Saturday, 18 May 2024
ECONBIZ

รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ ‘สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์’ ยก 8 ประเด็นคาใจแจงฝ่ายค้าน ยืนยันเศรษฐกิจไทยไม่ได้แย่อย่างที่ฝ่ายค้านอภิปรายในสภา

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊ก “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 64 ในหัวข้อ “เรื่องจริงเศรษฐกิจไทย” โดยชี้แจง 8 ประเด็นข้อสงสัยของพรรคฝ่ายค้าน เรื่องการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาล ยืนยันไม่ได้แย่อย่างที่อภิปรายในสภา มีเนื้อหาดังนี้...

#เรื่องจริงเศรษฐกิจไทย

จบลงไปแล้วนะครับสำหรับการอภิปรายที่รัฐสภาในญัตติไม่ไว้วางใจท่านนายกฯ และรัฐมนตรีอีก 5 ท่าน ซึ่งผมได้เตรียมชี้แจงข้อสงสัยและข้อกล่าวหาของพรรคฝ่ายค้าน เรื่องการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่ก็ไม่มีโอกาสได้พูดในสภา เนื่องจากเวลาไม่พอ ผมจึงขอสรุปสาระสำคัญซึ่งเป็นข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่จะทำให้มองเห็นการบริหารจัดการเศรษฐกิจของรัฐบาล และข้อเท็จจริงของสถานการณ์เศรษฐกิจไทยขณะนี้ ว่าไม่ได้แย่อย่างที่อภิปรายกันในสภาครับ

1. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19

ตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ผู้อภิปรายหลายท่านบอกว่าประเทศไทยย่ำแย่ที่สุดในรอบหลายสิบปี ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ย่ำแย่ของทุกประเทศ จุดต่ำสุดของไทยอยู่ที่เดือน เม.ย. ปีที่แล้ว หลังรัฐบาลค่อยๆ ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ดัชนีชี้วัดทุกตัวจึงดีขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งเดือน ธ.ค. มีการระบาดระลอกใหม่ ดัชนีบางตัวก็ยังดีกว่าเดือน เม.ย. ด้วยเรามีประสบการณ์และข้อมูลจากการระบาดครั้งแรก จึงไม่จำเป็นต้องล็อกดาวน์ แต่คุมเข้มบางจังหวัด ตัวเลขเศรษฐกิจดูจะลดลง แต่สัญญาณบวกได้ปรากฏอยู่ในไตรมาสที่ 4 โดยมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งการบริโภค การลงทุนของภาคเอกชน รวมถึงการลงทุนและบริโภคของรัฐ

ข้อมูลของสภาพัฒน์ ปี 63 เราติดลบ 6.1% แต่ถ้าติดตามข้อมูลมาตั้งแต่ต้นปี หลายสถาบันเห็นว่าไทยจะติดลบ 10 %, 8.5% บ้าง แต่ประเทศไทยเราร่วมมือกันและควบคุมได้ ถือว่าบอบช้ำไม่มาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน ไม่มีใครไม่ลบ แต่ที่ต่ำที่สุดคือฟิลิปปินส์ มีเพียงเวียดนามที่เป็นประเทศที่เพิ่งเติบโต แต่ก็เติบโตน้อยกว่าอัตราที่เคยเติบโตอยู่มาก ปีที่ผ่านมาประเทศไทยเราไม่ได้แย่ที่สุด เราเกาะกลุ่มอยู่ในประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้

2. การว่างงาน

ผู้อภิปรายหลายท่านบอกว่ามีคนว่างงาน 10 ล้านคน แต่คงเป็นประมาณการตั้งแต่ช่วงแรกที่เกิดการระบาด เพราะเขาไม่รู้ว่าการระบาดอย่างนี้ มีผลกระทบให้เกิดการว่างงานกันเท่าไร ก็คงมองในกรณีเลวร้ายที่สุดถึง 10 ล้านคน แต่ตัวเลขจริงที่ปรากฎออกมาคือ 1.9% ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนสูงกว่านี้ แสดงให้เห็นถึงความบอบช้ำที่มีทั่วโลก แต่ประเทศไทยเราทำได้ดี

3. ความน่าเชื่อถือในสายตานานาชาติ

3 สถาบันจัดอันดับเครดิต คือ มูดี้ส์ ฟิทช์เรตติ้ง และสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส ประเมินให้ไทยอยู่ในอันดับเท่าเดิม ในขณะที่หลายประเทศถูกปรับลดอันดับลง สำหรับความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการของประเทศไทยที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเรื่องเศรษฐกิจหรือการควบคุมการแพร่ระบาด ปรากฏว่าอยู่ในการจัดอันดับต่างๆ หรือการยอมรับจากนานาชาติ ล่าสุดเราติดอันดับ 1 ใน 4 ประเทศที่ควบคุมการระบาดของโควิด-19 ดีที่สุดในโลก ในขณะที่ความเข้มแข็งทางการเงิน การคลัง ติดอันดับต้นๆ ของประเทศเกิดใหม่ที่น่าลงทุนที่สุด นี่คือการประเมินเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมานี้เอง

4. รัฐบาล Very กู้ จริงหรือเปล่า

ปี 63 หนี้สาธารณะของเราอยู่ที่ราว 52% ของจีดีพี ตัวเลขกลมๆ ของหนี้สาธารณะคือ 8.1 ล้านล้านบาท ตอนที่ท่านนายกฯ รับตำแหน่งใหม่ๆ หนี้สาธารณะมีอยู่ 5.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.6 ล้านล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับรัฐบาลก่อนหน้านั้น ซึ่งอยู่ในตำแหน่ง 2 ปี 8 เดือน หนี้ของเขาเพิ่ม 1.3 ล้านล้านบาท รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ อยู่ 6 ปี 9 เดือน หนี้เพิ่มขึ้น 2.6 ล้านล้านบาท เฉลี่ยกู้ต่อเดือนไม่ต่างกัน แต่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ยังกู้น้อยกว่าด้วยซ้ำไป เงินกู้เหล่านี้ได้ถูกกระจายไปใช้ในการลงทุนโครงการสำคัญๆ ตั้งแต่ปี 59-63 จำนวน 162 โครงการ เป็นโครงการทางด้านคมนาคม สาธารณูปโภค และพลังงานเกือบทั้งหมด นี่คือการสร้างพื้นฐานให้ประเทศไทยเติบโตต่อไปในอนาคต และเป็นการกู้ที่ไม่เกินเลยจากรัฐบาลก่อนหน้านี้

5. รัฐบาลนี้ทำให้หนี้ครัวเรือนสูงที่สุด

รัฐบาลนี้ไม่ใช่รัฐบาลที่ทำให้หนี้ครัวเรือนสูงที่สุด เพราะสูงมาตั้งแต่ 10 กว่าปีที่แล้ว และสูงมาเรื่อยๆ ตอนที่ท่านนายกฯ เข้ามาเมื่อกลางปี 57 เรามีหนี้ครัวเรือนประมาณ 80% ท่านพยายามประคับประคองไม่ให้เพิ่ม มีปีหนึ่งลดลงไปที่กว่า 70% พอมาเกิดวิกฤต จีดีพีลดลงจาก 80% ที่พยายามรักษาไว้ กลายเป็น 86% เราพยายามบริหารจัดการให้เป็นหนี้มีคุณภาพ ประมาณ 65% ของหนี้ครัวเรือนจึงเป็นหนี้ที่กู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ใช้ประกอบธุรกิจ ซื้อพาหนะ ที่เหลือเป็นเรื่องการอุปโภคบริโภค ซึ่งในไตรมาสที่ 3 ของปีที่ผ่านมา ตอนนั้นเกิดโควิด-19 แล้ว เรามีหนี้ครัวเรือนเป็นหนี้เสียที่อยู่ในระบบธนาคารเพียง 3% อยู่ในเกณฑ์ค่าเฉลี่ยของหนี้เสียของระบบธนาคาร

6. แบงก์จะล้มไหม

ความแข็งแกร่งของสถาบันการเงินดูที่ทุนที่มีความเพียงพอต่อสินเชื่อที่ปล่อยออกไป ซึ่งวันนี้อยู่ในสัดส่วน 20% มากกว่าอัตราขั้นต่ำที่ ธปท. กำหนด คือประมาณ 11% นับว่าสูงกว่าราว 2 เท่า เอ็นพีแอลหรือหนี้เสียในระบบ 3.1% ถ้าเรากลัวกันว่าเศรษฐกิจดิ่งแล้วแบงก์จะล้ม ก็ไปดูกันตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง ตอนนั้นทุนของสถาบันการเงินมีเพียง 9.5% ซึ่งต่ำกว่าปัจจุบันมากกว่าครึ่งหนึ่ง ต้องถือว่าสถาบันการเงินเข้มแข็งมาก สินเชื่อก็โตขึ้นในปีที่ผ่านมา กำไรยังมีอยู่ สถาบันการเงินยังมีความเข้มแข็งที่จะดูแลลูกหนี้

7. ธุรกิจหนี้ท่วมจนต้องปิดกิจการมากที่สุด

วันนี้ 21 สถาบันการเงินมีการปรับโครงสร้างหนี้จำนวนที่อยู่ในวิสัยที่ลูกหนี้จะดำเนินกิจการต่อไปได้ และในปี 63 มีการจัดตั้งใหม่ 63,340 ราย เช็กเด้งน้อยลง 23% การขอใบอนุญาตส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ มีผู้ขอมากกว่าปี 62 สำหรับเรื่องที่บอกว่าประชาชนหนี้ท่วมจนอยู่ไม่ได้นั้น ที่ผ่านมาเราให้ไป 50,000 ล้านบาท เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ มีจำนวนคนหลายล้านคนที่ได้รับการช่วยเหลือเรื่องดอกเบี้ยและการพักชำระหนี้ จนถึงสิ้นปี มีมาตรการเยียวยาครอบคลุมคน 42.3 ล้านคน และรัฐบาลยังได้มีมาตรการลดค่าน้ำ ค่าไฟ และเงินสมทบประกันสังคม พร้อมเสริมสภาพคล่อง สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเป็นเงิน 2 แสน 9 หมื่นกว่าล้านบาท

ก่อนโควิด-19 ระลอกใหม่เมื่อเดือน ธ.ค. ครม. อนุมัติการช่วยเหลือผ่านการค้ำประกันของ บยส. ให้ธุรกิจที่มีปัญหา โดยเฉพาะที่เป็นเอสเอ็มอีในวงเงิน 1 แสน 5 หมื่นล้านบาท กลุ่มที่เป็นรายย่อยไมโครเอสเอ็มอีอีก 2.5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้การคิดดอกเบี้ยผิดนัด ธปท. ปรับการคิดดอกเบี้ยผิดนัดใหม่เป็นอัตราดอกเบี้ยปกติ และคิดดอกเบี้ยผิดนัดตามจำนวนที่ผิดนัด ตรงนี้เป็นการบรรเทา ลดค่าใช้จ่ายทางการเงินจะมีผลตั้งแต่เดือน เม.ย. 64

8. ประเทศไทยไม่ได้เหลื่อมล้ำมากที่สุด

มีคนพูดว่าประเทศไทยเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก นั่นเป็นแค่มิติเดียว คือความมั่งคั่ง ถ้าจะดีต้องดูให้ครบทุกมิติ ต้องดูโอกาส การเข้าถึงระบบสาธารณสุข สิทธิประโยชน์ต่างๆ การดูแลโดยภาครัฐบาล รวมกันแล้ว ไทยเราเป็นประเทศอันดับต้นๆ ในอาเซียนที่มีความเหลื่อมล้ำน้อย ยิ่งหากดูเรื่องความยากจน เราน้อยที่สุด ถ้าไม่นับสิงคโปร์ เพราะรัฐบาลสร้างโอกาส มีสวัสดิการด้านสาธารณสุข และมีสวัสดิการที่ดูแลประชาชนที่มีความเปราะบาง


เครดิตเพจ : https://www.facebook.com/supattanapongp/photos/pcb.175498857710644/175479794379217/

TMB มองปี 64 หลายธุรกิจทยอยฟื้นตัว แต่รายได้ยังต่ำกว่าภาวะปกติ เผยกลุ่มธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ สุขภาพฟื้นแล้ว แต่สิ่งพิมพ์ อสังหา ท่องเที่ยว ยังร่อแร่ แนะรัฐเร่งเสริมสภาพคล่อง

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ (TMB Analytics) คาดว่ารายได้รวมของธุรกิจไทยในปี 64 จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 63 ที่ 2.1% แต่ยังต่ำกว่าปี 2562 ซึ่งเป็นปีที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด ถึง -14.6% โดยคาดว่าธุรกิจที่ฟื้นแล้วจะขยายตัวจากปีก่อน 2.8% และธุรกิจที่กำลังฟื้นจะขยายตัวจากปีก่อน 2.5% ในขณะที่ธุรกิจที่ยังไม่ฟื้นจะหดตัวจากปีก่อน -1.2%

ด้านแนวโน้มการฟื้นตัวของแต่ละธุรกิจที่วิเคราะห์ด้วยการใช้เกณฑ์เปรียบเทียบแนวโน้มรายได้ของธุรกิจในปี 64 กับรายได้ธุรกิจปี 62 ซึ่งสามารถแบ่งแนวโน้มธุรกิจออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มธุรกิจที่ฟื้นแล้ว (รายได้ธุรกิจปี 64 สูงกว่าปี 62) ได้แก่ อาหาร ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ยางพารา อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน ธุรกิจด้านสุขภาพ ไอทีและเทเลคอม เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน โดยได้รับอานิสงส์จากการส่งออกที่ดีขึ้นตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว พฤติกรรมการเว้นระยะห่างทางสังคม การทำงานที่บ้าน การซื้อขายสินค้าออนไลน์ และการดูแลสุขภาพมากขึ้น

กลุ่มธุรกิจกำลังฟื้น (รายได้ปี 64 ต่ำกว่าปี 62 ระหว่าง 80-100%) ได้แก่ บรรจุภัณฑ์ เครื่องดื่ม วัสดุก่อสร้าง เคมีภัณฑ์ บริการธุรกิจ สินค้าอุปโภคบริโภค ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักรและอุปกรณ์ เหล็กและโลหะ ผลิตภัณฑ์เกษตร พลังงาน รับเหมาก่อสร้าง กลุ่มนี้มีทิศทางฟื้นตัวตามทิศทางการการบริโภคและการลงทุนในประเทศที่คาดว่าจะทยอยฟื้นตัวจากการส่งออก และมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ แต่จะฟื้นตัวไม่เต็มที่ ยังต้องรอวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 นำมาฉีดให้ประชาชนในประเทศอย่างทั่วถึงเสียก่อน

กลุ่มธุรกิจที่ยังไม่ฟื้น (รายได้ปี 64 ต่ำกว่า 80% เมื่อเทียบกับปี 62 ) ได้แก่ ผลิตภัณฑ์กระดาษและสิ่งพิมพ์ อสังหาริมทรัพย์ เฟอร์นิเจอร์ บริการส่วนบุคคล การขนส่งทางอากาศ สินค้าแฟชั่น ธุรกิจท่องเที่ยว อยู่ในหมวดสินค้าบริการและสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่ลดลง และยังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 แม้ว่าจะมีความหวังวัคซีนป้องกันโควิด-19 แต่อัตราการฉีดจะยังไม่ทั่วถึงในปีนี้ นอกจากนี้หลังจากฉีดไปแล้วยังต้องรอความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้กลับมาก่อน จึงจะทำให้เริ่มฟื้นตัวได้

จากข้อมูลดังกล่าวแนะนำให้ผู้ประกอบการหาโอกาสจากธุรกิจของตนเอง โดยการประเมินปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ภาคเกษตรที่ดีขึ้น และมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ว่ามีส่วนใดบ้างที่ธุรกิจจะได้รับผลประโยชน์บ้าง และพิจารณาทำการตลาดออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เว้นระยะห่างทางสังคม ทำงานที่บ้าน และซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น

นอกจากนี้ภาครัฐควรเพิ่มแรงสนับสนุนธุรกิจที่ฟื้นแล้วและกำลังฟื้นให้กลับมาปกติ เช่น แนวโน้มเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวถือเป็นโอกาสของธุรกิจส่งออกสินค้า ภาครัฐควรเร่งเจรจากับประเทศคู่ค้าเพื่อขายสินค้าให้ได้มากขึ้น รวมถึงดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ามากเกินไป สินค้าเกษตรมีทิศทางดีขึ้น ภาครัฐควรสนับสนุนการลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบการมีกำไรมากขึ้น เป็นต้น

สำหรับธุรกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวภาครัฐสามารถช่วยประคับประคองผู้ประกอบการให้ผ่านพ้นความยากลำบากนี้ ด้วยการใช้มาตรการช่วยเหลือ เช่น การให้เงินกู้เสริมสภาพคล่อง รวมถึงการยืดหนี้ให้สำหรับธุรกิจที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อได้ จนกว่าธุรกิจจะสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ดังเดิมอีกครั้ง

'BAANDY' ชุบชีวิตวัสดุก่อสร้างโชห่วยท้องถิ่น ปรับตัวลุยขายออนไลน์ | Game Changer เก่งพลิกเกม EP.2

เมื่อธุรกิจร้านค้าวัสดุก่อสร้างรายเล็ก กำลังจะไม่มีที่ยืน . ในจังหวะที่ตลาดวัสดุก่อสร้างแสนล้าน กำลังถูกรายใหญ่ยึดครอง ‘ทางออก’ และ ‘ทางเลือก’ ยังมี!!  

รู้จัก BAANDY แอปพลิเคชัน ซื้อ - ขายวัสดุก่อสร้าง สินค้าตกแต่งบ้าน และบริการทุกเรื่องบ้านบนโลกออนไลน์แห่งแรกของไทย

BAANDY App ซื้อ-ขายวัสดุก่อสร้างออนไลน์ในพื้นที่ใกล้คุณ ซ่อม สร้าง ง่าย ใน App เดียว เตรียมพบกับ BAANDY ที่ Google Play Store กันก่อนใคร โหลดง่ายๆ ตามลิ้งค์ด้านล่างนี้เลย! https://play.google.com/store/apps/details…

โดย ณัฏฐ์นวัต พันธุกรกวีวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะ บานดี้ จำกัด สตาร์ทอัพสัญชาติไทย ที่ตั้งใจจะเปิดทางให้คนตัวเล็ก กลับมายืนได้อย่างแข็งแรง อีกครั้ง!!

.

.

 

 

สู้กับเศรษฐกิจกบต้มยังไงให้ชนะ? | BizMAX EP.26

จากข่าว "รัฐบาลกบต้ม!! 'เพื่อไทย' ชี้!! ไทยเข้าสภาวะ 'กบต้ม' ใกล้ตายไม่รู้ตัว เหตุ 'นายกฯ' ไม่ฟังคำแนะ แถมชอบเอาผิดคนเตือน 

Link ข่าว : https://thestatestimes.com/post/2021021109 ​

จากการที่คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย เผย กังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่รัฐบาลกำลังแก้ปัญหาเยียวยาเศรษฐกิจในปัจจุบัน แม้มีคนนำเสนอวิธีการมากมายแต่ทางฝั่งรัฐบาลกลับไม่ฟัง จึงได้เปรียบเปรยสถานการณ์เศรษฐกิจตอนนี้ว่าเป็น 'กบต้ม' แล้วกบต้มคืออะไร เศรษฐกิจไทยจะเป็นเหมือนกบต้มจริงหรือไม่ร่วมหาคำตอบกันกับ หยก - สถาพร บุญนาจเสวี

.

ทำใจได้เลย ตลาดอสังหาฯ ปีนี้ยังไม่ฟื้น คาดชะลอต่อเนื่อง เหตุกำลังซื้อคนไทยหดหาย ส่วนนักลงทุนต่างชาติ ชะลอการซื้อ

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยถึงสถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ปี 2564 ว่า ตลอดอสังหาฯ ยังคงไม่ฟื้นตัวจากปีก่อน โดยมีแนวโน้มติดลบต่อเนื่อง มีสาเหตุมาจากภาวะเศรษฐกิจ และกำลังซื้อคนไทยลดลง จากผลกระทบไวรัสโควิด-19

ขณะที่ประชาชนบางส่วนที่มีกำลังซื้อ ก็ได้เร่งซื้อไปตั้งแต่ปีที่แล้ว เช่นเดียวกับกำลังซื้อจากชาวต่างชาติปีนี้ ยังเกิดปัญหาเพราะการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว และการเดินทางยังไม่สามารถทำได้สะดวก ทำให้นักท่องเที่ยว นักลงทุนต่างชาติ ชะลอการซื้อที่อยู่อาศัยลงไปด้วย

ทั้งนี้ประเมินว่า ในปีนี้ จะมีหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ประมาณ 353,236 หน่วย ลดลง 1.5% จากปี 63 และมีมูลค่าการโอนลดลงกรรมสิทธิ์ประมาณ 876,121 ล้านบาท ติดลบ 5.6% จากปี 63 โดยส่วนใหญ่เป็นการลดลงของที่อยู่อาศัยแนวราบ บ้านจัดสรรลดลง 7.7% และคอนโดมิเนียม ลดลง 1.4%

นายวิชัยกล่าวว่า แนวโน้มสถานการณ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยยังคงมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยประเมินว่า ในปีนี้ะมีมูลค่าสินเชื่อที่อยู่อาศัย ประมาณ 595,141 ล้านบาท จะลดลง 2.8% จากปีก่อน ส่วนยอดการเปิดตัวใหม่ปีนี้ ประเมินว่าจะเพิ่มขึ้นตามฐานที่ต่ำในปีก่อน โดยบ้านจัดสรรเปิดตัวใหม่ในปีนี้ ประเมินว่าเพิ่มขึ้น 22.5% หรือมีจำนวนหน่วยประมาณ 43,732 หน่วย ส่วนโครงการอาคารชุดเปิดตัวใหม่ คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 46.5%

อพท. เผยโควิดกระทบท่องเที่ยวชุมชนฉุดรายได้ร่วง 46% พร้อมเร่งผลักดันเมืองเก่า จ.สุโขทัย ติดอันดับแหล่งท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในโลก 100 แห่ง

นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า อพท. ได้จัดทำการประเมินระดับความอยู่ดีมีสุขของประชาชนในพื้นที่พิเศษในปี 2563 ที่ผ่านมาพบว่า ในภาพรวมประชาชนในพื้นที่พิเศษ มีระดับความอยู่ดีมีสุขอยู่ที่ 78.44% เมื่อเทียบกับเกณฑ์ความเพียงพอ(Sufficiency threshold) โดยอ้างอิงตามมาตรฐานในการวัด GNH ของประเทศภูฏานอยู่ในระดับ Deeply happy หรือมากที่สุด

ขณะที่รายได้เสริมจากการท่องเที่ยวในปี 2563 ใน 20 ชุมชนเป้าหมาย มีรายได้รวมเฉลี่ยลดลง 46.54% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยรายได้รวมทั้งหมดลดลงจาก 1,524,109.16 บาทต่อปี ลงมาอยู่ที่ 814,775.60 บาทต่อปี ในปี 63

สำหรับในปี 2564 อพท. ดำเนินการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษ มุ่งเน้นพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเพื่อสร้างการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria: GSTC) ในพื้นที่พิเศษจำนวน 6 แห่ง ได้แก่ พื้นที่ตำบลเกาะหมาก จ.ตราด พื้นที่ตำบลนาเกลือ จ.ชลบุรี พื้นที่ตำบลเมืองเก่า จ.สุโขทัย พื้นที่ตำบลเชียงคาน จ.เลย พื้นที่ตำบลในเวียง จ.น่าน และพื้นที่เทศบาลตำบลอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป้าหมายสำคัญในปี 2564 คือ อพท. จะผลักดันให้พื้นที่ตำบลเมืองเก่า จ.สุโขทัย ให้เป็น Global Sustainable Destinations Top 100 หรือแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนที่ดีที่สุดในโลก 100 แห่ง

นอกจากนี้ ยังต้องการขับเคลื่อนเมืองตามแนวทางเครือข่ายเมืองท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (The UNESCO Creative Cities Network-UCCN) 2 แห่ง ได้แก่ จ.น่าน และ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งมีเป้าหมายดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ประจำปี 2564 ให้ได้ 75% และจัดทำใบสมัครในการเสนอเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก

อย่างไรก็ดี ยังมีเป้าหมายการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยการสร้างต้นแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชน จากการใช้เกณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืนหรือ CBT Thailand เพื่อยกระดับความสามารถทางการแข่งขันโดยมีเป้าหมายในการผลักดันชุมชนเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้ได้อย่างน้อย 8 ชุมชน และยังได้จับมือกับหน่วยงานชั้นนำในระดับโลก เพื่อต่อยอดความสำเร็จสู่การเป็นต้นแบบในระดับสากลในหลายๆ ด้านอีกด้วย

รมว.คลัง เผยครม.ไฟเขียว ยืดเวลาจ่ายหนี้สินเชื่อฉุกเฉินอาชีพอิสระ ออกไปไม่เกิน 12 เดือน จากเดิม 6 เดือน พร้อมออกสินเชื่อช่วยธุรกิจท่องเที่ยวดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน 10,000 ล้านบาท ผ่านโครงการ ‘SMEs มีที่ มีเงิน’ ผ่านธนาคารออมสิน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระลอกใหม่ นำไปสู่การออกประกาศพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด มีการสั่งปิดสถานที่และระงับการให้บริการของสถานบริการ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนและการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและสาขาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (Supply Chain)

เนื่องจากเป็นภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบ เรื่อง มาตรการด้านการเงินเพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพิ่มเติม เพื่อบรรเทาภาระหนี้สินของประชาชนและช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยมีด้วยกัน 2 โครงการ คือ

1.) การปรับปรุงการดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ที่ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 40,000 ล้านบาท แห่งละ 20,000 ล้านบาท ให้แก่ประชาชนที่มีอาชีพอิสระหรือเกษตรกรรายย่อย อัตราดอกเบี้ยคงที่ ไม่เกิน 0.10% ต่อเดือน

โดยขยายระยะเวลาปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยออกไปเป็นไม่เกิน 12 เดือน จากเดิม 6 เดือน ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. กำหนด พร้อมทั้งขยายระยะเวลากู้ออกไปเป็นไม่เกิน 3 ปี จากเดิม 2 ปี 6 เดือน ทั้งนี้ รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 มิ.ย.2564

2.) โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ SMEs มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจการท่องเที่ยว วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในภาคธุรกิจการท่องเที่ยว โดยใช้ที่ดินว่างเปล่า หรือที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดินเป็นหลักประกัน

และไม่ต้องผ่านการตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโร วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 70% ของราคาประเมินที่ดินของทางราชการ สูงสุดไม่เกิน 50 ล้านบาท ระยะเวลากู้ 3 ปี ดอกเบี้ย 0.10% ต่อปีในปีแรก 0.99% ต่อปีในปีที่ 2 และ 5.99% ต่อปีในปีที่ 3 รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 มิ.ย.2564

สภาพัฒน์ เผย GDP ไตรมาส 4 ปี 63 หดตัวลดลงเหลือ -4.2% สรุปทั้งปีหดตัว -6.1% พร้อมปรับลด GDP ปี 64 เหลือโต 2.5 - 3.5% จากเดิมคาด 3.5 - 4.5% หลังโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ ส่งผลกระทบเศรษฐกิจช่วงต้นปี

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผย ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 4/63 หดตัว -4.2% ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการหดตัว -6.4% ในไตรมาส 3/63 และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้วเศรษฐกิจไตรมาส 4/63 จะขยายตัว 1.3% จากไตรมาส 3/63 เนื่องจากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนกลับมาขยายตัว การลงทุนภาคเอกชนและการส่งออกสินค้าลดลงในอัตราที่ชะลอลง ขณะที่การใช้จ่ายและภาคลงทุนภาครัฐขยายตัว

แต่ภาพรวมทั้งปี 63 เศรษฐกิจไทยหดตัว -6.1% เทียบกับการขยายตัว 2.3% ในปี 62 โดยมูลค่าการส่งออกสินค้า การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมลดลง 6.6%, 1.0% และ 4.8% ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ -0.8% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 3.3% ของ GDP

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2564 สภาพัฒน์ ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 64 เหลือเติบโต 2.5-3.5% จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 3.5-4.5% เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ซึ่งเป็นความเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจในปีนี้ นอกจากนั้น ยังมีความเสี่ยงจากประสิทธิภาพการกระจายวัคซีน ความล่าช้าจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว และภัยแล้ง

ส่วนปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ประกอบด้วย แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก, แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐ, การกลับมาขยายตัวของอุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศ และการปรับตัวตามฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปี 63

ทั้งนี้ สภาพัฒน์คาดว่ามูลค่าการส่งออกในปีนี้จะขยายตัว 5.8% การอุปโภคบริโภคเอกชนและการลงทุนรวมขยายตัว 2.0% และ 5.7% ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในช่วง 1-2% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.3% ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP)

อย่าปล่อยให้การล้วงข้อมูลชีวิตเป็นเรื่อง 'ธรรมดา' | Story Telling EP.2

อย่าปล่อยให้การล้วงข้อมูลชีวิต เป็นเรื่องธรรมดา จนถึงขั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ ภายใต้เทคโนโลยีของธุรกิจที่ไม่แคร์...

‘อิสรภาพความเป็นคน’

‘ทิม คุก’ นายใหญ่แห่ง Apple ออกโรงเตือน!! ในงาน Privacy & Data Protection conference เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา

.

จับตา น้ำมันปาล์มขวดเริ่มขาดตลาด - ขายแพง จี้กรมการค้าภายใน เช็คสต็อกน้ำมันปาล์มขวดในโมเดิร์นเทรด พร้อมช่วยตรวจสอบ ใครกักตุนจนทำให้ของขาดตลาดหรือไม่

นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง - ปลีกไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำมันปาล์มในประเทศ ว่า ขณะนี้ร้านค้าส่งได้รับผลกระทบปัญหาน้ำมันปาล์มขวดขาดตลาด โดยเมื่อสั่งสินค้าไปแต่ได้รับของมาขายลดลงไป 60 - 70% เนื่องจากโรงงานผลิตน้ำมันปาล์มหลายยี่ห้อได้ลดสัดส่วนการส่งสินค้าลงโดยให้เหตุผลว่าผลผลิตปาล์มมีน้อย เพราะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง

ทั้งนี้ ในช่วงปกติร้านจะสั่งสินค้าเข้ามารอบละ 200 - 300 ลัง แต่ขณะนี้สั่งไป 300 ลัง แต่รับมาแค่รอบละ 50 - 100 ลังเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นเหมือนกันในหลายพื้นที่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพราะสมาชิกร้านค้าส่งในต่างจังหวัดก็เล่าให้ฟังว่า ปกติเคยสั่งซื้อยกคันรถ 1,000 ลัง ก็ได้ของเข้ามาขายแค่ 400 - 500 ลังเท่านั้น

อย่างไรก็ตามราคาขายปลีก - ขายส่งตอนนี้ขยับสูงขึ้นมาตั้งแต่ต้นทาง โดยปัจจุบันต้นทุนราคาส่งตกลังละ 580 บาท หรือตกขวดละ 48 บาทเศษ หากขายให้ร้านโชห่วยนำไปขายต่อจะบวกเป็นลัง 590-595 บาท เพื่อให้ไปทำกำไรขายต่อได้ที่ 52 บาท

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยากให้กรมการค้าภายใน เข้าไปช่วยเช็คสต็อกน้ำมันปาล์มขวดในร้านค้าปลีกสมัยใหม่ว่า มีปัญหาขาดหรือไม่ รวมถึงดูด้วยว่าใครกักตุนจนทำให้ของขาดตลาดหรือเปล่า แต่ก็ได้แจ้งว่าในเดือนมี.ค.64 ปัญหาน่าจะคลี่คลายลงเพราะจะเริ่มมีผลปาล์มฤดูใหม่ออกสู่ตลาด ซึ่งน่าจะช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนได้

รมว.คลัง สั่ง ก.ล.ต. คุมเข้มเทรดบิทคอยน์ ย้ำต้องเติมความรู้ให้นักลงทุนรู้เท่าทัน เหตุมีความเสี่ยงสูง พร้อมระบุเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังมีหวัง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ได้ขอให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะบิทคอยน์ อย่างใกล้ชิด เพราะถือเป็นสินทรัพย์ใหม่ และมีความเสี่ยง จึงต้องดูแลเรื่องนี้ให้ดี

พร้อมทั้งให้คำแนะนำ และความรู้กับผู้ลงทุนด้วย โดยเฉพาะในเรื่องการบริหารความเสี่ยงกับผู้มีเงินออมและเข้ามาอยู่ในตลาดตรงนี้ ต้องให้มีความรู้เท่าทัน ป้องกันไม่ให้ได้รับความเสี่ยงมากเกินไป

ทั้งนี้ยังขอให้ ก.ล.ต.ช่วยอำนวยความสะดวกให้กิจการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เช่น การเปิดโอกาสให้บริษัท หรือผู้ประกอบรายใหม่เข้าถึงตลาดทุน ยกระดับความเชื่อมั่นเสริมศักยภาพตลาดทุน และการพัฒนาการเงินที่ยั่งยืน โดยคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

"สถานการณ์เศรษฐกิจในปีนี้โดยเฉพาะผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 มีผลกระทบที่แตกต่างออกไปจากปีก่อน เพราะมีปัจจัยเสริมคือเรื่องวัคซีน หากทำได้เร็วก็ช่วยลดการแพร่ระบาดได้ ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีความหวังว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจจะน้อยลงเมื่อเทียบกับปีก่อน"

อย่างไรก็ตาม ในส่วนการบริหารเศรษฐกิจปี 2564 รัฐบาลต้องดำเนินการ 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่

1.) การเยียวยาและฟื้นฟู ต้องทำให้ทันสถานการณ์ โดยปี 63 ที่ผ่านมา มีการเยียวยาประชาชนในโครงการเราไม่ทิ้งกัน สำหรับปีนี้ก็ได้ดำเนินการต่อเนื่อง ทั้งโครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ และโครงการ ม33 เรารักกัน อย่างไรก็ดี มาตรการเยียวยาทำได้แค่ระยะสั้นเท่านั้น ไม่สามารถเยียวยาโดยการแจกเงินไปได้ตลอด ดังนั้นรัฐบาลต้องทำการฟื้นฟู ช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่านนโยบายการเงินการคลัง ไปพร้อมกันด้วย

2.) การกำหนดทิศทางเศรษฐกิจในอนาคตให้มีความชัดเจน ซึ่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้พูดชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยต้องเน้นเรื่องนโยบายโมเดลเศรษฐกิจใหม่ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ, เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG)

3.) การดูแลการระบาดของโควิด-19 และการดูแลรองรับสังคมผู้สูงอายุ ที่ตอนนี้ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 12% และอีก 10 ปี จะเพิ่มเป็น 24% ต้องเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับในส่วนนี้

นอกจากนี้ ประเทศไทยต้องมีวัคซีนเศรษฐกิจ 3 ตัว เพื่อทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมั่นคง ยั่งยืน และมีเสถียรภาพ ประกอบด้วย

1.)วัคซีนเศรษฐกิจระดับประเทศ GDP ต้องเติบโตมั่นคง ต่อเนื่องมีคุณภาพ เศรษฐกิจต้องมีความมั่นคง ทุนสำรองสูง ฐานะการคลังแข็งแรง และหนี้สาธารณะอยู่ในระดับที่ควบคุมได้

2.) วัคซีนเศรษฐกิจระดับภาคการผลิต ภาคบริการ ต้องมีภูมิคุ้มกัน มีการบริหารความเสี่ยง และมีธรรมาภิบาล

และ 3.) วัคซีนระดับประชาชน ส่งเสริมให้มีการออมเงินมากขึ้น และสร้างทางเลือกการออมยามเกษียณให้กับประชาชน

ธุรกิจไทย หวั่น ! รัฐประหารที่เมียนมาร์ทำพิษเศรษฐกิจ | BizMAX EP.25

"ข่าว รัฐ - เอกชน เกรงรัฐประหารเมียนมาร์ลากยาว หวั่นกระทบการค้า 2 ประเทศ 164,000 ล้านบาท"

Link ข่าว : https://thestatestimes.com/post/2021020202 ​

จากสถานการณ์รัฐประหารในประเทศเมียนมาร์อาจส่งผลกระทบถึงเศรษฐกิจบ้านเรา จะส่งผลร้ายแรงมากน้อยแค่ไหน สถานการณ์เศรษฐกิจจะฟื้นตัวอีกหรือไม่ มาวิเคราะห์กันกับ หยก - สถาพร บุญนาจเสวี

.

 

 

สำนักข่าวต่างประเทศ NPR ได้ติดตามชีวิตผู้ให้บริการทางเพศ (Sex Workers) ในประเทศไทย ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยระบุว่าอุตสาหกรรมทางเพศในประเทศไทยกำลังหยุดชะงัก

ในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ปิดประเทศและยกเลิกเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ ส่งผลให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวประเทศไทยซบเซา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมทางเพศที่ได้รับการสนับสนุนจากลูกค้าต่างชาติพังทลายลงเช่นกัน

การวิเคราะห์ในปี 2015 โดย Havocscope บริษัทวิจัยที่ศึกษาตลาดมืด คาดว่า การค้าบริการทางเพศของไทยมีมูลค่าสูงถึง 6,400 ล้านเหรียญสหรัฐ (190,000 ล้านบาท) ต่อปี หรือประมาณ 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ แม้ว่าจะยังคงเป็นงานผิดกฎหมายอยู่ก็ตาม

แต่เมื่อต้องเผชิญกับมาตรการจำกัดการท่องเที่ยวนานแรมปี บวกกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในประเทศเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการปิดล็อคอีกครั้งในหลายจังหวัด รวมถึงพัทยาซึ่งถูกประกาศเป็นเขตควบคุมสูงสุดในวันที่ 31 ธ.ค. 63 เพราะเจอผู้ติดเชื้อสูงถึง 144 ราย จนทำให้สถานที่สาธารณะส่วนใหญ่รวมถึงผับบาร์ต้องปิดตัว

รายงานข่าวจาก NPR ได้มีการพูดคุยกับพนักงานวัย 26 ปี ทำงานอยู่ที่บาร์เกย์แห่งหนึ่งในพัทยา โดยเผยว่า แต่เดิมอาชีพของเขารายได้ดีมากเมื่อเทียบกับพนักงานทั่วไปหรืองานบริการอื่น ๆ เขาสามารถสร้างบ้านเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างสบาย แต่เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว เขาต้องประสบปัญหาอย่างหนัก ไม่มีเงินแม้แต่จะจ่ายค่าเช่าห้องพัก จึงตัดสินใจกลับบ้านที่ต่างจังหวัด ก่อนที่เงินออมจะหมดลงในเดือนตุลาคม และรู้สึกหดหู่ซ้ำเข้าไปอีก เพราะหลังจากโควิดระบาดใหม่เกิดขึ้น ทำให้เกิดการปิดพรมแดน จนยากที่นักท่องเที่ยวจะกลับมาในเร็ววัน

อีกรายหนึ่งเป็นผู้ค้าบริการทางเพศวัย 28 ปี ก็ได้เผยว่า เมื่อก่อนอาชีพนี้อาจทำเงินได้มากถึง 3,000 ถึง 6,000 บาทต่อคืน แต่ตอนนี้พวกเขาส่วนใหญ่ไม่ได้เงินเลย และขณะนี้บาร์เปิดให้บริการน้อยลงกว่าแต่ก่อน ซึ่งนั่นแปลว่าพวกเขาต้องทำงานหนักมากขึ้น ในขณะที่ได้เงินน้อยลง

ผู้ให้บริการทางเพศหลายคนต้องหันไปทำงานอื่นอย่างเช่น การขายอาหาร หรือหันไปให้บริการทางออนไลน์ โดยการให้บริการผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ และรับเงินผ่านทาง PayPal

NPR ยังได้พูดคุยกับผู้จัดการบาร์ Cheap charlie's bar ซึ่งเป็นชาวอังกฤษและได้รับคำตอบว่า บาร์ของเขาตอนนี้มีแต่ชาวต่างชาติที่มีรายได้น้อยและพวกเขามักปฏิเสธที่จะซื้อเครื่องดื่มและใช้บริการเด็กนั่งดริ๊งก์ “อุตสาหกรรมนี้กำลังจะตาย” ผู้จัดการบาร์กล่าว

อย่างไรก็ตามผู้ให้บริการส่วนใหญ่ยังคงสนับสนุนมาตรการการควบคุมและป้องกันโรคที่เข้มงวดและยอมรับในการปิดพรมแดน แม้ว่าพวกเขาจะต้องลำบากหรือตกงานแต่เขาก็ต้องการได้เงินอย่างปลอดภัยเช่นกัน


ที่มา: https://www.posttoday.com/world/644895

https://www.npr.org/sections/goatsandsoda/2021/02/03/960848011/how-the-pandemic-has-upended-the-lives-of-thailands-sex-workers

สะเทือนวงการเงินดิจิทัล และอาจจะรวมถึงโลกการเงินเลยก็ได้ เมื่อ Tesla ได้ยื่นข้อมูลต่อคณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์ว่า บริษัทได้ซื้อ Bitcoin มูลค่า 45,000 ล้านบาท

โดยบริษัทได้กล่าวว่าการซื้อ Bitcoin ในครั้งนี้ เป็นการกระจายเงินสดสำรองของบริษัทไปลงทุนใน สินทรัพย์ดิจิทัล ทองคำ และ ETF ทองคำ

ทั้งนี้ในเดือนที่แล้ว บริษัท Tesla ได้อัปเดตนโยบายการลงทุน ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และเพิ่มผลตอบแทนของเงินสดสำรองซึ่งเป็นส่วนเกินจากเงินสำรองเพื่อสภาพคล่องในการดำเนินงานปกติ โดยบริษัทบอกว่าการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก เช่น ทองคำ และBitcoin อาจเป็นสินทรัพย์ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้เงินสดของบริษัทในระยะยาวได้

แต่อีกเรื่องที่น่าทึ่งต่อเนื่องจากข่าวนี้ คือTesla กล่าวว่า จะเริ่มรับชำระเงินค่าซื้อผลิตภัณฑ์ของ Tesla ด้วยBitcoin ได้ในอนาคต ซึ่งหลังจาก Tesla ประกาศข่าวเรื่องดังกล่าวออกไป ก็ทำให้ราคาของ Bitcoin พุ่งทะลุ 42,000 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นอัตรา +9% และถือเป็นจุดสูงสุดในประวัติศาสตร์ทันที

หลังจากข่าวนี้ออกมา ก็ดูท่าจะไปกระตุกต่อมคันของ เจ้าพ่อสตาร์ทอัพเมืองไทยอย่าง กระทิง พูนผล ที่ออกมาให้มุมมองต่อสินทรัพย์แห่งการแลกเปลี่ยนใหม่ ที่มีโอกาสเกิดขึ้น โดยมี Tesla เป็นตัวเร่งว่า…

“มันส์มาก ๆ ช่วงนี้ จากเหรียญหมา (Dogecoin) มา Tesla <> BTC ต่อไปสงสัยจะมีเงินสกุล Musk เอาไว้ใช้จ่ายในนิคมบนดาวอังคารในอีก 15 ปีข้างหน้า”

เรื่องนี้กำลังจะบอกอะไรเรา?

ทรัพย์สินที่เรียกว่า ‘เงินสด’ อาจจะค่อยๆ ด้อยค่าลงหรือไม่?

เพราะหากผู้ผลิตที่มีสินค้า พร้อมจะลงเอยกับทรัพย์สินบางประเภทที่มิใช่เงินตรามากขึ้น อาจจะเปลี่ยนระบบการเงินโลกแบบครั้งใหญ่กันเลยทีเดียว

อย่างในประเทศไทยเอง หากยังพอจำกันได้เกือบๆ 10 ปีก่อน ก็เคยมีกรณี 'พระสมเด็จแลกรถเบนซ์' ของ นายวสันต์ โพธิพิมพานนท์ เจ้าของเบนซ์ทองหล่อ ซึ่งยินดีที่จะรับพระสมเด็จแท้ๆ พระเครื่องชุดเบญจภาคี รวมทั้งพระเครื่องยอดนิยมชุดอื่นๆ มาแลกกับรถเบนซ์ได้ แต่ย้ำว่าต้องเป็นพระแท้เท่านั้น เพียงแต่ตั้งแต่แผนการตลาดครั้งนั้นเกิดขึ้น ก็ยังไม่มีใครนำพระชุดเบญจภาคีที่ขึ้นชื่อว่าสวยสมบูรณ์แลกรถเบนช์ไปได้ทั้งคัน หรือต้องให้ทั้งรถและเพิ่มทั้งเงินก็ยังไม่เคยมี

อนาคตการแลกเปลี่ยน ด้วยเงินตรา อาจจะหายไปหรือไม่? ต้องติดตามดู…


ที่มา:

https://www.komchadluek.net/news/lifestyle/206384

https://www.sec.gov/.../00015645902.../tsla-10k_20201231.htm

https://seekingalpha.com/.../3659395-bitcoin-flirts-with...

https://u.today/breaking-tesla-gets-15-billion-worth-of…

https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=10158699084935609&id=648910608

เมื่อ 20 ปี ที่แล้ว ใครจะคิดว่าสมาร์ทโฟนจะกลายเป็นสิ่งของประจำตัวผู้คนได้เหมือนทุกวันนี้ และใครจะรู้ว่าโลกจะถูกย่อให้เล็กลงด้วยโซเชียลมีเดีย

และยังมีเทคโนโลยีอีกมากมายที่ไหลวนเข้ามาในชีวิตแบบไม่มีหยุด อย่างตอนนี้ โลกของเราก็จะกำลังจะเป็นเหมือนหนังไซไฟที่โลกแห่งความเป็นจริงกับโลกเสมือนจริงเริ่มเชื่อมติดกัน เช่น มีการนำความสนุกออฟไลน์กับเกมออนไลน์ผสมผสานเข้ากันในทุกมิติของการใช้ชีวิตประจำวัน

ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ได้โพสต์ลงเฟซบุ๊ก เกี่ยวกับกรณีศึกษาดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า อนาคตต่อจากนี้ กำลังจะเกิดปรากฏการณ์ใหม่และยิ่งใหญ่ที่เรียกว่า ‘เมทาเวิร์ส’

ถ้าใครยังไม่เคยได้ยินคำว่า ‘เมทาเวิร์ส’ (Metaverse) ถึงเวลาแล้วที่จะต้องหันมาสนใจ เพราะโลกยุคใหม่กำลังก้าวเข้าสู่ยุคเมทาเวิร์สอย่างรวดเร็ว

เมทาเวิร์สเป็นคำที่มาจากนิยายไซไฟ ถ้าคุณเคยดูภาพยนตร์อย่าง The Matrix หรือ Ready Player One ก็อาจจะพอนึกภาพการผสมผสานระหว่าง ‘โลกแห่งความเป็นจริง’ กับ ‘โลกเสมือนจริง’ อย่างกลมกลืน และแทรกซึมในทุกส่วนของชีวิตประจำวัน

ลองนึกตามดูครับว่า คุณเดินเข้าไปในห้างเสมือนจริง เพื่อซื้อชุดนักรบให้กับตัวคุณที่เป็นขุนศึกในเกมสามก๊กออนไลน์ จากนั้นไปที่ฟู้ดคอร์ตเพื่อกดซื้ออาหารให้ Grab Car ส่งกลับไปที่คอนโด

จากนั้นก็ไปฟังคอนเสิร์ตที่คอนเสิร์ตฮอลล์ ฟังไปครึ่งทางก็สามารถเชื่อมถ่ายทอดเสียง Live เข้ากับหูฟัง และเดินออกมาก่อนเพื่อไปวิ่งในยิมพร้อมกับฟังการแสดงสดไปพร้อมกัน ระหว่างที่วิ่งในยิมก็ใส่แว่นเชื่อมต่อกับโลก Virtual เพื่อวิ่งแข่งกับเพื่อนที่วิ่งอยู่ที่บ้าน โดยสนามที่วิ่งแข่งกันเป็นสนามเขาวงกตที่ปรากฏผ่านแว่นตาในโลก Virtual…

เมทาเวิร์สมีคนแปลไทยว่า ‘โลกพหุภพ’ ที่เชื่อมทั้งภพโลกความเป็นจริง เข้ากับภพโลกเสมือนจริง และภพโลกดิจิทัล ผู้คนสามารถจับจ่ายใช้สอยและส่งถ่ายข้อมูลข้ามแพลตฟอร์ม ข้ามโลก ข้ามภพได้อย่างไม่มีข้อจำกัด

ในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา เราได้เห็นพัฒนาการของอินเตอร์เน็ต จากโลกของคอมพิวเตอร์ Desktop เป็นโลกของสมาร์ทโฟน (Mobile) หลายคนบอกเรากำลังก้าวเข้าสู่โลก Internet of Things ที่ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เป็นอุปกรณ์สมาร์ตที่เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตได้ทั้งสิ้น

แต่โลกเมทาเวิร์สไปไกลกว่านั้นอีกครับ เพราะเป็นการผสานเทคโนโลยี VR (Virtual Reality) AR (Augmented Reality) ที่กำลังรุดหน้าแบบติดจรวดเข้ากับโลกแห่งความเป็นจริง รวมทั้งกับโลกดิจิทัลแพลตฟอร์มจนเป็นเนื้อเดียวกัน

เมทาเวิร์สยังเป็นโลกที่ผสานเกมและความบันเทิงเข้ากับโลกแห่งความเป็นจริงอย่างไร้รอยเชื่อมต่อ ผลคือจะเป็นการขยายขอบเขตและพื้นที่ของเศรษฐกิจให้ใหญ่โตขึ้นหลายเท่าจากปัจจุบัน เช่นเดียวกับที่อินเทอร์เน็ต และโลกดิจิทัลได้เปลี่ยนวิถีการทำธุรกิจและสร้างโอกาสธุรกิจใหม่มหาศาล โลกเมทาเวิร์สก็มีศักยภาพที่จะเปลี่ยนเกมธุรกิจชนิดพลิกโฉม

มีนักวิเคราะห์เทรนด์ธุรกิจในจีนอธิบายว่า ยุทธศาสตร์ธุรกิจของ Google และ Facebook ที่เริ่มเปลี่ยนจากการพัฒนา และสร้างสรรค์แพลตฟอร์มของตัวเอง มาเป็นการเข้าซื้อกิจการ และแพลตฟอร์มต่างๆ ที่หลากหลาย เช่น Google เข้าซื้อ Android, Youtube, DoublicClick และ Facebook เข้าซื้อ Instagram, Oculus และ WhatsApp ทั้งหมดล้วนมีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่โลกเมทาเวิร์สที่จำเป็นต้องกระจาย และเชื่อมโยงหลายแพลตฟอร์มเข้าด้วยกันแบบไร้รอยต่อ

ล่าสุด Packy Mccormick บล็อคเกอร์ชื่อดังแห่งบล็อก Not Boring ที่เขียนเกี่ยวกับเทรนด์การลงทุนใหม่ ๆ ได้วิเคราะห์ว่า วงการ Tech จีน อาจเป็นผู้นำการผลักโลกเข้าสู่ยุคเมทาเวิร์สสมบูรณ์แบบ โดยบริษัท Tech จีนที่มีศักยภาพ และมีทิศทางชัดเจนในการสร้างเศรษฐกิจเมทาเวิร์ส ก็คือ Tencent

เพราะ Tencent มีพื้นฐานครบถ้วน ทั้งในการเป็นเจ้าตลาดเรื่องเกมออนไลน์ เรื่องความบันเทิงที่หลากหลาย รวมทั้งเรื่องโซเชียลมีเดียผ่านแพลตฟอร์ม Wechat ในจีน แถมตอนนี้ Tencent กำลังทุ่มทุนเต็มที่กับการพัฒนาเทคโนโลยี VR (Virtual Reality) และ AR (Augmented Reality)

เครือ Tencent ยังเข้าร่วมลงทุนในบริษัทอย่าง Epic Games ซึ่งได้เข็นเกม Fortnite ที่โด่งดังออกมา หลายคนมองว่า Fortnite เป็นเกมรูปแบบใหม่ที่จะเป็นฐานต่อยอดการสร้างเศรษฐกิจเมทาเวิร์สในอนาคตได้ นอกจากนั้น Tencent ยังลงทุนใน Snap ซึ่งเป็นผู้นำในการสร้างโอกาสทางธุรกิจจากเทคโนโลยี AR (Augmented Reality)

มีนักวิเคราะห์ในจีนมองว่า ไม่ใช่เฉพาะ Tencent เท่านั้น แต่บริษัท Tech ชั้นนำของจีนเริ่มมีการวางรากฐานเพื่อก้าวสู่โลกเมทาเวิร์สมาอย่างต่อเนื่อง

ไม่ว่าจะเป็นแนวคิด New Retail ของ Alibaba ที่ต้องการผสานโลกช็อปปิ้งออฟไลน์ และออนไลน์เข้าด้วยกันแบบไร้รอยต่อ หรือโมเดลโซเชียลคอมมิร์ซของยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซรายใหม่ในจีนอย่าง Pinduoduo โมเดลโซเชียลคอมเมิร์ซจะมีศักยภาพมหาศาลเมื่อเปลี่ยนจากโลกช็อปปิ้งออนไลน์มาเป็นโลกเมทาเวิร์ส

อนาคตมักมาถึงเร็วกว่าที่เราคิดเสมอนะครับ


ที่มา: https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=10157561741235025&id=520965024

Cr : ภาพ Exzy VR Lab


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top