‘ศาลจีน’ สั่งประหารชีวิต ‘ไป๋ เทียนฮุย’ อดีตผู้จัดการใหญ่สถาบันการเงิน ฐานรับสินบน 1.1 พันล้านหยวน ตามบรรทัดฐาน รบ.จีน ‘โกง=ประหาร’

ศาลนครเทียนจินได้อ่านคำตัดสิน พิพากษาประหารชีวิต ‘ไป๋ เทียนฮุย’ อดีตผู้จัดการใหญ่บริษัท China Huarong International Holdings หนึ่งในสถาบันการเงินขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของรัฐบาลจีน ด้วยข้อหารับสินบนก้อนโตถึง 1.1 พันล้านหยวน (ประมาณ 5.5 พันล้านบาท) 

‘ไป๋ เทียนฮุย’ เคยดำรงตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปให้กับ Huarong Asset Management ที่เป็นบริษัทจัดการหนี้เสียในเครือ China Huarong และได้ถูกตัดสินว่ากระทำผิดจริงในข้อหารับสินบน โดยใช้ตำแหน่งหน้าที่การงานของเขาในการแอบอ้าง รับผลประโยชน์และข้อเสนอพิเศษจากการซื้อ-ขายโครงการก่อสร้างต่าง ๆ และการจัดหาเงินทุนให้กับองค์กร นับรวมมูลค่าเงินสินบนที่เขาได้รับนั้นสูงถึง 1.1 พันล้านหยวน 

และนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการไต่สวนคดีทุจริตของผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่อย่าง China Huarong 

ย้อนกลับไปในปี 2018 มีข่าวการจับกุม ‘ไล่ เสี่ยวหมิน’ ประธานใหญ่ของบริษัท Huarong Asset Management ในข้อหารับสินบน ฉ้อโกง และ คบชู้ มาแล้ว

และหลังจากตรวจค้นอพาร์ตเมนต์หรูของ ‘ไล่ เสี่ยวหมิน’ ในกรุงปักกิ่ง ตำรวจจีนพบเงินสดกว่า 200 ล้านหยวนซุกอยู่ในตู้กับข้าว นอกจากนี้ยังพบว่า เขาได้ซุกซ่อนทองคำแท่ง รถหรู สินค้าแบรนด์เนม และเงินสดในธนาคารโดยใช้บัญชีชื่อแม่ของเขามากถึง 100 ล้านหยวน 

และได้กระจายทรัพย์สิน อสังหาริมทรัพย์ให้กับภรรยาเก็บที่เขาเคยมีสัมพันธ์ด้วยถึง 100 คน ที่ทำให้ประธานใหญ่ของสถาบันการเงินฉาวแห่งนี้ถูกตัดสินประหารชีวิต ด้วยข้อหาทุจริต รับสินบนรวมมูลค่าถึง 1.79 พันล้านหยวนในช่วงเวลา 10 ปีที่เขาดำรงตำแหน่ง พ่วงด้วยข้อหาคบชู้กับหญิงสาวจำนวนมาก

ไล่ เสี่ยวหมิน ถูกประหารชีวิตเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2021 หลังจากที่ศาลเทียนจินตัดสินคดีเขาถึงที่สุดเพียง 24 วัน

คดีของ ไล่ เสี่ยวหมิน และ การทุจริต China Huarong เป็นหนึ่งในนโยบายปราบปรามการคอร์รัปชันในแวดวงธุรกิจการเงินของ สี จิ้นผิง ผู้นำจีน ที่มักถูกมองเป็นแวดวงของกลุ่มผู้มีอิทธิพลสูงในรัฐบาลจีน 

ซึ่งแผนการปราบโกงในแวดวงกลุ่มคนธนาคารก็มีทั้งผู้สนับสนุนให้รัฐบาลจีนกวาดล้างการคอร์รัปชันในระบบให้เด็ดขาด และกลุ่มผู้ต่อต้าน ที่มองว่า ‘สี จิ้นผิง’ ใช้นโยบายปราบโกงเป็นเครื่องมือประหารขั้วตรงข้ามทางการเมืองของเขา 

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม พายุในแวดวงสถาบันการเงินจีนยังไม่จบง่าย ๆ เมื่อทางการจีนได้ออกหมายจับกุม ‘ไป๋ เทียนฮุย’ อดีตผู้จัดการใหญ่ของ China Huarong ด้วยข้อหาทุจริต รับสินบนในวงเงินระดับพันล้านหยวนเช่นกัน และได้ถูกตัดสิน ณ ศาลของนครเทียนจินด้วยโทษประหารชีวิต ไม่ต่างจากคดีของประธานบริษัทเมื่อ 3 ปีก่อน 

นอกจากนี้ ยังมีผู้บริหารสถาบันการเงินจีน ที่ถูกดำเนินคดีทุจริตอีกหลายคนในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน อาทิ หลิว เหลียงเก๋อ ประธานธนาคาร Bank of China ที่ออกมารับสารภาพหลังถูกสอบสวนว่าเขาเคยรับสินบน และปล่อยสินเชื่ออย่างผิดกฎหมาย และล่าสุด ‘หลี เสี่ยงเผิง’ ประธานใหญ่บริษัท Everbright Group ก็กำลังถูกสอบสวนดำเนินคดีจากการกระทำผิดกฎหมายอย่างร้ายแรงหลายข้อหาอยู่ในขณะนี้ 

ด้านผู้นำระดับสูงในคณะรัฐบาลจีนได้ประกาศในที่ประชุมโปลิตบูโร เมื่อวันจันทร์ (27 พ.ค. 67) ที่ผ่านมาว่า เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านการเงิน ผู้ที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างซื่อตรง ต้องถูกตรวจสอบ และ ถูกลงโทษอย่างรุนแรง 

และกลายเป็นบรรทัดฐานในระบบยุติธรรมจีนว่า ‘โกง = ประหาร’ ที่ดำเนินการอย่างรวดเร็ว เด็ดขาด และน่าพรั่นพรึงอย่างยิ่งในสายตาคนนอกประเทศ


เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์

อ้างอิง: Channel News Asia / Global Times