Thursday, 2 May 2024
แอบอ้าง

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ สั่งจับกุมหนุ่มใหญ่ชาวฝรั่งเศสมีพฤติกรรมแอบอ้าง 'บิ๊กโจ๊ก' เรียกเงินค่าคุ้มครองจากกลุ่มชาวต่างชาติในพื้นที่พัทยา

จากกรณีที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ได้รับการร้องเรียนจากกลุ่มชาวต่างชาติซึ่งพักอาศัยอยู่ภายในพื้นที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ว่ามีชายชาวฝรั่งเศสมีพฤติกรรมแสดงตนเป็นผู้มีอิทธิพล โดยแอบอ้างนายตำรวจในพื้นที่พัทยาและพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึง พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) โดยมีการนำภาพถ่ายของตนเองซึ่งถ่ายภาพคู่กับนายตำรวจรายต่างๆ ขณะที่ตนเองเป็นอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ (Volunteer) ไปใช้ในการแอบอ้างต่อกลุ่มชาวต่างชาติเพื่อเรียกรับเงินค่าคุ้มครองให้สามารถพักอาศัยอยู่ในพื้นที่พัทยา จังหวัดชลบุรี ได้นั้น

จากกรณีดังกล่าว พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ชุดสืบสวนดำเนินการตรวจสอบในกรณีดังกล่าว เนื่องจากเป็นการกระทำความผิดที่ส่งผลกระทบการการท่องเที่ยวและภาพลักษณ์ของประเทศไทย หากพบการกระทำความผิดจริงให้ดำเนินการตามกฏหมายจนถึงที่สุด

จากการสืบสวนของชุดสืบสวนทราบว่า บุคคลดังกล่าวคือ นายเฮอวี่ คริสเตียน โรเบิร์ต ลีโอนาร์ด หรือ Mr.Herve Christian Robert Leonard อายุ 58 ปี สัญชาติฝรั่งเศส มีประวัติเคยถูกจับกุมในคดีเกี่ยวกับ ฉ้อโกงและกรรโชกทรัพย์ ในพื้นที่จังหวัดชลบุรีมาแล้วหลายคดี โดยครบกำหนดการอนุญาตพักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2563 แต่ยังไม่พบข้อมูลว่าเดินทางออกจากประเทศไทย เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนจึงตรวจสอบเพื่อแกะรอยหาของตัวของบุคคลดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนใช้เวลาในการเฝ้าติดตามตัวนายเฮอวี่ฯ กว่า 4 เดือน จนทราบว่า หลังจากที่ นายเฮอวี่ฯ ถูกจับกุมในข้อหาฉ้อโกงและกรรโชกทรัพย์ก่อนหน้านั้น ได้รับการประกันตัวออกมาระหว่างพิจารณาคดีของศาล แต่เมื่อถึงกำหนดนัดพิจารณาคดีกลับหลบหนี โดยนายเฮอวี่ฯ มีพฤติกรรมในการย้ายที่พักอาศัยบ่อยครั้ง ในวงรอบทุกๆ 2 – 3 สัปดาห์ เพื่อหลบหนีการติดตามของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในพื้นที่พัทยา หัวหิน และ กรุงเทพมหานคร และแสดงตนเป็นบุคคลอื่น โดยจะแจ้งกับสถานที่พักต่างๆ ว่าเอกสารหนังสือเดินทางของตนสูญหาย สุดท้ายเจ้าหน้าที่สืบทราบว่า นายเฮอวี่ฯ ได้หลบหนีมาพักอาศัยที่คอนโดมิเนียมย่านลาดพร้าว ถนนพหลโยธิน แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนจึงได้เข้าตรวจสอบคอนโดมิเนียมดังกล่าวจนพบ นายเฮอวี่ฯ พักอาศัยอยู่จริง ซึ่งรวมระยะเวลาในการเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด ( 868 วัน ) และเพิ่งย้ายเข้ามาพักอาศัยที่คอนโดมิเนียมดังกล่าวเพียง 2 สัปดาห์ จึงได้จับกุมตัวนำส่งพนักงานสอบสวนสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

จากการตรวจสอบยังพบอีกว่า นายเฮอวี่ฯ ถูกแจ้งความร้องทุกข์ในข้อหาฉ้อโกงและกรรโชกทรัพย์ ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี จากผู้เสียหายอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก และ ถูกออกหมายจับในคดีดังกล่าวจำนวนหลายหมายจับ ได้แก่ 

‘เสือร้องไห้’ แถลง!! ถูกมิจฉาชีพอ้างชื่อรับงาน ฉกเครดิตบริษัท ‘แอบอ้าง-หลอกโอนเงินผ่านไลน์’

(25 มี.ค.66) ทางเพจ ‘เสือร้องไห้’ ได้โพสต์ข้อความ ประกาศระบุว่า...

ประกาศ เรื่องการแอบอ้างชื่อเพจในเครือบริษัท

ขณะนี้ ได้มีมิจฉาชีพนำข้อมูลบริษัทไปใช้แอบอ้างในการรับงานของเพจ ‘เสือร้องไห้’ และ ‘พี่เอ็ด7วิ’ (เพจในเครือบริษัท) โดยแอบอ้างว่าเป็นตัวแทนของบริษัทในการติดต่อกับลูกค้า มีการหลอกลวงผ่านทางโทรศัพท์และผ่านทางแอปพลิเคชัน LINE

ทางบริษัท เอส แอล เอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ขอชี้แจงว่า บริษัทฯ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าวแต่อย่างใด หากท่านได้รับการติดต่อจากบุคคลที่ท่านสงสัยว่าเป็นมิจฉาชีพ หรือพบเห็นการกระทำในลักษณะดังกล่าวข้างต้น ท่านสามารถติดต่อสอบถามได้โดยตรงที่ E-mail : [email protected] หรือเบอร์โทร 06-3849-9991

ที่มา: https://www.facebook.com/223080274411883/posts/pfbid024jghCCv81a3x3mp9HghuiqwY8rNfwYZPKWoNwgYMK8dGNVWSynP2fcb8HTf6zjx5l/?mibextid=cr9u03

ตำรวจไซเบอร์ เตือนภัย SMS แอบอ้างการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าดูแลปัญหาภัยแล้ง

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. ขอประชาสัมพันธ์เตือนภัยมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ส่งข้อความสั้น (SMS) พร้อมโทรศัพท์ไปยังประชาชนแจ้งว่าจะคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า แล้วหลอกลวงให้แอดไลน์ติดตั้งแอปพลิเคชันควบคุมโทรศัพท์มือถือโอนเงินออกจากบัญชี ดังนี้

ได้รับรายงานจากกองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ตอท.) ว่า พบผู้เสียหายหลายรายได้รับข้อความสั้น (SMS) จากมิจฉาชีพซึ่งแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) แจ้งว่า ผู้เสียหายมีสิทธิได้รับเงินประกันการใช้ไฟฟ้าคืน เพื่อช่วยเหลือประชาชนตามมาตรการเร่งด่วน เมื่อผู้เสียหายกดลิงก์ที่แนบมากับข้อความดังกล่าว จะเป็นการเพิ่มเพื่อนทางแอปพลิเคชันไลน์ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่มิจฉาชีพปลอมขึ้นมา จากนั้นมิจฉาชีพจะสอบถามรายละเอียดต่างๆ เริ่มจากสอบถามว่าได้รับการแจ้งเตือนมาจากช่องทางใด แจ้งผู้เสียหายว่าจะได้รับเงินประกันคืนในอัตราตั้งแต่ 2,000 - 6,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของมิเตอร์ที่ใช้ สอบถามว่าโทรศัพท์ที่ใช้งานใช้ระบบปฏิบัติการ Android หรือ IOS พร้อมทั้งขอหมายเลขโทรศัพท์เพื่อติดต่อกลับ เมื่อตอบคำถามเสร็จสิ้น จะมีหมายเลขโทรศัพท์ที่ไม่คุ้นเคยโทรมายังผู้เสียหาย 

อ้างเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แล้วทำการส่งลิงก์ทางไลน์ให้ติดตั้งแอปพลิเคชันของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคปลอม อ้างว่าเป็นแอปพลิเคชันเวอร์ชันใหม่ล่าสุด สามารถตรวจสอบปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ได้ในแต่ละวัน โดยมีการขอสิทธิ์ติดตั้งแอปพลิเคชันที่ไม่รู้จัก (ไฟล์อาจเป็นอันตราย หรือไฟล์นามสกุล .apk) มีการหลอกให้ตั้งรหัสผ่าน 6 หลัก จำนวนหลายๆ ครั้ง เพื่อหวังให้ผู้เสียหายกรอกรหัสชุดเดียวกับรหัสเข้าถึง หรือทำธุรกรรมการเงินของแอปพลิเคชันธนาคารต่างๆ ในโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหาย รวมไปถึงขอสิทธิ์ในการควบคุมอุปกรณ์ หรือโทรศัพท์มือถือของเหยื่อ เช่น ดูและควบคุมหน้าจอ ดูและดำเนินการ เป็นต้น โดยในขั้นตอนนี้มิจฉาชีพจะแสร้งหวังดีสอนผู้เสียหายว่าทำอย่างไร โดยการโทรศัพท์มาแจ้งวิธีการด้วยตนเอง กระทั่งเมื่อมิจฉาชีพได้สิทธิ์ควบคุมอุปกรณ์หรือโทรศัพท์มือถือแล้ว จะทำการล็อกหน้าจอโทรศัพท์ ทำให้เสมือนโทรศัพท์ค้าง ซึ่งมักจะแสดงข้อความว่า อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบ ห้ามใช้งานโทรศัพท์มือถือ ทำให้มิจฉาชีพสามารถนำรหัสที่ผู้เสียหายเคยกรอกเอาไว้ก่อนหน้านี้ทำการโอนเงินออกจากบัญชีของผู้เสียหาย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแอบอ้างเป็นหน่วยงานต่างๆ หลอกลวงให้ประชาชนติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมเอาทรัพย์สินของประชาชน สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ซึ่งรับผิดชอบงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ได้กำชับสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเร่งดำเนินการปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง รวมถึงวางมาตรการป้องกันสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชน

ที่ผ่านมา บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบมาโดยตลอด มุ่งเน้นการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

โฆษก บช.สอท. กล่าวอีกว่า การหลอกลวงในรูปแบบดังกล่าวยังคงเป็นการหลอกลวงในรูปแบบเดิมๆ เพียงแต่มิจฉาชีพจะเปลี่ยนชื่อหน่วยงาน และเปลี่ยนเนื้อหาไปตามวันเวลา และสถานการณ์ในช่วงนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งว่าได้รับสิทธิ หรือได้รับเงินคืน ให้อัปเดตข้อมูล โดยในขั้นตอนสุดท้ายจะหลอกลวงให้เหยื่อกดลิงก์ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมของหน่วยงานที่แอบอ้าง ที่ผ่านมาก็ปรากฏในหลาย ๆ หน่วยงาน มิจฉาชีพจะอาศัยความไม่รู้ และความโลภ ของประชาชนเป็นเครื่องมือ ใช้ความสมัครใจของเหยื่อให้ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอม มีการใช้สัญลักษณ์ของหน่วยงาน เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันหลายหน่วยงานได้ประกาศยกเลิกการส่งข้อความสั้น (SMS) หรือส่งอีเมลไปยังประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการเงิน หรือธนาคารต่างๆ ทั้งนี้ฝากย้ำเตือนไปยังประชาชน ไม่ว่ามิจฉาชีพจะมาในรูปแบบใดๆ ก็ตาม ให้ระมัดระวังและมีสติอยู่เสมอ โดยหากพบเห็นข้อความสั้น (SMS) หรือลิงก์ ในลักษณะดังกล่าวให้แจ้งเตือนไปยังบุคคลใกล้ชิด และหน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานนั้น ๆ ให้ช่วยตรวจสอบทันที เพื่อลดการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

​ทั้งนี้ ขอฝากประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงแนวทางการป้องกัน ดังนี้
​1. ไม่กดลิงก์ที่เเนบมากับข้อความสั้น (SMS) หรือที่ส่งมาทางสื่อสังคมออนไลน์ ไม่กดลิงก์ติดตั้งแอปพลิเคชันต่างๆ เพราะอาจเป็นการดักรับข้อมูล หรือการฝังมัลแวร์ของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มาพร้อมกับข้อความในลักษณะการให้สิทธิพิเศษ ให้รางวัล หรือโปรโมชันต่างๆ
2. หากได้รับโทรศัพท์จากหมายเลขที่ไม่คุ้นเคย และมีการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ให้ขอชื่อนามสกุล และหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อกลับของเจ้าหน้าที่ โดยให้แจ้งว่าจะติดต่อกลับไปภายหลัง
3. ตรวจก่อนว่ามาจากหน่วยงานนั้น ๆ จริงหรือไม่ โดยการโทรศัพท์ไปสอบถามผ่านหมายเลขคอลเซ็นเตอร์ หรือผ่านเว็บไซต์ทางการของหน่วยงานนั้น โดยตรง รวมถึงตรวจสอบว่ามีการประกาศแจ้งเตือนการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าวหรือไม่

ตำรวจไซเบอร์เตือนภัย SMS ระบาดแอบอ้าง Kerry Express ส่งหม้อชาบูมาให้ที่บ้านจริงเพื่อให้เหยื่อตายใจ แนะนำอย่าหลงเชื่อหลอกทำภารกิจสูญเงิน

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. ขอฝากเตือนภัยมิจฉาชีพ มิจฉาชีพส่งข้อความสั้น (SMS) แอบอ้างบริษัท Kerry Express ส่งของขวัญมาให้ จากนั้นหลอกให้ทำภารกิจ หรือกิจกรรมต่างๆ สุดท้ายสูญเสียทรัพย์สิน ดังนี้

ได้รับรายงานว่าจากการตรวจสอบในระบบการรับแจ้งความออนไลน์พบว่า มีผู้เสียหายหลายรายได้รับข้อความสั้น (SMS) จากมิจฉาชีพที่แอบอ้างเป็นบริษัท Kerry Express แจ้งว่า “คุณมีประวัติใช้งาน 5 ครั้ง บริษัทจึงขอมอบของขวัญหูเป็นฟังบลูทูธเพื่อเป็นการขอบคุณ” พร้อมแนบลิงก์ให้เพิ่มเพื่อนทางไลน์ ซึ่งบัญชีไลน์ดังกล่าวได้อ้างตัวเป็นแอดมินจาก บริษัท TAIYANG MEDIA (ไท่หยาง มีเดีย) แจ้งผู้เสียหายว่าขณะนี้หูฟังบลูทูธหมด แต่จะส่งหม้อชาบูขนาดเล็กมาให้แทน โดยไม่มีการเรียกเก็บเงินปลายทาง และไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เมื่อผู้เสียหายส่งชื่อที่อยู่ให้จากนั้นอีกไม่กี่วันผู้เสียหายก็ได้รับหม้อชาบูดังกล่าวจริง ต่อมาแอดมินให้แอดไลน์กับฝ่ายบริการลูกค้าเพื่อรับเงินโบนัส 38 บาท และรับของขวัญเป็นโทรทัศน์ดิจิทัล ขนาด 32 นิ้ว เมื่อผู้เสียหายแอดไลน์ไปแอดมินได้ขอชื่อและที่อยู่ รวมถึงขอหมายเลขบัญชีธนาคารเพื่อโอนเงินโบนัสมาให้ ปรากฏว่าผู้เสียหายได้รับเงินโบนัสเล็กน้อยจริง จากนั้นผู้เสียหายถูกหลอกลวงให้เข้ากลุ่ม Open Chat Line เพื่อทำภารกิจ หรือกิจกรรมต่อไป โดยการให้ไปกดติดตามบัญชีผู้ใช้ตามสั่งในแอปพลิเคชัน Tiktok การกดติดตาม 1 ครั้ง จะได้เงิน 20 – 50 บาท ผ่านการลงทะเบียนในเว็บไซต์ปลอมชื่อ ASIA MEDIA ที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นมา ซึ่งผู้เสียหายก็ได้รับเงินจริงมาประมาณ 300 บาท ทำให้ผู้เสียหายยิ่งหลงเชื่อ ต่อมาแอดมินได้ให้แอดไลน์ไปยังบุคคลอ้างตัวว่าเป็นอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในการทำกิจกรรม กระทั่งได้ส่งใบรายการเพื่อส่งเสริมการโปรโมทเพื่อการตลาด ในระดับต่างๆ จำนวน 6 ระดับ เช่น 888 บาท จะได้เงินรวมกำไร 1,110 บาท 12,188 จะได้เงินรวมกำไร 16,453 บาท เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินไปแต่กลับไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ ถูกอ้างว่าทำกิจกรรมไม่ครบตามจำนวน หรือทำผิดกติกาต่างๆ เป็นต้น ผู้เสียหายเชื่อว่าถูกหลอกลวงและได้รับความเสียหาย จึงแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับมิจฉาชีพตามกฎหมายต่อไป

ตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร., พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ซึ่งรับผิดชอบงานในด้านการป้องกันปราบปราม ได้ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงประชาชนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์  โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงประชาชนให้ทำภารกิจ หรือทำงานออนไลน์เพื่อหารายได้เสริม โดยได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง เพราะถือเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน

ที่ผ่านมา บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบมาโดยตลอด มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

โฆษก บช.สอท. กล่าวอีกว่า การหลอกลวงในลักษณะดังกล่าวมีประชาชนได้รับเดือดร้อนสูงเป็นลำดับที่ 2 ของการหลอกลวงทั้งหมด รองจากการหลอกลวงขายสินค้าหรือบริการ โดยนับตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.65 – 14 พ.ค.66 มีผู้เสียหายแจ้งความออนไลน์ จำนวน 35,377 เรื่อง หรือคิดเป็น 13.69% มีความเสียหายรวมกว่า 4,281 ล้านบาท สูงเป็นลำดับที่ 2 รองจากการหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้แล้วการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าวแล้ว ยังพบว่ามีหลอกลวงในลักษณะอื่นๆ ที่คล้ายกันอีก เช่น การหลอกลวงให้กดไลก์ (Like) กดแชร์ (Share) ดูคลิปวิดีโอจากยูทูบ (YouTube) กดรับออร์เดอร์สินค้า รีวิวสินค้า พับถุงกระดาษ ร้อยลูกปัด หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ตามแต่ที่มิจฉาชีพออกอุบาย โดยการประกาศเชิญชวนโฆษณาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หรือการส่งความสั้น (SMS) ไปยังเหยื่อโดยตรง ให้กดลิงก์เพิ่มเพื่อน แล้วเข้ากลุ่มทำงานที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นมา โดยในช่วงแรกจะได้เงินคืนมาเล็กน้อย แต่หลังจากนั้นมิจฉาชีพก็จะให้ทำภารกิจพิเศษ หลอกให้เหยื่อโอนเงินเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามระดับภารกิจ ทั้งนี้เหยื่อมักเสียดายเงินที่เคยโอนไปก่อนหน้านี้ อยากได้เงินทั้งหมดคืน ก็หลงเชื่อโอนเงินไปเพิ่มอีกหลายครั้ง มิจฉาชีพก็จะมีข้ออ้างต่างๆ รวมไปถึงการสร้างความน่าเชื่อถือโดยให้หน้าม้าในกลุ่มไลน์แสดงหลักฐานปลอมว่าได้รับเงินจริง กระทั่งเมื่อเหยื่อรู้ตัวว่าถูกหลอกลวงก็จะปิดการติดต่อหลบหนีไป เพราะฉะนั้นการทำกิจกรรม หรือธุรกรรมใดๆ บนโลกออนไลน์ต้องรู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพและมีสติอยู่เสมอ

ฝากเตือนถึงแนวทางการป้องกันการถูกหลอกลวงหารายได้จากการทำกิจกรรมผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ดังนี้
1.เมื่อพบคำเชิญชวนให้ทำงานออนไลน์ ผ่านทางข้อความสั้น (SMS) หรือประกาศ โฆษณาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook, Instagram, Tiktok อย่าเข้าไปติดต่อสมัครทำงานเป็นอันขาด มักจะมีการแอบอ้างสัญลักษณ์ของหน่วยงาน หรือบริษัทที่เกี่ยวข้องมาเพิ่มความน่าเชื่อถือ
2.หลีกเลี่ยงข้อเสนอที่ฟังดูดี หรือมีผลตอบแทนสูง ทำง่าย มีขั้นตอนไม่ซับซ้อน
3.หากต้องการจะทำงานจริงๆ ให้ปรึกษาสายด่วนของตำรวจไซเบอร์ ที่หมายเลข 1441 หรือ 08-1866-3000 เพื่อปรึกษา สอบถามว่างานดังกล่าวเข้าข่ายหลอกลวงเป็นมิจฉาชีพหรือไม่
4.หากมีการให้โอนเงินมัดจำ หรือเงินลงทุน หรือสำรองเงินใดๆ ก่อน สันนิษฐานได้ทันทีว่ากำลังโดนมิจฉาชีพหลอกลวง อย่าโอนเงินไปเด็ดขาด
5.ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงินใดๆ มิจฉาชีพมักให้เหยื่อส่งหลักฐาน ข้อมูลส่วนบุคคล อ้างว่าใช้ในการสมัครงาน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
​6.ไม่หลงเชื่อเพียงเพราะว่ามีการส่งสิ่งของ หรือให้เงินให้ในจำนวนเล็กน้อยก่อนจริง
​7.ระมัดระวังการโอนผ่านบัญชีของบุคคลธรรมดา โดยควรตรวจสอบหมายเลขบัญชีธนาคาร หรือชื่อนามสกุลเจ้าของบัญชี ก่อนโอนเงินทุกครั้งว่ามีประวัติไม่ดีหรือไม่ ผ่าน https://www.blacklistseller.com หรือ https://www.chaladohn.com เป็นต้น


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top