God Save the King รู้จัก ‘พระเจ้าชาร์ลสที่ 3’ กษัตริย์องค์ใหม่แห่งราชวงศ์อังกฤษ
วันที่ 8 กันยายน 2565 บีบีซี รายงานว่า สหราชอาณาจักรเข้าสู่รัชสมัยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 หลังสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จสวรรคต และมีผลให้คำถวายพระพรและเพลงชาติของอังกฤษ เปลี่ยนจาก God Save the Queen เป็น God Save the King
สำหรับพระราชประวัติ พระเจ้าชาร์ลส์ ที่ 3 พระชนมพรรษา 73 พรรษา พระราชสมภพ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 1948 (พ.ศ. 2491) เป็นพระราชโอรสองค์โตของควีนเอลิซาเบธที่ 2 และเจ้าชายฟิลิป มีพระขนิษฐา 1 พระองค์คือ เจ้าหญิงแอนน์ และพระอนุชา 2 พระองค์ คือเจ้าชายแอนดรูว์ และเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด
ทรงได้รับการสถาปนาให้เป็นเจ้าชายแห่งเวลส์ เมื่อพระชันษา 10 ปี และขึ้นเป็นมกุฎราชกุมาร รัชทายาทลำดับที่ 1 เมื่อเจริญพระชันษา 21 ปี
ทรงเป็นพระราชวงศ์พระองค์แรกที่เข้าศึกษาที่โรงเรียน ณ โรงเรียนฮิลล์ เฮ้าส์ กรุงลอนดอน จากนั้นศึกษาต่อโรงเรียนเตรียมความพร้อมด้านวิชาเคมีในเมืองเบิร์กเชอร์ และทรงสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
เมื่อครั้งวัยหนุ่ม ทรงถูกจับตาเรื่องการเลือกคู่ครองและเป็นข่าวหลายครั้ง รวมถึงกับคามิลลา ปาร์กเกอร์ โบวลส์ ที่มีข่าวว่าสนิทสนมเป็นพิเศษ แต่ไม่อาจลงเอยได้ เพราะติดขัดที่กฎระเบียบราชสำนัก
ต่อมาทรงหมั้นกับ เลดี้ ไดอานา แห่งตระกูลสเปนเซอร์ วัย 19 ปี หญิงที่เจ้าชายฟิลิป พระบิดาสนับสนุน ขณะที่เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มีพระชนมพรรษา 30 พรรษา โดยมีพระราชพิธีอภิเษกสมรสวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 ที่มีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก
เจ้าหญิงไดอานาทรงมีพระโอรสกับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ 2 พระองค์ คือเจ้าชายวิลเลียม และเจ้าชายแฮร์รี ท่ามกลางชีวิตสมรสที่มีปัญหาและเป็นข่าวอื้อฉาวอย่างต่อเนื่อง โดยมี คามิลลา ปาร์กเกอร์ โบวลส์ เข้ามาพัวพันด้วย
ปี 1996 (พ.ศ. 2539) ทั้งสองพระองค์หย่าร้างกัน และหนึ่งปีต่อมา เจ้าหญิงไดอานาก็สิ้นพระชนม์ในอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส วันที่ 31 ส.ค. กลายเป็นเหตุการณ์ช็อกไปทั่วโลก และราชวงศ์อังกฤษต้องปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อขานรับความโศกเศร้าของประชาชนต่อการจากไปของเจ้าหญิงไดอานา
แปดปีจากนั้น หลังจากสังคมเปลี่ยนไปและมีกระแสต้านลดลง เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ทรงอภิเษกอีกครั้งกับ คามิลลา วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2005 (พ.ศ. 2548) โดยคามิลลาทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์
ในพระราชพิธีฉลองควีนครองราชย์ครบ 70 ปีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ควีนทรงมีพระราชกระแสรับสั่ง หวังให้คามิลลาขึ้นเป็นราชินี เคียงข้างเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เมื่อขึ้นครองราชย์
อย่างไรก็ตาม หลังควีนเสด็จสวรรคตวันที่ 8 กันยายน คำที่ใช้เรียก คามิลลา ในนาทีที่เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ทรงขึ้นเป็นกษัตริย์ พระเจ้าชาร์ลส์ ที่ 3 ยังคงเป็นคำว่า queen consort ซึ่งหมายถึงราชินีคู่สมรส
สำหรับการตัดสินพระทัยแรกของพระองค์ คือการเลือกพระนามที่จะทรงใช้ในฐานะกษัตริย์ 4 ชื่อ จากพระนามเต็ม ชาร์ลส์ ฟิลิป อาเธอร์ จอร์จ และพระองค์ทรงเลือกใช้พระนาม 'ชาร์ลส์'
ทั้งนี้ ทรงเป็นกษัติร์ย์แห่งสหราชอาณาจักรพระองค์ที่ 3 ที่เลือกใช้พระนาม ชาร์ลส์ จึงมีพระนามในฐานะกษัตริย์ว่า “สมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3” หรือ “พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3”
คาดว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงได้รับการประกาศให้เป็นกษัตริย์อย่างเป็นทางการในวันเสาร์นี้ (10 ก.ย.) โดยสภาภาคยานุวัติหรือสภาการสืบราชบัลลังก์ ประกอบด้วยคณะองคมนตรี คณะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอาวุโสทั้งในอดีตและปัจจุบัน ข้าราชการระดับ ข้าหลวงใหญ่เครือจักรภพ และนายกเทศมนตรีลอนดอน
ในพิธีการ ซึ่งคาดว่าจะจัดขึ้นที่พระราชวังเซนต์เจมส์ในลอนดอน ประธานองคมนตรีแห่งสภาองคมนตรีจะประกาศการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และประกาศการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3
จากนั้น พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะเสด็จร่วมพิธีการกับสภาภาคยานุวัติ เพื่อทรงประกาศพระปฐมบรมราชโองการ ซึ่งมักมีข้อความตามธรรมเนียมโบราณปะปนอยู่ด้วย เช่น จะทรงปฏิญาณว่า จะอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนจักรแห่งสกอตแลนด์ ตามธรรมเนียมที่มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18
ต่อจากนั้น จะมีการอ่านประกาศต่อสาธารณชนจากระเบียงเหนือลาน Friary Court ในพระราชวังเซนต์เจมส์ ว่า พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เป็นประมุขแห่งสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพพระองค์ใหม่อย่างเป็นทางการ โดยจะมีเสียงสรรเสริญขึ้นว่า “ขอพระเจ้าคุ้มครองพระราชา (God save the King)” และจะเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1952 ที่เพลงชาติของสหราชอาณาจักร ซึ่งมีชื่อเดียวกับข้อความสรรเสริญดังกล่าว จะเปลี่ยนเนื้อที่ร้องว่า “God save the Queen” เป็น “God Save the King”
นอกจากนี้ จะมีการยิงสลุตในไฮด์พาร์ก หอคอยแห่งลอนดอน และขบวนเรือหลวง และคำประกาศที่ว่าพระเจ้าชาร์ลส์เป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่จะถูกอ่านในเอดินบะระ คาร์ดิฟฟ์ และเบลฟาสต์ ด้วย
หลังจากพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ขึ้นครองราชย์ จะต้องมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งคาดว่าอาจใช้เวลาหลายเดือนในการเตรียมการ จึงคาดว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษกไม่น่าจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้
แม้แต่สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 เอง ก็ทรงขึ้นครองบัลลังก์ในเดือน ก.พ. 1952 แต่มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นในเดือน มิ.ย. 1953
ตลอด 900 ปีที่ผ่านมา พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะจัดขึ้นที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ โดยพระเจ้าวิลเลียมผู้พิชิต (William the Conqueror) เป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่นั่น และพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะเป็นพระองค์ที่ 40
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะมีขึ้นตามแนวทางของศาสนจักรอังกฤษ ประกอบพิธีโดยอัครมุขนายกแห่งแคนเทอร์เบอรี ผู้นำนิกายแองกลิกัน
จุดสำคัญของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอยู่ที่การสวมพระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด ซึ่งทำขึ้นตั้งแต่ปี 1661 ด้วยทองคำล้วนหนัก 2.23 กิโลกรัม ลงบนพระเศียรของกษัตริย์พระองค์ใหม่ รวมทั้งพิธีกรรมการเจิมน้ำมันหอม ที่ทำจากส้ม กุหลาบ อบเชย มัสก์ และแอมเบอร์กริส พิธีรับคทาและลูกโลกประดับกางเขนจากอัครมุขนายกแห่งแคนเทอร์เบอรี
หลังเสด็จขึ้นครองราชย์ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะเป็นประมุขแห่งสหราชอาณาจักร และจะทรงมีสถานะเป็นผู้นำเครือจักรภพ ซึ่งเป็นสมาคมจาก 56 ประเทศหรือรัฐอิสระที่มีประชากรรวม 2.4 พันล้านคน ในจำนวนนี้ มี 14 ประเทศที่จะมีพระเจ้าชาร์ลส์ทรงเป็นประมุข ได้แก่ ออสเตรเลีย แอนติกาและบาร์บูดา บาฮามาส เบลีซ แคนาดา เกรนาดา จาเมกา ปาปัวนิวกินี เซนต์คริสโตเฟอร์และเนวิส เซนต์ลูเซีย เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ นิวซีแลนด์ โซโลมอน และหมู่เกาะตูวาลู