Tuesday, 30 April 2024
แลกหมัด

แลกหมัด!! ศึกอภิปรายซักฟอกรัฐบาล 19 กรกฎาคม 2565

>> นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง หรือหมอเก่ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล 
อนุทิน จงใจสร้างสุญญากาศทางกฎหมายในการควบคุมกัญชา จนทำให้เกิดความเสียหายต่อสุขภาพของประชาชน เสี่ยงมีปัญหาทางการทูต การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ และที่อ้างว่า การปลดล็อกกัญชานั้นเป็นการปลดล็อกกัญชาเพื่อการแพทย์ แต่ที่ผ่านมา อนุทินได้โฆษณาชวนเชื่อกับประชาชนว่าทุกคนจะปลูกกัญชาได้จนร่ำรวย สามารถนำกัญชาไปผสมอาหารหรือเสพได้ ซึ่งเหล่านี้ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของกัญชาทางการแพทย์เลย 

>> อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 
ข้อกังวลที่เกิดขึ้นกับนโยบายกัญชาทางการแพทย์นั้น อยู่ในจุดที่ควบคุมได้ จึงไม่จำเป็นต้องรีรอ และทุกอย่างมันเป็นไปตามกระบวนการ สมควรแก่เหตุแล้ว ทุกคนเห็นด้วยที่จะให้กฎหมายออกมาโดยเร็ว แต่การเอาคลิปมาโจมตี ที่พูดเรื่องอนุญาตให้ใช้ในบ้านนั้น เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกลก็เขียนเหมือนกัน ทั้งนี้ เรื่องคลิป ต้องการให้ดูกันทั้งคลิป อย่าเพิ่งตัดสินจากเนื้อหาเพียงบางส่วน

แลกหมัด!! ชนก VS ชัยวุฒิ ศึกอภิปรายซักฟอกรัฐบาล

>> ชนก จันทาทอง ส.ส.พรรคเพื่อไทย จังหวัดหนองคาย
ดิฉันขออภิปรายซักฟอก นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กรณีขาดคุณสมบัติตามประมวลจริยธรรมอย่างร้ายแรง ไม่มีคุณสมบัติในการเป็นรัฐมนตรี ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นแบบอย่างที่ดี ตั้งแต่ได้เข้ามาอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรี ก็ทำตัวเชิดหน้าชูตาหญิงอื่น ทำร้ายจิตใจภรรยา แสนสาหัส ล่าสุดก็ได้มีการหย่าร้างกับภรรยา

>> นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)
การอภิปรายด้วยเรื่องต่ำๆ คนพูดก็ต่ำจะไปด้วย และอาจมีคดีหมิ่นประมาทแถมติดตัวไป การไปฟังใครมโน ไร้ข้อเท็จจริง แล้วหยิบมาพูด แสดงให้เห็นว่าผู้ให้ข้อมูลมีเจตนากับท่านเท่าไรนัก ส่วนเรื่องการดึงคนใกล้ตัวมาทำงาน ต้องเรียนว่า คนที่มาช่วย ไม่มีตำแหน่ง ไม่ได้เงิน มาด้วยใจ ส่วนคนไหนเก่งและอยากสมัครในองค์กรต่างๆ เองก็ไม่ได้ผิดรัฐธรรมนูญใดๆ จนกว่าเขาจะทุจริต ท่านก็ไปฟ้อง ปปช.ซะ

แลกกันคนละหมัด 'ประชาธิปัตย์' vs 'ภูมิใจไทย' เลือกตั้งครั้งใหม่ ความเกรงใจคงไม่ต้องมีให้กัน

น่าสนใจยิ่งกับการช่วงชิงฐานทางการเมืองในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคภูมิใจไทย ถึงขั้น 'อนุทิน ชาญวีรกูล' หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ลั่นวาจาออกมาแล้วว่า “เลือกตั้งครั้งหน้าจะได้ไม่ต้องเกรงใจกัน”

ที่กล่าวมาต้องการสื่อให้เห็นว่า เกมแย่งชิงพื้นที่ภาคใต้ถูกลากเข้ามาเล่นกันในสภาแล้ว 'ประชาธิปัตย์ จับมือกับ 'เพื่อไทย' ให้ถอน พ.ร.บ.กัญชา - กัญชง ออกไปปรับปรุงก่อน เพื่อให้ครอบคลุมการควบคุมดูแลเด็กและเยาวชนในการเข้าถึงกัญชา กัญชง รวมถึงต้องการให้กัญชา กัญชง เป็นยาเพื่อการแพทย์อย่างแท้จริง โดยมี สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ นำทีม 

แน่นอนว่า โดยธรรมชาติของกฎหมายจากฟากรัฐบาลนั้น ยังไงทางฝ่ายค้าน โดยเฉพาะอย่างพรรคเพื่อไทย เขาก็ต้องออกมาคัดค้านอยู่แล้ว แต่การที่พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลมาร่วมค้านด้วย ย่อมเป็นประเด็นที่ทำให้พรรคภูมิใจไทยไม่พอใจ

“คนที่พูดในสภา ผมฟังแล้วไม่รู้จะเถียงอย่างไร ในเมื่อไม่ใช่ความจริง เอาการเมืองนำผลประโยชน์ของประชาชน ก็จะเห็นว่าสภาพปัจจุบันเป็นอย่างไร ผู้สื่อข่าวยังคิดได้เลย ใกล้ช่วงเลือกตั้งเลยเอาเรื่องการเมืองมาโยงเพื่อหาคะแนน” อนุทินกล่าวและว่า

“ดีเสียอีกที่เป็นแบบนี้ พรรคร่วมรัฐบาลไม่สนับสนุนกันเอง ใกล้เลือกตั้งที่จะถึง ก็จะได้ไม่ต้องเกรงใจ” 

ด้าน สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ย้ำจุดยืนพรรคประชาธิปัตย์ ว่า ไม่ได้คัดค้านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง (ฉบับที่...) พ.ศ. ... โดยเฉพาะการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ หรือใช้เป็นพืชเศรษฐกิจ แต่มีเจตนาที่ต้องการเห็นเนื้อหาในการกำกับควบคุมการใช้กัญชา ให้อยู่ในกรอบที่คำนึงถึงผลกระทบต่อเด็ก และเยาวชน เนื่องจากร่างกฎหมายที่รับหลักการ และผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ มีการแก้ไขโดยเพิ่มเนื้อหาจำนวนมาก จากเดิมมี 45 มาตรา แต่คณะ กมธ. ปรับแก้เพิ่มเป็น 95 มาตรา คือ มีการเพิ่มใหม่ 69 มาตรา และมีการตัดบางมาตราทิ้ง โดยเฉพาะมีบางส่วนที่เห็นว่าอาจจะกำกับดูแลควบคุมไม่ดีพอ เช่น การให้ประชาชนทั่วไปขอจดแจ้งปลูกกัญชาครัวเรือนบ้านละ 15 ต้น ใช้เพื่อประโยชน์ในครัวเรือน แต่มีการบัญญัติไว้ว่าเพื่อการบริโภคภายในครัวเรือน เพื่อประโยชน์ในการรักษาสุขภาพ แต่ไม่มีการกำหนดมาตรการควบคุมที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก และเยาวชน

“หากไม่ถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกไป อาจทำให้ร่างกฎหมายค้างอยู่ในการพิจารณาของสภา ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถนำไปแก้ไขปรับปรุงให้เกิดความรอบคอบรอบด้านได้ แต่หากถอนออกไป จะทำให้แก้ไขปรับปรุงร่างกฎหมายได้” สาทิตย์ กล่าว

ไม่ใช่แค่ พ.ร.บ.กัญชา กัญชง แต่ในสภายังลามมาถึงการแก้ไข พ.ร.บ.เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่มีบางพรรคการเมืองเสนอให้ลดดอกเบี้ยลง เหลือ 2% บ้าง 1% บ้าง 0.50% บ้าง แต่ด้าน พรรคภูมิใจไทย ก็ได้เสนอให้ดอกเบี้ยเป็น 0% คือ ไม่คิดดอกเบี้ย พ่วงท้าย ไม่มีคิดเพิ่มสำหรับคนผิดนัด ไม่ต้องมีคนค้ำประกัน และให้มีผลย้อนหลังด้วย

จะเรียกว่า พรรคภูมิใจไทย หาเสียงกับ กยศ.เต็มสูบ เพื่อยกมาเป็นผลงานของพรรคเลยก็ไม่ผิด ทั้งๆ ที่แต่ข้อเท็จจริงแล้ว เรื่องเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ที่ริเริ่มขึ้นมาสมัย 'นายหัวชวน' ครั้นเป็นนายกรัฐมนตรี

และนั่นก็ทำให้ก่อนหน้า ได้มีข้อท้วงติงมากมายกับการแก้กฎใหม่ของเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา โดยเฉพาะในประเด็นของการไม่คิดดอกเบี้ย ไม่เอาเรื่องเอาราวกับคนผิดนัด ซึ่งมันจะทำให้นักศึกษาที่กู้ยืมเงินไปบางคนขาดระเบียบ ขาดวินัยทางการเงิน คือมีงานทำแล้วก็ไม่จ่าย ไม่หนีไปไหน เพราะดอกเบี้ยก็ไม่มี ไม่มีคนตามทวงเงินกู้ นายประกันก็ไม่ต้อง อนาคตของเงินกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาจะเป็นอย่างไร จะขาดสภาพคล่องไหม? เมื่อเงินเก่าไม่ไหลคืน รัฐบาลต้องตั้งงบใหม่เข้ากองทุนงั้นเหรอ? ยังมีงบบริหารจัดการอีกปีละ 2,000 กว่าล้าน จะเอามาจากไหน? โอ๊ย!! สารพัด!!

แล้วคนที่มีวินัยทางการเงิน จ่ายครบ ไม่บิดไม่เบี้ยว มันจะเป็นธรรมกับคนเหล่านี้ไหม? เข้าใจได้ว่ากฎหมายล้าสมัยก็ต้องมีการปรับปรุง แต่การปรับปรุงแบบ 'สุดซอย' เช่นนี้ มันจะส่งผลกระทบต่ออนาคตเพียงใด? ใครจะรับผิดชอบ? ต้องเจียดเงินจากภาษีประชาชนไปโปะทุกปีจากการออกนโยบายหาเสียงแบบสุดโต่งงั้นเหรอ?

อันที่จริงแล้ว หากย้อนกลับไปถึงปฐมเหตุของเรื่องความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาลระหว่าง 'ประชาธิปัตย์' กับ 'ภูมิใจไทย' นั้น มีมานานพอควร แต่ขยายผลมากขึ้นเมื่อพรรคภูมิใจไทยประกาศจะยึดพื้นที่ 6 จังหวัดฝั่งอันดามัน 15 ที่นั่ง ตั้งแต่ ระนอง, ภูเก็ต, พังงา, กระบี่, ตรัง และสตูล ซึ่งพื้นที่เหล่านี้เดิมเป็นของประชาธิปัตย์ทั้งหมด และนั่นก็ทำให้ประชาธิปัตย์ กร้าว!! ประกาศเป็นยุทธศาสตร์เลยว่า ต่อจากนี้จะต้องยึดคืนพื้นที่หลังจากครั้งเลือกตั้งปี 2562 ได้สูญเสียที่นั่งหลายพื้นที่ให้กับพรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังประชารัฐ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top