“ดร.พิสิฐ” ขอให้คลังจัดหมวดหมู่กองทุนหมุนเวียนให้รวมเฉพาะส่วนที่เป็นงานของราชการ เพื่อความโปร่งใสทางการคลัง

ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายในวาระรับทราบรายงานผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน ประจำปีบัญชี 2562 ว่า กองทุนต่างๆ ที่มีอยู่ 115 กองทุนนี้ เป็นส่วนหนึ่งของระบบการคลัง และเป็นส่วนเสริมของระบบงบประมาณแผ่นดิน  ซึ่งมีวงเงินประมาณ 3 ล้านล้านบาทต่อปี แต่ยอดรวมกองทุนที่รวบรวมมานำเสนอนี้ มีตัวเลขที่สูงถึงกว่า4 ล้านล้านบาท ดูประหนึ่งว่าเงินในกองทุนเหล่านี้มีมากมายมหาศาล และเป็นที่เพ่งเล็งกันว่าน่าจะนำมาใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ทางการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่านี้ 

ดร.พิสิฐ ชี้ว่า ตัวเลขที่ได้รวบรวมมาเสนอต่อสภานี้ แม้ได้ทำไปตามกฎหมายกองทุน ที่จะต้องนำเสนอภาพรวมต่อครมและสภา แต่หากทำในลักษณะนี้จะทำให้เกิดความไขว้เขวว่าเรามีเงินเยอะ ความจริงแล้วในบรรดา 4 ล้านล้านบาทที่ปรากฎในรายงาน กว่าครึ่งหนึ่งเป็นของกองทุนประกันสังคม ซึ่งเงินกองทุนประกันสังคมก็เป็นเงินของลูกจ้างที่ได้จ่ายสะสมและนายจ้าง กับรัฐได้จ่ายสมทบให้ทำให้เงินกว่าครึ่งหนึ่งหรือสองล้านล้านบาทเราจะไปแตะต้องไม่ได้ และไม่ควรนำมารวมอยู่ในรูปของกองทุนณ ที่นี้ นอกจากนี้ยังเงิน กองทุน กบข. ก็เป็นเงินออมของข้าราชการที่สะสมเก็บเพื่อใช้ยามเกษียณ มียอดเกือบ1 ล้านล้านบาท ก็เป็นอีกก้อนหนึ่งที่แตะต้องไม่ได้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า จากยอด 4 ล้านล้านบาทที่ได้รวบรวมมา มีถึง 3 ใน 4 ที่ไม่ใช่เงินของรัฐบาลโดยตรง แต่เป็นเงินที่มีกฎหมายรองรับอยู่ว่าเป็นของผู้อื่น ยังมีเงินกองทุนที่มีจำนวนเงินไม่มาก ตัวอย่างเช่นกองทุนผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาเป็นต้นก็อยู่ในลักษณะเดียวกัน

แม้กระทั่งเงินที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลต่างๆเช่น เงินกองทุนน้ำมัน ที่มีกว่า 4 หมื่นล้านบาท ที่ฝากไว้ที่กระทรวงการคลัง และกระทรวงการคลังเก็บเป็นส่วนหนึ่งของเงินคงคลัง ก็เป็นอีกก้อนหนึ่งที่แตะต้องไม่ได้ เพราะมีกฎหมายบังคับเฉพาะอยู่แล้วว่าไม่อาจใช้เพื่อการอื่นได้ แต่ใช้เพื่อพยุงราคาน้ำมันเท่านั้น 

ดังนั้น ดร.พิสิฐ จึงได้เน้นถึงเรื่องการแยะแยะเงินเหล่านี้ โดยจัดหมวดหมู่ของกองทุนต่างๆให้ชัดเจน 
แต่ที่คลังได้จัดหมวดหมู่มา 5-6 ประเภทในรายงานนั้น ไม่น่าจะเกิดประโยชน์ในการวิเคราะห์ หรือประเมินภาพรวมเงินกองทุนตามเจตนารมย์ของกฎหมายกองทุนควรเลือกเฉพาะกองทุนที่มีลักษณะคล้ายกับงบประมาณรายจ่ายแผ่นดินคือมีแหล่งรายได้หลักมาจากรัฐบาล หรือเป็นรายได้ที่รัฐบาลกำหนดให้ และเป็นงานที่มีลักษณะส่งเสริมสนับสนุนนโยบายส่วนกองทุนอย่าง กองทุนประกันสังคม กองทุน กบข. ที่มีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว มีเจ้าของเงินชัดเจนก็จะต้องจัดไว้อีกหมวดหมู่หนึ่ง เพราะถือว่ามีลักษณะเชานเดียวกับรัฐวิสาหกิจที่มีเงินมาก แต่แยกตัวออกไปไม่ใช่กองทุน ซึ่งหากได้จะจัดหมวดหมู่ให้ชัดเจนตามที่เสนอนี้ เราก็จะได้ประโยชน์ มีความชัดเจนโปร่งใส ได้ข้อมูลเงินนอกงบประมาณที่ช่วยนำมาใช้วิเคราะห์งบประมาณรายจ่ายและหนี้สินทรัพย์สินในะบบการคลังได้

ทุกวันนี้มีปัญหาว่า จะมีความพยายามใช้เงินในระบบงบประมาณแผ่นดิน แต่เมื่อจ่ายไปแล้ว เงินอาจไม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ แต่อาจจะไปจมอยู่ในกองทุนต่างๆ และไม่ออกไปนอกระบบการคลังทำให้กองทุนเหล่านี้กลายเป็นบ่อพักของเงินงบประมาณแผ่นดิน และไม่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของการใช้จ่ายของรัฐบาล

ขณะเดียวกัน หากจะวิเคราะห์ลึกลงไป ก็พบว่ายังมีเงินอีกหลายประเภทที่มีลักษณะคล้ายเงินกองทุนดังกล่าว เช่น เงินทุนหมุนเวียนในหน่วยงานต่างๆ ที่เรียกรวมๆว่าเงินนอกงบประมาณ จะมีวิธีการใดหรือไม่ที่จะสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ให้มาแสดงภาพรวมด้วยกัน เพื่อจะได้เห็นว่าเงินแผ่นดินเหล่านั้นมีจำนวนเท่าใด  เช่น เงินที่เกี่ยวกับการศึกษา ซึ่งมหาวิทยาลัยต่างๆ โรงเรียนต่างๆ ของรัฐได้จากค่าเล่าเรียนที่เป็นเงินนอกงบประมาณ ซึ่งต้องถือว่าเป็นบัญชีเงินทุนหมุนเวียนเช่นกัน 

“ในเบื้องต้น ท่านอาจจะดูเฉพาะเงินที่มาจากงบประมาณก่อนว่า เงินที่เราจ่ายจากงบประมาณเข้าสู่กองทุน และกองทุนเหล่านี้มีพฤติกรรมในการเบิกจ่ายให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผลอย่างไร เพื่อให้กรมบัญชีกลางสามารถปฏิบัติตามหน้า ตามภารกิจที่ปรากฎอยู่ใน พ.ร.บ.เงินทุนหมุนเวียน ผมคิดว่าข้อมูลที่ท่านให้มาเป็นประโยชน์ แต่ยังมีโอกาสปรับปรุงข้อมูลได้ เช่น การระบุชื่อ คณะกรรมการต่างๆ ในแต่ละกองทุน เพื่อจะให้เกิดความรับผิดชอบ โดยสามารถระบุชื่อว่าใครเป็นผู้บริหารกองทุน อย่าระบุแค่ตำแหน่งเท่านั้น เพื่อให้เกิดการติดตามดูแลเป็นรายบุคคลได้ ซึ่งจะเป็นหลักฐานในการประเมินผลได้ต่อไป โดยเฉพาะบทบาทของกรรมการแต่ละท่าน และจะเป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้การบริหารกองทุนมีประสิทธิภาพมากขึ้น” ดร.พิสิฐ กล่าว 

พร้อมกับเพิ่มเติมว่า กองทุนต่างๆ เหล่านี้ ควรส่งต่อไปให้ กมธ. การเงินการคลังของสภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญผู้จัดการกองทุนแต่ละกองทุนมาชี้แจงปีละ 1 ครั้ง เช่นเดียวกับการมี กมธ.วิสามัญ เพื่อพิจารณางบประมาณประจำปี ที่มีการเชิญหน่วยงานต่างมาชี้แจงนำเสนอ ซึ่งจะทำให้สามารถติดตามและประเมินผลการทำงานของกองทุนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น