'อาจารย์ มช.' เตือน!! อย่า #Saveทับลาน จนลืมมองมุมทับซ้อนที่ทำกินชาวบ้าน ชี้!! ผืนดินทำกินต่างหากที่ถูกเฉือนไปเซ่นป่าอนุรักษ์มานานแล้วหลายสิบปี

(9 ก.ค.67) ศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ระบุทางเฟซบุ๊กส่วนตัว กรณีสังคมให้ความสนใจและถกเถียงการกำหนดพื้นที่ให้เป็นอุทยานแห่งชาติทับลาน จ.ปราจีนบุรี จ.นครราชสีมา และ จ.สระแก้ว (ปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน จากการสำรวจแนวเขตเมื่อปี พ.ศ.2543 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566) ทั้งนี้ หากโหวต ‘เห็นด้วย’ จะเป็นการยอมรับการเพิกถอนพื้นที่ อช.ทับลาน 265,000 ไร่ ถ้า ‘ไม่เห็นด้วย’ คือการไม่ยอมรับการเพิกถอนพื้นที่ อช.ทับลาน 265,000 ไร่

พร้อมกันนี้ ศ.ดร.ปิ่นแก้ว ยังกล่าวถึงรายงานข่าวที่อ้างถึงคนในพื้นที่เห็นด้วยกับแนวเขตใหม่ อช.ทับลาน

ศ.ดร.ปิ่นแก้วระบุว่า สิ่งที่พวกกลุ่มอนุรักษ์ตั้งใจไม่พูดถึงคือ อุทยานแห่งชาติหลายแห่ง จัดตั้งโดยไม่เคยสนใจที่จะสำรวจและกันพื้นที่ทำกินของชาวบ้านที่อยู่มาก่อนออกก่อนที่จะประกาศเป็นเขตป่า สนใจแต่จะเพิ่มพื้นที่ป่าให้มากเข้าไว้ แต่ไม่สนสี่สนแปดว่า ป่าที่จัดตั้งขึ้นนั้นไปแย่งที่ทำกินของใครเขามาบ้าง กลายเป็นชนวนความขัดแย้ง เผชิญหน้าระหว่างรัฐกับชุมชนเรื้อรังมานานหลายทศวรรษ อุทยานแห่งชาติทับลาน ก็เช่นกัน

การใช้วาทกรรม ‘ผืนป่าที่ถูกเฉือน’ ของกลุ่มอนุรักษ์บางกลุ่ม จึงเป็นการจงใจบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อปั่นกระแสเขียวตกขอบในหมู่ชนชั้นกลางอย่างจงใจ ทั้งที่ในความเป็นจริง ผืนดินทำกินของชาวบ้านต่างหากที่ถูกเฉือนไปเซ่นป่าอนุรักษ์มานานหลายสิบปี อุทยานประกาศปี 2524 ชาวบ้านบางกลุ่มอยู่กันมาตั้งแต่ก่อนปี 2515 ด้วยซ้ำไป แบบนี้ไม่เรียกว่าอุทยานบุกรุกที่ชาวบ้าน จะให้เรียกว่าอะไร

การใช้ข้ออ้างเรื่องกลัวกลุ่มทุนจะมาฮุบที่เหมาเข่ง ดังนั้น จึงไม่ควรเพิกถอนป่าที่ไปแย่งชาวบ้านเขามา และคืนสิทธิให้กับเจ้าของที่ดินที่อยู่มาก่อน จึงเป็นตรรกะที่วิบัติมาก

ที่น่าแปลกคือ สื่อส่วนใหญ่ก็พากันไปกับกระแสเขียวตกขอบ แทบไม่เห็นสื่อไหนที่เสนอข้อเท็จจริงจากชาวบ้านในพื้นที่ นอกจากข่าวนี้


ที่มา: Matichon