Saturday, 26 April 2025
ECONBIZ NEWS

‘สุพัฒนพงษ์’ แจงปมดราม่า ‘ขอคนไทยนำเงินออมใช้จ่ายช่วยดันจีดีพี’ ระบุ สื่อเข้าใจผิด ตัดคำพูดรักชาติต้องใช้เงินเก็บ แจง หมายถึงเอกชนที่มีเงินฝากเพิ่มขึ้น หวังให้เกิดการหมุนเวียน  

เมื่อเวลา 08.40 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีการหารือถึงมาตรการเยียวยาประชาชนหรือไม่ ว่า การประชุม ครม.ครั้งนี้ยังไม่มีการพูดคุยถึงมาตรการเยียวยา แต่ต้องไปดูว่ากระทรวงการคลังจะเสนออะไรเข้าสู่ที่ประชุม ครม.หรือไม่

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะต้องมีการพูดคุยกับภาคเอกชนในวันที่ 28 เม.ย. ก่อนหรือไม่ นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า เรื่องนั้นเป็นเรื่องการบริหารจัดการวัคซีนให้ทั่วถึง และเป็นเรื่องของ ศบค. ที่เอกชนเสนอตัวมาร่วมทำงานกับรัฐบาล ไม่ใช่เรื่องมาตรการเศรษฐกิจ 

นายสุพัฒพงษ์ กล่าวว่า วันนี้เป็นช่วงเวลาที่เราทุกคนตระหนักและทราบดีว่าการระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้นทั้งโลก ประเทศไทยจึงต้องร่วมมือกัน ซึ่งน่าดีใจที่ภาคเอกชนมีประสบการณ์มากขึ้นและมีการเตรียมพร้อม รวมถึงเห็นความสำคัญของมาตรการที่รัฐบาลออกมา นอกจากนี้ ยังเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับภาคเอกชนเพื่อให้เข้าถึงวัคซีนได้มากขึ้น วันนี้มาทำเรื่องนี้กันเสียก่อน เพราะเมื่อปีที่แล้วไม่มีวัคซีนและที่ไหนในโลกไม่มีวัคซีน แต่วันนี้วัคซีนทยอยเข้ามาแล้ว เราต้องช่วยกัน เรามีสิ่งที่ใหม่และเป็นโอกาสที่ทำให้ทั่วถึงและจัดลำดับให้ดี อาจจะทำให้ระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนและเปิดประเทศได้เร็วขึ้น  

นายสุพัฒนพงษ์ ยังชี้แจงกรณีที่มีสื่อบางแห่งนำคำให้สัมภาษณ์ของตนเองไปสื่อสารให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด ว่า เมื่อวันที่ 26 เม.ย. มีสื่อนำคำพูดของตนที่ระบุว่า “ขอให้คนรักชาตินำเงินฝากที่เก็บไว้ไปใช้จ่าย” และใส่เครื่องหมายอัศเจรีย์ ซึ่งเป็นคำพูดเพียงสั้น ๆ และคงเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะตนคิดว่าผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจเข้าใจในสิ่งที่ตนอยากสื่อสาร ทั้งนี้ ตนอยากทำความเข้าใจกับทุกคนว่าทุกประเทศในยามนี้ สิ่งที่จะรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจได้คือการบริโภคในประเทศ และเราพบว่าเงินฝากของภาคเอกชนที่อยู่ในระบบเงินฝากเพิ่มมากขึ้นหลายแสนล้านเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งเป็นปีที่เกิดวิกฤติโควิด-19 เหมือนกัน รัฐบาลจึงตระหนักว่าถ้านำเงินส่วนนี้มาช่วยกันจะเกิดเงินหมุนเวียนในประเทศ ไม่ใช่การบังคับ แต่จะมีมาตรการส่งเสริมให้ประชาชนที่มีเงินฝากนำเงินที่เกินมาไปใช้ในการอุปโภคบริโภคและลงทุน ตรงนี้จะมีส่วนให้ประเทศไทยเรามีศักยภาพที่ดีขึ้น ถ้าเป็นไปได้ก็เห็นอกเห็นใจกัน อยากให้สื่อทำความเข้าใจตรงนี้ เพราะการที่เขียนเครื่องหมายอัศเจรีย์หมายความว่ายังไม่เข้าใจ

ฝ่าวิกฤติโควิด ‘เกษตรฯ.’ ชูธง ‘5 ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย’ ใช้แพลตฟอร์มรูปแบบใหม่ระบบสั่งซื้อทุเรียนล่วงหน้าออนไลน์ เจาะตลาดจีน 1,400 ล้านคน เตรียมขึ้นเครื่องเช่าเหมาลำล็อตแรก 27 เมษายนนี้

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) เปิดเผยว่า ในวันที่ 27 เมษายนนี้จะจัดส่งทุเรียนจากสหกรณ์เมืองขลุง จังหวัดจันทบุรี ไปจำหน่ายที่ประเทศจีนโดยเครื่องบินเช่าเหมาลำของสายการบินเซินเจิ้นแอร์ไลน์ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นการจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์แบบสั่งซื้อล่วงหน้า ( Pre-Order) ที่ลูกค้าจ่ายเงินผ่านระบบออนไลน์มาเรียบร้อยแล้ว จำนวน 20 ตัน

“เป็นครั้งแรกของการจำหน่ายทุเรียนผ่านระบบ Pre-Order ไปประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่สุดของผลไม้ไทยโดยเฉพาะทุเรียน เราต้องเจาะตลาดจีนที่มีประชากรกว่า 1,400 ล้านคนเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วขายทุเรียนได้กว่า 6 หมื่นล้านบาทด้วยแพลตฟอร์มใหม่ ๆ บนความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตร กระทรวงพาณิชย์ บริษัทเอกชนและสหกรณ์ผลไม้ เช่นสหกรณ์เมืองขลุง จังหวัดจันทบุรีและยังเป็นทุเรียนชุดแรกที่มีการสร้างแบรนด์ทุเรียนไทยในระดับสหกรณ์ผลไม้ (Cooperative based Branding) ให้เป็นที่รู้จักในสายตาชาวโลกทำให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียนและสหกรณ์ขายได้ราคาสูงขึ้นคู่ขนานไปกับการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานของทุเรียนในระบบ GAP และ GMP ภายใต้ "5 ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย” และโมเดล ‘เกษตรผลิต-พาณิชย์ตลาด’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายการปฏิรูปไม้ผลทั้งระบบของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) และการขับเคลื่อนโมเดล "เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ร่วมกับนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพาณิชย์

“ถือเป็นความสำเร็จทางนโยบายและการบริหารแบบทำได้ไวทำได้จริง หลังจากคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ครั้งที่ 3/2564 เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา เห็นชอบโครงการจำหน่ายผลไม้บนแพลตฟอร์มออนไลน์แบบสั่งซื้อล่วงหน้า (Pre-order) เพื่อเป็นกลไกการขายเชิงรุกทั้งในและต่างประเทศโดยมอบหมายให้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน E-Commerce กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และฝ่ายเลขานุการของฟรุ้ทบอร์ด คือกรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ภาคเอกชนและกระทรวงพาณิชย์

โดยล่าสุดกรมประชาสัมพันธ์จะมาช่วยเสริมทัพด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์และการผลิตสื่อออนไลน์ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้จะมีการส่งออกภายใต้ระบบพรีออเดอร์อีกหลายประเทศในเดือนหน้าและขอแสดงความชื่นชมความร่วมมือระหว่างฟรุ้ทบอร์ด ผู้ประกอบการ สหกรณ์เมืองขลุงและจังหวัดจันทบุรี ที่สามารถเปิดฉากการส่งออกทุเรียนล็อตแรกได้สำเร็จอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่ถึง 1 เดือน

นายกฤชฐา โภคาสถิตย์ ประธานคณะอนุกรรมการอนุกรรมการขับเคลื่อน E-Commerce กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า คณะอนุกรรมการฯ. ได้ประสานความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนเพื่อสร้าง New Ecosystem ในการ “สร้างแบรนด์ผลไม้ไทย” ในการส่งออกไปทั่วโลก

ผ่านช่องทาง Pre-order เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดการจดจำ ในฐานะที่เราเป็นผู้ส่งออกผลไม้ที่มีศักยภาพอันดับต้น ๆ ของโลก เราสามารถสร้างแบรนด์ให้แต่ละสวน แต่ละฟาร์มผ่านกลไกสหกรณ์ และมีระบบ Logistics ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำที่แข็งแรง ผสานเข้ากับ ผู้ประกอบการที่มีความพร้อมในการส่งออกผ่านกระบวนการ Pre-Order ทางออนไลน์ นี่จะเป็นมิติใหม่ในการจำหน่ายและเพิ่มมูลค่าของผลไม้ไทยอย่างยั่งยืน”

ทางด้านคุณเจียวหลิง ฟาน (Jiaoling Pan) กรรมการผู้จัดการ บริษัท รอยัล ฟาร์ม กรุ๊ป จำกัด กล่าวถึงการเปิดรับ Pre-Oder เพื่อจำหน่ายทุเรียนไทยส่งขายไปที่ประเทศจีน ว่า ช่วงนี้เป็นฤดูกาลผลิตทุเรียน ทางบริษัทของเราต้องการได้ทุเรียนที่มีคุณภาพเพื่อส่งไปขายที่จีน และเมื่อได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการสร้างแบรนด์ผลไม้ไทย โดยมีพันธมิตรคือสหกรณ์เมืองขลุง จังหวัดจันทบุรี ร่วมคัดเลือกทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่ได้คุณภาพ ก็ยิ่งมั่นใจในคุณภาพว่าลูกค้าชาวจีนของเราทุกคนจะได้รับประทานทุเรียนจากเมืองไทยที่มีคุณภาพระดับเกรดพรีเมียม รสชาติอร่อย และผ่านการคัดเลือกคัดกรองอย่างมีคุณภาพในทุกขั้นตอน และปลอดจากเชื้อโควิดด้วย เรียกว่าเป็นทุเรียนแบรนด์เมืองไทย ที่มาจากการสร้างแบรนด์ของเกษตรกรไทยอย่างแท้จริง

“เมื่อชาวสวนและสหกรณ์สามารถรับรองคุณภาพทุเรียนให้ได้ เป็นแบรนด์ผลไม้ไทย และเราเป็นเจ้าแรกที่นำเอาผลไม้ไทยไปขายที่จีน ผ่านระบบ Pre-Order เราก็เลยเห็นว่าแนวทางนี้มีความมั่นคง เรามาถูกทางแล้วเพราะมีภาครัฐและสหกรณ์ออกมารับรองคุณภาพด้วย ทำให้เรามั่นใจและสามารถส่งออกผลไม้ไปขายได้อย่างเต็มที่" คุณเจียวหลิง ฟาน กล่าว

ดังนั้น สิ่งที่อยากเห็นมากขึ้นคือการประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องเกษตรกรเห็นถึงการขายทุเรียน และผลไม้ไทยทุกชนิดผ่านระบบ Pre-Order ที่สามารถทำได้จริง และได้กำไรด้วยเพราะเราสามารถกำหนดราคาขายที่แพงกว่าตลาดได้ หากสินค้าที่นำมาขายนั้นมีคุณภาพดีและผ่านการการันตี หรือได้รับการรับรองจากทางสหกรณ์และภาครัฐแล้ว และการซื้อทุเรียนล็อตนี้ทางบริษัทฯ เราก็ซื้อในราคาที่แพงกว่าราคาที่ขายในท้องตลาดจริงถึง 20 บาทด้วยกัน และถ้าเราสามารถประชาสัมพันธ์ให้ต่างชาติรับรู้และเข้าถึงผลไม้ไทยทุกชนิดที่เป็นความต้องการของตลาด ก็จะยิ่งเป็นการเปิดโอกาสและเป็นการเปิดเส้นทางการขายผลไม้ไทยสู่ตลาดโลกด้วยระบบออนไลน์ผ่านการ Pre-Order ซึ่งจะช่วยให้การจำหน่ายผลไม้ไทยเกิดความยั่งยืนด้วย

คุณเจียวหลิง ฟาน บอกอีกว่ากระแสการสั่งซื้อทุเรียนของไทยผ่านระบบ Pre-Order ในขณะนี้ถือว่าได้รับกระแสการตอบรับที่ดีมาก ซึ่งลูกค้าชาวจีนให้ความสนใจและชื่นชอบทุเรียนจากเมืองไทยอยู่แล้ว และทางบริษัทฯ และสหกรณ์เมืองขลุง ก็ได้มีการรับรองคุณภาพด้วย หากว่าทุเรียนที่ส่งถึงมือลูกค้าไม่เป็นไปตามที่ตกลงไว้ ทางบริษัทฯ ก็ยินดีรับเคลมและจัดส่งทุเรียนให้กับลูกค้าใหม่อีกครั้งเพื่อสร้างความมั่นใจว่าเรามีระบบการขายและการดูแลลูกค้าที่ได้มาตรฐาน ซึ่งตลาดลูกค้าชาวจีนนั้นมีมากถึง 1,400 ล้านคนทีเดียว

ด้านคุณอุไร เปี่ยมคูหา เลขานุการสหกรณ์เมืองขลุง จำกัด จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่าสหกรณ์ของ เรามีสมาชิกกว่า 2,000 คน ซึ่งมีความตั้งใจที่จะให้สหกรณ์เป็นศูนย์กลางเพื่อการส่งออกและจำหน่ายผลไม้ไทย ร่วมกันสร้างแบรนด์ผลไม้ไทย โดยสหกรณ์เป็นแกนนำให้สมาชิกได้ขายผลไม้ในราคาที่สูง มีคุณภาพดี เป็นผลไม้เกรดดี พรีเมียมและสมาชิกสามารถอยู่ได้เพื่อรองรับอนาคตที่ผลไม้จะออกสู่ตลาดมากขึ้น ซึ่งเราอยากมีศูนย์ส่งออกเป็นของตนเอง มีรัฐบาลคอยให้การสนับสนุนช่วยเหลือด้านต่าง ๆ มีความร่วมมือจากทางจังหวัดและมีบริษัทที่มารับซื้อผลไม้จากเราเพื่อสร้างความมั่นใจได้ว่าผลไม้ที่ออกมาในแต่ละฤดูกาลจะสามารถจำหน่ายได้ในราคาที่ดี และมีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด

“การขายผ่านระบบออนไลน์ หรือ Pre-Order นี้ นับว่าตอบโจทย์ของเรามากเพราะช่วยให้เกษตรกรและสมาชิกของเราสามารถขายผลไม้ได้อย่างยั่งยืน มีตลาดรองรับที่แน่นอน ขอเพียงเราปลูกผลไม้ให้ได้มาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ ซึ่งปีนี้เราก็ได้บุกเบิกขายทุเรียนพันธุ์หมอนทอง จันทบุรี ผ่านระบบ Pre-Order เป็นครั้งแรก และเป็นการผลักดันผลไม้แบรนด์ไทย คือทุเรียนให้เป็นที่รู้จักในสายตาชาวโลก” คุณอุไร กล่าวย้ำและว่าบริษัทฯ ที่มารับซื้อมีความตั้งใจมาก มีการแจ้งยอด Order เข้ามา และทางสหกรณ์กับสมาชิกก็ยินดีที่จะขายทุเรียนในรูปแบบนี้ เพราะเป็นโอกาสที่ดีและเราก็อยากจำหน่ายในรูปแบบนี้มานานแล้ว ก็ได้มีการไปตรวจแป้งทุเรียนที่ต้องผ่านเกณฑ์ตามที่บริษัทฯ กำหนดไว้ นั่นคือต้องมีแป้งไม่น้อยกว่า 32% ขึ้นไป ซึ่งทุเรียนที่เราจำหน่าย 20 ตันในนี้มีขนาดน้ำหนักแป้งตั้งแต่ 33-35% ขึ้นไป ซึ่งสมาชิกของเรา 20 คน ที่เป็นแกนในการส่งออกทุเรียน ทุกคนยินดีที่จะทำตามกฎระเบียบของสหกรณ์และตามที่บริษัทฯ กำหนดไว้เพื่อให้ได้ทุเรียนที่มีคุณภาพดี รสชาติหวาน และได้มาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ

ขณะที่ คุณอรทัย เอื้อตระกูล อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนำเข้า-ส่งออกสินค้าพืชและปัจจัยการผลิต กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การจำหน่ายผลไม้ไทย ผ่านระบบออนไลน์แบบ Pre-Order ถือเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะสามารถสร้างแบรนด์ผลไม้ไทย และส่งขายผลไม้ไทยได้มากยิ่งขึ้นกับในช่วงที่เกิดโรคระบาดโควิดนี้ แต่หัวใจสำคัญคือระบบโลจิสติกส์ที่จะต้องสอดประสานและเป็นสะพานในการเชื่อมต่อระหว่างสินค้าจากเกษตรกรไทยของเรา พี่น้องชาวไร่ ชาวสวนให้สามารถส่งขายสินค้าไปยังปลายทาง โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศที่มีบริษัทฯ กลางมารับซื้อและจัดจำหน่ายผ่านการ Pre-Oder

ซึ่งวันนี้เราได้เริ่มจัดส่งทุเรียนออกขายที่เมืองจีน ผ่านระบบการขนส่งโดยเครื่องบิน ซึ่งถือว่าดีมากเพราะช่วยในเรื่องของการรับประกันคุณภาพทุเรียนได้เมื่อส่งถึงมือผู้บริโภค หรือตลาดตามที่เราได้กำหนดไว้ แต่การจัดส่งโดยเครื่องบินก็มีราคาขนส่งที่แพงในระดับหนึ่ง ถ้ามีช่องทางการขนส่งในราคาไม่แพงมากจนเกินไป ก็จะส่งผลดีต่อการขายทุเรียนและผลไม้ไทยอื่น ๆ ได้อย่างมาก

“แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องผลิตสินค้า หรือจำหน่ายผลไม้ไทยที่มีคุณภาพ เกรดพรีเมียมด้วยเพราะเมื่อเป็นการขายแบบ Pre-Order เราต้องคัดสินค้าอย่างดีให้กับลูกค้า ประกอบกับการมีระบบการจัดส่งขนส่งที่ดี มีบริษัทรับซื้อที่เชื่อถือได้และมีมาตรฐาน เมื่อทุกอย่างดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน เป้าหมายเดียวกัน เส้นทางการจำหน่ายผลไม้ไทยไปสู่ตลาดโลกและเป็นที่ยอมรับของต่างชาติ ผ่านการ Pre-Order ก็จะประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี” คุณอรทัย บอกไว้ในตอนท้าย


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

พาณิชย์ ถกห้างสต็อกสินค้า - อาหารแห้งเพิ่มรับโควิด

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ได้หารือกับผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งทั่วประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมสต็อกสินค้าเพิ่มมากขึ้นจากภาวะปกติ โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพ ทั้ง ข้าวสาร อาหารแห้ง อาหารกระป๋อง อาหารแช่แข็ง น้ำดื่ม และของใช้อื่น ๆ ให้มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน 

พร้อมกันนี้ยังขอเพิ่มความถี่ในการเติมสินค้าในชั้นวางอยู่เสมอ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ว่าสินค้า ไม่มีปัญหาขาดแคลน หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด–19 ระลอกใหม่ที่มีความรุนแรง อีกทั้งกรมฯ ยังได้ติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าและปริมาณสินค้าอย่างใกล้ชิด ป้องกันไม่ให้ฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้าและต้องปิดป้ายแสดงราคาให้ชัดเจน

ทั้งนี้หากประชาชนพบเห็นการกักตุนสินค้าหรือขายสินค้าโดยไม่เป็นธรรม สามารถแจ้งได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ หากตรวจพบว่ามีการจำหน่ายสินค้าในราคาแพงเกินสมควร หรือมีการกักตุน หรือปฏิเสธการจำหน่าย จะมีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรณีที่ไม่ปิดป้ายแสดงราคาจำหน่ายจะมีโทษสูงสุดปรับไม่เกิน 10,000 บาท

เร่งเสนอแผนดึงนักลงทุนชง “บิ๊กตู่” ไฟเขียว

ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าทีมปฏิบัติการเชิงรุกดึงดูดการลงทุนในประเทศไทย เปิดเผยว่า ในเร็ว ๆ นี้ ทีมปฏิบัติการเชิงรุกฯ จะเร่งเสนอแผนการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ และแนวทางการแก้ปัญหาอุปสรรคที่เป็นรูปธรรมให้กับที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) พิจารณา โดยมีทั้งเป้าหมายในการชักจูงการลงทุนและในเรื่องของการแก้ไขปัญหาและอุปสรรค หลังจากรับฟังความเห็นและประชุมออนไลน์กับนักลงทุนต่างประเทศเป็นระยะ ๆ ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ระยะเวลาในการจัดทำแผนงานเชิงปฏิบัติให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน 

“การทำงานของคณะทำงานชักจูงการลงทุนในประเทศไทยก็ยังทำงานต่อเนื่อง ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกล่าสุดนี้จะไม่กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่จะตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเนื่องจากการระบาดรอบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทยแต่เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และในหลายประเทศขณะนี้แม้จะมีการฉีดวัคซีนไปมากแล้วแต่ก็ยังเผชิญกับการแพร่ระบาด ก็จะประสบปัญหาเหมือนกัน เช่นในชิลีที่มีการฉีดไปแล้วกว่า 50% ก็ยังมีการระบาดเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในแต่ละวัน”  

ม.ล.ชโยทิต กล่าวว่า ขณะนี้ทุกประเทศมีการแข่งขันกันอยู่โดยเฉพาะในอาเซียน ธุรกิจที่จะเข้ามาคือกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ เป็นกลุ่มธุรกิจ 5จี และเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เราต้องการให้เข้ามาลงทุนจะมาก่อน และการเข้ามาลงทุนของแต่ละประเทศจะดึงเอาอุตสาหกรรมชั้นนำแต่ละประเทศ เช่น ในเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งหลายประเทศมีความก้าวหน้าในเรื่องนี้มาก เช่น ประเทศจีน ส่วนที่เป็นสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ก็กำลังดูในส่วนของประเทศไต้หวัน ญี่ปุ่นให้เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น

กระทรวงท่องเที่ยวหั่นเป้ารายได้ทั้งปีเหลือ 8.5 แสนล้าน

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ทั้งหมด 8 หน่วยงาน ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงผลกระทบด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงเดือนม.ค. ที่ผ่านมา และอีกระลอกในเดือนเม.ย.64 ทำให้การเดินทางลดลง จึงทำให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จำเป็นต้องปรับลดเป้าหมายการท่องเที่ยวใหม่อีกครั้ง โดยคาดว่าทั้งปีประเทศไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวเหลือเพียง 8.5 แสนล้านบาท ลดลงจากเดิมที่ตั้งไว้ 1.2 ล้านล้านบาท  

ทั้งนี้การปรับลดเป้าหมายลงมาในครั้งนี้ แยกออกเป็น การท่องเที่ยวภายในประเทศ หรือไทยเที่ยวไทย เดิมกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปีเอาไว้ 160 ล้านคน-ครั้ง ลดลงเหลือ 120 ล้านคน-ครั้ง คิดเป็นเงินรายได้ 5.5 แสนล้านบาท ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติ เดิมตั้งไว้ว่าทั้งปีจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศ 6.5 ล้านคน ลดเหลือ 4 ล้านคน หรือคิดเป็นรายได้ประมาณ 3 แสนล้านบาท ซึ่งลดลงจากเดิมเล็กน้อย โดยหวังว่านักท่องเที่ยวในกลุ่มที่ฉีดวัคซีนแล้วจะเริ่มทยอยเข้ามาได้ตั้งแต่ 1 ก.ค.64 

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า การปรับตัวเลขเป้าหมายลงในครั้งนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะมีการประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง หากสถานการณ์ดีขึ้นก็อาจปรับเป้าหมายใหม่อีกครั้ง โดยเฉพาะสถานการณ์บริเวณชายแดนหากดีขึ้นรายได้น่าจะกลับมามาก แต่ก็ต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปอย่างใกล้ชิด

ททท. สรุปยอดคนเที่ยวสงกรานต์ต่ำกว่าเป้า

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยสถานการณ์ท่องเที่ยวภายในประเทศช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2564 ซึ่งเป็นวันหยุดยาวต่อเนื่อง 6 วัน ระหว่างวันที่ 10 - 15 เม.ย.64 พบว่า บรรยากาศซบเซาลงไปมากเมื่อเทียบกับปีปกติก่อนเกิดวิกฤตไวรัสโควิด-19 เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด -19 จากกลุ่มคลัสเตอร์ สถานบันเทิงย่านทองหล่อ เมื่อต้นเดือนเม.ย.64 ส่งผลให้จำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยลดลง เหลือเพียง 2.68 ล้านคน - ครั้ง ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 16% 

ทั้งนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกับข้อมูลการเดินทางของประชาชนในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ปี 2564 ของกระทรวงคมนาคมที่มีผู้ใช้บริการด้วยระบบขนส่งสาธารณะต่ำกว่าประมาณการ 39.36% มีปริมาณการจราจรเข้า-ออกกรุงเทพฯ ต่ำกว่าประมาณการ 25.68% ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์ส่วนบุคคลคิดเป็น 95.25% ของปริมาณการเข้าออกกรุงเทพฯ ขณะที่การใช้จ่ายน้อยลงตามสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยมีรายได้หมุนเวียนทางการท่องเที่ยวประมาณ 9,670 ล้านบาท ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 19% และมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั้งประเทศเพียง 25%

หอหารค้าฯ ชี้โควิดรอบ 3 ฉุดเงินในระบบศก.หาย 3 แสนล.

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ศูนย์ฯ ประเมินผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ระลอกใหม่ทำให้อัตราการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจลดหายไปกว่า 200,000-300,000 ล้านบาท ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะเติบโตได้เพียง 1.2-1.6% ลดลงจากเป้าหมายเดิม ที่ประเมินเอาไว้ว่า หากไม่มีการระบาดโควิด-19 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ถึง 2.8% อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ตัวเลขนี้ยังไม่ใช่การปรับประมาณการทั้งปีของหอการค้าไทย เพราะเป็นตัวเลขการประเมินผลกระทบของการระบาดระลอกใหม่เท่านั้น
 
ทั้งนี้ ได้มีข้อเสนอแนะถึงภาครัฐให้เร่งแก้ไขปัญหา บริการจัดการ และควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ โดยร่วมมือทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องเดินหน้าแก้ไขไปด้วยกัน โดยเฉพาะเร่งหาและฉีดวัคซีนร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยรวม และสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนและคนในสังคมให้มีความชัดเจน พร้อมทั้งพยายามเปิดประเทศให้เร็วที่สุด 

นอกจากนี้ภาคธุรกิจต้องการให้รัฐบาลรีบดำเนินการหรือช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด โดยเฉพาะภาคการเงินจะต้องเร่งเสริมสภาพคล่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การพักชำระหนี้ในกลุ่มภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ พร้อมทั้งเร่งกระตุ้นภาคธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศ ผ่านโครงการต่าง ๆของรัฐที่ออกมาอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

2 สหภาพแรงงานฯ การบินไทย แท็กทีมเดินหน้าร้องรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน แจงเงื่อนไขที่การบินไทยขอสนับสนุนจากกระทรวงแรงงาน ขัด พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ทั้งร้องคัดค้านเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงานโดยไม่เป็นธรรม

สหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทยจับมือสหภาพแรงงานการบินไทยร่วมใจสัมพันธ์ แท็กทีมเดินหน้าร้องรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน แจงเงื่อนไขที่การบินไทยขอสนับสนุนจากกระทรวงแรงงาน ขัด พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ทั้งร้องคัดค้านเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงานโดยไม่เป็นธรรม ผิดกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ทำโครงสร้างใหม่ ลดพนักงาน ลดคนแต่ไปจ้างเอ้าท์ซอร์ทเพิ่ม ผิดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ รวมทั้งข้อตกลงสภาพการจ้างที่มีอยู่ในปัจจุบัน วอนขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้แจ้งต่อคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการฯ เพื่อยกเลิกการดำเนินการดังกล่าวโดยด่วนที่สุด

นายสรยุทธ หอมสุคนธ์ ประธานสหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย พร้อมด้วยนายไพบูลย์ กันตะลี ตัวแทนสหภาพแรงงานการบินไทยร่วมใจสัมพันธ์ ได้ยื่นหนังสือถึงนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

โดยระบุว่าเนื่องด้วยสหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย (สร.พบท.) ได้พบเห็นเอกสารของคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บริษัท การบินไทย ฯ วันที่ 25 ธ.ค. พ.ศ.2563 ที่การบินไทยได้ขอการสนับสนุนจากกระทรวงแรงงาน และสหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย (สร.พบท.) ได้วิเคราะห์และพบประเด็นข้อสงสัยบางประเด็นซึ่งนำมาเพื่อเรียนขอคำวินิจฉัยจากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเนื่องจากในเอกสารดังกล่าวได้ระบุว่า เป็นการขอความช่วยเหลือจากทางกระทรวงแรงงานและเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518

1.) ประเด็นปัญหาข้อกฎหมาย ตามที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ขอความร่วมมือจากกระทรวงแรงงาน ใจความว่า “การออกกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 (พรบ.คุ้มครองแรงงานฯ) เพิ่มเติมโดยกำหนดยกเว้นมิให้นำ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาใช้บังคับกับกรณีที่นายจ้างที่อยู่ระหว่างกระบวนการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ศาลให้ความเห็นชอบแล้วเลิกจ้างลูกจ้าง

โดยยกเว้นให้ผ่อนจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายได้ภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนดทั้งนี้ เพื่อให้การบินไทยสามารถเลิกจ้างพนักงาน และสามารถกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมในการจ่ายค่าชดเชยหรือเงินอื่น ๆ ได้” และ “ออกพระราชกฤษฎีกาตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ) โดยกำหนดยกเว้นมีให้ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ มาใช้บังคับกับนายจ้างที่อยู่ในระหว่างกระบวนการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ศาลให้ความเห็นชอบแล้ว และกำหนดวิธีการเฉพาะมุ่งเน้นไปที่การยกเลิกความคุ้มครองให้เลิกจ้างในกรณีต่าง ๆ

เช่น คณะกรรมการลูกจ้าง/การเลิกจ้างในระหว่างมีการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อเรียกร้อง/การเลิกจ้างในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลบังคับ ทั้งนี้ตามความเหมาะสม การกระทำดังกล่าวของบริษัทการบินไทย ที่นำเสนอให้กระทรวงแรงงานกระทำสิ่งที่ผิด ขัดหรือแย้งต่อ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ซึ่งร่างขึ้นโดยมีเจตนารมณ์คุ้มครองลูกจ้างเนื่องจากลูกจ้างมีอำนาจทางเศรษฐกิจด้อยกว่านายจ้าง และโดยกระทรวงแรงงานมีหน้าที่ต้องคุ้มครองแรงงานตามเจตนารมณ์ของการจัดตั้งกระทรวง

สร.พบท. เห็นว่าไม่สามารถทำการยกเว้นแก่นายจ้างที่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการให้กระทำการที่ ผิด ขัด หรือแย้งต่อกฎหมายได้ ดังนั้น การที่กระทรวงแรงงานจะออกกฎกระทรวงหรือออกพระราชกฤษฎีกาที่ ขัดหรือแย้ง กฎหมายคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นการกระทำที่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เพื่อประโยชน์ขององค์กรใดองค์กรหนึ่งย่อมเป็นการกระทำที่เข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ดังนั้นสหภาพแรงงานจึงขอคัดค้านการกระทำดังกล่าว

2.) ประเด็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย ข้อบังคับการทำงานที่บริษัทการบินไทยฯ และพนักงานบริษัทการบินไทยฯ ต้องยึดถือว่ามีผลใช้บังคับเกี่ยวกับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ตามข้อตกลงสภาพการจ้าง คือ ระเบียบบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล รวมทั้งสิ้น 21 ตอน ตามบันทึกการประชุมหารือร่วมกัน ณ สำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2563 ระหว่างฝ่ายลูกจ้างสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย กับ ฝ่ายนายจ้าง

ทั้งสหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย (สร.พบท.) ได้ยื่นเรื่องเกี่ยวกับข้อตกลงสภาพการจ้างเดิมอย่างต่อเนื่องไว้กับกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงานไว้และได้ทำการหารือกับตัวแทนฝ่ายนายจ้างแล้วถึงสองนัด ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเมื่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับแล้ว ห้ามมิให้นายจ้างทำสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้างขัดหรือแย้งกับข้อตกลงสภาพการจ้าง เว้นแต่สัญญาจ้างแรงงานนั้นจะเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่า

ดังนั้นการที่บริษัทการบินไทยฯ ได้มีการประกาศรายชื่อพนักงานที่ได้ร่วมงานกับบริษัทการบินไทยฯ ในโครงสร้างองค์กรใหม่ หรือที่เรียกว่า “การคัดเลือกพนักงานเข้าทำงานในโครงสร้างองค์กรใหม่ หรือ Relaunch” โดยให้พนักงานสมัครใจยอมรับระดับตำแหน่งงาน หรือ Level ที่ต่ำลง (หรือสูงขึ้นในบางคนส่วนน้อย) และยอมรับเงินเดือนที่ลดลง

รวมทั้งข้อตกลงสภาพการจ้างตามข้อบังคับที่ยังไม่มีพนักงานคนใดเห็นและทําการศึกษา เนื่องจากจะมีการออกข้อบังคับการทำงานใหม่สำหรับพนักงานที่ได้รับการคัดเลือกเข้าสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2554 โดยจะเปลี่ยนแปลงไปจากระเบียบบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล รวมทั้งสิ้น 21 ตอนหรือแม้แต่ฉบับลงวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2553 ที่บริษัทการบินไทยฯ พยายามอ้างถึงอย่างแน่นอนที่สุด และเป็นไปได้อย่างยิ่งที่จะไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่า

ฉบับวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2558 และในขั้นตอนการคัดเลือก ก็ได้มีมาตรฐานในการคัดเลือกเป็นหนึ่งเดียวกันและเหมือนกันทั้งองค์กรและมีการเปลี่ยนแปลงในข้อตกลงที่บริษัทการบินไทยฯ เสนอแก่พนักงานก่อนการตัดสินใจเข้าร่วมโครงสร้างองค์กรใหม่และหลังจากการประกาศผลรายชื่อผู้ได้เข้าร่วมเรียบร้อยแล้ว เช่น พนักงานในฝ่ายปฏิบัติการบินในส่วนของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน เป็นต้น

นอกจากนี้พนักงานยังมีการกล่าวถึงระบบอุปถัมภ์และเส้นสายในการคัดเลือกครั้งนี้ มีการกล่าวด้วยวาจาในทำนองให้สละสิทธิ์เรียกร้อง เช่น หากพนักงานต้องการเข้าร่วมสมัครงานกับโครงสร้างองค์กรไหม ต้องสละสิทธิ์ในการเรียกร้องในฐานะเจ้าหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในหนี้สินค่าจ้าง (ค่าชดเชยวันลาหยุดพักร้อน) เป็นต้น ทั้งที่สิทธิการเรียกร้องดังกล่าวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เจ้าหนี้พึงกระทำได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 อีกทั้งยังมีข่าวว่ามีบุคคลที่ถูกตั้งกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยได้รับการคัดเลือกเป็นต้น

นอกจากนี้บริษัทการบินไทยฯ ได้แจ้งแก่พนักงานว่าเมื่อพนักงานสมัครเข้าร่วมโครงสร้างองค์กรใหม่ ข้อบังคับ/ข้อกำหนดใหม่ที่บริษัทการบินไทยฯ ได้จัดทำขึ้น “ห้ามพนักงานเรียกร้อง/โต้แย้งสิทธิใดใดทางกฎหมาย บริษัทการบินไทยฯ อ้างถึงเหตุผลการปรับโครงสร้างองค์กรในการยุบฝ่าย/หน่วยงาน (บางฝ่าย/บางหน่วยงานเพื่อความคล่องตัวและลดจำนวนพนักงาน เพื่อดำเนินการตามกระบวนการฟื้นฟูกิจการ

แต่การปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อความคล่องตัวจะต้องมีการลดอัตราส่วน พนักงานบริหารประดับ 8 ขึ้นไป ต่อพนักงานระดับปฏิบัติการ (ระดับ 1-7) แต่จากอัตราส่วนเดิมประมาณ 1 ต่อ 27.0 (หรือระดับบริหาร 740 คนต่อระดับปฏิบัติการ 20,000 คน เมื่อต้นปี 2563) เป็นอัตราส่วน 1 ต่อ 20.8 (หรือระดับบริหาร 500 คนต่อระดับปฏิบัติการ 10,400 คน หลังมีการปรับโครงสร้างองค์กรอย่างสมบูรณ์) ซึ่งเห็นได้ว่าอัตราส่วนมิได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญที่จะทำให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงานเพิ่มขึ้น และการลดจำนวนพนักงานจะต้องสามารถทำให้บริษัทการบินไทยฯ สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดิม

แต่ข้อเท็จจริงจะยังมีการจ้างงานโดยใช้การจ้างแรงงานภายนอกหรือ Outsource และในอุตสาหกรรมการบินการมีมาตรฐานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย รวมถึงงานบางประเภทต้องใช้ความชำนาญที่สั่งสมและเรียนรู้รวมทั้งประสบการณ์และความรับผิดชอบสูง จึงสมควรต้องจ้างพนักงานประจำที่เป็นผู้มีประสบการณ์และความรู้ความชำนาญในงานเท่านั้น แต่บริษัทการบินไทยฯ เลือกที่จะเลิกจ้างพนักงานเพื่อลดจำนวนพนักงานประจำ ผ่านการอ้างถึงการปรับโครงสร้างองค์กร

มีแผนที่จะจ้างแรงงานภายนอกเนื่องจากมีความต้องการใช้แรงงานภายนอกถึง 2,072 ตำแหน่งมาทดแทนพนักงานที่จะถูกเลิกจ้างจากการปรับโครงสร้างองค์กร ซึ่งการกระทำเช่นนี้ย่อมเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น

สร.พบท. และเพื่อนสหภาพแรงงานฯ ร่วมอุดมการณ์ขอเรียนท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานว่า การให้พนักงานสมัครเข้าสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ หรือที่เรียกว่า “การคัดเลือกพนักงานเข้าทำงานในโครงสร้างองค์กรใหม่ หรือ “Relaunch” เมื่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับแล้ว ห้ามมิให้นายจ้างทำสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้างขัดหรือแย้งกับข้อตกลงสภาพการจ้าง เว้นแต่สัญญาจ้างแรงงานนั้นจะเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่า และการทำสัญญาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างที่ละเมิดกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ เป็นการกระทำที่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน

พนักงานที่ไม่แสดงความจำนงเข้ากระบวนกลั่นกรองสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ 2564 หรือเรียกว่า“การคัดเลือกพนักงานเข้าทำงานในโครงสร้างองค์กรใหม่ หรือ Relaunch” และไม่เข้าร่วมโครงการร่วมใจจากองค์กร (พนักงานที่เรียกตนเองว่ากลุ่มไทยรักษาสิทธิ หรือ ไทยเฉย) ยังคงเป็นพนักงานของบริษัทการบินไทยฯ ภายใต้สภาพการจ้างเดิมต่อไป เพราะการปรับโครงสร้างองค์กรไม่ตอบโจทย์พนักงาน พนักงานไม่สามารถเลือกที่เข้าไปเลือกได้เพราะไม่มีอัตราที่จะให้เลือก หรือ พนักงานกลุ่มดังกล่าวต้องการรักษาสิทธิตามสภาพการจ้างเดิม

เนื่องจากเห็นว่านายจ้าง/บริษัทการบินไทยฯ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างได้เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่ผ่านกระบวนการแรงงานสัมพันธ์ เป็นต้น และพนักงานที่แสดงความจำนงเข้ากระบวนกลั่นกรองสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ 2564 แต่ไม่ได้รับการคัดเลือก และไม่ต้องการแสดงความจำนงเลือก relaunch #2 และ/หรือไม่เข้าร่วมโครงการร่วมใจจากองค์กรหรือ MSP (กลุ่มฟ้าใหม่) ยังคงเป็นพนักงานของบริษัทการบินไทยฯ ภายใต้สภาพการจ้างเดิม และขอให้กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงานคุ้มครองสิทธิพนักงานกลุ่มนี้ด้วย ตำแหน่งงานหรือหน่วยงานที่พนักงานสังกัดอยู่ถูกปรับหรือลดจำนวนพนักงานในหน่วยงาน แต่มีแผนที่จะจ้างแรงงานภายนอกมาใช้ทดแทนพนักงานที่ลดลง ข้อเท็จจริงปรากฏว่าบางหน่วยงานคนขาดเพราะการบินไทยไม่ได้รับพนักงานมาเป็นเวลาร่วมสิบกว่าปีและยังมีพนักงานที่ MSP และเกษียณอายุไปอีกจำนวนมาก

จึงขอให้กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงานคุ้มครองสิทธิของพนักงาน 2 กลุ่มนี้ สหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย (สร.พบท.) และเพื่อนสหภาพแรงงานฯ เห็นว่ากระบวนการเงื่อนไข และขั้นตอนของการคัดเลือกพนักงานเข้าทำงานในโครงสร้างองค์กรใหม่ หรือ Relaunch เข้าสู่องค์กรเดิม บริษัทการบินไทยฯ เป็นการดำเนินการที่ผิดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ รวมทั้งข้อตกลงสภาพการจ้างที่มีอยู่ในปัจจุบัน จึงขอให้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้แจ้งต่อคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการฯ เพื่อยกเลิกการดำเนินการดังกล่าวโดยด่วนที่สุด

 

ที่มา : https://www.thansettakij.com/content/business/476774


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

ททท.พร้อม “เราเที่ยวด้วยกัน - ทัวร์เที่ยวไทย” เปิด พ.ค.นี้

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท.ยังคงเป้าหมายการเปิดให้ประชาชนเริ่มจองสิทธิโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ระยะที่ 3 และทัวร์เที่ยวไทย ในช่วงกลางเดือน พ.ค.64 ต่อไป แต่ก็ต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ควบคู่ไปด้วย เพราะแม้จะเปิดจองได้ตามกำหนด 

แต่ในระยะสั้นนักท่องเที่ยวไทยก็ยังไม่สามารถออกเดินทางได้เต็มที่ เนื่องจากคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อในหลาย ๆ จังหวัดมีมาตรการควบคุมการเดินทาง เช่น ถ้าเดินทางมาจากพื้นที่สีแดง 18 จังหวัด จะต้องกักตัว 14 วัน จึงอาจทำให้หลายคนยังไม่เดินทาง 

อย่างไรก็ตาม ททท. หวังว่าทุกอย่างน่าจะเรียบร้อยภายในเดือน เม.ย.นี้ และเกิดการเดินทางได้ในเดือน พ.ค.นี้ เพื่อเปิดให้ประชาชนจองสิทธิทั้ง 2 โครงการได้ในช่วงกลางเดือน พ.ค.นี้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมระบบร่วมกับธนาคารกรุงไทย เพื่อเริ่มเปิดจองสิทธิทั้ง 2 โครงการเพื่อให้เกิดการเดินทางจริง 

ส่วนจะเป็นวันที่เท่าไรนั้น ยังต้องรอดูอีกที เพราะมีประเด็นเรื่องการเชื่อมต่อข้อมูลระบบสแกนใบหน้ากับทางกระทรวงมหาดไทยตามมติของ ครม. ที่ต้องเชื่อมต่อให้แล้วเสร็จก่อน ถึงจะเคาะวันเปิดจองสิทธิอย่างเป็นทางการได้ ด้านการเปิดให้ผู้ประกอบการบริษัทนำเที่ยวลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการทัวร์เที่ยวไทย น่าจะเริ่มลงทะเบียนได้ภายในสิ้นเดือน เม.ย.นี้

กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กชี้ความต้องการเหล็กโลกสูงขึ้นสวน “โควิด-19” เหตุจีนฟื้นตัว ทำให้ปริมาณผลิตตามไม่ทัน ส่งผลราคาเหล็กทั่วโลกพุ่ง เชียร์รัฐหนุนใช้สินค้าเหล็ก “Made in Thailand” ช่วยฟื้นเศรษฐกิจ

นายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในช่วงต้นปี 2564 นี้ อุตสาหกรรมเหล็กโลกในภาพรวมมีการปรับตัวในทิศทางบวก โดยทั้งโลกมีผลิตเหล็กปริมาณเฉลี่ยกว่า 150 ล้านตันต่อเดือน เพิ่มขึ้น 6.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยทวีปเอเชียมีการผลิตเหล็กเพิ่มขึ้น 10.1% แต่ทวีปอเมริกาเหนือ สหภาพยุโรป มีการผลิตเหล็กถดถอย -7.1% และ -3.7% ตามลำดับ

แม้การผลิตเหล็กของโลกมีปริมาณมากขึ้น แต่ก็ไม่เพียงต่อความต้องการใช้เหล็กที่ปรับตัวขึ้นมากกว่า โดยคาดว่าทั้งปี 2564 ความต้องการใช้เหล็กของโลกจะเพิ่มเป็น 1,874 ล้านตัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนซึ่งผลิตและใช้เหล็กมากที่สุดราว 55% ของโลก ในปี 2563 จีนต้องนำเข้าสินค้าเหล็กจากประเทศต่าง ๆ มากถึง 18.3 ล้านตัน เพิ่มเป็น 6 เท่าจากปี 2562 โดยสินค้าเหล็กที่จีนนำเข้าสูงสุด 3 ลำดับแรก คือ เหล็กแผ่นรีดร้อน 9.9 ล้านตัน เหล็กแผ่นรีดเย็น 3.8 ล้านตัน เหล็กแผ่นเคลือบ 2.4 ล้านตัน ส่งผลให้สินค้าเหล็กดังกล่าวที่จีนแย่งซื้อในตลาดโลกขาดแคลนและราคาสูงขึ้นมาตลอด โดยในปีนี้จีนยังมีความต้องการใช้เหล็กเพิ่มต่อเนื่อง อย่างไตรมาสแรก เพิ่มขึ้น 52% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าทั้งปี 2564 จะมีความต้องการใช้เหล็กราว 1,025 ล้านตัน

 

จีนฟื้นหนุนตลาดเหล็กคึกคัก

เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งรัฐบาลจีนตั้งเป้าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ปี 2564 เติบโต 6.0% แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจของจีนสามารถเติบโตได้ถึง 8.2% - 9.5% เพราะจากข้อมูลดัชนีทางเศรษฐกิจ การลงทุนของจีนช่วงต้นปี 2564 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เติบโตขึ้นอย่างมหาศาล เช่น การลงทุนในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเขตเมืองเติบโต 38.3% การลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่องเติบโต 34.1% การผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้น 89.9% เป็นเฉลี่ยเดือนละ 1.93 ล้านคัน การลงทุนในระบบรางเพิ่มขึ้น 52.9% การลงทุนในระบบถนนเพิ่มขึ้น 30.7% การลงทุนในด้านการบินพลเรือน เพิ่มขึ้น 84.5% เป็นต้น ส่งผลให้จีนผลิตเหล็กไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้

แม้จีนได้เร่งเพิ่มการผลิตเหล็กในช่วงต้นปีนี้ แต่โรงงานเหล็กในจีนจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนครถังซาน ซึ่งถือเป็นเมืองแห่งอุตสาหกรรมเหล็กที่มีกำลังการผลิตเหล็กดิบมากกว่า 144 ล้านตัน จำเป็นต้องลดการผลิตลงราว 50% ระหว่างช่วงฉุกเฉิน มี.ค.-มิ.ย. และบางโรงงานต้องลดการผลิตไปจนถึงสิ้นปี 2564 ตามมาตรการของรัฐบาลจีนในการควบคุมและลดมลภาวะทางอากาศ ซึ่งจะทำให้ภาวะปริมาณเหล็กไม่พอเพียงต่อความต้องการของจีนทวีความรุนแรง มีแนวโน้มยืดเยื้อไปถึงสิ้นไตรมาสที่ 3 ทำให้ราคาสินค้าเหล็กในทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ เช่น ประเทศจีน ราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนเมื่อกลางปี 2563 ต่ำสุดอยู่ที่ตันละ 420 ดอลลาร์ แต่ขณะนี้ราคาเสนอขายสูงขึ้นเป็น 2.2 เท่า ระหว่าง 910-925 ดอลลาร์ต่อตัน หรือในสหรัฐอเมริกา ราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนขึ้นสูงสุดในโลกถึงกว่า 1,400 ดอลลาร์ต่อตัน เป็นต้น

นายนาวา กล่าวว่า อุตสาหกรรมเหล็กของประเทศไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดในปี 2563 ซึ่งการบริโภคสินค้าลดเหลือ 16.5 ล้านตัน โดยมีอัตราการบริโภคเหล็กของคนไทย 248 กก.ต่อคนต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 229 กก.ต่อคนต่อปี แต่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของเอเชียที่ 299 กก.ต่อคนต่อปี โดยรัฐบาลไทยสามารถดูแลปัญหาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่ออุตสาหกรรมก่อสร้างได้ดี ประกอบกับอุตสาหกรรมยานยนต์ และอื่น ๆ เริ่มฟื้นตัว

ดังนั้น ปี 2564 ตลาดเหล็กของไทยจึงฟื้นและปรับตัวตามตลาดโลกด้วย คาดว่าปริมาณความต้องการใช้เหล็กของไทยจะเพิ่มขึ้น 5-7% เป็น 17.3-17.7 ล้านตัน ทั้งนี้ การใช้เหล็กภายในประเทศไทยจะเป็นภาคการก่อสร้างมากสุด 57% ตามด้วยอุตสาหกรรมยานยนต์ 22% อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล 9% อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า 8% และอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์โลหะ 5%

 

ผู้ผลิตเหล็กไทยชี้รัฐมาถูกทาง

นายนาวา กล่าวว่า กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ส.อ.ท. มั่นใจว่านโยบายที่รัฐบาลได้ขับเคลื่อนมาแล้ว หากสามารถผลักดันให้หน่วยราชการปฏิบัติได้ผลจริงจะส่งผลบวกอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย ได้แก่

1.) การส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กที่ผลิตในประเทศที่ได้ขึ้นทะเบียน “Made in Thailand” กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ตามมติคณะรัฐมนตรี 1 ก.ย.2563 และกฎกระทรวงการคลัง ณ วันที่ 22 ธ.ค.2563 เรื่องกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน พ.ศ.2563 ให้สามารถดำเนินการได้อย่างจริงจัง จากงบประมาณรายจ่ายปีละกว่า 3.3 ล้านล้านบาท สามารถจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่ผลิตในประเทศได้หลายแสนล้านบาท

ทั้งนี้ ผลการศึกษาวิจัยโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า อุตสาหกรรมเหล็กมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทย ทั้งในส่วนของการผลิต มูลค่าจีดีพี มูลค่าและจำนวนการจ้างงาน โดยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ในห่วงโซ่อุปทาน หากส่งเสริมการใช้สินค้าเหล็กที่ผลิตในประเทศไทยมากขึ้นจะช่วยสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนทำให้จีดีพีของประเทศเพิ่มขึ้นได้อีก 0.66% ถึง 0.75% จากการเติบโตปกติ

2.) การออกมาตรการทางกฎหมายการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า ซึ่ง พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ ฉบับที่ 2 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ พ.ย. 2562 และใช้เวลาอีกปีกว่าจึงเพิ่งมีประกาศกระทรวงพาณิชย์ และประกาศกรมการค้าต่างประเทศ ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว เมื่อ มี.ค. 2564 โดยหวังให้กระทรวงพาณิชย์จะสามารถบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว และนำไปปฏิบัติได้ผลอย่างจริงจังและทันต่อเหตุการณ์

และ 3.) ขอให้รัฐบาลพิจารณาขยายผลให้โครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership : PPP) ต่าง ๆ เช่น โครงการรถไฟฟ้า โครงการทางด่วน โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เป็นต้น ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนรวมกันอีกนับล้านล้านบาท ส่งเสริมการใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศไทยด้วยเช่นกัน เพื่อก่อให้เกิดการจ้างงานและการหมุนเวียนเศรษฐกิจภายในประเทศไทย


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top