Saturday, 26 April 2025
ECONBIZ NEWS

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ห่วงใยผู้ประกอบการ ยกระดับให้บริการขออนุมัติ-อนุญาต ออนไลน์ 100% พร้อมประสานทีมแพทย์กรมราชทัณฑ์ เปิดจุดตรวจเชื้อไวรัสโควิด -19 ให้พนักงาน กนอ. ลดความแออัดตรวจหาเชื้อในโรงพยาบาลฯ

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ ที่มีการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วและมีความรุนแรงมากขึ้น คณะทำงานบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ของ กนอ.ได้ให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการ มาตรการในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคทั้งต่อบุคลากร กนอ.และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดย กนอ.ได้ยกระดับความพร้อมในส่วนของการให้บริการออนไลน์กับผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ เน้นให้บริการที่สอดคล้องกับมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามนโยบายและแนวทางของรัฐบาล

ทั้งนี้ ในส่วนของการขออนุมัติ-อนุญาตการประกอบธุรกิจต่าง ๆ ได้ใช้ระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาให้บริการงานอนุมัติ-อนุญาต (e-Permission & Privilege หรือ e-PP) ด้วยลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature) ซึ่งครอบคลุมการขออนุญาตใช้ที่ดิน การขออนุญาตการก่อสร้าง การขอรับสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษีอากร เช่น การขออนุญาตถือครองที่ดินและกรรมสิทธิ์ที่ดิน การขออนุญาตทำงานของคนต่างด้าว เป็นต้น

โดยเมื่อ กนอ.พิจารณาอนุมัติคำขอดังกล่าวแล้วระบบจะสร้างใบแจ้งหนี้โดยมีบาร์โค้ดเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถชำระค่าบริการอนุญาต/ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ แบบผ่านโมบายล์ แบงกิ้งของธนาคารต่าง ๆ หรือเคาน์เตอร์เซอร์วิสได้ เมื่อชำระค่าบริการดังกล่าวแล้ว ผู้ประกอบการสามารถพิมพ์หนังสืออนุญาตแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้เอง โดยไม่ต้องเดินทางมาที่สำนักงานใหญ่ หรือสำนักงานนิคมอุตสาหกรรม โดยในหนังสืออนุญาตจะมีลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์และคิวอาร์โค้ด เพื่อให้หน่วยงานอื่นสามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ โดยระบบยังสามารถจัดทำและนำส่งข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax invoice & e-Receipt) ได้ด้วย

นอกจากนี้ ยังได้ประสานความร่วมมือไปยังทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ให้จัดทีมแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อ ณ จุดตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสโควิด -19 ที่ กนอ.สำนักงานใหญ่ ในวันที่ 29 เม.ย.2564 เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้กับพนักงาน กนอ. โดยการเปิดจุดคัดกรองนี้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด และเป็นการแบ่งเบาภาระและลดความแออัดให้แก่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นการให้บริการตรวจหาเชื้อโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายที่คาดว่าจะช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ได้

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้เป็นไปตามแนวทางของรัฐบาล กนอ.ได้ให้พนักงานบางส่วนปฏิบัติงานที่บ้าน ทั้งในส่วนของ กนอ.สำนักงานใหญ่ และสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ โดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการลูกค้าและผู้รับบริการ ขณะเดียวกันหากมีพนักงานของ กนอ.ที่มีโอกาสมีความเสี่ยงสัมผัสใกล้ชิด ได้ขอให้ผู้บังคับบัญชาตามสายงานเป็นผู้พิจารณาให้พนักงานดังกล่าวเข้ารับการตรวจคัดกรองที่สถานพยาบาลรัฐบาล หรือเอกชน พร้อมกับทำการกักตัวที่บ้านพัก พร้อมสังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน นับจากวันที่เข้ารับการตรวจหาเชื้อและได้ใบรับรองก่อนกลับมาทำงานปกติ

“ผมมีความห่วงใยในสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานทุกคน โดยขอให้ป้องกันตนเองตามมาตรการ ที่ กนอ.กำหนดอย่างเคร่งครัดจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายและกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะเดียวกันในส่วนของผู้ประกอบการเองขอให้มั่นใจว่า กนอ.จะยังคงให้บริการได้ตามปกติผ่านทางระบบออนไลน์ ซึ่ง กนอ.มีการเตรียมความพร้อมให้บริการเต็มประสิทธิภาพอยู่แล้ว” นายวีริศ กล่าว

ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการที่มีข้อสอบถามหรือต้องการคำแนะนำการใช้งานของระบบเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) โดยทีม IEAT e-PP Support ผ่านช่องทาง email : [email protected] /Line ID : @IEAT-ePP-Support หรือที่เบอร์โทรศัพท์ 06-3435-2015 , 0-2253-0561 ต่อ 4448

‘สันติ พร้อมพัฒน์’ ปิ๊งไอเดีย เล็งหาที่ราชพัสดุ เสนอครม. ทำบ้านเช่าคนจน ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้มีที่อยู่อาศัย ล็อคเป้าที่ราชพัสดุ ในสมุทรปราการ 1,000 ไร่ เหมาะทำเป็นโครงการนำร่อง

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้กรมธนารักษ์ เร่งนำที่ราชพัสดุทั่วประเทศมาจัดสรรสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและที่ดินด้านเกษตรกรรม เพื่อช่วยให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัย และที่ทำกินประกอบอาชีพสร้างงาน สร้างรายได้เป็นของตัวเอง โดยสามารถนำมาพัฒนาเป็นที่อยู่ให้เช่าในราคาไม่สูง ซึ่งกรมธนารักษ์จะต้องกำหนดหลักเกณฑ์ของผู้ที่มีสิทธิในการเช่าที่ดิน รวมถึงรายละเอียดของที่ดินราชพัสดุ ที่จะนำมาพัฒนาเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณา ก่อนเสนอให้ที่ประชุมครม. อนุมัติต่อไป

“กรมธนารักษ์ สามารถนำที่ราชพัสดุมาพัฒนาเป็นที่อยู่ให้เช่าในราคาไม่แพง เมื่อประชาชนมีที่อยู่อาศัย มีที่ทำกิน มีรายได้ ก็ย่อมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นไปด้วย ที่สำคัญยังช่วยให้กรมธนารักษ์มีรายได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม”

ทั้งนี้ ล่าสุดกรมธนารักษ์ได้รวบรวมที่ดินราชพัสดุที่มีศักยภาพ พร้อมพัฒนาให้เป็นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย และที่ดินทำกิน สร้างงาน สร้างอาชีพ ซึ่งในเบื้องต้นมีที่ราชพัสดุแถวจังหวัดสมุทรปราการ 1,000 ไร่ ที่มีศักยภาพนำมาพัฒนาได้ โดยขณะนี้กรมฯ กำลังกำหนดหลักเกณฑ์ผู้ที่มีสิทธิเช่าที่อยู่อาศัย และที่ดินราชพัสดุสำหรับผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด ป้องกันไม่ให้มีการสวมสิทธิมาเช่าที่อยู่อาศัย แต่ไม่ได้อยู่เอง แต่เอาไปปล่อยเช่าต่อ เป็นต้น โดยคาดว่ากลางเดือนพ.ค.นี้ จะเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาต่อไป

‘คลัง’ เผย พันธบัตรเพื่อความยั่งยืนของรัฐบาลไทย ได้รับการจดทะเบียนในตลาดหุ้นลักเซมเบิร์ก

วันที่ 29 เมษายน 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลังกล่าวภายหลังพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) ที่ออกโดยกระทรวงการคลัง ได้รับการจดทะเบียนใน Luxembourg Green Exchange (LGX) ของตลาดหลักทรัพย์ลักเซมเบิร์ก เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2564 โดยมีนางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ร่วมด้วย ว่า พันธบัตรเพื่อความยั่งยืนของรัฐบาลไทยได้รับการจดทะเบียนใน LGX ซึ่งถือเป็นการแสดงออกถึงความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมของผู้ออกพันธบัตร และยังเป็นการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อการลงทุนอย่างยั่งยืนผ่านการเปิดเผยข้อมูลตราสารอย่างครอบคลุมและเป็นมาตรฐานทั้งนี้ การจดทะเบียนพันธบัตรรัฐบาลเพื่อความยั่งยืนใน LGX อยู่ในรูปแบบของ LuxSE Security Official List (LuxSE SOL) ซึ่งเป็นการนำเอาตราสารไปขึ้นทะเบียนไว้ในตลาดหลักทรัพย์โดยไม่มีการซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนตราสาร

“ที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้ดำเนินการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อความยั่งยืนซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติและการแก้ไขปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ เป็นจำนวน 100,000 ล้านบาท ในรุ่น ESGLB35DA เพื่อสนับสนุนโครงการขนส่งพลังงานสะอาดในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝั่งตะวันออก และโครงการที่ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคมจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19” นายอาคม กล่าว

สำหรับ การขอจดทะเบียนพันธบัตรรัฐบาลเพื่อความยั่งยืนใน LGX ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) และธนาคารผู้จัดจำหน่าย เพื่อช่วยผลักดันการระดมทุนเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของรัฐบาลให้ออกไปสู่สากลและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุนให้มากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดีLGX เป็นตลาดหลักทรัพย์สำหรับตราสารเพื่อความอย่างยั่งยืน (Sustainable Securities) ชั้นนำที่ใหญ่ที่สุดและมีจำนวนพันธบัตรสีเขียวที่มีการออกในโลกมากกว่า50% ขึ้นทะเบียนอยู่

พอยิ้มออก! หลังดัชนีอุตสาหกรรมเริ่มฟื้นรอบ 29 เดือน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภาคการผลิตอุตสาหกรรมเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัว โยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมี.ค. 2564 อยู่ที่ระดับ 107.73 เพิ่มขึ้น 4.12%  ขยายตัวสูงสุดในรอบ 29 เดือน สะท้อนให้เห็นแนวโน้มภาคการผลิตของประเทศเติบโตตามเศรษฐกิจของโลกที่ดีขึ้น รวมถึงรัฐบาลไม่ได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์ และกลุ่มแพร่ระบาดไม่ได้อยู่ในกลุ่มแรงงานโรงงาน 

“ภาคการผลิตอุตสาหกรรมยังคงประกอบกิจการได้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับรัฐบาลยังคงมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการเราชนะ เรารักกัน คนละครึ่งเฟส 3 และประเทศไทยเริ่มทยอยฉีดวัคซีนให้ประชาชนและมีแผนบริหารจัดการวัคซีนให้ครอบคลุมทั่วประเทศภายในสิ้นปี 2564 ทำให้ความเชื่อมั่นทั้งในภาคการผลิตและการบริโภคดีขึ้น”

ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิต พบว่ามีอัตราเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นของผู้ผลิตและผู้บริโภค ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไม่รวมทองคำและรายการพิเศษเดือนมี.ค. 2564 ขยายตัว 25.77% เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และเป็นการขยายตัวระดับ 2 หลักในรอบ 31 เดือน ซึ่งจากการกลับมาขยายตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมนี้ ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวที่ 0.25%

รมว.เกษตรฯ พอใจผลงานขายทุเรียนไปจีนด้วยแพลตฟอร์มใหม่ ผ่านระบบสั่งซื้อล่วงหน้าล็อตแรกสำเร็จ ย้ำนโยบายคุณภาพสำคัญสุด ด้าน ‘อลงกรณ์’ เผยสื่อจีนเด้งรับแพร่ข่าวกระหึ่มแดนมังกร มอบทูตเกษตรขยายผลบุกทุกมณฑลจีน ตั้งเป้าหมายใหม่ ขาย 20 ตัน ใน 1 ชั่วโมง

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) เปิดเผยวันนี้ (28 เม.ย.) ว่า เครื่องบินเช่าเหมาลำของสายการบินเซินเจิ้นแอร์ไลน์ที่นำทุเรียนเกรดพรีเมี่ยม 20 ตันจากสหกรณ์เมืองขลุง จังหวัดจันทบุรีเดินทางถึงที่สนามบินเซินเจิ้นแล้วเมื่อเช้ามืดวันนี้ โดยผู้ประกอบการจีนได้จัดส่งแบบ Delivery ถึงลูกค้าซึ่งสั่งซื้อล่วงหน้าทันที

ทั้งนี้ เป็นการส่งออกทุเรียนด้วยการจำหน่ายออนไลน์ระบบสั่งซื้อล่วงหน้า (Pre-Order) ครั้งแรก โดยลูกค้าจ่ายเงินสั่งจองผ่านระบบออนไลน์มาก่อน ซึ่งล็อตแรกจำนวน 20 ตัน ขายหมดภายในไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น หลังจากนี้ จะประสานงานกับทูตเกษตรไทยทั้ง 8 สำนักงานในจีน ช่วยขยายผลรุกตลาดจีนทุกมณฑล

“ได้รายงานผลดำเนินการต่อท่านรัฐมนตรี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้แล้ว ท่านพอใจผลงานขายทุเรียนแบรนด์ไทยไปจีนด้วยแพลตฟอร์มใหม่ระบบสั่งซื้อล่วงหน้าล็อตแรกสำเร็จและสั่งการให้เน้นเรื่องคุณภาพเป็นนโยบายสำคัญที่สุด”

นายอลงกรณ์ เปิดเผยด้วยว่า ทางสำนักงานทูตเกษตรไทยในจีนรายงานว่าสื่อมวลชนในจีนได้ลงข่าวกันอย่างครึกโครม ซึ่งเป็นการช่วยเผยแพร่ทุเรียนแบรนด์ไทยสู่ตลาด 1,400 ล้านคนแบบชั่วข้ามคืน

นอกจากนี้ได้ประสานกับบริษัท โรยัลฟาร์ม กรุ๊ป ซึ่งเป็นเจ้าแรกที่ใช้แพลตฟอร์มระบบสั่งซื้อล่วงหน้าเก็บข้อมูลความพึงพอใจของลูกค้าในจีนและพฤติกรรมการบริโภคทุเรียน เช่น นิยมทุเรียนพันธุ์อะไร ขนาดผลเล็กหรือใหญ่ ชอบรสชาติอย่างไร แต่ละมณฑลนิยมทานหวานมากหรือหวานน้อย เป็นต้น

จากข้อมูลการสั่งซื้อเบื้องต้นพบว่า ลูกค้าในเมืองซึ่งเป็นครอบครัวขนาดเล็กจะสั่งทุเรียนผลเล็กทานเสร็จไม่ต้องเก็บรักษา ส่วนลูกค้าชานเมืองซึ่งเป็นครอบครัวใหญ่นิยมสั่งผลใหญ่รับประทานได้หลายคนโดยจะนำข้อมูลมาเก็บในบิ๊กดาต้าทำการวิเคราะห์เพื่อนำไปพัฒนาการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ตามนโยบายตลาดนำการผลิตของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

“จากการพูดคุยกับผู้บริหารบริษัทโรยัลฟาร์มกรุ๊ปซึ่งเป็นเจ้าแรกที่เปิดขายระบบสั่งซื้อล่วงหน้าแสดงความมั่นใจว่าในการเปิดจองระบบสั่งซื้อล่วงหน้าในจีนล็อตแรก 20 ตันเกือบ 1 หมื่นลูกจบในเวลาไม่กี่ชั่วโมงและด้วยคุณภาพที่สหกรณ์เมืองขลุงจันทบุรีคัดสรรมาอย่างดีรวมทั้งสื่อจีนขานรับช่วยตีข่าวอย่างกว้างขวางจึงตั้งเป้าว่าล็อตต่อ ๆ ไปจะใช้เวลาขาย 20 ตันในเวลา 1ชั่วโมง”

'ประกันสังคม' ผุดมาตรการ ช่วยลูกจ้างตกงาน จ่ายเงินเยียวยา 50% จากผลกระทบไวรัสระบาด

นางสาวลัดดา แซ่ลี้ ผู้อำนวยการสำนักสิทธิประโยชน์ ในฐานะรองโฆษกสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคมมีความพร้อมในการจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย

คุณสมบัติ

1.) ผู้ประกันตนมาตรา 33 ส่งเงินสมทบครบ 6 เดือนใน 15 เดือน

2.) ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานหรือนายจ้างให้หยุดงานเนื่องจากต้องกักตัว หรือหน่วยงานรัฐมีคำสั่งให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการเป็นการชั่วคราวและลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้าง

สิทธิที่ได้รับและข้อปฏิบัติ

1.) รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน ระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน

2.) ลูกจ้างผู้ประกันตนไม่ต้องขึ้นทะเบียนว่างงานกับสำนักงานจัดหางาน ให้ยื่นเฉพาะคำร้องขอรับประโยชน์ทดแทน

3.) ลูกจ้างดาวน์โหลดและกรอกข้อมูลในแบบฟอร์ม สปส.2-01/7 บน http://www.sso.go.th

4.) นายจ้างไม่ต้องแจ้งลาออกหรือเลิกจ้าง แต่ให้ส่งหนังสือรับรองว่าลูกจ้างไม่ได้ทำงานกี่วัน

5.) นายจ้างบันทึกข้อมูลลูกจ้าง ส่งแบบฯและหนังสือรับรอง ไปยังสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ ในที่ตั้งของสถานที่ทำงาน ส่งทางไปรษณีย์ (ลงทะเบียน) ภายใน 3 วันทำการ

6.) แนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของลูกจ้างและหนังสือรับรองการหยุดงาน พร้อมเบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้

ย้ำ ไม่ต้องเดินทางมาที่สำนักงานประกันสังคม ให้ดำเนินการผ่านช่องทางออนไลน์เท่านั้น

สอบถามได้ที่สายด่วน 1506 กด 1 ตลอด 24 ชั่วโมง

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยสายงานมาตรฐานอุตสาหกรรมร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรม จับมือร่วมกันผลักดันสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยสู่องค์กรกำหนดมาตรฐานขั้นสูง SDOs

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยสายงานมาตรฐานอุตสาหกรรมร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรม จับมือร่วมกันผลักดันสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยสู่องค์กรกำหนดมาตรฐานขั้นสูง SDOs (STANDARDS DEVELOPING ORGANIZATIONS) นำร่องใน 7 กลุ่มอุตสาหกรรม โดยมุ่งหวังเพื่อยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมสู่ระดับสูงสร้างความเชื่อมั่นต่อคู่ค้าและผู้บริโภค พร้อมผลักดันให้สามารถแข่งขันกับผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศได้

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มีนโยบายในการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ในภาคอุตสาหกรรมให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและในระดับสากล เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับสินค้าไทย รวมถึงสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันในเวทีการค้าโลกได้ ในครั้งนี้เราได้รับความร่วมมือจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในการช่วยผลักดันให้ ส.อ.ท. ก้าวสู่องค์กรกำหนดมาตรฐานขั้นสูง SDOs (STANDARDS DEVELOPING ORGANIZATIONS) ดังนั้น นับจากนี้ ส.อ.ท. ก็จะเป็นอีกหน่วยงานหนึ่ง และเป็นหน่วยงานที่สำคัญเพราะถือเป็นผู้ผลิตซึ่งถือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 1 ใน 3 ส่วนสำคัญอันได้แก่ ผู้ผลิต, ผู้ใช้และนักวิชาการ ส.อ.ท. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการได้รับการรับรองเป็น SDOs ในครั้งนี้ จะทำให้ ส.อ.ท. เป็นหนึ่งในผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการยกระดับมาตรฐานของประเทศไทยร่วมกับทาง สมอ. ซึ่งเป็นการสร้างความร่วมมือในการยกระดับมาตรฐานในภาคอุตสาหกรรมครั้งสำคัญ”

"ในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะใช้มาตรฐานเป็นเครื่องมือในการยกระดับอุตสาหกรรมเพื่อให้มีการพัฒนาผลิภัณฑ์ให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตสามารถแข่งขันได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการใช้ สินค้ามีมาตรฐานซึ่งถือเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย ดังนั้นการเพิ่มศักยภาพในการกำหนดมาตรฐานให้ได้มากยิ่งขึ้น จึงถือเป็นส่วนในการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศด้วยเช่นกัน"

นางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและประธานสายงานมาตรฐานอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า “สายงานมาตรฐานอุตสาหกรรมมีเป้าหมายที่จะผลักดันสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยสู่องค์กรกำหนดมาตรฐานขั้นสูง SDOs ผ่านกลุ่มอุตสาหกรรม เนื่องจากเล็งเห็นถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งภาคอุตสาหกรรมจะสามารถทำมาตรฐานได้มากขึ้นและรวดเร็วขึ้น ผู้ประกอบการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถกำหนดมาตรฐานได้ตรงกับความต้องการและเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์มากที่สุด ทั้งนี้ ยังรวมไปถึงการที่จะมีองค์ความรู้ด้านมาตรฐานเพิ่มขึ้นในวงกว้าง ในส่วนของผู้ประกอบการเองก็จะเกิดประโยชน์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้า/ผู้บริโภค, สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า สามารถแข่งขันกับผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศได้เพราะต่อไป

หากสินค้าต่างประเทศจะเข้ามาสู่ตลาดในประเทศไทยจะต้องขอมาตรฐานที่เรากำหนดขึ้นด้วย ซึ่งจะถือเป็นโอกาสและความได้เปรียบของผู้ประกอบการไทย ที่สำคัญยังเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการใช้สินค้ามีมาตรฐานซึ่งถือเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย โดยมี 7 กลุ่มอุตสาหกรรมนำร่อง ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก, สิ่งทอ ,เซรามิก, ยางและผลิตภัณฑ์ยาง, เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น, ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ และไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม ซึ่งมาตรฐานต่าง ๆ จะสำเร็จออกมาใช้ได้น่าจะอยู่ในช่วง 3-6 เดือนจากนี้ โดยจะเร่งในกลุ่มสินค้าสำคัญและอุตสาหกรรมใหม่ เช่น ตู้แช่วัคซีน ที่ทุกกลุ่มมีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งที่จะจับมือร่วมมือกันในการเป็น SDOs ในครั้งนี้”


ที่มา: ฝ่ายสื่อสารองค์กร ส.อ.ท.

ชงเพิ่มหัวหินเปิดรับต่างชาติไม่กักตัว 1 ต.ค.นี้

นายกรด โรจนเสถียร กรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมสปาไทย ในฐานะประธานภาคเอกชนในโครงการหัวหิน รีชาร์จ เปิดเผยว่า ได้หารือกับนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อเสนอให้รัฐบาลเพิ่มเทศบาลเมืองหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นอีกหนึ่งพื้นที่เพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดส และมีผลการตรวจโควิด-19 เป็นลบ ให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวที่หัวหินได้โดยไม่ต้องกักตัว เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 64

ทั้งนี้ในเบื้องต้นตั้งเป้าหมายว่า จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามา 1 แสนราย สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 1,200 ล้านบาท ซึ่งรมว.การท่องเที่ยวฯ ได้รับทราบและจะนำเรื่องนี้เสนอคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ททช.) ในวันที่ 6 พ.ค.นี้เห็นชอบต่อไป 

ทั้งนี้การเพิ่มพื้นที่หัวหินเป็นอีกหนึ่งพื้นที่นำร่องนั้น จะทำผ่านโครงการหัวหิน รีเชนจ์ ซึ่งเป็นความร่วมมือของภาครัฐ การท่องเที่ยว โรงพยาบาลและสาธารณสุข และภาคเอกชนในธุรกิจท่องเที่ยวและการบริการ ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ธุรกิจรถเช่า บริษัททัวร์ฯลฯ ในพื้นที่เทศบาลหัวหิน ตั้งเป้าหมายเกิดความร่วมมือในการบริหารจัดการการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ตั้งแต่ 1 มิ.ย.เป็นต้นไป และครบถ้วนตามเป้าหมาย 70% ของประชากรในพื้นที่ภายใน 30 ก.ย.64 เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจ พนักงานและแรงงานในภาคธุรกิจบริการกว่า 89,000 คนในพื้นที่ให้มีรายได้

วิกฤตโควิด คนตัวเล็กโคม่า “วรวุฒิ อุ่นใจ” จี้รัฐตั้ง “สภา SME" แนะใช้ “อสม.โมเดล” เป็นต้นแบบ ดึงจิตอาสารายย่อยทั่วประเทศ เฟ้นหาตัวจริงรับการเยียวยา ก่อนเกิด “โดมิโน่เอฟเฟกต์” พังทั้งระบบ

นายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรคกล้า และ อดีตประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เรียกร้องให้รัฐบาลตั้ง "สภา SME" เพื่อรวบรวมคนตัวเล็ก ซึ่งมีเกือบ 4 ล้านรายหรือราว 20 ล้านคน ถือเป็นฐานที่มั่นหลักทางเศรษฐกิจของประเทศ ให้ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาแบบตรงคนตรงจุด ดีกว่าโปรยเงินจากฟ้าแล้วปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งขณะนี้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกสาม สร้างความเดือดร้อนเป็นวงกว้าง เสียงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ ทั้งร้านค้าปลีก โชห่วย โอท็อป เกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบ เริ่มดังขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นที่น่ากังวลว่าหากสถานการณ์ยืดเยื้ออาจพังทั้งระบบ

นายวรวุฒิ กล่าวว่า การช่วยเหลือเอสเอ็มอี เป็นปัญหามาเกือบ 30 ปี จนถึงวันนี้ความช่วยเหลือก็ยังลงไม่ถึงตัวจริง แม้เวลานี้หลายหน่วยงานทำหน้าที่ช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอี แต่เอสเอ็มอีก็ยังไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร วิกฤตโรคระบาดรอบนี้ เอสเอ็มอีตัวจริงได้เงินช่วยเหลือมาตรการเยียวยาผ่านแอพเป๋าตังก์เหมือนประชาชนทั่วไป แต่มาตรการเงินกู้เพื่อเอสเอ็มอีกลับไปตกอยู่กับเอสเอ็มอีขนาดกลาง ซึ่งพอมีเงินอยู่แล้ว แต่ไม่กล้าให้รายเล็กเพราะกลัวเกิดหนี้เสีย (NPL) ดังนั้นหากไม่ตั้งสภาเอสเอ็มอีขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ ไม่มีทางแก้ปัญหาได้

“ถึงเวลาแล้วที่เราจะมีสภาเอสเอ็มอี จริง ๆ จัง ๆ เทียบเท่ากับ สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า สภาดิจิทัล ทุกวันนี้ถูกแบ่งอยู่ในกลุ่มของทั้งสองสภาก็จริง แต่ถ้าไปดูในรายละเอียดจะรู้ว่าการช่วยเหลือไม่ค่อยถึง ซึ่งตอนนี้มีการรวมตัวกันเป็นสภาเอสเอ็มอีอยู่แล้ว แต่ยังเป็นรูปแบบที่ยังไม่ได้รับการยกระดับมีกฎหมายรองรับ และยังไม่รวมศูนย์ การดำเนินการจึงเป็นเหมือนเบี้ยหัวแตก เราควรทำให้มันเป็นองค์กรเดียว ไม่กระจัดกระจาย ปัญหาของประเทศไทยตอนนี้คือ มีกระทรวงและหน่วยงานมากมาย เหมือนจะพร้อมให้การช่วยเหลือ แต่การประสานงานทำได้อย่างยากเย็น โครงสร้างในองค์กรภาครัฐไม่เอื้อต่อการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ภาคเอกชนต่อสู้มาตลอดว่าควรปฏิรูประบบราชการ และแม้จะมีความพยายามทำมาหลายครั้ง แต่ก็กลับไปเพิ่มความยิ่งใหญ่ให้กับภาครัฐ จนเป็นรัฐราชการ” นายวรวุฒิ กล่าว

นายวรวุฒิ กล่าวด้วยว่า วันนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จำนวนไม่น้อยที่ต้องหยุดกิจการ เนื่องจากคนไม่กล้าเดินทางไปจับจ่าย เมื่อเอสเอ็มอีซึ่งมีจำนวนถึง 1 ใน 4 ของประชากรทั่วประเทศ (ราว 20 ล้านคน) เป็นผู้เดือดร้อนด่านแรก มันก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งระบบ และเสียดายเวลาหนึ่งปีกว่าที่ผ่านมา ไม่ได้ใช้วิกฤตให้เป็นโอกาเท่าที่ควร เช่น ควรสอนให้เกษตรกรตัวเล็กทำธุรกิจผ่านออนไลน์ แม้จะพอมีทำอยู่บ้าง แต่เป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมาก รัฐควรตั้งศูนย์เทคโนโลยีชุมชน สอนให้ชาวบ้านใช้เทคโนโลยีให้เป็น ซึ่งถ้ามีสภาเอสเอ็มอีมันจะช่วยได้ หลักการคือให้ยึดต้นแบบ อสม.ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งผู้ประกอบการรายย่อยก็กระจายอยู่ทุกหมู่บ้านเช่นเดียวกัน ให้เป็นจิตอาสา สำรวจ ประสาน คัดกรอง เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการตัวเล็กอย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้ระบบมันมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการก่อนเกิดเป็น โดมิโน่เอฟเฟกต์ พังทั้งระบบ

นายวรวุฒิ กล่าวด้วยว่า อยากให้รัฐบาลยึดแนวที่ 45 ซีอีโอ เสนอเพื่อแก้ปัญหาการฉีดวัคซีนล่าช้า และอยากให้ใช้โอกาสนี้ ทะลุทะลวง กติกา กฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหา ในภาวะวิกฤต รัฐบาลมีเป้าหมาย ฉีดวัคซีน 50 ล้านโดสครอบคลุมทุกกลุ่มประชากร เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งหมายถึงต้องฉีดให้ได้ราว 300,000 คนต่อวันนับตั้งแต่เข็มแรกที่ฉีดคือเดือนมิถุนายน จนถึงสิ้นปี เวลานี้ยังไม่เห็นการจัดระเบียบ วางระบบการฉีดวัคซีน ว่าจะฉีดที่ไหน การขนส่งวัคซีนที่ต้องควบคุมอุณหภูมิจะต้องทำอย่างไร ถ้าไม่จัดระบบให้ดีจะเกิดความโกลาหลอย่างแน่นอน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกขนาดอุตสาหกรรมและทุกภูมิภาค

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 87.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 85.1 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกขนาดอุตสาหกรรมและทุกภูมิภาค

สำหรับปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นมาจากความต้องการซื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อภาคการผลิต รวมทั้งการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและการบริโภคในประเทศ ประกอบกับผู้ประกอบการเร่งผลิตสินค้าก่อนวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์

ในส่วนของการส่งออก ก็มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัว โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนฯ เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และน้ำมันสำเร็จรูป ขณะเดียวกัน ความคืบหน้าเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนในหลายประเทศ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อาทิ สหรัฐฯ จีนและยุโรป ช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจโลกมีทิศทางที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ได้มีการสำรวจผู้ประกอบการ 1,351 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนมีนาคม 2564 พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมัน ร้อยละ 51.2 และสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ร้อยละ 46.1 ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก ร้อยละ 63.2, อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ 52.0 และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 33.5 ตามลำดับ

ส่วนดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 94.0 จากระดับ 92.0 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่าความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในหลายประเทศ ตลอดจนมาตรกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ จะช่วยให้เศรษฐกิจการค้าโลกฟื้นตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ การผ่อนปรนมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

นอกเหนือจากนี้ ทางสภาอุตสาหกรรม ยังได้นำข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนฝากไปถึงภาครัฐอีกด้วย ดังนี้...

1.) ขอให้ภาครัฐเร่งควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ให้ได้โดยเร็ว โดยใช้มาตรการล็อกดาวน์เฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงและมีการแพร่ระบาดสูง

2.) เร่งรัดการฉีดวัคซีน COVID-19 ให้กับประชาชนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนเกี่ยวกับความปลอดภัยของวัคซีน

3.) สนับสนุนให้เอกชนนำเข้าวัคซีนที่ได้ขึ้นทะเบียนกับ อย.แล้ว เพื่อช่วยให้การฉีดวัคซีนเร็วขึ้น

4.) ขอให้ภาครัฐดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

5. เร่งแก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ของผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อย (SMEs)

6.) เร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ยังเป็นปัญหาต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก


ที่มา: ฝ่ายสื่อสารองค์กร ส.อ.ท.


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top