Friday, 16 May 2025
ECONBIZ NEWS

'พาณิชย์' เผย ต่างชาติลงทุนไทย 10 เดือนแรกปี 65 ทะยานแตะ 106,437 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 72%

พาณิชย์เผย 10 เดือน ปี 2565 ต่างชาติลงทุนในไทย 106,437 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 72% หรือ 44,469 ล้านบาท ญี่ปุ่นอันดับหนึ่ง ตามด้วยจีน และสิงคโปร์ จ้างงานคนไทยรวม 4,635 คน

เมื่อไม่นานมานี้ นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว รายงานให้ทราบว่า ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) ของปี 2565 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยจำนวน 480 ราย

โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวจำนวน 181 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวจำนวน 299 ราย เม็ดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 106,437 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 4,635 คน

โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่

- ญี่ปุ่น 125 ราย (ร้อยละ 26) เงินลงทุน 37,738 ล้านบาท
- สิงคโปร์ 75 ราย (ร้อยละ 16) เงินลงทุน 11,693 ล้านบาท
- สหรัฐอเมริกา 64 ราย (ร้อยละ 13) เงินลงทุน 3,327 ล้านบาท
- ฮ่องกง 35 ราย (ร้อยละ 7) เงินลงทุน 8,375 ล้านบาท
- จีน 22 ราย (ร้อยละ 5) เงินลงทุน 20,841 ล้านบาท

เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 (ม.ค.-ต.ค.) พบว่าการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย เพิ่มขึ้น 34 ราย คิดเป็นร้อยละ 8 (ปี 2565 อนุญาต 480 ราย ปี 2564 อนุญาต 446 ราย)

เม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 44,469 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 72 (ปี 2565 ลงทุน 106,437 ล้านบาท ปี 2564 ลงทุน 61,968 ล้านบาท) และจ้างงานคนไทยเพิ่มขึ้น 352 คน คิดเป็นร้อยละ 8 (ปี 2565 จ้างงาน 4,635 คน ปี 2564 จ้างงาน 4,283 คน) โดยปี 2564 ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนสูงสุดคือ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับปี 2565

เดือนมกราคม-ตุลาคม 2565 ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ อาทิ บริการออกแบบ ก่อสร้าง ติดตั้ง และตรวจสอบระบบกักเก็บพลังงาน สำหรับโครงการโรงผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานสำหรับสนามบินอู่ตะเภา

บริการขุดเจาะหลุมปิโตรเลียมภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย บริการขุดลอก ถมทะเลและก่อสร้างม่านดักตะกอนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ในโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Electric Vehicle Charging Station) สำหรับรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า

บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การให้คำปรึกษาเชิงเทคนิคแบบครบวงจรในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ การช่วยเหลือด้านการออกแบบ การพัฒนา และทดสอบระบบ เป็นต้น บริการวิจัย พัฒนา และวิศวกรรมด้านไบโอรีไฟเนอรีในระดับขยายขนาดสำหรับกระบวนการทางชีวภาพ บริการพัฒนาและให้บริการซอฟต์แวร์ด้านวิเคราะห์และเชื่อมโยงเพื่อบริหารจัดการข้อมูล Big Data, Data Analytics

>> EEC ลงทุนแล้ว 94 ราย จาก 3 ประเทศ

การลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ เดือนมกราคม-ตุลาคม 2565 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 94 ราย คิดเป็นร้อยละ 20 ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมด โดยมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC 44,948 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42 ของเงินลงทุนทั้งหมด

ในจำนวนดังกล่าว เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น 40 ราย ลงทุน 24,326 ล้านบาท สิงคโปร์ 8 ราย ลงทุน 2,006 ล้านบาท และสหรัฐอเมริกา 7 ราย ลงทุน 1,075 ล้านบาท

ธุรกิจที่ลงทุน อาทิ 1) บริการวิจัย พัฒนา และวิศวกรรมด้านไบโอรีไฟเนอรีในระดับขยายขนาดสำหรับกระบวนการทางชีวภาพ 2) บริการพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นการออกแบบและพัฒนาระบบบริหารจัดการควบคุมการผลิตในโรงงาน และระบบบริหารจัดการสินค้าคงคลัง และ 3) บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชั่น การอัพเกรดซอฟต์แวร์ต่าง ๆ เป็นต้น

คาดว่าอีก 2 เดือนที่เหลือ (พ.ย.-ธ.ค. 2565) จะมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากภาครัฐมีมาตรการส่งเสริมการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจโดยผ่อนคลายให้มีการเปิดประเทศ และเพิ่มการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเสริมให้เศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 12 – 16 ธ.ค. 65 จับตาปัจจัย ‘บวก - ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 19 – 23 ธ.ค. 65

ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent และ Nymex WTI เฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นกว่า 2 เหรียญ จากสัปดาห์ก่อนหน้า จากตลาดคาดจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกจะเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ หลังจากเริ่มทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุม COVID-19 ขณะเดียวกัน ตลาดน้ำมันยังได้รับแรงสนับสนุนจาก รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศแผนซื้อน้ำมันดิบเติมเข้าคลังสำรองปิโตรเลียมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) ปริมาณ 3 ล้านบาร์เรล ส่งมอบเดือน ก.พ. 66 นับเป็นการซื้อเพื่อเก็บเป็น SPR ครั้งแรกหลังระบายน้ำมันดิบปริมาณ 180 ล้านบาร์เรล ตั้งแต่เดือน มี.ค. 65  

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านเศรษฐกิจยังคงกดดันราคาน้ำมัน โดยล่าสุด S&P Global รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมภาคการผลิตและการบริการ (Composite Purchasing Managers’ Index: PMI) ของสหรัฐฯ ในเดือน ธ.ค. 65 ลดลงจากเดือนก่อน 1.8 จุด  มาอยู่ที่ 44.6 จุด ต่ำสุดในรอบ 4 เดือน หดตัวเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน และ PMI ต่ำกว่า 50 จุด บ่งชี้ภาวะหดตัว 

สำหรับในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวระหว่าง $78-83/BBL ประเด็นที่ต้องจับตา ได้แก่ การตอบโต้ของรัสเซียต่อการกำหนดเพดานราคา (Price Cap) น้ำมันดิบรัสเซียที่ขนส่งทางทะเล ตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค. 65 ของกลุ่ม G7 พร้อมด้วยออสเตรเลียและสหภาพยุโรป (EU) โดยรัฐบาลรัสเซียเผยว่าได้ข้อสรุปมาตรการตอบโต้ชาติตะวันตก และเตรียมที่จะเปิดเผยรายละเอียดภายในสัปดาห์นี้  และกล่าวย้ำว่ารัสเซียจะไม่จัดส่งน้ำมันให้กับประเทศที่ดำเนินการตามข้อตกลง Price Cap 

‘บิ๊กตู่’ เผย สถานะการเงินประเทศไปในทิศทางบวก ยัน!! ได้รับความเชื่อมั่น-ยอมรับจากหลายประเทศทั่วโลก

นายกรัฐมนตรี สถานะการเงิน การคลังประเทศดี โวได้รับการยอมรับจากนานาชาติ แม้ มีคนลำบากอยู่บ้าง แต่รัฐบาลจะหามาตรการที่เหมาะสมดูแล บอกปีหน้าค่าไฟแพงขึ้นจากต้นทุนการผลิต

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ถึงสถานการณ์การเงินการคลังภายในประเทศ ว่า ดี ได้รับความเชื่อมั่นและเชื่อถือจากองค์กรต่างประเทศ ขอให้ใจเย็น ๆ แล้วกัน รัฐบาลกำลังทำให้ดีที่สุด ทุกคนก็รู้ว่าช่วงนี้ปัญหามีเยอะ แต่ก็ยังโชคดีที่หลาย ๆ อย่างดีขึ้น รวมถึงการจับจ่ายใช้สอยก็ดีขึ้น ขณะเดียวกันคนที่ลำบากก็ยังมีอยู่ รัฐบาลก็จำเป็นจะต้องหามาตรการที่เหมาะสม เพื่อรักษาเสถียรภาพการเงินการคลังเราให้ดี และสถานะการเงินการคลังของเราถือว่าดีมาก ๆ ถ้าเทียบกับที่อื่น ที่เราได้ไปอียูมาเขาก็ชื่นชมเรา

'บิ๊กป้อม' ล่องใต้ ตามติดเศรษฐกิจ 3 จว.ชายแดน พร้อมรับฟังปัญหา หนุนชาวบ้านมีงานทำทั่วถึง

'พล.อ.ประวิตร’ ลงใต้ ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ตามติดขับเคลื่อนเศรษฐกิจปากท้องชาวบ้าน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ย้ำเสริมภาคประชาสังคมเข้มแข็ง รับฟังปัญหาและพัฒนาไปด้วยกัน

(19 ธ.ค. 65) โฆษก ประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย รมช.คลัง, รมช.กลาโหม และคณะ ได้เดินทางลงใต้ เรียกประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนา จ.ชายแดนภาคใต้ และ ตรวจติดตามราชการในพื้นที่ จ.ปัตตานี และ จ.ภูเก็ต

โดยได้ประชุม กพต. ณ ห้องประชุม ม.สงขลานครินทร์ อ.เมือง จ.ปัตตานี รับทราบการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ (เป็นการส่วนพระองค์) กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในการส่งเสริมการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ และรับทราบความคืบหน้าการดำเนินการงานที่สำคัญ ประกอบด้วย การพัฒนาทักษะแรงงาน และการสอนภาษานานาชาติ การขับเคลื่อนโครงการแก้ปัญหาความยากจน ตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เพื่อเพิ่มรายได้ครัวเรือน โดยขยายการช่วยเหลือเพิ่ม 1,200 ครอบครัวในปี 66 โครงการเมืองปศุสัตว์ตามกรอบระเบียบเศรษฐกิจฮาลาล ซึ่งมีเกษตรกรนำร่อง 5 จังหวัด 171 กลุ่ม ความก้าวหน้าการจัดทำแผนพัฒนา จ.นราธิวาส และ จ.ปัตตานี

พร้อมกันนี้ยังได้ร่วมพิจารณาและให้ความเห็นชอบหลักการโครงการที่สำคัญ เช่น โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการแก้ปัญหาและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากระดับชุมชนหมู่บ้าน ปี 66-70 รวมทั้ง โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้นำทุกศาสนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ปี 66-70 และ (ร่าง) แผนส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาชนในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ปี 67-70 ซึ่งมีองค์กรกว่า 200 องค์กรเข้าร่วมโครงการ เป็นต้น

‘รัฐบาล’ โชว์ผล ‘แก้หนี้ครัวเรือน’ ดีขึ้นต่อเนื่อง ยัน!! เดินหน้าต่อ เพื่อเคลื่อน ศก.ไทยในภาพรวม

(19 ธ.ค. 65) นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภาพรวมการดำเนินการ ‘ปี 2565 ปีแห่งการแก้หนี้’ ภายใต้นโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ให้ทุกส่วนราชการ สถาบันการเงินภาครัฐและเอกชน ร่วมแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนให้ได้อย่างจริงจังนั้น ทำให้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพบว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในไตรมาส 2 ปี 2565 เหลือ 88.2% ลดลงจากไตรมาส 1 ปี 2565 ที่ 89.1% และไตรมาส 4 ปี 2564 ที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงถึง 90% 

โดยหนี้ครัวเรือน 4 อันดับแรก ได้แก่

1. เงินกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 34.6 ของหนี้ครัวเรือนรวม 
2. เงินกู้เพื่อการบริโภคอุปโภคส่วนบุคคลสัดส่วนร้อยละ 28.0 ของหนี้ครัวเรือนรวม 
3. เงินกู้เพื่อการประกอบธุรกิจ สัดส่วนร้อยละ 18.2 ของหนี้ครัวเรือนรวม 
และ 4. เงินกู้เพื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์ สัดส่วนร้อยละ 12.3 ของหนี้ครัวเรือนรวม

นายธนกร กล่าวว่า รัฐบาลแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนผ่านมาตรการต่าง ๆ ได้แก่ 

1. การแก้ปัญหาหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยปฏิรูปรูปแบบการชำระหนี้ อาทิ การปรับปรุงรูปแบบการจ่ายชำระหนี้คืน จากรายปีเป็นรายเดือน ชำระคืนค่างวดแบบเฉลี่ยเท่ากันทุกเดือน ขยายระยะเวลาการผ่อนชำระจาก 15 ปี เป็น 25 ปี ปรับปรุงลำดับการตัดชำระหนี้ โดยนำไปตัดเงินต้นก่อน แล้วจึงตัดดอกเบี้ย ปรับลดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ เหลือร้อยละ 2 ต่อปี เป็นต้น

2. การแก้ปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เช่น การประกาศกรอบอัตราค่าใช้จ่ายในการทวงถามหนี้ที่ช่วยคุ้มครองลูกหนี้ ไม่ให้ถูกเรียกเก็บเงินในการทวงถามหนี้เกินความจำเป็น

3. การแก้ปัญหาหนี้สินข้าราชการโดยเฉพาะข้าราชการครู ยุบยอดหนี้โดยใช้ทรัพย์สินและรายได้ของครูในอนาคต เพื่อให้ยอดหนี้ลดลงและสามารถชำระคืนได้จากเงินเดือน การปรับดอกเบี้ยเงินกู้ให้ลดลงเหลือไม่เกินร้อยละ 5 

4. หนี้สินข้าราชการตำรวจ การขอความร่วมมือสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 พักชำระหนี้เงินต้น ปรับลดอัตราการถือหุ้นรายเดือน จัดทำโครงการปล่อยเงินกู้ระยะสั้นดอกเบี้ยต่ำ และการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้

‘บิ๊กตู่’ หนุน ไทยเป็นฮับ EV ในภูมิภาคอาเซียน พร้อมตั้งเป้าผลิต 250,000 คันต่อปี ภายในปี 2568

(19 ธ.ค. 65) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และชิ้นส่วนยานยนต์ที่สำคัญ โดยในปี 2568 วางแผนที่จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เป็นจำนวน 250,000 คันต่อปี ซึ่งจะทำให้ภายในปี 2573 สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท

นายอนุชา กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม สมาคมยานยนต์ไทย และหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ได้ตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และชิ้นส่วนยานยนต์ที่สำคัญ โดยตั้งเป้าให้ปี 2568 จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้จำนวน 250,000 ต่อปี ซึ่งคิดเป็น 10% ของจำนวนการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในประเทศ และในปี 2573 จะเพิ่มจำนวนการผลิตเป็น 750,000 คันต่อปี หรือ 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด 2,500,000 คัน แบ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) 375,000 คัน รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (Hybrid Electric Vehicle: HEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (Plug-In Hybrid Electric Vehicle: PHEV) 375,000 คัน ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ GDP ของประเทศไทย เป็นจำนวนเงินถึง 200,000 ล้านบาท และเพิ่มอัตราการจ้างแรงงานในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ถึง 30,000 อัตราต่อปี

นายอนุชา กล่าวว่า รัฐบาลได้พัฒนาระบบนิเวศ (Ecosystem) ของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ขับเคลื่อนปัจจัยแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อการลงทุนเพื่อสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ตลอดจน ออกมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หรือแพคเกจรถยนต์ EV มาตรการลดภาษี EV ปี 2565 - 2568 ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับภาพรวมการดำเนินนโยบายของรัฐบาล 

นายอนุชา กล่าวว่า โดยรัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เคยออกมาตรการเพื่อส่งเสริมการผลิต รถยนต์ไฟฟ้า ตั้งแต่ปี 2563 ได้แก่ กรณีที่มีขนาดการลงทุนมากกว่า 5,000 ล้านบาท การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และหากมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาก็สามารถได้รับสิทธิเพิ่ม กรณีขนาดการลงทุนน้อยกว่า 5,000 ล้านบาท การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี และจะได้รับสิทธิเพิ่มขึ้นหากดำเนินการได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น เริ่มผลิตรถยนต์ภายในปี 2565 มีการผลิตชิ้นส่วนสำคัญเพิ่มเติมจากข้อกำหนดพื้นฐาน มีปริมาณการผลิตจริงมากกว่า 10,000 คันต่อปี

PROUD ส่งโปรโมชั่นสุดพิเศษ ส่งท้ายปี เตรียมฉลองปิดการขาย อินเตอร์คอนฯ เรสซิเดนเซส หัวหิน

พราว เรียล เอสเตท เตรียมจุดพลุฉลองปิดการขายโครงการ อินเตอร์คอนติเนนตัล เรสซิเดนเซส หัวหิน ที่พักอาศัยบนพื้นที่ติดหาดผืนสุดท้ายใจกลางหัวหิน จัดโปรโมชั่นสุดเอ็กคลูซีฟ 10 ยูนิตสุดท้าย มอบส่วนลดสิทธิพิเศษมากมายก่อนปิดการขายโครงการภายในปี 2565 

ภูมิพัฒน์ สินาเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พราว เรียล เอสเตท จํากัด (มหาชน) หรือ PROUD  ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับลักชัวรี่ เปิดเผยว่า จากการเปิดอวดโฉมให้เข้าชมโครงการอินเตอร์คอนติเนนตัล เรสซิเดนเซส หัวหิน หลังสร้างเสร็จ 100% ไปเมื่อวันที่ 3-5 ธันวาคม 2565 ในงาน The Pursuit of Living พร้อมปาร์ตี้สุดเอ็กคลูซีฟ กระแสตอบรับดีเกินคาดจากผู้ร่วมงาน บริษัทเดินหน้าจัดโปรโมชั่นอย่างต่อเนื่องในช่วงโค้งสุดท้ายปี 

สำหรับ โครงการอินเตอร์ตอนติเนนตัล เรสซิเดนเซส หัวหิน (InterContinental Residences Hua Hin) คอนโดบนพื้นที่ติดหาดผืนสุดท้ายใจกลางเมืองหัวหิน จัดโปรโมชั่นเตรียมปิดการขายสิ้นปีนี้ ซื้อตอนนี้ดีที่สุด ลดแรงเกินล้านบาท รวมถึงห้องสวย Exclusive Unit ในราคาสุดพิเศษส่งท้ายปลายปี 1 ห้องนอนราคาเดียว 8.19 ลบ.* และ 2 ห้องนอนราคาเดียว 18 ลบ.*  ซึ่งเหลือเพียงไม่กี่ยูนิตเท่านั้น จองเพียง 50,000 บ. ฟรีค่าทำสัญญาให้กับลูกค้า รับโค้งสุดท้าย LTV กู้เต็ม 100%

นอกจากนี้ ลูกค้าที่จองห้องและทำสัญญาซื้อ-ขาย ตั้งแต่วันนี้ - 31 ธ.ค. 2565 จะได้รับสิทธิเป็น IHG One Reward Membership – Diamond Elite เป็นระดับสูงที่สุดนาน 2 ปี แบบ Fast Track  และรับทันที B&O Speaker Beosound Emerge รุ่นใหม่ล่าสุดมูลค่า 36,000 บาท ก่อนใคร พร้อมสิทธิพิเศษในการซื้อสินค้าเครื่องเสียงระดับ ไฮ-เอนด์ ภายใต้แบรนด์ Bang & Olufsen (B&O) รวมถึงสิทธิพิเศษอีกมากมายจาก Proud Privilege  

ส่วนลูกค้าทั่วไปที่เข้าเยี่ยมชมโครงการอินเตอร์คอนติเนนตัล เรสซิเดนเซส หัวหิน ตั้งแต่วันนี้ – 31 ธ.ค. 2565 สามารถซื้อและรับส่วนลดพิเศษ On-Top 5% ในการสั่งซื้อสินค้าแบรนด์ B&O ณ โครงการได้อีกด้วย 

‘แพทองธาร’ จับเข่าคุยผู้ประกอบการท่องเที่ยว แบ่งปันวิสัยทัศน์ท่องเที่ยวปี 2570 ปั้นประเทศไทยจะเป็นแลนด์มาร์คการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลก

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กกล่าวถึงการเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวเมื่อวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม 2565 ที่พรรคเพื่อไทย โดยร่วมแสดงความเห็นแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยในปี 2570 โดยตั้งเป้าหมายประเทศไทยเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยมีข้อความดังนี้  

“ใครๆ ก็บอกว่าการท่องเที่ยวเป็น engine สำคัญที่สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย แต่พอถึงวิกฤตโรคระบาคโควิด-19 การท่องเที่ยวไทยก็ล้มลงทันที จนทุกวันนี้แม้โควิด-19 จะซาลง รัฐบาลลดมาตรการควบคุมโรคระบาด นักท่องเที่ยวทยอยเข้ามาเที่ยวกันแล้ว แต่ปัญหาหลายอย่างก็ยังคงอยู่ อนาคตการท่องเที่ยวไทยจะไปทางไหนก็ยังไม่มีทิศทางชัดเจน

คือเสียงสะท้อนจากวงแลกเปลี่ยนความคิดจากภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ที่ทำให้กลับมาคิดตกตะกอนอะไรได้หลายอย่างมากเลยค่ะ  

พูดกันตามจริง ในฐานะผู้ประกอบการเหมือนกัน การท่องเที่ยวบ้านเรายังไม่ฟื้นค่ะ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะตั้งแต่ก่อน โควิด-19 การท่องเที่ยวของบ้านเราไม่มีรากฐานที่แข็งแรงมากพอ เมื่อเจอ worst case scenario จึงล้มลงและยากที่จะฟื้นฟูให้เป็นเหมือนเดิม 



จะดีกว่าหรือเปล่านะ ถ้ารัฐบาลในสมัยหน้ามองการณ์ไกลหรือรับมือกับสถานการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที จนไม่ทำให้ engine ที่สำคัญของ GDP ไทยต้องตกหลุมตกบ่อ ชะงักงันขนาดนี้ และจากการพูดคุยในวงนี้ทำให้รู้เลยค่ะ การพาให้การท่องเที่ยวไทยเติบโตมากกว่าก่อนโควิด-19  มี 4 เรื่องที่ต้องทำดังนี้ค่ะ

1) อ่านเทรนด์โลกให้ขาด แต่เดิม ภาพรวมตลาดการท่องเที่ยวไทยพึ่งตลาดจีนกว่า 60% แต่พอมีนโยบาย Zero-Covid ก็ทำให้นักท่องเที่ยวจีนไม่สามารถมาเที่ยวเมืองไทยได้ การท่องเที่ยวไทยก็ล้มลงทันที การท่องเที่ยวบ้านเราจะทำแบบนั้นไม่ได้แล้วค่ะ เราควรมองเทรนด์ผู้บริโภคให้ขาด ทุกวันนี้คนเราหันมาสนใจดูแลตัวเองกันมากขึ้น ธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2020 ตัวเลขจาก Global Wellness Institute ประเมินว่า ตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลกมีแนวโน้มเติบโตจาก 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2020 เป็น 11 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2025 ขณะที่ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 15 ของตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลกในปี 2020 และมีแนวโน้มว่าจะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เห็นตัวเลขอย่างนี้แล้วก็น่าสนใจนะคะ เพราะตลาดนี้ผู้บริโภคส่วนใหญ่แล้วเป็นกลุ่มที่มีกำลังทรัพย์และอิสระทางเวลา ถ้าประเทศไทยสามารถปักหมุดเรื่องนี้ เท่ากับเราสามารถกำลังดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงเข้ามา 

2)สร้างแรงงานให้พร้อม ไทยเรามีแรงงานด้านการท่องเที่ยวประมาณ 1.4 ล้านคน แต่ช่วงโควิด-19 ทำให้ต้องลดพนักงานลง พอประเทศเปิด ธุรกิจท่องเที่ยวเริ่มเข้าที่เข้าทาง แรงงานไทยเราก็กลับเข้าสู่ระบบไม่ทัน ตั้งแต่กลุ่มอาชีพสายบริการ การโรงแรม จนไปถึงธุรกิจการบิน ถ้าไทยจะปักหมุดเรื่องการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพให้อยู่ในใจคนทั่วโลก การส่งเสริมและสนับสนุนภาคการศึกษาเพื่อเตรียมแรงงานให้พร้อมสำหรับธุรกิจนี้ หรือจะเป็นการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้แรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศเพิ่มขึ้นในบางสาขางานของอุตสาหกรรมนี้ที่หาแรงงานได้ยากจริงๆค่ะ ก็น่าจะนับเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวที่น่าสนใจค่ะ 

3)กิโยตินกฎหมาย กฎหมายไทยเราซับซ้อนมากเกินไป แต่ละหน่วยงานมีระเบียบของตัวเอง บางระเบียบก็ขัดแย้งกัน เช่น เรามี พ.ร.บ.โรงแรมที่ดูแลเรื่องมาตรฐาน แต่ พ.ร.บ. นี้กลับอยู่ในอำนาจมหาดไทย ขณะที่เรื่องโฮมสเตย์ กลับอยู่ในอำนาจของกรมการท่องเที่ยว ส่วนเรื่องการทำแพ เป็นเรื่องของกรมเจ้าท่า การอนุญาตให้ตั้งที่พักในอุทยานแห่งชาติ ก็เป็นอำนาจของกรมอุทยานฯ ฉะนั้นแล้ว กฎหมายอะไรที่ล้าสมัย ไม่ตอบโจทย์ยุคสมัย ควรยกเลิก/แก้ไขได้แล้วค่ะ เพราะว่าไปแล้ว กฎหมายนอกจากทำหน้าที่ควบคุมระเบียบสังคมแล้ว ก็ควรเอื้ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการทำธุรกิจด้วยหรือเปล่าคะ?

4)สุดท้ายคือ สร้างการตลาดทำให้คนทั่วโลกเชื่อมั่นและมั่นใจอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย แต่เดิม Sea Sand Sun ของบ้านเราเป็นที่นิยมชมชอบอยู่แล้ว แต่ถ้าเราเพิ่มมูลค่าของการท่องเที่ยวให้มากกว่าแค่เรื่องธรรมชาติ แต่เป็น ‘ธรรมชาติ+สุขภาพ+วิทยาศาสตร์’ แล้วใส่ความคิดสร้างสรรค์ในการเพิ่มความรับรู้ของนักท่องเที่ยวผ่านหลายช่องทางของการสื่อสาร จะสร้างมูลค่าได้เพิ่มอีกมากเลยค่ะ 

‘บิ๊กตู่’ ปลื้มเกาะสมุย ต้อนรับ นักท่องเที่ยวจากเรือสำราญอีก 2,500 คน ตอกย้ำเที่ยวไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง

17 ธ.ค.2565 - น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม มีความยินดีภายหลังได้รับรายงานว่าวันนี้(17 ธ.ค.65) เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของไทย จะได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากยุโรปพร้อมกับเรือสำราญไมน์ ชิฟฟ์ 5 (Mein Schiff 5) กว่า 2,500 คน ที่มาแวะท่องเที่ยวเกาะสมุยแบบ One Day Trip ซึ่งหน่วยงานในเกาะสมุย และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ร่วมเตรียมการต้อนรับ เพื่อกระจายนักท่องเที่ยวลงไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในเกาะสมุย โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ให้เกิดการกระจายรายได้สู่ประชาชนในพื้นที่อย่างทั่วถึง

ทั้งนี้ เรือ ไมน์ ชิฟฟ์ 5 ถือเป็นเรือสำราญจากยุโรปลำที่ 2 ที่เดินทางมายังเกาะสมุย ต่อจากลำแรกที่เข้ามาประเทศไทยในรอบ 3 ปีหลังเกิดสถานการณ์โควิด19 เมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่ผ่านมา และหลังจากนี้ ในวันส่งท้ายปีเก่า 31 ธ.ค. 65 จะมีเข้ามาอีก 1 ลำ และข้อมูลจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี ระบุว่าในปี 2566 และ 2567 มีเรือสำราญกำหนดจะเข้ามาเยือนเกาะสมุย เบื้องต้น 31 ลำ และ 32 ลำตามลำดับ

“การเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวทางเรือสำราญจากต่างประเทศ ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นอีกสัญญาณที่ตอกย้ำถึงความคึกคักของการท่องเที่ยวไทย สอดคล้องกับการเดินทางเข้าในช่องทางอื่นๆ ทั้งทางอากาศและด่านทางบก ทำให้ขณะนี้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ มั่นใจว่าถึงสิ้นปีจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาไทยตามเป้าหมาย”น.ส.ไตรศุลี กล่าว

'ก.พาณิชย์' เผยตัวเลขต่างชาติลงทุนไทยยาวทั้งปี 65 ผลจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนรอบด้านของภาครัฐ

(16 ธ.ค. 65) นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ยอดการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวว่า ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ตลอด 11 เดือนของปี 2565 (ม.ค. - พ.ย.) อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 530 ราย แบ่งเป็น ใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน198 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 332 ราย เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 112,466 ล้านบาทจ้างงานคนไทย 5,008 คน 

ทั้งนี้ ต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 137 ราย เงินลงทุน 39,000 ล้านบาทสิงคโปร์ 85 ราย เงินลงทุน 11,999 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา 70 ราย เงินลงทุน 3,343 ล้านบาท ฮ่องกง 38 ราย เงินลงทุน 8,451 ล้านบาท และ จีน 25 ราย เงินลงทุน 22,677 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม โดยช่วง 11 เดือน 2565 นั้น ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตฯ ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top