Monday, 21 April 2025
SDGS

‘EA’ จัดโชว์นวัตกรรมฝีมือคนไทย ในงาน 4th iTIC FORUM 2023 ชู ‘รถโดยสารไฟฟ้า-เรือไฟฟ้า’ หนุนการขนส่งสาธารณะแบบไร้มลพิษ

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ผู้นำพลังงานสะอาด หนุนมูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย (iTIC) ร่วมจัดแสดงผลงานและให้การต้อนรับ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในงาน ‘4th iTIC FORUM 2023: Power of Connectivity and Smart Mobility’ พร้อมเปิดประสบการณ์ใหม่การเดินทางสาธารณะด้วยไทยสมายล์บัส และ ไทยสมายล์โบ้ท ที่ช่วยขับเคลื่อนและสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านคมนาคม ด้วยฝีมือคนไทย บริการด้วยใจ ห่วงใยสิ่งแวดล้อม 

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) และนายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย ร่วมให้การต้อนรับ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในโอกาสเยี่ยมชมการจัดแสดงผลงานของนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ระบบชาร์จ แบบ ‘EV Smart Building ภายใต้แนวคิด EA’s Electric Public Transportation: Solutions for Smart Cities’ ในงาน ‘4th iTIC FORUM 2023: Power of Connectivity and Smart Mobility’ ซึ่งงานดังกล่าวได้จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการเชื่อมต่อการเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Connectivity and Smart Mobility) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนยกระดับการพัฒนาระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะในประเทศไทย พร้อมระดมพลังความร่วมมือและขับเคลื่อนข้อมูลในการแก้ปัญหาการจราจรและลดอุบัติเหตุได้อย่างตรงจุด

นอกจากนี้ นายสมโภชน์ อาหุนัย ยังได้ร่วมบรรยายพิเศษ ภายใต้แนวคิด ศักยภาพของเอกชนไทยในการขับเคลื่อนสมาร์ทโลจิสติกส์ รถ-เรือ-ราง ‘The Potential of Thai Private Sector in Driving Smart Logistics’ ที่จะมีส่วนในการส่งเสริมระบบขนส่งของไทยให้มีความทันสมัย สะดวกสบาย ด้วยยานยนต์ไฟฟ้ายกระดับขนส่งไทยไร้มลภาวะ 

นอกจากนี้ EA ร่วมกับ ไทย สมายล์ กรุ๊ป ต้อนรับคณะจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย (iTIC) เปิดประสบการณ์ (Technical Tour) การเดินทางด้วยรอยยิ้มใส่ใจสิ่งแวดล้อม ไปกับบริการขนส่งสาธารณะ รถโดยสารไฟฟ้า MINE Bus และ เรือโดยสารไฟฟ้า MINE Smart Ferry โดยปัจจุบัน รถโดยสารไฟฟ้า MINE Bus ให้บริการแล้วกว่า 2,200 คัน ในพื้นที่ 123 เส้นทาง ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และเรือโดยสารไฟฟ้า MINE Smart Ferry ที่ให้บริการผู้โดยสารตั้งแต่ ท่าเรือสาทร - ท่าเรือสะพานพระนั่งเกล้า มีเรือไฟฟ้าให้บริการทั้งหมด 35 ลำ สร้างมิติใหม่แห่งการขนส่งด้วยนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าโดยฝีมือคนไทย โดยล่องแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อชมวิววัดวาอารามและฟังบรรยายที่มาของรถ-เรือโดยสารไฟฟ้า ยกระดับการขนส่งมวลชนด้วยยานยนต์ไฟฟ้าไร้มลพิษครบวงจร ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ของประเทศ

KFC ช่วยเด็กนอกระบบ สู่โลกการศึกษา จุดเริ่มต้นสังคมเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ

เมื่อวานนี้ (6 พ.ย.66) เศกไชย ชูหมื่นไวย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด และประธานมูลนิธิเคเอฟซี กล่าวว่า การทำธุรกิจมายาวนานกว่า 39 ปี มาจากความเชื่อของผู้พันแซนเดอร์สที่ว่าธุรกิจจะเติบโตอย่างยั่งยืนนั้น ทุกฝ่ายในสังคมต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน 

KFC จึงมุ่งมั่นร่วมสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ กลับคืนสู่สังคมในหลากหลายมิติ แทนคำขอบคุณคนไทยที่สนับสนุนแบรนด์เป็นอย่างดีเสมอมา เพราะเชื่อว่าธุรกิจที่ดีต้องมีส่วนช่วยเหลือสังคม โดยเฉพาะนับจากปี 2566-2568 ต่อจากนี้ เราจะมุ่งผลักดันศักยภาพครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ผู้คน (people), โลก (planet) และอาหาร (food) 

โดยจะมุ่งเน้นเรื่องของผู้คนเป็นอันดับแรก ไม่ว่าจะเป็นพนักงานของเรา หรือคนในสังคม ทั้งการผลักดันศักยภาพผู้คน และพนักงานด้วยการมอบโอกาส และการจัดการด้านอาหารผ่านโครงการ Harvest & Colonel’s Kitchen ที่ช่วยลดเรื่องของอาหารส่วนเกินที่ยังอุดมไปด้วยโปรตีนคุณภาพสูงให้กับองค์กรการกุศลที่ต้องการความช่วยเหลือ และ Planet ที่จะมุ่งเน้นเรื่องของความยั่งยืน โดยเริ่มจากบรรจุภัณฑ์ในร้าน และ Green Store Concept ที่จะเริ่มต้นดำเนินการในปีหน้า โดยทุกแผนงานจะเดินหน้าไปพร้อมกันทุกแฟรนไชส์

“สำหรับแผนความยั่งยืน เราอยากโฟกัสไปที่เรื่องคนเป็นหลักก่อน โดยเฉพาะเรื่องของเด็กและการศึกษา ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ นับตั้งแต่เกิดโควิด-19 ความเหลื่อมล้ำในสังคมเห็นได้ชัดมาก เราจึงร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) แก้ปัญหาเด็กไทยหลุดออกจากระบบการศึกษาผ่านโครงการ KFC Bucket Search”

เศกไชย กล่าวต่อว่า เมื่อมองไปถึงระดับประเทศพบว่าเด็กไทยอายุ 15-23 ปี มีแนวโน้มออกจากระบบการศึกษาเพิ่มสูงขึ้นปีละเกือบ 1 แสนคน ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีเยาวชนที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษา การจ้างงานหรือการฝึกอบรมพัฒนาใดๆ หรือกลุ่ม Not in Education, Employment, or Training (NEET) มากถึง 1.4 ล้านคน คิดเป็นราวร้อยละ 10 ของประชากรฐานภาษี

ประชากรกลุ่มนี้ถือเป็นทุนมนุษย์ที่ไม่ได้ใช้ศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ แม้บางส่วนจะสำเร็จการศึกษาภาคบังคับ แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นเพียงแรงงานนอกระบบ ทำงานลักษณะกึ่งฝีมือหรือไร้ฝีมือ จึงเผชิญกับความไม่มั่นคงทางรายได้และขาดการคุ้มครองทางสังคม

“ปัญหาเด็กไทยหลุดออกจากระบบการศึกษา โดยเฉพาะเด็กกลุ่มเปราะบาง เป็นโจทย์ที่ซับซ้อน และต้องได้รับการแก้ไข จากการทำงานกับเด็กและเยาวชนนอกระบบของ กสศ. พบว่าเมื่อออกจากระบบกลางคัน เด็กส่วนใหญ่ต้องเผชิญปัญหาสูญเสียความมั่นใจ รู้สึกว่าตนเองเป็นผู้แพ้ ถูกตีตราจากสังคม จนเป็นชนวนไปสู่ปัญหาเชิงพฤติกรรม หากปล่อยระยะเวลาให้เนิ่นนาน การช่วยเหลือเยียวยาจะยิ่งทำได้ยาก หนึ่งในภารกิจของ กสศ. คือการส่งเสริมระบบการศึกษาที่มีเส้นทางรองรับเด็กและเยาวชนนอกระบบ ให้ก้าวต่อไปได้บนวิถีทางของตน”

หากแก้ปัญหาเด็กนอกระบบได้สำเร็จ ประเทศไทยจะมีมูลค่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มขึ้นสูงถึง 330,000 ล้านบาททุกปี คิดเป็นปีละประมาณ 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ของประเทศ

ทั้งนี้ โครงการ KFC Bucket Search เป็นโครงการระยะยาวตลอดปี 2566-2568 โดยมอบโอกาสทางการศึกษา พัฒนาศักยภาพให้กับเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากความไม่เสมอภาคทางการศึกษา และความเหลื่อมล้ำทางสังคมในปัจจุบัน ซึ่งเริ่มต้นจากการให้โอกาสพวกเขาทำความเข้าใจตัวเอง และวางแผนชีวิตผ่านการศึกษาทางเลือกที่สอดรับกับความต้องการของตน ทำให้พวกเขาสามารถดูแลตัวเอง และกลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนสังคมได้

สำหรับเด็กและเยาวชนภายใต้โครงการนี้จะได้รับการสนับสนุนทั้งด้านองค์ความรู้ ทักษะการดำรงชีวิตและเงินทุนตั้งต้น เติมเต็มทักษะและศักยภาพในด้านที่พวกเขาตั้งใจ โดยไม่กระทบกับชีวิตประจำวันที่บางคนต้องทำงานหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวไปด้วย

ด้วยทางเลือก work & study ที่ช่วยแบ่งเวลาและรายได้ และทางเลือกเงินทุนเพื่อวิชาชีพ หากน้อง ๆ ต้องการเป็นช่างตัดผม ช่างสัก หรือเจ้าของธุรกิจส่วนตัว ก็พร้อมมอบให้ทั้งองค์ความรู้และเงินทุนตั้งต้นอีกด้วย

“อย่างไรก็ตาม สิ้นปีนี้ตั้งเป้าปลดล็อกศักยภาพน้อง ๆ กว่า 200 คน และขยายขึ้นในทุก ๆ ปี ผ่านโครงการ KFC Bucket Search คาดว่าจะมีน้อง ๆ ทั้งสิ้นกว่า 3,000 คนทั่วประเทศ ที่จะเปลี่ยนสถานะจากเด็กนอกระบบการศึกษาสู่การเป็นเด็กนอกกรอบที่เต็มเปี่ยมด้วยศักยภาพ” เศกไชย กล่าว

ด้าน ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหาร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวเสริมว่า สถานการณ์เด็กเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาในช่วง 2-3 ปีนี้ถือว่าวิกฤตหนัก จากงานวิจัยพบมี 2 รูปแบบคือ…

1.เด็กที่ออกจากโรงเรียนกลางคัน จากปัญหาความยากจน ซึ่งพบว่าสถานการณ์โควิดทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมมีมากขึ้น ประชาชนเกือบ 3-4 ล้านคน มีรายได้ต่ำกว่าเส้นรายได้ของประเทศ หรือมีรายได้ 1,370 บาทใน 1 เดือน รวม 1 ปีไม่เกิน 2 แสนบาท แต่มีหนี้สินถึง 147,707 บาท ซึ่งเด็กที่มาจากครอบครัวรายได้ต่ำสูง โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในช่วงรอยต่อของ ป.6 จะขึ้น ม.1 หรือ ม.3 จะขึ้น ม.4 ซึ่งการเรียนฟรีไม่มีอยู่จริง เพราะสุดท้ายแล้วก็มีค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายอีกเยอะ

กลุ่มที่สองคือ กลุ่มเด็กที่ถูกผลักออกจากการศึกษา ซึ่งมาจากปัญหาเชิงพฤติกรรมที่โรงเรียนไม่สามารถรักษาไว้ได้ เช่น เด็กตั้งครรภ์ ยาเสพติด ความรุนแรง ส่วนใหญ่ออกช่วง ม.2 ครึ่ง หรือช่วงมัธยมต้น หรือติดศูนย์ ติด ร. กลุ่มนี้มีจำนวนมากถึงปีละ 6-7 หมื่นราย เฉพาะช่วงโควิด-19 ระยะเวลา 2-3 ปีรวมราว 237,700 ราย แต่ถ้ารวมทั้งหมดตอนนี้มีประมาณ 1.4 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญคือ 4 ใน 5 ของเด็กกลุ่มนี้ ไม่มีเป้าหมาย หรือแรงจูงใจในการศึกษาที่จะทำให้คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้น เขาอยู่ไปวัน ๆ นี่คือกลุ่มที่ใหญ่ของสังคมไทย แล้วเรายังมีเด็กนอกระบบ เด็กด้อยโอกาสอีก 15 กลุ่ม ทั้งเด็กเร่ร่อน ตอนนี้จาก 3 หมื่น พุ่งเป็น 5 หมื่น จากแรงงานเด็ก ที่ทะลุจากชายแดนเมียนมาก็เยอะ เด็กไร้สัญชาติก็มาก ปัญหาใหญ่คือประเทศเพื่อนบ้านเด็กหนีสงครามเข้ามา กลายเป็นเด็กไร้สัญชาติ อยู่ตามแม่สอด เชียงราย แม่ฮ่องสอนเต็มไปหมด พวกนี้ค่อย ๆ ทะลักเข้ามา สุดท้ายมากองรวมที่ กทม.เป็นหลัก

“แม้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นบ้าง แต่ไม่ได้ลงไปถึงคนระดับรากหญ้าเท่าไหร่นัก การจะทำให้การศึกษาไปต่อยากมาก จึงจำเป็นต้องอาศัยความช่วยเหลือกันทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น จัดโครงการ หรือช่วยกันยกระดับอย่างไรก็ได้ เพราะลำพัง กสศ.หน่วยงานเดียวไม่สามารถทำได้ทั้งหมด แต่เราจะมีหน้าที่ชี้เป้า สร้างต้นแบบ บทเรียน ถ้าเราช่วยกันมากขึ้น อีก 10-15 ปี ความเหลื่อมล้ำจะค่อย ๆ ลดลง หรือดีขึ้นตามลำดับ”

'สุริยะ' รับลูก 'นายกฯ' สั่งหน่วยงานคมนาคม โละหมด 'รถยนต์สันดาป'  ชี้!! 'หมดสัญญาเช่า' เปลี่ยนใช้ 'EV' ช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5

(7 พ.ย.66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ได้สั่งการให้ทุกส่วนราชการจัดซื้อจัดจ้างรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) เพื่อแก้ปัญแทนรถยนต์ที่หมดอายุนั้น กระทรวงคมนาคมได้ให้ความสำคัญ และขานรับข้อสั่งการดังกล่าว ซึ่งได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ทั้งส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจรวบรวมรายละเอียด และพิจารณาเปลี่ยนรถยนต์ใช้น้ำมัน (สันดาป) ที่หมดอายุสัญญาเช่าให้เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า สอดคล้องเป้าหมายในการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 30% ภายในปี 2573 โดยให้พิจารณาตามความเหมาะสมกับการใช้งาน เพื่อช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศ หรือฝุ่นละออง PM 2.5

ทั้งนี้ จากการรายงานของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ระบุว่า ทอท. จะทยอยปรับเปลี่ยนรถที่มีการใช้ให้บริการในท่าอากาศยานทั้งหมดให้เป็นรถไฟฟ้า ตามนโยบายของรัฐบาลในการลดการใช้ยานยนต์ที่ใช้น้ำมัน ซึ่งในปัจจุบัน รถส่วนกลางของ ทอท. ส่วนใหญ่เป็นรถเช่าระยะเวลา 3 ปี ดังนั้น หากหมดสัญญาเช่าแล้ว ให้ ทอท.พิจารณาเริ่มสัญญารถเช่าใหม่ เปลี่ยนให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์ใช้น้ำมันทั้งหมด

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ขณะนี้ กระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการขนส่งทางบก ประสานไปยังหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เพื่อมอบหมายให้สรุปรายละเอียดและพิจารณารถยนต์ที่ใช้ภายในของแต่ละหน่วยงาน และจะหมดสัญญาเช่าให้เปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ตามข้อสั่งการของรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ทั้งนี้ ให้แต่ละหน่วยงานพิจารณาตามความเหมาะสมในการใช้งาน เช่น ในเบื้องต้นจะให้เปลี่ยนรถยนต์ที่วิ่งใช้ภายในจังหวัด หรือระยะทางไม่ไกลมากนัก หากเป็นรถยนต์ที่ใช้วิ่งข้ามจังหวัด อาจจะยังคงเป็นรถยนต์ใช้น้ำมันไปก่อร เนื่องจากติดปัญหาเรื่องระยะทางวิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ยังไม่ครอบคลุมในทุกพื้นที่ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ให้หน่วยงานทั้งหมดสรุปรายละเอียดและแผนการดำเนินงานเสนอมายังกระทรวงฯ โดยเร็วที่สุด

‘รมว.พิมพ์ภัทรา’ หนุนรถแดงเชียงใหม่ใช้ EV สร้าง ‘ภาพจำที่ดี-อัตลักษณ์’ รถประจำถิ่น

รัฐมนตรีอุตสาหกรรม หนุน!! รถแดงเชียงใหม่ ใช้ EV คู่คงอัตลักษณ์รถสาธารณะประจำถิ่น มุ่งลดมลพิษและควันดำ สร้างภาพจำที่ดีให้นักท่องเที่ยว ชี้เป็นนโยบายนำร่องที่ต้องเร่งทำ เหตุจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มสูงขึ้น

(6 พ.ย. 66) นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สนับสนุนให้รถแดงคู่เมืองเชียงใหม่เป็นรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าหรือรถยนต์อีวี (EV) เช่นเดียวกับรถยนต์ขนส่งสาธารณะประจำเมืองต่างๆ ซึ่งควรปรับเปลี่ยนกลไกจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นรถไฟฟ้า

ทั้งนี้ แต่ยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของรถยนต์สาธารณะประจำท้องถิ่นไว้ และสร้างภาพจำที่ดีให้กับนักท่องเที่ยว โดยการผลักดันระบบขนส่งสาธารณะเป็นยานยนต์ไฟฟ้าเป็นนโยบายนำร่องที่ต้องเร่งทำ เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มสูงขึ้น การใช้รถยนต์สาธารณะจะมีมากขึ้น

เพราะถ้าหากยังเป็นรถยนต์สันดาป ปัญหามลพิษจากควันท่อไอเสียก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นการเปลี่ยนรถยนต์สาธารณะเป็นยานยนต์ไฟฟ้าจะลดควันดำและปัญหามลพิษไปในตัว

“จังหวัดเชียงใหม่ถือเป็นเมืองท่องเที่ยวทั้งเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติ การรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของความเป็นเมืองเหนือของเชียงใหม่ทำได้น่าสนใจมาก โดยรถแดงถือเป็นรถสาธารณะที่อยู่คู่กับเมืองเชียงใหม่มานาน”

สำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่เริ่มต้นเป็นผู้ผลิตรถไฟฟ้า มีหลายแนวทางที่สามารถใช้เพื่อสนับสนุนและเพิ่มโอกาสในธุรกิจได้ หากมีความรู้เกี่ยวกับตลาดและอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น การเริ่มต้นธุรกิจเป็นเรื่องที่ท้าทายและอาจต้องใช้เวลา

แต่หากวางแผนที่ดีในแต่ละขั้นตอนจะช่วยให้สร้างธุรกิจที่ยั่งยืนและประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าในไทยได้

‘ททท.’ ชี้ เที่ยวไทยทางราง ตอบโจทย์ความยั่งยืน ชูจุดเด่น ‘ปล่อยคาร์บอนฯ น้อย-กระจายรายได้สู่ชุมชน’

(6 พ.ย. 66) นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท. เล็งเห็นประโยชน์ของการต่อยอดการท่องเที่ยวโดยรถไฟซึ่งมีมนต์เสน่ห์เฉพาะตัวที่สามารถเติมเต็มประสบการณ์แก่นักท่องเที่ยว

ททท. จึงจัดโครงการ The story of Railway Journey ‘เที่ยวแบบสับ (จับเรื่อง) ราง’ ขึ้น เพื่อกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวผ่านทางรถไฟ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยทำงานและกลุ่มคนเจน Z

โดยการเดินทางผ่านทางรถไฟจะสามารถกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ผ่านรวมทั้งส่งเสริมรูปแบบการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Tourism) ผ่านการเชื่อมโยงกับระบบคมนาคมขนส่งหลักของประเทศ เช่น รถไฟ รถโดยสารสาธารณะ ไปยังชุมชนในพื้นที่ ทำให้เกิดการกระจายรายได้สู่ฐานรากอย่างทั่วถึงต่อไป

อย่างไรก็ดี เมื่อสอบถามว่าการจัดโครงการดังกล่าวจะสามารถเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวทางรถไฟมากน้อยเพียงใด นายอภิชัย ให้ข้อมูลว่า โครงการดังกล่าวยังอยู่ในระยะเริ่มต้น และยังต้องมีการกำหนดเครื่องมือชี้วัดในลำดับต่อไป

นางสาววัลย์ณัฐ บุญประเสริฐ เลขาธิการสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) กล่าวว่า การท่องเที่ยวผ่านทางรถไฟเป็นการท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์แนวคิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จากการที่เดินทางผ่านขบวนรถไฟอาจมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าการเดินทางรูปแบบอื่น

ขณะที่นายพล เวชการ รองผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการเดินรถ ด้านปฏิบัติการ กล่าวว่า การท่องเที่ยวผ่านทางรถไฟสามารถตอบโจทย์ที่หลากหลาย ด้วยเส้นทางของรถไฟที่ผ่านหลายพื้นที่ของประเทศ ประกอบกับในอนาคตระบบคมนาคมทางรางของไทยจะพัฒนามากขึ้น จากการก่อสร้างรถไฟทางคู่ จะทำให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกมากขึ้น

รายงานจากททท. ระบุว่า ภายใต้โครงการดังกล่าว ททท. ได้ผนึกกับพันธมิตร เปิดพื้นที่ให้เหล่านักท่องเที่ยวมืออาชีพร่วมสร้างสรรค์ และนำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนโดยรถไฟแบบไม่จำกัดไอเดีย ภายใต้ โครงการ The story of Railway Journey ‘เที่ยวแบบสับ (จับเรื่อง) ราง’ ออกแบบสร้างสรรค์สื่อนำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนโดยรถไฟ และเพื่อชิงเงินรางวัลรวมกว่า 100,000 แสนบาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณจาก ททท. โดยผลการแข่งขัน มีดังนี้

-รางวัลชนะเลิศ : ทีม Touch And Go
-รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 : ทีม Freeland
-รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 : ทีมเปรี้ยวกับป้า
-รางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ ทีม The Couple  และทีมสับราง team

‘เอ็กโก กรุ๊ป’ ปลื้ม!! ขายกรีนบอนด์ 7 พันล้านหมดเกลี้ยง เล็งนำเงินหนุนโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มุ่งสู่ Net Zero

(3 พ.ย. 66) บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป ประสบความสำเร็จในการเสนอขายหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (หุ้นกู้กรีนบอนด์) เป็นครั้งแรก ต่อนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ รวมมูลค่า 7,000 ล้านบาท ด้วยยอดจองท่วมท้นกว่า 3 เท่าของมูลค่าการเสนอขาย สะท้อนความเชื่อมั่นต่อทิศทางการเติบโตของบริษัทสู่การพัฒนาพลังงานสะอาดและการบรรลุเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 (2050)

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า เอ็กโก กรุ๊ป ได้เสนอขายหุ้นกู้กรีนบอนด์เป็นครั้งแรก มูลค่ารวม 7,000 ล้านบาท ต่อนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ ในวันที่ 1-2 พฤศจิกายน 2566 และจัดออกหุ้นกู้ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 โดยได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากกว่า 80 ราย ที่แจ้งความจำนงความต้องการลงทุนเป็นจำนวนกว่า 20,500 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.15 เท่าของ มูลค่าการเสนอขายเดิมที่ 6,500 ล้านบาท 

บริษัทจึงเพิ่มหุ้นกู้สำรองเพื่อการเสนอขายเพิ่มเติม (Greenshoes) อีก 500 ล้านบาท เพื่อตอบสนองความต้องการและช่วยขยายฐานนักลงทุนใหม่ โดย นักลงทุนที่สนใจจองซื้อหุ้นกู้ในครั้งนี้ ได้แก่ กองทุนภายใต้การบริหารของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันภัย ธนาคารพาณิชย์ กลุ่มสหกรณ์ และนักลงทุนประเภทอื่น ๆ

สำหรับหุ้นกู้กรีนบอนด์ของเอ็กโก กรุ๊ป เป็นหุ้นกู้ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ จำนวน 5 ชุด รวมมูลค่าทั้งหมด 7,000 ล้าน ประกอบด้วย 

หุ้นกู้อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.35% จำนวน 1,000 ล้านบาท 
หุ้นกู้อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.71% จำนวน 700 ล้านบาท 
หุ้นกู้อายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 4.02% จำนวน 500 ล้านบาท 
หุ้นกู้อายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 4.32% จำนวน 1,000 ล้านบาท
หุ้นกู้อายุ 15 ปี อัตราดอกเบี้ย 4.65% จำนวน 3,800 ล้านบาท 

โดยหุ้นกู้กรีนบอนด์นี้ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ AA+ จากทริสเรทติ้ง และจัดออกภายใต้โครงการหุ้นกู้ของเอ็กโก กรุ๊ป ปี 2566 วงเงิน 30,000 ล้านบาท โดยมีธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยา ทำหน้าที่เป็น Joint Green Structuring Advisors และเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ในครั้งนี้

“เอ็กโก กรุ๊ป ขอบคุณนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ที่ให้ความเชื่อมั่นและจองหุ้นกู้กรีนบอนด์อย่างท่วมท้น โดยเฉพาะประเภทหุ้นกู้อายุ 15 ปี แม้สภาวะตลาดในปัจจุบันมีความผันผวนทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายใน การสนับสนุนดังกล่าวทำให้บริษัทมีต้นทุนทางการเงินที่เหมาะสม โดยบริษัทมีแผนจะนำวงเงินระดมทุนนี้ไปใช้ชำระคืนเงินทุนสำหรับโครงการเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมประเภทพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่เดิมของบริษัทและบริษัทในเครือ ภายใต้กรอบการจัดหาเงินทุนเพื่อโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ และขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 (2050)” นายเทพรัตน์ กล่าว

‘บางจาก’ ยกระดับคุณภาพน้ำมันดีเซล ชู!! มาตรฐาน EURO 5 เริ่ม 15 พ.ย. 66

(3 พ.ย. 66) บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เตรียมปรับคุณภาพน้ำมันดีเซลทุกชนิด และผลิตภัณฑ์พรีเมียมของบางจาก ทั้งบางจาก ไฮพรีเมียม 97 พรีเมียมแก๊สโซฮอล์ และบางจาก ไฮพรีเมียมดีเซล S ในเขตกรุงเทพมหานครให้มีปริมาณกำมะถันต่ำเทียบเท่ามาตรฐานยูโร 5 เริ่มจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป

โดยบางจากฯ จะปรับสูตรน้ำมันดีเซลที่จำหน่ายในสถานีบริการน้ำมันบางจากและสถานีบริการน้ำมันเอสโซ่เดิม ซึ่งเป็นสถานีบริการน้ำมันบางจากที่ปรับจากสถานีบริการน้ำมันเอสโซ่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมจำนวน 224 สาขา ให้เป็นดีเซลปริมาณกำมะถันต่ำเทียบเท่ามาตรฐานยูโร 5 ที่มีค่ากำมะถันลดลงถึง 5 เท่า อ้างอิงจากผลการทดสอบในห้องปฏิบัติการ

โดยการปรับลดปริมาณกำมะถันในน้ำมันดีเซลนี้ สามารถช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองและก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้ เพราะกำมะถันในน้ำมันเมื่อถูกเผาไหม้จะเกิดเป็นซัลเฟตและจับกับมลพิษอื่น ทำให้เกิดเป็นฝุ่น PM 2.5

นอกจากนี้ ในช่วงเวลาเดียวกัน ลูกค้าบางจากฯ สามารถนำใบเสร็จจากการเติมน้ำมันไปรับบริการตรวจเช็กสภาพรถฟรี 11 รายการ ได้ที่ FURiO Care และ Wash Pro สาขาที่ร่วมรายการ

พร้อมให้คำปรึกษาและคำแนะนำในการดูแลให้เครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ เพื่อป้องกันไม่ให้ปล่อยเขม่าที่เกิดจากการเผาไหม้อันเป็นสาเหตุของฝุ่น PM 2.5 โดยสามารถดูรายชื่อ FURiO Care และ Wash Pro ได้ที่ www.bcpcarcare.com

ILINK ผงาด!! คว้าคะแนน 'ดีเลิศ' CGR 2023 ระดับ 5 ดาว ปี 2023 สะท้อน!! ความโปร่งใส ใส่ใจต่อทุกผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเท่าเทียมกัน

(3 พ.ย.66) บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ILINK ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสายสัญญาณที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน และผู้นำเข้าและค้าส่งอุปกรณ์เครือข่ายส่งสัญญาณ โชว์ความเป็นเลิศด้านการดำเนินงาน คว้าคะแนนในระดับ 5 ดาว หรือ 'ดีเลิศ' (Excellent) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ตอกย้ำถึงผลงานการประเมินตามโครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน ประจำปี 2566 หรือ Corporate Governance Report of Thai Listed Companies 2023: CGR 2023 ซึ่งได้รับการตรวจสอบ และประเมินจากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) โดยการสนับสนุนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)

จากการที่ ILINK ได้รับคะแนนติดต่อกันเป็นปีที่ 5 ในระดับ 'ดีเลิศ' (Excellent CG Scoring) หรือ 5 ดาว ซึ่งคัดเลือกจาก 782 บริษัทที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ 

นับเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงระบบการบริหารงาน ความมุ่งมั่น ตั้งใจของคณะกรรมการบริษัท และคณะผู้บริหารในการพัฒนายกระดับการกำกับดูแลกิจการที่ดีมาอย่างต่อเนื่องของการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ และกำกับดูแลกิจการที่มีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสีย 

นอกจากนี้ ยังปฏิบัติตามหลักการสากล มีความรับผิดชอบทางสังคมที่ดี มีเจตนารมณ์ที่มั่นคงในการส่งเสริม สนับสนุนให้บริษัทเป็นองค์กรที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ รวมถึงให้ความสำคัญ ใส่ใจต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเท่าเทียมกัน 

อีกทั้งเป็นการตอกย้ำถึงศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ ที่มุ่งเน้นพัฒนาการกำกับดูแลกิจการที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับวิสัยทัศน์ของบริษัท 'เติบโต ต่อเนื่อง และยั่งยืน' ไปพร้อมกับการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน ส่งผลให้ผู้ถือหุ้นมีความมั่นใจในการดำเนินงานของบริษัทฯ และเพื่อเป็นองค์กรต้นแบบของการพัฒนาการกำกับดูแลกิจการที่ดีต่อไป

'ก.เกษตรฯ' เอาจริง!! 'ชัยนาทโมเดล' แก้แล้ง-ลดท่วม ตามติดความก้าวหน้า 'ธนาคารน้ำใต้ดิน' กว่า 800 แห่ง 

(2 พ.ย. 66) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่ารัฐบาล โดยนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน และดูการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีสำหรับการทำหญ้าเลี้ยงสัตว์ และโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน ณ จ.ชัยนาท เพื่อสนองเป้าหมายที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งมั่นที่จะสร้างรายได้ให้เกษตรกร ผ่านหลักการ ‘ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้’ ซึ่งรวมถึงการทำธนาคารน้ำใต้ดินเพื่อเป็นการบริหารจัดการน้ำตามความต้องการน้ำในแต่ละพื้นที่ และ การส่งเสริมการทำอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ เช่น การปลูกหญ้าอาหารสัตว์

จังหวัดชัยนาท ได้รับเลือกเป็นจังหวัดนำร่องที่ดำเนินการใน 6 ด้าน ดังนี้ 

1. นวัตกรรมข้าวพันธุ์ดี เมล็ดข้าวพันธุ์ดี 
2. ลดต้นทุน เพิ่มศักยภาพการผลิต ส่งเสริมการปลูกพืชแห่งโอกาส 
3. บริหารจัดการทรัพยากรดินให้เหมาะสมกับพืช 
4. ระบบตลาดนำการผลิต 
5. ขยายสาขาและเพิ่มศักยภาพวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี 
6. การบริหารจัดการน้ำด้วยธนาคารน้ำ

ในการประชุม ครม. เมื่อวันอังคารที่ 31 ตุลาคม ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ได้ย้ำถึงความเร่งด่วนและความสำคัญของการผลักดันโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อเป็นกรณีศึกษาถึงความเป็นไปได้ และประโยชน์ที่จะได้รับ องค์ความรู้ที่จะได้จาก ‘ชัยนาทโมเดล’ นี้ จะเป็นประโยชน์เป็นอย่างยิ่งในการนำร่องไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลแท้จริงในจังหวัดอื่นๆ อีกทั้งจะยังเป็นการช่วยแก้ปัญหาเรื่องน้ำได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล ‘ไม่ท่วมไม่แล้ง’ อีกด้วย

‘ธนาคารน้ำใต้ดิน’ เป็นการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำไว้เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นนวัตกรรมหนึ่งที่ออกแบบมาช่วยรับมือกับปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งซ้ำซากให้หลายประเทศทั่วโลก สำหรับจังหวัดชัยนาทนั้น จะมีการดำเนินโครงการธนาคารน้ำใต้ดินรวมทั้งสิ้น 834 แห่ง

“การทำธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อที่จะนำน้ำใต้ดินมาใช้ในฤดูแล้ง ให้มีการกักเก็บน้ำใต้ดินให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน การทำธนาคารน้ำใต้ดินมีข้อดี คือ แก้ปัญหาน้ำท่วมขัง แก้ปัญหาพื้นที่ประสบภัยแล้ง การเพิ่มระดับน้ำใต้ดิน การเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวดิน ทำให้ต้นไม้โดยรอบเติบโตงอกงาม ลดปริมาณน้ำเสีย ทั้งระดับครัวเรือนและชุมชน ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ธนาคารน้ำใต้ดินจะทำหน้าที่เป็นเครื่องมือสำคัญ สำหรับการจัดการทรัพยากรน้ำ เพราะเป็นแหล่งกักเก็บน้ำที่ช่วยให้ประชากรในสังคมปรับตัวให้อยู่รอดจากภัยแล้ง” นายอนุชากล่าว

‘เอ็กโก กรุ๊ป’ ปักมาตรการ 3 ระยะ บรรเทาปัญหาสภาพภูมิอากาศ ตั้งเป้า ‘บรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์’ ในปี 2050

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป โดย นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ร่วมแบ่งปันประสบการณ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจบูรณาการเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติในการดำเนินงาน และเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนตามมาตรฐานในรายงานประจำปี One Report ของบริษัทจดทะเบียน ชูเป้าหมาย SDG13 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการบริหารจัดการพลังงาน (Climate Action) เป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ ในงานสัมมนาเปิดตัว ‘คู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน และมาตรฐานผลกระทบ SDG’ หัวข้อ ‘การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนา ที่ยั่งยืน (SDGs) ใน 56-1 One Report’ ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ โดยภายในงานได้รับเกียรติจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า เอ็กโก กรุ๊ป ดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าและพลังงานอย่างยั่งยืนมากว่า 31 ปี ภายใต้การกำกับกิจการที่ดี โปร่งใส และตรวจสอบได้ และได้บูรณาการเรื่องความยั่งยืน (ESG) ให้อยู่ในทุกกระบวนการการทำงาน 

โดยช่วงแรก เอ็กโก กรุ๊ป ได้จัดทำรายงาน CSR Report ซึ่งเป็นการเปิดเผยข้อมูลด้านการมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนและสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการจัดทำรายงานทั้งแบบแสดงข้อมูลประจำปี (56-1) และรายงานประจำปี (56-2) ตามหลักเกณฑ์ของ ก.ล.ต. 

ต่อมาจึงเริ่มพัฒนาการรายงานเป็น Sustainability Report หรือรายงานความยั่งยืนฉบับแรก โดยแยกเล่ม คู่กับรายงานประจำปี ในปี 2561 จากนั้นได้เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนในรูปแบบ One Report ภาคสมัครใจในปี 2563 หรือล่วงหน้า 1 ปี ก่อนข้อกำหนดของ ก.ล.ต. จะมีผลบังคับใช้ โดยเนื้อหาใน One Report ครอบคลุมถึงการสนับสนุนและการบูรณาการเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ ขององค์การสหประชาชาติ เป็นกรอบในการดำเนินงาน ตลอดจนอ้างอิงหลักเกณฑ์ของ ก.ล.ต. รวมทั้งมาตรฐานและข้อกำหนดของการเขียนรายงานที่ถูกต้อง ได้แก่ GRI Standards และ Integrated Reporting โดยข้อมูลที่เปิดเผยใน One Report ได้ผ่านการตรวจสอบและรับรองข้อมูลจากหน่วยงานภายนอก เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียมีความเชื่อมั่นในความถูกต้องของข้อมูล

จากเป้าหมาย SDGs ทั้งหมด 17 ข้อ เอ็กโก กรุ๊ป ได้กำหนด 5 เป้าหมายหลักซึ่งสอดคล้องกับบริบทโดยตรงและกิจกรรมหลักของบริษัท ได้แก่ SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี SDG7 การมีพลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ SDG8 การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ SDG9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน และ SDG13 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการบริหารจัดการพลังงาน (Climate Action) ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญและแก้ไขอย่างเร่งด่วน 

โดย เอ็กโก กรุ๊ป ได้กำหนดเป้าหมายการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำเพื่อร่วมบรรเทาปัญหาสภาพภูมิอากาศ ภายใต้แนวคิด ‘Cleaner, Smarter, and Stronger to Drive Sustainable Growth’ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่

-เป้าหมายระยะสั้นในปี 2573 (2030) ลดการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ (Carbon Emissions Intensity) ลง 10% และเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% 
-เป้าหมายระยะกลางในปี 2583 (2040) บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral)
-เป้าหมายระยะยาวในปี 2593 (2050) บรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)

“การติดตาม ประเมินผล และเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ใน One Report ของเอ็กโก กรุ๊ป สะท้อนถึง การดำเนินธุรกิจบนแนวทางความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ช่วยสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน รวมถึงมีส่วนช่วยประเมินผลการดำเนินงานภายในองค์กรเองและสามารถนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งในการตอบแบบประเมินด้านความยั่งยืน เช่น ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices - DJSI) ซึ่งบริษัทได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิก 3 ปีต่อเนื่อง 

สำหรับ ‘คู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียนและมาตรฐานผลกระทบ SDG’ จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ ภาคธุรกิจขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมาย SDGs ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการวัดและจัดการผลกระทบ ที่สำคัญของธุรกิจที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และบูรณาการเป้าหมาย SDGs ไว้ในกระบวนการตัดสินใจ การรายงาน และการบริหารจัดการภายในทุกระดับ เพื่อบรรเทาผลกระทบเชิงลบและขยายผลกระทบ เชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด โดยยังสามารถบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจและการเงินของบริษัทไปพร้อมกัน” นายเทพรัตน์ กล่าวสรุป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top