Sunday, 25 May 2025
ECONBIZ NEWS

'รมว.พิมพ์ภัทรา' ต้อนรับคณะ 'ผู้ว่าฯ ไซตามะ' ขยายความร่วมมือ 'เศรษฐกิจ-การลงทุน' ทุกระดับ

(10 พ.ย. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้การต้อนรับคณะของนายโอโนะ โมโตฮิโระ (Mr.OHNO Motohiro) ผู้ว่าราชการจังหวัดไซตามะ พร้อมด้วยผู้แทนจากภาคเอกชน และผู้แทนสถาบันการเงินประเทศญี่ปุ่น ในโอกาสการเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมงาน Saitama-Thai Network Exchange Meeting 2023 โดยหลังการต้อนรับได้มีการหารือทั้งสองฝ่ายเพื่อขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจการลงทุนในอุตสาหกรรมของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยข้อมูลภายหลังการหารือว่า ภาคเอกชนของประเทศญี่ปุ่นให้ความสนใจในการลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะภาคเอกชนญี่ปุ่นให้ความสนใจขยายการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลที่ได้จากการหารือขณะนี้พบว่าประเทศไทยเป็นเป้าหมายแรกในภูมิภาคอาเซียนที่ผู้ประกอบการญี่ปุ่นให้ความสนใจเป็นลำดับแรก จากศักยภาพความพร้อมในด้านทรัพยากร, การท่องเที่ยว, โลจิสติกส์ และความร่วมมือระหว่างรัฐบาลที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของทั้งสองประเทศ 

"ปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นเข้าลงทุนในประเทศไทยแล้ว 262 บริษัท กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ขับเคลื่อนความร่วมมืออย่างเป็นทางการกับรัฐบาลกลางญี่ปุ่น 4 แห่ง และรัฐบาลท้องถิ่นญี่ปุ่น 24 แห่ง ซึ่งถือเป็นหน่วยงานแรกที่ประสานความร่วมมือกับส่วนท้องถิ่น (Local to Local) ผ่านการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับจังหวัดไซตามะ ตั้งแต่ปี 2562 เพื่อการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี พัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรม รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรของทั้งสองประเทศ"

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังกล่าวด้วยว่าได้มีการจัดตั้งโต๊ะญี่ปุ่น (DIPROM Japan Desk) แลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ของทั้งไทยและญี่ปุ่นเข้าปฏิบัติงานเพื่อประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกผสานความร่วมมือการจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยและญี่ปุ่น ซึ่งตลอด 10 ปีที่ผ่านมา สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในระดับพันล้านและยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย 

กระทรวงอุตสาหกรรม ประเทศไทย และผู้องค์กรธุรกิจภาคเอกชนญี่ปุ่นมีความเชื่อมั่นและด้วยความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้งสองประเทศ จะสามารถยกระดับความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการลงทุนในทุกมิติ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่สนใจลงทุน เสริมสร้างขีดความสามารถทางเศรษฐกิจและขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมร่วมกัน 

สำหรับจังหวัดไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น มีจำนวนประชากรกว่า 7.3 ล้านคน ขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีการเติบโตด้านอุตสาหกรรมสูงสุดมูลค่า 5.7 ล้านล้านบาท ผู้ประกอบการส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป

‘บุญรอดฯ - ปตท. - IRPC’ ร่วมพัฒนานวัตกรรมผลิตวัสดุหมุนเวียน มุ่งใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า - ต่อยอดธุรกิจเพื่อความยั่งยืน

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ลงนามความร่วมมือพัฒนานวัตกรรมต่อยอดวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิต สร้างผลิตภัณฑ์หมุนเวียน (Returnable Equipment) ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม เดินหน้าโครงการนำร่องรีไซเคิลพลาสติกผ่านผลิตภัณฑ์ต้นแบบอย่างลังน้ำและโซดาขวดเปลี่ยน ผลิตจาก rPET และ rHDPE พาเลท (Pallet) ผลิตจาก rHDPE และกากมอลต์  

นายปิติ ภิรมย์ภักดี กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด เปิดเผยว่า หนึ่งในแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ให้ความสำคัญ คือ การดำเนินธุรกิจบนความยั่งยืน การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าโดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด ‘องค์กร ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมต้องมีความสุขร่วมกันอย่างยั่งยืน’

ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ทำโครงการด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งภายในกลุ่มบริษัทบุญรอดฯ ทั้งหมด เช่น เสื้อยูนิฟอร์มพนักงานจากผ้าที่ผลิตจากขวด PET การแยกขยะ การใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนโครงการที่ทำกับชุมชนและสังคมอีกหลายโครงการ และล่าสุดได้ร่วมงานกับแบรนด์แฟชั่นของไทยที่เป็นที่รู้จักในวงการแฟชั่นทั่วโลกอย่าง PIPATCHARA ดีไซน์กระเป๋ารุ่นพิเศษที่ผลิตจากผ้าที่ Upcycling มาจากขวดพลาสติก PET 100% 

ทั้งนี้ ในแต่ละปี เรามีวัสดุเหลือจากระบวนการผลิตเป็นจำนวนมาก น่าจะสามารถนำมาสร้างประโยชน์ต่อยอดได้อย่างคุ้มค่า จึงเป็นที่มาของการลงนามความร่วมมือกับบริษัทฯ ปตท. และ ไออาร์พีซี ในครั้งนี้ เราเชื่อว่า ด้วยความรู้ความชำนาญและเทคโนโลยีที่ทันสมัยของทั้งแต่ละบริษัทฯ จะสามารถร่วมกันพัฒนาและสร้างนวัตกรรมใหม่จากวัสดุในกระบวนการผลิตให้เป็นประโยชน์มากที่สุด อีกทั้งยังเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าที่สุด โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

นายประสงค์ อินทรหนองไผ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่ม ปตท. ยึดมั่นในพันธกิจรักษาความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ควบคู่กับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ผ่านการกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2593 โดยส่วนหนึ่งได้นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทานให้เกิดเป็นรูปธรรม มุ่งปฏิวัติรูปแบบการใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดปริมาณของเสียตลอดกระบวนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และรักษาสิ่งแวดล้อม 

ความร่วมมือในครั้งนี้ กลุ่ม ปตท. โดย PRISM (Petrochemical and Refining Integrated Synergy Management) แพลตฟอร์มความร่วมมือระหว่างบริษัทในกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ผลักดันให้เกิดการผสานองค์ความรู้ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และทรัพยากรจากทั้ง 3 หน่วยงาน นำวัสดุเหลือใช้ ในกระบวนการผลิตมาต่อยอดและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพ และเจตนารมย์องค์กรชั้นนำของไทย ที่จะจุดพลังและขยายความร่วมมือระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรม ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมขับเคลื่อนอนาคตที่ดีให้แก่โลกได้อย่างยั่งยืนต่อไป

นายกฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC กล่าวว่า IRPC ดำเนินธุรกิจตามวิสัยทัศน์องค์กร “สร้างสรรค์นวัตกรรมการใช้วัสดุและพลังงาน เพื่อชีวิตที่ลงตัว” ด้วยการใช้นวัตกรรมสร้างการเติบโต ควบคู่ไปกับการดูแลสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยโครงการนี้ เป็นอีกหนึ่งความมุ่งมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและใช้ประโยชน์ของทรัพยากรอย่างสูงสุด โดยบริหารจัดการพลาสติกใช้แล้ว ประเภทใช้ครั้งเดียวสู่ผลิตภัณฑ์หมุนเวียน ผ่านผลิตภัณฑ์แบรนด์ “POLIMAXX” สร้างผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายทั้งในกลุ่มรีไซเคิลและพลาสติกที่มีพืชเป็นส่วนผสมหลักในการผลิต (Bio-Based) ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ตามโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green Economy (BCG) 

นอกจากนี้ IRPC ยังได้ร่วมผลักดันการสร้างความสมดุลและความยั่งยืน หรือ ESG โดยตั้งเป้าหมายและกำหนดแนวทางองค์กรเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์หรือ Net Zero Emission ภายในปี 2603 เพื่อก้าวสู่อนาคตที่ยั่งยืน 

นับเป็นหมุดหมายสำคัญในการเดินหน้าธุรกิจภายใต้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนของบริษัทไทย ชั้นนำอย่าง บุญรอดบริวเวอรี่ ปตท. และ ไออาร์พีซี ที่จับมือพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมยกระดับกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ ต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์หมุนเวียนจากวัสดุเหลือใช้ภายในโรงงาน ที่นอกจากจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับธุรกิจแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมสนับสนุนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ที่กำหนดไว้ในปี 2608 ได้ต่อไป

‘นายกฯ เศรษฐา’ ยัน!! แจกเงินดิจิทัลฯ ไม่ใช่การสงเคราะห์คนจน

‘นายกฯ เศรษฐา’ แถลง ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ใช้จ่ายผ่าน ‘เป๋าตัง’ แจก 50 ล้านคน รายได้ไม่เกิน 7 หมื่นต่อเดือน เงินฝากทุกบัญชีรวมไม่เกิน 5 แสนบาท มีระยะเวลาการใช้ 6 เดือน พร้อมขยายพื้นที่การใช้ครอบคลุมระดับอำเภอ เตรียมตั้งงบ 600,000 ล้านบาท แต่ยังต้องผ่านขั้นตอนกฎหมาย 

(10 พ.ย. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เรียกประชุมนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ชุดใหญ่ โดยระบุในช่วงเช้าก่อนการแถลงว่า “คำพูดของตน ไม่ต้องจด ไม่ต้องอัด ตั้งใจฟังอย่างเดียว เพราะมี Press Release อย่างหนาให้”

จากนั้นเมื่อเวลา 14.00 น. นายกฯ เศรษฐา ได้แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ว่า... 

โครงการดังกล่าวจะเติมเงินในระบบเศรษฐกิจ รวม 600,000 ล้านบาท ครอบคลุม 50 ล้านคน และอีก 100,000 ล้านบาทในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ และยังต้องผ่านกระบวนการตามกฎหมายก่อนที่จะสรุป และต้องมีมติของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ นายกฯ กล่าวว่า ได้ปรับเงื่อนไขให้รัดกุมมอบสิทธิการใช้จ่าย 10,000 บาทให้คนอายุ 16 ปีขึ้นไปรายได้ไม่ถึง 70,000 บาท และมีเงินฝากไม่ถึง 500,000 บาท พร้อมทั้งย้ำด้วยว่า คนที่มีรายได้มากกว่า 70,000 บาท แต่มีเงินฝากน้อยกว่า 50,000 ก็จะไม่ได้รับสิทธิ หรือรายได้น้อยกว่า 70,000 บาท แต่เงินฝากมากกว่า ก็จะไม่ได้รับสิทธิ

นายกฯ กล่าวอีกว่า ส่วนการใช้จ่ายนั้น จะใช้จ่ายในระดับอำเภอ มีระยะเวลาใช้จ่ายก้อนแรกภาย 6 ในเดือน สามารถซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคได้เท่านั้น ซื้อบริการไม่ได้ แลกเปลี่ยนเป็นเงินสดไม่ได้ ซื้อทอง เพชร พลอย เติมน้ำมัน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กัญชา กัญชง หรือนำไปชำระหนี้ไม่ได้ ร้านค้าไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ร้านค้าที่สามารถขึ้นเป็นเงินสดได้ต้องเป็นร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น

ทั้งนี้ เมื่อมีการถามถึงการใช้งาน ดิจิทัลวอลเล็ต ว่าจะใช้สิทธิ์ยากหรือไม่ และเข้าร่วมอย่างไรนั้น? นายกฯ ประกาศว่า “เราจะพัฒนาต่อยอดระบบ ‘เป๋าตัง’ ซึ่งมีประชาชนลงทะเบียน 40 ล้านคน ร้านค้าที่คุ้นเคยกว่า 1.8 ล้านร้านค้า ซึ่งเป๋าตัง มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีลดระยะเวลา งบประมาณ ซ้ำซ้อน”

หลังจากนั้น นายกฯ ยังได้เผยถึง โครงการลดหย่อนลดภาษี โดยกล่าวด้วยว่า รัฐบาลจะออกโครงการลดหย่อนภาษีให้คนไทยสามารถลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคล จากการซื้อสินค้า-บริการมูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท โดยใช้ใบกำกับภาษีมาประกอบยื่นภาษีบุคคล และรัฐจะคืนเงินภาษีให้ ดังนั้นคนที่ไม่ได้รับสิทธิดิจิทัลวอลเล็ต ก็สามารถเข้าร่วมโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการนี้ได้ และจะทำให้ร้านค้าเข้าระบบภาษีดิจิทัลมากขึ้นอีกด้วย

“ยังยืนยันให้คนไทยทุกคนมีส่วนร่วมในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้คนไทยลดหย่อนภาษีมูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท มาประกอบการยื่นภาษี” นายกฯ กล่าว

โดยสรุป นโยบายทั้งหมดนี้จะส่งผลดีต่อประเทศ 2 ด้าน คือกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในระยะสั้น โดยมีประชาชนทุกภาคส่วนเป็นกลไกที่สำคัญ ผ่านการบริโภคและการลงทุน วางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและ E-Government ซึ่งเป็นการวางและแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศในระยะยาว

“นี่ไม่ใช่สงเคราะห์ ประชาชนผู้ยากไร้ แต่เป็นการเติมเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจแทนสิทธิการใช้จ่าย เพื่อให้ประชาชนมีบทบาทร่วมกับรัฐบาลในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะที่ยังรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐทุกประการ...

“ผมขอให้ประชาชนทุกคนได้รับสิทธิร่วมกันใช้จ่ายอย่างมีความภาคภูมิใจ โดยทุกคนร่วมเป็นผู้สร้างการเจริญเติบโตและความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศเรา” นายกฯ ทิ้งท้าย

สำหรับโครงการทั้งหมดที่ว่ามาจะสามารถใช้ได้เมื่อใดนั้น จะต้องผ่านการตีความโดยกฤษฎีกา ในช่วงปลายปีนี้ นำเข้าสู่สภาช่วงต้นปีหน้า จัดเตรียมงบประมาณและเปิดใช้ประชาชนใช้ พฤษภาคม ปีหน้า (2567) ช่วงก่อนหน้านั้นจะมี e-Refunds ตั้งแต่เดือนมกราคม และโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถ เริ่มได้เดือนมิถุนายน 67 ทั้งนี้ ต้องเข้าสู่กระบวนการกฎหมาย ทำงานรัดกุม ก่อนเข้าครม. เพื่อได้รับการอนุมัติต่อไป 

‘ผู้แทนการค้าไทย’ มั่นใจ!! ‘Sharp’ ลงทุนในไทยต่อเนื่อง เล็งดึง ‘Foxconn’ ตั้งบริษัท ปั้นรถ EV ส่งออกต่างประเทศ

(10 พ.ย. 66) นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า ตนได้หารือกับนายชูเฮย์ อาราอิ กรรมการผู้จัดการบริษัท ชาร์ป ไทยจำกัด และคณะ โดยชาร์ปได้ยืนยันที่จะรักษาฐานการผลิตในประเทศไทย หลังจากที่เริ่มทำธุรกิจและลงทุนในไทยมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2530 และยังสนใจที่จะลงทุนในอุตสาหกรรมไฮเทค ซึ่งเป็นเป้าหมายของประเทศไทย โดยเฉพาะการตั้งโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์หรือสารกึ่งตัวนำเพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่ใช้ชิปที่มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น โดยในปี 2559 ชาร์ปได้ควบรวมกับบริษัท ฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) ผู้นำการผลิตและประกอบชิ้นส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดของโลก และต่อมาในปี 2564 ฟ็อกซ์คอนน์ได้ร่วมลงทุนกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อก่อตั้งบริษัทและโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้ชื่อ Horizon+ ในไทย ซึ่งคาดว่าจะช่วยส่งเสริมการจ้างงาน และทำให้ไทยมีรถยนต์ไฟฟ้าเป็นสินค้าส่งออกได้ในอนาคต โดยชาร์ปจะเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตอุปกรณ์รถยนต์ไฟฟ้า เช่น แผงวงจร หน้าจอรถยนต์ 

ผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า ชาร์ปเล็งเห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยทั้งในเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความได้เปรียบ และสามารถพัฒนาเป็นศูนย์กระจายสินค้าไปยังภูมิภาคเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และอื่น ๆ ได้ รวมทั้งรัฐบาลยังมีสิทธิประโยชน์เพื่อการลงทุนที่น่าสนใจ ขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคไทยก็เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในอนาคตชาร์ปสนใจที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น เครื่องซักผ้าที่ใช้น้ำน้อยและสามารถรีไซเคิลน้ำกลับมาใช้ใหม่ หรือไดร์เป่าผมที่มีเสียงเบาเหมาะกับคอนโดขนาดเล็กใจกลางเมือง 

ทั้งนี้ตนจะเดินทางไปเข้าร่วม งาน Sharp Tech Day ในโอกาสเฉลิมฉลองการก่อตั้งบริษัทครบรอบ 111 ปี ตามคำเชิญของชาร์ป ในระหว่างวันที่ 10 - 12 พ.ย. 66 ที่ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยจะมีโอกาสได้พบกับผู้บริหารระดับสูงของชาร์ป ตัวแทนของฟ็อกซ์คอนน์ และบริษัทอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นนำต่าง ๆ ที่มาร่วมงานนี้ เพื่อเจรจาเชิญชวนให้เข้ามาลงทุนในไทยด้วย

นางนลินี กล่าวว่า ผู้บริหารชาร์ปบอกด้วยว่าจะเป็นเรื่องที่ดีมากหากนายกรัฐมนตรีมีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมบริษัทแม่ของชาร์ป ที่นครโอซากา ระหว่างการเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นในช่วงเดือน ธ.ค. 66 นี้ 

สำหรับบริษัทชาร์ป ไทย ปัจจุบันก้าวเข้าสู่ปีที่ 36 แล้ว โดยมีบริษัทในเครือ 7 แห่ง แบ่งเป็น บริษัทสาขาการขาย 4 แห่ง และโรงงาน 3 แห่ง สร้างยอดขายกว่า 3,500 ล้านบาทต่อปี และมีพนักงานมากกว่า 7,300 คน ที่ผ่านมาได้ช่วยถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงให้กับบุคลากรของไทย และยังคัดสรรนวัตกรรมคุณภาพเพื่อส่งมอบให้แก่ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง

ผลประกอบการ 9 เดือนแรกปี 66 พลิกทำกำไร 16,342 ลบ. เร่งเครื่องฟื้นฟูกิจการเต็มกำลัง พร้อมขานรับนโยบายฟรีวีซ่า

(10 พ.ย. 66) บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยผลการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อย โดยระบุว่า...

ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย มีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 37,008 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 32,860 ล้านบาท หรือ 12.6% 

โดยมีผู้โดยสารรวมทั้งสิ้น 3.27 ล้านคน เป็นส่วนของการบินไทย 2.19 ล้านคน และไทยสมายล์ 1.08 ล้านคน มีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 77.3% (การบินไทย 77.1% และไทยสมายล์ 80.9%) ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเฉลี่ย 77.0% 

บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 29,289 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่าย 28,940 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากค่าใช้จ่ายที่ผันแปรตามปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น เป็นค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง 11,995 ล้านบาท (41% ของค่าใช้จ่ายรวม) 

โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 7,719 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ปี 2565 ซึ่งมีกำไร 3,920 ล้านบาท 

ทั้งนี้ บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 3,722 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวที่ส่วนใหญ่มาจากการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นค่าใช้จ่ายรวม 2,732 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 1,546 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อน ขาดทุน 4,780 ล้านบาท โดยมี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 8,360 ล้านบาท 

สำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 115,897 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 65,567 ล้านบาท 

ในขณะเดียวกันมีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 86,567 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวม 66,115 ล้านบาท บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 29,330 ล้านบาท ดีกว่างวดเดียวกันของปี 2565 ที่ขาดทุน 548 ล้านบาท โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อย มีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 11,237 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวที่ส่วนใหญ่มาจากขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นค่าใช้จ่ายรวม 2,390 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 16,342 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อนขาดทุน 11,237 ล้านบาท มี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 31,720 ล้านบาท 

ในปัจจุบัน บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีเครื่องบินที่ใช้ทำการบินทั้งสิ้น 68 ลำ ประกอบด้วยเครื่องบินลำตัวแคบ 20 ลำ และเครื่องบินลำตัวกว้าง 48 ลำ โดยบริษัทฯ มีการรับเครื่องบินลำตัวกว้างจากการเช่าดำเนินการเข้ามาในฝูงบิน จำนวน 1 ลำ ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา รวมเครื่องบินที่รับเพิ่มในปีนี้ทั้งหมดจำนวน 3 ลำ บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ย 12.0 ชั่วโมงต่อวัน โดยเป็นส่วนของการบินไทย 13.7 ชั่วโมงต่อวัน และไทยสมายล์ 8.2 ชั่วโมงต่อวัน มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 53.3% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 100.7% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 80.0% (การบินไทย 80.0% และไทยสมายล์ 80.4%) สูงกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 61.1% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 10.13 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 77.4% เป็นส่วนของการบินไทยและไทยสมายล์ 6.50 และ 3.63 ล้านคน ตามลำดับ 

ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 234,290 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 36,112 ล้านบาท (18.2%) หนี้สินรวมจำนวน 288,996 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 19,794 ล้านบาท (7.4%) 

ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และบริษัทย่อยติดลบจำนวน 54,706 ล้านบาท ติดลบลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 16,318 ล้านบาท และจากผลประกอบการที่เป็นบวก บริษัทฯ มีเงินสด ตั๋วเงินฝาก เงินฝากประจำและหุ้นกู้ที่มีระยะเวลาครบกำหนดชำระมากกว่า 3 เดือน แต่ไม่เกิน 12 เดือน จำนวน 63,387 ล้านบาท ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 

สำหรับในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ต่อเนื่องไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 แม้จะเข้าสู่ฤดูการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจากหลายภูมิภาค แต่ด้วยสภาวะการแข่งขันที่คาดว่าจะปรับตัวรุนแรงขึ้นจากการที่สายการบินต่าง ๆ เริ่มทยอยนำเครื่องบินกลับมาทำการบินในระดับที่ใกล้เข้าสู่ภาวะปกติก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดังจะเห็นได้จากการเปิดเส้นทางบินและเพิ่มความถี่เที่ยวบินของสายการบินในหลายเส้นทาง อาทิ การกลับเข้ามาทำการบินในเส้นทางกรุงเทพฯ-กรุงโคเปนเฮเกนของสายการบินสแกนดิเนเวียนแอร์ไลน์ส การนำเครื่องบินแอร์บัสแบบ A380 กลับเข้ามาทำการบินในเส้นทางกรุงเทพฯ-นครมิวนิกของสายการบินลุฟท์ฮันซ่า 

ปัญหาข้อพิพาทในภูมิภาคตะวันออกกลางและพื้นที่ฉนวนกาซาซึ่งส่งผลกระทบให้เกิดการชะลอตัวของการสำรองที่นั่งล่วงหน้าในหลาย ๆ เส้นทาง โดยเฉพาะเส้นทางทวีปยุโรปและเที่ยวบินกรุงเทพฯ-นครอิสตันบูล สาธารณรัฐทูร์เคีย 

ซึ่งการบินไทยมีกำหนดเปิดให้บริการในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจในสาธารณรัฐประชาชนจีนที่เห็นได้จากการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นไปอย่างล่าช้า ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ ค่าใช้จ่ายการบริการภาคพื้นในต่างประเทศ ทำให้บริษัทฯ ยังคงต้องมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการบริหารผลตอบแทนต่อหน่วย (Yield) ให้เป็นไปตามเป้าหมาย เช่นเดียวกับการจัดการด้านค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดจนดำเนินการตามแผนปฏิรูปองค์กรและการดำเนินธุรกิจอย่างเคร่งครัดและมีวินัย เพื่อให้การดำเนินการปรับโครงสร้างทุนด้วยการแปลงหนี้เป็นทุนและเพิ่มทุนได้สำเร็จตามกรอบเวลาที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ

การดำเนินตามแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย ในไตรมาสนี้มีการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่

>>การหารายได้จากการขนส่ง 

เพิ่มจุดบินและความถี่เพื่อรองรับการเติบโตของปริมาณความต้องการ เดินทาง (Demand) ของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ ในเส้นทางซัปโปโร ประเทศญี่ปุ่น

>>การดำเนินการตามแผนการปรับปรุงประสิทธิภาพฝูงบิน

รับมอบเครื่องบินแบบ A350-900 จำนวน 1 ลำ ซึ่งจะเริ่มทำการบินตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ในเส้นทางสู่ประเทศจีน เพื่อรองรับนโยบาย Free Visi ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (High Season) และเพื่อขยายฝูงบินให้รองรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน 

รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างรายได้ให้กับบริษัทฯ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพในการ บริหารจัดการต้นทุนให้สามารถแข่งขันได้ท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง

>>การหาประโยชน์จากทรัพย์สินรองที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ 

การบินไทยได้ขายเครื่องบินแบบ B747-400 จำนวน 2 ลำ และ A340-68) จำนวน 1 ลำ รวมทั้งเครื่องยนต์อะไหล่ที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว จำนวน 1 เครื่องยนต์ ซึ่งส่งมอบให้กับผู้ซื้อแล้ว 

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้จำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ ได้แก่ บ้านพักกรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซียและสำนักงานขายมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ซึ่งบริษัทฯ ได้รับเงินครบถ้วนและได้โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อแล้ว

>>การปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจกลุ่มธุรกิจการบินของกลุ่มบริษัทการบินไทย 

บริษัทฯ รับโอน เครื่องบิน A320-200 จากบริษัท ไทยสมายล์ฯ เพิ่มอีกจำนวน 3 ลำ รวมเป็น 6 ลำ เพื่อเตรียมทำการบินในเส้นทาง ระหว่างประเทศของบริษัทฯ ได้แก่ เดล, มุมไบ, ธากา รวมถึงกัลกัตตา (เริ่มบินตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม2566 เป็นต้นไป) 

บริษัทฯ ยังทำการบินทดแทนสายการบินไทยสมายล์ ในเส้นทางย่างกุ้ง, เวียงจันทน์, พนมเปญ, อาห์เมคา บัด รวมถึงเกาสงและปีนัง (เริ่มบินตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป) 

การบินไทยจะทยอยรับโอนอากาศยานจน ครบ 20 ลำ ภายในไตรมาส 1 ของปี 2567 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการอากาศยานได้อย่างเหมาะสม สามารถวางแผนและพัฒนาเครือข่ายเส้นทางบิน และจัดเที่ยวบินให้ครอบคลุมความต้องการของผู้โดยสารใน ภาพรวมได้ดียิ่งขึ้น โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการแก่ผู้โดยสาร

‘DTI’ เซ็น MOU ร่วม ‘THAICOM’ พัฒนาท่าอวกาศยาน เพิ่มขีดความสามารถด้านอวกาศไทยขึ้นไปอีกขั้น

(10 พ.ย.66) สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) หรือ ‘DTI’ จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนาท่าอวกาศยาน ภาครัฐเชิงพาณิชย์ (Commercial Governmental Spaceport) สิ่งอำนวยความสะดวกท่าอวกาศยานต่างๆ และ เทคโนโลยีทางอวกาศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่าง สทป. กับ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) 

โดยมี พลเอกพอพล มณีรินทร์ ประธานกรรมการ สทป. ร่วมเป็นสักขีพยานกิตติมศักดิ์ และมี พลเอกชูชาติ บัวขาว ผอ.สทป. และ นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ให้เกียรติในการลงนาม พร้อมด้วย ดร.ปิยะวัฒน์ จริยเศรษฐพงศ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการค้าร่วมเป็นสักขีพยาน เพื่อร่วมมือกันศึกษา วิจัย พัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุน การจัดตั้งท่าอวกาศยานภาครัฐเชิงพาณิชย์ หรือ ‘Commercial Governmental Spaceport’ รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกท่าอวกาศยานต่างๆ และเทคโนโลยีทางอวกาศอื่นๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งในด้านความมั่นคงทางการทหาร ด้านเศรษฐกิจและสังคม และด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและวิทยาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี Hall 9-12

สำหรับงานด้านอวกาศ ถือเป็นโอกาสที่จะทำให้ประเทศเกิดการพัฒนาและเติบโตขึ้นในหลายมิติ โดยสิ่งหนึ่งที่มีความจำเป็น หากต้องการแข่งขันทางด้านอวกาศในระดับนานาชาติ คือ การพัฒนา Spaceport หรือ ‘ท่าอวกาศยาน’ ซึ่งมีความคล้ายกับแอร์พอร์ต หรือท่าอากาศยาน แต่ Spaceport นี้จะถูกใช้เป็นฐานยิงจรวด ยิงดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศ รวมทั้งเป็นจุดสำหรับรับจรวดรับดาวเทียมกลับสู่โลก

ทั้งนี้ ประเทศไทย อยู่ในฐานะประเทศที่มีลักษณะทางภูมิศาสตร์ได้เปรียบและเหมาะสมในการสร้าง Spaceport ฉะนั้น การบุกเบิก Spaceport จะนำไปสู่เศรษฐกิจใหม่แห่งอนาคตที่เรียกว่า ‘เศรษฐกิจอวกาศ’ หรือ ‘Space Economy’ ต่อไป

‘สธ.-สสส.-MBK’ รวมพลังปลุกกระแส ‘อาหารไทยถิ่น กินเป็นยา’ กระตุ้นท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ-เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ-ดึงเม็ดเงินเข้าประเทศ

(9 พ.ย. 66) นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดงานเสวนาวิชาการและนิทรรศการอาหารเป็นยาครั้งที่ 1/2566 ภายใต้แนวคิด ‘อาหารไทยถิ่น กินเป็นยา’ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-12 พฤศจิกายน 2566 ที่ลาน MBK Avenue A ศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ กรุงเทพมหานคร โดยมี นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รักษาราชการแทนรองปลัด สธ. นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ผู้บริหาร สธ.ภาคีเครือข่ายร่วมงาน พร้อมทั้งมอบป้ายโลโก้อาหารเป็นยา ให้กับสถานประกอบการ ทั้ง 20 แห่ง ที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกผู้จำหน่ายอาหารที่มีเมนูสุขภาพจากวัตถุดิบในท้องถิ่น ปลอดสารพิษ

นายสันติกล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นภาคเศรษฐกิจและสร้างงานให้กับประชาชน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพด้านอาหารที่สร้างรายได้ให้กับประเทศนับแสนล้านบาท

ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ข้อมูลจากกรมการท่องเที่ยว ระบุว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวด้านอาหาร ถึงร้อยละ 20 ของรายได้การท่องเที่ยวทั้งหมด และในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รายได้จากอาหารและเครื่องดื่มจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5.74 สธ.จึงเห็นโอกาสในการขับเคลื่อนนโยบายอาหารเป็นยา เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อมั่น ให้กับประชาชนเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพด้วยการบริโภคอาหาร นำไปสู่สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศ

“อาหารไทยได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวอย่างแพร่หลาย ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดรายการอาหารยอดนิยมของนักท่องเที่ยวไว้ จำนวน 6 รายการ ได้แก่ ผัดไทย ต้มยำกุ้ง แกงเขียวหวาน ส้มตำ มัสมั่น ต้มข่าไก่ และยังมีรายการอาหารไทยที่ควรส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักมากยิ่งขึ้น เช่น ผัดกะเพรา ผัดฉ่า เครื่องดื่มสมุนไพรซึ่งมีสรรพคุณตามรสยา เพื่อช่วยให้ร่างกายแข็งแรง และบรรเทาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น” นายสันติกล่าว

นพ.สุรโชค กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือของ สธ.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ และภาคีเครือข่าย เพื่อขับเคลื่อนการนำอาหารไทย สมุนไพรไทย มาช่วยสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ภายใต้แนวคิด ‘อาหารไทยถิ่น กินเป็นยา’ เป็นการสร้างกระแสให้ประชาชนหันมาใส่ใจการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้น รวมถึงเยาวชนรุ่นใหม่จะได้ตระหนักรู้ว่าอาหารไทย สมุนไพรไทยมีคุณค่า เป็นการผสม ‘ศาสตร์’ การดูแลสุขภาพด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย กับ ‘ศิลป์’ ความพิถีพิถัน ความละเอียดอ่อนในการปรุงอาหาร ที่ช่วยสร้างคุณค่าและมูลค่าให้กับอาหารไทย คาดว่าการจัดงานในครั้งนี้จะทำให้เศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียนจากการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาชมงานประมาณ 5-6 หมื่นคนต่อวัน

ด้าน นพ.ขวัญชัยกล่าวว่า ที่ผ่านมากรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้จัดกิจกรรมอาหารเป็นยาโดยนำร่องจังหวัดที่เป็นเมืองสมุนไพร อาทิ สงขลา อุดรธานี จันทบุรี สระบุรี เชียงใหม่ เป็นต้น ซึ่งได้การตอบรับเป็นอย่างดี รวมถึงได้ร่วมมือกับ ‘การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย’ (ททท.) มอบป้ายโลโก้ให้ผู้ประกอบการ สตรีทฟู้ด ร้านอาหารเครื่องดื่ม และโรงแรม แล้วกว่า 200 ร้านค้า เพื่อเป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพ และเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงว่ามีเมนูสุขภาพที่ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น ปลอดสารพิษ เป็นการช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย เวทีเสวนาวิชาการ ให้ความรู้เกี่ยวกับสรรพคุณทางสมุนไพรที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย กิจกรรมอาการเป็นยา เช่น กินยังไง? ไม่ให้ป่วย, กินสร้างสุข, กินลดโรค การออกร้านจำหน่ายอาหาร-เครื่องดื่มจากชุมชนทั่วประเทศ

'ฉางอัน ออโต' วางศิลาฤกษ์ 'โรงงานผลิต EV' ในไทย มองไกล!! ทุ่ม 2 หมื่นล้าน จ่อผลิต 2 แสนคันต่อปี

(9 พ.ย.66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ฉางอัน ออโต (Changan Auto) ผู้ผลิตยานยนต์ชั้นนำของจีน ได้จัดพิธีวางศิลาฤกษ์โรงงานผลิตยานยนต์แห่งแรกของบริษัทในไทย ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของการขยับขยายธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยโรงงานแห่งใหม่นี้ครอบคลุมพื้นที่ราว 1,520 ไร่ ตั้งอยู่ที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในจังหวัดระยอง ประกอบด้วยหน่วยทาสี ประกอบชิ้นส่วน ประกอบเครื่องยนต์ และประกอบแบตเตอรี่ รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกสนับสนุนอันจำเป็น

รายงานระบุว่าการดำเนินงานระยะแรกมีกำหนดเริ่มต้นช่วงต้นปี 2025 โดยการออกแบบเบื้องต้นกำหนดกำลังการผลิตสูงแตะ 1 แสนคันต่อปี ส่วนการดำเนินงานระยะที่ 2 จะมีการลงทุนรวมสูงถึง 2 หมื่นล้านบาท ทำให้กำลังการผลิตสูงแตะ 2 แสนคันต่อปี

อนึ่ง ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์แห่งสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเนิ่นนาน เนื่องจากมีข้อได้เปรียบด้านห่วงโซ่อุตสาหกรรมและที่ตั้งทางภูมิศาสตร์

การลงทุนของฉางอันในไทยสอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลไทยที่มุ่งเพิ่มสัดส่วนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้สูงแตะร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดภายในปี 2030 และจะครอบคลุมทั่วตลาดอาเซียน รวมถึงตลาดยานยนต์พวงมาลัยขวาทั่วโลก

ด้านนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไทย กล่าวว่าการลงทุนของฉางอันสะท้อนศักยภาพและความพร้อมของไทยในการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าระดับภูมิภาคและระดับโลก

หวังฮุย รองประธานของฉางอัน ออโตโมบิล เผยว่าฉางอันมุ่งมีบทบาทเชิงรุกในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมยานยนต์อันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น ขณะไทยเร่งปรับตัวสู่การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างรวดเร็ว

การเข้าสู่ไทยของฉางอันไม่เพียงเสนอหลักประกันตามเป้าหมายจัดวางให้ไทยเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าระดับภูมิภาคของฉางอัน แต่ยังมีบทบาทสำคัญต่อการส่งเสริมการบูรณาการเชิงลึกของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ในจีนและไทย

ทั้งนี้ นอกเหนือจากฉางอันแล้ว กลุ่มผู้ผลิตยานยนต์ของจีน เช่น เกรตวอลล์ (Great Wall) และบีวายดี (BYD) ได้ก่อสร้างโรงงานและเปิดตัวยานยนต์ไฟฟ้ารุ่นต่างๆ ในไทยเช่นกัน ด้านข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่าแบรนด์จีนครองสัดส่วนกว่าร้อยละ 70 ของยอดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าในไทยในช่วงครึ่งแรก (มกราคม-มิถุนายน) ของปีนี้

‘ไทย’ พลิกบทบาทฐานผลิต ‘รถยนต์สันดาป’ สู่ ‘EV’ ชั้นนำโลก เล็งดึงเม็ดเงินบริษัทต่างชาติลงทุน 1 ล้านล้านบาท ภายใน 4 ปี

เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 66 เพจเฟซบุ๊ก ‘เดือดทะลักจุดแตก’ ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีที่เมื่อไม่นานนี้ ทางสำนักข่าวบลูมเบิร์กเทเลวิชัน ของสหรัฐอเมริกา รายงานข่าวว่า ‘ไทยแลนด์’ ฐานผลิตรถยนต์ (น้ำมัน) แห่งเอเชีย’ พลิกเดิมพัน EV หวังดูดเงินลงทุนมหาศาล 1 ล้านล้านบาท โดยระบุว่า…

ประเทศไทยซึ่งได้รับฉายาว่าเป็น ‘ดีทรอยต์แห่งเอเชีย’ (Detroit of Asia) ในแง่ของการผลิตรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ระดับแถวหน้าของโลก ด้วยการตั้งเป้าหมายที่จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติถึง 1 ล้านล้านบาท (2.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ภายในระยะเวลา 4 ปี

โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ไทยได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ เพื่อดึงดูดนักลงทุนรายใหญ่ให้มาลงทุนในอุตสาหกรรม EV และภาคส่วนอื่น ๆ ที่เป็นกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจของไทย โดยนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า กลุ่มผู้ผลิต EV ของจีนถือเป็นเป้าหมายหลักของไทย

นายนฤตม์กล่าวว่า อุตสาหกรรม EV, ยานยนต์, อิเล็กทรอนิกส์, ดิจิทัล, สำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาค และอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถือเป็น ‘5 อุตสาหกรรมเชิงกลยุทธ์’ ที่บีโอไอให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ

ข้อมูลจาก fDi Markets ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ติดตามการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมระบุว่า ในขณะที่ไทยสามารถดึงดูดเงินลงทุนจากบริษัทจีนหลายแห่ง ซึ่งรวมถึงบีวายดี, เกรท วอลล์ มอเตอร์ และเอสเอไอซี มอเตอร์นั้น ทิศทางด้านการลงทุนในอุตสาหกรรม EV ในปี 2565 แสดงให้เห็นว่าไทยต้องเร่งดำเนินการอย่างมากเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ขณะที่สหรัฐฯ, ฮังการี, เม็กซิโก, อินโดนีเซีย และเยอรมนี ได้รับเงินลงทุนจากมูลค่าทั้งหมดกว่า 1.06 แสนล้านดอลลาร์ที่ลงทุนในโครงการ EV ทั่วโลกเมื่อปีที่แล้ว

ศูนย์ปฏิบัติการพิเศษเพื่อการลงทุนเชิงกลยุทธ์ (Special Operation Center For Strategic Investment) ซึ่งอยู่ในกรุงเทพฯนั้น กำลังทำงานเกือบจะตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อดึงดูดนักลงทุนที่มีศักยภาพสูง และจัดการประชุมระดับสูงให้กับรัฐบาล รวมทั้งคอยสนับสนุนนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับทริปการเดินทางไปต่างประเทศที่สำคัญ เพื่อพยายามทำข้อตกลงด้านการลงทุน

ทั้งนี้ หลังจากที่นายเศรษฐาเดินทางเยือนสหรัฐฯ เมื่อเดือนที่แล้ว บีโอไอพยายามโน้มน้าวบริษัทรายใหญ่ ซึ่งรวมถึงไมโครซอฟท์, กูเกิล และอะเมซอน เว็บ เซอร์วิส ให้เข้ามาสร้างหรือเพิ่มฐานธุรกิจในประเทศไทยผ่านทางการลงทุนใหม่ ๆ

‘สายสีชมพู’ ปลุก ‘แจ้งวัฒนะ-รามอินทรา-มีนบุรี’ คึกคัก ‘คอนโดใหม่’ ทะลัก 6.8 หมื่น ลบ. ราคาที่ดินพุ่งเท่าตัว

(8 พ.ย. 66) นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดคอนโดมิเนียมตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี หลังเตรียมเปิดบริการในวันที่ 18 ธันวาคม 2566 ส่งผลให้ตลาดคอนโดมิเนียมตลอดเส้นทางของรถไฟฟ้าสายนี้กลับมาคึกคักอีกครั้ง 

โดยพบว่าผู้พัฒนารายใหญ่มีการลงทุนเปิดตัวโครงการใหม่คึกคัก ทั้งย่านรามอินทรา แจ้งวัฒนะ และมีนบุรี โดย สิ้นไตรมาส 3 ปี 2566  มีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายตลอดแนวสายสีชมพูแล้ว 38,192 ยูนิต มูลค่า 68,700 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่แนวถนนติวานนท์ และแจ้งวัฒนะมากสุดคิดเป็น 49.28 % ของจำนวนทั้งหมด และมีอัตราการขายเฉลี่ยของทุกพื้นที่อยู่ที่ 73.50%

“ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ภาพรวมของราคาคอนโดมิเนียมแนวสายสีชมพู ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 100% หรือเฉลี่ยปีละกว่า 10% โดยช่วงก่อนหน้าการกระจุกตัวของโครงการคอนโดมิเนียมส่วนใหญ่อยู่ถนนติวานนท์-แจ้งวัฒนะ และรามอินทราเป็นส่วนใหญ่ แต่หลังรถไฟฟ้ามีความคืบหน้าพบว่าย่านมีนบุรี ถนนรามคำแหง 209 มีผู้พัฒนารายใหญ่ เช่น ออริจิ้น, แอสเซทไวส์ เข้าไปพัฒนาโครงการใหม่และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี” นายภัทรชัยกล่าว

นายภัทรชัยกล่าวว่า ตลาดคอนโดมิเนียมสายสีชมพูคึกขึ้น เกิดจากคอนโดมิเนียมในกรุงเทพมหานครชั้นในเริ่มมีมากขึ้นและราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อเนื่องมายังโครงการคอนโดมิเนียมที่มีการปรับราคาขายที่สูงขึ้นในทุกปี ทำให้ผู้ซื้อระดับกลาง-ล่างที่เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดเริ่มหาซื้อคอนโดมิเนียมได้ยากขึ้น ด้านผู้พัฒนาก็ยังต้องการจับกำลังซื้อกลุ่มระดับกลาง-ล่างเอาไว้ให้มากที่สุด จำเป็นต้องมองหาทำเลใหม่ที่ราคาที่ดินยังไม่สูง ยังสามารถพัฒนาโครงการเพื่อรองรับกำลังซื้อกลุ่มนี้ได้ แต่ยังจำกัดอยู่ในบริเวณมีศักยภาพ มีศูนย์การค้า ศูนย์ราชการ ชุมชนขนาดใหญ่ เช่น แยกติวานนท์ ถนนแจ้งวัฒนะ ถนนรามอินทรา

นายภัทรชัยกล่าวว่า ปัจจุบันราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 65,000 บาท/ตารางเมตร(ตร.ม.) มีคอนโดมิเนียมเปิดขายตั้งแต่ระดับราคา 45,000 - 90,000 บาท/ตร.ม. ขึ้นอยู่กับทำเล รูปแบบโครงการ โดยราคาขายปรับขึ้นมาจากเมื่อปี 2556 มากกว่า 100% หรือเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 10% และหากสายสีชมพูเปิดอย่างเป็นทางการคาดการณ์ว่าคอนโดมิเนียมใหม่ที่เปิดขายหลังจากนี้คงมีราคาเริ่มต้นที่ไม่ต่ำกว่า 70,000 บาท/ตร.ม.แน่นอน เพราะราคาที่ดินเริ่มปรับขึ้นไปแล้วเช่นกันในช่วง 1-2 ปีนี้ โดยเพิ่มขึ้นมากกว่า 15% หรือมากกว่านี้ในบางทำเล ซึ่งราคาขายที่ดินอยู่ในช่วง 80,000-300,000 บาท/ตารางวา อนาคตคาดว่าจะพุ่งขึ้นเป็นเท่าตัว จึงเป็นที่คาดการณ์ว่าคอนโดมิเนียมหรือบ้านจัดสรรใหม่ ๆ ต้องมีราคาแพงกว่าปัจจุบันแน่นอน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top