'พปชร.' มาเหนือเมฆ ชู 'อีสานประชารัฐ' มีโอกาสทำ 'แลนด์สไลด์' สะดุด
(22 เม.ย.66) นับถอยหลังเหลืออีกเพียงไม่กี่วัน ก็จะเข้าสู่ช่วงของการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ และยิ่งนับวันยิ่งเกิดการแข่งขันที่รุนแรงแน่นอนว่าพื้นที่ภาคอีสาน ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ที่ทุกพรรคหมายมั่นปั้นมือ จะต้องบุกปักธงให้สำเร็จ เพราะเคยมีคำกล่าวที่ว่า หากพรรคใดคว้าชัย ได้ ส.ส.อีสานมากที่สุด หรือกวาดหมดยกภาคได้ ก็แทบจะการันตีได้ทันที ว่าจะเป็นพรรคอันดับ 1 มีโอกาสเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลค่อนข้างสูง เพราะเป็นพื้นที่ที่มีจำนวน ส.ส. มากที่สุดถึง 133 คน จาก 20 จังหวัด
ก่อนหน้านี้ พรรคเพื่อไทย เป็นพรรคที่มีฐานเสียงและจำนวน ส.ส.ภาคอีสานมากที่สุดในการเลือกตั้งแทบทุกครั้ง ครั้งก่อนเมื่อการเลือกตั้งปี 2562 กวาดไปถึง 84 ที่นั่ง ตามมาด้วยอันดับสองพรรคภูมิใจไทย 16 ที่นั่ง
และพลันที่พรรคเพื่อไทยประกาศจะชนะเลือกตั้งครั้งนี้ แบบแลนด์สไลด์ นั่นก็เพราะความมั่นใจว่าจะสามารถกวดที่นั่งในภาคอีสานแบบถล่มทลายเช่นเดิม
แต่ทว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้ การจะกวาดที่นั่งเป็นกอบเป็นกำเหมือนที่ผ่านมา คงไม่ง่ายนัก เพราะพรรคคู่แข็งอย่างภูมิใจไทยมีฐานเสียงที่แข็งแกร่งในพื้นที่อีสานใต้ นั่นยังไม่นับรวมคู่แข่งที่มาจากฟากเดียวกัน อย่างเช่น พรรคก้าวไกล และพรรคไทยสร้างไทย ที่สมาชิกพรรคส่วนใหญ่ล้วนเคยอยู่กับพรรคเพื่อไทยมาก่อน
ขณะที่อีกหนึ่งพรรคที่จะมองข้ามไม่ได้ นั่นก็คือ 'พรรคพลังประชารัฐ' ภายใต้การนำของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ที่หมายมั่นปั้นมือจะได้จำนวน ส.ส.ไม่น้อยกว่าการเลือกตั้งในปี 2562 ที่ชนะการเลือกตั้งเข้ามาเป็นอันดับ 3 ด้วยจำนวน 11 ที่นั่ง แม้ว่าขณะนี้กระแสของพรรค อาจจะไม่แรงเท่าเลือกตั้งครั้งก่อน แต่จากผลงานของพลเอกประวิตร ในเรื่องบริหารจัดการน้ำ ทำให้ภาคอีสานมีน้ำกินน้ำใช้ไม่ขาด ตามคำประกาศที่ว่า “มีเราไม่มีแล้ง” ก็ช่วยให้ฐานเสียงของพรรคฯ เพิ่มขึ้นไม่น้อยเช่นกัน
ไม่เพียงเท่านั้น ล่าสุด พรรคพลังประชารัฐ ได้ประกาศนโยบาย “อีสานประชารัฐ” เตรียมผุดโปรเจ็กยักษ์ เพื่อพี่น้องชาวอีสานอีกหลายโครงการ ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า พรรคพลังประชารัฐ ให้ความสำคัญกับพื้นที่นี้อย่างมาก และพร้อมจะพัฒนาพื้นที่ภาคอีสาน เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
โครงการพัฒนาภาคอีสาน ที่ทางพรรควางไว้นั้น ประกอบด้วย ด้วยรถไฟทางคู่ บึงกาฬ-อู่ตะเภา เป็นการพัฒนาพื้นที่ 24 จังหวัดภาคอีสานและภาคตะวันออก สอดรับโครงการอีอีซี ระยะทาง 480 กม. ซึ่งได้สำรวจเส้นทางเรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งจะสร้างทางหลวงพิเศษ 8 ช่องจราจร ตลอดแนวเส้นทางรถไฟ และจะสร้างนิคมอุตสาหกรรม ขนาด 20,000 ไร่ 6 แห่ง รองรับกว่า 6,000 โรงงาน
นอกจากนี้ จะสร้างวิทยาลัยอาชีวะใกล้นิคมอุตสาหกรรม นิคมฯ ละ 2 แห่ง รวม 12 แห่ง เพื่อเตรียมแรงงานที่มีทักษะและคุณภาพรองรับอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และยังมีโครงการพัฒนาท่าเรือบก ซึ่งจะเป็นพื้นที่รองรับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากนิคมอุตสาหกรรมที่จัดตั้งขึ้น ก่อนที่จะมีการขนส่งไปยังท่าเรือน้ำลึกที่ภาคตะวันออก
จะเห็นว่า นโยบายที่ประกาศออกมานั้น ล้วนเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาปากท้อง การสร้างงาน สร้างรายได้ ให้กับพี่น้องชาวอีสานทั้งสิ้น เพราะอย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่า ภาคอีสาน เป็นพื้นที่ที่ประชากรมีรายได้ต่อหัวอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ ทำให้ต้องเดินทางจากถิ่นฐานเพื่อไปหางานในจังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีนิคมอุตสาหกรรม
แน่นอนว่า การประกาศจะสร้างนิคมอุตสาหกรรมอีก 6 แห่งในพื้นที่ภาคอีสาน จะทำให้เกิดการจ้างงานอีกจำนวนมาก ทำให้ประชาชนไม่ต้องเดินทางออกนอกพื้นที่ เรียกได้ว่า เป็นนโยบายที่แก้ปัญหาได้ตรงจุด
และก่อนหน้านี้ พลเอกประวิตร ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สิ่งที่ประกาศไว้สามารถทำได้จริง ยกตัวอย่าง การแก้ปัญหาน้ำแล้ง การแก้ไขปัญหาที่ทำกิน ซึ่งเป็นผลงานเชิงประจักษ์ที่จับต้องได้
แน่นอนว่า การประกาศนโยบาย 'อีสานประชารัฐ' นอกจาก เป้าหมายหลัก คือ การพัฒนาอีสานให้กับลูกหลานชาวอีสาน มีศักยภาพ มีความสามารถ ก้าวข้ามความยากจนแล้ว นโยบายดังกล่าว ยังเป็นการชูธงรบ เพื่อสู้กับกระแสแลนด์สไลด์ของบางพรรค ซึ่งจะว่าไปแล้วก็มีโอกาสทำให้ความหวังของบางคนสะดุดลงได้เช่นกัน