Wednesday, 23 April 2025
saveทับลาน

'สุกฤษฏิ์ชัย-ปชป.' หวั่น!! เพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ซ้ำเติมโลกเดือด แนะ!! หน่วยงานเกี่ยวข้อง 'ทบทวน-ยกเลิก' กระบวนการทั้งหมดทันที

(8 ก.ค. 67) นายสุกฤษฏิ์ชัย ธีระเริงฤทธิ์ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้ช่วยผู้อำนวยการมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ (หน่วยงานดีเด่นแห่งชาติสาขาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) กล่าวว่า เป็นที่น่ากังวลและต้องติดตามอย่างใกล้ จากกรณี 'กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช' เปิดรับฟังความเห็นในการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ฝั่ง จ.นครราชสีมา และปราจีนบุรี นั้น

ในบริเวณพื้นที่โดยรอบอันประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติทับลานนั้น ยังมีอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่, อุทยานแห่งชาติปางสีดา, อุทยานแห่งชาติตาพระยา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ รวมกันเป็นกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ ผลกระทบจากสิ่งที่จะเกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม อาจจะประเมินค่ามิได้ ทั้งต่อระบบนิเวศ ธรรมชาติ พืชพันธุ์ สัตว์ป่านานาชนิด ตลอดจนประชาชนทุกคน

ฉะนั้น ภารกิจของทางราชการควรปกป้องผืนป่า ขยายพื้นที่สีเขียว อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เสริมสร้างความตระหนักรู้และหวงแหนสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน

ทั้งนี้ จากรายงานพื้นที่ป่าไม้ของประเทศโดยกรมป่าไม้ พบว่าในปี 2556 มีพื้นที่ป่าร้อยละ 31.57 แต่ในปี 2566 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 31.47 สวนทางกับปัญหาภาวะโลกร้อน โลกเดือดที่พวกเรากำลังเผชิญอยู่ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาและทบทวนต่อกรณีดังกล่าวนี้ หรือยกเลิกกระบวนการทั้งหมดทันที 

ปัจจุบัน ทางมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ได้มี 'โครงการมวลชนพัฒนาฟื้นผืนป่าแผ่นดินอิสานใต้' ในปี 2559 และโครงการต่อเนื่องอีกหลายกิจกรรมในพื้นที่นี้ด้วย

แอบทำกันเงียบๆ เอาป่าสงวนอุทยานทับลาน เข้าโครงการ One Map แน่ใจได้อย่างไร ว่าที่ดินจะตกถึงมือเกษตรกร ไม่ไปอยู่ในมือนายทุน?

จากกรณีที่ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช บอกว่ายินดีรับฟังเสียงของประชาชน กรณี มติครม. จะเอาป่าสงวนอุทยานแห่งชาติทับลาน 265,286 ไร่ มาเข้าโครงการ One Map และยกที่ดินเข้าสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (สปก.) นั้น

หากลงในรายละเอียดแล้ว โครงการ One Map มีเป้าหมายให้ทุกส่วนราชการใช้แผนที่เดียวกันในการแก้ปัญหาข้อโต้แย้ง ที่เดิมต่างฝ่ายต่างมีแผนที่ของตัวเอง ซึ่งน่าจะเป็นผลดี แต่ในทางปฏิบัติเมื่อไปยึดสัดส่วน 1:4000 จึงก่อให้เกิดปัญหามีที่ดินเหลือ จึงจะยกให้ สปก.ไปจัดสรรให้เกษตรกรทำกิน 

แต่จะแน่ใจได้อย่างไร ว่าที่ดินจะตกถึงมือเกษตรกร ไม่ไปอยู่ในมือของนายทุน?

ในวงประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ที่ดินก็ตั้งข้อกังวลเรื่องนี้มาก่อนแล้ว แต่รัฐบาลก็ยังจะเดินหน้าเพิกถอนพื้นที่บางส่วนของอุทยานแห่งชาติทับลาน เอาไปให้แจกจ่ายกัน

ประเด็นข้อสงสัยทำไมต้องยึดสัดส่วน 1:4000 เมื่อรู้ทั้งรู้ว่าจะทำให้สูญเสียพื้นที่ป่าไม้ไป 265,000 ไร่ ซึ่งตามหลักวิชาการ ต้องมีพื้นที่ป่าไม่น้อยกว่า 25% เมื่อหลายปีก่อนพบว่า เรามีพื้นที่ป่าไม่ถึง 18% เวลาผ่านมาหลายปี ไม่รู้ว่าเวลานี้เรามีพื้นที่ป่าเหลืออยู่กี่เปอร์เซ็นต์ 

เราจึงไม่ควรสูญเสียพื้นที่ป่าไปอีกแล้ว ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม มีเพียบจะร่วมกันรณรงค์ไม่บุกรุกพื้นที่ป่า รณรงค์ให้ปลูกป่าเพิ่มขึ้น แต่ผู้ดูแลป่ากลับจะยกพื้นที่ป่าให้เอาไปทำลายกัน เป็นเรื่องที่คนไทยรับไม่ได้ และไม่ต้องอ้างว่า ต้นเรื่องมาจากรัฐบาลก่อน ถ้าไม่เห็นชอบก็ยกเลิกได้ แค่มติ ครม.

น่าแปลกใจว่าเรื่องนี้ ‘แอบทำกันเงียบ ๆ’ มาโผล่เป็นข่าวเมื่อต้องทำประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นของประชาชน เสียงค้านจึงอื้ออึงขึ้นพร้อมกันทั้งประเทศ ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะเอาพื้นป่าที่ดีที่สุดของชาติ ไปพัฒนาแบบผิด ๆ ป่าทับลานมีพื้นที่รวมกันถึง 1,398,000 ไร่ รัฐบาลจะเอาไปใช้ในชุดแรก 18.59%

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น มรดกโลกกำลังถูกคุกคามครั้งใหญ่ ประชาชนเริ่มออกมาปกป้องกันแล้ว ถ้าไม่ออกมาอาจจะสายเกินแก้ ผลงาน สปก.ที่นายทุนเอามาทำรีสอร์ท กว่า 400 แห่งยังไม่สามารถรื้อถอนได้ทั้ง ๆที่มีคำสั่งศาลให้รื้อถอนแล้ว นี่คือการสะสมปัญหาใหม่ชัด ๆ

จากความพยายามให้ต่างชาติสามารถเช่าที่ดินไทยได้ถึง 99 ปีและยังจะให้ต่างชาติถือครองคอนโด ได้อีก 75% เรื่องนี้ยังไม่จบ จะมาเอามาทับลานไปพัฒนาอีกแล้วจะพัฒนาอะไรกันนักหนา ขยันผิดปกติไปหรือเปล่า?

ทรัพยากรป่าไม้ของเรา เหลือน้อยเต็มทีแล้ว อย่าให้ใครมาทำลายอีกเลย หาวิธีการแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่นเถอะครับ

‘ปลอดประสพ’ กร้าว!! “กินทับลาน มีเรื่องกับผมแน่นอน” ร่วม #Saveทับลาน ค้านจัดสรรเป็นที่ดิน สปก.

“กินทับลาน มีเรื่องกับผมแน่นอน”

นี่เป็นประโยคที่ ‘ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี’ อดีตอธิบดีกรมป่าไม้ ได้เขียนและโพสต์ลงในแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก พร้อมข้อความต่อมาว่า…

“รูปนี้ถ่ายที่อุทยานแห่งชาติทับลานเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว ที่พกปืนเพราะกำลังมีเรื่อง ตอนนี้มีคนจะมาเอาทับลานอีกแล้ว ขอย้ำว่า อธิบดีกรมป่าไม้คนแรกที่ไปจับกุมการบุกรุกทับลานเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วชื่อปลอดประสพนะครับ ผมจะไม่มีวันเปลี่ยนความคิดแน่นอน สงสัยคราวนี้จะต้องอาสาคุณประวัติศาสตร์ หัวหน้าอุทยานทับลานซึ่งเป็นลูกน้องเก่า ไปช่วยเฝ้าอีกเสียแล้ว”

นี้เป็นการประกาศจุดยืนชัดเจนของคนในพรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยกับการถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน 265,000 ไร่ ไปจัดสรรเป็น สปก.

คงหลับตาเห็นภาพเก่า ๆ ของปลอดประสพ ทั้งดุดัน และจริงจัง และเป็นคนคิดเปลี่ยนเครื่องแบบของข้าราชการกรมป่าไม้ อีกภาพที่จำได้ คือการยืนบนหัวเรือไล่ล่าจระเข้ หลุดจากฟาร์มเลี้ยง

พ้นจากข้าราชการประจำ ปลอดประสพก็กระโดดเข้าสู่เวทีการเมืองในนามพรรคไทยรักไทยในยุคก่อตั้ง ในยุคทักษิณ ชินวัตร เรืองอำนาจ เมื่อไทยรักไทยถูกยุบ ก็แปลงร่างมาเป็นพรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน

แม้นการเพิกถอนพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติทับลานไม่ได้ริเริ่มขึ้นจากรัฐบาลเพื่อไทย ที่มีเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี แต่รัฐบาลเพื่อไทยก็ไม่ได้คัดค้าน แถมยังเดินหน้าต่อไป นายกฯ เศรษฐาเป็นคนให้สัมภาษณ์เองด้วยซ้ำว่าจะเดินหน้าต่อไปจนกว่าจะสำเร็จ เช่นเดียวกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ 

เป็นการประกาศเดินหน้าท่ามกลางเสียงค้านอื้ออึงทั้งในสื่อกระแสหลัก และในสื่อโซเชียล ที่ติด #saveทับลาน พร้อมรณรงค์ให้ร่วมกันลงชื่อคัดค้านการถอนป่าทับลาน

ไม่ใช่เป็นการคัดค้านเพราะรักและหวงแหนในผืนป่าอย่างเดียว แต่ยังตั้งข้อสังเกตว่า ที่ดินที่นำไปจัดสรรเป็น สปก.นั้น จะตกถึงมือเกษตรกรจริงหรือ หรือจะตกไปอยู่ในมือของนายทุนกันแน่

ขอบคุณคุณปลอดประสพที่รักษาจุดยืนไม่เปลี่ยนแปลง แม้จะเป็นแนวทางของรัฐบาลที่มาจากพรรคเดียวกันก็ตาม

‘อ.เทพมนตรี’ พ้อ!! หลังผู้คนแห่ ‘#Saveทับลาน’ เต็มโซเชียล แต่ ‘อุทยานฯ เขาพระวิหาร’ ถูกบุกรุกทำลาย ไร้คนเหลียว

(10 ก.ค.67) นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักประวัติศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ‘Thepmontri Limpaphayorm’ โดยระบุว่า…

‘ทับลาน’ มีคนออกมาต่อต้านเพื่อสงวนรักษาป่า สัตว์และพันธุ์พืชแล้ว แต่ ‘อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร’ ถูกเขมรเข้ามาบุกรุกทำลายไม่มีใครออกมาช่วยอีกเลย

‘ชัยวัฒน์’ แจงชัด #Saveทับลาน ช่วยป้องปล่อยผีนายทุนฮุบป่า  ส่วนชาวบ้านดั้งเดิม ได้รับความคุ้มครองให้อยู่กินได้แบบถูก กม.

(10 ก.ค.67) จากกรณีอุทยานแห่งชาติทับลาน เปิดรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ในการปรับปรุงแนวเขต ‘อุทยานแห่งชาติทับลาน’ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) ซึ่งหากมีการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานตามแนวเขตใหม่นี้ จะมีผลทำให้อุทยานแห่งชาติทับลานมีเนื้อที่ลดน้อยลงไปประมาณ 265,000 ไร่ จนเกิดกระแสในโลกออนไลน์ได้มีการติดแฮชแท็ก #Saveทับลาน กันในวงกว้าง โดยส่วนใหญ่ได้มีการรณรงค์ให้ลงชื่อคัดค้าน เนื่องจากเกรงว่าหากเรื่องนี้ผ่านแล้วจะต้องสูญเสียพื้นที่ป่าไม้กว่า 265,000 ไร่ และมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าพื้นที่ดังกล่าวอาจจะหลุดไปยังมือนายทุนรายใหญ่ และอาจทำร้ายระบบนิเวศของสัตว์ป่าที่อยู่อาศัยในบริเวณนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โพสต์เฟซบุ๊ก Chaiwat Limlikhitaksorn ระบุข้อความว่า...

ขอบคุณผู้ร่วมแสดงความคิดเห็น มีทั้งคัดค้าน และตั้งข้อสังเกต
ให้คิดเรื่องการคัดค้าน !!!

สืบเนื่องอ้างว่า ชาวบ้านอยู่มาก่อน หรือ อุทยานแห่งชาติทับลาน ไปประกาศแนวเขต ทับที่ชาวบ้าน ขอให้ข้อเท็จจริง ความถูกต้อง หัวข้อในประเด็น

1. ราษฎร รายใด มีเอกสารสิทธิ เช่น ส.ค.1 / น.ส.3 และ น.ส.3 ก สามารถนำไปออกเอกสารสิทธิที่ดิน เป็นโฉนดที่ดินได้ (ถูกต้องตามกฎหมาย )

2. ราษฎรอยู่มาก่อนประกาศอุทยานแห่งชาติทับลาน เมื่อปี 2524 นั้น ราษฎรต้องดูข้อเท็จจริง ว่า ถ้าท่านไม่มี ข้อ (1) ถือว่า ‘ผิดกฎหมาย’

ขอแสดงลำดับการประกาศการคุ้มครองพื้นที่ป่า ซึ่งมีกฎหมาย บังคับใช้ หากบุคคลใด บุกรุกป่า ถือว่า ‘ผิดกฎหมาย’ ดังนี้

- เป็นป่าตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ 2484
- เป็นป่าไม้ถาวร 2506
- เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ป่าครบุรี 2509
- เป็นป่าสงวนแห่งชาติป่า แก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่ และป่าเขาสะโตน 2510
- เป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าวังน้ำเขียว 2515
- เป็นอุทยานแห่งชาติทับลาน 2524
- เป็นกลุ่มป่ามรดกโลก ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ 2548

แนวทางแก้ไข ปัญหาราษฎรที่อยู่อาศัยในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ทั้งอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า มี มติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 คุ้มครองมิให้ จนท.จับกุมดำเนินคดี รวมถึงผ่อนปรน ผ่อนผันให้ราษฎรทำกินไปพลางก่อน จนกว่าจะมี มติ ครม. หรือ พระราชบัญญัติ เปลี่ยนแปลง เป็นอย่างอื่น เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562 มีมาตรา 64 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 มี มาตรา 121 ประกาศใช้ โดยทั้งสองมาตรา(ม 64/ 121) มีความว่า ‘ให้สำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า’

ที่สำคัญ และ สำคัญมาก คือ ม 64 และ ม 121 นี้ ออกมาเพื่อคุ้มครองราษฎรที่ทำผิดกฎหมาย ข้อหา ‘บุกรุกแผ้วถางป่า ยึดถือครอบครองที่ดิน’ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน และในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศ

ฉะนั้น : ราษฎรที่อยู่มาก่อน จะได้รับการคุ้มครองให้อยู่อาศัย ทำกิน ได้อย่างถูกตามกฎหมายนี้

‘เครือข่ายฯ ม.ราม’ เชิญชวน #Saveทับลาน #Saveชาวบ้าน ค้านการเพิกถอนพื้นที่ป่า ‘อุทยานแห่งชาติทับลาน’

(10 ก.ค.67) จากกรณีกระแส #Saveทับลาน ที่กำลังถูกพูดถึงอย่างมากในขณะนี้ ทาง ‘ชมรมรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง’ ก็ได้อยากมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า…

“เครือข่ายนักกิจกรรมเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยรามคำแหง ร่วมแสดงจุดยืนต่อสถานการณ์การเพิกถอนพื้นที่ป่าของอุทยานแห่งชาติทับลาน

เนื่องด้วยสถานการณ์ดังกล่าว มีกระแสข่าวและเป็นประเด็นอยู่ 2 ด้านหลัก ๆ ได้แก่ ประเด็น #saveทับลาน และประเด็น #saveชาวบ้าน ซึ่งเครือข่ายฯ ได้ร่วมกันศึกษาและเสนอแนะแนวทางพร้อมทั้งแสดงจุดยืน ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ทั้ง 2 ประเด็นเอาไว้ในแถลงการณ์แล้ว นักศึกษา ประชาชน และผู้ที่มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ดังกล่าว สามารถร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่เพจสำนักอุทยานแห่งชาติ https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSdOxZiTKKlqQFEBS_NHMbJ0wsBlkV9s8GNTrh9znEVsaGCnyg/viewform

ทั้งนี้ เครือข่ายฯ จึงขอเชิญชวน ผู้ที่มีความห่วงใยในสถานการณ์ดังกล่าว ร่วมกันแสดงจุดยืนและอ่านแถลงการณ์ร่วมกันในเวลา 17.30 น. ณ ลานหน้าอนุเสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช มหาวิทยาลัยรามคำแหง หัวหมาก”

#SAVEทับลาน สะท้อนปัญหาที่ดินทับซ้อนในสังคมไทย รัฐต้องคำนึง ‘สิทธิชุมชน’ ควบคู่ ‘อนุรักษ์ป่าไม้’ ของชาติ

(11 ก.ค. 67) มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (ม.ส.ท.) เผยแพร่บทความเกี่ยวกับ ‘ทับลาน’ โดยระบุว่า…ในช่วงสัปดาห์นี้ ในแวดวงผู้สนใจเรื่องทรัพยากรป่าไม้คงไม่มีกระแสใดแรงเท่า #SAVEทับลาน ที่ปรากฏอยู่ตามหน้าสื่อต่าง ๆ รวมทั้งโซเชียลมีเดีย การปะทะทางความคิดของกลุ่มที่ต้องการอนุรักษ์ผืนป่าแห่งนี้กับกลุ่มที่มีความเห็นว่าชุมชนที่อยู่มาก่อนมีการประกาศเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติควรมีสิทธิเหนือที่ดินนั้นเป็นไปอย่างเข้มข้นและเป็นที่จับตาของผู้คนในสังคม

ที่มาของแฮชแท็ก #SAVEทับลาน เกิดจากการที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดรับฟังความคิดเห็นในการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2566 เห็นชอบแนวทางของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขตปี พ.ศ. 2543 ซึ่งจะมีผลให้เนื้อที่อุทยานลดลงประมาณ 265,000 ไร่ จึงทำให้ประชาชนที่เป็นห่วงทรัพยากรป่าไม้ของประเทศออกมาแสดงความคิดเห็นและคัดค้านการใช้เส้นปรับปรุงแนวเขตดังกล่าว

ปัญหาที่ดินทับซ้อนระหว่างพื้นที่ทำกินของชุมชน พื้นที่ป่าไม้ หรือพื้นที่ที่ถูกประกาศให้เป็นป่าอนุรักษ์เป็นปัญหาเรื้อรังยาวนานที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ไม่เฉพาะกับอุทยานแห่งชาติทับลานเท่านั้น ต้นตอของปัญหาส่วนใหญ่มีความคล้ายคลึงกัน เกิดจากการที่ราษฎรเข้าไปบุกเบิกแผ้วถางทำกินในพื้นที่ซึ่งในขณะนั้นอาจเป็นพื้นที่ป่าไม้ตามพรบ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 หรือพื้นที่ป่าสงวน บางพื้นที่การเกิดขึ้นของชุมชนอาจเกิดจากนโยบายของรัฐเป็นตัวกระตุ้น เช่น การส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ การย้ายถิ่นฐานที่เกิดขึ้นในยุคสงครามเย็น หรือการส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นต้น 

แต่เมื่อมีการประกาศพื้นที่อนุรักษ์ อาจด้วยระยะเวลาในการดำเนินงานที่จำกัด เทคโนโลยีที่ยังไม่ก้าวหน้า หรือด้วยอีกหลายปัจจัย ทำให้เกิดแนวเขตซ้อนทับกับที่ทำกินของชุมชน หรืออีกประการหนึ่งคือการที่ราษฎรบุกรุกพื้นที่ป่าไม้เพื่อการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ จนทำให้พื้นที่ไม่คงสภาพป่า จึงมีการมอบพื้นที่นั้นให้กับสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (สปก.) นำไปจัดสรรให้แก่เกษตรกรเพื่อประกอบอาชีพทางการเกษตรต่อไป และแม้ว่าเงื่อนไขของที่ดินสปก.นั้นห้ามซื้อขายเปลี่ยนมือและมีวัตถุประสงค์เพื่อการเกษตรเท่านั้น แต่บริเวณอุทยานแห่งชาติทับลาน จะเห็นโรงแรม ที่พัก รีสอร์ท ตั้งอยู่ในพื้นที่สปก.จำนวนมาก ซึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้

ในกรณีของอุทยานแห่งชาติทับลานนั้น การยกเลิกแนวเขตเดิมและใช้แนวเขตใหม่จะทำให้พื้นที่ 3 กลุ่มคือ กลุ่มที่มีปัญหาที่ดินทับซ้อนกับ สปก. กลุ่มที่อยู่อาศัยมาก่อนมติครม. 2541-2557 และกลุ่มนายทุนที่มีคดีความอยู่กว่า 400 คดี อยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติโดยอัตโนมัติ ซึ่งเสียงจากคนในพื้นที่ระบุว่าพื้นที่เหล่านั้นไม่ได้เป็นพื้นที่ที่มีสภาพป่าแต่อย่างใด และคนในพื้นที่เองก็ต้องการให้มีการปรับปรุงแนวเขตอุทยานฯ เพื่อการแก้ไขปัญหาแนวเขตทับซ้อนอย่างจริงจัง

ความตั้งใจในการรักษาพื้นที่ป่าไม้ของชาติไว้เพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศนั้น เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง แต่สิทธิของชุมชนก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพื้นที่ที่จะถูกกันออกไม่มีสภาพเป็นป่าแล้วก็ควรจะส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ในส่วนของพื้นที่ที่มีคดีความเรื่องการบุกรุกพื้นที่อุทยานฯ ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย และหากชุมชนสามารถพิสูจน์ได้ว่าตั้งถิ่นฐานมาก่อนการประกาศเป็นพื้นที่อุทยานฯ หรือก่อนมติครม. 2541-2557 ก็ควรมีสิทธิได้รับความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยเช่นกัน แต่รัฐควรส่งเสริมอาชีพ และการทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บนฐานการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืน โดยเร่งรีบดำเนินการพิสูจน์สิทธิในที่ดินควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้นและเป็นธรรม 

ประชาชนได้อะไร? ตั้งจังหวัดใหม่ 'สว่างแดนดิน' และ 'ทุ่งสง'  ทำไม? ไม่ตั้งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ 

ในฐานะเป็นคนเกิดอำเภอหัวไทร จ.นครศรีธรรมราช เป็นคนนครศรีฯ โดยกำเนิด ไม่เห็นด้วยกับความพยายามในการแยกจังหวัดนครศรีธรรมราช ออกไปจัดตั้งจังหวัดทุ่งสง

สุธรรม จริตงาม สส.พลังประชารัฐ นครศรีธรรมราช พร้อม สส.พรรคเดียวกัน 20 คน ลงชื่อเสนอให้ญัตติให้สภาตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาแยก อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร และ อ.ทุ่งสง ออกไปจัดตั้งจังหวัดใหม่ เรียกว่าจังหวัดสว่างแดนดิน และจังหวัดทุ่งสง แต่ญัตติยังไม่ได้รับการบรรจุเข้าที่ประชุมสภา เนื่องจากที่ประชุมคณะกรรมการประสานงาน (วิป) เห็นว่า มีเรื่องอื่นที่เร่งด่วนกว่า จึงสลับเอาเรื่องอื่นขึ้นมาพิจารณาก่อนในการประชุมเมื่อวันที่ 18 กรกฏาคมที่ผ่านมา

ในมุมของ #นายหัวไทร ถือว่าเป็นการเสนอกฎหมายที่ล้าหลัง ไม่ก้าวหน้า เพราะเป็นการเปิดให้มีการขยายตัวของราชการส่วนภูมิภาค อันเป็นตัวแทนของรัฐบาลกลางที่แบ่งอำนาจไปตามเมืองต่างๆ สวนกระแสสังคมโลกที่เน้นการกระจายอำนาจ (ท้องถิ่น) เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ

เหตุผลของคณะ สส.ผู้เสนอญัตติระบุว่า ด้วยอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เป็นอำเภอที่ จัดตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2406 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตั้งเมืองภูมิดลสว่าง

เมืองสว่างแดนดิน เป็นเมืองที่ขึ้นกับมืองสกลนคร ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนมาเป็นอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร

โดยมีสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมมากมาย เช่น พระบรมธาตุเจดีย์ศรีมงคล หลวงปู่คำบ่อ และปราสาทขอม บ้านพันนา เป็นต้น 

ส่วนอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นอำเภอที่มีความเจริญเป็นอันดับสองของจังหวัดนครศรีธรรมราช รองจากอำเภอเมือง เนื่องจากมีที่ตั้งอยู่ตรงกลางของภาคใต้และเป็นจุดศูนย์กลางคมนาคมทางบกทั้งรถยนต์และรถไฟ อำเภอทุ่งสงมีประวัติความเป็นมายาวนาน 

ปรากฏตามตำนานเมืองนครศรีธรรมราชว่าเคยเป็นแขวง ขึ้นอยู่ในการปกครองของเมืองนครศรีธรรมราชตั้งแต่สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองจากมณฑล เป็นจังหวัด เมื่อ พ.ศ. 2440 ได้จัดตั้ง เป็นอำเภอทุ่งสงขึ้นกับจังหวัดนครศรีธรรมราช 

แต่ปัจจุบันพบว่า อ.ทุ่งสงมีปัญหาภูมิประเทศในเรื่องระยะทาง ทำให้การติดต่อระหว่างอำเภอที่ห่างไกลและจังหวัดเป็นไปด้วยความยากลำบาก และใช้ระยะเวลาในการเดินทางมากเกินควร 

ซึ่งมีความสอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2524 ว่าด้วยหลักเกณฑ์การตั้งจังหวัดใหม่ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ที่ต้องพิจารณาลักษณะพิเศษของจังหวัด ผลดีในการให้บริการประชาชน และหลักเกณฑ์อื่นๆ เช่น เหตุผลทางประวัติศาสตร์ การเมือง และวัฒนธรรมของท้องถิ่นและนโยบายของรัฐบาล เป็นตัน 

จากเหตุผลดังกล่าวคณะ สส.พลังประชารัฐ จึงเห็นสมควร แยกอำเภอสว่างแดนดิน ออกจากจังหวัดสกลนคร และ แยกอำเภอทุ่งสง ออกจากจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมจัดตั้งขึ้นเป็นจังหวัดสว่างแดนดิน และจังหวัดทุ่งสง เพื่อประโยชน์ในการจัดระเบียบการปกครอง การรักษาความมั่นคงและการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในพื้นที่ 

อีกทั้งเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ โดยเป็นศูนย์กลางทางการเงิน การค้า การลงทุน การอุตสาหกรรม การคมนาคม การศึกษา เทคโนโลยีรวมถึงอื่นๆ ได้อย่างยั่งยืนต่อไป 

กล่าวเฉพาะอำเภอทุ่งสง ถ้าแยกไปจัดตั้งเป็นจังหวัด จะมีอะไรเป็นอัตลักษณ์ของความเป็นเมือง ปัจจุบันมีพระบรมธาตุฯ เป็นอัตลักษณ์ที่ชาวนครศรีฯภาคภูมิใจ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ และกำลังเสนอต่อยูเนสโก เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ถามว่าแล้วทุ่งสงมีอะไร มีสถานีรถไฟ มีพ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์ จะเป็นเมืองที่ขาดอัตลักษณ์

ถามว่าแยกเป็นจังหวัดใหม่ประชาชนได้อะไร? นี่คือธงนำ ประชาชนจะได้งบประมาณจัดตั้งจังหวัดใหม่ 2,000 ล้าน จะได้ศาลากลางหลังใหม่ ได้ผู้ว่าฯ เพิ่มมาอีกคน ได้นายกฯ อบจ. ได้ข้าราชการส่วนภูมิภาคเพิ่มขึ้น แต่ชีวิตความเป็นอยู่ การดำรงชีพของชาวบ้านดีขึ้นไหม และทุ่งสงจะเป็นอีกจังหวัด นอกจากยะลา ที่ไม่ได้อยู่ติดทะเล

การยกเหตุผลว่าห่างไกลจากตัวจังหวัด การคมนาคมยากลำบาก ในสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่น่าจะจริง เดี๋ยวนี้ถนนหนทางสะดวกสบาย เกือบทุกบ้านมีรถยนต์ แค่ชั่วโมงเดียวก็ถึงตัวเมืองแล้ว ถ้าเป็นสมัยปี 2529-2530 ที่ 'ถวิล ไพรสณฑ์' เสนอให้จัดตั้งจังหวัดทุ่งสง อ้างเรื่องการคมนาคมเป็นเหตุผลหนึ่ง ยังพอรับฟังได้ แต่ปัจจุบันไม่ใช่

“ยังคิดแยกจังหวัด/ผมว่ามันไม่มีเหตุผลเท่าไหร่ คนเห็นด้วยก็ดราม่าไปเรื่อยโน่นนี่นั่น/เอาเงิน2พันล้านที่จะสร้างศูนย์ราชการใหม่ทำประโยชน์กับคนพื้นที่ก่อนดีมั้ย/เพราะแค่เหตุผลมีศาล มีคุก มีขนส่งใกล้บ้านมันก็มีหมดแล้ว...หลายจังหวัดก็มี นอกจาก 'เหล้าขาว' ที่ต้องซื้อเฉพาะในเขตจังหวัด/ข้าราชการที่ย้ายไปอยู่กิ่งจังหวัดส่วนใหญ่ก็คิดแค่เป็นกระดานหกไปที่อื่นท้างน้าน” ความเห็นจากนิกร จันพรม ชาวไร่ขอนแก่น

แต่ต้องยอมรับความจริงว่า ทุ่งสงมีความเจริญ เป็นรองก็แค่อำเภอเมือง เป็นศูนย์กลางการคมนาคม ศูนย์กลางกระจายสินค้า มีศาลจังหวัด มีสำนักงานอัยการ มีความพร้อมในระดับหนึ่ง

ถ้า สส.หัวก้าวหน้าหน่อย ต้องเสนอให้ทั้งสองอำเภอ ยกฐานะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ หรือจังหวัดจัดการตนเอง อย่างนี้น่าสนใจกว่า เป็นการกระจายอำนาจให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเมือง ผ่านการเลือกตั้ง ผู้บริหารเมืองอาจจะเรียกว่า 'นายกเมือง' อย่างพัทยา ก็ได้ หรือ 'นายกนคร' แล้วแต่กฎหมายจะยกฐานะเป็นอะไร หรือจะเรียกว่า 'ผู้ว่าฯ' ก็ได้ แต่มาจากการเลือกตั้ง เหมือนกรุงเทพมหานคร

ถ้าเสนอออกมาในรูปแบบจังหวัดจัดการตนเอง หรือองค์ปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ก็จะเป็นกฎหมายที่ก้าวหน้า และสองจังหวัดนี้ก็จะเป็นจังหวัดนำร่องกับการปกครองรูปแบบใหม่

อย่างทุ่งสงอาจจะเรียกชื่อใหม่ว่า 'นครทุ่งสง' อย่างน้อยก็มีร่องรอยของประวัติศาสตร์ว่า เคยขึ้นอยู่กับจังหวัดนครศรีธรรมราช

การเสนอให้มีการจัดตั้งจังหวัดใหม่สะท้อนด้วยว่า พรรคพลังประชารัฐ ไม่มีแนวคิด และไม่จริงจังจริงใจอะไรกับการกระจายอำนาจ แถมยังห่วงอำนาจ ขยายฐานอำนาจออกไปอีก อันเป็นแนวคิด 'อำนาจนิยม'

ไม่ใช่ครั้งแรกในความพยายามแยก อ.ทุ่งสง เพื่อจัดตั้งจังหวัดใหม่ มีรายงานผลการศึกษามากมาย จริงๆไม่ต้องเสนอให้สภาตั้งกรรมาธิการศึกษาให้เสียเวลา เสียงบประมาณ 

ถ้าตั้งใจจริง เสนอ พรบ.จังหวัดทุ่งสง และสว่างแดนดินไปเลย ร่างก็เคยมีให้อ่านกันอยู่แล้ว จะได้เห็นกันว่า สภาเราคิดอะไรกันอยู่ และจะผ่านความเห็นชอบหรือไม่?

แต่ย้ำว่านายหัวไทรชูมือคัดค้านแน่นอน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top