‘พลเอกเปรม ติณสูลานนท์’ รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ ผู้นำคนไทยให้รู้จัก “ทดแทนคุณแผ่นดิน”
จากเรื่องราวของครูสาวคนหนึ่งที่ให้ร้ายและบูลลี่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ รัฐบุรุษและอดีตประธานองคมนตรี ผู้สร้างคุณประโยชน์นานัปการให้เกิดขึ้นกับแผ่นดินไทย ว่าเป็นผด็จการ (เผด็จการยังไง ? ) ปรักปรำเรื่องเพศสภาพ (ตามความเชื่อของครูคนนั้น) และเรียกบ้านพักของท่านว่าเป็นฮาเร็ม (ซึ่งคุณเคยเข้าไปเห็นจริง ๆ เหรอ) เมื่อโดนกระแสก็ออกมาแก้ตัวว่าการสอนนี้เป็นไปตามหลักฐานและข้อมูลทางวิชาการ ผมก็ไม่แน่ใจว่าหลักฐานและข้อมูลทางวิชาการของครูสาวท่านนี้เป็นอย่างไร ซึ่งก็อาจจะเป็นความจริงของเจ้าหล่อน แต่ความจริงของผมไม่เหมือนของคุณครูท่านนี้เลยแม้แต่น้อย และความจริงของคนที่เขาศึกษามาอย่างถูกต้องจริง ๆ ก็คงไม่เหมือนคุณครูท่านนั้นเช่นกัน เอาล่ะผมจะเล่าข้อมูลของผมในบทความชิ้นนี้ล่ะ
ผมเกิดที่จังหวัดนครราชสีมา บ้านของผมอยู่หลังศาลากลางจังหวัดนครราชสีมาและตรงหลังศาลากลางมีอาคารหอประชุมอเนกประสงค์อาคารหนึ่งมีชื่อว่า “หอประชุม เปรม ติณสูลานนท์” ด้วยความเป็นเด็กขี้สงสัย ผมก็เริ่มสนใจชื่อของบุคคลท่านนี้ว่าเป็นใคร มีคุณูปการอะไรหนักหนาถึงได้นำชื่อมาตั้งเป็นอาคาร แล้วผมก็เริ่มหาข้อมูลที่ไม่ต้องรอใครมาสอนในห้องเรียนประวัติศาสตร์
ผมเริ่มต้นจากข้อมูลทั่วไปที่ทุกคนทราบเหมือนกันคือ ท่านเกิดที่สงขลา นามสกุล “ติณสูลานนท์” ได้รับพระราชทานมาจากล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 บิดาของท่านรับราชการ ชั้นประถมท่านเรียนโรงเรียนวัด มัธยมท่านเรียนที่โรงเรียนมหาวชิราวุธแล้วมาจบที่สวนกุหลาบวิทยาลัย ก่อนจะไปเรียนทหารเป็นนายร้อยเหล่า “ทหารม้า” เคยร่วมรบในสงครามอินโดจีน เคยรบในสมรภูมิเชียงตุง เติบโตในสายยานเกราะ จนติดยศ “พลตรี” ในตำแหน่ง ผบ. ศูนย์การทหารม้า ก่อนไปรับตำแหน่ง “แม่ทัพภาคที่ 2“ ดูแลภาคอีสาน ทหารที่เคยรับราชการเป็นลูกน้องของท่านจะรู้ว่าท่านมีความเด็ดขาด ชัดเจน เข้าขั้นดุ แต่ท่านรักลูกน้องของท่าน ดูแลกันเหมือนลูก ท่านแทนตัวท่านว่า “ป๋า” และเหล่าทหารก็เรียกท่านว่า “ป๋า” กันอย่างไม่กระดากปาก
มาเรื่องการเมืองของ “ป๋า” กันบ้าง ท่านเข้าสู่การเมืองเพราะผู้บังคับบัญชาแท้ ๆ เพราะท่านเข้าสู่สภาตามตำแหน่งทางทหารในช่วง “เผด็จการ” แท้ ๆ อย่าง “จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์” และ “จอมพล ถนอม กิตติขจร” แล้วก็เข้าสู่วังวนแห่งการรัฐประหารอันมีปฐมเหตุมาจากการสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสนามหลวงในปี พ.ศ.2519 จาก "คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน" ที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ซึ่งครั้งนั้น “ป๋า” เป็นแม่ทัพภาคที่ 2 และกระชับอำนาจอีกครั้งด้วยการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ในปี พ.ศ.2520 จากคณะเดิม โดย “ป๋าเปรม” ดำรงตำแหน่ง "ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก" ซึ่งเอาจริง ๆ ท่านก็ไม่เกี่ยวกับการรัฐประหารโดยตรงเลย แต่ทุกครั้งท่านก็ต้องดำเนินตามยุทธการเพราะมันคือ “หน้าที่ตามสายบังคับบัญชา” ของท่าน (จะว่าผมเข้าข้างท่านก็แล้วแต่วิจารณญาณของแต่ละบุคคลนะครับ)
ส่วนการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของท่าน เกิดขึ้นด้วยฉันทามติของสภาโดยแท้ ไม่ได้เกิดขึ้นจากการยึดอำนาจแต่อย่างใด ซึ่งผมก็เชื่ออีกแหละว่าคุณครูท่านนั้นก็ไม่ได้อ่านมา และไม่ได้สอนเด็ก ๆ ในเรื่องนี้แน่ ๆ ที่สำคัญ “การเมือง” ในสมัยก่อนนั้นมันเข้มข้นมาก จนคนที่ไม่เข้าใจบริบทของยุคนั้นจริง ๆ ก็เป็นได้แค่ “เหลือบวิชาการ” ที่เอาเรื่องการเมืองมา ปะติดปะต่อแล้วเอามา “เล่า” แบบมั่ว ๆ แล้วบอกว่านี่คือหลักฐานทางวิชาการที่ได้ค้นคว้ามา การเมืองยุคนี้ที่ว่าเผ็ดร้อน ยุคก่อนเผ็ดกว่านี้เป็น 100 เท่า
“ป๋าเปรม” ได้รับการยอมรับจากฝ่ายการเมืองในขณะนั้นเป็นอย่างมาก จนได้รับโอกาสก้าวสู่ตำแหน่งหลังจากที่ พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ลาออกจากตำแหน่งกลางสภาผู้แทน ฯ หลังจากโดนซักฟอกและโจมตีในกรณีเพิ่มราคาค่าน้ำมันตามราคาตลาดโลก เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 ก่อนที่จะมีการหยั่งเสียงจากสภาผู้แทนราษฏร โดยทำการหยั่งเสียงเพื่อหาตัวผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ระหว่าง “พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์” กับ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช โดยที่ประชุมรัฐสภาได้เลือก “พลเอกเปรม” เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น ย้ำนะครับ “เลือกโดยที่ประชุมสภา” โดยได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2523 (มันเผด็จการตรงไหนวะ ?)
สำหรับ “ป๋าเปรม” ระยะเวลา 8 ปีที่ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประเทศไทยไม่มีปัญหาเรื่องคอร์รัปชัน ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะท่านเป็นคนเด็ดขาด มองผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก และรู้จักเลือกใช้คนที่หลากหลายมาร่วมรัฐบาล สมัยนั้นเศรษฐกิจดีมาก ๆ เพราะเหตุจากการดึงคนเก่งเข้ามาบริหารเศรษฐกิจ จัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐบาล และเอกชน (กรอ.) เพื่อส่งเสริมบทบาททางการค้าและการลงทุนของภาคเอกชนภายในประเทศ เรียกว่า “การเมืองคู่การค้า” มีการปรับปรุงประมวลกฎหมายรัษฎากรและกฎหมายสรรพสินค้า เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคม
การทำงานของท่านนั้น ขึ้นชื่อเรื่องความติดดิน ความใกล้ชิดกับประชาชน ด้วยการลงพื้นที่จริง พบปะพูดคุยกับประชาชนในทุกจังหวัดของประเทศไทย ซึ่งตอนนั้นยังใช้ลำโพงกระจายเสียง เพื่อเสนอข่าวให้ได้ยินทั้งชุมชน ด้วยความที่ไม่ใช่ “นักเลือกตั้ง” จึงทำงานเพื่อประชาชนได้อย่างเต็มที่ มีการสร้างงานอย่างต่อเนื่องด้วยการสร้างงานตามโครงการสร้างงานในชนบท (กสช.)
ส่วนการดำเนินการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย ท่านก็ดำเนินการอย่างได้ผล เพราะจากประสบการณ์การเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 และผู้บัญชาการทหารบก ท่านรู้ว่าการใช้กำลังปราบปรามจะมีแต่ผลลบต่อประเทศชาติ “ยิ่งรบก็ยิ่งพัง” ท่านจึงนำนโยบายการใช้ "การเมืองนำการทหาร" ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 โดยมีสาระสำคัญที่น่าสนใจคือ
1. ต้องเอาชนะอย่างรวดเร็วด้วยการรุกทางการเมือง ทำให้ประชาชนมีส่วนในการเป็นเจ้าของการปกครอง ใช้งานการเมืองเป็นสิ่งชี้ขาด งานการทหารจะต้องสนับสนุนและส่งเสริมให้บรรลุภารกิจงานการเมืองเป็นสำคัญ
2. ขจัดเหตุแห่งความไม่เป็นธรรมในสังคมทุกระดับตั้งแต่ท้องถิ่นถึงระดับชาติ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตในวงราชการอย่างเฉียบขาด ทำลายการกดขี่ขูดรีดทิ้งสิ้น
3. กำหนดการปฏิบัติให้มีการประสานประโยชน์ระหว่างชนชั้น เสียสละผลประโยชน์ของชนชั้นเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องมีจิตใจที่เป็นธรรม และเข้าใจปัญหาของประชาชนทุกชนชั้น
4. ส่งเสริมประชาชนทุกกลุ่ม ทุกสาขาอาชีพให้สามารถในการปกครองตนเอง ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนทุกชนชั้นและสาขาอาชีพได้มีส่วนร่วมทางการเมือง
5. สนับสนุนการจัดตั้งขบวนการประชาธิปไตยทั้งสิ้นที่มีอยู่ โดยคำนึงถึงสิทธิและผลประโยชน์ของกลุ่มชนนั้นๆ อันพึงจะมี
6. ปฏิบัติต่อผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์หรือผู้หลงผิดที่เข้ามอบตัว หรือที่จับได้อย่างเพื่อนประชาชนร่วมชาติ ชี้แจงเพื่อให้ได้เข้าใจถึงนโยบายของรัฐบาลในปัญหานี้อย่างถ่องแท้ช่วยเหลือให้ใช้ชีวิตใหม่ร่วมกันต่อไปในสังคมอย่างเหมาะสม
ประกาศนี้แทบจะไม่ใช่แค่เรื่องคอมมิวนิสต์ แต่เป็นเรื่องของการปฏิรูปการเมือง และการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชน โดยหลังจากนโยบายนี้ดำเนินการผ่านไป 2 ปี ด้วยการทำอย่างจริงจัง จนทำให้เกิดสภาพ “ป่าแตก” เกิดภาพ “ทหารป่าคืนเมือง” พรรคคอมมิวนิสต์ออกจากป่ามาหลายพันคน เข้ามามอบตัวอย่างไม่ผิดกฎหมาย ในนามผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย จนทำให้พรรคคอมมิวนิสต์อ่อนกำลังลงและสลายตัวไปในที่สุด
จะว่าไปแล้วการสู้รบที่แท้จริงของ “ป๋าเปรม” ในเวลานั้นก็คือการสู้กับความยากจน สู้อยู่บนความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากมรดกบาปของกลุ่มแผด็จการที่แท้จริง ที่เรียกว่า “คณะราษฏร” จนมาถึงเผด็จการตัวกลั่นที่ชื่อ “ป. พิบูลสงคราม” ผมก็ไม่รู้ว่า “คุณครู” ท่านนั้นจะรู้เรื่องราวพวกนี้บ้างไหม ? แต่ผมว่าไม่รู้หรอก....
สำหรับการสื่อสารของ “ป๋า” ท่านมีบุคลิกส่วนตัวที่ทำให้ท่านเป็นที่ยำเกรงของสื่อและฝ่ายตรงข้ามคือ ท่านเป็นคนพูดน้อย จนได้ฉายาว่า “เตมีย์ใบ้” ทุกครั้งของการพูด คำพูดของท่าน มีความหนักแน่น จริงจัง และเชื่อถือได้เสมอ ดังนั้น ทุกครั้งที่ท่านให้สัมภาษณ์ไม่ว่าสั้นหรือยาว จึงเป็นประเด็นขึ้นหน้า 1 บ่อย ๆ ท่านยึดหลัก “ถ้าไม่จริงจะไม่พูด” ทำให้ท่านไม่เคยต้องแก้ข่าว เพราะ “ป๋า” ถือเรื่องนี้มาก บางครั้งมีเรื่องที่อยากพูด ท่านก็ให้คนสนิทโทรมานัดแนะให้นักข่าวช่วยถามเรื่องนี้ เพื่อจะได้ขยายความให้สื่อช่วยสื่อสารต่อ ตอนนั้น “ป๋า” เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งห้องข่าวในตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาลด้วย
พลเอก เปรม เป็นนายกรัฐมนตรีถึง 3 สมัย สมัยแรก 3 มีนาคม พ.ศ. 2523 – 29 เมษายน พ.ศ. 2526 สิ้นสุดลงภายหลังการยุบสภา ในวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2526 เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบกับการยืดอายุการใช้บทเฉพาะกาลของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521 / สมัยที่สอง 30 เมษายน พ.ศ. 2526 – 4 สิงหาคม พ.ศ. 2529 สิ้นสุดลงภายหลังการยุบสภา เนื่องจาก รัฐบาลแพ้เสียงในการออกพระราชกำหนดการขนส่งทางบก และสมัยที่สาม 5 สิงหาคม พ.ศ. 2529 – 3 สิงหาคม พ.ศ. 2531 สิ้นสุดลงภายหลังการยุบสภา เนื่องจากปัญหาในพรรคประชาธิปัตย์ จนทำให้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ไม่ผ่าน แล้วคุณเชื่อไหม ? ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งใหม่ พรรคร่วมก็มาเชิญ “ป๋า” กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีเสมอ ย้ำว่า “เชิญ” นะครับ จนภายหลังการเลือกตั้ง ในคืนวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 ก็มาเชิญท่านอีก แต่ท่าน “ปฏิเสธ”
หลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.เปรม เป็นองคมนตรี ในวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2531 จากนั้นในวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2531 ได้รับโปรดเกล้าฯ ยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษ และในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2541 มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานองคมนตรี ในวันพระบรมราชาภิเษกของ “พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” พลเอกเปรม ได้ทำหน้าที่ถวายน้ำพระมุรธาภิเษก ในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 และนั่นคืองานสุดท้ายของท่านโดยถัดมาอีกไม่กี่สัปดาห์ท่านก็ได้ถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ทิ้งไว้แต่คุณงามความดีที่ท่านได้กระทำมาตลอดชีวิตของท่าน
ปิดท้ายบทความนี้ผมขอยกคติประจำใจของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เรื่อง “เกิดมาต้องตอบแทนคุณแผ่นดิน” ที่ท่านได้นิยามไว้ดังนี้
“การตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน คือ การประพฤติปฏิบัติตนเป็นคนดี เป็นสถาบันที่ดี เป็นองค์กรที่ดี เป็นตัวอย่างที่ดี มุ่งกระทำแต่ความดี เพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน”
ถึงตรงนี้ คนแบบไหนกันนะ ? ที่สอนคนอื่นให้ปรักปรำคนดี ดูถูกคนที่ทดแทนคุณชาติ และจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ คุณคิดว่าคนที่กล้าสอนคนอื่นด้วยเรื่องปลอม ๆ ความจริงเพี้ยน ๆ แบบนั้นเป็นคนแบบไหนกันนะ ?
เรื่อง : เจต ณ นคร