Saturday, 26 April 2025
ECONBIZ NEWS

‘เอกนัฏ’ ขอบคุณไร่อ้อย-โรงน้ำตาล รับอ้อยสดเข้าหีบ ทุบสถิติ! อ้อยเผาต่ำสุดในประวัติศาสตร์ ลดเผาป่ากว่า 1.7 ล้านไร่

ทุบสถิติ! อ้อยเผาต่ำสุดในประวัติศาสตร์ ดันอ้อยสดแตะ 90% ‘เอกนัฏ’ ขอบคุณชาวไร่อ้อย-โรงน้ำตาล คืน ‘อากาศสะอาด ลดฝุ่น PM2.5’ ให้คนไทย

(28 ม.ค. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภายหลังจากกระทรวงอุตสาหกรรมขอความร่วมมือโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศให้รับเฉพาะอ้อยสดเข้าหีบ โดยชะลอ ระงับ ยับยั้ง และยุติการเผาไร่อ้อย พร้อมทั้งยุติการรับอ้อยเผาเข้าหีบ ตามแนวทางมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ฝุ่นละออง PM2.5) ของนายกรัฐมนตรีและมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 โดยจากสถิติการผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายฤดูการผลิต 2567/2568 ของโรงงานน้ำตาล 58 แห่งทั่วประเทศ ณ วันที่ 26 มกราคม 2568 พบว่า ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศให้ความร่วมมือตัดและรับอ้อยเผาเข้าหีบต่ำสุดในประวัติศาสตร์ ลดลงใกล้แตะ 10% ดันอ้อยสดพุ่ง 90% ของปริมาณการรับอ้อยเข้าหีบทั้งหมด โดยปริมาณการตัดและรับอ้อยสดเข้าหีบสะสมของโรงงานน้ำตาลตั้งแต่วันที่เริ่มเปิดหีบอ้อยเพิ่มสูงขึ้นถึง 83% จากฤดูกาลผลิตที่แล้วที่ 67% ลดการเผาอ้อยลงได้กว่า 17 ล้านตัน

นายเอกนัฏกล่าวว่า เทียบเท่าลดการเผาป่าลงได้กว่า 1.7 ล้านไร่ หรือลดการปลดปล่อย PM2.5 ลงได้กว่า 4,250 ตัน เมื่อเทียบกับฤดูการผลิต 2566/2567 ส่งผลให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนไล่เรียงลงมาถึงภาคกลางมีค่าคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น ฝุ่นพิษ PM2.5 ลดลง ทำให้ประชาชนมีความมั่นใจในการออกมาทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจนอกบ้านเพิ่มมากขึ้น

นายเอกนัฏกล่าวเพิ่มเติมว่า หากชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศทั้ง 58 โรงงานให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการรักษามาตรฐานลดการตัดและรับอ้อยเผาลงอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายจะเป็นเป็นส่วนหนึ่งในการไม่ซ้ำเติมให้ค่าดัชนีคุณภาพอากาศสูงขึ้น และมีส่วนช่วยให้ประชาชนได้รับอากาศบริสุทธิ์ ใช้ชีวิตประจำวันและทำกิจกรรมกลางแจ้งตามปกติ

“กระทรวงอุตสาหกรรมขอขอบคุณไปยังผู้บริหารโรงงานน้ำตาลและเกษตรกรชาวไร่อ้อยกว่า 90% ที่ให้ความร่วมมือไม่รับซื้ออ้อยเผาและไม่เผาอ้อย ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้คนไทยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี อากาศบริสุทธิ์ ขอบคุณ และขอความร่วมมือในการรักษามาตรฐานลดการรับอ้อยเผาลงอย่างต่อเนื่องตลอดฤดูหีบอ้อยนี้ เพื่อช่วยกันคืน ‘อากาศสะอาด ลดฝุ่น PM2.5’ ให้กับสังคมไทย และเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายให้เป็นอุตสาหกรรมรักษ์โลกที่ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก สอดรับกับกติกาสากล สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล” นายเอกนัฏฯ กล่าวทิ้งท้าย

นายกฯ คิกออฟ กดปุ่มโอนเงินหมื่น เฟส 2 กลุ่ม 60 + เติมเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจไทยกว่า 3 หมื่นล้านบาท

นายกฯ คิกออฟ กดปุ่มโอนเงินหมื่น เฟส 2กลุ่ม 60 + กว่า 3 ล้านคนทั่วประเทศ เติมเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจไทยกว่า 3 หมื่นล้านบาท ย้ำกรณีโอนไม่ผ่านหรือติดขัดในวันนี้รัฐบาลจะโอนซ้ำอีก3รอบ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 28 มีนาคม และ28เมษายน จากนั้นจะนำข้อมูลมาพิจารณา

(27 ม.ค. 68) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน (Kick Off) โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผู้สูงอายุ พร้อมกล่าวว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งรัฐบาลได้เน้นย้ำและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ เพื่อทำให้ประชาชนมีกินมีใช้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาในเฟสแรกมีการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ จำนวน 14 ล้านคน โดยได้มอบเงิน จำนวน 10,000 บาท ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างมากมาย มีการจับจ่ายซื้อของทำให้เศรษฐกิจกระตุ้นขึ้น และบางครอบครัวได้นำเงินมารวมกันเพื่อต่อยอดทำธุรกิจสร้างรายได้เพิ่มขึ้น ถือเป็นความสำเร็จของรัฐบาลที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ และวันนี้เป็นเฟสที่สองของการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะจ่ายเงิน 10,000 บาท ผ่านบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประชาชนให้ผู้สูงอายุจำนวนกว่า 3,000,000 คน ส่งผลให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทยเป็นจำนวนประมาณกว่า 30,000 ล้านบาท  โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวแสดงความยินดีกับประชาชน และหวังให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยเงินจำนวนนี้ เพื่อช่วยบรรเทาทุกข์ แบ่งเบาภาระได้หลาย ๆ อย่าง และนำไปต่อยอดในการประกอบอาชีพต่อไป 

จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้กดยืนยันการโอนเงิน 10,000 บาท ให้แก่กลุ่มเป้าหมายของโครงการฯ ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของการเปิดตัวโครงการฯ อย่างเป็นทางการ เพื่อให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง และสร้างความเชื่อมั่นต่อการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของคณะรัฐมนตรีที่ได้แถลงต่อรัฐสภา

ภายหลังกดปุ่มโอนเงิน นายกรัฐมนตรีรับฟังความรู้สึกจากตัวแทนกลุ่มผู้สูงอายุที่ได้รับเงินตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้สูงอายุ โดยผู้สูงอายุต่างขอบคุณรัฐบาลที่เห็นความสำคัญ ไม่ทอดทิ้งกลุ่มผู้สูงอายุ มอบโอกาสให้ผู้สูงอายุมีเงิน 10,000 บาท เพื่อนำเงินที่ได้รับไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง และครอบครัว

จากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้พูดคุยผ่านระบบ Video Conference กับป้าจันทร์ อายุ 79 ปี อาชีพแม่ค้าขายไข่สด โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวทักทายป้าจันทร์ว่า วันนี้หน้าตาสดใส ทางด้านป้าจันทร์กล่าวว่า หน้าตาสดใสเพราะดีใจที่ได้รับเงิน 10,000 จากรัฐบาล พร้อมกับกล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่ดำเนินโครงการที่ดีเป็นประโยชน์ โดยจะนำเงินที่ได้รับไปซื้อไข่มาขายต่อ และเงินอีกส่วนหนึ่งจะนำไปจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน พร้อมกับกล่าวให้กำลังใจนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ขอให้มีกำลังใจที่ดีในการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประเทศชาติและประชาชน โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวให้กำลังใจป้าจันทร์ ขอให้มีกำลังใจในการประกอบอาชีพ และมีสุขภาพที่แข็งแรง

สำหรับเงินสนับสนุน เฟส 2 นี้ หากดำเนินการโอนแล้วติดขัดเรื่องใด ๆ จากจำนวนผู้ลงทะเบียน รัฐบาลจะ โอนซ้ำอีก 3 ครั้งในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 28 มีนาคม และ 28 เมษายน ปีนี้และหากพ้นกำหนด 3 ครั้ง ก็จะ ตรวจสอบว่าเหลืออยู่จำนวนเท่าไร เพื่อนำมากำหนดวิธีสำหรับผู้ไม่มี สมาร์ตโฟนต่อไป

กระทรวงอุตฯ ดันกองทุนประชารัฐยกระดับเอสเอ็มอี ยก บ.ไรซ์แฟคทอรี่ ต้นแบบธุรกิจที่ปรับตัว ส่งข้าวฮางงอกอินทรีย์ทั่วโลก

(27 ม.ค. 68) กระทรวงอุตสาหกรรม หนุนกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ อัดฉีดเม็ดเงินกว่า 2,500 ล้านบาท ยกระดับเอสเอ็มอีทั่วประเทศ โดยในช่วงที่ผ่านมาช่วยผู้ประกอบการไปแล้ว 13,661 ราย ด้วยวงเงินกว่า 25,649.25 ล้านบาท พร้อมเผย ต้นแบบความสำเร็จ บ.ไรซ์แฟคทอรี่ นำเงินกองทุนฯ ปรับปรุงคุณภาพการผลิต เจาะตลาดข้าวฮางงอกอินทรีย์ไปทั่วโลก  

ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากแนวนโยบายของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มุ่งปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ยกระดับอุตสาหกรรม เชิงพื้นที่ และสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อก้าวไปสู่การผลิตที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต ซึ่งผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนด้านเงินลงทุนเพื่อการปรับปรุงกิจการอย่างเพียงพอ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงให้กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ เข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการ มีเป้าหมายเพื่อให้เอสเอ็มอีปรับตัว ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันได้ในปัจจุบัน และอนาคต  รวมทั้งยกระดับการบริหารธุรกิจเอสเอ็มอีให้มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน ตลอดจนการต่อยอดธุรกิจให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง โดยได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ในการใช้กองทุนฯ ไว้ 4 ด้าน ได้แก่ 

1. สร้างโอกาส ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของเอสเอ็มอีผ่านกลไกกองทุนฯ โดยการพัฒนาโครงการสินเชื่อที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลาย และให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว สอดคล้องกับความต้องการของผู้รับบริการ 2. พัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับลูกค้ากองทุนเอสเอ็มอีฯ โดยการยกระดับจากเอสเอ็มอีขนาดเล็กสู่ขนาดกลางและขนาดใหญ่ รวมทั้งช่วยแก้ปัญหาเพื่อป้องกัน ตลอดจนฟื้นฟูลูกหนี้กองทุนฯ ที่มีความเสี่ยง 3. พัฒนาเครือข่ายกองทุนในพื้นที่ โดยบูรณาการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ 4. เสริมสร้างขีดความสามารถองค์กรในการบริหารงานกองทุนเอสเอ็มอี 

สำหรับการดำเนินงานของกองทุนฯ ที่ผ่านมานั้น ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก มีผู้ที่ขอสินเชื่อแล้วประมาณ 13,661 ราย วงเงิน 25,649.25 ล้านบาท ซึ่งภายใน ปี 2568 ได้วางแผนที่จะเร่งปล่อยสินเชื่อให้ได้อีก 2,500 ล้านบาท ทั้งนี้ กองทุนมีการดำเนินการโครงการส่งเสริมเพื่อยกระดับผู้ประกอบการและขีดความสามารถ ซึ่งคาดว่าจะช่วยยกระดับผู้ประกอบการได้ไม่น้อยกว่า 200 ราย เพิ่มมูลค่าธุรกิจได้กว่า 383 ล้านบาท  โดยหนึ่งในกิจการที่กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ได้เข้าไปมีส่วนในการยกระดับจนประสบความสำเร็จ คือ บริษัท ไรซ์แฟคทอรี่ จำกัด จังหวัดนครพนม โดย นางสาวชบา ศรีสุโน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไรซ์แฟคทอรี่ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯทำธุรกิจแปรรูปข้าวตั้งแต่ปี 2559 โดยเน้นในด้านการผลิตข้าวฮางงอกอินทรีย์ ซึ่งมีสารกาบา (GABA) มากกว่าข้าวกล้อง 30 เท่า มีประโยชน์มากมาย เช่น ช่วยรักษาระบบประสาทส่วนกลาง รักษาสมดุลในสมอง ป้องกันความจำเสื่อม กระตุ้นการผลิตฮอร์โมนที่ช่วยการเจริญเติบโต ชะลอความชรา ป้องกันการสะสมของไขมัน และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันเลือด กระตุ้นการขับถ่าย และป้องกันมะเร็งลำไส้ จึงเหมาะสำหรับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภคที่รักสุขภาพ 

ทั้งนี้ ในช่วงเริ่มบุกเบิกตลาดส่งออกมีผู้ซื้อชาวสิงคโปร์ และฮ่องกง ซึ่งมีความเข้มงวดในด้านคุณภาพ และในด้านสิ่งเจือปนสูงมาก ทำให้บริษัทฯ ต้องเร่งปรับปรุงระบบการผลิต โดยได้ยื่นขอสินเชื่อของโครงการกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ กระทรวงอุตสาหกรรม และได้รับการอนุมัติสินเชื่อ มาซื้อเครื่องจักรคัดแยกสิ่งเจือปน และปรับปรุงโรงงาน ทำให้สินค้าของบริษัทฯ มีคุณภาพสูงขึ้นจนผ่านเกณฑ์มาตรฐานของต่างประเทศ ส่งผลให้มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นมาก ในปัจจุบันข้าวฮางงอกอินทรีย์มีสัดส่วนส่งออกสูงถึงร้อยละ 70 อีกร้อยละ 30 เป็นตลาดภายในประเทศ  

“กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ได้ช่วยชุบชีวิตและเป็นที่พึ่งให้กับบริษัทฯได้มาก เพราะให้ข้อเสนอด้านสินเชื่อที่ดีกว่าสถาบันการเงินทั่วไป โดยมีอัตราดอกเบี้ยเพียง 1 % เป็นส่วนช่วยให้เอสเอ็มอีมีกำลังในการต่อสู้มากขึ้น และผ่อนจ่ายหนี้หมดได้ไว สามารถต่อยอดพัฒนาธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว” นางสาวชบา กล่าว 

และในปัจจุบันกระแสความต้องการสินค้าที่เสริมสร้างสุขภาพเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ข้าวฮางงอกได้รับความนิยมในตลาดต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะจากลูกค้าชาวจีน ในช่วงต้นปี บริษัทฯ ได้ลงทุนเพิ่มกว่า 4.5 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่เพียงพอในการเพิ่มกำลังการผลิต เพราะความต้องการของตลาดมีสูงมาก ดังนั้น จึงมีแผนที่จะขอกู้ในโครงการสินเชื่อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถธุรกิจ (เสือติดปีก) ของกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ จำนวน 12 ล้านบาท เพื่อเพิ่มเครื่องจักร และขยายโรงงาน รวมทั้งการจัดทำศูนย์การเรียนรู้ด้านการทำข้าวฮางด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งที่ผ่านมาได้มีกลุ่มเกษตรกร และสถาบันการศึกษาเข้ามาศึกษาดูงานเป็นจำนวนมาก แต่ไม่สามารถรองรับได้เพียงพอ เพราะติดขัดในเรื่องสถานที่ ห้องน้ำ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ซึ่งเงินทุนที่เข้ามาใหม่นี้ไม่เพียงจะช่วยเพิ่มกำลังการผลิต แต่ยังช่วยบ่มเพาะความรู้ความเข้าใจให้กับเกษตรกรและเยาวชนอีกด้วย 

“ปัจจุบันบริษัทฯ ผลิตข้าวฮางงอกอินทรีย์ 5 หมื่นแพคต่อเดือน ขณะที่ลูกค้าจีนเพียง 1 ราย ต้องการสินค้า 1 – 3 แสนแพคต่อเดือน นอกจากนี้ยังต้องการข้าวฮางงอกเหนียวดำ 200 ตันต่อปี และยังมีลูกค้าต่างชาติทยอยติดต่อเข้ามาเพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องขยายเครื่องจักรและโรงงาน เพื่อรองรับคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด” นางสาวชบา กล่าว

ส่วนในอนาคต บริษัทฯ มีแผนในการต่อยอดไปสู่การผลิตข้าวฮางงอกพร้อมรับประทาน ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำการวิจัยร่วมกับศูนย์วิจัยเทคโนโลยีแปรรูปอาหาร ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อผลิตข้าวฮางงอกพร้อมทานดังกล่าว สำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยเบาหวาน จากการประเมินเบื้องต้นจะต้องใช้งบลงทุนเพิ่มอีกประมาณ 7 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการ เพื่อพิจารณาขยายการลงทุนต่อไปในอนาคต

รถไฟฟ้าฟรี ลดฝุ่น PM 2.5 ดัน!! ผู้ใช้ ‘รถไฟฟ้าสายสีแดง’ เพิ่ม 34% หลัง ‘คมนาคม’ ออกมาตรการ ส่งเสริมการเดินทาง ด้วยระบบราง

เมื่อวานนี้ (25 ม.ค. 68) นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เผยถึงปริมาณผู้โดยสารที่หันมาใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายสีแดง ซึ่งในวันนี้ถือเป็นวันแรกภายหลังจากกระทรวงคมนาคมได้ออกมาตรการงดจัดเก็บค่าโดยสารการเดินทางในโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทางราง ระหว่างวันที่ 25 – 31 มกราคม 2568 เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ช่วยบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ภายใต้มาตรการดังกล่าว

ทั้งนี้ พบว่าปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงเพิ่มมากขึ้นถึง 34% เมื่อเทียบกับปริมาณผู้โดยสารสายสีแดงในช่วงวันและเวลาเดียวกันในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีปริมาณผู้โดยสารสายสีแดงรวม จำนวน 11,949 คน แบ่งออกเป็นสายเหนือ 11,300 คน สายตะวันตก 959 คน  (ข้อมูลในช่วงเวลา 05.00-13.00 น. )

สำหรับรถไฟฟ้าในสายต่างๆ ทั้งสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีเหลือง สายสีชมพูและรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงนั้นได้ร่วมให้บริการประชาชนฟรี ตามมาตรการของกระทรวงคมนาคม เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ช่วยบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5

นายพิเชฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบรางนี้  ถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงระบบบริการสาธารณะของรัฐได้ง่ายถึง และสามารถเดินทางถึงปลายทางด้วยระบบรถไฟฟ้าที่มีความปลอดภัย สะอาด ตรงเวลา และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

รวมทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้รถ ประหยัดเวลาในการเดินทาง ลดความสูญเสียเนื่องจากอุบัติเหตุ และเพิ่มมูลค่าความอยู่ดีมีสุขของประชาชนเป็นส่วนสนับสนุนการลดปริมาณรถยนต์บนท้องถนน ลดปัญหาการจราจรติดขัด และลดการใช้พลังงานน้ำมัน ส่งเสริมให้คุณภาพอากาศในพื้นที่ตามแนวสายทางและข้างเคียงให้ดีขึ้น โดยจะช่วยลดภาวะมลพิษ และบรรเทาปัญหาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้ในอนาคต

รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (1) : ความเป็นมาของกิจการพลังงานไฟฟ้า รู้จัก!! หน่วยงานต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ ‘ค่าไฟฟ้า’

(26 ม.ค. 68) การดำรงชีวิตในโลกยุคปัจจุบัน นอกจากปัจจัย 4 อันได้แก่  อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรคแล้ว ยังมีปัจจัยที่กลายเป็นจำเป็นในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้นมาอีกหลายสิ่งหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปกรณ์เครื่องใช้สำหรับอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์ ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ ในสภาวะที่เต็มไปด้วยฝุ่น PM 2.5 เครื่องฟอกอากาศก็กลายเป็นเครื่องใช้ที่จำเป็น เครื่องซักผ้า เตารีด หม้อหุงข้าว ปั้มน้ำ ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้า

ดังนั้น วิถีชีวิตของชาวโลกรวมถึงคนไทยในทุกวันนี้โดยส่วนใหญ่แล้ว ต้องพึ่งพาอาศัยใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งสิ้น เมื่อใช้พลังงานไฟฟ้าจึงมี ‘ค่าไฟฟ้า’ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่งต้องจ่ายตามมาเป็นประจำทุกเดือน แม้ว่า ‘ค่าไฟฟ้า’ จะเป็นรายจ่ายประจำทุกเดือน จะมากหรือน้อยก็เป็นไปตามปริมาณไฟฟ้าที่มีการใช้ แต่พี่น้องประชาชนคนไทยส่วนใหญ่อาจจะไม่เข้าใจถึงความเป็นมาและความเป็นไปของกิจการพลังงานไฟฟ้า อันประกอบด้วยหลายหน่วยงานมากองค์กร ซึ่งมีบทบาทหน้าที่และภารกิจที่แตกต่างกัน รวมถึงเรื่องราวรายละเอียดต่าง ๆ ของ ‘ค่าไฟฟ้า’ จึงขอนำมาบอกเล่าให้ผู้อ่าน The States Times ได้เข้าใจพอสังเขป 

ประเทศไทยมีไฟฟ้าใช้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2427 โดยไฟฟ้าดวงแรกส่องสว่างภายในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของในหลวงรัชกาลที่ 5 เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2427 ต่อมา พ.ศ. 2441 มีก่อตั้งบริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัด โรงไฟฟ้าเอกชนแห่งแรกของไทย โดยโอนกิจการมาจากบริษัทบางกอก อิเลกตริกไลท์ ชิกดีแคท เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2441 และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยาวนานจนกลายเป็น 3 หน่วยงานหลักที่บริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยคือ (1)การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ (2)การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มีหน้าที่ในการจัดหาและจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทยเช่นเดียวกัน แต่ กฟน. จะรับผิดชอบในพื้นที่ กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ และ กฟภ. จะดูแลในพื้นที่อื่น ๆ นอกเหนือจาก 3 จังหวัดนี้ โดย (3)การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะมีหน้าที่ผลิตและจัดซื้อพลังงานไฟฟ้าเพื่อส่งต่อให้กับ กฟน. กฟภ. รวมถึงจำหน่ายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าของประเทศเพื่อนบ้าน

ปัจจุบัน ประเทศไทยมี ‘โครงสร้างกิจการไฟฟ้า’ ในรูปแบบ ‘Enhanced Single Buyer Model (ESB)’ คือ “การที่รัฐเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน โดยผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนไม่สามารถขายไฟฟ้าตรงให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าได้ จุดแข็งของระบบโครงสร้างนี้คือ ทำให้รัฐมีอำนาจในการบริหารจัดการและควบคุมสั่งการได้อย่างเด็ดขาด 100% เพื่อให้เกิดเสถียรภาพด้านราคา” ซึ่งเป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2546 ปัจจุบัน กฟผ. เป็นผู้ผลิตไฟฟ้า ส่งไฟฟ้า และเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชน ได้แก่ IPP (โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดมากกว่า 90 MW) และ SPP (โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดน้อยกว่า 90 MW) รวมถึงรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ

ในขณะที่ กฟน. และ กฟภ. เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจาก VSPP (โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดน้อยกว่า 10MW) โดย กฟผ.จะจำหน่ายไฟฟ้าผ่านระบบส่งไฟฟ้า (Transmission) ให้แก่ กฟน. และ กฟภ. เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าภายในพื้นที่รับผิดชอบของ กฟน. หรือ กฟภ. นอกจากนี้ กฟผ. ยังจำหน่ายไฟฟ้าบางส่วนโดยตรงให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่บางรายที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายได้ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และมีศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (System Operator : SO) ทำหน้าที่ในการควบคุม บริหารและกำกับดูแลการเดินเครื่องโรงไฟฟ้า ทั้งของ กฟผ. IPP SPP และโรงไฟฟ้าที่มีสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ ทำให้ระบบพลังงานมีความสมดุล มั่นคง มีเสถียรภาพ ประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือ ตามความในมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 โดย กฟผ. เป็นผู้รับใบอนุญาตควบคุมระบบไฟฟ้า

ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2533 รัฐบาลในขณะนั้นให้การส่งเสริมเอกชนได้เข้ามามีบทบาทในการผลิตไฟฟ้า เพื่อจะเป็นการเพิ่มการแข่งขันในกิจการพลังงานไฟฟ้า ทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและผู้บริโภคมีพลังงานไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอในราคาที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังจะเป็นการลดภาระการลงทุนของรัฐและลดภาระหนี้สินของประเทศ ส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น กรณีของโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก หรือ SPP ซึ่งใช้ระบบพลังงานความร้อนร่วม เป็นต้น ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับบริการและคุณภาพไฟฟ้าที่ดีขึ้น สนับสนุนประชาชนให้มีส่วนร่วมในการพัฒนากิจการด้านพลังงานของประเทศและช่วยพัฒนาตลาดทุน

ต่อมา ในปี พ.ศ. 2535 รัฐบาลมีนโยบายลดภาระการลงทุนภาครัฐ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า โดยมีมติ ครม.เห็นชอบเรื่องแนวทางในการดำเนินงานในอนาคตของ กฟผ. กำหนดขั้นตอนและแนวทางให้เอกชนมีบทบาทมากขึ้นในกิจการไฟฟ้าประเทศไทย ให้มีการลงทุนจากภาคเอกชนในการผลิตไฟฟ้ารูปแบบของ IPP และจะต้องขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. และให้ออกระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก ซึ่งใช้พลังงานนอกรูปแบบ เป็นการแบ่งเบาภาระทางด้านการลงทุนของรัฐในระบบการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าด้วย โดย กฟผ. ได้ประกาศรับซื้อไฟจากเอกชนรายใหญ่เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2537 ซึ่งปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจะอยู่ภายใต้มติเห็นชอบของ ‘คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)’ มาจนถึงปัจจุบัน

โดย ‘คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ’ มีอำนาจหน้าที่ในการ (1) เสนอนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศต่อคณะรัฐมนตรี (2) กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการกำหนดราคาพลังงาน ให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศ (3) ติดตาม ดูแล ประสาน สนับสนุนและเร่งรัดการดำเนินการของคณะกรรมการทั้งหลายที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เพื่อให้มีการดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศ และ (4) ประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศ

โดยมี ‘คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)’ ทำหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงาน อันหมายถึง กิจการไฟฟ้า กิจการก๊าซธรรมชาติ และกิจการระบบโครงข่ายพลังงาน โดยมีมีอำนาจหน้าที่ใน “การอนุญาตการประกอบกิจการพลังงานการกำกับดูแลอัตราค่าบริการ การกำหนดมาตรฐานการ ให้บริการพลังงาน และมาตรฐานความปลอดภัยในการประกอบกิจการพลังงาน การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้ใช้พลังงาน รวมทั้งการให้ความคุ้มครองแก่ผู้ประกอบการให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม การใช้อสังหาริมทรัพย์เพื่อประโยชน์ในการสำรวจหรือ เพื่อหาสถานที่ตั้ง ระบบโครงข่ายพลังงานการใช้อสังหาริมทรัพย์ เพื่อประโยชน์ในการสำรวจหรือเพื่อหาสถานที่ตั้ง ระบบโครงข่ายพลังงาน และการพิจารณาข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการประกอบกิจการพลังงาน” และทำหน้าที่ในการพิจารณากำหนด “อัตราค่าไฟฟ้า”

‘อ.ไชยันต์’ เผยเหตุผล ทำไมหลายประเทศในโลก ถึงไม่ยอมให้การพนันถูกกฎหมาย ชี้!! เล่นแล้วติด ควบคุมไม่ได้ ต้องขายข้าวของ เพื่อหาเงิน มาเล่นการพนัน

เมื่อวานนี้ (24 ม.ค. 68) ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า …

“ทำไมหลายประเทศในโลกถึงไม่ยอมให้การพนันถูกกฎหมาย ?” การพนันเป็นกิจกรรมที่น่าตื่นเต้น เมื่อเล่นแล้ว มักจะติด

ขณะเดียวกัน การพนันก็ยังเป็นวิธีการหลีกหนีจากความเป็นจริงและความเครียดของชีวิต คนจำนวนไม่น้อยจึงชอบ

ในขณะเดียวกัน บางประเทศก็มีการพนันเป็นส่วนหนึ่งของประเพณี อย่างไรก็ตาม การพนันอาจควบคุมไม่ได้

สิ่งที่เคยเป็นกิจกรรมทางสังคมได้กลายเป็นสิ่งเสพติด นำมาซึ่งนิสัยใหม่ที่เป็นอันตราย
ในประเทศที่รัฐบาลและประชาชนเข้าใจถึงด้านลบของการพนัน และตระหนักรู้ถึงข้อจำกัดของผู้คนในประเทศ จึงไม่สามารถทนดูสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ และนี่จึงเป็นเหตุผลที่หลายประเทศทั่วโลกห้ามกิจกรรมการพนัน

เพราะถ้าการพนันถูกกฎหมายแล้ว ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นตามมา ได้แก่

ปัญหาทางสังคม: การพนันจะถึงจุดที่ควบคุมไม่ได้ เมื่อคนๆ หนึ่งติดการพนัน พวกเขาจะเสี่ยงต่ออันตรายต่างๆ เช่น:
-ก่อหนี้
-ลดการใช้จ่ายสำหรับสิ่งจำเป็น เช่น อาหาร ฯลฯ
-ลดการทำงานหรือเรียนหนังสือ
-ขายข้าวของเพื่อหาเงินมาเล่นการพนัน
-ผู้ติดการพนันยังมีความเสี่ยงที่จะติดสุราและสารเสพติด ซึ่งส่งผลให้มีอาชญากรรมเกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้น และอาจส่งผลให้ชีวิตของประชาชนตกอยู่ในความเสี่ยง

ดังนั้น เพื่อปกป้องประชาชนจากความเสียหายเหล่านี้ รัฐบาลและประชาชนที่เล็งเห็นผลเสียทางสังคมนี้ จึงได้ทำให้การพนันเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

ยังมีปัญหาในมิติอื่นๆ อีก ซึ่งผมจะนำมาเสนอในตอนต่อไปนะครับ

รวมทั้ง จะโต้แย้งเหตุผลข้ออ้างที่ว่า เมื่อรัฐนำเศรษฐกิจใต้ดินขึ้นบนดินแล้ว จะได้เก็บภาษีไปใช้ในสวัสดิการต่างๆเพื่อประโยชน์ของประชาชนคนส่วนใหญ่

กองทุนดีอี BDE ลงพื้นที่อุบล สร้างการรับรู้การใช้ประโยชน์ โครงการระบบบริหารจัดการท้องถิ่นชุมชน แบบมีส่วนร่วม

เมื่อวานนี้ (24 ม.ค. 68) นายสมบูรณ์ เมฆไพบูลย์วัฒนา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการบริหารเทคโนโลยีดิจิทัลและการสื่อสาร สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) พร้อมด้วยนางสาววรรณศิริ พัวศิริ ผู้อำนวยการกองบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม BDE ตลอดจนข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ สดช. ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์โครงการระบบบริหารจัดการท้องถิ่นชุมชนแบบมีส่วนร่วมสร้างความยั่งยืนด้วยระบบดิจิทัล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ณ สำนักงานเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ศิริมาเมธ์วดี ศิรธนิตรา นายกเทศมนตรีเมืองพิบูลมังสาหาร พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร ร่วมให้การต้อนรับ

นายสมบูรณ์ เมฆไพบูลย์วัฒนา สำนักงานคณะกรรมการ ดีอี กล่าวว่า การลงพื้นที่มาเยี่ยมชม โครงการระบบบริหารจัดการท้องถิ่นชุมชนแบบมีส่วนร่วมสร้างความยั่งยืนด้วยระบบดิจิทัล ประจำปี 2566 ของเทศบาลพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมลงพื้นที่เพื่อประชาสัมพันธ์ โครงการที่ได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สืบเนื่องจาก โครงการต่าง ๆ ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนดีอี ล้วนเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนจำนวนมาก แต่ยังขาดการสร้างการรับรู้และการเข้าถึงของหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งประชาชนในพื้นที่อยู่ไม่น้อย โดยการลงพื้นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการที่ได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนดีอี ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับระบบบริหารจัดการท้องถิ่นชุมชนแบบมีส่วนร่วมของเทศบาลพิบูลมังสาหาร อันเป็นเทคโนโลยีดิจิทัลที่ช่วยบริหารจัดการข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและเป็นประโยชน์ต่อการนำไปประยุกต์ใช้ในอนาคตได้เป็นอย่างดี

“ผมขอชื่นชมในความมุ่งมั่นและความสำเร็จของ โครงการระบบบริหารจัดการท้องถิ่นชุมชนแบบมีส่วนร่วมสร้างความยั่งยืนด้วยระบบดิจิทัล ประจำปี 2566 ของเทศบาลพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ที่ได้แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ ความเชี่ยวชาญ ความคิด สร้างสรรค์ของหน่วยงาน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการลงพื้นที่เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการที่ได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนฯ ครั้งนี้จะทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนทั่วไปได้รับรู้ และสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์จากโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฯ ได้มากยิ่งขึ้น”

สำหรับโครงการดังกล่าว ได้ดำเนินการพัฒนาระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อบูรณาการ
การบริหารจัดการท้องถิ่นผ่านแพลตฟอร์มในรูปแบบ 'Application Phibun' โดยมีฟังก์ชันการทำงาน 5 ระบบ ประกอบด้วย ระบบบริหารจัดการเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร ระบบฝึกอบรมพัฒนามืออาชีพ ระบบจำหน่ายสินค้าออนไลน์ ระบบบริการสาธารณสุขชุมชน และระบบพัฒนาชุมชน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการดำเนินชีวิตรูปแบบใหม่ (New Normal Life) ของประชาชนในยุคสังคมดิจิทัล

ทั้งนี้ เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร ได้รับทุนงบประมาณ 36 ล้านบาท จากกองทุนดีอี ดำเนินโครงการระบบบริหารจัดการท้องถิ่น ชุมชนแบบมีส่วนร่วม สร้างความยั่งยืนด้วยระบบดิจิทัล ประจำปี 2566 เพื่อการยกระดับระบบบริหารจัดการท้องถิ่นและสร้างความยั่งยืนในชุมชน พร้อมทั้งบูรณาการการบริหารจัดการท้องถิ่นด้วยเทคโนโลยีมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อสร้างความยั่งยืน โดยระบบนี้จะขับเคลื่อนผ่านแพลตฟอร์มในรูปแบบของแอปพลิเคชัน(ApplicationPhibun) ซึ่งมีฟังก์ชันการทำงานหลัก 5 ระบบ ได้แก่ 1.  ระบบบริหารจัดการเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร (E - management) 2. ระบบฝึกอบรมพัฒนาอาชีพ (E - Service)  3. ระบบจำหน่ายสินค้าออนไลน์ (E - market) 4.ระบบบริการสาธารณสุขชุมชน (E - Sata) และ 5. ระบบพัฒนาชุมชน (E - Community)

โดยผลชี้วัดของโครงการดังกล่าว ส่งผลให้เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหารบริหารจัดการระบบงานต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของเทศบาลแหล่งข้อมูลของท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชน และผู้ที่ต้องการใช้ข้อมูลนำไปใช้งานได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ทันสมัย ทั้งยังเป็นการสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารและพัฒนาของผู้นำท้องถิ่นเป็นเครื่องมือในการช่วยประเมินระยะเวลา และประเมินผลการจัดทำงบประมาณรายจ่ายให้เกิดความคุ้มค่าในการทำโครงการใหม่ ๆ

ของหน่วยงานได้มากขึ้น ลดขั้นตอนที่ซับซ้อนและยุ่งยาก ต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่และอำนวยความสะดวกต่อการให้บริการประชาชน เป็นองค์กรต้นแบบให้กับหลาย ๆ หน่วยงานในการสร้างสรรค์ และพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ สามารถนำไปใช้ในชุมชนอย่างยั่งยืน พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในเขตพื้นที่เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหารให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงเป็นศูนย์กลางในการเสริมสร้าง การมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน และวิถีการใช้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปการดำเนินชีวิตรูปแบบใหม่ (New Normal Life) มากขึ้น

‘วิชัย ทองแตง’ บรรยายพิเศษ ผลักดัน!! นวัตกรรมงานวิจัย เน้น!! ต่อยอดเศรษฐกิจให้เกษตรกร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

เมื่อวานนี้ (24 ม.ค. 68) คุณวิชัย ทองแตง  The Godfather Of  Startup ร่วมบรรยายพิเศษกับ สวก. ในกิจกรรม ‘ปั้นงานวิจัย ให้โตไวเชิงพาณิชย์’ 

โดยมี ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร พร้อมด้วย นางสาวศิริกร วิวรวงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร คณะอนุกรรมการการพัฒนาธุรกิจและการลงทุน และคณะผู้บริหารจาก ARDA เข้าร่วมกิจกรรมฯ ณ ห้องประชุม 904 อาคารวิทยบริการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

กิจกรรมนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง ARDA กับ บริษัท ทีวีดี โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TV Direct เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการ ARDA ที่ต้องการการส่งเสริม การเชื่อมโยง และการเข้าถึงคู่ค้าที่สำคัญทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการขยายตลาดที่มีผู้บริโภคเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้ง่ายและสามารถเชื่อมโยงได้ทุกมิติของการตลาด โดยได้รับโอกาสเติบโตทางธุรกิจ ไปกับ TV Direct 

กิจกรรมในงานประกอบด้วย ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ‘ปั้นงานวิจัย ให้โตไวเชิงพาณิชย์’ โดยได้รับเกียรติจาก คุณวิชัย ทองแตง ประธานมูลนิธิหนึ่งน้ำใจ และการบรรยายพิเศษ เรื่อง ‘LOCAL TO GLOBAL’ จากหิ้งสู่ห้าง โดย คุณวรสิทธิ์ ลีลาบูรณพงศ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ทีวีดี โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยน ‘แนวคิดทางธุรกิจ ประสบการณ์ตรงจากกูรูเชิงลึกการตลาด’ และ ‘การนำเสนอผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ ARDA กับ TV Direct’ จำนวน 28 บริษัท อาทิ เครื่องดื่มข้าวสินเหล็ก ตรา วีไลท์ นมเม็ดมะม่วงหิมพานต์เผา ตรา แคซเซียส ผลิตภัณฑ์สำหรับลดการหลุดร่วงของเส้นผม ตรา หยดสังข์ ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปูนา ตรา crabhouse ระบบฟาร์มปลูกผักปลอดภัยด้วยระบบ LED ของบริษัท ซีวิค อะโกรเทค จำกัด เป็นต้น

การจัดกิจกรรมนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ ARDA ในการร่วมผลักดันนวัตกรรมงานวิจัยจาก ARDA สู่การต่อยอดใช้ประโยชน์เพื่อสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม เสริมรายได้ให้แก่เกษตรกรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ นับเป็นหนึ่งในแนวทางการขับเคลื่อนภาคการเกษตรให้กับประเทศไทยเกิดเป็นผลกระทบที่ดีให้กับกลไกตลอดห่วงโซ่ของการวิจัยได้อย่างเป็นรูปธรรม

สำนักข่าวอิศรา ผ่าธุรกิจ ท่ามกลางความไม่สงบ!! 437 ล้าน ‘อนุศาสน์ สุวรรณมงคล’ อดีตสว.ปัตตานี เจ้าของโรงแรมดัง อสังหาฯ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

(25 ม.ค. 68) สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า นักธุรกิจจากปัตตานีหนึ่งเดียวที่ได้รับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล เจ้าของโรงแรม ซี เอส ปัตตานี ซึ่งเพิ่งเกิดคาร์บอมบ์ด้านหลังโรงแรมเมื่อวันที่ 31 ก.ค.2555 ล่าสุดกลุ่มคนร้ายบุกเผารถยนต์ใหม่ป้ายแดงวอด 15 คันในบริษัท ปัตตานี ฮอนด้า คาร์ส จำกัด เหตุเกิดเมื่อ 22 สิงหาคม 2555

แจ้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตอนรับตำแหน่งมีพี่น้อง 4 คน ชื่อ นายสุเชฎฐ์ สุวรรณมงคล นางทิพย์วดี สุวรรณมงคล นายอนุพาสน์ สุวรรณมงคล และนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล

ไม่มีคู่สมรส มีทรัพย์สิน 437.1 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินลงทุน 303.7 ล้านบาท ที่ดิน 52 แปลง มูลค่า 35.2 ล้านบาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 54.3 ล้านบาท เงินฝาก 27.3 ล้านบาท รถยนต์ 5 คัน 11 ล้านบาท ประกันชีวิต 3.3 ล้านบาท นาฬิกา 15 เรือน  2 ล้านบาท หนี้สิน 19.1 ล้านบาท

เป็นเจ้าของธุรกิจ 6 บริษัทได้แก่

1. บริษัท ปัตตานี ฮอนด้า คาร์ส จำกัด ดีลเลอร์ ดีลเลอร์รถยนต์ฮอนด้า ที่.อ.หนองจิก จ.ปัตตานี จดทะเบียนวันที่ 7 ธันวาคม 2538 ทุน 10 ล้านบาท  นายอนุศาสน์ถือหุ้น 59,896 หุ้น มูลค่า 5,989,600 บาท นาย นพดล อรรจนโรจน์ 40,000 หุ้น ปี 2553 รายได้ 549,566,623 บาท  กำไรสุทธิ 2,672,783 บาท ปี 2554 รายได้ 380,513,313  บาท กำไรสุทธิ 2,704,262 บาท สินทรัพย์ 70,780,754 บาท หนี้สิน 67,194,603 บาท

2. บริษัท นราธิวาส ฮอนด้าคาร์ส จำกัด ดีลเลอร์ ฮฮนด้าที่ อ.สุไหง-โกลก จ.นราธิวาส จดทะเบียนวันที่ วันที่ 26 มีนาคม 2539 ทุน 10 ล้านบาท ที่ตั้งเลขที่ 37/17 หมู่ที่ 2 ตำบลปาเสมัส อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาสนายอนุศาสน์ถือหุ้น 59,896 หุ้น มูลค่า 5,989,600 บาท นาย นพดล อรรจนโรจน์ 40,000 หุ้น ปี 2553 รายได้ 266,994,255 บาท ขาดทุนสุทธิ 659,752 บาท ปี 2554 รายได้ 225,458,954 บาท กำไรสุทธิ 182,709 บาท สินทรัพย์ 43,429,638 บาท หนี้สิน 34,285,628 บาท

3. หจก.เซาเทิร์น อิควิปเม้นท์ แอนด์ แมชีนเนอรี่ มูลค่า 2.5 ล้านบาท จดทะเบียนวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2529 ทุน 5 ล้านบาท ที่ตั้ง 23 ถนนหนองจิก ตำบลสะบารัง อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี ปี 2554 รายได้ 2,411,111 บาท  ขาดทุนสุทธิ 863,182 บาท สินทรัพย์ 2,062,029 บาท หนี้สิน 23,536,118 บาท

4. บริษัท ปัตตานีสปอร์ตคลับ จำกัด จัดสรรที่ดิน ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ จดทะเบียนวันที่ 18 ตุลาคม 2536 ทุน 315.3 ล้านบาท ที่ตั้งเลขที่  99/9 หมู่ที่ 4 ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี นายอนุศาสน์ ถือหุ้น 2,570,000 หุ้น มูลค่า 257 ล้านบาท หรือ 81.5% ปี 2554 รายได้ 2,530,551บาท ขาดทุนสุทธิ 598,876บาท สินทรัพย์ 247,833,656 บาท หนี้สิน 266,044,583 บาท

5. บริษัท ศรีวัฒนมงคล จำกัด ประกอบธุรกิจโรงแรม จดทะเบียนวันที่ 11 มีนาคม 2545 ทุน 30 ล้านบาท  ที่ตั้งเลขที่99/9 หมู่ที่ 4 ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี นายอนุศาสน์ถือหุ้น 180,000 หุ้น มูลค่า 18 ล้านบาท หรือ 60%  ปี 2554 รายได้ 60,883,163 บาท ขาดทุนสุทธิ 13,840,375 บาท สินทรัพย์ 105,852,677 บาท หนี้สิน 147,186,338 บาท

6.บริษัท ซี .เอส. พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้ง จำกัด ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ก่อตั้งวันที่ 15 เมษายน 2537 ทุน 252,114,200 บาท ที่ตั้งเลขที่ 10 ถนนพิพิธ ต.อาเนาะรู อ.เมือง จ.ปัตตานี นายอนุศาสน์ถือหุ้น  92,490 หุ้น มูลค่า 9,249,000 บาท ปี 2553 รายได้ 7,282,776 บาท กำไรสุทธิ 6,051,244 บาท  ปี 2554 รายได้ 5,920,697 บาท กำไรสุทธิ 4,749,777 บาท สินทรัพย์ 172,381,237 หนี้สิน 60,308,850 บาท

น่าสังเกตว่า บริษัท ปัตตานี ฮอนด้า คาร์ส จำกัด บริษัท นราธิวาส ฮอนด้าคาร์ส จำกัด และ บริษัท ซี .เอส. พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้ง จำกัด ผลประกอบการยังพอมีกำไรบ้าง

นอกจากนี้ถือหุ้น บริษัท ปัตตานีเจริญเทรดดิ้ง (1972) จำกัด 23 หุ้น มูลค่า 230 บาท ขายรถยนต์ ศูนย์บริการ ก่อตั้งวันที่ 15 มิถุนายน 2525 ทุน 520,100 บาท, บริษัท อีซูซุ นครมอเตอร์เซลล์ (1991) จำกัด 500 หุ้น , บริษัท อีซูซุหาดใหญ่ จำกัด 7 หุ้น มูลค่า 70 บาท ,บมจ. กรุงเทพดุสิตเวชการ 12,049 หุ้น มูลค่า 12,049 บาท และกองทุน 2 รายการ

ที่ดินของนายอนุศาสน์อยู่ใน อ.หาดใหญ่ และ อ.นาทวี จ.สงขลา 13 แปลง ,เขตบึ่งกุ่ม กรุงเทพฯ 2 แปลง ,อ.เมือง จ.พัทลุง 2 แปลง ที่เหลืออีก 35 แปลง อยู่ใน จ.ปัตตานี รวมเนื้อที่ 55 ไร่

มีบ้านและอาคารพาณิชย์ทั้งหมด 22 แห่ง อยู่ในจ.ปัตตานี 17 แห่ง ได้แก่ เลขที่ 17/1-8 ถนนมายอ ต.อาเนาะรู อ.เมือง ,เลขที่ 80 ,82  ถนนยะรัง ต.อาเนาะรู อ.เมือง ,เลขที่ 146/10-11 ถนนนาเกลือ ต.อาเนาะรู อ.เมือง ,เลขที่ 18/1-5 ถนนหน้าวัง ต.จะบังติกอ อ.เมือง ,เลขที่  11,11/1 ถนนมะกรูด  ซอย 11 ต.สะบางรัง อ.เมือง , เลขที่ 64-78  ถนนนาเกลือ ต.อาเนาะรู อ.เมือง, เลขที่ 249-251 ถนนปัตตานีภิรมย์ อ.เมือง  ,เลขที่ 14-16 ต.อาเนาะรู อ.เมือง ,เลขที่ 161-165 ถนนปัตตานีภิรมย์  อ.เมือง ,เลขที่ 177 ถนนปัตตานีภิรมย์ อ.เมือง , เลขที่ 9 ถนนมะกรูด ซอย 9 ต.สะบางรัง ,เลขที่ 1 , เลขที่ 1/1-2 ถนนปากน้ำซอย 1 อ.เมือง ,ถนนนาเกลือ ต.บานา อ.เมือง , เลขที่ 4-6 ถนนยะรัง ซอย1 ต.จะบังติกอ อ.เมือง และเลขที่ 99/10-11 ถนนหนองจิก ต.รูสะมิแล อ.เมือง ,  จ.พัทลุง 1 หลังเลขที่ 35 ถนนตำนานนิเวศน์ ต.ตำนาน อ.เมือง ,กรุงเทพฯ 3 หลัง เลขที่ 48/190 ,48/191 หมู่ 10 ซอยนวมินทร์ 143 แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม ,เลขที่ 138/9 ชั้น 4 อาคารเลขที่ 138 บ้านกาญจนาคม สามเสนใน เขตดุสิน (บางซื่อ) และบ้านในสหรัฐ 1 หลัง เลขที่ 503,555 PIERCE STREET ALBANY CA 94760 ราคา 7.8 ล้านบาท

ทั้ง 6 บริษัทคือฐานธุรกิจของนายอนุศาสน์ที่ยังคงปักหลักท่ามกลางวิกฤตความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มานานหลายปี

PEA แจงขายไฟฟ้าให้เมียนมาทำถูกขั้นตอน ลั่น งดจ่ายไฟฟ้าทันทีหากพบกระทำความผิดจริง

(24 ม.ค.68) PEA ชี้แจงการจำหน่ายไฟฟ้าให้ประเทศใกล้เคียง ทำถูกขั้นตอนตามความร่วมมือไทย-เมียนมา พร้อมงดจ่ายไฟฟ้าแนวตะเข็บชายแดน หากพบกระทำความผิดจริง

นายประสิทธิ์ จันทร์ประสิทธิ์ รองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ชี้แจงว่า ปัจจุบันจ่ายกระแสไฟฟ้าให้สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จำนวน 5 จุด ในพื้นที่

1. บ้านเจดีย์สามองค์ - เมืองพญาตองซู รัฐมอญ
2. บ้านเหมืองแดง - เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน
3. สะพานมิตรภาพไทย – พม่า - เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน
4. สะพานมิตรภาพไทย – พม่า แห่งที่ 2 อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง
5. บ้านห้วยม่วง - อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง

ในปี 2566 สถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย ขอให้กระทรวงการต่างประเทศของไทยแจ้ง PEA ดำเนินการระงับการจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่ 2 จุดที่บ้านวังผา อ.แม่ระมาด - บ.ก๊กโก๋ อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง และบ้านแม่กุใหม่ท่าซุง - อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง สำหรับอีก 1 จุด ปี 2567 ในพื้นที่ อ.เชียงแสน - เมืองพงษ์ จ.ท่าขี้เหล็ก คู่สัญญาผิดนัดชำระค่าไฟฟ้า ทำให้ PEA ยกเลิกจุดซื้อขายไฟฟ้า ทั้ง 3 จุดดังกล่าวแล้ว

PEA มิได้นิ่งนอนใจในเรื่องดังกล่าว โดยดำเนินการประสานกับหน่วยงานความมั่นคงในไทยและเมียนมาอย่างใกล้ชิด และพร้อมดำเนินการงดจ่ายกระแสไฟฟ้า เพื่อมิให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และมิจฉาชีพ นำสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่จากผู้ให้บริการของไทยไปใช้ในการกระทำความผิดหรือสนับสนุนการกระทำผิดกฎหมาย ป้องกันมิให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ก่อให้เกิดความไม่สงบและอาชญากรรมข้ามชาติ ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ การพิจารณางดจ่ายกระแสไฟฟ้าของ PEA จะไม่กระทบกับผู้ใช้ไฟฟ้า และผู้ใช้บริการระบบสื่อสารทั่วไปภายในประเทศ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top