'รศ.ดร.ปิติ' เผยความประทับใจใน 'อ.สมเกียรติ โอสถสภา' หนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์ที่เชี่ยวชาญที่สุดคนหนึ่งของไทย
เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งบุคคลที่ให้ความเคารพ อ.สมเกียรติ โอสถสภา อย่างสูง สำหรับ ‘รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม’ ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยไม่นานมานี้ อ.ปิติ ได้โพสตฺ์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก กราบลา อ.สมเกียรติ ความว่า...
ผมพบอาจารย์สมเกียรติตั้งแต่ก่อนเข้าเรียนที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะท่านจะมารับส่งลูกชายที่เป็นรุ่นน้องที่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ เสมอๆ แม้ตอนนั้นจะไม่รู้ว่าท่านเป็นใคร แต่เด็กสาธิตจุฬาฯ ก็จะแสดงความเคารพเสมอๆ เพราะส่วนใหญ่พ่อแม่พวกเรามักจะเป็นอาจารย์จุฬาฯ
จนผมเข้าเรียนที่คณะเศรษฐศาสตร์ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังอยู่ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ 1997-1998 Asian Financial Crisis หรือที่คนไทยเรียกว่า #วิกฤตต้มยำกุ้ง นั่นคือช่วงเวลาที่ผมได้เรียนกับท่านอาจารย์สมเกียรติ
จำได้ว่า ขณะนั้นท่านสอนวิชา International Monetary Policy เรื่องแรกที่ท่านสอน คือ 'หากพวกคุณเป็นลูกหนี้แล้วไม่มีเงินจ่ายหนี้ เทคนิคในทางปฏิบัติเพื่อไปขอเจรจาปรับลดยอดหนี้กับสถาบันการเงินต้องทำอย่างไร'
โคตรสนุกครับ!! อาจารย์เริ่มตั้งแต่เสื้อผ้าหน้าผม ว่าต้องแต่งตัวยังไง ที่ห้ามเด็ดขาดคือ ห้ามใส่นาฬิกา แล้วออกจากบ้านไปแบงก์ ให้นั่งรถเมล์ไป ให้ไปสายประมาณ 20 นาที ให้เดินไปแบงก์จากป้ายรถเมล์เอาให้เหงื่อออก เพื่อเวลาไปคุยกับ Banker เขาจะได้รู้ว่าคุณไม่เหลืออะไรแล้วจริงๆ เจรจาลดหนี้จะง่ายขึ้น เพราะนายแบงก์จะคิดทันทีว่ากำขี้ดีกว่ากำตด จ่ายคืนบางส่วน แบงก์ยังได้เงิน ดีกว่าไม่ได้อะไรเลย
เวลานั้นคือ โคตรสนุก ตลอดเทอมอาจารย์จะค่อยๆ เอาประสบการณ์ต่างๆ ตั้งแต่ช่วงที่ท่านไปเรียนที่เนเธอร์แลนด์ ช่วงที่ทำงานกับองค์ระหว่างประเทศ และช่วงที่ลงพื้นที่
อาจารย์สมเกียรติเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกโครงการ #หกเหลี่ยมเศรษฐกิจ ปัจจุบันเรานิยมเรียกกันว่า #GMS Greater Mekong Subregional อาจารย์ลงพื้นที่ ศึกษาข้อมูลกับคน กับสิ่งแวดล้อม กับหน้างานจริงๆ แล้วคิด วิเคราะห์กับทฤษฎี รวมกับประสบการณ์จริงจากการทำงานในระดับนานาชาติ เพื่อหวังจะเห็นการพัฒนาประเทศ อาจารย์เป็นหนึ่งในบุคคลต้นแบบที่ทำให้ผมอยากจะลงพื้นที่ทำงานวิจัยในชนบทและประเทศเพื่อนบ้าน
เมื่อผมเรียนจบ กลับมาเป็นอาจารย์ สถานที่ที่ๆ มักจะพบกับอาจารย์บ่อยๆ คือ อาจารย์จะมานั่งตรงม้าหินของ รปภ. ใกล้กับตู้โทรศัพท์สาธารณะ ตรงที่จอดรถหน้าตึกคณะเศรษฐศาสตร์ นั่นคือสถานที่ที่ผมมักจะลงไปคุยเรื่องราวต่างๆ ฟังการวิเคราะห์ของอาจารย์อย่างสนุกสนานเป็นกันเอง
บางคนอาจมองว่าท่านคือ ลุงคนนึงมารอรับหลานที่หน้าคณะ แต่สำหรับพวกเรา นั่นคือ หนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์ที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์เอกอุใน Mainland ASEAN เพียงแต่ท่านชอบมานั่งตรงที่นั่ง รปภ ก็เท่านั้นเอง
นอกนั้นก็จะมีโอกาสได้พบท่านบ้างในงานเสวนาต่างๆ โดยเฉพาะของกระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งอ่านข้อเขียนของท่านอาจารย์ผ่าน FB
จนปัจจุบันไม่มีแล้วทั้งตู้โทรศัพท์ ที่จอดรถหน้าคณะ และท่านอาจารย์สมเกียรติ
เนื่องจากตอนนี้ผมเดินตามเส้นทางของท่านอาจารย์หลังจากลงพื้นที่อาเซียน ก็ขอลางานที่จุฬาฯ มาทำงานองค์การระหว่างประเทศชื่อว่า ASEAN Foundation จึงไม่สามารถไปกราบลาอาจารย์ที่วัดชลประทานได้ จึงขอตั้งจิตคารวะ นึกถึงพระคุณและความรู้ที่อาจารย์สั่งสอน และขอกราบลาผ่านทางข้อความ FB นะครับ หวังว่าอาจารย์คงจะได้เห็นข้อความนี้ อมยิ้มแบบที่เป็นภาพจำ และเฝ้าดูการทำงานของพวกเราต่อๆ ไปนะครับ