Saturday, 25 May 2024
โรงแรมปลอม

‘ตร.ไซเบอร์’ เตือนภัย!! เพจโรงแรม-ร้านอาหารปลอมระบาดหนัก หลอกเหยื่อโอนเงินค่าจองโต๊ะอาหาร เสียหายกว่า 140 ล้านบาท

(6 ก.ค. 66) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษกศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (บช.สอท.) กล่าวว่า ได้รับรายงานว่าจากการตรวจสอบในระบบศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ พบผู้เสียหายหลายรายถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้โอนเงินค่าสำรองโต๊ะอาหาร สำรองบุฟเฟต์ (Buffet) ผ่านเพจ facebook ของโรงแรม และร้านอาหารที่มีชื่อเสียงปลอม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวันสำคัญต่างๆ จะมีการหลอกลวงจัดโปรโมชันราคาพิเศษ หรือหากมาหลายท่านทานฟรี 1 ท่าน เป็นต้น

ซึ่งมิจฉาชีพยังคงใช้แผนประทุษกรรมเดิมๆ คือ สร้างเพจ facebook โรงแรม หรือร้านอาหารปลอมขึ้นมา หรือใช้เพจ facebook เดิมที่มีผู้ติดตามจำนวนมากอยู่แล้ว ตั้งชื่อหรือเปลี่ยนชื่อบัญชีเพจให้เหมือนกับเพจจริงทุกตัวอักษร หรือใกล้เคียงกัน คัดลอกภาพโปรไฟล์ ภาพหน้าปก เนื้อหา และโปรโมชันต่างๆ จากเพจจริงมาใช้เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ รวมถึงการใช้เทคนิคในการซื้อ หรือยิงโฆษณาเพื่อเข้าถึงเป้าหมายที่ค้นหาร้านอาหารให้พบเพจปลอมเป็นอันดับแรกๆ หากไม่ทันสังเกตให้ดีก็จะตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ หากผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินไปแล้ว ก็จะไม่สามารถติดต่อเพจนั้นได้แต่อย่างใด

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.66 – 31 ก.ค.66 การหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ ยังคงมีประชาชนตกเป็นเหยื่อสูงเป็นลำดับที่ 1 มีจำนวนกว่า 7,714 เรื่อง หรือคิดเป็น 49.09% ของเรื่องที่มีการรับแจ้งความออนไลน์เดือน ก.ค. 66 และมีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 140 ล้านบาท

บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้เร่งรัดขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ รวมถึงการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงขายสินค้าหรือบริการ

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันการซื้อสินค้าหรือบริการต่างๆ ผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ควรระมัดระวัง ตรวจสอบให้ดีเสียก่อน เพราะอาจจะเป็นช่องทางที่ถูกมิจฉาชีพปลอมขึ้นมาเพื่อหลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมามิจฉาชีพก็ได้ปลอมเพจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐหลอกลวงเอาข้อมูลส่วนบุคคล หน่วยงานเอกชนหลอกลวงชักชวนให้ลงทุน ที่พักหลอกลวงให้สำรองค่าที่พัก ร้านค้าหลอกลวงขายสินค้าออนไลน์ เป็นต้น

เพราะฉะนั้น เราจะต้องรู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพเหล่านี้ ไม่หลงเชื่อเพียงเพราะมีชื่อเพจ เหมือนหรือคล้ายเพจจริง หรือเพียงเพราะพบเจอผ่านการค้นหาในเว็บไซต์ทั่วไป หรือพบเจอในกลุ่มเฟซบุ๊กต่างๆ หรือถูกส่งต่อกันมาตามสื่อสังคมออนไลน์เท่านั้น

จึงขอฝากประชาสัมพันธ์ถึงวิธีการป้องกันการถูกหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว 9 ข้อ ดังนี้

1.) โรงแรม หรือร้านอาหารส่วนใหญ่ไม่มีนโยบายโอนเงินไปยังบัญชีส่วนตัว หรือบัญชีบุคคลธรรมดา บัญชีธนาคารที่รับโอนเงินควรเป็นบัญชีชื่อโรงแรม หรือร้านอาหาร หรือบัญชีบริษัทเท่านั้น

2.) ควรสำรองโต๊ะอาหารผ่านช่องทางที่เป็นทางการ หรือผ่านผู้ให้บริการออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ

3.) หากต้องการที่จะเข้าสู่เพจ facebook ใดให้พิมพ์ชื่อด้วยตนเอง และตรวจสอบให้ดีว่ามีชื่อซ้ำ หรือชื่อคล้ายกันหรือไม่

4.) เพจจริงจะต้องมีเครื่องหมายถูกสีฟ้ายืนยันตัวตน หากไม่มีเครื่องหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นเพจปลอม ต้องตรวจสอบอย่างละเอียด รวมถึงไปถึงไลน์ทางการต้องเครื่องหมายโล่สีฟ้า หรือสีเขียวเช่นเดียวกัน (Verified Account)

5.) เพจจริงจะมีส่วนร่วมในการโพสต์เนื้อหา รูปภาพ หรือกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อ

6.) เพจปลอมมักจะมีผู้ติดตามน้อยกว่าเพจจริง และมักจะเพิ่งสร้างขึ้นได้ไม่นาน

7.) ระมัดระวังการประกาศโฆษณาโปรโมชันต่างๆ

8.) ตรวจสอบความโปร่งใสของเพจว่ามีการเปลี่ยนชื่อมาก่อนหรือไม่ สร้างมาเมื่อใด ผู้จัดการเพจอยู่ในประเทศใด

9.) ขอเบอร์โทรศัพท์เพื่อติดต่อไปยังโรงแรม หรือร้านอาหารก่อนทำการโอนเงิน ว่าเพจดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ หมายเลขบัญชีถูกต้องหรือไม่ หรือมีการปลอมแปลงเพจหรือไม่

ตร. แนะนำ 3 วิธีป้องกัน ภัยร้ายไฮซีซัน เพจโรงแรมปลอม หลอกขายที่พักราคาถูก

วันนี้ (22 พฤศจิกายน 2566) พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ได้มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาจได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งในปัจจุบันมีพี่น้องประชาชนจำนวนมากที่ได้รับความเสียหายจากการหลอกลวงบนโลกออนไลน์ โดยจากสถิติการรับแจ้งความออนไลน์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 จนถึงปัจจุบัน พบว่าจำนวนคดีในรูปแบบของการหลอกขายสินค้าและบริการออนไลน์ มีจำนวนกว่า 140,000 คดี มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 2,000 ล้านบาท

ปัจจุบัน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่าในช่วงเทศกาลที่มีอัตราการท่องเที่ยวสูง หรือที่เรียกว่า ไฮซีซัน คนร้ายมักจะฉวยโอกาสนี้ในการสร้างเพจโรงแรมปลอม ลงโพสต์โฆษณาโปรโมชันที่พักราคาถูกกว่าปกติหลอกล่อให้เหยื่อสนใจ เมื่อเหยื่อหลงเชื่อติดต่อกับเพจปลอมเพื่อทำการจองที่พักและโอนเงินให้กับคนร้ายแล้ว คนร้ายก็จะทำทีเป็นส่งใบยืนยันการจองให้จนเหยื่อตายใจ ซึ่งกว่าเหยื่อจะรู้ตัวเวลาก็ผ่านไปนานพอสมควรแล้ว เพราะเหยื่อจะรู้ตัวก็ตอนที่เหยื่อเดินทางไปที่โรงแรม แล้วโรงแรมแจ้งว่าไม่ได้มีการจองที่พักจริงแต่อย่างใด

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอเตือนพี่น้องประชาชนให้ระมัดระวังในการเลือกจองที่พักผ่านเพจต่าง ๆ โดยขอให้ดำเนินการดังนี้
1. ตรวจสอบให้ดีก่อนว่าเพจดังกล่าวเป็นเพจของทางโรงแรมหรือที่พักดังกล่าวจริงหรือไม่ โดยดูจากข้อมูลความโปร่งใสของเพจ จำนวนผู้ติดตาม และหากเพจดังกล่าวมีเครื่องหมายติ๊กถูกสีน้ำเงิน (Blue Badge) ก็จะมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น
2. ควรเลือกจองที่พักผ่านแอปพลิเคชัน หรือเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือ
3. อย่ารีบตัดสินใจจองที่พักที่มีราคาถูกเกินจริง เพราะอาจเป็นวิธีการที่คนร้ายใช้ในการหลอกลวงเหยื่อ
ในส่วนของผู้ประกอบการโรงแรมและที่พักต่าง ๆ ควรมีการประชาสัมพันธ์ช่องทางในการจองที่พักให้ชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกค้าหรือผู้ที่จะเข้ามาใช้บริการต้องตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ และตรวจสอบว่ามีคนร้ายสร้างเพจหรือเว็บไซต์ปลอมโดยอ้างเป็นโรงแรมหรือที่พักของท่านหรือไม่ หากพบให้รายงาน (Report) ไปยังผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ที่พบ และแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที

สุดท้ายนี้ หากพี่น้องประชาชนได้รับความเสียหายจากการหลอกขายสินค้าและบริการออนไลน์ หรือคดีอาญากรรมทางเทคโนโลยีอื่น ๆ สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่ศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ บนเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com หรือสายด่วน 1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top