Monday, 20 May 2024
SDGS

‘การบินไทย’ ชูแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ตั้งเป้าสู่ ‘Net Zero 2050’ ยก 3 หลักสำคัญ บริหารทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ไม่กระทบแผนฟื้นฟูองค์กร

เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 66 นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ‘TG’ เปิดเผยว่า การบินไทยกำลังเดินหน้าปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เพื่อลดการใช้ทรัพยากร ลดปริมาณขยะ ภายใต้การพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป สู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050)

ภายใต้แนวคิด ‘Zero Waste Living’ ซึ่งประกอบด้วย หลักการหลัก 3 ประการได้แก่ FROM PLANES TO PLANET-การบินเพื่อสิ่งแวดล้อม, FROM WASTE TO WEALTH-การพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และ FROM PURPLE TO PURPOSE-จากใจสู่เป้าหมายเพื่อความยั่งยืน

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า การเดินหน้าแผนธุรกิจด้านความยั่งยืน จะมีต้นทุนที่สูงขึ้น เทียบง่าย ๆ แค่การเปลี่ยนขวดนํ้าพลาสติก PET สู่วัสดุที่รีไซเคิลได้ ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นราว 20% แล้ว เพราะฉะนั้น การทำงานของการบินไทย ต้องเดินหน้าภายใต้กรอบจำกัดเรื่องของแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทยด้วย

“ถ้าเอาเงินมาใส่ตรงนี้ทั้งหมด มันไม่ได้ เราจะทำในสิ่งที่ไม่มีผลกระทบต่อบริษัท แต่ถ้าต้นทุนเพิ่มอย่างมีนัยยะสำคัญ เราต้องทบทวนก่อน มิฉะนั้นจะกระทบกับแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย” นายชาย กล่าว

จากแผนธุรกิจของการบินไทยปี พ.ศ. 2566-2570 ที่ประกาศไปล่าสุดว่า จะเดินหน้าลุยหาเงิน 1.2 แสนล้านบาท คืนเจ้าหนี้ทุกรายครบภายใน 8 ปี โดยมั่นใจว่า 2566 จะสามารถทำกำไรได้ 2 หมื่นล้านบาท มีเงินสดในมือ 50,000 ล้านบาท โดยครึ่งปีแรกสิ้นสุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 การบินไทยมีเงินสดสะสมแล้ว 51,153 ล้านบาท และทำกำไรสุทธิได้ 14,795 ล้านบาท

- ชูแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
สำหรับแผนยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืน หลายอย่างการบินไทยได้ดำเนินการมานานแล้ว เช่น การบริหารจัดการขยะอาหารและขยะพลาสติก ที่เดินเน้นการคัดแยกแล้วส่งต่อให้ผู้รับซื้อ แต่ปัจจุบันการบินไทยเริ่มนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาเพิ่มมูลค่าให้กับทรัพยากร ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากนัก

ล่าสุด ได้พัฒนาเครื่องแบบชุดไทยเรือนต้นของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิง ที่ผลิตมาจากวัสดุเหลือใช้ขวดนํ้าพลาสติกที่ให้บริการผู้โดยสารบนเครื่องบิน เข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นเส้นใยพลาสติกผสมผสานกับเส้นใยไหมธรรมชาติในอัตรา 70:30 ซึ่งเครื่องแบบดังกล่าวใช้ขวด PET จำนวน 54 ขวด ต่อการผลิตชุดไทย 1 ชุด เริ่มใช้ 1 มกราคม 2567 กับพนักงานต้อนรับหญิงที่รับเข้ามาใหม่ และคาดว่าประมาณกลางปี 2567 จะปรับเปลี่ยนได้ครบทั้งหมด ซึ่งชุดเครื่องแบบใหม่นี้ นอกจากมีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิลแล้ว ยังมีความคงทน และไม่ต้องซักแห้งเหมือนชุดผ้าไหม ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายเพิ่มได้อีก

นอกจากนี้ ยังมีการเปิดรับชุดยูนิฟอร์มเก่าจากพนักงานในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ได้ยูิฟอร์มเก่ามาเกือบ 10 ตัน จากเบื้องต้นตั้งเป้าเพียง 2 ตัน ทำให้สามารถนำไปปันเป็นเส้นใยใหม่ ผลิตเป็นยูนิฟอร์มใหม่ได้อีก โดยเสื้อ 1 ตัว ใช้ผ้าเก่า 2 กิโลกรัม หรือ 1 ตัน ได้เสื้อยูนิฟอร์มใหม่ 500 ตัว ซึ่งนำไปแจกจ่ายให้กับพนักงานการบินไทยทุกคน และอนาคตมีแผนที่จะต่อยอดทำผลิตภัณฑ์ประเภทอื่น ๆ เพื่อลดขยะบนเครื่องบินให้ได้มากที่สุด

อีกหนึ่งแนวคิด เป็นการต่อยอดเศรษฐกิจหมุนเวียนของการบินไทย คือ การจับมือกับจิม ทอมป์สัน จัดทำ ‘Travel Kit Bag’ ที่นำอุปกรณ์ของใช้บนเครื่องบินทำมาจากวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ (Biodegradable) ผลิตออกมาเป็นกระเป๋าผ้าพิมพ์ลายไทยพิเศษ 6 ลาย และในกระเป๋า ยังบรรจุอุปกรณ์เครื่องใช้ที่ทำจากวัสดุที่ย่อยสลายได้เช่นกัน อาทิ แปรงสีฟัน ถุงเท้า ลูกกลิ้งนํ้ามันหอมระเหย ลิปบาล์ม โลชั่นทามือ ยาสีฟัน ผ้าปิดตา และไม้ช้อนรองเท้า

นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์ของใช้บนเครื่องบินอื่น ๆ ที่คำนึงถึงการนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น ช้อนส้อมอะลูมิเนียม ใช้ทดแทนช้อนส้อมพลาสติก แก้วนํ้า ถาดใส่อาหาร และอื่น ๆ

- ลุยเชื้อเพลิง SAF ปี 2030
ส่วนทางด้านการบิน ได้เปลี่ยนมาใช้รถบัสไฟฟ้าในการขนส่งพนักงานหรือลูกเรือจากศูนย์ปฏิบัติการไปยังสนามบิน รวมทั้งมีแผนที่จะปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดภายใน 5 ปี และอีกหนึ่งโครการที่การบินไทยดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้วและมีผลเป็นที่น่าพอใจคือ การใช้นํ้ามันอย่างมีประสิทธิภาพ หลักการคือ ใช้วิธีการรวบรวมข้อมูล จากสถิติเก่า ๆ นำมาวิเคราะห์ จะได้ค่าตัวหนึ่ง ที่นำมาใช้งาน ไปใช้เป็นส่วนประกอบการวางแผนการบิน วางแผนการใช้นํ้ามัน และจัดเส้นทางการบิน เพื่อให้ใช้นํ้ามมันอย่างแม่นยำไม่น้อยหรือมากเกินไป

“เรื่องของวิธีการบิน เทคนิคการบิน เช่น เครื่องบินแลนดิ้ง เข้าหลุมจอด ไม่จำเป็นต้องติดเครื่องยนต์ทั้ง 2 เครื่อง เป็นการลดใช้นํ้ามันได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการใช้เครื่องบินรุ่นใหม่ๆ และเครื่องยนต์ยุคใหม่ ที่ใช้นํ้ามันลดลง”

ส่วนนํ้ามันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) การบินไทยมีแผนที่จะเริ่มใช้อย่างเป็นทางการภายในปี ค.ศ. 2030 อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันในเครื่องบืนของการบินไทย ได้มีการใช้นํ้ามัน SAF อยู่บ้าง จากการบินเข้ายุโรป ที่เริ่มบังคับใช้กับผู้ผลิตและบริษัทนํ้ามันแล้ว

“การใช้นํ้ามัน SAF ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 3-4 เท่า เราต้องมีการผลักดันในหลาย ๆ ภาคส่วน จะให้ผู้ใช้เป็นคนผลักดันฝั่งเดียวเกิดได้ยาก นโยบายการใช้ SAF ผู้คุมนโยบาย ผู้ใช้ ผู้ผลิต ก็ต้องมาคุยกัน มันไม่ใช่แค่การบินไทยบอกอยากจะใช้ มันต้องกลับไปดูถึงซัพพลายเชนว่า วัตถุดิบในการผลิต SAF มาจากไหน จะบริหารจัดการกันอย่างไร มีนโยบายอย่างไร”

‘วีระศักดิ์’ ยกธุรกิจทั่วโลกเริ่มตื่นตัว ‘สังคม-สิ่งแวดล้อม’ ชูหลัก ‘5 P’ ช่วยภาคธุรกิจปรับประยุกต์ในงาน AFECA

เมื่อไม่นานนี้ ณ ห้องบอลรูม ที่ Bangkok Marriott Hotel The Surawongse ทางสหพันธ์สมาคมการจัดการประชุมและนิทรรศการแห่งเอเชีย ‘Asian Federation of Exhibition & Convention Associations’ หรือ ‘AFECA’ ได้เดินทางเข้ามาจัดการประชุมนานาชาติ ‘ASIA 20 BUSINESS EVENTS FORUM’ ที่ประเทศไทย โดยมีสมาชิกจากประเทศต่างๆ เดินทางมาร่วมงานประมาณ 170 คน

โดยงานนี้ได้เชิญ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อดีตประธานบอร์ด TCEB เป็น Keynote Speaker ของการประชุมในหัวข้อ ‘Business Events & Future Implications’ ซึ่งนายวีระศักดิ์ได้กล่าวถึงความตื่นตัวของธุรกิจต่างๆ ในระดับโลกที่กำลังพยายามตอบสนองต่อประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการตั้งคำถามต่อการจัดการความยั่งยืนที่องค์กรและธุรกิจกำลังดำเนินการ ตลอดจนการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมอย่างตื่นตัว

นายวีระศักดิ์ เสนอให้วงการธุรกิจปรับมุมมองจากการเป็น Business Community ที่มักมีไว้เพิ่มโอกาสธุรกิจระหว่างกัน ให้ยกระดับสู่การเป็น Business for Humanity ด้วยหลักการ 5 P ของสหประชาชาติ คือ ‘People - Planet - Peace - Partnership’ และสุดท้าย คือ ‘Prosperity’ ซึ่งแปลว่า ‘รุ่งเรือง’ ไม่ใช่เรื่องความร่ำรวย

พร้อมทั้งยกตัวอย่าง พระราชบัญญัติคุณภาพชีวิตคนพิการ ที่ภาคธุรกิจสามารถรับพนักงานผู้พิการให้อยู่ตามภูมิลำเนาบ้าน เพื่อปลูกป่าในนามของบริษัท ทำให้ได้ทั้งเรื่องของ ‘ESG’ (Environment Social Responsibility และ Good Governance) ไปในตัวด้วย

‘ผู้เชี่ยวชาญ’ แนะ ‘แอร์ไลน์’ เร่งใช้ SAF ลดปริมาณคาร์บอน หลังการบินทั่วโลกเริ่มฟื้นตัว ชี้!! เป็นทางเลือกที่ทำได้เร็วที่สุด

(24 พ.ย.66) เมื่อวานนี้ (23 พ.ย.) หม่อมหลวงณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS ได้กล่าวในเวทีเสวนาหัวข้อ ‘Pioneering Sustainable Aerospace: พลิกโฉมน่านฟ้า สู่การบินยั่งยืน’ ในงานสัมมนา Bangchak Group Greenovative Forum ครั้งที่ 13 ‘Regenerative Fuels: Sustainable Mobility’ จัดโดยกลุ่มบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ว่า…

ธุรกิจการบินเป็นธุรกิจสำคัญต่อเศรษฐกิจและการเติบโตของโลก ถึงแม้ว่าในช่วงโควิดที่ผ่านมา การบินชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งพอโควิดคลี่คลายกลับเติบโตขึ้นมาอีกครั้ง แม้ว่าจะยังไม่ฟื้น หรือเติบโตเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด แต่จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาอินเดียมีการสั่งเครื่องบินไปแล้วกว่า 500 ลำ ซึ่งจะส่งมอบประมาณปี 2030

“ผมมองว่าทิศทางของธุรกิจการบินจะเติบโตไปเรื่อย ๆ และมากกว่าที่เราเห็นในปัจจุบัน แต่ปัญหาคือจะทำอย่างไรให้ธุรกิจการบินมีปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง ซึ่งทางออกที่น่าจะเป็นไปได้และทำได้ทันทีคือการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel หรือ SAF)”

ด้านนายยงยุทธ ลุจินตานนท์ Area Manager IATA Thailand, Laos, Cambodia and Myanmar กล่าวเสริมว่า “IATA เราทำงานร่วมกับสายการบินในการพัฒนาธุรกิจการบินให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งเรามีสมาชิกกว่า 318 การบิน การเดินทางของผู้คนในปี 2023 เมื่อเทียบกับช่วงที่เกิดโควิดเมื่อปี 2019 มีการเติบโตถึง 80% แม้จำนวนการเดินทางจะยังไม่กลับมาเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด แต่จากการคาดการณ์พบว่าตัวเลขการเดินทางจะกลับมาเป็นปกติก่อนช่วงเกิดโควิดจะอยู่ที่ปี 2025 และหากเทียบสัดส่วนอีก 20 ปีข้างหน้า การเดินทางไปยุโรปจะโตระดับ 700 ล้านคน ขณะที่สหรัฐโต 500 ล้านคน

“ส่วนเอเชีย-แปซิฟิกตัวเลขอาจจะโตขึ้นมีจำนวนมากถึง 2,800 ล้านคน แปลว่าจะเห็นจำนวนประชากรที่เดินทางอย่างมากมายมหาศาล และหากมีการเดินทางมากขึ้น ความท้าทายคือ ธุรกิจการบินจะเพิ่มเที่ยวบินอย่างไร และจะผลิตเครื่องบินทันหรือไม่ รวมถึงการบริหารจัดการทางอากาศจะทำอย่างไรบ้าง

“นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึง AI จะมีบทบาทสำคัญกับภาคการบิน เพราะเมื่อการเดินทางที่เพิ่มขึ้น ความปลอดภัยจึงต้องมาควบคู่กัน ขณะเดียวกัน ก็ต้องคำนึงถึงการปลดปล่อยคาร์บอน ถึงแม้ว่าธุรกิจการบินจะมีการปลดปล่อยคาร์บอนคิดเป็น 2% เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ แต่เมื่อดูปริมาณการปลดปล่อยก็ถือว่ามีปริมาณมหาศาล ดังนั้น ผมมองว่าการที่ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญของการใช้ SAF จะเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ที่สุดในเวลานี้”

ด้านนายปิยะชาติ อิศรภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แบรนดิ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญนอกจากการบินจะนำ SAF มาใช้แล้ว สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันคือ ผู้ใช้บริการรับรู้ และทำอย่างไรให้ผู้บริโภคเรียกร้องว่า ทำอย่างไรให้สายการบินมีเที่ยวบินที่รักโลก และมีราคาที่สมเหตุสมผล เป็นธรรม

ขณะเดียวกัน การเดินทางแบบยั่งยืนถือเป็นเรื่องไก่กับไข่ที่กฎหมายจะนำหรือความต้องการจะนำ ดังนั้น ทั้งผู้ออกกฎเกณฑ์ นักธุรกิจ และผู้บริโภคจะต้องวิน-วินด้วยกัน เพราะคนทำธุรกิจจะต้องมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ส่วนประชาชนจะต้องได้รับความปลอดภัยและราคาที่เป็นธรรม

‘การบินไทย’ จับมือ ‘จิม ทอมป์สัน’ ผุด ‘Amenity Kit’ กระเป๋ารักษ์โลก ลายพิมพ์พิเศษ ย่อยสลายได้เอง ใส่ใจสิ่งแวดล้อม-ส่งเสริมความเป็นไทย

เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 66 ‘บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)’ และ ‘จิม ทอมป์สัน’ (Jim Thompson) ร่วมจับมือเปิดตัวกระเป๋าพร้อมชุดสิ่งอำนวยความสะดวก (Amenity kit) แบบใหม่ในคอนเซ็ปต์ ‘รักษ์โลก’ ภายในบรรจุสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อมอบความผ่อนคลายเหนือระดับตลอดเที่ยวบิน สำหรับผู้โดยสายชั้นธุรกิจบนเครื่องบินของการบินไทย

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ความร่วมมือกับจิม ทอมป์สัน ในครั้งนี้ เป็นการนำเสนอชุดสิ่งอำนวยความสะดวกแบบใหม่ สำหรับให้บริการผู้โดยสารชั้นธุรกิจ (Royal Silk) ในเที่ยวบินระหว่างประเทศของการบินไทยที่ใช้เวลาเดินทาง 4 ชั่วโมงขึ้นไป ยกเว้นเส้นทางโดยเครื่องบินแบบแอร์บัส A320 เพื่อมอบประสบการณ์ใหม่อันน่าประทับใจแก่ผู้โดยสาร โดยเป็นแพ็กเกจกระเป๋าผ้าของ จิม ทอมป์สัน ที่ผลิตจากวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดดเด่นด้วยลายพิมพ์สุดพิเศษ 6 ลาย ที่ได้รับการออกแบบโดยได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปวัฒนธรรมไทย และความงามตามธรรมชาติ ใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนมากขึ้น อาทิ แปรงสีฟันที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ถุงเท้ารักษ์โลก ลูกกลิ้งน้ำมันหอมระเหย ลิปบาล์ม โลชั่นทามือ ยาสีฟัน และผ้าปิดตา

มิตเตอร์แฟรงก์ แคนเซลโลนี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท อุตสาหกรรมไทย จำกัด กล่าวว่า การร่วมมือกันในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ร่วมกันในการยกระดับความเป็นไทยสู่สากล ขณะเดียวกันก็ยังคงรักษารากฐานวัฒนธรรมความเป็นไทย

‘สวทช. – จุฬาฯ’ พัฒนา ‘เส้นพลาสติกรักษ์โลก’ จาก ‘เปลือกหอยแมลงภู่’ คืนชีพขยะ PLA ย่อยสลายได้ 100% ขจัดปัญหาขยะในชุมชนอย่างยั่งยืน

‘นักวิจัยนาโนเทค สวทช.’ จับมือ ‘จุฬาฯ’ ต่อยอดไบโอแคลเซียมคาร์บอเนตจาก ‘เปลือกหอยแมลงภู่’ ผสมขยะพลาสติกชีวภาพ (PLA) พัฒนา ‘Re-ECOFILA เส้นพลาสติกรักษ์โลกสำหรับเครื่องพิมพ์สามมิติ’ ย่อยสลายได้ 100% คุณภาพเทียบเท่าของที่มีในท้องตลาดในราคาที่ถูกกว่า หวังทดแทนของนำเข้าราคาสูง สร้างโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติของนักเรียน นักศึกษาและคนทั่วไป ตอบ BCG เศรษฐกิจหมุนเวียน-สีเขียว ช่วยคืนชีพขยะ PLA จัดการขยะเปลือกหอยแมลงภู่ในชุมชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน

(22 พ.ย. 66) ดร.ชุติพันธ์ เลิศวชิรไพบูลย์ นักวิจัยจากทีมวิจัยการวินิจฉัยระดับนาโน กลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ‘Re-ECOFILA’ มาจากงานวิจัย ‘เส้นพลาสติกสำหรับเครื่องพิมพ์สามมิติ ผลิตจากขยะเปลือกหอยแมลงภู่และขยะพลาสติกชีวภาพ’ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ‘สวทช.’ โดย ‘นาโนเทค’ และ ‘จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ โดยศาสตราจารย์ ดร.สนอง เอกสิทธิ์ ที่มีแนวคิดการใช้ประโยชน์ไบโอแคลเซียมคาร์บอเนตจากเปลือกหอยแมลงภู่ที่ได้ทำงานวิจัยมาก่อนหน้านั้น จากความเป็นไปได้สำหรับเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ โดยจะไปแทนที่แคลเซียมคาร์บอเนตจากหินปูน ที่ใช้ในกระบวนการผลิตพอลิเมอร์

ข้อมูลจากกลุ่มสถิติการประมง กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า ประเทศไทยผลิตหอยแมลงภู่เฉลี่ยมากกว่า 50,000 ตันต่อปี โดยน้ำหนักมากกว่าครึ่งเป็นน้ำหนักของเปลือกหอย ทำให้เกิดขยะเปลือกหอยสะสมเป็นจำนวนมาก ตามพื้นที่ชุมชนที่ประกอบอาชีพเลี้ยงหอยและแกะเนื้อหอยขาย ส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ปัจจุบัน วิธีการเดียวที่จะนำเปลือกหอยแมลงภู่ไปใช้ประโยชน์คือ การรับซื้อในราคาถูกเพื่อนำไปถมที่

“แคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) ถูกใช้เป็นสารเติมแต่ง (additive) ในอุตสาหกรรมพอลิเมอร์ เพื่อลดต้นทุน โดยเติมแคลเซียมคาร์บอเนตจากหินปูนที่มีราคาถูกกว่า แต่เมื่อเรามีขยะจากเปลือกหอยแมลงภู่จำนวนมาก ซึ่งเปลือกหอยเป็นแหล่งแคลเซียมคาร์บอเนตที่มีความบริสุทธิ์สูง นอกจากจะสามารถใช้ทดแทนแคลเซียมคาร์บอเนตจากหินปูนได้แล้ว ยังช่วยในมิติของสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อีกด้วย ทีมวิจัยจึงได้พัฒนาวิธีการแปรรูปเปลือกหอยแมลงภู่เป็นไบโอแคลเซียมคาร์บอเนตและนำไปใช้เป็นสารเติมแต่งใน PLA เพื่อฉีดเป็นเส้นพลาสติกสำหรับใช้ขึ้นรูปด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ” ดร.ชุติพันธ์ กล่าว

ปัจจุบัน ‘พอลิแลกติกแอซิด’ (polylactic acid : PLA) ซึ่งเป็นพลาสติกชีวภาพผลิตจากพืชนั้น มีการใช้งานที่แพร่หลายมากขึ้นโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการพิมพ์สามมิติ (3D printing) จากคุณสมบัติของ PLA ที่เหมาะสมสำหรับการฉีดขึ้นรูปด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ ได้แก่ มีจุดหลอมเหลวที่ต่ำ, มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างต่ำ (dimension stability) และมีค่าการไหลที่เหมาะสำหรับการฉีดขึ้นรูป โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการพิมพ์สามมิติด้วยเทคนิค FDM (Fused Deposition Modeling) ซึ่งจะเป็นการหลอมเส้นพลาสติกให้กลายเป็นของไหลแล้วฉีดออกมาเป็นเส้นด้วยหัวฉีด โดยเครื่องพิมพ์จะฉีดเส้นพลาสติกตามแนวระนาบและฉีดซ้อนทับเป็นชั้นไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นชิ้นงาน

ทีมวิจัยนาโนเทค-จุฬาฯ เริ่มจากพัฒนาวิธีการแปรรูปเปลือกหอยแมลงภู่เป็นไบโอแคลเซียมคาร์บอเนต โดยไบโอแคลเซียมคาร์บอเนตที่ได้มีรูปร่างกลมและมีขนาดเฉลี่ยประมาณ 109 นาโนเมตร มีความบริสุทธิ์สูงโดยจากผลการวิเคราะห์ด้วย TGA พบว่า ไบโอแคลเซียมคาร์บอเนตมีความบริสุทธิ์มากกว่าร้อยละ 98 โดยน้ำหนัก และจากผลการวิเคราะห์ด้วยเทคนิค Raman spectroscopy พบว่า ไบโอแคลเซียมมีอัญรูปเป็นอะราโกไนต์

ในช่วงแรก ทีมวิจัยได้นำพลาสติกชีวภาพหรือ PLA มาผสมกับไบโอแคลเซียมคาร์บอเนตจากเปลือกหอยแมลงภู่ที่เตรียมขึ้นมา จากนั้น นำไปแล้วฉีดขึ้นรูปเป็นเส้นพลาสติกสำหรับเครื่องพิมพ์สามมิติ ผลที่ได้คือ เส้นพลาสติกที่มีคุณภาพดีมีคุณภาพเทียบเท่ากับเส้นพลาสติกที่มีจำหน่ายเชิงพาณิชย์ สามารถใช้งานได้กับเครื่องพิมพ์สามมิติระบบ FDM ได้ทันที นับเป็นโอกาสทางการตลาดที่ใหญ่ ในขณะเดียวกันก็มองเห็นโอกาสในการนำขยะพลาสติกจากการพิมพ์สามมิติมาคืนชีพ ใช้ทดแทน PLA

ดร.ชุติพันธ์กล่าวว่า เมื่อศึกษาข้อมูลด้านการพิมพ์สามมิติ ก็พบว่า ปริมาณขยะพลาสติกจากการพิมพ์สามมิติทั้งชิ้นส่วนที่ไม่ใช้แล้วและการเกิดขยะจากการกระบวนการพิมพ์ (การพิมพ์ support และการพิมพ์ที่ผิดพลาด) สืบเนื่องจากปัจจุบันที่เทคโนโลยีมีราคาถูกลง การใช้ที่ไม่ซับซ้อน สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์อย่างรวดเร็ว (fast fashion) ทำให้เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติถูกนำไปใช้ในวงกว้าง ไม่จำกัดเฉพาะการขึ้นรูปต้นแบบอีกต่อไป เช่น การพิมพ์วัสดุสามมิติสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น

“เราได้ทดลองนำขยะพลาสติกชีวภาพ หรือ ‘Recycled PLA’ จากกระบวนการพิมพ์สามมิติมาใช้ โดยบดผสมกับไบโอแคลเซียมคาร์บอเนตจากเปลือกหอยแมลงภู่ แล้วฉีดขึ้นรูปเป็นเส้นพลาสติกสำหรับเครื่องพิมพ์สามมิติ โดย Re-ECOFILA หรือ ‘เส้นพลาสติก’ ที่ผลิตได้มีคุณภาพเทียบเท่ากับเส้นพลาสติกที่มีจำหน่ายเชิงพาณิชย์ สามารถใช้งานได้กับเครื่องพิมพ์สามมิติระบบ FDM ได้ทันที อาจจะมีข้อจำกัดเรื่องสีของเส้นพลาสติกที่แตกต่างจากของทั่วไป แต่ก็เป็นอีกหนึ่งโอกาสทางการตลาด ด้วยข้อมูลจาก HSSMI ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษาด้านการผลิตที่ด้วยกระบวนการที่ยั่งยืน พบว่า มีการใช้เครื่องพิมพ์สามมิติชนิด FDM ที่ต้องใช้เส้นพลาสติกโดยเฉพาะเส้นพลาสติกผลิตจาก PLA ถึง 66% ของจำนวนเครื่องพิมพ์สามมิติทั่วโลก” ดร.ชุติพันธ์ กล่าว

เส้นพลาสติกที่ผลิตได้จากงานวิจัยนี้ ดร.ชุติพันธ์ เผยว่า เป็นเส้นพลาสติกที่มีราคาไม่แพง คุณภาพเทียบเท่ากับเส้นพลาสติกที่มีจำหน่ายเชิงพาณิชย์ สามารถใช้งานได้กับเครื่องพิมพ์สามมิติระบบ FDM ได้ทันที ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตต่อชิ้นต่ำลง สามารถใช้นวัตกรรมนี้เพื่อผลิตเส้นพลาสติกราคาถูกสำหรับการใช้งานที่ไม่ต้องใช้ PLA คุณภาพสูง เพิ่มโอกาสและความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการได้อีกทางหนึ่ง ด้วยเป็นวัสดุทางเลือกที่สามารถลดต้นทุนการผลิตและค่าใช้จ่ายในการขึ้นรูปต้นแบบผลิตภัณฑ์ ในขณะเดียวกัน ยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้นักเรียน นักศึกษาในสถานศึกษาและบุคคลทั่วไป ให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติได้ง่ายขึ้นจากวัสดุที่ราคาถูกลง เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนและการพัฒนาโครงงานและงานนวัตกรรมสำหรับนักเรียน นักศึกษา

นอกจากนี้ นวัตกรรมเส้นพลาสติกสำหรับเครื่องพิมพ์สามมิติผลิตจากขยะเปลือกหอยแมลงภู่และขยะพลาสติกชีวภาพ ยังเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรตามแนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) สร้างมูลค่าให้กับขยะจากการพิมพ์สามมิติ และขยะจากอุตสาหกรรมอาหารทะเล (Waste-to-Wealth) ส่งเสริมการจัดการของเสีย (waste management) ทั้งขยะเปลือกหอยสะสมในแหล่งชุมชนและขยะพลาสติก PLA ที่ไม่มีวิธีการจัดการอย่างเป็นรูปธรรม โดยนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างมูลค่า ส่งผลให้มีการวางแผนการจัดการขยะอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ กำจัดขยะเก่า และลดการสร้างขยะใหม่

“ที่สำคัญ ผลงานนี้ยังสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนจากการขายเปลือกหอยแมลงภู่เหลือทิ้งจากการแปรรูปอาหารทะเลให้ภาคธุรกิจโดยการแปรรูปเบื้องต้น เช่นเดียวกับองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นนี้ ก็สามารถถ่ายทอดให้ผู้ประกอบการไทยมีเทคโนโลยีการผลิตเส้นพลาสติกสำหรับเครื่องพิมพ์สามมิติ ลดต้นทุนการผลิตด้วยการใช้สารเติมแต่งไบโอแคลเซียมคาร์บอเนต และเทคโนโลยีการนำขยะพลาสติก PLA กลับมาใช้ใหม่ ผลิตภัณฑ์สามารถจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์กลางน้ำเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ หรือผลิตเป็นสินค้าเพื่อจำหน่ายได้เชิงพาณิชย์ได้” นักวิจัยนาโนเทคกล่าว พร้อมชี้ว่า ปัจจุบัน เทคโนโลยีมีระดับความพร้อมอยู่ที่ TRL 6 เส้นพลาสติกที่ผลิตได้ถูกนำไปใช้กับเครื่องพิมพ์สามมิติ และสามารถพิมพ์ชิ้นงานสามมิติได้ โดยคุณภาพของชิ้นงานเทียบเท่ากับชิ้นงานที่ถูกพิมพ์จากเส้นพลาสติกที่มีจำหน่ายเชิงพาณิชย์ โดยทีมวิจัยอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ของโมเดลธุรกิจ เพื่อทำให้นวัตกรรมเส้นพลาสติกที่พัฒนาขึ้น ถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมงานวิจัย

นอกจากนี้ ดร.ชุติพันธ์ แย้มว่า เตรียมต่อยอดการวิจัย เพื่อเพิ่มแอปพลิเคชันการใช้งานที่มีความต้องการทางการตลาดอีกมุมหนึ่ง จากนวัตกรรมรักษ์โลก ย่อยสลายได้ 100% ที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่ม CRS เราจะเปลี่ยนมาใช้พลาสติก ABS หรือ ‘Acrylonitrile Butadiene Styrene’ ที่มีความแข็งแรง ทนทาน นิยมใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างแพร่หลาย ผสมกับสารตัวเติมที่มีคุณสมบัติหน่วงไฟ (flame retardants) ที่เตรียมขึ้นใช้เองโดยมีสารตั้งต้นเป็นไบโอแคลเซียมคาร์บอเนตจากเปลือกหอยแมลงภู่ พัฒนาเป็นวัสดุที่มีสมบัติหน่วงไฟ สามารถประยุกต์ใช้เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ภายในบ้าน เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น เคสคอมพิวเตอร์ที่ออกแบบให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและพิมพ์ผ่านเครื่องพิมพ์สามมิติ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นอีก 1 ตลาดใหญ่ที่จะต่อยอดใช้ประโยชน์จากขยะเปลือกหอยแมลงภู่ในอนาคต

เส้นพลาสติกสำหรับเครื่องพิมพ์สามมิติผลิตจากขยะเปลือกหอยแมลงภู่ และขยะพลาสติกชีวภาพ ได้รับรางวัลเหรียญเงิน สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ และรางวัลพิเศษ (Special Prize) จาก Korea Invention Promotion Association สาธารณรัฐเกาหลี ในการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ ในเวที ‘Taiwan Innotech Expo 2023’ (TIE 2023) เมื่อวันที่ 12 - 14 ตุลาคม 2566 ณ กรุงไทเป ไต้หวัน โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

‘อลิอันซ์ อยุธยา’ นำทีม ‘มาหามิตร’ กระตุ้นแยกขยะ-เลิกเทรวม ต่อยอดโครงการ ‘ปทุมวัน Zero Waste’ สู่งาน ‘THINK ทิ้ง..ชีวิต’

‘บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา’ นำทีม ‘มาหามิตร’ (Alliance for Sustainability) จัดกิจกรรม ‘THINK ทิ้ง ... ชีวิต’ ปลุกจิตสำนึกแยกขยะ เลิกเทรวม ทั้งระดับครัวเรือนและองค์กร ลดขยะไปสู่บ่อขยะฝังกลบให้น้อยที่สุด โชว์ผลงานรักษ์โลก 7 ศิลปินร่วมสมัย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหา ‘ขยะ’ เกิดจากพฤติกรรมของเราทุกคน ก่อให้เกิดการสะสมของขยะมูลฝอย ขยะสารเคมีที่เป็นอันตราย ขยะพลาสติกทั้งถุงหูหิ้ว ขวดน้ำ แก้วพลาสติก กล่องโฟม เศษอาหาร และอื่นๆ กระจายอยู่ในพื้นที่บ่อขยะ พื้นที่ฝังกลบ พื้นที่ที่มีการนำขยะไปเทกองรวมกัน รวมทั้งแม่น้ำลำคลอง ชุมชน และพื้นที่เมือง ฯลฯ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน และเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน

‘กลุ่มมาหามิตร’ นำโดย อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ร่วมด้วย กรุงเทพมหานคร, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, โครงการ ‘Chula Zero Waste’ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง, เอ็ม บี เค, สยามพิวรรธน์, กลุ่มสยามกลการ, โรงแรมศิวาเทล กรุงเทพ และ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ในฐานะกลุ่ม ‘มาหามิตร’ (Alliance for Sustainability) ส่งเสริมการแยกขยะ ‘เลิกเทรวม’ เพื่อให้เกิดการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้จัดกิจกรรม ‘THINK ทิ้ง ... ชีวิต’ งานใหญ่กลางกรุง โดยหยิบแนวคิดการใช้ศิลปะมาร่วมสร้างแรงบันดาลใจสู่การตระหนักคิด สร้างจิตสำนึก และเปลี่ยนแปลงสู่พฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของคนเมือง

งานนี้จัดขึ้น เพื่อตะโกนดังดังบอกทุกคนว่า ‘เลิกมักง่ายเถอะ’, ‘แยกขยะกันเถอะ’ เพราะปัญหาขยะจะไม่มีวันแก้ได้ ถ้าคนส่วนใหญ่ในสังคมไม่ช่วยกัน อีกทั้ง การทิ้งของเราทุกคนมีผลต่อการเปลี่ยนชีวิตของใครคนใดคนหนึ่งเสมอ ถ้าคิดก่อนทิ้งเราอาจเปลี่ยนชีวิตได้มากมาย ดังนั้น

เราจะทิ้งเพื่อ ‘สร้างชีวิต’
เราจะทิ้งเพื่อ ‘ปลูกชีวิต’
เราจะทิ้งเพื่อ ‘ช่วยชีวิต’
หรือเราจะ ‘ทิ้ง ... ชีวิต’ ก็ขึ้นอยู่กับตัวของเราทุกคน

นางสาวพัชรา ทวีชัยวัฒนะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารงานลูกค้า บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ในฐานะตัวแทนกลุ่มมาหามิตร กล่าวว่า กลุ่ม ‘มาหามิตร’ เกิดจากการรวมตัวกันขององค์กรต่างๆ ทั้งภาคเอกชนและภาคสาธารณะในเขตปทุมวัน ร่วมแสดงเจตจำนง ตั้งเป้าหมายสู่ความยั่งยืนร่วมกัน ถือเป็นการสร้างความยั่งยืนจากภายในองค์กรเพื่อขยายผลสู่ภายนอก แต่ละองค์กรพันธมิตรอาจมีเป้าหมายธุรกิจที่ต่างกัน แต่เป้าหมายใหญ่ร่วมกัน คือ การสร้างความยั่งยืนให้แก่โลกในมิติต่างๆ

โดยเริ่มจากเรื่องใกล้ตัวคือ เรื่องการจัดการขยะในองค์กร ซึ่งต่อมาเกิดเป็นโครงการ ‘ปทุมวัน Zero Waste’ ส่งเสริมการแยกขยะเพื่อให้เกิดการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการ และประชาชนในพื้นที่เขตปทุมวัน ที่มีเป้าหมายเพื่อลดขยะไปสู่บ่อขยะให้น้อยที่สุด และเพื่อเป็นการรณรงค์ให้เกิดการแยกขยะในวงกว้างขึ้น ปีนี้เราจึงต่อยอด สู่งาน ‘THINK ทิ้ง ... ชีวิต’ เพื่อสะท้อนสถานการณ์ขยะที่เกิดจากพฤติกรรมการทิ้งของพวกเรา และชี้ให้เห็นแนวทางการแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรม ให้ความสำคัญกับการ ‘แยกขยะ’ ทั้งในระดับครัวเรือนและระดับองค์กร

นางสาวพัชรา กล่าวว่า ในส่วนของ บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา รณรงค์ให้พนักงาน 1,400 คน ของเราเข้าใจว่า “จริงๆ แล้ว ไม่มีอะไรเหลือเป็นขยะเลย มันสามารถบริหารจัดการได้ ถ้าแยกสิ่งที่ทิ้งให้มีที่ไป ซึ่งเราได้ทำแบบนี้มาหลายปีแล้ว โดยแยกขยะออกเป็น 4 สเตชั่น ได้แก่ พลาสติกที่รีไซเคิลได้ ขวดแก้ว ขยะเศษอาหาร และขยะที่ไปต่อไม่ได้ ต้องเผาเช่น พลาสติก ฟรอยด์ ฯลฯ วันนี้เราสามารถลดขยะไปบ่อฝังกลับได้ดี เราจึงอยากขยายขอบเขตการตระหนักรู้ สู่สาธารณชน จึงเริ่มจากการไปดูชีวิตของคนเก็บขยะ มาตีแผ่ให้ทุกคนได้เห็นว่าเขาทำงานกันอย่างไร และคุณเคยเป็นคนหนึ่งไหมที่ทิ้งโดยไม่คิด ว่ามันไปสร้างความลำบากให้กับคนเก็บขยะมากแค่ไหน เราเชื่อว่าถ้าทุกคนมีประสบการณ์จากมาแยกขยะเอง อย่างน้อยถ้าเขาไม่แคร์โลก เขาก็จะแคร์คนที่เก็บขยะ ที่ต้องทำหน้าที่อยู่หน้างานอันเกิดจากการทิ้งแบบไม่คิดของเขา”

“การแยกขยะ เป็นความลำบากคนทุกคนที่มีความเห็นแก่ตัวเป็นพื้นฐาน แต่พอเรามาสร้างจิตสำนึก ให้คิดได้ว่าการช่วยเหลือจากเราเล็กๆ น้อย มันมีผลมหาศาลต่อสัตว์ คน และสิ่งแวดล้อม ตอนนี้กรุงเทพมหานครใช้เงินหมื่นล้านบาทต่อปี ในการบริหารจัดการขยะ ถ้าเราทุกคนช่วยกัน ก็จะสามารถลดเงินตรงนี้ และมีเงินเหลือไปสร้างเมืองให้สวยงาม วัตถุประสงค์ของการจัดงานนี้คือสร้างความตระหนักรู้ เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของคน” นางสาวพัชรา กล่าว

นางสาวพัชรา ยังบอกด้วยว่า งานนี้เราได้เชิญศิลปิน 7 คน มาร่วมสร้างงานศิลปะ โดยการใช้วัสดุเหลือใช้มาประกอบร่างเป็นงานศิลปะ ที่มีแนวคิดแตกต่างกันไป ซึ่งถ้าเราไม่เรียกเขาว่าขยะ เราสามารถเอามาสร้างต่อให้มีคุณค่าได้ เราเชื่อว่าการดึงศิลปินเข้ามา มันจะสร้างการรับรู้ในเรื่องของขยะ ให้เป็นวงกว้าง เป็นสิ่งที่เราอยากให้คนจำนวนมากได้รับรู้และตระหนักได้ถึงความสำคัญในการจัดการขยะของตัวเอง เราหวังว่ากิจกรรมนี้จะสร้างความตระหนักรู้ว่า ถ้าคุณเทรวมมา มันเสียเวลาแยก แต่ถ้าคุณแยกมามันไปต่อได้ เพราะมีหน่วยงานที่สามารถรับขยะของคุณได้เลยทั้ง วงษ์พาณิชย์ เซอร์พลัส ส่วนขยะเศษอาหาร ซึ่งเราเรียกมันว่าขยะอินทรีย์ ก็สามารถหมักเองที่บ้าน โดยการนำใบไม้มาคลุมแล้วเอาปุ๋ยขี้วัวมาใส่ หมักไว้มันก็จะเป็นปุ๋ยที่สามารถบำรุงต้นไม้ได้อย่างดี ซึ่งโดยส่วนตัวก็เริ่มแยกขยะจากที่บ้าน ทุกวันนี้ก็แทบไม่มีขยะที่จะส่งไปบ่อฝังกลบเลย

นางสาวพัชรา กล่าวอีกว่า สิ่งที่อยากให้หลายคนตระหนักคือ สินค้าแฟชั่นเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่สร้างคาร์บอนฟุตปรินท์เยอะที่สุด เพราะการผลิตผ้าใช้พลังงานเยอะมาก เราจึงรณรงค์ ให้เอาเสื้อผ้ามารีไซเคิล มาแลกเปลี่ยนหมุนเวียนกันโดยไม่ต้องซื้อใหม่ เป็นการลดใช้พลังงาน โดยภายในงานก็มีกิจกรรมนี้ด้วย โดยมีเด็กสองคนที่มีหัวใจไม่สร้างคาร์บอนฟุตปรินท์ เพื่อสื่อให้คนเข้าใจว่า เสื้อผ้าใส่แล้วมันเบื่อก็เอามาแลกกัน โดยไม่ต้องซื้อ ลดการใช้พลังงาน

“อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ในฐานะผู้นำกลุ่มมาหามิตร มีความตั้งใจเป็นอย่างมากในการจัดงาน “THINK ทิ้ง...ชีวิต” ครั้งนี้ เพราะปัญหาขยะ คือ ปัญหาเร่งด่วน แต่เป็นปัญหาที่แก้ไขได้ เมื่อทุกคนร่วมมือกัน” นางสาวพัชรา กล่าวย้ำ

สะท้อนชีวิต… คนเก็บขยะ
ด้าน ‘นายน้ำพุ โต๊ะกา’ พนักงานขับรถขยะประจำสำนักงานเขตคลองเตย กล่าวว่า ตนรักในอาชีพเก็บขยะ เพราะได้คลุกคลีกับอาชีพนี้มาตั้งแต่เด็ก ไม่เคยคิดว่าเป็นอาชีพที่ต่ำต้อย แต่เป็นงานที่ต้องอาศัยความเสียสละ และอดทน ที่สำคัญเป็นงานสุจริตที่ทำให้พ่อมีเงินมาเลี้ยงดูครอบครัวให้มีกินมีใช้ และเมื่อตนโตขึ้น ก็เลือกที่จะทำอาชีพนี้ และได้เข้าทำงานตั้งแต่อายุ 22 เริ่มจากเป็นพนักงานท้ายรถ จนเลื่อนตำแหน่งเป็นพนักงานขับรถขยะประจำสำนักงานเขตคลองเตย

“เป็นความใฝ่ฝันที่ผมมาจุดนี้ได้ เพราะมันมีสวัสดิการ มีความมั่นคงในชีวิต ผมทำอาชีพนี้มา 15 ปี วันนี้ผมมีเงินที่จะส่งลูก 4 คน ให้มีการศึกษา และเมื่อพ่อแม่ลูกเมียเจ็บป่วยก็สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ แม้ว่าในสายตาคนอื่นเป็นงานต่ำ แต่สำหรับผมถือเป็นเกียรติที่ทำงานนี้ แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนมาทำงานจุดนี้และจะอยู่ได้นานนะ บางคนมาแล้วก็ไป ลองทำแล้วไม่ชอบเขาก็ไป แต่ผมรักงานนี้และทำงาน 7 วัน โดยไม่รู้สึกเบื่อ แม้ว่าจะต้องทำงานในเวลากลางคืนก็ตาม เพราะนอกจากมีเงินเดือนประจำแล้ว ยังมีรายได้จากการแยกและขายขยะ นำเงินมาแบ่งปันให้กับลูกน้องได้ด้วย” นายน้ำพุ กล่าวด้วยนัยน์ตาเป็นประกาย

นายน้ำพุ ยังได้กล่าวถึงความเข้าใจของหลายคนที่มีความคิดว่า จะแยกขยะทำไม เพราะ กทม.ก็นำไปเทรวมอยู่ดี โดยยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง เพราะในแต่ละวันเมื่อเก็บขยะแล้ว ก็ต้องนำไปแยกที่สำนักงานเขต ซึ่งถ้าคนแยกมาก่อนแล้ว งานก็จะเร็วขึ้น แต่ถ้าไม่แยกก็จะทำให้เสียเวลา นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดอันตรายจนถึงต่อคนเก็บขยะ แม้ว่าจะมีอุปกรณ์ป้องกันทั้งถุงมือยางถุงมือผ้าแล้วก็ตาม เพราะไม่มีอุปกรณ์ใดสามารถป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

“ที่เราเจอบ่อยคือ ไม้แหลม ไม้ลูกชิ้น เข็ม ที่สามารถทะลุถุงมือยางได้ คนเก็บขยะทุกคนเจอปัญหานี้ บางคนทิ้งขวดแตก กระจกแตก โดยไม่แยก ก็จะเป็นความลำบากของเรา เพราะเราทำงานแข่งกับเวลา ไม่ได้ดูละเอียด จึงอยากให้ทุกคนช่วยกัน แยกขยะโดยถ้าเป็นเศษกระจก หลอดไฟ ที่แตกก็ให้ห่อกระดาษก่อนหรือเขียนไว้ ส่วนไม้แหลมก็ให้หักปลายหรือใส่ขวดก่อนทิ้งก็จะช่วยได้มาก ขยะบางอย่างเช่น แพมเพิร์ส บางคนไม้ห่อไม่มัด เราก็ต้องเจอแบบเต็ม ๆ มือ เหล่านี้คนทิ้งมันง่าย แต่คนเก็บเราต้องเจอกับเชื้อโรค แบบตรงๆ จึงอยากวิงวอนว่า ถ้าสิ่งไหนไม่เหลือบ่ากว่าแรงก็ขอให้ความร่วมมือ” นายน้ำพุ กล่าว

ต่อข้อถามที่ว่า การนำเข้าขยะจากต่างประเทศ มีผลกระทบกับประเทศไทยไหม นายน้ำพุ ยอมรับว่ามี ในฐานะที่คลุกคลีกับร้านรับซื้อขยะ ทำให้รู้ว่า ราคาการรับซื้อตกลง แต่ก็เข้าใจว่า เพราะเขานำเข้าขยะสะอาด ซึ่งถ้าประเทศไทยสามารถแยกขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ การนำเข้าขยะก็จะลดลง และผลประโยชน์ก็จะหมุนเวียนอยู่ในประเทศเรา

ผู้ร่วมจัดงานในกลุ่ม ‘มาหามิตร’ จึงขอเชิญชวน ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ เพราะนอกจากจะได้รับรู้ถึงการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธีแล้ว ภายในงานยังมีการ การจัดนิทรรศการและกิจกรรมให้ความรู้มากมายที่เหมาะกับทุกเพศทุกวัย เพื่อมุ่งเปลี่ยนพฤติกรรมทุกคนให้มีพฤติกรรมการทิ้งที่เปลี่ยนไป โดยมีการจำลองบ่อขยะ และเปิดประสบการณ์ชีวิตจริงของพนักงานเก็บขยะจากกทม. เริ่มจากห้องเปลี่ยนใจ ที่จะมาไขข้อข้องใจ ทลายความเชื่อ ว่าแยกขยะไปทำไม หากสุดท้ายนำไปเทรวม ต่อด้วย ‘กิจกรรมทิ้ง...ชีวิต’ ที่จะเปิดโอกาสให้คุณได้สวมบทบาทคนเก็บขยะ กับความท้าทายที่คุณไม่อาจเคยรู้ ต่อด้วยทางเลือกคนกรุง ตัวช่วยที่จะทำให้การแยกขยะของคุณมีค่า และชุมชนแลกเปลี่ยนแฟชั่น Swoop Buddy

นอกจากนั้น ยังได้นำเสนอผลงานของ 7 ศิลปินร่วมสมัยชั้นนำของไทย ประกอบด้วยผลงานของ คุณวิชชุลดา ปัณฑุรานุวงศ์ คุณจิรายุ ตันตระกูล คุณเอก ทองประเสริฐ คุณพงษธัช อ่วยกลาง คุณปรัชญา เจริญสุข คุณปฏิพัทธ์ ชัยวิเทศ คุณปิยาภา วิเชียรสาร และคุณชโลชา นิลธรรมชาติ จาก A Thing that is Pieces ที่ร่วมกันรังสรรค์ผลงานศิลปะ จากวัสดุส่วนเกินที่หลายคนไม่ต้องการ

ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้ฟรี ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2566 ตั้งแต่ เวลา 10.00 – 19.00 น. ณ ลานด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ลานใบบัวเชื่อมรถไฟฟ้า สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ และ Meeting Point ศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์

‘มาร์ส เพ็ทแคร์’ หนุนเกษตรกรปลูก ‘ข้าว-ข้าวโพด’ อย่างยั่งยืน หวังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นำร่อง ‘นครราชสีมา-ลพบุรี’

(21 พ.ย. 66) นายปิยรัฐ อมรฉัตร ผู้อำนวยการด้านการจัดซื้อ ภูมิภาคเอเชีย บริษัท มาร์ส เพ็ทแคร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ดำเนินการร่วมกับ 6 พันธมิตรทางการค้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่การผลิตผ่านโครงการเกษตรกรรมฟื้นฟู

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายใต้กิจกรรม Climate Actions For A Better Tomorrow โดยจะนำร่องโครงการในการปลูกข้าวโพดและข้าวนำร่อง ที่ จ.นครราชสีมา และ จ.ลพบุรี 

สำหรับการดำเนินการดังกล่าวถือเป็นการขับเคลื่อนเป้าหมายบริษัท ที่วางแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50% ภายในปี 2573 และบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 

ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้สามารถช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมีส่วนสำคัญในการเพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์และฟื้นฟูดินควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

“มาร์ส เพ็ทแคร์ ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงภายใต้กรอบความยั่งยืนและหนึ่งในเป้าหมายความยั่งยืน คือ การลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยดำเนินโครงการเกษตรกรรมฟื้นฟู มุ่งยกระดับสุขภาพและความอุดมสมบูรณ์ของดิน เพื่อจัดเก็บคาร์บอนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปรับปรุงคุณภาพของลุ่มน้ำ และเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งโครงการนี้จะเสริมสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็งกับเกษตรกร เพื่อจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและก้าวไปสู่การเกษตรแบบเท่าทันภูมิอากาศ ( Climate Smart Agriculture) โดยทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์และเกษตรกรส่งเสริมวิธีการทำเกษตรที่ดียิ่งขึ้น และการสนับสนุนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มศักยภาพกระบวนการผลิตข้าวโพดและข้าวอย่างยั่งยืน” 

นายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า การขับเคลื่อนเรื่องลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นวาระสำคัญของทุกภาคส่วน โดยภาครัฐพร้อมที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อเดินหน้าไปสู่เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกจากกลุ่มภาคเกษตรกรรม เพราะเป็นอาชีพหลักของประชาชนในจังหวัดนครราชสีมา

สำหรับ 6 พันธมิตรที่ร่วมดำเนินการ ประกอบด้วย ร้านตรงพานิช, บริษัท ส.วิริยะอินเตอร์เทรด จำกัด ,บริษัท พูลอุดม จำกัด, บริษัท วชาไล จำกัด (แสงตะวัน), ห้างหุ้นส่วนจำกัดกรแก้วพืชผล และบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนลไรซ์ แอนด์โปรดักซ์ จำกัด

‘โซดาสิงห์’ แท็กทีม ‘Rubber Killer’ แบรนด์ไทยรักษ์โลก เปิดตัวคอลเลกชันใหม่ ภายใต้คอนเซ็ปต์ 'ซ่าได้ไม่ทำร้ายโลก’

(20 พ.ย. 66) ธิติพร ธรรมาภิมุขกุล Chief Marketing Officer บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด เปิดเผยว่า Singha Soda Collection 2023 ของโซดาสิงห์ในปีนี้ เป็นการร่วมงานกับ 'Rubber Killer' แบรนด์แฟชันของไทยที่มีจุดเด่นในการออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยนำวัสดุเหลือใช้มาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้คอนเซ็ปต์ 'ซ่าได้ไม่ทำร้ายโลก Less Waste, Recycle more' 

สอดคล้องกับแนวทางของแบรนด์โซดาสิงห์ ที่ตระหนักในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า กระบวนการผลิตต่างๆ มีการนำของเหลือใช้มาหมุนเวียน ใช้ซ้ำตามแนวทาง Circular Economy เช่น บรรจุภัณฑ์ขวดแก้วมาใช้ซ้ำ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สะท้อนถึง Brand Personality ของโซดาสิงห์ ซึ่งเป็นแบรนด์ของคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี

สำหรับ คอลเลกชัน Singha Soda Collection 2023 ร่วมกับ Rubber Killer เป็นการนำจุดแข็งของโซดาสิงห์ เรื่อง 'ความซ่า' ซึ่งมีจุดยืนในการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้บริโภคทุกกลุ่มเป้าหมาย กับการทำตลาดที่ไม่เคยหยุดนิ่ง พร้อมเชื่อในพลังความคิดสร้างสรรค์ ครีเอทสิ่งใหม่ๆ ให้กับตลาดและผู้บริโภคอยู่เสมอ ผนึกกับ Rubber Killer แบรนด์แฟชันแอ็กเซสซอรีที่มีจุดยืนเรื่องสิ่งแวดล้อมร่วมกันต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ ดีไซน์เป็นแฟชันไอเท็มเอาใจคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

‘กรมการข้าว’ เดินสายติวเข้ม ‘เกษตรกร’ หวังยกระดับการผลิตข้าวแบบลดโลกร้อน

(19 พ.ย.66) นายอานนท์ นนทรีย์ รองอธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า กรมการข้าว มีเป้าหมายนำเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ หรือ Modern Agriculture Technology จากงานวิจัยมาส่งเสริมเกษตรกร เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน รวมถึงเกิดการผลิตข้าวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สอดคล้องกับนโยบายหลักของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และแนวทางปฏิบัติของ นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว ที่เน้นให้เกิดการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ด้วยแนวทาง BCG Model 

“งานวิจัย ถือเป็นภารกิจต้นน้ำของกรมการข้าว แล้วนำมาต่อยอดในช่วงกลางน้ำ ด้วยการขยายผลนำเทคโนโลยีที่ได้มาเผยแพร่ สู่การยอมรับและนำไปใช้ของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร และปลายน้ำเป็นการนำมาปรับใช้และสร้างมูลค่าเพิ่ม ดั่งคำที่ว่าตลาดนำการผลิต และทำน้อยแต่ได้มาก ล้วนแล้วแต่เป็นการนำเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่มาใช้ทั้งสิ้น แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาเราจะมุ่งเน้นเพียงแค่เพิ่มของผลผลิตเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะหากการเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น แต่ขาดความรับผิดชอบต่อสังคมโดยการทำลายสิ่งแวดล้อมย่อมทำให้การผลิตข้าวไม่ก่อให้เกิดความยั่งยืน” นายอานนท์ กล่าว

การจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง หรือ AWD นับเป็นหนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จ ของการส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ โดยเป็นองค์ความรู้ที่กรมการข้าวได้ดำเนินการวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งส่งเสริมให้ชาวนาได้นำไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ปลูกข้าวนาชลประทาน ทั้งนี้ การจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง เป็นการจัดการน้ำที่ใช้น้ำในปริมาณที่ลดลงอย่างมาก ซึ่งจะใช้ประมาณ 850-900 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ต่อฤดูกาลเพาะปลูก

เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้น้ำแบบขังตลอดเวลาจะสามารถใช้น้ำลดลงได้มากถึงร้อยละ 30 แล้วยังเพิ่มผลผลิตข้าวได้อีกถึงร้อยละ10-15 ที่สำคัญเทคโนโลยีนี้ยังสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญอันก่อเกิดภาวะโลกร้อนลงได้ถึงร้อยละ 80 ทั้งนี้ตัวอย่างของเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ยกมาให้เห็นนี้เป็นเพียงบางส่วนของงานวิจัยที่กรมการข้าวได้ดำเนินการ และขยายผลสู่เกษตรกรให้มีการผลิตข้าวแบบลดโลกร้อน

“กรมการข้าว ได้นำผลงานวิจัยดังกล่าว มาถ่ายทอดสู่เกษตรกร ผ่านการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ‘การถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว’ ซึ่งจัดขึ้น ณ โรงแรมวิสมา โฮเทล จังหวัดราชบุรี

โดยการฝึกอบรมดังกล่าว เป็นการจัดครั้งที่ 2 กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ของกรมการข้าว และเกษตรกรชั้นนำภายใต้กลุ่มศูนย์ข้าวชุมชนในเขตภาคกลาง จำนวน 100 คน เข้าเรียนรู้เกี่ยวกับสายพันธุ์ข้าวที่มีระบบรากแข็งแรงต้านทานภัยแล้ง เทคนิคการปรับพื้นที่ให้ราบเรียบด้วยเลเซอร์ การปลูกข้าวด้วยเครื่องหยอดข้าวงอกและข้าวแห้ง การใช้โดรนฉีดพ่นทางการเกษตรให้ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ และการใช้สารอินทรีย์รมกำจัดแมลงศัตรูข้าวในโรงเก็บซึ่งปลอดภัยต่อคนและสภาพแวดล้อมอีกด้วย” นายอานนท์ กล่าว

‘นายกฯ’ ชู 3 แนวทาง แก้วิกฤติสภาพภูมิอากาศ บนเวทีเอเปค ‘ความยั่งยืน-การค้าการลงทุนที่เปิดกว้าง-ความเชื่อมโยงศก.’

(18 พ.ย.66) ที่ศูนย์ประชุมมอสโคนีเซ็นเตอร์ (Moscone Center) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคในรูปแบบ Retreat (APEC Economic Leaders’ Retreat (Session II)) หัวข้อ ‘Interconnectedness and Building Inclusive and Resilient Economies’ และร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ เอเปค ครั้งที่ 30 โดยนายกฯ กล่าวถ้อยแถลงเป็นลำดับที่ 18 ต่อจากผู้นำจีนไทเป ประธานาธิบดีเวียดนาม นาง Kristalina Georgieva กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) นำเสนอภาพรวมเศรษฐกิจโลกใน ค.ศ. 2023

นายกฯ กล่าวว่า ท่ามกลางความไม่แน่นอนของโลก ประเทศไทยยังคงมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ต่อระบบการค้าพหุภาคีและเอเปค เพื่อมุ่งสู่ประชาคมเอเชีย-แปซิฟิก ที่เปิดกว้าง ยืดหยุ่นและสงบสุข โดยได้มีการหารือและสนทนาเกี่ยวกับวิธีการต่อสู้กับปัญหาสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเห็นพ้องกับผู้นำทุกคนว่า ถึงเวลาที่ต้องลงมือให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยเสนอ 3 มุมมอง ที่เป็นประโยชน์ต่อเอเปค คือ 1.ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสานต่อพัฒนาการเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ที่ปีนี้เอเปคมีความก้าวหน้าอย่างมาก โครงการมากกว่า 280 โครงการ ตอบสนองต่อเป้าหมายฯ นี้ ขณะที่ ABAC เดินหน้าผลักดันการจัดทำ BCG Pledge การจัดการประชุม Sustainable Future Forum ครั้งแรก เพื่อกระตุ้นธุรกิจและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น 

2.เปิดการค้าและการลงทุนอย่างเติบโตและรุ่งเรือง เอเปคสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่ยึดกฎเกณฑ์ โดยมีองค์การการค้าโลก (WTO) เป็นแกนกลาง เป็นกุญแจสำคัญ รวมถึงการมีส่วนร่วมไปสู่ผลลัพธ์ที่มีความหมายในการประชุมรัฐมนตรีครั้งต่อไป (The Thirteenth Ministerial Conference (MC13))

นายกฯ กล่าวว่า ไทยผลักดันความพยายามอย่างต่อเนื่องในเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) เพื่อความก้าวหน้าในการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค และไทยจะเร่งเจรจา FTA อื่นในเชิงรุก รวมทั้งยกระดับการเจรจาที่มีอยู่เพื่อรับมือกับความท้าทายทางการค้าที่จะเกิดขึ้นใหม่ 3. เสริมสร้างความเชื่อมโยง เพื่อเศรษฐกิจและห่วงโซ่อุปทานที่มีความยืดหยุ่น โดย ไทยกำลังเดินหน้าโครงการแลนด์บริดจ์ (Landbridge) เชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย และยังรวมทั้งยังได้อนุมัติวีซ่าฟรี ส่งเสริมการท่องเที่ยว และสนับสนุนความต่อเนื่องของบัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปค (APEC Business Travel Card) ให้ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อสนับสนุน MSMEs และสตาร์ตอัปอีกด้วย ทั้งนี้ยินดีกับสหรัฐฯ ในการเป็นเจ้าภาพการประชุมที่เป็นประโยชน์ครั้งนี้ โดยไทยพร้อมร่วมประสานความร่วมมือกับเปรูเพื่อสานต่อความสำเร็จนี้ต่อไป  


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top