Sunday, 27 April 2025
ECONBIZ NEWS

‘เอกนัฏ’ เอาจริงปิดยาว ‘รง. ซิน เคอ หยวน’ หลังเกิดเหตุไฟไหม้ พบบกพร่องหลายจุดจนเกิดเหตุระเบิด ส่อโดนฟันมาตรฐานเพิ่มเติม

‘เอกนัฏ’ ส่ง ‘ทีมสุดซอย’ ตรวจเข้ม ‘รง. เหล็กซิน เคอ หยวน’ ที่เกิดเหตุไฟไหม้ เผยไม่แจ้งย้ายถังก๊าซจนเกิดเรื่อง สั่งปิดยาวปรับปรุงมาตรการความปลอดภัย ‘ฐิติภัสร์’ เผย สมอ.พบผลิตเหล็กไม่ทำตามหลักเกณฑ์สั่งแก้ไขทันที ส่อโดนยึดใบอนุญาต จ่อฟันข้อหาเพิ่มหากผลตรวจเหล็กตกเกรด

เมื่อวานนี้ (19 ธ.ค.67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการตรวจสอบเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ภายใน บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ตั้งอยู่ในเขตประกอบการอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง จากการรั่วไหลของถังก๊าซ LPG ขนาด 110,000 ลิตร ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ จำนวน 5 คน เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.67 ว่า ได้ส่งชุดตรวจการสุดซอย กระทรวงอุตสาหกรรม นำโดย น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงาน รมว.อุตสาหกรรม นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายนนทิชัย ลิขิตาภรณ์ ผอ.กองตรวจการมาตรฐาน 1 เจ้าหน้าที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) เข้าตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ

นายเอกนัฏ กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบพบว่า บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด มีการเคลื่อนย้ายถังก๊าซ LPG โดยไม่แจ้งขออนุญาตจากสำนักงานพลังงานจังหวัดระยอง ซึ่งในส่วนนี้สำนักงานพลังงานจังหวัดระยองได้สั่งระงับไม่ให้ใช้งานภายในบริเวณถังก๊าซที่เกิดเหตุ สั่งห้ามนำถังก๊าซที่เกิดเหตุกลับมาใช้ใหม่และต้องแก้ไขพื้นที่บริเวณที่เกิดเหตุให้กลับอยู่สภาพเดิมตามที่เคยขออนุญาตไว้ โดยต้องมีวิศวกรควบคุม พร้อมปรับเงินจำนวน 5 หมื่นบาท ในส่วนของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้สั่งให้ผู้ประกอบการต้องตรวจสอบระบบไฟฟ้าภายในทั้งหมด ตรวจสอบสภาพถังก๊าซให้เป็นไปตามมาตราฐานทั้งโรงงาน ตรวจสอบสภาพอาคารภายในโรงงานทั้งหมดว่าแข็งแรงปลอดภัยหรือไม่

“อุตสาหกรรมจังหวัดระยองได้สั่งให้ บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด หยุดประกอบกิจการเป็นระยะเวลา 30 วัน และต้องแก้ไขตามข้อสั่งการ รวมถึงแก้ไขสิ่งแวดล้อมภายในโรงงานทั้งหมด โดยต้องมีวิศวกรเฉพาะด้านรับรอง และแจ้งให้อุตสาหกรรมจังหวัดระยองร่วมตรวจสอบให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยก่อนจึงจะพิจารณาอนุญาตให้ประกอบกิจการอีกครั้ง” นายเอกนัฏ กล่าว

น.ส.ฐิติภัสร์ กล่าวเสริมว่า ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ร่วมตรวจสอบสายการผลิตและผลิตภัณฑ์เหล็กของ บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ด้วย โดยพบว่า ผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของ สมอ. โดยมีการซื้อวัตถุดิบจากผู้ขายที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอยู่ในระบบทะเบียนของบริษัท ไม่กำหนดเกณฑ์ตัดสินความสามารถของผู้ขายวัตถุดิบ กำหนดเกณฑ์การตัดสินทางเคมีไม่สอดคล้องกับมาตรฐานที่ มอก. กำหนด สมอ.จึงสั่งให้แก้ไขปรับปรุงภายใน 15 วัน หากไม่แจ้งกลับมาจะถูกพักใช้ใบอนุญาตประกอบกิจการ

“สมอ.ยังได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เหล็กไปตรวจสอบว่าเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์หรือไม่ด้วย คาดว่าจะได้ผลในสัปดาห์หน้า และหากพบว่าไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานก็จะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป” น.ส.ฐิติภัสร์ ระบุ

‘พีระพันธุ์’ ผุดไอเดียแปลงพลังน้ำเป็นพลังงานไฟฟ้า ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากอย่างยั่งยืน แถมชาวบ้านได้ใช้ไฟราคาถูก

‘พีระพันธุ์’ ผุดไอเดียแปลงพลังน้ำเป็นพลังงานไฟฟ้า แก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากอย่างยั่งยืน แถมประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าราคาถูก

จากการลงพื้นที่ภาคใต้ของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา นายพีระพันธุ์ได้เปิดเผยถึงวิธีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืนอีกแนวทางหนึ่ง นั่นคือ การแปลงพลังงานน้ำให้เป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งนอกจากจะช่วยชะลอกระแสน้ำไม่ให้สร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่ประชาชนแล้ว ความแรงของกระแสน้ำยังสามารถนำไปผลิตไฟฟ้าในต้นทุนต่ำเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าของครัวเรือน และยังเป็นแหล่งกักเก็บน้ำสำหรับใช้ในการเกษตรได้ด้วย

นายพีระพันธุ์กล่าวว่า จากการไปตรวจเยี่ยมและพบปะประชาชนครั้งนี้ ตนเห็นว่าในบางพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำมากและไหลแรงสามารถนำกระแสน้ำมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าได้ ซึ่งจะเป็นอีกแนวทางในการแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากอย่างยั่งยืน และสามารถช่วยเหลือเกษตรกรให้มีน้ำใช้ในการเพาะปลูก อีกทั้งยังช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าของประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำมีต้นทุนถูกกว่าการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติหลายเท่า โดยตนได้มอบหมายให้ทางพลังงานจังหวัดศึกษาข้อมูลรายละเอียดและประสานงานกับส่วนกลางเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ต่อไป 

“จากการที่ผมได้ไปตรวจเยี่ยมติดตามสถานการณ์น้ำท่วมที่ บ้านห้วยน้ำเน่า อ.สิชล ผมก็ได้แนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วมอีกวิธีหนึ่ง พื้นที่ตรงนั้นมีปริมาณน้ำเยอะและไหลแรง แต่ผมไม่ได้เห็นเป็นแค่น้ำ ผมเห็นเป็นไฟฟ้า ผมเลยคิดว่าตรงนี้น่าจะทำเป็นแหล่งเก็บน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กให้ชาวบ้าน ซึ่งจะช่วยชะลอน้ำเวลาถึงฤดูน้ำหลาก และยังสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตร ขณะเดียวกัน แรงของน้ำที่ไหลผ่านยังสามารถนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างน้อย 2 เมกะวัตต์ ซึ่งสามารถดูแลพี่น้องประชาชนได้ประมาณ 400 ครัวเรือน และจะช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าหลัก ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วยเพราะผลิตจากก๊าซ ขณะที่ต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำอยู่ที่ประมาณ 1 บาทกว่า ๆ เท่านั้น ผมกำลังให้กระทรวงพลังงานรวบรวมข้อมูลและศึกษาความเป็นไปได้เพื่อจัดทำเป็นโครงการต้นแบบในการแก้ปัญหาน้ำท่วมอีกแนวทางหนึ่ง” นายพีระพันธุ์กล่าว

'ท็อตแนม ฮ็อทสเปอร์' จับมือ 'ไทเกอร์' ผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการสโมสร

(20 ธ.ค.67) ไทเกอร์ แบรนด์เครื่องดื่มพรีเมียมชั้นนำในเอเชีย ขึ้นแท่นเป็นผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการของสโมสรฟุตบอลท็อตแนม ฮ็อทสเปอร์ (Tottenham Hotspur) ซึ่งนับเป็นอีกก้าวสำคัญหลังการประกาศ ความร่วมมือกับสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (Manchester United) เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยความร่วมมือในครั้งนี้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของแบรนด์ในการเชื่อมต่อกับคอมมูนิตี้แฟนบอลทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชีย พร้อมส่งมอบประสบการณ์ที่ทำให้แฟนบอลได้ใกล้ชิดกับสโมสรโปรดมากยิ่งขึ้น

ฌอน โอดอนเนลล์ ผู้อำนวยการแบรนด์ระดับโลกของไทเกอร์ กล่าวว่า “เราเชื่อว่าความกล้าหาญของแต่ละบุคคลมีรากฐานมาจากการสนับสนุนของคนรอบข้าง โดยความร่วมมือในครั้งนี้สะท้อนถึงความเชื่อของเราที่ว่าความก้าวหน้าไม่ได้มาจากคนเพียงคนเดียว แต่เป็นผลลัพธ์จากการร่วมมือกันเพื่อสรรสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เราภูมิใจที่ไทเกอร์เป็นแบรนด์ที่พร้อมจะเฉลิมฉลองและเติมเต็มประสบการณ์เชียร์บอลของแฟน ๆ ทั่วโลก”

ด้วยฐานแฟนบอลกว่า 195 ล้านคนในเอเชีย สโมสรฟุตบอลท็อตแนม ฮ็อทสเปอร์ จึงเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งและเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับแบรนด์ไทเกอร์ ในการสร้างคอมมูนิตี้ที่เหนียวแน่นและเชื่อมโยง แฟนบอลทั่วโลกเข้าด้วยกัน

ไรอัน นอริส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงินของสโมสรท็อตแนม ฮ็อทสเปอร์ กล่าวเสริมว่า “เรารู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับไทเกอร์ แบรนด์พรีเมียมชั้นนำที่พร้อมมอบประสบการณ์สุดพิเศษให้กับแฟนบอลในเอเชีย โดยใช้ฟุตบอลเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงผู้คนและสร้างช่วงเวลาที่น่าจดจำร่วมกัน”

ไทเกอร์ ได้ทำการสำรวจกับแฟนบอลกว่า 2,000 คน และพบว่าเกือบ 3 ใน 4 ของกลุ่มแฟนบอล เชื่อว่า การที่แบรนด์มีกิจกรรมร่วมกับแฟนบอลทำให้พวกเขารู้สึกใกล้ชิดกับทีมที่เชียร์มากยิ่งขึ้น แบรนด์ไทเกอร์จึงเตรียมมอบประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นและไม่เหมือนใครให้กับแฟนบอลของสโมรสรท็อตแนม ฮ็อทสเปอร์ ด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น แฟนมีตติ้งสุดเอ็กซ์คลูซีฟ โอกาสพิเศษในการเข้าชมการฝึกซ้อมของทีม และการเข้าร่วมเวิร์กช็อปฟุตบอลกับทีมโค้ชระดับโลก

'เผ่าภูมิ' นำ EXIM บุกแดนจิงโจ้ ถก CEO Standard Chartered และ EFA เชื่อมกลไกการเงินผลักลงทุน 2 ประเทศ หนุนกระบะไทยในออสฯ

(20 ธ.ค.67)ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยหลังจากที่ได้นำคณะธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) หารือกับนาย John Hopkins กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร องค์กรการส่งออกแห่งประเทศออสเตรเลีย (Export Finance Australia (EFA)) และนาย Jacob Berman ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคาร Standard Chartered Australia ที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ว่า

การหารือกับทั้งสององค์กรได้เน้นถึงการเสริมสร้างความร่วมมือกับ EXIM BANK ในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมมือในรูปแบบ Co-financing และ Blended finance เชื่อมกลไกทางการเงินเพื่อเพิ่มช่องทางการค้าระหว่างประเทศซึ่งกันและกัน โดยการสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจหรือโครงการต่างๆ การแสวงหาโอกาสการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจด้านพลังงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะการลงทุนในภาคธุรกิจพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) และโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน (Sustainable Infrastructure)  ธุรกิจด้านอุตสาหกรรมยานยนต์โดยเฉพาะตลาดรถกระบะซึ่งออสเตรเลียเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทย ธุรกิจด้านการศึกษาซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวสูงในรูปแบบ Joint Program นอกจากนั้นยังหารือแนวทางในการให้ไทยเป็นช่องทางเปิดรับการลงทุนของกองทุนบำนาญของออสเตรเลียในอนาคต

นอกจากนั้นยังได้หารือถึงการใช้กลไกทางการเงินของทั้งสองฝ่ายสนับสนุน Digital Asset ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวสูงภายใต้การนำของประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ และยังหารือถึงช่องทางการนำผู้ประกอบการไทยเข้าลงทุนในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในออสเตรเลียซึ่งกำลังประสบปัญหาการขาดอุปทานของที่อยู่อาศัย

พร้อมนี้ยังได้เชิญชวนสถาบันการเงินออสเตรเลียเข้ามาลงทุนใน Financial Hub ของไทยซึ่งกำลังอยู่ในกระบวนการร่าง พ.ร.บ. ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน พ.ศ. .... ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในต้นปีหน้า

‘ไทยออยล์’ อัดงบเพิ่ม พร้อมจ่ายดอกเบี้ย 8 หมื่นล้าน หวังเดินหน้าโครงการพลังงานสะอาดให้เสร็จสมบูรณ์

‘บอร์ดไทยออยล์’ ไฟเขียวเพิ่มงบประมาณโครงการพลังงานสะอาด (CFP) วงเงิน 63,028 ล้านบาท พร้อมเตรียมประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น 21 ก.พ. ปีหน้า ยืนยันผู้ถือหุ้นและบริษัทฯ ได้ประโยชน์สูงสุด อีกทั้งเพิ่มความแข็งแกร่งและมั่นคงด้านพลังงาน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

(20 ธ.ค.67) นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ นัดพิเศษ ครั้งที่ 6/2567 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 ได้มีมติเห็นชอบเพิ่มงบประมาณในโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project หรือ CFP) ประมาณ 63,028 ล้านบาท และดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้างประมาณ 17,922 ล้านบาท การเพิ่มเงินลงทุนในโครงการ CFP ครั้งนี้ จะนำไปใช้เพื่อการก่อสร้าง การจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ส่วนที่เหลือ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าที่ปรึกษาต่างๆ เป็นต้น เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการ CFP ให้แล้วเสร็จ และสามารถดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง และประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ และผู้ถือหุ้น 

ทั้งนี้ บริษัทฯ เตรียมจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2568 ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 14.00 น. เพื่อขอมติจากผู้ถือหุ้นในการอนุมัติการเพิ่มงบประมาณในโครงการ CFP ดังกล่าว

“โครงการ CFP จะทำให้ไทยออยล์มีกำลังการกลั่นน้ำมันดิบ 400,000 บาร์เรลต่อวัน และสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้นและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นโครงการขนาดใหญ่ ปัจจุบันดำเนินการไปแล้วกว่า 90% เมื่อโครงการสำเร็จจะสามารถตอบโจทย์การเติบโตทางกลยุทธ์ในระยะยาว ทำให้บริษัทฯ เติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเมื่อมีการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) ทำให้ไทยออยล์สามารถแข่งขันได้ และเป็นผู้นำ ในภูมิภาคซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง ก่อให้เกิดผลตอบแทนที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นและบริษัทฯ ในระยะยาว หากโครงการเดินหน้าต่อจะทำให้ซัพพลายเชน รวมถึงบริษัทรับเหมาก่อสร้างและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องมีงานทำ มีรายได้มาจับจ่ายใช้สอย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่ง” นายบัณฑิตฯ กล่าว

'พิชัย' โชว์วิชั่นบนเวทีอาเซียน-ญี่ปุ่น ดึงดูดการค้า-ลงทุน ให้ญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนเบอร์ 1 ต่อเนื่อง ย้ำไทยพร้อมเป็นฮับการผลิต PCB - Data Center - AI - ยานยนต์ยุคใหม่ ของอาเซียน

(20 ธ.ค.67) เวลา 11.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกล่าวเปิดงาน 'ASEAN-Japan Economic Co-Creation Forum 2024' ตามคำเชิญของ Mr. MUTO Yoji (นายมูโตะ โยจิ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) ของญี่ปุ่น เป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ มุมมองและแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจไปสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน โดยมี Mr. Nguyen Hong Dien (นายเหงียน ห่ง เตี้ยน) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม เลขาธิการอาเซียน ประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น(JCCI) ผู้แทนจากทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ตลอดจนคณะผู้บริหารจากบริษัทชั้นนำและผู้เชี่ยวชาญจากทั้งอาเซียนและญี่ปุ่นร่วมงานกว่า 300 ราย

นายพิชัยกล่าวว่า ไทยกับญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่ดีกันมาอย่างต่อเนื่อง เรามีรัฐประหารในปี 2014 การลงทุนจากต่างชาติลดลงต่อเนื่อง แต่เมื่อเรากลับมามีรัฐบาลจากการเลือกตั้งการลงทุนก็กลับมา วันนี้เราอยากเห็นญี่ปุ่นกลับมาลงทุนในไทยเป็นเบอร์หนึ่งของไทยต่อไป ซึ่งไทยให้ความสำคัญกับการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต อาทิ PCB เซมิคอนดักเตอร์ ดิจิทัล AI ยานยนต์ยุคใหม่ และพลังงานสะอาด 

ไทยมีความพร้อมในการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่จะเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมใหม่ โดยมีการส่งเสริมการลงทุนและการผลิตอุตสาหกรรมใหม่ ยานยนต์ยุคใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไทยยังพร้อมเป็นฮับ PCB ของภูมิภาคด้วย ที่ผ่านมาเราทำงานร่วมกับ UAE ในการทำ Intelligence center และร่วมกับบริษัท  Microsoft และ Google สร้างการลงทุนขนาดใหญ่  พร้อมที่จะเป็นฐานการผลิตและที่ตั้งของ Data Center ของอาเซียน 

“วันนี้ขอต้อนรับนักลงทุนจากทั่วโลกที่จะเข้ามาลงทุนมากขึ้น โดยไทยมีแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติที่ครอบคลุมแนวทางในการพัฒนาและการรับมือต่อความท้าทายด้าน AI ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับการพัฒนาพลังงานสะอาดซึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของไทย” นายพิชัย กล่าว

นายพิชัย ระบุเพิ่มเติมว่า อาเซียนและญี่ปุ่นเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนร่วมกัน จึงได้จัดทำข้อริเริ่ม “การออกแบบอนาคตและแผนปฏิบัติการสำหรับการร่วมสร้างสรรค์ด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนของความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น” เมื่อปี 2566 เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจและรับมือกับความท้าทายทางสังคมระหว่างกัน โดยเตรียมจัดทำแผนแม่บทสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ยุคต่อไประหว่างอาเซียน - ญี่ปุ่น และแผนการดำเนินการร่วมสร้างสรรค์ต่อนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกลางปี 2568 เพื่อให้ความเห็นชอบทั้งสองแผนดังกล่าวในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน – ญี่ปุ่น ครั้งที่ 31 ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงปลายปี 2568 อันจะนำไปสู่การพัฒนาให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางการผลิตและการส่งออกยานยนต์ยุคใหม่ รวมถึงการนำดิจิทัลและ AI มาปรับใช้ในการขับเคลื่อนการเติบโตของภูมิภาคอาเซียนและญี่ปุ่นในทศวรรษต่อไป

ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า ในปี 2566 การค้าระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น มีมูลค่า 241,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของอาเซียน ขณะที่ญี่ปุ่นมีการลงทุนโดยตรงในอาเซียน เป็นมูลค่า 14,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ซึ่งถือว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ลงทุนในอาเซียนมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ขณะที่การค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ในปี 2566 ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ของไทย มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 55,789 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปญี่ปุ่น 24,594ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เครื่องจักรและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล แผงวงจรไฟฟ้า และไทยนำเข้าจากญี่ปุ่น 31,195 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์

ทีมThink Tank 'รัฐมนตรีเฉลิมชัย' เผยแนวทางขับเคลื่อนโครงการโลว์คาร์บอน ไทยแลนด์เพิ่มพื้นที่สีเขียวลดโลกร้อนพร้อมเดินหน้าพัฒนาป่าชุมชนสู่ป่าคาร์บอนเพิ่มรายได้ชุมชนทุกภาค 1.1 หมื่นแห่ง

นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน)และรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์เปิดเผยวันนี้หลังจากเป็นประธานการประชุมที่ปรึกษาของรมว.ทส. ว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้แต่งตั้งที่ปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆจากทุกภาคส่วนทำหน้าที่เสมือนคลังสมอง(Think Tank)เพื่อนำเสนอวิสัยทัศน์และแนวทางนโยบายรวมทั้งโครงการต่างๆภายใต้ภารกิจของกระทรวง ทส.โดยได้มีการประชุมหารือภารกิจหลัก 6 ด้าน
1.ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้และสัตว์ป่า ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
2.ด้านทรัพยากรน้ำทั้งระบบ
3.ด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ขยะ และมลพิษ 
4. ด้านยุทธศาสตร์ แผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและเมกะโปรเจค
5.ด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ
6.ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้ที่ประชุมมีการแลกเปลี่ยนแนวคิดและข้อเสนอใหม่ๆที่น่าสนใจหลายประเด็นเช่น
การขยายความร่วมมือกับองค์การอาหารแห่งสหประชาชาติ(FAO)ภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก องค์การยูเนสโกธนาคารโลกและ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA)ทางด้านการรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate Change)เช่นปัญหาความมั่นคงอาหาร ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ปัญหากรุงเทพจม ปัญหาน้ำท่วมภัยแล้ง ปัญหาความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งประเด็นBlue BondและGreen Bond นอกจากนี้ยังมีการหารือแนวทางการพัฒนาป่าชุมชน(Community Forest) สู่ป่าคาร์บอน(Carbon Forest)เพิ่มพื้นที่สีเขียวลดโลกร้อนพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนกว่า1.1หมื่นแห่งทุกภาคทั่วประเทศให้เป็นแหล่งอาหารชุมชน (Community Food Bank) แหล่งความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Bank)แหล่งคาร์บอน (Carbon Bank) แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecological Tourism)โดยใช้รูปแบบการบริหารจัดการใหม่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคีในพื้นที่ด้วยโมเดล3หุ้นส่วน ( 3‘P : Public-Private-People Partnership model) ซึ่งถอดบทเรียนจากโครงการสระบุรี แซนด์บ็อก รวมทั้งข้อเสนอโครงการ โลว์คาร์บอน ไทยแลนด์ (Low Carbon  Thailand)ประกอบด้วยโครงการย่อยเชิงโครงสร้างเช่น โลว์คาร์บอน ซิตี้ โลว์คาร์บอน แคมปัส โลว์คาร์บอน อินดัสตรีฯลฯ

“ที่ประชุมยังหารือแนวทางนโยบายการแก้ปัญหากรุงเทพจม ปัญหาPM2.5 ปัญหาขยะ การพัฒนาระบบน้ำในระดับประเทศระดับภาคและEEC การพัฒนาระบบน้ำใต้ดินการลดคาร์บอนด้วยพลังงานทดแทนเช่นโซล่าเซลล์และพลังงานลม  การแก้ปัญหาที่ดินทำกินของราษฎร การสร้างระบบเตือนภัยความร้อน (Heat Sensor) และการพัฒนาระบบความเย็นในเมืองหลวงและเมืองใหญ่ การสร้างเมืองน่าอยู่ (Liveable City) และแนวทางในการส่งเสริมสนับสนุนสถานภาพและการปฏิบัติหน้าที่ของอาสาสมัครในสังกัดกระทรวง ทส.ที่มีอยู่เกือบ3แสนคนเป็นต้น โดยจะนำเสนอต่อรัฐมนตรี ทส.เพื่อพิจารณาต่อไป“ นายอลงกรณ์กล่าวในที่สุด

สำหรับการประชุมครั้งนี้มีที่ปรึกษาที่เข้าร่วมประชุมแบบอินไซท์และออนไลน์ได้แก่ ศจ.ดร.ดุสิต เครืองาม ,รศ.ดร. ไพบูลย์ กวินเลิศวัฒนา ,ดร.ประกอบ รัตนพันธ์ ,พล.ร.อ.ดร.สมัย ใจอินทร์ ดร.มณทิพย์ ศรีรัตนา,นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท,นางกันตวรรณ ตันเถียร กุลจรรยาวิวัฒน์,พล.อ.ประชาพัฒน์ วัจนะรัตน์,ร.ต.ปรพล อดีเรกสาร,พล.อ.รักเกียรติ พันธุ์ชาติ,ดร.วสุเชษฐ์ โสภณเสถียร,นายฉัตรพันธ์ เดชกิจสุนทร,นายภานุ สุขวัลลิ ฯลฯ

ส่องแนวคิดขึ้น VAT ‘คิดถูก’ หรือ ‘คิดผิด’ เก็บภาษีได้เพิ่ม แต่ต้องแลกกับผลกระทบคนรายได้น้อย

จากการที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีแนวคิดในการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็น 15% โดยอ้างว่า “แค่บอกว่าแนวโน้มโลกเขาทำกันอย่างไร แค่ขอไปศึกษาเท่านั้นเอง พร้อมย้ำอีกว่า เป็นแค่การศึกษา” พี่น้องประชาชนคนไทยส่วนใหญ่คงไม่ทราบว่า อันที่จริงแล้วกฎหมายกำหนดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่แท้จริงของไทยนั้นอยู่ที่ 10% แต่มีการผ่อนผันโดยเรียกเก็บจริงที่ 7% โดยนับแต่ประกาศใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มในปี พ.ศ. 2535 ในปี พ.ศ. 2540 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ จึงมีการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มในระยะเวลาสั้น ๆ เป็น 10% ต่อมาปลายปี พ.ศ. 2540 ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มลงเหลือ 7% อีกครั้งมีอายุการใช้งาน 2 ปี และคณะรัฐมนตรีจะออกพระราชกฤษฎีกาลดภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือ 7% เป็นประจำทุกปี โดยที่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม 1 ใน 9 ที่เก็บได้ จะถูกโอนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และที่เหลืออีก 8 ส่วนจะถูกโอนให้แก่รัฐบาลกลาง การต่ออายุการผ่อนผันอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 10% ได้ดำเนินการมาต่อเนื่องยาวนานจนปัจจุบัน 27 ปี จึงทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ต่างพากันเข้าใจว่า อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ 7% เรื่อยมา

ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax) หรือ VAT เป็นภาษีทางอ้อมประเภทหนึ่งที่เรียกเก็บจากบุคคลที่ซื้อสินค้าหรือรับบริการ โดยจัดเก็บเฉพาะจากมูลค่าส่วนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละขั้นผลิต การจำหน่ายหรือการให้บริการ ทั้งที่ผลิตภายในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2535 ประเทศไทยได้เริ่มมีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นครั้งแรก จากการที่เศรษฐกิจของประเทศไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในขณะที่มีการกล่าวถึงความไม่เหมาะสมของโครงสร้างภาษีการค้าต่อเศรษฐกิจของประเทศ อันได้แก่ความซ้ำซ้อนของระบบภาษีการค้าที่เป็นอยู่ และความหลากหลายของโครงสร้างอัตราภาษีนอกจากความบกพร่องของระบบภาษีการค้า ความต้องการเปลี่ยนแปลงระบบภาษีของทางการยังสืบเนื่องมาจากเหตุผลทางด้านภาษีอากรอีกด้วย กล่าวคือ ความสามารถในการหารายได้ของรัฐผ่านเครื่องมือทางภาษีการค้าและภาษีศุลกากรได้ลดน้อยลงเป็นลำดับ ด้วยเหตุผลดังกล่าว กระทรวงการคลัง จึงได้เสนอพิจารณายกเลิกภาษีการค้า และนำภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้แทน โดยภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวจะมีอัตราเดียวที่ใช้กับสินค้าและบริการทุกชนิด สำหรับสินค้าใดที่มีเหตุผลทางเศรษฐกิจที่จะเก็บสูงกว่าอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้เก็บภาษีสรรพสามิตเพิ่มเติมจากภาษีมูลค่าเพิ่ม

ปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ในโลกส่วนมีการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเกือบทั้งสิ้น โดยเดนมาร์กเป็นประเทศที่มีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มสูงที่สุดและเรียกเก็บจริงที่ 25% สำหรับประเทศอื่น ๆ ในทวีปยุโรปแม้จะมีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มระหว่าง 15-25% แต่มีการผ่อนผันโดยเรียกเก็บจริงแล้วไม่มีประเทศไหนเก็บถึง 15% เลย เช่นเดียวกับประเทศในทวีปอื่น ๆ ซึ่งมีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มระหว่าง 5-24.5% แต่มีการผ่อนผันโดยเรียกเก็บจริงแล้วไม่มีประเทศไหนเก็บถึง 15% เช่นเดียวกับการปฏิบัติในทวีปยุโรป โดยประเทศที่มีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อยู่ที่ 15% คือ  นิวซีแลนด์ แอฟริกาใต้ มอลตา (ภาษีมูลค่าเพิ่ม 15% สำหรับบางบริการ เช่น การท่องเที่ยว) และ เซเชลส์ สำหรับประเทศในทวีปอเมริกาเหนือเฉพาะแคนาดาที่มีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มแตกต่างกันไปตามมณฑลต่าง ๆ ที่ 5%(Alberta, British Columbia, Manitoba, Northwest Territories, Nunavut, Quebec, Saskatchewan และ Yukon) 13%(Ontario) และ 15%(New Brunswick, Newfoundland and Labrador, Nova Scotia และ Prince Edward Island) ในสหรัฐอเมริกาทั้ง 50 มลรัฐก็มีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่เรียกว่าภาษีขาย (Sales Tax) โดยประกอบด้วยภาษีในส่วนของรัฐบาลมลรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เมืองหรือเทศมณฑล (City หรือ County)) แตกต่างกันไป ตั้งแต่ 0%(Alaska, Delaware, Montana, New Hampshire และ Oregon) จนกระทั่ง 10.350%(Seattle, Washington) และเม็กซิโกมีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ 16%

ในส่วนของประเทศไทยที่จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% ในปี พ.ศ. 2566 สามารถเก็บได้ 913,550.89ล้านบาท เป็นภาษีที่จัดเก็บได้สูงสุด หากเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 15% เมื่อคิดคำนวณแบบง่าย ๆ แล้วรัฐจะสามารถเก็บภาษีส่วนนี้ได้ร่วม 2ล้านล้านบาทเลยทีเดียว แต่อันที่จริงแล้วการขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นจะส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นวงกว้างอย่างแน่นอน และน่าจะเป็นผลกระทบในทางลบต่อพี่น้องประชาชนคนไทยมากกว่าที่จะเป็นผลกระทบในทางบวก ทั้งนี้ ด้วยเพราะ ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีถดถอย การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้มีรายได้น้อยในสัดส่วนที่มากกว่าผู้มีรายได้สูง ซึ่งจะทำให้บรรดามนุษย์เงินเดือนและผู้ที่มีรายได้น้อย โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนคนไทยที่เป็นรากหญ้ามีเงินเดือนน้อยจะเข้าถึงสินค้าต่าง ๆ ได้ยากขึ้น และได้รับผลกระทบมากสุด เพราะอาจจะไม่สามารถเข้าถึงสินค้าที่มีความจำเป็นบางอย่างที่เดิมสามารถเข้าถึงได้ เมื่อรายได้คงเดิมโดยไม่ได้ปรับตามฐานภาษีที่เพิ่มขึ้น เงิน 100 บาทในกระเป๋าหักภาษี 7% จะเหลือเงิน 93 บาท แต่ถ้าขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 15% แล้วจะเหลือเงินเพียง 85 บาทเท่านั้น ซึ่งหมายถึงว่าเงินที่มีอยู่ลดลงแต่รายจ่ายกลับเพิ่มมากขึ้น และย่อมต้องส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนคนไทยทำให้การบริโภคภายในประเทศลดลง จะส่งผลกระทบทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจชะลอตัวลง จนธุรกิจบางส่วนอาจจะต้องปิดตัวลงหรือลดขนาดกิจการ และเกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมเพิ่มมากขึ้น และเรื่องสำคัญที่สุดในการปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มคือ “เหตุผลที่ต้องปรับขึ้นต่อพี่น้องประชาชนคนไทย ซึ่งรัฐบาลต้องสามารถอธิบายอย่างเป็นเหตุและเป็นผลจนเป็นที่เข้าใจของสังคมไทยโดยรวม” สำหรับแนวทางที่น่าจะมีความเหมาะสมที่สุดคือ การปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มให้กลับไปสู่อัตราปกติที่ 10% อย่างค่อยเป็นค่อยไป อาทิ การปรับขึ้น 1% ในเวลา 3-5 ปี โดยการปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 3% ในระยะเวลา 9-15 ปี จะทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยสามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสมพอดี และจะเป็นการเสริมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน 

กนอ. โชว์ศักยภาพ! ดึงดูดลงทุนเกาหลี 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปักหมุดนิคมฯ Smart Park เน้นพลังงาน และธุรกิจการแพทย์

(19 ธ.ค. 67) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดบ้านต้อนรับนักลงทุนเกาหลี พร้อมชูแคมเปญ“Now Thailand - The Golden Era” ตอกย้ำความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นฐานการลงทุนที่สำคัญในภูมิภาค ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในนิคมอุตสาหกรรม Smart Park

วันที่ 19 ธ.ค. 2567 นายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการ กนอ. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.67 กนอ.ได้ให้การต้อนรับนายธานี แสงรัตน์ เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล พร้อมด้วยคณะนักลงทุนเกาหลีใต้กว่า 20 ราย ในการเข้าร่วมประชุมหารือและรับฟังข้อมูลภาพรวมการลงทุนในประเทศไทย สิทธิประโยชน์ และการให้บริการของ กนอ. โดยได้เน้นย้ำถึงแคมเปญ “Now Thailand - The Golden Era”เพื่อสื่อสารให้นักลงทุนเกาหลีใต้รับรู้ว่า “นี่คือยุคทอง โอกาสทองของการลงทุนในประเทศไทย ไม่มีเวลาใดที่ดีไปกว่านี้แล้ว” สร้างความเชื่อมั่นและพร้อมให้การสนับสนุนนักลงทุนเกาหลีใต้ในการประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรมของไทย

การเยือนประเทศไทยของคณะนักลงทุนเกาหลีใต้ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจโอกาสทางธุรกิจและการลงทุน โดยมุ่งเน้นให้เกิดการลงทุนจริงในประเทศไทย โดนในการประชุมหารือ นักลงทุนเกาหลีใต้ได้แสดงความสนใจในหลากหลายธุรกิจ อาทิ  ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ : แสดงความชื่นชมต่อนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอนของ กนอ. และอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าในประเทศไทย โดยต้องการให้ กนอ. ช่วยประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อทราบกระบวนการและ แนวทางการดำเนินธุรกิจ ธุรกิจผลิตรถบรรทุก EV : มีความสนใจใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกในอาเซียน และปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลการลงทุนในประเทศไทย ธุรกิจเหล็ก พลังงาน และอื่นๆ: บริษัทที่มีฐานการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ และนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง มีแผนการขยายการลงทุนในประเทศไทยเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่มีการถ่ายโอนธุรกิจด้านพลังงานและอื่นๆ ในปี 2567 และการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม Smart Park ที่มีการคาดการณ์มูลค่าการลงทุนประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีนักลงทุนสัญชาติเกาหลีร่วมดำเนินการในธุรกิจต่างๆ เช่น พลังงาน และธุรกิจการแพทย์ เป็นต้น

“ถึงเวลาแห่งการลงทุนในประเทศไทยแล้ว Now Thailand”กนอ.พร้อมประสานงานในเรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมถึงการถือครองอาคารชุดและที่ดินในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนเกาหลีใต้” นายยุทธศักดิ์ กล่าว

ด้านนายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ กนอ. รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. กล่าวเสริมว่า การเยือนของคณะนักลงทุนเกาหลีใต้ครั้งนี้ ถือเป็นสัญญาณบวกที่สำคัญต่อการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระดับภูมิภาค รวมทั้งตอกย้ำความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาค โดย กนอ.พร้อมให้บริการที่เหนือระดับและมีส่วนร่วมสร้างอนาคตที่มั่นคงให้กับนักลงทุนด้วยบริการที่ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งการให้ข้อมูลเชิงลึก การให้คำปรึกษาด้านกฎหมายและภาษี การประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ และการอำนวยความสะดวกในการจัดตั้งธุรกิจ เพื่อให้นักลงทุนสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่นและประสบความสำเร็จ รวมถึงการให้คำปรึกษา สนับสนุนด้านต่างๆ และอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ

สำหรับการประชุมหารือกับคณะนักลงทุนจากประเทศเกาหลีใต้ ณ สำนักงานใหญ่ กนอ. การประชุม ครั้งนี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 มีผู้บริหาร กนอ. และนักลงทุนเกาหลีใต้เข้าร่วมประมาณ 20 คน

‘รองนายกฯ ประเสริฐ’ เผย ‘บอร์ด สสว.’ เห็นชอบงบกองทุน 2,300 ล้านบาท เฟสแรกยกระดับเอสเอ็มอี พัฒนากิจการ เพิ่มขีดความสามารถ หมุนเวียนธุรกิจ 

(19 ธ.ค.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะประธานกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (บอร์ดส่งเสริมฯ สสว.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบวงเงินงบประมาณ 2,300 ล้านบาท ในการดำเนินงานภายใต้โครงการสนับสนุน SME ผ่านกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ สสว.เคยขอจัดสรรเพิ่มเติม วงเงิน 5,000 ล้านบาท 

นายประเสริฐ กล่าวว่า งบประมาณดังกล่าว เริ่มในปีงบประมาณ 2567 ที่ สสว. ได้ขอจัดสรรงบประมาณประจำปี 2567 เพิ่มเติมจำนวน 5,000 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เอสเอ็มอีกู้ยืมสำหรับดำเนินการก่อตั้ง ปรับปรุง และพัฒนากิจการของเอสเอ็มอีให้มีประสิทธิภาพและขีดความสามารถเพิ่มขึ้น รวมทั้งเพื่อเป็นเงินช่วยเหลืออุดหนุนหรือลงทุนใดที่เกี่ยวกับการขยายกิจการ การวิจัย พัฒนาและการส่งเสริมเอสเอ็มอีให้มีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแข่งขันในปัจจุบัน สสว. จึงได้ทบทวนและปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงาน โดยได้ขออนุมัติวงเงินงบประมาณเบื้องต้นคือ จำนวน 2,300 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการสนับสนุน SME ผ่านกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งแนวการดำเนินงานได้แก่ 1.การสนับสนุนเงินกู้ให้แก่ผู้ประกอบการ วงเงินงบประมาณ 2,000 ล้านบาท สำหรับดำเนินการก่อตั้ง ปรับปรุง และพัฒนากิจการของเอสเอ็มอี ผ่านสถาบันการเงินของรัฐ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และ 2. สนับสนุนงบประมาณโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS (Business Development Service) ปีงบประมาณ 2569-2570 เพิ่มเติม วงเงินงบประมาณ 300 ล้านบาท

สำหรับ โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS คือ สสว. จะอุดหนุนค่าใช้จ่ายแบบร่วมจ่าย (Co-payment) เป็นสัดส่วนตามขนาดของธุรกิจตามนิยามเอสเอ็มอีของ สสว. คือ นิติบุคคล/บุคคลที่จดทะเบียน ภาครัฐ/วิสาหกิจชุมชน 

“ธุรกิจขนาดไมโคร วงเงินสนับสนุนไม่เกิน 50,000 บาท หรือ สสว. สนับสนุน ร้อยละ 80 MSME จ่ายร้อยละ 20 และสำหรับเอสเอ็มอีขนาดเล็ก หรือ SMALL วงเงินสนับสนุนไม่เกิน 1 แสนบาท โดย สสว. สนับสนุน ร้อยละ 80 เช่นกัน ส่วนนิติบุคคล ขนาดธุรกิจ คือขนาดกลาง สสว. สนับสนุน ร้อยละ 50 วงเงินสนับสนุน ไม่เกิน 200,000 บาท ทั้งนี้ เอสเอ็มอีแต่ละรายจะได้รับการอุดหนุนทั้งหมดไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top