Sunday, 25 May 2025
ECONBIZ NEWS

'พิมพ์ภัทรา' จี้!! ผู้ประกอบการหลัก เร่งผลิต 'โปแตช' ห้ามล่าช้า หากเกษตรกรต้องแบกราคาปุ๋ยแพงนาน สั่งเปลี่ยนเจ้าทันที

'รมว.อุตสาหกรรม' จี้ผู้ประกอบการเร่งผลิต 'โปแตช' วัตถุดิบสำคัญในการผลิตปุ๋ยเข้าสู่ระบบ ย้ำถ้าผลิตไม่ได้ต้องหาผู้ประกอบการรายใหม่เข้าดำเนินการ

เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 66 น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบัน โปแตช คือ วัตถุดิบสำคัญในการผลิตปุ๋ย ซึ่งตลาดโลกมีความต้องการสูงมาก และในประเทศไทยก็มีแร่ชนิดนี้มากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากแคนาดา แต่ปัจจุบันมีการขาดแคลนโปแตช ที่เป็นวัตถุดิบต้นทางอย่างกว้างขวาง ทำให้ปุ๋ยที่ไปถึงมือเกษตรกรมีราคาสูงขึ้นอย่างมาก ขณะเดียวกันความต้องการใช้ปุ๋ยในอุตสาหกรรมการเกษตรมีความจำเป็นอย่างมาก 

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวย้ำว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 พ.ย.นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลังได้ติดตามสอบถามถึงผู้รับสัมปทานทั้ง 3 ราย ให้เร่งดำเนินการผลิตเพื่อนำวัตถุดิบเข้าระบบ แนวนโยบายและการสั่งการสำคัญขณะนี้คือ หากผู้รับสัมปทานทั้ง 3 รายที่ได้สัมปทานไปยังไม่ดำเนินการหรือดำเนินการไม่ได้ กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งหาผู้ดำเนินการรายใหม่เข้าดำเนินการแทน เพื่อให้มีวัตถุดิบเข้าไปในระบบการผลิตปุ๋ยเพื่ออุตสาหกรรมการเกษตร และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องให้ได้อย่างรวดเร็ว ขณะนี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าติดตามแล้ว

"นายกฯ ได้มีการสอบถามการผลิตแร่โปแตชในประเทศไทย ซึ่งล่าสุดมีผู้ประกอบการเข้ารับสัมปทานจำนวน 3 ราย ในจังหวัดชัยภูมิ, อุดรธานี และนครราชสีมา โดยได้ให้นโยบายว่า จะต้องมีการเร่งรัดให้มีการผลิตแร่เข้าสู่ระบบ แต่จนถึงขณะนี้พบว่า ผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย ยังไม่ได้ดำเนินการทำให้เกิดความล่าช้าในการแก้ไขปัญหา จึงได้มีการสั่งการให้เร่งรัดและหากปัญหาเกิดจากผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินการได้ จะต้องหาผู้ประกอบการรายใหม่" รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าว

‘นายกฯ เศรษฐา’ เล็งตั้ง ‘กรมฮาลาล’ ใช้ขับเคลื่อน ‘อาหารฮาลาล’ ส่งออกทั่วโลก

(7 พ.ย. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ว่า มีหน่วยงานในกรมหนึ่งของกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐบาลนี้ตระหนักดีถึงความสำคัญของอาหารฮาลาล เป็นอาหารเศรษฐกิจที่สามารถส่งออกได้ไปยังพื้นที่ที่มีชาวมุสลิม ทั้งตะวันออกกลาง หรือแอฟริกา ก็อยากจะยกระดับความสำคัญของงานนี้ขึ้นมาให้เป็นกรม ก็มีการสั่งการไป และมีการพูดคุยกับทางคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ให้ดูเรื่องการยกระดับของหน่วยงานนี้ขึ้นมาให้เป็นกรม จะได้พัฒนาต่อไปได้

‘สมาคมครูฯ’ เห็นด้วย!! ‘ปรับขึ้นเงินเดือน ขรก.’ หลังไม่ขยับเป็น 10 ปี เชื่อ!! ช่วยสร้างขวัญกำลังใจในการทำงาน - กระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต

(6 พ.ย. 66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สั่งให้กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และเงินเดือนกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะยังไม่ได้ปรับขึ้นเป็นเวลานานนั้น

ต่อกรณีดังกล่าวนายวีรบูล เสมาทอง ประธานสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) ระบุว่า เห็นด้วยที่จะมีการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ เพราะไม่ได้ปรับขึ้นมานานเป็น 10 ปีแล้ว 

ทั้งนี้ ซึ่งการปรับขึ้นเงินเดือนของข้าราชการนั้น จะทำให้ข้าราชการพึงพอใจ นอกจากนี้ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นกำลังใจให้ข้าราชการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

และช่วยแก้ไขปัญหาปากท้องหลายอย่าง เช่น การผ่อนชำระหนี้สินต่างๆ เป็นต้น

ส่วนควรจะปรับขึ้นเงินเดือนเท่าไหร่นั้น ไม่ขอก้าวล่วง แต่ขอให้พิจารณาอย่างรอบคอบ เหมาะสม และให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน เพราะถ้าปรับขึ้นมากไป ประชาชนทั่วไปอาจจะเดือดร้อนได้ เนื่องจากค่าใช้จ่าย สินค้าอุปโภค บริโภคก็จะขึ้นตามไปด้วย

'รมว.พิมพ์ภัทรา' กำชับ 'สมอ.' เชิญ 8 สถาบันเครือข่าย เร่งกำหนดมาตรฐานให้ได้ตามเป้าหมาย ทันยุคอุตฯ ใหม่

(6 พ.ย. 66) นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า ตนได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ให้เชิญ 8 สถาบันเครือข่าย ได้แก่...

- สถาบันอาหาร 
- สถาบันพลาสติก 
- สถาบันการก่อสร้างแห่งประเทศไทย  
- สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย  
- สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ 
- สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์  
- สถาบันยานยนต์ 
- และ สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ 

ซึ่งทั้งหมดเป็นหน่วยงานเครือข่ายที่มีภารกิจสนับสนุนการดำเนินงานด้านการมาตรฐานของ สมอ. ทั้งการจัดทำมาตรฐาน และการตรวจสอบคุณภาพของสินค้า โดย สมอ. ให้การยอมรับว่าหน่วยงานเหล่านี้สามารถกำหนดมาตรฐานได้ หรือที่เรียกว่า SDOs (Standards Developing Organizations) มาประชุมหารือเพื่อพิจารณาแนวทางการกำหนดมาตรฐานในปี 2567

ทั้งนี้ สมอ.ได้มอบหมายนโยบายให้ SDOs ทั้ง 8 หน่วยงานเร่งรัดจัดทำมาตรฐานในปีนี้ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 100 เรื่อง เสริมเติมจากที่ สมอ. ได้วางแผนกำหนดมาตรฐานไว้แล้ว 600 เรื่อง เพื่อให้เป็นไปตามแผนแม่บทการกำหนดมาตรฐานระยะ 5 ปี ของ สมอ. (พ.ศ.2566-2570) ที่มีอยู่จำนวน 1,777 เรื่อง เพื่อรองรับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เช่น มาตรฐาน EV, อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, เครื่องมือแพทย์, อุตสาหกรรมชีวภาพ, AI,  ฮาลาล และ Soft power

ปัจจุบัน สมอ. มี SDOs จำนวน 43 หน่วยงาน ที่มีศักยภาพสามารถกำหนดมาตรฐานเพื่อให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ครอบคลุม 81 สาขา เช่น สาขาเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ, สีและวาร์นิช, วัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์, นาโนเทคโนโลยี, ปิโตรเลียม,  ยางและผลิตภัณฑ์ยาง, ระบบการจัดการความเสี่ยง  อาชีวอนามัยและความปลอดภัย, ระบบการจัดการความปลอดภัยของอาหาร, การยศาสตร์, ความรับผิดชอบต่อสังคม, ดิจิทัล, ผลิตภัณฑ์นวัตกรรม, หนังและผลิตภัณฑ์หนัง, ก๊าซธรรมชาติ, แบตเตอรี่, การสื่อสารโทรคมนาคม, ยานพาหนะไฟฟ้า เป็นต้น

“เบื้องต้น สถาบันยานยนต์ จะเร่งจัดทำมาตรฐานด้านความปลอดภัยของยานยนต์สมัยใหม่ รวมทั้งรถไฟฟ้า และชิ้นส่วนยานยนต์อื่นๆ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จะเร่งทำมาตรฐานด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) เพื่อป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ที่พยายามขโมยข้อมูลสำคัญต่างๆ ของบุคคลหรือองค์กร เช่น บัญชีเงินฝาก ข้อมูลประจำตัว ข้อมูลด้านสุขภาพ หรือข้อมูลสำคัญขององค์กร เป็นต้น สถาบันสิ่งทอ จะจัดทำมาตรฐานด้านความปลอดภัยของสิ่งทอและด้านการป้องกันไฟ เช่น ผ้าม่าน, พรม, ถุงมือกันบาด และถุงมือกันสารเคมี เป็นต้น ทั้งนี้ สมอ. จะรวบรวมรายชื่อมาตรฐานที่ SDOs จะดำเนินการจัดทำทั้งหมด เสนอบอร์ด สมอ. ให้ความเห็นชอบต่อไป” นายวันชัยฯ กล่าว

'นายกฯ' ยัน!! สั่งศึกษาขึ้นเงินเดือน ‘ข้าราชการ-จนท.รัฐ’ เหตุไม่ได้ปรับขึ้นมานานแล้ว ขีดเส้นสิ้นเดือนนี้ได้ข้อสรุป

(6 พ.ย. 66) ที่สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคลัง กล่าวถึงการพิจารณาปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำและอัตราเงินเดือนข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า เรื่องดังกล่าวมีเอกสารสั่งการใช้ศึกษาเรื่องความเป็นไปได้ ในการที่จะดูในเรื่องของเงินเดือน ซึ่งกระทรวงแรงงานกำลังพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำอยู่ ถ้าจะยกระดับก็ต้องดูทั้งหมดในทุกภาคส่วน ได้มอบให้คณะทำงานศึกษาและมารายงานภายในสิ้นเดือนนี้ว่า มีความเป็นไปได้อย่างไร

เมื่อถามว่า นอกจากการศึกษาความเป็นไปได้ในการขึ้นค่าแรง หลังศึกษาแล้วจะมีกรอบหรือไม่ ว่าจะปรับขึ้นภายในปีงบประมาณใด นายเศรษฐา กล่าวว่า ต้องมาดูอีกครั้งถึงจะบอกได้ว่าต้องมีการศึกษาเกิดขึ้น ซึ่งสืบเนื่องตามที่เคยพูดไปแล้วว่าเงินเดือนของข้าราชการและค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้ขึ้นมานานแล้ว และปัจจุบันค่าครองชีพสูงขึ้นมาก เราก็เป็นห่วงพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วน ทั้งในส่วนของค่าแรงขั้นต่ำและเงินเดือนข้าราชการด้วย

เมื่อถามว่า จะสอดรับในเรื่องค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นนโยบายของรัฐบาลด้วยหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า หลักการถือว่าสอดคล้อง แต่จำนวนเงินเปอร์เซ็นต์ที่ขึ้นก็ต้องว่ากันไปแต่ละภาคส่วน

เมื่อถามว่า ในส่วนของแรงงานจะขยับขึ้นได้เมื่อไร เพราะนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ออกมาระบุว่า อาจจะไม่ได้ขึ้นเป็น 400 บาทในทุกพื้นที่ นายเศรษฐา กล่าวว่า เดี๋ยวต้องฟังรมว.แรงงาน อีกครั้ง ถึงได้บอกว่าต้องมีการศึกษาอีกครั้งทั้งหมด

‘โฆษกรัฐบาล’ แจงปมขึ้นเงินเดือน ‘ขรก.-จนท.’ อยู่ระหว่างศึกษา อาจจะทำหรือไม่ทำก็ได้ ต้องพิจารณาอย่างเหมาะสม

(5 พ.ย.66) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีที่มี
รายงานข่าวว่าสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ส่งหนังสือถึงกระทรวงและหน่วยงานราชการให้ศึกษาเรื่องการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ และการปรับอัตราเงินเดือนสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยให้พิจารณาถึงความเหมาะสมถึงแนวทางความเป็นไปได้ และกรอบระยะเวลา ผลกระทบของการปรับอัตราเงินดือนฯ กับหน่วยงานเกี่ยวข้องให้ชัดเจน และรายงานผลให้ครม.ทราบภายในเดือน พ.ย.นี้ ว่า เรื่องดังกล่าวไม่ใช่มติคณะรัฐมนตรีแต่เป็นเพียงข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ในที่ประชุม
ครม.โดยมอบหมายให้นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ไปศึกษาแนวทางว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ ทำได้แค่ไหน โดยให้พิจารณาอย่างรอบด้านและให้รายงานกลับมาให้ทราบเท่านั้น 

เวลานี้ยังอยู่ในระหว่างการศึกษา ยังไม่รู้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร และเมื่อผลออกมาแล้วนำเสนอให้นายกฯ ก็ยังไม่รู้ว่าแนวทางที่ศึกษาจะทำได้แค่ไหนอย่างไร และอาจจะทำหรือไม่ทำตามก็ได้ ขอย้ำว่าเรื่องนี้ยังเป็นเพียงการศึกษาแนวทางความเป็นไปได้เท่านั้น 

‘อรรถวิชช์’ จับมือภาคปชช.-นักการเงิน ร่างกม. ‘ปฏิรูปเครดิตบูโร’ ปลดล็อกลูกหนี้ ไม่ต้องติดในระบบแบล็กลิสต์นานกว่า 3 ปี

(5 พ.ย.66) ดร.อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต สส.กทม. เปิดเผยว่า หลังจากลาออกจากรองหัวหน้าชาติพัฒนากล้า ลงมาลุยภาคประชาชนเต็มตัว ได้รับความกรุณาจากพี่ๆ หลากหลายวงการ ทั้งผู้เชี่ยวชาญ กลุ่มที่ใกล้ชิดกับผู้เดือดร้อน มาร่วมกันร่างกฎหมายปฏิรูปเครดิตบูโรสำเร็จแล้วครับ

นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า ร่างฉบับนี้จะเป็นการ ‘ยุติการแช่แข็งลูกหนี้’ ลดความเดือดร้อนประชาชน ไม่ต้องติดในระบบแบล็กลิสต์กว่า 3 ปี เราสร้างกติกาใหม่ในการแจ้งข้อมูลเครดิต และการทำลายข้อมูลเก่าที่เกินความจำเป็น ให้เป็นธรรมกับประชาชน ได้มีโอกาสฟื้นตัวและได้รับสินเชื่อที่เป็นธรรม ไม่ต้องโดนดอกเบี้ยสูงของหนี้นอกระบบ  

“สัปดาห์หน้าผมจะไปยื่นต่อท่านประธานสภาฯ เพื่อตรวจร่างกฎหมายและเตรียมขอรายชื่อจากพี่น้องประชาชน 10,000 รายชื่อ ผมขอขอบคุณพี่ๆ ที่ร่วมช่วยร่างตั้งแต่ คุณกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, คุณอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการองค์กรของผู้บริโภค, คุณ นิวัฒน์ กาญจนภูมินทร์ อดีตผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ, พี่ๆ จากสถาบันการเงินต่างๆ ที่ร่วมให้ความเห็นและเสนอร่างกฎหมายร่วมกัน” นายอรรถวิชช์ กล่าว

นายอรรถวิชช์ กล่าวด้วยว่า งานนี้เราขอให้ประชาชนเป็นหลังพิงให้เราทำกฎหมายให้สำเร็จนะครับ โดยจะมีเว็บไซต์ให้ร่วมกันลงชื่อเร็วๆ นี้ และผมเชื่อว่าท่าน สส.-สว.จะให้การสนับสนุนร่างของพวกเราต่อไป

‘True’ แจง ‘Single Grid’ ช่วยเพิ่มคุณภาพเน็ตเร็วขึ้น 110% แถมเป็นการลดเสาซับซ้อน ที่อาจก่อให้เกิดสัญญาณรบกวนได้

(5 พ.ย.66) ทรู คอร์ปอเรชั่น แจงข้อมูลประเด็นการรื้อถอนสถานีฐานกระทบคุณภาพความเร็วอินเทอร์เน็ต ชี้การทำ Single Grid ช่วยเพิ่มคุณภาพสัญญาณให้ครอบคลุม และประสิทธิภาพโดยรวมดีขึ้น

ซึ่งสำหรับโครงการรวมโครงสร้างเสาสัญญาณระบบโครงข่ายเดียว (Single Grid) โดยควบรวมสถานีฐานในพื้นที่เดียวกันผสานจุดแข็งเสาสัญญาณของทรูและดีแทค เพิ่มประสิทธิภาพการประสานการทำงานของโครงข่ายในทุกคลื่นสัญญาณ ลดเสาที่ซ้ำซ้อนและอาจก่อให้เกิดสัญญาณรบกวนลง 30%

โดยในการลดเสากระจายสัญญาณจะมีการนำอุปกรณ์สถานีฐานจากเสาเดิมย้ายไปติดตั้งในจุดใหม่ ทำให้ในภาพรวมจำนวนสถานีฐานไม่ได้ลดลง มีแต่การลดเสาสัญญาณที่อยู่ในพื้นที่ซ้ำซ้อน และอาจทำให้เกิดการรบกวนกันในพื้นที่

ทั้งนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่น ยังคงความเป็นผู้ให้บริการที่มีจำนวนเสาโทรคมนาคมมากที่สุดในประเทศ โดยการทดสอบพื้นที่ที่ทำระบบ Single Grid เสร็จสมบูรณ์พบว่าเน็ตมือถือเร็วขึ้นสูงสุดราว 110% พร้อมมุ่งสู่ผู้นำอันดับ 1 ด้านความเร็วในการให้บริการ 5G และ 4G ของไทย

ในส่วนของประเด็นเรื่องราคา ทรู คอร์ปอเรชั่น มุ่งหน้าสร้างประโยชน์สูงสุดทุกมิติเพื่อลูกค้ามากสุดในไทย ด้วยการนำเสนอแพกเกจที่มาพร้อมกับสิทธิประโยชน์สุดคุ้ม เพิ่มคุณค่าที่หลากหลายซึ่งตรงกับความต้องการไลฟ์สไตล์และทุกคนสามารถเข้าถึงได้

จาก 6 เดือนที่ผ่านมาหลังการควบรวมกิจการ ได้ผสานสร้างสรรค์สิทธิพิเศษที่ดียิ่งกว่าตรงใจยิ่งขึ้น โดยมีลูกค้าแลกรับสิทธิประโยชน์มากกว่า 120 ล้านสิทธิ และจำนวนรายการสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นกว่า 54% ครอบคลุมสิทธิพิเศษที่หลากหลาย เช่น ร้านอาหารและบริการชื่อดัง บริการสุขภาพ ห้างร้าน ชอปปิ้งออนไลน์มากมาย พร้อมด้วยสิทธิประโยชน์ยอดนิยมอย่าง รับฟรีค่าเน็ต ค่าโทร และกิจกรรมลุ้นรับทองคำและของรางวัลใหญ่ให้แลกลุ้นกันทุกวัน เป็นต้น

ทั้งนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่น ยืนยันคุณภาพสัญญาณมือถือ ลุยสร้างเครือข่ายที่เหนือกว่า เร่งเดินหน้าโครงการ ‘Single Grid’ เพื่อลูกค้ากว่า 50 ล้านราย บทพิสูจน์หลังควบรวมทรู-ดีแทค ยกระดับประสบการณ์สัญญาณมือถือ 5G และ 4G เผยใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยสู่การจัดการโครงข่าย ลดจุดเสาซ้ำซ้อน ไม่ลดสถานีฐาน เพิ่มความครอบคลุมพื้นที่ใช้งานทั่วไทย พร้อมประสานคลื่นความถี่ รวมพลังอัปเกรดสัญญาณอย่างรวดเร็วด้วยศักยภาพความพร้อมในฐานะบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีชั้นนำอันดับ 1 ของไทย

‘เศรษฐา’ เคาะ!! 10 พ.ย.นี้ แถลงดิจิทัลวอลเล็ตชัดเจน แย้มใช้ ‘แอปฯ เป๋าตัง’ ร่วม เพิ่มความสะดวกให้ประชาชน

(4 พ.ย. 66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ระหว่างนั่งรถไฟขบวนพิเศษ 995 จากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) ไปยังสถานีรถไฟแหลมฉบัง ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ถึงความคืบหน้าเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ว่า วันที่ 10 พ.ย.นี้ รู้เรื่องทุกอย่าง อย่างที่ตนเรียนแล้วไม่ได้ไปว่าใครที่ไปพูดอะไรทั้งสิ้น วันนี้การสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ วันที่ 10 พ.ย.นี้ จะรู้ที่มาที่ไปทุกอย่าง มีขั้นตอนไทม์ไลน์กฎกติกาที่ชัดเจนและต้องให้เกียรติคณะกรรมการด้วย

ซึ่งตนอยากให้เป็นไปตามขั้นตอน เพราะเดี๋ยวจะเกิดความสับสน อย่างที่บอกเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตเป็นเรื่องสำคัญ อาจจะมีความเห็นต่างบ้าง แต่ทุกคนก็ยอมรับว่าจะต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ลักษณะหรือขอบเขต หรือปริมาณการกระตุ้นเศรษฐกิจเท่าไหร่อย่างไรก็ต้องมาพูดคุยกัน อย่างที่ตนยืนยันตลอดเวลาว่าหากใครมีข้อเสนอแนะก็รับฟังตลอด และการรับฟังก็ไม่ใช่การรับฟังเฉยๆ

ผู้สื่อข่าวถามว่านโยบายนี้ดูเหมือนจะเป็นการเดิมพันฝีมือก้าวต่อไปของรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย นายเศรษฐา กล่าวว่า ตนคิดว่าให้ประชาชนเป็นคนตัดสินจะดีกว่า ทุกนโยบายสำคัญ และกรณีที่สื่อบางสำนักได้ทำโพลสำรวจมา เห็นว่าเรื่องเศรษฐกิจปากท้องเป็นสิ่งสำคัญ ดิจิทัลวอลเล็ตก็เป็นเรื่องสำคัญ

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องหนี้ครัวเรือน ซึ่งตนก็ได้ประชุมไปแล้วในเรื่องของหนี้ครัวเรือน เรียกนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาหารือ และตนก็เป็นรมว.คลังด้วย เพราะเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญ รวมไปถึง 30 บาทรักษาทุกโรค มีหลายเรื่องสำคัญ และเห็นว่าทุกเรื่องเป็นเดิมพันหมด แม้แต่เรื่องการบริหารจัดการน้ำก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเกษตรกร 30-40 ล้านคน รอเรื่องนี้อยู่ ภาคอุตสาหกรรมและเรื่องอีอีซีก็เป็นเดิมพันด้วย ไม่มีเรื่องอะไรที่ตนจะด้อยค่า ซึ่งต้องทำเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง

วันนี้ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ก็ทำงานหนัก แต่เวลามีไมค์มาจ่อปากท่านก็ต้องตอบ แต่ก็เป็นเรื่องที่เราอยู่ระหว่างการทำงาน ซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง พูดวันนี้อย่างแต่ก็อาจจะมีการเปลี่ยน แต่มาหาว่าท่านพูดกลับไปกลับมามันไม่ใช่ เพราะมันอยู่ระหว่างการคุย เวลาไปคุยกับแบงก์ชาติเขามีข้อเสนอกลับมา ก็กลับมาบอก เมื่อสื่อเอาไมค์จ่อปากเขาก็พูดว่ารับฟังแบงก์ชาติรับฟังสภาพัฒน์ฯ ก็มาบอกว่าพูดจาไม่รู้เรื่อง

นายเศรษฐากล่าวว่า เมื่อมีคำเตือนมาตนก็รับฟัง สื่ออาวุโสหลายท่านก็เตือนมา ผู้ว่าฯแบงก์ชาติก็บอกไม่ได้ติดอะไรแต่ให้ระวังในเรื่องนี้ ให้เขียนภาพระยะยาว เวลาที่ออกมาแล้วจะกระทบกับเศรษฐกิจในเชิงบวกอย่างไร รวมถึงการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ดังนั้นเวลาที่จะแถลงก็ต้องแถลงให้ครบทั้งหมด เมื่อเวลามีคำถามอะไรตนจะได้ตอบได้ แต่ก็เห็นใจนายจุลพันธ์ ทำงานหนักมาก ในฐานะที่ดูแลเรื่องนี้และไปคุยกับทุกภาคส่วน ขณะเดียวกันก็ยังมีกฤษฎีกาด้วย เยอะแยะเต็มไปหมด รวมถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้วย ที่เราได้หาเสียงและพูดอะไรไป ก็ต้องไปปรึกษาเมื่อมีข้อคิดเห็นมาเราก็ต้องฟัง

เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรีมาจากนักธุรกิจประชาชนก็คาดหวังสูงในเรื่องเศรษฐกิจปากท้องจะดีขึ้น นายกรัฐมนตรีมีความตั้งใจแบบนั้นหรือไม่ว่าภายในกี่เดือนประชาชนจะยิ้มอย่างมีความสุข นายเศรษฐากล่าวว่า ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่ความตั้งใจของตนอยากให้ยิ้มทุกวัน อยากให้ยิ้มเร็วๆ ตนกระตือรือร้น มีความอยากจะทำ แต่ไม่ได้หมายว่าจะทำไม่ได้ นิสัยของตนไม่ใช่คนแบบนั้น ตนก็อยากทำให้ได้ ทุกคนก็รู้ดีมันไม่ได้อยู่ที่ตนคนเดียว ซึ่งก็มีปัญหาต่างๆเข้ามาและมีปัจจัยภายนอกรุมเร้าเยอะ

เมื่อถามว่า นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเดินหน้าต้องระวัง ถอยหลังก็ไม่ได้ใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ถ้าพูดอย่างนั้นก็หมายความว่าตนมีความคิดที่จะถอยหลัง ตนไม่ได้คิดจะถอยหลังเลย ฉะนั้นจะต้องทำ และต้องทำออกไปให้ดีที่สุด ให้ถูกต้องตามกฎหมายที่สุด ให้คนได้รับผลประโยชน์สูงสุด ซึ่งสาธารณชนต้องเข้าใจด้วยว่าระบบนี้วิธีการนี้ ไม่มีการคอร์รัปชัน ในเชิงปฏิบัติไม่มีที่ให้ประชาชนต้องสงสัยว่าใครได้อะไร เป็นเรื่องที่ธรรมดา เรื่องทุจริต ประพฤติมิชอบ ตนก็ไม่สบายใจ แต่ไม่ต้องห่วง 

ส่วนแอปพลิเคชันเป๋าตังมีส่วนร่วมแน่นอน เพราะเป็นเรื่องของการให้ความสะดวกและง่ายให้กับประชาชนใช้นโยบายนี้ได้อย่างสบายใจ

ส่วนการกำหนดพื้นที่การใช้ หรือการระบุให้ถอนใช้เป็นเงินสด แล้วไปใช้ที่จังหวัดอื่น ตนบอกว่าไม่ได้ อย่างที่ จ.เชียงใหม่หรือ กทม. เมืองเหล่านี้มันเขียวอยู่แล้ว ตนอยากให้ไปใช้ในเมืองที่มีจีดีพีรายได้ต่อหัวต่ำ อยากให้หญ้าพื้นที่ตรงนั้นเขียว ก็จะทำให้ชุมชนและเศรษฐกิจพื้นที่เหล่านั้นเฟื่องฟูลืมตาอ้าปากได้ ส่วนที่มีการบอกว่าให้ไปซื้อของออนไลน์ได้นั่น ตนตอบไม่ได้หมดตรงนี้

นายเศรษฐา กล่าวว่า “มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำเรื่องใหญ่ๆ พวกนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีผู้มีความรู้ต่างๆมากมายที่ให้คำแนะนำ ซึ่งรัฐบาลเองก็ต้องรับฟังทุกส่วนและเป็นคนตัดสินว่าตรงไหนมีความเหมาะสมมากที่สุด ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะไม่ทำ ไม่รับฟังหรือดื้อที่จะทำ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เศรษฐศาสตร์ ไม่ใช่คณิตศาสตร์เพราะคณิตศาสตร์ 1+1 เป็น 2 ส่วนเศรษฐศาสตร์เขามีมุมมองแต่ละคนอย่าง ที่ตนคุยกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เราคุยกันแบบผู้ใหญ่ เราคุยกันด้วยความเข้าใจที่ตรงกัน ถามว่าเห็นตรงกันทุกเรื่องไหมก็ไม่ใช่ ตนก็ยอมรับ แต่เราคุยกันด้วยดี และมีความเข้าใจซึ่งกันและกัน สำคัญที่สุดอะไรต้องเดินไปข้างหน้าด้วยกัน วันนี้ประชาชนเดือดร้อนกันมากแล้วอย่างที่บอกไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าจีดีพีเฉลี่ย 10 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 1.8% มันถึงเวลาแล้วที่จะต้องแก้ไขตรงนี้และทำให้และทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนดีขึ้น”

นายกฯ กล่าวว่า เรามาวันนี้ มาตรงนี้เพื่อที่จะทำ ซึ่งเรื่องความยุติธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตในการบริหารจัดการปัญหาเหล่านี้ต้องไม่ให้สังคมมีข้อกังขาก็พยายามทำให้ดีที่สุด หลายเรื่องก็ต้องพยายามทำไป วันเสาร์อาทิตย์รัฐมนตรีหลายท่านก็ทำงาน ไม่มีที่จะไม่เห็นความสำคัญเรื่องเหล่านี้

เมื่อถามว่านายกฯ ทำงานไม่เหน็ดไม่เหนื่อยตามที่เคยระบุไว้ใช่หรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า “ไม่มีสิทธิ์เหนื่อย อาสาเข้ามาแล้วก็ต้องทำ ถ้าเหนื่อยก็พักไม่เป็นไร”

‘เลขาฯ กอช.’ กระตุ้นสังคมออมเงินไว้ยามการเกษียณ ยก ‘กองทุนการออมแห่งชาติ’ ทางเลือกเพื่ออนาคต

จากรายการ THE TOMORROW ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 4 พ.ย.66 ได้พูดคุยกับ คุณจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. ในประเด็น ‘การออมเพื่อการเกษียณ โอกาสเสริมสร้างความเสมอภาคในสังคม’ โดยคุณจารุลักษณ์ กล่าวว่า...

“การออมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการออมเพื่อการเกษียณ ถือเป็นส่วนสำคัญในการขยายโอกาสและเสริมสร้างความเสมอภาคในสังคม เพื่อให้ประชาชนมีหลักประกันและความมั่นคงในการดำรงชีวิตหลังเกษียณอายุ จากการทำงานตลอดหลายปีที่ผ่านมา...

“โดยที่ผ่านมาภาครัฐได้พยายามผลักดันนโยบายส่งเสริมการออม เพื่อให้ประชาชนวัยแรงงานจำนวนราว 39 ล้านคน เข้าสู่ 2 วัยเกษียณอย่างมีคุณภาพ มีรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ด้วยระบบการออมเพื่อการเกษียณในรูปแบบการออมทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจ”

คุณจารุลักษณ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันผู้ที่เป็นแรงงานในระบบมีช่องทางการออมภาคบังคับ ได้แก่ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการและประกันสังคมมาตรา 33 อีกทั้ง มีช่องทางการออมภาคสมัครใจสำหรับบุคคลทั่วไป รวมถึงพนักงานรัฐวิสาหกิจและลูกจ้างประจำส่วนราชการคือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 

ทว่าในส่วนของแรงงานนอกระบบ หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ ยังไม่มีการออมภาคบังคับ มีแต่การออมภาคสมัครใจที่รัฐจัดให้คือ ประกันสังคมมาตรา 40 

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีอีกกลไกหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากต่อคนกลุ่มนี้ นั่นก็คือ ‘กองทุนการออมแห่งชาติ’ ซึ่งปัจจุบันดูแลสมาชิกอยู่มากกว่า 2.5 ล้านคน โดยตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา ช่วยสร้างสรรค์กลไกสวัสดิการภาครัฐ ให้แก่แรงงานนอกระบบที่ไม่มีสวัสดิการอื่นใดรองรับ ได้มีโอกาสรับบำนาญในยามเกษียณเหมือนแรงงานในระบบจากเงินออมสะสมและเงินสมทบ

“กอช. มีภารกิจในการส่งเสริมการออมทรัพย์ให้กับประชาชนที่เป็นแรงงานนอกระบบ หรือที่เรารู้จักกันว่า ผู้ประกอบอาชีพอิสระ จุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม สร้างหลักประกันที่มั่นคงให้ชีวิตของประชาชนกลุ่มนี้ได้ใช้สิทธิสวัสดิการจากภาครัฐอย่างทั่วถึง...

“โดยการออมกับ กอช. นั้นมีเกณฑ์ขั้นต่ำเพียง 50 บาท/ครั้ง สูงสุด 30,000 บาท/ปี สามารถรับเงินสมทบจากรัฐ สูงสุด 100% หรือไม่เกิน 1,800 บาท/ปี ที่สำคัญเป็นการออมภาคแบบสมัครใจ ผู้ที่เป็นสมาชิก กอช. สามารถออมเงินได้ตามบริบทของชีวิต คือ ออมได้เมื่อพร้อม ทำให้สิทธิการเป็นสมาชิกยังคงอยู่เช่นเดิม ซึ่งที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นถึงความสนใจผ่านจำนวนสมาชิก กอช. ในปัจจุบัน ที่มีจำนวนอยู่ 2,552,607 คน” เลขาฯ กอช. เสริม

สำหรับการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา กอช. ได้พัฒนาช่องทางการให้บริการให้ประชาชนผู้สนใจ และช่องทางอำนวยความสะดวกให้สมาชิกเข้าถึงการออมกับ กอช. ในการสมัครสมาชิก หรือออมต่อเนื่องกับ กอช. ผ่านหน่วยบริการต่างๆ ที่ว่าการอำเภอทั่วประเทศ สำนักงานคลังจังหวัด ธนาคารของรัฐ ทั้ง 5 แห่ง อาทิ... 

1. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 
2. ธนาคารออมสิน 
3. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 
4. ธนาคารกรุงไทย 
5. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย 

นอกจากนี้ยังมีสถาบันการเงินชุมชน, ตัวแทน กอช. ประจำหมู่บ้าน รวมทั้งไปรษณีย์ไทย, สหกรณ์ชุมชนที่เข้าร่วม, เซเว่น-อีเลฟเว่น, เทสโก้โลตัส และตู้บุญเติม อีกด้วย

ขณะเดียวกัน ก็ยังมีช่องทางออนไลน์ ผ่านสมาร์ตโฟน เพื่อให้เข้ากับเทคโนโลยีในปัจจุบัน โดยแอดได้ที่ ไลน์แอดของ กอช. ‘@nsf.th’ / แอปพลิเคชัน กอช. / แอปพลิเคชัน เป๋าตัง / แอปพลิเคชัน MyMo / แอปพลิเคชัน K PLUS และแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT กอช. อีกทั้งยังเพิ่มความมั่นใจให้กับสมาชิกที่ต้องการหลักประกัน เพื่อความอุ่นใจ โดยการจัดทำสมุดเงินออม (Passbook) ขึ้น ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารออมสิน เป็นหน่วยรับให้บริการ ออกสมุดเงินออมให้แก่สมาชิก กอช. ได้อัปเดตความเคลื่อนไหวเงินออมของตนเองที่ออมกับ กอช.

คุณจารุลักษณ์ กล่าวอีกด้วยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กอช. ยังได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ในการลงพื้นที่ส่งเสริมทักษะความรู้ทางการเงิน ให้ตระหนักถึงการวางแผนทางการเงินที่ดี และส่งเสริมให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระมีเงินออมยามเกษียณกับ กอช. ตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีหน่วยงานทุกภาคส่วนเข้าร่วม อาทิ คณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัด (คบจ.), ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา, ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา, ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน. จังหวัด, ผู้อำนวยการสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัด, ผู้แทนจากโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาในจังหวัด รวมถึงครู นักเรียน บุคลากรทางการศึกษา สภาเด็กและเยาวชน และนายกสมาคมผู้ปกครองโรงเรียนมัธยมศึกษา

นอกจากนี้ ทาง กอช. ยังได้มีการจัดงานมอบรางวัลส่งเสริมการออมยอดเยี่ยม ประจำปี 2566 เนื่องในงานวันออมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 30 ต.ค.66 ซึ่งเป็นการขอบคุณเครือข่าย หน่วยรับสมัครสมาชิก กอช. ที่มุ่งสร้างการตระหนักรู้ถึงการออมเงินกับ กอช. เพื่อวัยเกษียณให้กับตนเองและคนในครอบครัวอีกด้วย

ก็ถือว่าเป็นอีกหน่วยงานที่กำลังทำงานอย่างหนัก เพื่อสร้างโอกาสเสริมสร้างความเสมอภาคแก่คนไทยทุกคนให้เริ่มวางแผนชีวิตเพื่ออนาคตตั้งแต่เนิ่น ๆ 

วันนี้หากใครที่ยังไม่มีแผนเริ่มลงทุนเพื่ออนาคตยามเกษียณ ลองศึกษารายละเอียดของ ‘กองทุนการออมแห่งชาติ’ เพื่อชีวิตในยามแก่ชราจะได้มีคุณค่าแบบไม่ต้องให้ใครมาห่วงกันเถอะ...


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top