Wednesday, 15 May 2024
โรคพิษสุนัขบ้า

‘หลุยส์ ปาสเตอร์’ นักเคมีชาวฝรั่งเศส ทดสอบวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสำเร็จ

วันนี้ เมื่อ 138 ปีก่อน หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur) นักเคมีชาวฝรั่งเศส ประสบความสำเร็จในการทดสอบวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) เป็นครั้งแรก โดยใช้รักษาให้กับเด็กชาย โจเซฟ เมสเตร์ (Joseph Meister) วัย 9 ขวบ 

ในสมัยนั้น โรคพิษสุนัขบ้าแม้ว่าจะไม่ใช่โรคระบาดที่ร้ายแรงแต่ก็สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คนมาก เพราะเมื่อผู้ใดที่ถูกสุนัขบ้ากัดแล้วต้องเสียชีวิตทุกราย สัตว์ที่ป่วยด้วยโรคนี้ก็จะต้องตายโดยไม่มีวิธีรักษาหรือป้องกันได้เลย 

จากการค้นคว้าปาสเตอร์พบว่าเชื้อสุนัขบ้าอยู่ในน้ำลาย ดังนั้นเมื่อถูกน้ำลายของสุนัขที่มีเชื้อโรคอยู่ไม่ว่าจะถูกเลียหรือถูกกัด เชื้อโรคในน้ำลายก็จะซึมเข้าไปทางแผลสู่ร่างกายได้ 

ปาสเตอร์ได้นำเชื้อมาเพาะวัคซีน แล้วนำไปทดลองกับสัตว์ ปรากฏว่าได้ผลเป็นอย่างดี แต่เขาก็ยังไม่กล้านำมาทดลองกับคน จนกระทั่งวันหนึ่งเด็กชายเมสเตร์ถูกสุนัขบ้ากัด ไหน ๆ ก็จะต้องตายอยู่แล้ว พ่อแม่จึงได้นำบุตรชายมาให้ปาสเตอร์ทดลองรักษา ปรากฏว่าเด็กน้อยไม่ป่วยเป็นโรคสุนัขบ้า การค้นพบครั้งนี้ทำให้เขามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากขึ้น 

จากนั้นในปี พ.ศ. 2431 ปาสเตอร์ได้ก่อตั้ง "สถาบันปาสเตอร์” (Pasteur Institute) ขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และได้ขยายสถาบันปาสเตอร์ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในประเทศไทยใช้ชื่อว่า “สถานเสาวภา” ก่อตั้งในปี 2455 โดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ปัจจุบันเป็นหน่วยงานในสังกัดสภากาชาดไทย

"คุณากร"  Kick Off กทม.ฉีดวัคซีน "โรคพิษสุนัขบ้า"  นำร่องเทคโนโลยี App เก็บข้อมูลสัตว์ 

วันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2567 เวลา 09.00 น. กรมปศุสัตว์จัดกิจกรรม Kick Off โครงการเร่งรัดกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2567 ภายใต้โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เพื่อประชาสัมพันธ์เรื่องโรคพิษสุนัขบ้าและส่งเสริมให้ประชาชนเลี้ยงสุนัขและแมวอย่างถูกวิธี

โดยมีนายคุณากร ปรีชาชนะชัย เลขารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธี นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ,นายบุญญกฤช ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ผู้บริหาร , นางชญาดา วิภัติภูมิประเทศ รองประธานสภากรุงเทพมหานครคนที่หนึ่ง,สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตคันนายาว, หัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมฯ ณ วัดคลองครุ (ปัฐวิกรณ์) เขตคันนายาว กรุงเทพมหานคร

นายคุณากร เลขารัฐมนตรีช่วยฯ กล่าวว่า โครงการนี้ ถือเป็นหัวใจสำคัญของการเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่มีประชากรสุนัขและแมวหลายชีวิต  มีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดโรคพิษสุนัขบ้าได้ง่าย จากสถิติเมื่อปี 2566 พบโรคพิษสุนัขบ้า ประมาณ 15 ตัวในเขตหนองจอก และลาดกระบัง จึงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ นอกจากนั้นจะขยายโครงการรณรงค์การฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าให้ครอบคลุมในพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งนายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เน้นย้ำเรื่อง ”สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย“ ในพื้นที่ที่มีโรคพิษสุนัขบ้าทุกปี เช่น ปทุมธานี อุบลราชธานี สงขลา และชลบุรี เป็นต้น โดยสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมจัดทำแผนยุทธศาสตร์การดำเนินโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  อีกทั้งตอนนี้ กำลังพัฒนาสร้างแอปพลิเคชัน LINE เตรียมจัดเก็บข้อมูลประชากรสุนัขและแมวทั้งประเทศ เพื่อความสะดวกในการทำงาน ขณะลงพื้นที่ภาคสนามลดความซ้ำซ้อน และทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเทศบาลเมืองบางศรีเมือง จังหวัดนนทบุรี ได้ทดลองใช้งานแล้ว หลังจากนี้จะขยายไปทั่วประเทศ

นายบุญญกฤช ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมปศุสัตว์ได้กำหนดให้แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดดำเนินการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานครในรูปแบบของการบูรณาการ การดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ ร่วมกับกองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ ปศุสัตว์พื้นที่กรุงเทพมหานคร สำนักงานปศุสัตว์เขต 1 และหน่วยงานต่างๆ ในกรมปศุสัตว์ ได้ร่วมกันจัดทำโครงการเร่งรัดกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และได้รับความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน เครือข่ายสถานพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัย เครือข่ายวิชาชีพการสัตวแพทย์ องค์กรอิสระ ประชาชน และเจ้าของสัตว์เลี้ยง การจัดโครงการในครั้งนี้ เป็นการจัดกิจกรรมออกหน่วยปศุสัตว์เคลื่อนที่ในกรุงเทพมหานคร ดำเนินการตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567 ถึงเดือนกันยายน 2567  พื้นที่เป้าหมาย 14 เขตปศุสัตว์ในกรุงเทพมหานคร มีเป้าหมายรวมผ่าตัดทำหมันสุนัขและแมว 5,000 ตัว และฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าไม่น้อยกว่า 10,000 ตัว ทั้งนี้ ประชาชนและเจ้าของสัตว์เลี้ยงในกรุงเทพมหานคร สามารถพาสัตว์เลี้ยง ไปรับบริการได้ที่จุดให้บริการ โดยสามารถตรวจสอบจุดให้บริการได้จากเว็บไซต์ของกรมปศุสัตว์


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top