Friday, 10 May 2024
ในหลวงรัชกาลที่6

27 พฤศจิกายน ของทุกปี  ถือเป็น ‘วันสาธารณสุขแห่งชาติ’  สืบเนื่อง ร.6 ทรงก่อตั้ง ‘กรมสาธารณสุข’

วันนี้เมื่อ 105 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจัดตั้งกรมสาธารณสุขขึ้นแทนกรมประชาภิบาล จึงถือเอาวันนี้เป็น ‘วันสาธารณสุขแห่งชาติ’

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจัดตั้งกรมสาธารณสุขขึ้นในกระทรวงมหาดไทย แทนกรมประชาภิบาล โดยให้รวมกองบัญชาการ กองสุขศึกษา กองสาธารณสุข กองยาเสพติดให้โทษ กองโอสถศาลารัฐบาล กองบุราภิบาล เข้าด้วยกัน แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น กรมสาธารณสุข เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาชัยนาทนเรนทรเป็นอธิบดีกรมสาธารณสุข องค์แรก นับเป็นวาระแรกที่มีการใช้คำว่า 'สาธารณสุข' จึงถือว่า วันที่ 27 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็น 'วันสถาปนาการสาธารณสุข'

เดิมทีในสมัยรัชกาลที่ 5 ประเทศไทยยังคงมีกิจการ ทางด้านการแพทย์ แบ่งออกเป็นหลายฝ่าย เช่น กองบัญชาการ กองสุขศึกษา กองสาธารณสุข กองยาเสพติดให้โทษ กองโอสถศาลารัฐบาล กองบุราภิบาล ต่อมาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกระทรวงมหาดไทยมีความประสงค์ที่จะปรับปรุง กิจการของกรมพยาบาล ให้กว้างขวาง โดยการขอพระบรมราชานุญาตเปลี่ยนจากกรมประชาภิบาล มาเป็นกรมสาธารณสุข ซึ่งพระองค์ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้สามารถจัดตั้งได้ในวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 

นอกจากนี้พระองค์ยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นชัยนาทนเรนทร อธิบดีกรมมหาวิทยาลัย เป็นอธิบดีกรมสาธารณสุข อยู่ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย เรื่อยมาจนถึง พ.ศ. 2485 จึงได้มีการสถาปนากรมสาธารณสุขขึ้น เป็นกระทรวงสาธารณสุข โดยถือเอาวันที่ 10 มีนาคม เป็นวันสถาปนา 'กระทรวงสาธารณสุข'

26 มีนาคม พ.ศ. 2459 ‘ในหลวง ร.6’ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา ‘จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ มหาวิทยาลัยไทยแห่งแรกที่มีการศึกษาแบบตะวันตก ตามพระราชดำริ ‘ในหลวง ร.5’

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นับเป็นการก่อกำเนิดมหาวิทยาลัยครั้งแรกในเมืองไทยที่มีการศึกษาตามแบบตะวันตก ถือกำเนิดจากโรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้น ณ ตึกยาวข้างประตูพิมานชัยศรีในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ. 2442 และได้รับพระบรมราชานุญาตให้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนมหาดเล็ก เมื่อ 1 เมษายน พ.ศ. 2445

ทั้งนี้เพื่อผลิตบุคลากรให้รับราชการ ซึ่งมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระอนุสรณ์คำนึงถึงพระบรมราโชบายในสมเด็จพระบรมชนกาธิราชที่จะ “ให้มีมหาวิทยาลัยขึ้นสำหรับเป็นสถาบันอุดมศึกษาของชาวสยาม” พอที่จะช่วยให้กิจการปกครองท้องที่ของกระทรวงมหาดไทยดำเนินไปได้

เมื่อสมควรขยายการจัดการศึกษาเพื่อสนองความต้องการของ กระทรวง ทบวง กรมอื่น ๆ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กเป็นสถาบันอุดมศึกษา พระราชทานนามว่า ‘โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ เมื่อ 1 มกราคม พ.ศ. 2453

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์แน่ชัดในการตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นในอนาคต เห็นได้จากพระราชดำรัสที่พระราชทานในวันก่อศิลาพระฤกษ์โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ 3 มกราคม พ.ศ. 2458 ทรงดำรัสไว้ว่า

“วันนี้เรายินดีที่ได้รับเชิญให้มาวางศิลาฤกษ์สำหรับมหาวิทยาลัยนี้ เพราะเป็นกิจอันหนึ่งซึ่งเราปรารถนาอยู่นานแล้ว ที่จะยังให้เป็นผลสำเร็จตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงพระราชปรารถนามานานแล้วในเรื่องที่จะให้มีมหาวิทยาลัยขึ้น สำหรับเป็นสถานอุดมศึกษาของชาวสยาม…ตัวเราเป็นรัชทายาท จึ่งรู้สึกเป็นหน้าที่อันหนึ่งที่จะต้องทำการนั้นให้สำเร็จตามพระราชประสงค์…เรามีความยินดีที่ได้เห็นการดำเนินล่วงมาได้มากแล้ว ในบัดนี้เราได้วางศิลาฤกษ์ด้วยความหวังที่ได้เห็นแลความดีงามในอนาคตกาลแห่งมหาวิทยาลัยนี้”

ในปีต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 พร้อมกับโอนมหาวิทยาลัยแห่งนี้ไปขึ้นกับกระทรวงธรรมการในวันเดียวกัน

ต่อมาเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2460 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมมหาวิทยาลัยขึ้นอีกกรมหนึ่ง ขึ้นตรงต่อกระทรวงธรรมการ มีตำแหน่งหัวหน้าเป็นชั้นอธิบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นกับกรมนี้ โดยมี พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นชัยนาทนเรนทร ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัยเป็นพระองค์แรก และมีพระยาอนุกิจวิทูร (สันทัด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นผู้บัญชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคนแรก (ต่อมาตำแหน่งนี้เปลี่ยนไปเรียกเป็นอธิการบดี ตั้งแต่ พ.ศ. 2478 เป็นต้นมา)

27 มีนาคม พ.ศ. 2454 ‘ในหลวง ร.6’ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา ‘กรมศิลปากร’ เป็นครั้งแรก ‘ดูแลคุ้มครอง-อนุรักษ์-เผยแพร่องค์ความรู้’ ด้านมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ

ในทุกวันที่ 27 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันที่สำคัญยิ่งสำหรับบุคลากรที่ทำงานในหน่วยงานที่สังกัดกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เพราะเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกการช่างจากกระทรวงโยธาธิการและกรมพิพิธภัณฑ์จากกระทรวงธรรมการ ที่ตั้งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มารวมไว้ด้วยกันเป็นกรมใหม่ และพระราชทานนามว่า ‘กรมศิลปากร’ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2454 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร ทรงเป็นผู้บัญชาการกรมศิลปากรคนแรก

ต่อมา ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยุบกรมศิลปากร โดยรวมเข้ากับราชบัณฑิตยสภาและเรียกกรมศิลปากรว่า ‘ศิลปากรสถาน’ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2469 แต่ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 ได้มีประกาศพระราชบัญญัติตั้งกระทรวงและกรม เมื่อ พ.ศ.2476 จัดตั้งกรมศิลปากรขึ้นมาใหม่ โดยให้สังกัดกระทรวงธรรมการ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2476 ด้วยเหตุนี้ กรมศิลปากรจึงได้กำหนดเอาวันที่ประกาศจัดตั้งกรมศิลปากรขึ้นมาใหม่ เป็นวันคล้ายวันสถาปนากรมศิลปากร ในเอกสารจดหมายเหตุ ชุด กระทรวงศึกษาธิการ ศธ.0701.9.6/4 เรื่อง วันสถาปนากรมศิลปากร พ.ศ. 2496 ได้กล่าวถึงการจัดงานวันคล้ายวันสถาปนากรมศิลปากร ในวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2496 ภายในเอกสาร มีการกล่าวอวยพรข้าราชการในกรมศิลปากร โดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น มีการจัดงานทำบุญ และเชิญพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ช่วงท้ายของงานมีการจัดรายการนิยายอิงประวัติศาสตร์ประกอบดนตรีไทยออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียง เรื่อง ราเมศวร ซึ่งเอกสารชุดนี้สะท้อนให้เห็นถึงการจัดงานระลึกวันคล้ายวันสถาปนากรมศิลปากรในช่วงเวลานั้น

ใน พ.ศ. 2522 นายเดโช สวนานนท์ อธิบดีกรมศิลปากรในสมัยนั้น ได้มอบหมายให้กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับประวัติกรมศิลปากรใหม่ และในที่ประชุมกรมศิลปากร เมื่อวันอังคารที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522 จึงมีมติให้กำหนดวันคล้ายวันสถาปนากรมศิลปากร โดยยึดตามวันที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนากรมศิลปากรขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งก็คือ วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2454 นับตั้งแต่นั้น วันที่ 27 มีนาคม ของทุกปี จึงกลายเป็นวันคล้ายวันสถาปนากรมศิลปากร

เนื่องในโอกาสครบรอบ 113 ปี วันคล้ายวันสถาปนากรมศิลปากรใน พ.ศ. 2567 กรมศิลปากรในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแล คุ้มครอง อนุรักษ์ ฟื้นฟู และเผยแพร่องค์ความรู้ทางด้านมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติมาอย่างยาวนาน ด้วยคุณูปการที่หน่วยงานแห่งนี้สร้างเอาไว้ ทำให้ในวันที่ 27 มีนาคม ของทุกปี จึงเป็นวันที่ชาวกรมศิลปากรจะระลึกถึงการก่อตั้งกรมศิลปากร หน่วยงานที่เป็นเสาหลักในการธำรงไว้ซึ่งมรดกวัฒนธรรมของชาติ ให้คนรุ่นหลังได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญทางศิลปวัฒนธรรมของชาติสืบไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top