Monday, 6 May 2024
โซลาร์รูฟท็อป

‘WHAUP’ ดีล ‘ปริ๊งซ์ เฉิงซาน ไทร์’ เซ็นติดตั้ง ‘โซลาร์รูฟท็อป’ เฟส 2 เร่งเพิ่มกำลังผลิต ตอกย้ำศักยภาพการเป็นผู้นำโซลาร์บนหลังคา

(29 พ.ค. 66) บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ ‘WHAUP’ เซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ติดตั้งบนหลังคาโรงงาน ปริ๊งซ์ เฉิงซาน ไทร์ (ประเทศไทย) เฟสที่ 2 ขนาดกำลังผลิตไฟฟ้า 4.80 เมกะวัตต์ รวมเป็น 24.24 เมกะวัตต์ ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเออีสเทิร์นซีบอร์ด 3 บนพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ด้าน นายสมเกียรติ เมสันธสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานโซลาร์ในโครงการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) เฟสที่ 2 ที่มีขนาดการผลิตไฟฟ้า 4.80 เมกะวัตต์ ต่อกับ ปริ๊นซ์ เฉิงซาน ไทร์ (ประเทศไทย) ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2567 โดยเฟสที่ 2 มีการติดตั้ง Solar Rooftop บนพื้นที่หลังคาโรงงานขนาด 40,000 ตารางเมตร ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่ลูกค้ามีต่อ WHAUP นับตั้งแต่ที่ได้ย้ายฐานการผลิตมาตั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเออีสเทิร์นซีบอร์ด 3 บนพื้นที่ 285 ไร่ เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา และยังเป็นพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 

ทั้งนี้ ความสำเร็จดังกล่าวเป็นการตอกย้ำการเป็นผู้ดำเนินการโครงการโซลาร์บนหลังคาขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยด้วยกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 24.24 เมกะวัตต์ และเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพการให้บริการติดตั้ง Solar rooftop แบบครบวงจรของ WHAUP โดยโครงการทั้ง 2 เฟสนี้สามารถช่วยให้ลูกค้าลดการปล่อย CO2Offset ออกสู่ชั้นบรรยากาศได้ถึง 445,251 ตัน ตลอดอายุการใช้งาน 25 ปี

‘รัฐ’ เร่งปลดล็อก ‘โซลาร์รูฟท็อป’ ไม่ต้องขอใบอนุญาตโรงงาน ตอบรับความต้องการใช้พลังงานสะอาด แทนพลังงานฟอสซิล

(15 ม.ค. 67) นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการประสานข้อมูลกับภาคเอกชน อาทิ ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคศูนย์การค้า ภาคโรงแรม และภาคบริการ พบว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากราคาพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น 

ขณะที่ต้นทุนการติดตั้งโซล่าเซลล์มีราคาที่ถูกลง ทำให้ปัจจุบันมีผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจที่ประสงค์จะติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา หรือโซลาร์รูฟท๊อป (Solar Rooftop) เป็นจำนวนมาก เช่น อาคารโรงงาน ศูนย์การค้า โรงแรม มหาวิทยาลัย เป็นต้น 

ซึ่งตามกฎหมายโรงงานเดิมกำหนดว่าการติดตั้ง Solar Rooftop ที่มีกำลังผลิตเกินกว่า 1,000 กิโลวัตต์ หรือ 1 เมกะวัตต์ เข้าข่ายเป็นโรงงานต้องขอรับใบอนุญาต

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีการผลิตโซล่าเซลล์มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ในปริมาณมากโดยใช้จำนวนแผงเซลล์แสงอาทิตย์หรือพื้นที่ติดตั้งลดลงกว่าเดิมถึง 2.7 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2557 อีกทั้งยังมีมาตรฐานควบคุมด้านความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

"การปลดล็อคดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะช่วยลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจจากการติดตั้ง Solar Rooftop ได้ง่ายขึ้น ยังสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 500 tCO2/เมกะวัตต์/ปี เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 62,500 ต้น นับเป็นการผลักดันให้ผู้ประกอบการเกิดการขับเคลื่อนทางธุรกิจอย่างสมดุลและยั่งยืนใน 4 มิติ ทั้งด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจต่าง ๆ ส่งเสริมการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) การได้รับการยอมรับจากสังคม ความลงตัวกับกติกาสากล ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมสู่อุตสาหกรรมสีเขียวเพื่อโอกาสทางธุรกิจตอบโจทย์ไทยและประชาคมโลก และการกระจายรายได้สู่ชุมชนจากการขยายตัวของธุรกิจติดตั้งโซล่าเซลล์"

นอกจากนี้ การส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดดังกล่าว จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสนับสนุนสำคัญในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี พ.ศ. 2608 ของประเทศไทยต่อไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top