Friday, 9 May 2025
ECONBIZ NEWS

ดันสหกรณ์ช่วยกระจายสินค้าเกษตรในปี 65

น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ว่าโครงการปรับโครงสร้างการผลิต การรวบรวม และการแปรรูปของสถาบันเกษตรกรรองรับผลผลิตทางการเกษตร ขณะนี้สามารถเบิกจ่ายได้ 1,583 ล้านบาท หรือร้อยละ 93.5 ของงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาล 1,629 ล้านบาท 

สำหรับสหกรณ์ที่เข้าโครงการ 240 แห่ง ใน 59 จังหวัด โดยขณะนี้เกือบทุกแห่งสามารถที่จะรวบรวมผลผลิตทางการเกษตรได้เพิ่มขึ้น ในฤดูกาลผลิตปี 2565 นี้ จะใช้ระบบสหกรณ์เหล่านี้เข้าไปช่วยขับเคลื่อนเสริมกลไกตลาดที่สำคัญในการกระจายผลผลิตและเป็นแก้มลิงชะลอผลผลิตทางการเกษตรกรณีผลผลิตล้นตลาด ซึ่งในปีที่ผ่านมาการใช้ระบบสหกรณ์ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

ราคาข้าวโพดพุ่ง รัฐโล่งไม่ต้องจ่ายค่าส่วนต่างประกันรายได้

นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้โครงการประกันรายได้เกษตรกรในส่วนของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ได้มีการประกาศเรื่อง การกำหนดราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและการชดเชยส่วนต่างราคาตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2564/65 มติไม่ต้องจ่ายเงินส่วนต่างสำหรับงวดที่ 4 ของโครงการประกันรายได้ปีที่ 3 เพราะราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ขณะนี้สูงทะลุราคาประกันรายได้

เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร โดยมีวันเพาะปลูกตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2564 และระบุวันที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยวตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค.-19 ก.พ.2565 เมื่อคำนวณส่วนต่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เมล็ดความชื้นไม่เกิน 14.5% สำหรับงวดที่ 4 อยู่ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 9.72 บาท สูงกว่าราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ กก.ละ 8.50 บาท หรือสูงกว่าราคาประกันรายได้ 1.22 บาท ทำให้ไม่ต้องจ่ายชดเชยเป็นงวดที่ 4 ติดต่อกัน หลังจากราคาปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการคำนวณปริมาณผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ ได้ใช้วิธีการเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี คือปี 2562/63 , 2563/64 และ 2564/65 ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 700 กก. ต่อไร่ คูณด้วยจำนวนไร่ตามที่เกษตรกรได้ขึ้นทะเบียนไว้ แต่ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่

AIS แจงหลังข้อมูลลูกค้าหลุดแสนราย ยัน ไม่กระทบการดำเนินธุรกิจของบริษัท

AIS แจ้งพบเหตุคอมพิวเตอร์ของพนักงานที่ทำหน้าที่ในช่วง Work from Home ถูกบุกรุกด้วยมัลแวร์ และคนร้ายนำข้อมูลออกไปเผยแพร่ใน Dark Web ประมาณ 100,000 รายการ

18 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 15.05 น. นายปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหาร กลุ่มลูกค้าทั่วไป เอไอเอส เปิดเผยว่า บริษัท ได้ตรวจสอบพบว่า มีผู้ละเมิดข้อมูลผู้ใช้บริการ ประมาณ 100,000 รายการ อันประกอบด้วย ชื่อ-นามสกุล, เลขบัตรประจำตัวประชาชน, วัน-เดือน-ปีเกิด และหมายเลขโทรศัพท์

โดยไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงินใดๆ และนำไปเผยแพร่อยู่บน Dark Web ซึ่งหลังจากพบกรณีนี้ บริษัทฯ ก็ได้ร่วมกันกับผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เร่งตรวจสอบหาสาเหตุอย่างเร่งด่วน พร้อมกับแจ้งไปยัง สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) และ กสทช. รวมถึงแจ้งไปยังลูกค้ากลุ่มดังกล่าวผ่านทาง SMS เพื่อให้รับทราบและระมัดระวังต่อไป โดยกรณีดังกล่าว ไม่กระทบกับระบบรักษาความปลอดภัยและการดำเนินธุรกิจของบริษัท”

คาดตลาดอสังหาฯ ปีนี้ มีเปิดใหม่เพิ่ม

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยถึงสถานการณ์ธุรกิจที่อยู่อาศัย ว่า แนวโน้มตลาดที่อยู่อาศัยปี 65 ด้านอุปทานจะขยายตัวเพิ่มขึ้น จะมีการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินประมาณ 8.5 หมื่นหน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 28  ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนจะมีประมาณ 1.05 แสนหน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.3 ส่วนด้านอุปสงค์คาดว่า จะมีหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ 3.32 แสนหน่วย เพิ่มขึ้น ร้อยละ 25.1  การโอนกรรมสิทธิ์แนวราบเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.6 การโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.1

“จากการประเมินสถานการณ์ภาพรวมปี 65 จะมีการเปิดตัวโครงการใหม่ ๆ เพิ่มมากกว่าปี 64 โครงการแนวราบจะมีสัดส่วนมากกว่าอาคารชุด ขณะที่อาคารชุดจะค่อยๆฟื้นตัว จากสต็อกที่ลดลง  ผู้ประกอบการบ้านใหม่จะยังมีโปรโมชั่น ส่วนลดและของแถมเพื่อจูงใจผู้ซื้อแต่จะไม่ลดลง เท่าปี 64 โดยตลาดยังเป็นของผู้ซื้อ จะมีการขยายตัวในกลุ่มการโอนกรรมสิทธิ์บ้านมือสอง ฐานลูกค้าต่างชาติจะไม่ใช่ลูกค้าหลักของห้องชุด แต่จะเป็นคนไทยที่เป็นกลุ่ม gen y และ gen z ลงมา”

สกพอ. ถกผู้แทนทูตฮังการี-รัสเซีย ชักชวนลงทุน อุตฯ เป้าหมาย

สกพอ. เร่งแผนการลงทุนระยะ 2 (ปี 2565 - 2569) เดินหน้าสานความร่วมมือนานาชาติ ถกผู้แทนทูตฮังการี และรัสเซีย จูงใจผู้ประกอบการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ อีอีซี 

นายเพ็ชร ชินบุตร รองเลขาธิการฯ สำนักงานคณะกรรมการเขตพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี เปิดเผยว่า ปัจจุบัน สกพอ. ได้มีการขับเคลื่อนแผนการลงทุนระยะ 2 (ระหว่างปี 2565 - 2569) ตั้งเป้าหมายให้เกิดการลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท หรือปีละ 5 แสนล้านบาทต่อเนื่อง 5 ปี มุ่งเน้นดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ การแข่งขันของประเทศ โดยตั้งแต่ต้นปี 2565 สกพอ. ได้มีการผลักดันให้มีการเจรจาทางธุรกิจระหว่างนักลงทุนต่างประเทศทั้งจากภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และนักลงทุนไทย และเร่งนำเสนอแผนการลงทุน ให้คณะผู้แทนทางทูตประเทศกลุ่มเป้าหมายและประเทศที่มีความสนใจเข้ามาลงทุนในอีอีซี ได้รับทราบถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ และชักจูงให้เกิดการลงทุนร่วมกันต่อไป

โดยที่ผ่านมา สกพอ. ได้ให้การต้อนรับและหารือกับนายชานโดร์ ชีโปช เอกอัครราชทูตฮังการีประจำประเทศไทย นำเสนอข้อมูลความก้าวหน้าในการพัฒนาโครงการอีอีซี โอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนและการอำนวยความสะดวกการลงทุนในพื้นที่ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งได้หารือถึงแนวทางการชักจูงการลงทุนจากภาคธุรกิจของฮังการีมายังพื้นที่อีอีซี ซึ่งมีความสนใจในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตฮังการีประจำประเทศไทย ได้แสดงความสนใจในการสร้างความร่วมมือกับ สกพอ. ในการชักจูงการลงทุนบริษัทเป้าหมายจากฮังการี และการจับคู่ทางธุรกิจกับภาคเอกชนไทย โดยทางสถานทูตฮังการีประจำประเทศไทยและ สกพอ. จะกำหนดสาขาความร่วมมือที่สนใจร่วมกันและชักจูงการลงทุนจากภาคเอกชนจากฮังการีต่อไป 

“บิ๊กตู่” สั่งทุกหน่วยงานดันส่งออก ปีนี้โตต่อเนื่อง 

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้รับทราบรายงานของทรวงพาณิชย์เกี่ยวกับสถานการณ์การส่งออกในภาพรวมทั้งในส่วนข้อมูลปี 2564 ที่มูลค่าการส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์  271,173.5 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการเติบโตที่ 17.1% และการประเมินการเติบโตในปี 2565 ที่คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องที่ 3.0 – 4.0%  

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อรักษาความต่อเนื่องของการส่งออกที่ขณะนี้กำลังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากทั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าอุตสาหกรรมของหลายประเทศกำลังฟื้นตัว ความตกลง RCEP ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 ซึ่งความต่อเนื่องของการส่งออกจะสร้างความความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจในภาพรวม เพราะเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ และส่งผลไปถึงการจ้างงานทั้งในอุตสาหกรรมหลักและเอสเอ็มอีที่เกี่ยวเนื่องในห่วงโซ่การผลิต  

ก.อุตฯ ส่งผ้าไหมมัดหมี่บุกตลาด ‘Minimal Style’ ยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าไทยระดับพรีเมียม

กระทรวงอุตสาหกรรม หนุนผู้ประกอบการ ยกระดับผ้าไหมไทยในระดับพรีเมียม สร้างอัตลักษณ์ไหมไทยให้เป็นที่รู้จัก พร้อมเปิดคอลเลกชันใหม่ในแบบ “Minimal Style” เน้นความธรรมดาที่แปลกตา และลายไม่ซ้ำ เล็งเปิดตลาดใหม่จากผ้าไหมไทยในต่างประเทศ!

นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการยกระดับพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและผ้าพื้นเมือง โดยสนับสนุนให้สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรม สิ่งทอ หน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอด้วยการออกแบบเชิงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมสู่อีสานแฟชั่น โดยตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 มีการดำเนินโครงการใน ระยะที่ 1 ด้วยการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการออกแบบ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์สิ่งทอและผ้าทอพื้นเมือง เพื่อทำให้ผู้ประกอบการสิ่งทอและเครื่องแต่งกายผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค และสามารถเข้าสู่ตลาดใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

สำหรับผลการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไหมที่ผ่านมา ได้เกิดผ้าไหมมัดหมี่ลวดลายใหม่กว่า 119 ลาย รวมทั้งเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า และเครื่องประดับ (Accessories) กว่า 108 ผลิตภัณฑ์ โดยผู้ประกอบการนำไปผลิตและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้จริง สร้างโอกาสทางการตลาดในผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแบบใหม่ในกลุ่มตลาดใหม่ พัฒนาผู้ประกอบการผ้าไหมและผู้ที่เกี่ยวข้องธุรกิจผ้าพื้นเมืองในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กว่า 1,600 คน สร้างรายได้ สร้างงานให้ชุมชน รวมทั้งสร้างโอกาสทางการตลาด และสร้างยอดขายในประเทศกว่า 6,500,000 บาท (เฉพาะผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาใหม่)

'บางจาก' ลงทุนสตาร์ตอัปสหราชอาณาจักร ต่อยอดสู่ธุรกิจพลังงานสะอาด

บางจาก ลุยลงทุนในสตาร์ตอัป ต่อยอดสู่กรีน ไฮโดรเจนแห่งอนาคต ผ่านบริษัทย่อยในสหราชอาณาจักร เพิ่มสัดส่วนธุรกิจสีเขียว ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

15 ก.พ. 65 นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ BCP Innovation Pte. Ltd. (BCPI) บริษัทในเครือ ได้ลงนามในข้อตกลงเบื้องต้นเพื่อลงทุนใน Transitus Energy ผู้ดำเนินธุรกิจพลังงานสะอาดแห่งอนาคตในสหราชอาณาจักร โดย BCPI เป็นผู้ลงทุนหลักของบริษัทดังกล่าวด้วยสัดส่วนการถือหุ้น 40% โดยถือว่าเป็นนโยบายการลงทุนในธุรกิจเปลี่ยนโลก เช่น ธุรกิจไฮโดรเจน และการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่จะช่วยให้โลกไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ได้ในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า

‘พรรคกล้า’ พบทูตจีนคนใหม่ร่วมถก ศก.สองประเทศ โฟกัส ‘e-Commerce - ท่องเที่ยว - อุตสาหกรรมสีเขียว’

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า พร้อมด้วยนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรค, นายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรค, นายเทมส์ ไกรทัศน์ ผู้เสนอตัวสมัคร ส.ส.ภูเก็ต เข้าพบ นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ‘คนใหม่’ โดยได้มีการหารือประเด็นเศรษฐกิจการค้า โดยเฉพาะเรื่อง e-Commerce รวมถึงประเด็นการท่องเที่ยวที่ไทย ที่เฝ้ารอต้อนรับนักท่องเที่ยวจากจีน โดยท่านทูตพร้อมร่วมมือกับพรรคกล้า ในการประสานงานด้านนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่อไป

นายกรณ์ กล่าวว่า ท่านทูตได้แสดงความยินดีกับพรรคกล้าที่มีอายุครบ 2 ปี เมื่อวานนี้ โดยได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันเรื่องเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ ช่วงปีที่ผ่านมา ยอดการค้าระหว่างไทยกับจีน มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก มีการพูดคุยกันถึงโอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมสีเขียว และการพัฒนาธุรกิจ e-Commerce ระหว่างกันในอนาคต

ครม. รับทราบแนวทางส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ให้เดินหน้ามาตราการสนับสนุนการใช้รถยนต์/รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิต EV ย้ำความเป็น Detroit of Asia 

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติ รับทราบแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ตามผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2564 และครั้งที่ 1/2565   เพี่อส่งเสริมให้เกิดการผลิต การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ให้เป็นไปตามเป้าหมายการผลิตและการใช้ยานยนต์ไร้มลพิษ (Zero Emission Vehicle: ZEV) ของยานยนต์ทุกประเภทอีกด้วย  

เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาและขับเคลื่อนมาตรการสนับสนุนฯ ทั้งในส่วนของมาตรการทางภาษี และไม่ใช่ภาษีโดยเป็นมาตรการระยะสั้น ระหว่างปี 65 – 68   โดยในช่วง 2 ปีแรก (ปี 65 – 66) มาตรการสนับสนุนฯ จะให้ความสำคัญกับการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศอย่างกว้างขวางโดยเร็ว  ครอบคลุมทั้งการนำเข้ารถยนต์/รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปทั้งคัน (CBU) และกรณีรถยนต์/รถยนต์กระบะ/รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ (CKD)  ผ่านการยกเว้นหรือลดอากรนำเข้า ลดอัตราภาษีสรรพสามิต และ/หรือให้เงินอุดหนุนตามเงื่อนไขที่กำหนด ทั้งนี้  เพื่อเพิ่มอุปสงค์ยานยนต์ไฟฟ้าในภาพรวม สร้างแรงจูงใจและดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ของผู้ประกอบการในไทย 

ส่วนช่วง 2 ปีถัดไป (ปี 67 - 68) มาตรการสนับสนุนฯ จะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศเป็นหลัก โดยยกเลิกการยกเว้น/ลดอากรนำเข้า รถยนต์สำเร็จรูปทั้งคัน (CBU) แต่ยังคงมาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิต และ/หรือให้ เงินอุดหนุนตามเงื่อนไขที่กำหนดต่อไป  เพื่อทำให้ต้นทุนรถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปทั้งคันที่นำเข้าสูงกว่ารถยนต์/ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ  ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเร่งผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ  รองรับแนวโน้มความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น ลดการนำเข้าชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งจะเป็นการสนับสนุนการผลิตรถยนต์/รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top