทเองก็สามารถที่จะเอาเงินส่วนนี้ไปลงทุนต่อได้ โดยที่บริษัทไม่จำเป็นต้องไปกู้ยืมจากสถาบันการเงินอื่น ๆ 

เท่ากับว่าบริษัทประกัน ไม่มีต้นทุนจากการกู้ยืมเลย ซึ่งเราเรียกการลงทุนแบบนี้ว่า Leverage หรือก็คือการยืมเงินคนอื่นมาลงทุน เพื่อให้ได้ผลตอบแทนมากขึ้น ไม่เหมือนกับบริษัทอื่น ๆ ที่ต้องไปกู้ยืมและมีต้นทุนที่สูงในการเอาไปลงทุนต่อ แถมธุรกิจประกันภัยของ Berkshire Hathaway เองก็ยังเป็นแหล่งเงินสดก้อนใหญ่ที่บริษัทเอาไปใช้เพื่อการลงทุนเองด้วย 

แม้ว่าการดำเนินธุรกิจของประกันเองในบางปีจะขาดทุนจากการรับประกันภัยในกรณีที่ถูกเรียกสินไหมหรือที่เราเรียกว่า 'การเคลม' รวมถึงการที่คู่แข่งลดราคาเพื่อแย่งส่วนแบ่งทางการตลาด แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ บริษัทประกันภัยสามารถที่จะคำนวณกระแสเงินสด เพราะเขาเองสามารถคาดการณ์กระแสเงินสดที่จะไหลเข้าบริษัทได้อย่างค่อนข้างแม่นยำ ทำให้เขาสามารถวางแผนการใช้จ่ายเงินได้อย่างดี ส่วนทางด้านการลงทุนบริษัทเองสามารถเอาไปลงในสินทรัพย์ต่าง ๆ เช่น พันธบัตร หุ้นเพื่อหาผลตอบแทน ซึ่งจาก Float ที่บริษัทเองก็ไม่ได้มีต้นทุนการกู้ยืม การทำกำไรในสินทรัพย์ที่มั่นคงแต่ได้ผลตอบแทนน้อยก็นับว่าคุ้มแล้ว

นอกจากนี้ธุรกิจประกันภัยเองยังเป็นธุรกิจที่มีอำนาจในการกำหนดราคาอย่างเช่น บริษัทเองสามารถปรับขึ้นราคาเบี้ยประกันภัยได้ในช่วงภาวะเงินเฟ้อเพื่อรักษาผลกำไร หรือเรียกได้ว่าเป็นธุรกิจที่มีอำนาจในการต่อรองและกำหนดราคานั่นเอง

โดย Chubb เองเป็นบริษัทประกันภัยที่มีกิจการอยู่ 54 ประเทศทั่วโลกโดยให้บริการทั้งประกันภัยทรัพย์สิน, ประกันวินาศภัย, ประกันสุขภาพ, ประกันภัยต่อ และประกันชีวิต โดยผลการดำเนินงานของ Chubb ของไตรมาสที่ 1 ปี 2024 ออกมาโดยรายได้สุทธิอยู่ที่ 2.14 พันล้านเหรียญโตขึ้นเมื่อเทียบเป็นแบบรายปี ซึ่งหลังจากที่มีการประกาศรายชื่อหุ้นที่วอร์เรนเก็บเข้าเพิ่มไปก็ดันให้ราคาหุ้น Chubb ก็ทำให้ราคาหุ้นพุ่งขึ้นมากกว่า 8% 

เปิดเหตุผล!! ทำไมเงินเฟ้อถึงต้องแตะอยู่ที่ระดับ 2% เพราะเป็นตัวเลขที่ช่วยกระตุ้นศก.โดยไม่ทำร้ายระบบศก.

เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมเวลาที่ธนาคารกลางแต่ละประเทศออกมาพูดเรื่องระดับเงินเฟ้อ พร้อมทั้งออกนโยบายทางการเงินต่าง ๆ ก็มักจะมีการพูดถึงระดับเงินเฟ้อที่ 2% กันอยู่บ่อย ๆ 

เงินเฟ้อจริง ๆ แล้วดีไหม? และทำไมเงินเฟ้อถึงควรจะอยู่ที่ระดับ 2%? ... วันนี้จะมาเล่าให้ฟังค่ะ 

ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่าเงินเฟ้อคืออะไร? 

เงินเฟ้อ คือ ภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราต้องใช้เงินเยอะขึ้นในการซื้อของชิ้นเดิมหรือใช้บริการเดิม ถ้าพูดในมุมมูลค่าของเงิน ก็แปลได้ว่าเงินของเรามีมูลค่าที่ลดลงนั่นเอง โดยสาเหตุของการเกิดเงินเฟ้อแบ่งได้หลัก ๆ 2 อย่าง นั่นคือ...

1.เงินเฟ้อที่เกิดจากทางด้านอุปสงค์ หรือ Demand-Pull Inflation เงินเฟ้อประเภทนี้จะเกิดจากการที่คนมีความต้องการในสินค้าและบริการมากขึ้น แต่สินค้าและบริการนั้น ๆ มีไม่เพียงพอ ความต้องการที่มากขึ้นนั้นก็จะสะท้อนออกมาในระดับราคาที่เพิ่มสูงขึ้น 

และ 2. เงินเฟ้อที่เกิดจากด้านอุปทาน หรือ Cost- Push Inflation เงินเฟ้อประเภทนี้จะเกิดการที่ต้นทุนในการผลิตสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น ผู้ผลิตจึงผลักภาระทางด้านต้นทุนนี้ออกไป โดยการปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการแทน

จริง ๆ แล้วเงินเฟ้อไม่ใช่ตัวร้ายในระบบเศรษฐกิจเสมอไป เพราะเงินเฟ้อในระดับที่ดีจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 'ผู้ขาย' ขายสินค้าได้มากขึ้น ก็จะไปขยายการผลิต เพิ่มการจ้างงาน คนมีรายได้มากขึ้นและนำมาจับจ่าย เงินก็จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น 

แต่ถ้าเงินเฟ้อถึงระดับที่สูงจนเกินไปเมื่อไหร่ นั่นแหละที่จะกลายมาเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจแทน เพราะเงินเฟ้อที่สูงเกินไป ข้าวของแพงเกินไป คนจะไม่ยอมจับจ่ายใช้สอย และเงินก็จะหายไปจากระบบทำให้เศรษฐกิจฝืดเคืองได้

โดยอัตรา 2% ของเงินเฟ้อนี่ล่ะค่ะที่มีการคำนวณเอาไว้แล้วว่าเป็นระดับที่ดีต่อระบบเศรษฐกิจมากที่สุด ที่ระดับ 2% นี้ถือว่าเป็นระดับต่ำปานกลาง ไม่น้อยจนทำให้คนรู้สึกว่าตัวเองจนลงจนไม่อยากใช้เงิน และก็ไม่ได้สูงจนคนรู้สึกทุกอย่างแพงจนไม่อยากใช้เงินเช่นกัน และยังเป็นระดับที่สอดคล้องกับเสถียรภาพของราคาระหว่างความเสี่ยงและการเติบโตของเศรษฐกิจ และผลเสียใดก็ตามที่จะเกิดจากการที่เงินเฟ้ออยู่ที่ระดับนี้ก็ไม่ได้ส่งผลเสียอะไรมากด้วยค่ะ 

แต่เดิมไม่เคยมีประเทศไหนกำหนดระดับเงินเฟ้อมาก่อน โดยประเทศแรกที่มีกำหนดระดับเงินเฟ้อคือ ประเทศนิวซีแลนด์ ในปี 1989 ในตอนนั้นนิวซีแลนด์เป็นประเทศที่มีเงินเฟ้อสูงมาก ธนาคารกลางนิวซีแลนด์เลยทำการกำหนดระดับเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับ 0-2% และพอธนาคารกลางนิวซีแลนด์ทำได้จริง หลายธนาคารจึงนำเรื่องนี้ไปใช้บ้าง อย่างเช่น ที่สหรัฐอเมริกาในยุคของ Ben Bernanke ผู้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ในยุคนั้นก็ได้นำการตั้งระดับเงินเฟ้อไปใช้เช่นกัน 

ซึ่งพอนำระดับนี้ไปใช้จริงก็ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น เพราะไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือแย่ ผู้คนก็จะเชื่อมั่นว่าธนาคารกลางจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ระดับเงินเฟ้อกลับไปอยู่ที่ 2% รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจเองก็สามารถที่จะคำนวณต้นทุนการผลิต การวางแผนการใช้จ่ายต่าง ๆ ได้แม่นยำขึ้น ส่วนผู้บริโภคหรือเรา ๆ เองก็จะสามารถวางแผนการใช้จ่าย วางแผนการออมได้ง่ายขึ้นด้วยเช่นกัน 

โดยสรุปคือ ตัวเลข 2% เป็นตัวเลขที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยไม่ทำร้ายระบบเศรษฐกิจจนเกินไปค่ะ

กลุ่มขั้วอำนาจ BRICs คืออะไร? แล้วทำไม 'ไทย' ต้องเข้าร่วม?

ช่วงสองสามวันนี้เราอาจจะเห็นข่าวที่ไทยกำลังจะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มขั้วอำนาจ BRICS โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาเปิดเผยถึงที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างแสดงความประสงค์ในการเข้าร่วมการเป็นสมาชิกประเทศกลุ่ม BRICs ประเทศในกลุ่มนี้เขาเป็นใครกันบ้าง เดี๋ยววันนี้มาเล่าให้ฟังค่ะ 

คำว่า BRICs ถูกบัญญัติขึ้นมาครั้งแรกในปี 2001 โดยในตอนแรกมีแค่เพียง 4 ประเทศคือ บราซิล (B) รัสเซีย (R) อินเดีย (I) และจีน (C) และต่อมาในปี 2011 ก็ได้รับประเทศแอฟริกาใต้ (s) เข้ามาเป็นสมาชิกเพิ่ม โดยประเทศในกลุ่มนี้จะเป็นการรวมตัวของประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว หรือที่เราเรียกว่า กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ซึ่งในปัจจุบันนี้ BRICs มีประเทศสมาชิกด้วยกันทั้งหมด 10 ประเทศ

แม้ว่าก่อนหน้านี้จะความพยายามในการดึงประเทศอย่างอาร์เจนตินาเข้ามาร่วมด้วย แต่ก็ล้มเหลวไปค่ะ โดยอีก 5 ประเทศหลัง ซึ่งได้แก่ สาธารณรัฐอียิปต์, ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย, สหพันธ์สาธารณรัฐ, ประชาธิปไตยเอธิโอเปีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567

โดย BRICs ก่อตั้งมาเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนขั้วอำนาจจากกลุ่ม G7 มาเป็น BRICs แทนค่ะ ซึ่งประเทศที่อยู่ในกลุ่มนี้มีจำนวนมากถึง 40% ของประชากรโลกหรือราว ๆ 3,500 ล้านคน รวมถึงมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ 1 ใน 4 ของเศรษฐกิจโลกด้วยค่ะ 

การร่วมมือของประเทศในกลุ่ม Brics ไม่ใช่แค่เป็นการร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงินเท่านั้น แต่ประเทศเหล่านี้ยังร่วมมือกันทั้งทางด้านการเมือง วัฒนธรรม ความมั่นคงทางด้านอาหารและพลังงานด้วยค่ะ

นอกจากความร่วมมือต่าง ๆ แล้ว กลุ่ม BRICs ยังเคยมีการวางแผนที่จะใช้เงินสกุลท้องถิ่นมากขึ้นเพื่อใช้เป็นข้อต่อรองกับเงินสกุลหลักของโลกอย่างเงินสกุลดอลลาร์ รวมถึงแผนการในการซื้อขายน้ำมันกับประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่โดยไม่ใช่เงินสกุลดอลลาร์ด้วยค่ะ 

ไทยเองแสดงความประสงค์ในการเข้าร่วม BRICs โดยเล็งเห็นว่าการเข้าร่วมกลุ่มจะสามารถช่วยเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและกระตุ้นให้เกิดการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศมากขึ้น อีกทั้งไทยเองก็จะได้เพิ่มบทบาทในเวทีระดับโลกทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และการพัฒนา ได้แลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีกับประเทศในกลุ่มด้วย โดยไทยเองก็ได้เดินหน้าอย่างเต็มที่เพื่อเข้าเป็นสมาชิกของ BRICs ก่อนที่จะถึงการประชุมสุดยอดประเทศผู้นำ BRICs ครั้งที่ 16 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 ตุลาคม 2567 นี้ ที่เมืองคาซาน ประเทศรัสเซียค่ะ 

นอกจากไทยเราเองแล้วก็ยังมีอีก 2 ประเทศค่ะที่ขอเข้าร่วมเป็นสมาชิก ได้แก่ แอลจีเรียและโบลิเวียค่ะ และถ้าไทยได้เข้าเป็นสมาชิก เราก็จะเป็นประเทศแรกในประเทศแถบอาเซียนที่ได้เข้าเป็นสมาชิกค่ะ 

Trillion Dollar Club Companies ของโลก มูลค่าสูงกว่าตลาดหุ้นไทย - GDP ประเทศยักษ์ใหญ่

จากราคาหุ้น Nvidia บริษัทเทคโนโลยีสัญชาติอเมริกันที่มีชื่อเสียงในด้านการออกแบบและผลิตหน่วยประมวลผลกราฟฟิก (GPUs) ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ในคอมพิวเตอร์สำหรับเล่นเกมและเวิร์กสเตชันระดับมืออาชีพ ที่ยังคงร้อนแรงและเดินหน้าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบัน Nvidia มีมูลค่าตลาด (Market Cap) เบียดและผลัดกันแซงหน้าหุ้นพี่ใหญ่อย่าง Microsoft มาแบบชนิดไม่มีใครยอมใคร โดยที่ทั้งสองบริษัทเป็นบริษัทที่ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดที่สูงกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (3 Trillion Dollar) ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วค่ะ

ซึ่งในสหรัฐฯ เองจะมีการจัดอันดับบริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงเกินกว่า 1 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์ขึ้นไป โดยไม่จำเป็นต้องเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นเท่านั้นนะคะ แต่เพียงแค่บริษัทนอกตลาดหุ้นจะถูกนำมาประเมินมูลค่าได้ยากกว่าบริษัทในตลาดที่จดทะเบียนค่ะ 

แล้ว 1 ล้านล้านดอลลาร์ใหญ่ขนาดไหน? ถ้าเทียบกับมูลค่าตลาดหุ้นไทย 

ณ ปัจจุบัน ตลาดหุ้นไทยมีมูลค่าอยู่ที่ 4 แสนกว่าล้านเหรียญเองค่ะ โดยบริษัทกลุ่มนี้ก็จะมีชื่อเรียกเฉพาะค่ะ เราจะเรียกบริษัทกลุ่มนี้ว่าเป็นบริษัทในกลุ่ม Trillion Dollar Club ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดบริษัทในคลับนี้มีด้วยกันอยู่ 6 บริษัทซึ่งทั้งหมดเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นค่ะ โดยทั้ง 6 บริษัทประกอบไปด้วย...

1. Apple (AAPL)
2. Microsoft (MSFT)
3. Alphabet (GOOG)
4. Amazon (AMZN)
5. Nvidia (NVDA) 
และ 6. Meta (META)

ก่อนหน้านี้ก็มีบริษัทหุ้นผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง Tesla (TSLA) และบริษัทผลิตน้ำมันสัญชาติซาอุดีอาระเบียอย่าง Saudi Aramco (2222) ที่เคยเข้ามา แต่ก็ถูกนำออกไปตอนที่มูลค่าตลาดของบริษัทพวกนั้นลดลงค่ะ โดยบริษัทแรกที่เข้าในคลับก็คือ AAPL โดย AAPL เข้ามาในคลับตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2018 และจนถึงทุกวันนี้ก็ไม่เคยออกจากคลับอีกเลยค่ะ 

ถ้าเทียบขนาดของ AAPL ก็เทียบได้เท่า ๆ กับ GDP ของแคนาดา และ ออสเตรเลียเลยทีเดียวค่ะ ส่วน Nvidia ที่กำลังร้อนแรงเข้ามาร่วมคลับในตอนเดือนพฤษภาคม 2023 เพราะตอนนั้นมูลค่าตลาดโตขึ้นมาถึง 200% เลยค่ะ 

จริง ๆ แล้วบริษัทที่แตะ 1 ล้านล้านเหรียญแห่งแรกของโลก คือบริษัทสัญชาติจีนอย่าง Petro China ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ค่ะ โดยเข้ามาแตะในกลุ่ม Trillion Club ในวันแรกของการซื้อขายในช่วงพฤศจิกายน 2007 ค่ะแต่ก็อยู่ได้ไม่นานก็หลุดไปค่ะ 

อย่างไรก็ตามบริษัทในคลับนี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ค่ะ โดยจะสลับเปลี่ยนหมนุนเวียนเข้าออกตามมูลค่าตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปค่ะ 

รู้จัก 'บทบาท-หน้าที่' ธนาคารโลก ทำไมถึงปรับเป้า GDP ไทย-ประเทศอื่นๆ ได้

จากข่าวล่าสุดที่ทาง World Bank หรือธนาคารโลกได้ออกมาประกาศปรับเป้า GDP ไทยปี 2024 ลง เหลือโตเพียงแค่ +2.4% หลังจากได้มีการปรับลดก่อนหน้าลงมาในเดือนเมษายนเหลือ +2.8% ทั้งๆ ที่ต้นปีธนาคารโลกเองเคยมองว่าไทยจะมีการเติบโตอยู่ที่ระดับสูงถึง +3.2% และปรับเป้า GDP ปี 2568 เหลือเพียงแค่ +2.9%

ว่าแต่ World Bank มีหน้าที่อะไร? ทำไมถึงมาปรับเป้า GDP ไทยและประเทศอื่นๆ ในโลก?

โดยประวัติความเป็นมาของธนาคารโลกนี้ ถูกจัดตั้งมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในตอนนั้น การจัดตั้งธนาคารโลก เป็นไปเพราะต้องการเป็น 'แหล่งกู้ยืมเงิน' ให้กับประเทศสมาชิก เพื่อนำเอาไปใช้ในการฟื้นฟูประเทศหลังจากสงครามโลกค่ะ แต่ต่อมาก็ได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นการให้เงินกู้แก่ประเทศในโลกที่สามเป็นสำคัญ

ธนาคารโลกก่อตั้งขึ้นมาในปี ค.ศ.1944 ในการประชุมที่เบร็ตตันวูดส์ รัฐนิวแฮมเชียร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยในการประชุมดังกล่าวมีการร่างกฎบัตรขึ้นมาสองฉบับสำหรับธนาคารโลกหรืออีกชื่อหนึ่งคือ ธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและพัฒนา (International Bank for Reconstruction and Development-IBRD) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund-IMF) และได้มีการรวมสถาบันการเงินอื่นๆ อีก 3 หน่วยงานได้แก่ 1) บริษัทการเงินระหว่างประเทศ, 2) สมาคมพัฒนาระหว่างประเทศ, 3) องค์การประกันการลงทุนหลายฝ่าย แล้วเรียกรวมกันว่า 'ธนาคารโลก' หรือ World Bank 

โดยในช่วงแรกมีประเทศสมาชิกเพียงแค่ 38 ประเทศ แต่ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 189 ประเทศ ซึ่งมี ซูดานใต้ เป็นประเทศที่ 189 ที่เข้าร่วมในปี 2012 ส่วนประเทศไทยเองเข้ามาเป็นสมาชิกตั้งแต่ปี ค.ศ.1949 ด้วยลำดับสมาชิกที่ 47 ค่ะ

นอกจากธนาคารโลกจะมีหน้าที่ช่วยเหลือประเทศสมาชิกในการให้กู้ยืมเงินด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ และระยะยาวแล้ว ยังช่วยค้ำประกันเงินกู้ทำให้ประเทศที่กู้เงินสามารถได้รับอัตราดอกเบี้ยในเรทที่ต่ำได้ และให้คำปรึกษารวมให้ความรู้กับประเทศสมาชิก รวมถึงกระตุ้นและส่งเสริมการลงทุนระหว่างประเทศค่ะ 

ดังนั้น สาเหตุหลักในการปรับเป้า GDP ไทย เพราะธนาคารโลก มองว่า การส่งออกและการลงทุนภาครัฐไทยดูมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลง เนื่องมาจากความล่าช้าในการอนุมัติงบประมาณปี 2567 และไทยเองก็ยังมีหนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ปัญหาเรื่องความไม่แน่นอนทางการเมือง แถมยังมีปัญหาใหญ่ที่รออยู่นั่นก็คือ ปัญหาทางโครงสร้างประชากรที่ไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุด้วยค่ะ โดยการปรับตัวเลข GDP นี้ ยังไม่ได้มีการรวมเอาโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเข้าไป เพราะถ้าเป็นไปตามที่รัฐบาลคาดไว้ โครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะเข้ามาช่วยเพิ่ม GDP ไทยได้ราว 1% เพียงแต่จะแลกมาด้วยหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นตามมา 

ส่วนในเรื่องการฟื้นตัวจากการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนที่เป็นกลไกหลักในการสร้างรายได้และการเติบโตทางเศรษฐกิจ ถูกมองว่าจะกลับไปที่ระดับก่อนโควิดระบาดได้ในช่วงกลางปี 2568 ขณะที่เรื่องการส่งออกไทย ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออก ก็จะได้อานิสงส์จากการค้าโลกที่เติบโตดีขึ้นด้วยค่ะ

นอกจากประเทศไทยแล้ว ธนาคารโลกก็ยังปรับประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจโลก โดยมองว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวเพียงแค่ 2.6% ในปีนี้ ซึ่งได้แรงหนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ หรือ Emerging Market และประเทศกำลังพัฒนาจะขยายตัวลดลงจากปี 2566 มาอยู่ที่ระดับ 4.2% ... จีนจะขยายตัวลดลงจากปีที่แล้วที่ระดับ 5.2% มาอยู่ที่ระดับ 4.8% และเศรษฐกิจแถบยูโรโซนที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ระดับ 0.4% มาอยู่ที่ระดับ 0.7% ค่ะ

รู้จัก Uptick Rules ที่จะใช้กับตลาดหุ้น 1 ก.ค.นี้ ช่วยให้หุ้นไทยไม่ถูกเทขายได้จริงไหม?

ในที่สุดบ้านเราก็มีความชัดเจนมากขึ้นในการจะนำเอากฎ ‘Uptick Rule’ มาใช้กับตลาดหุ้นในวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 นี้ค่ะ 

‘Uptick Rule’ เป็นกฎเกณฑ์การซื้อขายหุ้นที่กำหนดว่า นักลงทุนสามารถขายชอร์ตหุ้นได้ก็ต่อเมื่อราคาเสนอซื้อ (Bid price) สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งล่าสุด (ขายชอร์ต คือการทำกำไรในขาลง เช่น ถ้าเรามองว่าหุ้น A จะลง ให้เราขายชอร์ตที่ราคาปัจจุบัน สมมติให้ราคาปัจจุบันคือ 10 บาท และต่อมาหุ้น A ลงไปอยู่ที่ 7 บาท เราก็จะได้กำไรส่วนต่างเท่ากับ (10-7)*จำนวนหุ้น) ซึ่งปัจจุบันการขายชอร์ตจะเป็นการขายชอร์ตได้ที่ราคาเท่ากันหรือสูงกว่า หรือเราเรียกวิธีนี้ว่า Zero-plus Tick ค่ะ 

ส่วนผู้ดูแลสภาพคล่อง หรือ Market Maker ที่ต้องขึ้นทะเบียนกับทาง ตลท. เท่านั้นที่จะยังสามารถส่งคำสั่ง Short เป็น Zero-plus Tick หรือราคาเท่ากับหรือสูงกว่าราคาสูงกว่าได้

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ อย่างเช่น จากเดิมหากเราต้องการขายชอร์ตหุ้น A ที่ราคาปัจจุบันอยู่ที่ 10 บาท ถ้านำเอากฎ Uptick Rule มาใช้เราจะไม่สามารถตั้งขายที่ราคา 10 บาทได้ แต่ต้องไปตั้งรอคิวที่ราคา 10.10 ขึ้นไปค่ะ

รวมถึงยังจะมีมาตรการกำกับดูแลพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในการซื้อขายหุ้น เปิดเผยรายชื่อนักลงทุนที่ส่งคำสั่งที่ไม่เหมาะสม และในไตรมาส 4 จะมีการนำเอาการกำหนดเวลาขั้นต่ำก่อนที่จะสามารถยกเลิกคำสั่งซื้อได้ การหยุดเทรดชั่วคราวหากมีคำสั่งที่ไม่ปกติ รวมถึงยกระดับการตรวจสอบด้วยค่ะ 

การทำแบบนี้จะเป็นการลดแรงกดดันในการเทขายหุ้นเพราะก่อนหน้านี้เวลาที่หุ้นตัวไหนมีการขายจำนวนมาก ระบบ Algorithmic Trading หรือโปรแกรมเทรดจะทำการขายตามทันที ทำให้ราคาหุ้นตัวนั้นลงเร็วและแรงค่ะ 

การนำกฎ Uptick Rule มาใช้จะช่วยเรื่องความผันผวนในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนสูง และเพิ่มความมั่นใจให้นักลงทุนว่าหุ้นที่เขามีจะไม่โดนการทุบราคาอย่างรุนแรง แต่ก็ต้องแลกมากับสภาพคล่องที่จะหายไปด้วยค่ะ เพราะคนที่จะเข้ามาขายชอร์ตเพื่อเพิ่มสภาพคล่องก็จะทำได้ยากขึ้นด้วยค่ะ

ส่วน Uptick Rule จะช่วยให้หุ้นไทยไม่ถูกเทขายได้จริงไหม เราคงต้องมาดูว่าแรงขายที่เกิดในหุ้นตัวนั้น ๆ เกิดจากการเก็งกำไรหรือเป็นขายหุ้นเพราะปัจจัยพื้นฐานในหุ้นตัวนั้นที่เปลี่ยนแปลงไปค่ะ เพราะถึงแม้ว่าถ้าเอากฎ Uptick Rule มาใช้แต่แนวโน้มธุรกิจหรือเศรษฐกิจไม่ดี นักลงทุนก็ยังคงจะขายหุ้นตัวนั้นอยู่ดีค่ะ 

สุดท้ายแล้วถ้าตลาดหุ้นไทยยังไม่มีปัจจัยบวก เศรษฐกิจยังไม่โต GDP ยังถูกปรับลด และยังคงมีความไม่แน่นอนทางการเมือง ตลาดหุ้นไทยก็จะยังไม่มีปัจจัยบวกอะไรที่จะสามารถดึงเงินนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติให้กลับเข้ามาลงทุน Fund Flow ต่างชาติก็ยังไม่กลับมาค่ะ เพราะท้ายที่สุดแล้วการลงทุนในหุ้นก็จำเป็นต้องนำเอาปัจจัยพื้นฐานเข้ามาพิจารณาประกอบด้วยเสมอค่ะ

ถอดรหัสชีวิตที่ไม่สวยหรูของ ‘Elon Musk’  ชายผู้ร่ำรวยที่สุดในโลกประจำเดือนมิถุนายน 2567 

ในทุก ๆ วัน สื่ออย่าง Forbes จะมีการอัปเดตการจัดอันดับคนที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ซึ่งถ้าเข้าไปดูในหน้าเว็บไซต์จะเห็นการจัดอันดับความมั่งคั่งของบรรดามหาเศรษฐีทั่วโลกแบบ Real-Time รวมถึงเห็นตัวเลขความมั่งคั่งสุทธิของคน ๆ นั้นได้

และเดือนมิถุนายน 2567 นี้ ก็ได้มีการจัดอันดับเช่นเดียวกัน โดยคนที่รวยที่สุดของเดือนนี้ คือ Elon Musk ซึ่งเขามีทรัพย์สินอยู่ที่ราว ๆ 213 Billion Dollars (สองแสน-หนึ่งหมื่น-สามพันล้านเหรียญ) 

เงินจำนวนนี้เยอะขนาดไหน? ถ้าเทียบกับเครื่องบินลำใหญ่อย่าง Boeing 777 จำนวน 1 ลำที่มีราคา 300 ล้านเหรียญดอลลาร์แล้ว เงิน 213 Billion ก็จะทำให้ Elon เป็นเจ้าของเครื่องบินได้มากถึง 710 ลำค่ะ 

แล้วเขาเป็นใครทำไมถึงร่ำรวยเป็นที่ 1 ของโลก สำหรับใครที่ยังไม่รู้จักเขา เดี๋ยววันนี้จะพาไปรู้จักคน ๆ นี้กันค่ะ

Elon Musk เป็นผู้ก่อตั้งและประธานบริหารของบริษัท SpaceX, Tesla, Inc., Neuralink, และ The Boring Company และถ้าเราจำกันได้เขาคือคนที่เอา Mini Submarine แคปซูลเคลื่อนย้ายมนุษย์ใต้น้ำเหมือนเรือดำน้ำขนาดเล็ก มาใช้ในการช่วยชีวิตของเด็ก ๆ ทีมนักฟุตบอล 13 หมูป่าที่ติดถ้ำหลวง จังหวัดเชียงราย ซึ่งตัวเขาก็ได้เดินทางมาถึงหน้าถ้ำจริง ๆ ด้วย แม้ว่าสุดท้ายเรือดำน้ำนั้นจะไม่ได้ถูกเอามาใช้ก็ตาม

Elon Musk เกิดที่เมือง Pretoria (พรีทอเรีย) ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งในแอฟริกาใต้ ก่อนจะย้ายมายังแคนาดา และมาศึกษาต่อที่สหรัฐฯ ด้วยความที่เขามีพ่อเป็นวิศวกร ส่วนเเม่เป็นนักโภชนาการ เขาเริ่มเรียนรู้เรื่องการเขียนโปรแกรมตั้งแต่อายุ 10 ขวบ และเขียนโค้ดขายวิดีโอเกมได้ในราคา 500 เหรียญ ตั้งแต่เขาอายุได้ 12 ปีเท่านั้น เขายังชอบอ่านหนังสือพวกนิยายวิทยาศาสตร์และสารานุกรม บางวันอ่านนานถึงวันละ 10 ชั่วโมง เพราะในวัยเด็กเขามักจะถูกเพื่อน ๆ ที่โรงเรียนรังแก จนครั้งหนึ่งเขาถูกทำร้ายจนสลบ นั่นทำให้เขาเองชอบใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในห้องสมุดเพื่ออ่านหนังสือเเทน 

โดยเขาได้ก่อตั้งบริษัทแรกขึ้นกับน้องชายในชื่อ Zip2 เป็นธุรกิจฐานข้อมูลและจัดหาข้อมูลให้กับสื่อสิ่งพิมพ์ชื่อดังเจ้าต่าง ๆ อย่างนิวยอร์กไทมส์ เป็นต้น (นึกถึงวันที่โลกยังไม่มี Google และต้องหาข้อมูล หาเบอร์คนต่าง ๆ จากสมุดหน้าหลือง) บริษัทประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วจนได้ขายบริษัทออกไปให้กับบริษัท Compaq ตอนเขาอายุ 28 ปี ด้วยมูลค่าถึง 307 ล้านดอลลาร์ หลังจากเขาปั้นบริษัทแห่งนี้มาได้แค่ 4 ปีเท่านั้น 

จากนั้นก็มีการก่อตั้งธนาคารออนไลน์ ที่ชื่อว่า X.com ก่อนจะถูกควบรวมเข้ากับบริษัทคอนฟินิตี ในปัจจุบันรู้จักกันในชื่อว่า Paypal มันประสบความสำเร็จอย่างมหาศาล เขาได้รับคำเสนอซื้ออีกครั้งจาก Ebay และเขาตัดสินใจขายมัน นั่นทำให้เขากลายเป็นเศรษฐีพันล้านในวัยเพียง 31 ปี

พอในปี 2002 เขาก็ได้เปิดบริษัทที่ให้บริการเกี่ยวกับการเดินทางในอวกาศ เขาฝันว่าวันหนึ่งการเดินทางท่องเที่ยวในอวกาศจะเป็นเทคโลโลยีที่ราคาไม่แพงและเป็นอะไรที่สามารถเข้าถึงได้ พอปี 2004 เขาเป็นผู้ลงทุนในบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเทสลามอเตอร์ส เขาเป็นทั้งประธานและสถาปนิกผลิตภัณฑ์ 

ในปี 2006 เขาช่วยสร้างโซลาร์ซิตีซึ่งเป็นบริษัทพลังงานแสงอาทิตย์ที่ต่อมาถูกซื้อโดยเทสลา และกลายเป็นเทสลาเอนเนอร์ยี 

ในปี ค.ศ. 2015 เขาได้ร่วมก่อตั้งบริษัทโอเพนเอไอ ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยปัญญาประดิษฐ์ที่ไม่แสวงหาผลกำไร 

ในปี 2016 เขาได้ร่วมก่อตั้งนิวรัลลิงก์ที่พัฒนาส่วนติดต่อระหว่างสมองกับคอมพิวเตอร์ ที่เคยทำการทดลองในลิงที่ถูกฝังชิปในสมองให้มีความสามารถในการเล่นเกมได้ และเดอะบอริงคอมพานี ซึ่งเป็นบริษัทก่อสร้างอุโมงค์ ทำไฮเปอร์ลูป โดยมีเเนวคิดในการส่งมนุษย์เดินทางผ่านท่อความเร็วสูงจากแรงลม ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริงเราจะเดินทางจากกรุงเทพไปเชียงใหม่ได้ในเวลาเพียงเเค่ 20 นาทีค่ะ เเละในปี ค.ศ. 2022 มัสก์ซื้อแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทวิตเตอร์ ด้วยมูลค่า 44 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

อันที่จริงชีวิตของ Elon ก็ไม่ได้มีแค่ด้านสวยหรูนะคะ เพราะเขาก็เคยถูกปฏิเสธเข้าทำงานจากบริษัท Netscape ซึ่งเป็นบริษัทคิดค้นเว็บเบราว์เซอร์ World Wide Web (WWW) ด้วยเหตุผลว่าเขาไม่มีประสบการณ์การทำงานมาก่อน และนั่นก็เป็นการจุดประกายให้เขาก่อตั้งบริษัทตัวเองค่ะ

โดยรวมแล้วชีวิตเขาก็ไม่ได้ราบรื่นมาตลอด พ่อแม่หย่าร้างกัน แถมยังมีช่วงที่เขาขาดสภาพคล่องจนต้องหาแหล่งเงินทุนมาช่วยธุรกิจเขา / เขาเคยไปขอให้ Apple เข้ามาซื้อกิจการแต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ / ถูกหักหลัง / ถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้บริหาร / ลูกชายคนแรกเสียชีวิตหลังคลอดได้ 10 เดือน / ถูกฟ้องหย่า 

แต่ท้ายที่สุดแล้ว ด้วยความที่เขาเป็นคนไม่ยอมแพ้ มุ่งมั่น และมีความพยายามที่จะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา และไม่เคยย่อท้อ ไม่ว่าจะเจอกับอุปสรรคอะไร อย่างเช่นการทดลองจรวด แม้จะโดนดูถูก เยาะเย้ย แต่เขาเองไม่เคยใส่ใจ ต่อให้การทดลองจะล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ทุก ๆ ครั้งเขาจะกลับมาและทำให้มันดีขึ้นกว่าเดิม

และนั่นจึงทำให้เขาเป็น 'มหาเศรษฐีอันดับหนึ่ง' ของโลกค่ะ 

ที่สำคัญตอนนี้พวกเราคนไทยเอง ก็สามารถซื้อหุ้นของ Elon Musk ผ่านทางโบรกเกอร์ที่มีบริการซื้อหุ้นต่างประเทศได้ด้วยนะคะ

วิเคราะห์ 6 กลยุทธ์การออกจากตลาด ที่เจ้าของกิจการมักใช้ในกิจการและตลาดหุ้น

หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า ‘Exit Strategy’ แต่นัยจริง ๆ ของมันคืออะไร?

‘Exit Strategy’ หรือ กลยุทธ์การออกจากตลาด คือ แผนการรับมือของนักลงทุนและเจ้าของธุรกิจที่วางไว้ล่วงหน้า เพื่อขายหุ้นออกจากพอร์ตการลงทุนหรือเปลี่ยนแปลงสัดส่วนความเป็นเจ้าของธุรกิจในสถานการณ์หรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ รวมทั้งในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากที่คิด และยังเป็นหนึ่งในวิธีบริหารความเสี่ยงของผู้ถือหุ้นและเจ้าของด้วยค่ะ 

โดยการลดสัดส่วนความเป็นเจ้าของนี้ ก็จะส่งต่อความเป็นเจ้าของนั้นให้กับผู้ถือหุ้นรายอื่นหรือกิจการอื่น ๆ ค่ะ ซึ่งการ Exit นี้มีได้ทั้งแบบสมัครใจและไม่สมัครใจค่ะ 

อย่างเช่น ถ้าเจ้าของมองว่า มีคนที่มีความสามารถบริหารงานได้ดีกว่าตัวเองก็อาจจะถูกทำให้ Exit เพื่อให้คนนั้นเข้ามาบริหารแทนค่ะ 

การ Exit นี้เกิดได้ทั้งกับธุรกิจขนาดใหญ่ กลาง เล็ก รวมไปถึง Startup และการร่วมทุนในหลายรูปแบบค่ะ

โดยวิธีการ Exit มีด้วยกันทั้งหมด 6 วิธีค่ะ 

วิธีแรก คือ IPO หรือ วิธีการเสนอขายหุ้นให้กับบุคคลทั่วไปเป็นครั้งแรกค่ะ จริงอยู่ที่ IPO เป็นการระดมทุนให้กับบริษัท แต่ในมุมตรงกันข้าม มันก็คือการลดสัดส่วนเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นเดิมลงด้วยเช่นกัน ยิ่งบางธุรกิจที่มีนักลงทุนรายใหญ่ถือหุ้นเดิมอยู่ เมื่อทำ IPO เข้ามาแล้ว นักลงทุนรายใหญ่หรือ Angle Investors ก็อาจจะนำเงินที่ได้จากการ IPO ไปลงทุนในธุรกิจอื่นแทนค่ะ 

วิธีที่สอง คือการขายกิจการ ซึ่งวิธีนี้เหมาะกับกิจการที่มีผลประกอบการไม่ค่อยดีค่ะ การขายกิจการตัวเองออกไปอาจจะช่วยลดความเสียหายและลดความเครียดที่เกิดกับเจ้าของกิจการนั้นได้ค่ะ หรือในทางตรงกันข้ามกับบริษัทที่ธุรกิจดี การขายกิจการหรือขายหุ้นออกไปก็จะเป็นการรักษาผลกำไรที่ตัวเองต้องการได้ค่ะ วิธีนี้จะขายแบ่งเฉพาะตัวธุรกิจเอง หรือขายธุรกิจรวมกับผู้บริหารและพนักงานเดิมก็ได้ค่ะ 

วิธีที่สามคือ M&A หรือ Mergers and Acquisitions หรือเราเรียกวิธีนี้ว่าการควบรวมกิจการ โดย Mergers ซึ่งเป็นวิธีที่กิจการตั้งแต่ 2 บริษัทขึ้นไปมาควบรวมกันค่ะ อย่างเช่น ตอนที่ธนาคารทหารไทยควบรวมกับธนาคารธนชาต และเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารทหารไทยธนชาต ส่วน Acquisitions คือการขายกิจการของตัวเองให้กับบริษัทอื่น โดยจะขายผ่านทรัพย์สินหรือหุ้นก็ได้ค่ะ อย่างเช่นตอนที่ Facebook เข้าไปซื้อกิจการของ Instagram ค่ะ 

วิธีที่สี่ คือ วิธีการเสนอขายหุ้นให้กับคนในวงจำกัด หรือ Private Placements (PP) วิธีนี้ไม่ยุ่งยากเท่า IPO เพราะไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจาก กลต. แถมขั้นตอนการดำเนินการก็ยุ่งยากน้อยกว่าด้วยค่ะ โดยวิธีนี้เจ้าของเดิมที่ถือหุ้นอยู่จะลดสัดส่วนตัวเองลงไปให้กับผู้ถือหุ้นเดิมรายอื่นค่ะ 

วิธีที่ห้า คือ การสืบทอดกิจการครอบครัวค่ะ วิธีนี้จะเป็นการถ่ายโอนธุรกิจหรือสัดส่วนความเป็นเจ้าของให้กับทายาท และ...

วิธีสุดท้ายคือ ล้มละลาย ซึ่งวิธีนี้เจ้าของกิจการจะถูกฟ้องเพื่อยึดทรัพย์สินและถูกบังคับให้ออกจากธุรกิจนั้นไปโดยปริยายค่ะ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top